พระบรมราชาธิบายที่ ๖

หนังสือโต้ตอบกับพม่า

เมื่อเดือน ๑๐ ปีมโรงอัฐศกจุลศักราช ๑๒๑๘ ในรัชกาลที่ ๔ พม่า ๔ คนถือหนังสือเสนาบดีพม่า มีมาถวายสมเด็จพระสังฆราช ใจความว่าอยากจะทราบการฝ่ายพระสาสนาในกรุงสยาม จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระพิมลธรรม (ยิ้ม) วัดพระเชตุพน เมื่อยังเปนพระพรหมมุนีมีลิขิตตอบไปฉบับ ๑ ความในลิขิตนั้นเข้าใจได้แน่ว่า เปนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้นำมาลงไว้ทั้งหนังสือพม่าที่มีมาแลลิขิตที่ตอบไปดังนี้

หนังสือพม่า

ข้าพเจ้ามหาเมลซีซู ซึ่งเปนเสนาบดีผู้ใหญ่ ได้กินบ้านเมืองหมอ เปนข้าหลวงเดิมฝ่ายใน แห่งพระเจ้าช้างเผือกอันประเสริฐแลได้เปนใหญ่บังคับบัญชากระษัตริย์ทั้งหลายทั้งปวง อันมีเสวตรฉัตรครอบครองใหญ่ มีต้นว่าสุนาปรันตประเทศ ตามพทีปประเทศ ซึ่งมีบ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว บ่อกาเยน ทั้งหลายต่างๆ แลมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ แลเปนเจ้าน้ำเจ้าดิน อันมีจักราวุธอันประเสริฐ ลอองฝ่าพระบาททั้งสองเหมือนหนึ่งเกสรปทุมชาติ เหตุการบ้านเมืองซึ่งมีเปนอันมาก ข้าพเจ้าได้กราบทูลอยู่เปนนิจ ข้าพเจ้ากราบทูลสมเด็จพระสังฆราชให้ทราบความว่า แต่ต้นวิวัฏฐายีภัทรกัลป จำเดิมแต่พระบรมโพธิสัตวลงมาบังเกิดเปนพระเจ้ามหาสมมติราช เสวยสมบัติอยู่ในชมพูทวีปสืบต่อมาเปนกษัตริย์ได้ ๒๕๒๕๕๖ พระองค์ ภายหลังในมัชฌิมประเทศกบิลพัสดุ์ เทวทหะ โกลิยะ ได้ตั้งบ้านเมืองใหญ่ในมัชฌิมประเทศ คือเมืองกบิลพัสดุ์ เมืองเทวทหะ เมื่องโกลิยะ ๓ เมือง พระยาโอกากมุขอันมีเปลวเพลิงพลุ่งออกจากปาก บุตรพระยาโอกากมุขชื่อว่าพระยาจันทิมะ บุตรแห่งพระยาจันทิมะ ชื่อว่าพระยาจันทมุข บุตรแห่งพระยาจันทมุข ชื่อว่าพระยาสญชัย บุตรแห่งพระยาสญูชัย ชื่อพระยาเวสสันดร อันเปนเจ้าของแห่งพระยามหาปัจจัยนาค บุตรพระยาเวสสันดรบรมกระษัตริย์ ชื่อว่าพระยาชาลี บุตรพระยาชาลี ซื่อว่าพระยาสีหวา บุตรพระยาสีหวา ชื่อว่าพระยาสีหัสร จำเดิมแต่พระยาสีหัสรมาเปนกระษัตริย์ ๘๒๐๑๐ กระษัตริย์สืบต่อมาเปนที่สุด เมื่อนางกัจจานีผู้เปนพระราชธิดาแห่งพระเจ้าเทวทหะ อภิเศกด้วยพระเจ้าสีหหณุราชอันเปนบุตรแห่งพระยาชัยเสนแล้ว จึงได้พระราชบุตรทรงพระนามชื่อว่าพระเจ้ากรุงศิริสุทโธทนะ เมื่อพระศิริมหามายาผู้เปนพระราชธิดาแห่งพระยาอัญชนะราช ราชาภิเศกด้วยพระเจ้ากรุงสิริสุทโธทนะแล้ว จึงได้พระโอรสทรงพระนามว่า พระสิทธารถราชกุมารบรมโพธิสัตว ครั้นพระชนมายุได้ ๑๖ พระพรรษา แวดล้อมเพลิดเพลินไปด้วยนางทั้งหลายทั้งปวง ๔๐๐๐๐ มีนางยโสธราราชเทวีเปนต้น เสวยราชสมบัติอยู่ในปราสาททั้งสาม ชื่อราม ชื่อศุภ ชื่อสุรามปราสาท ในเมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ ปี ได้เห็นซึ่งนิมิตรอันใหญ่ ๘ ประการ คือเห็นคนแก่ประการหนึ่ง คนเจ็บประการหนึ่ง คนตายประการหนึ่ง รูปสมณะประการหนึ่ง แล้วได้ธรรมสังเวชสละเสียซึ่งราชสมบัติ แลปราสาททองอันใหญ่ เสด็จออกไปทรงผนวช แล้วไปประพฤติซึ่งทุกรกิริยาถึง ๖ ปี ทรงชนะซึ่งมารทั้ง ๕ ประการ ในควงไม้พระมหาโพธิมณฑล ครั้นเมื่อได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้า ไม่มีใครเสมอในภูมิทั้งสาม ทรงตรัสเทศนาซึ่งอมฤตรศธรรมโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลายอันล่มจมอยู่ในสงสารสาคร เมื่อได้ ๔๕ พรรษา พระชนมายุภายในเต็ม ๘๐ ภายหลังเมื่อเสด็จเข้าสู่พระนิพพาน สาสนาก็รุ่งเรืองในมัชฌิมสิงหฬประเทศ สมเด็จพระพุทธเจ้าเห็นว่า พระพุทธสาสนาจะรุ่งเรืองยืดยาวในประเทศพม่าทั้งสอง คือประเทศสุนาปรันตประเทศตามพทีปประเทศ เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้ายังมืพระชนม์อยู่นั้น เสด็จไปสู่พระวิหารอันมหาบุญจุลบุญพี่น้องสองคนกระทำด้วยไม้แก่นจันทน์แดงเนืองๆ จำเดิมแต่ได้เทศนาอมฤตยรศธรรม โปรดซึ่งสัตวอันควรจะพ้นทุกข์ เปนลำดับไม่ขาดแถวจนกระทั่งถึงความรุ่งเรือง ประเทศพม่าเมืองสุเรเขตรา เมืองปูกาม เมืองเมงจัน เมืองจะกัน เมืองปัญญ เมืองรัตนบุร เมืองรัตนสิงขร จนกระทั่งถึงเมืองอมรปุร กระษัตริย์พม่าตั้งแต่พระเจ้าปู่ชวดแลสมเด็จพระเจ้าปู่เปนสุริวงศ์อสัมภินขัติย ได้ตั้งบ้านตั้งเมืองเสวตรฉัตรปราสาททองครอบครองสืบกันมา ชวนกันได้รับความเจริญในพระพุทธสาสนา แลได้ความเจริญแก่อาณาประชาราษฎรทั้งสิ้น พระยาทรงธรรมอันเปนเจ้าพิภพ แลเปนเจ้าแห่งพระยาช้างฉัททันต์ ก็ได้ครอบครองซึ่งบ้านเมืองแว่นแคว้นกับด้วยปราสาททองเสวตรฉัตร กับด้วยเมืองอมรรัตนปุรอังวะสืบต่อกันมา สมเด็จพระเจ้าปู่ก็ได้ขอพระพรอันประเสริฐ ถึงว่าได้ครอบครองบ้านเมืองเปนใหญ่ก็ไม่หลงลืมในการกุศล ได้รักษาศีลเปนนิจ เหมือนกับพระยาศีลว พระยาทัศนจักร พระยาเนมี พระยาเวสสันดรโพธิสัตว มีความอดใจจำแนกแจกทาน รักษาศีลเมตตากรุณาแก่อาณาประชาราษฎร แลบังคับตัดสินขัดข้องราษฎรผู้ใดผิดก็ทำตามผิด ผู้ใดชอบก็ทำตามชอบ มิได้เห็นแก่หน้าบุคคลผู้ใด อุสาหะในความเจริญโลกีย์แลโลกอุดร มีสติ ๓ ประการ คือชุมนุมปฤกษาด้วยอำมาตย์ผู้มีปัญญาวันละ ๓ ครั้ง สสฺสเมธ ส่วน ๑๐ ส่วนเอาแต่ส่วน ๑ ปุริสเมธ ให้เสบียงอาหารแก่ข้าราชการ ๖ เดือนครั้ง ๑ สัมมาปาส ให้ทุนรอนแก่ราษฎรชาวบ้านชาวเมืองถึงสามปีจึงเรียกเอาคืน วาจาเปยฺย กล่าวซึ่งถ้อยคำอันไพเราะเปนที่รัก สังคหะธรรม ๔ ประการ กายพล บริบูรณ์ไปด้วยกำลังกายแลกำลังมือ ปาหุปาล บริบูรณ์ไปด้วยรัตนทั้งปวงมีเงินแลทองเปนต้น เปนโภคพล มากไปด้วยหมู่อำมาตย์พลทหาร เปนอมัจจพล เปนอสัมภินสากยวงศ์ไม่ขาดแถว จำเดิมแต่พระยามหาสันทปฐมกัลป มีพระญาติวงศเปนอันมาก เปนอภิชัจจพล มีพระปัญญาอันคมว่องไว เปนปัญญาพล มีกำลัง ๕ ประการ ขมา มีความอดไว้ ชาคริย ตื่นอยู่ในความเพียร อุฏฺฐาน มืความหมั่นลุกขึ้น สํวิภาค อาจในที่จำแนกทาน ทยา มีความเอ็นดู อิกฺขนา พิจารณาดูในการทั้งปวง นี้เปนนายกคุณ ๖ ประการ สนฺนิปาต เสด็จออกปฤกษาด้วยการบ้านเมืองวันละ ๓ ครั้ง สมคฺค พรักพร้อมไปด้วยราชวงศ์ราชบุตรแลเสนาอำมาตย์ ปฏิปัชฺชน ไม่ละเสียซึ่งข้อบัญญัติบุราณไม่แต่งจัดเสียใหม่ นิวาตวุตฺติ กระทำเคารพแก่คนผู้มีอายุอันสูงมีคุณอันใหญ่ อปสยฺห ไม่ข่มขี่เอาบุตรหญิงชายชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลาย พลีกร ทำการบวงสรวงบูชาตามบุราณ คุตฺติ สร้างกุฏิให้สมณะทั้งหลายอันมาถึงแล้วให้เพลิดเพลิน ระวังรักษาซึ่งสมณะทั้งหลายซึ่งยังมิได้มานี้เปนอปริหานิยธรรม ๗ ประการ จำแนกแจกทานเพื่อจะให้เปนภูมิแก่อิธโลกปรโลก ทาน กิริยาที่จำแนกแจกทาน ศีล กิริยาที่รักษาศีล ๕ ประการ อาชฺชว ซื่อตรงประดุจเขาเมรุราช มทฺทว กายแลน้ำจิตรอ่อนโยน ตป รักษาอุโบสถศีล อโกธ ไม่โกรธ มีเมตตาจิตรเปนเบื้องน่า อวิหึงส ไม่เบียดเบียฬให้กรุณาจิตรบังเกิด ขนฺติ อดใจเหมือนดังแผ่นพระธรณี อวิโรธน ไม่รบกวนราษฎรกระทำตามสมควร เปนราชธรรม ๑๐ ประการ แลประพฤติธรรมในบิดามารดาแลบุตรภรรยาญาติทั้งหลาย ประพฤติธรรมในข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยอันเปนมิตร ในหมู่พลโยธาหาญสมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรทั้งปวง แลสัตวจตุบาททวิบาททั้งปวงบรรดาอาไศรยอยู่ในน้ำในบก แลสัตวที่บินได้ในอากาศเปนชาติเดรฉานทั้งสิ้น ประพฤติธรรมให้คุ้นเคยชำนิชำนานไม่ให้หลงลืมในราชธรรม ๑๐ ประการ แลอุปถัมภ์ค้ำชูพลโยธาหาญ แลบำรุงรักษาราชตระกูลมิให้เสื่อมถอย แลอุปถัมภ์ข้าราชการฝ่ายน่าฝ่ายในทั้งปวง แลอุปถัมภ์สมณชีพราหมณ์ แลเนื้อนกสัตวเดรฉานชาติทั้งหลาย แลอุปถัมภ์ค้ำชูซึ่งชนชาวนิคมชนบทน้อยใหญ่ทั้งหลาย แลห้ามปรามคนทั้งหลาย ในแว่นแคว้นอาณาเขตร มิให้กระทำความชั่วแลความผิดเกื้อหนุนให้ทุนรอนแก่ราษฎรที่ยากจนให้ประกอบการหากินเลี้ยงบุตรภรรยาโดยผาสุก แลหมั่นพูดจาธรรมสากัจฉาในสำนักนิ์สมณพราหมณาจารย์ ในเหตุอันไม่ควรจะผูกใจหยากได้ ก็ไม่ผูกใจหยากได้ ไม่หยากได้ทรัพย์สิ่งของๆคนอื่นอันไม่ควรจะพึงได้ อันนี้เป็นข้อปฏิบัติของมหาจักรพรรดิ ๑๒ ประการ ประพฤติในราชธรรมทั้งหลายดังที่กล่าวมาแล้วนั้นทั้งกลางวันแลกลางคืน ทรงอภิบาลรักษาดูแลซึ่งราษฎรทั้งหลายทั้งปวงดังหนึ่งว่าบุตรเกิดในอุทร เหมือนดังพระยาอชาตศัตรูอันได้ครอบครองเมื่องราชคฤห์ในมัชฌิมประเทศ เหมือนหนึ่งพระยากาลาโศกอันได้ครอบครองเมืองเวสาลีอันใหญ่ เหมือนพระยาศรีธรรมาโศกอันได้ครอบครองเมืองปาตลีบุตรอันใหญ่ เหมือนพระยาเทวานัมปิยดิศอันได้ครอบครองเมืองลังกาสิงหฬ เหมือนอย่างพระยาทุฏฐคามินีแลกระษัตริย์อื่นๆ อันได้บำรุงพระสาสนาให้รุ่งเรือง มีความเลื่อมใส่ไม่หวั่นไหวในพระรัตนไตรยทั้งสาม มีความอุสาหะจัดแจงพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุแห่งพระพุทธเจ้าไว้เปนที่ไหว้สักการบูชา แลจัดแจงซ่อมแปลงกุฎีวิหารที่หักพังให้คืนดีดังเก่า ให้สมณะที่มีศีลวิสุทธิบริบูรณ์ไปด้วยสมาธิคุณต่างๆ แลรู้พระไตรปิฎกควรนับถือบูชาตั้งไว้ให้เปนพระสังฆราช เพื่อจะให้พระสาสนารุ่งเรือง องค์แห่งอลัชชี ๓ ประการ ควรอันภิกษุสงฆ์จะละเว้น มีต้นว่ากุหก ๙๓ ประการ กุลโทสก ๘ ประการ อเนสน ๒๑ ประการ ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ไม่ให้ประพฤติ สมเด็จพระพุทธเจ้ามีพระประสงค์บัญญัติไว้ซึ่งจตุปาริสุทธศีลสิกขาบท ๒๒๗ ประการ คือคันถธุระ ให้ประพฤติสิกขาบทตามวินัยบัญญัติของพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ พระพุทธสาสนาก็จะรุ่งเรืองวิเศษยิ่งๆ ขึ้นไป ที่เมืองอมรปุร มืพระอารามชื่อมหาชีวการามซึ่งพระสังฆราชอยู่ กับอารามนอกนั้นมีอยู่ ๗๐ อารามเศษ มีพระภิกษุสามเณรประมาณหมื่นรูปเศษนั้น ได้ถวายจตุปัจจัยทั้ง ๔ แลนิตยภัตรมิได้ขาด แล้วได้ถวายจตุปัจจัยกับพระสงฆ์สามเณรซึ่งอยู่ในพระอารามนยกพระนครบรรดาอยู่ในเขตรแดนเมืองอมรปุรทั้งสิ้น แลได้เกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองกรมการแลราษฎรชาวบ้านให้ถวายจตุปัจจัยด้วย กับได้ประกาศให้ราษฎรชาวบ้านชาวเมืองรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ทุกวันอุโบสถเพื่อจะให้เปนหนทางสวรรค์ทางนิพพาน ด้วยอำนาจผลทานศีลภาวนาบ้านเมืองก็อยู่เย็นเปนศุข ฝนก็ตกตามฤดู ราคาเข้าก็ถูก ภัยอันตรายก็ไม่มีกับบ้านเมือง พระสงฆ์ก็ได้ปฏิบัติเล่าเรียนพระสัทธรรมทั้ง ๓ อย่าง คือปริยัติธรรม ปฏิปัตติธรรม ปฏิเวธธรรม พระสาสนาก็รุ่งเรืองดังหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ ได้ทำการพระสาสนาถึงเพียงนี้แล้ว ก็ยังไม่สมดังพระไทยปราถนาอิก พระสาสนาในลังกาทวีป เมืองอมรปุร ในกรุงศรอยุทธยา ก็รุ่งเรืองบริบูรณ์ทั้ง ๓ แห่ง พระสงฆ์ก็ประกอบไปด้วยศีลาจารวัตรสมาธิคุณ เนื้อความก็แผ่ซ่านเลื่องฦๅไปถึง ว่าในกรุงพระมหานครศรีอยุทญษ พระสงฆ์ก็ตั้งอยู่ในโอวาทคำสั่งสอนพระสังฆราช ที่ให้ถือหนังสือเข้ามาทั้งนี้ เพื่อจะรู้ว่าพระสงฆ์ในกรุงศรีอยุทธยาจะมีสักเท่าใด หนังสือพระไตรปิฎกมีอยู่เท่าใด จะต้องการหนังสือพระไตรปิฎกเท่าใด ให้เอาไทยทานเข้าไปถวาย แล้วให้ทูลถามพระสังฆราชดู ขุนนางฝ่ายในชื่อเมลซอสันหริง ได้ทูลพระเจ้าธรรมอันเปนเจ้าพิภพว่าจะให้ งะซวยซี งะซวยมอง งะคลา งะทวย ๔ คน ถือหนังสือแลคุมสิ่งของมาสู่สำนักนิ์พระสังฆราช ไทยทานที่ถวายเข้ามานั้น ประคำยางไม้กาเยน ๔๐ สาย ให้มอบถวายพระสังฆราช พระยาธรรมราชพระเจ้าช้างเผือกนั้น เปนพระยามหาธรรมราชสาสนทายก แต่พอได้ฟังสารคดีเหตุกิติศัพท์กิติคุณแห่งพระสังฆราช ก็มีความยินดีศรัทธาเลื่อมใสนัก พระสงฆ์ที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกมีมากน้อยเท่าใด จะต้องการหนังสือพระไตรปิฎกสักเท่าใด ให้พระสังฆราชแจ้งความมากับคน ๔ คนที่ถือหนังสือนี้เถิด ตัวข้าพเจ้าขอเปนศิษย์อันสนิทในกุฏิเหมือนอย่างศิษย์ตั้งแต่เล็กๆ มา ไม่ว่าปัจจัยอันใดเปนต้นว่า หนังสือพระไตรปิฎกบันดาที่ต้องการนั้นก็จะให้คนที่เดิมใช้ไปนั้นเอากลับมาถวาย ข้าแต่พระสังฆราช ดังข้าพเจ้ากราบทูลมา.

ณวัน ๖ ๑๐ ค่ำ ปีมโรงอัฐศก มองซวยยอง มองซวยซี มองซวยมอง มองคาล มองป มาแต่เมืองอังวะ ถือหนังสือเจ้าอังวะ ๑ หนังสือเดินทาง ๑ รวม ๒ ฉบับ เปนอักษรพม่ามาทางเมืองเชียงใหม่ให้พระยาศรีหากเพ็ชร ขุนวิเศษภาษา ล่าม แปลเปนไทยได้ความว่าหนังสือเมลซอสันหริง ขุนนางฝ่ายในเฝ้าอยู่เปนนิจ ให้งะซวยซี งะซวยมอง งะคลา งะทวย ถือเข้ามาณกรุงเทพมหานครศอยยุทธยา ด้วยได้ข่าวว่ามหานครกรุงศรีอยุธยา พระพุทธสาสนารุ่งเรือง พระภิกษุสงฆ์ประกอบศีลาสมาธิคุณ มีอุสาหะเล่าเรียนฝ่ายคันถธุระ วิปัสนาธุระ มีศีลบริสุทธิ์ เจ้าอังวะจึงมอบสิ่งของ แลหนังสือเข้ามาให้ถวายพระสังฆราชแลพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง แล้วสั่งกำชับผู้ถือหนังสือเข้ามาว่า ให้ระวังรักษาหนังสือให้ดีแล้วอย่าให้เนิ่นช้าอยู่ในกลางทาง ให้รีบเร่งเข้ามาให้ถึงโดยเรื่ว จะพูดจาว่ากล่าวเปนประการใด ให้ปฤกษาหาฤๅให้พร้อมกันอย่าให้แตกร้าวได้ ถ้าถึงกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาแล้ว ก็ให้ไปสำนักอาไศรยอยู่ในที่สมควรอันชอบ จะพูดจาว่ากล่าวกินอยู่หลับนอนให้สมควรประเพณีบ้านเมืองประเทศอันใหญ่ ถ้าแลจะพูดจาว่ากล่าวประการใดให้พร้อมกันเปนคำเดียว ถ้าแลจะเข้าไปหาสมเด็จพระสังฆราช เอาหีบไขกุญแจเอาของในหีบถวายพระสังฆราชแล้วก็เอาหนังสือถวายสมเด็จพระสังฆราชด้วย ถ้าแลพระสังฆราชจะไต่ถามด้วยเรื่องราวพระสาสนาในเมืองอมรปุรอังวะ ก็ให้เรียนพระสังฆราชว่า เจ้าเมืองอังวะเปนพระมหากระษัตริย์พระเจ้าช้างเผือกผู้ประเสริฐ ได้ครอบครองซึ่งกระษัตริย์ทั้งหลาย อันมีเสวตรฉัตรในแว่นแคว้นบ้านเมืองอันใหญ่อันเปนมหาราช ผู้บำรุงพระพุทธสาสนาพระพุทธเจ้าโดยวิเศษยิ่งนัก ทรงพระราชศรัทธาถวายจตุปัจจัย แด่พระสงฆ์ทั้งหลายเปนอันมากทุกวันทุกเวลา มิให้พระสงฆ์ขัดสนด้วยจตุปัจจัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอเปนนิจทุกเดือนทุกปีไม่ได้ขาด จะได้มีพระทัยย่อหย่อนต่อการบุญหามิได้ พระเจ้าช้างเผือกนั้น ทรงพระราชศรัทธาอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายอันเล่าเรียน แลทรงไว้ซึ่งพระสาสนาทั้ง ๓ คือ ปริยัติสาสนา ปฏิปัตติสาสนา ปฏิเวธสาสนา แลพระสงฆ์ที่มีอุสาหเล่าเรียน คันถธุระ วิปัสสนาธุระ ทั้งคามวาสี อรัญวาสี อันอยู่ในแว่นแคว้น ข้อหนึ่งว่าราษฎรชาวบ้านทั้งหลายไม่ว่าชาติใดตระกูลใดสุดแท้แต่ว่ามีศรัทธาเลื่อมใสในพระสาสนา ฟังธรรมเทศนาจำแนกแจกทานรักษาศีลจำเริญภาวนา พระเจ้าช้างเผือกก็อุปถัมภ์ค้ำชูด้วย เพราะอาไศรยเหตุอันนั้น ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายก็ได้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ ได้ประพฤติธรรมจริยาสมจริยา ที่กรุงเทพพระมหานครศรีอยุทธยา มีพระพุทธสาสนารุ่งเรืองอยู่ พระเจ้าช้างเผือกได้ทราบดังนั้น จึงให้คนทั้ง ๔ ถือหนังสือเข้ามาร่ำเรียน ด้วยในกรุงศรีอยุทธยามีพระสงฆ์ซึ่งเล่าเรียนประพฤติในพระสาสนาสักเท่าใด จะต้องการหนังสือพระไตรปิฎกอย่างไร ในกรุงศรีอยุทธยาจะต้องการพระไตรปิฎกสักเท่าใด ก็ให้ร่ำเรียนจดหมายให้มั่นคงแล้วอย่าให้เนิ่นช้าอยู่ ให้รีบกลับออกมาโดยเร็ว อย่าได้อวดอ้างอื้ออึงไป ในระหว่างหนทางที่ไปมา คนที่มาด้วยกันนั้นอย่าให้วิวาทกัน ถ้ามีวิวาทกันแตกร้าวขึ้นแล้วสืบได้ภายหลังจะมีโทษจงหนัก ฯ

----------------------------

ลิขิตพระพรหมมุนี (ยิ้ม)

๏ ลิขิตพระพรหมมุนีคัมภีร์ญาณนายก ตรีปิฎกคุณาลังกรณ์ มหาคณฤศรบวรสังฆารามคามวาสี สถิตย์ณวัดเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง เปนอัพภันตราราม ภายในกำแพงพระนคร ตั้งอยู่ณทิศทักษิณแห่งพระบรมหาราชวังณกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยาบรมราชธานี อันประดิษฐานตั้งในบางกอกประเทศ ขอแสดงความมายังท่านที่มีชื่อในหนังสือ ซึ่งผู้ถือหนังสือเข้ามาอ้างให้เราได้ยินว่า มหาเมลซีซูเสนาบดีผู้ใหญ่ซึ่งได้ครองเมืองบ้านหมอแลคนอื่นๆ ที่ควรจะอ่าน แลรู้ความในหนังสือทั้งปวงให้ทราบ

ด้วยเมื่อณเดือนภัทรบทมาศปีมโรงนักษัตรอัฐศกจุลศักราช ๑๒๑๘ ปี มีพวกพม่า ๕ คนเข้ามาทางเมืองนครเชียงใหม่ ลงมากับด้วยเจ้านายแลขุนนางเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง ซึ่งลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยามครั้งนี้ ถึงกรุงเทพมหานครขึ้นพักอยู่ที่วัดราชาธิวาศ เปนพระอารามน้อยขึ้นกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง จึงเสด็จขึ้นไปหาพระสงฆ์ในพระอารามนั้นเล่าความให้ฟังว่า มาเพื่อจะพบพระสงฆ์ที่เปนใหญ่ในพระพุทธสาสนา พระสงฆ์ในพระอารามนั้นจึงพาตัวมายังสำนักนิ์เราณวัดพระเชตุพน พม่า ๕ คนจึงแจ้งว่า คนหนึ่งชื่อเมลจอจัลนริน คนหนึ่งชื่องะซวยซี คนหนึ่งชื่องะซวยมอง คนหนึ่งชื่องะคลา คนหนึ่งซื่องะทวย แลว่าพระเจ้าแผ่นดินกรุงอังวะให้เข้ามานมัสการสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเปนผู้ใหญ่ในพระพุทธสาสนาณกรุงสยาม แลได้ยื่นหนังสือให้แก่เราเปนอักษรพม่าฉบับ ๑ แลได้ถวายไทยธรรมคือประคำกาเยน ยางไม้ใหญ่ ๒๙ สาย เล็ก ๑๐ สาย รวม ๓๙ สาย หิบกำมะลอ ๑ กล่องอย่างเงี้ยวใหญ่ ๒ เล็ก ๒ รวม ๔ โอลายอย่างเงี้ยว ๒ แหนบ ๒ กระจก ๑ เปนของ ๘ สิ่งให้แก่เรา กับไทยธรรมอื่นอิก คือกล่องอย่างเงี้ยว ๔๔ โอลายอย่างเงี้ยว ๔๔ แหนบ ๔๔ กระจก ๔๔ ได้ถวายพระเถรานุเถระอื่นอิก ๔๔ รูปแล้ว เราทั้งหลายพร้อมกันได้กระทำอนุโมทนาให้ต่อหน้าพม่า ๕ คน ในวัน ๔ ๑๐ ค่ำนั้นแล้ว เราจึงได้หาล่ามพม่าให้อ่านแปลหนังสือนั้นออกเปนภาษาไทย ก็ได้ความไพเราะวิจิตรด้วยกิติคุณการสรรเสริญ เจ้าแผ่นดินกรุงอังวะมหาราชธานีในแดนพม่า ฟังก็น่าเพลิดเพลินใจ เราจึงคิดว่าถ้าคนเหล่านี้ เปนคนซึ่งผู้มีอิศริยยศบรรดาศักดิ์ในเมืองใหญ่ใช้เข้ามาจริง เราก็มีความประสงค์เพื่อจะให้ท่านผู้ที่ใช้เข้ามานั้น ได้เชื่อด้วยความสลักสำคัญเปนแน่นอนว่า ผู้ที่รับใช้เข้ามานั้นได้มาถึงเราแล้วจริง หนังสือกับสิ่งของไทยธรรมมอบให้แก่เรา แลถวายแก่พระเถรานุเถระอื่นๆ ตามจำนวนของนั้นตามบังคับมาแล้วจริง เราจึงรจนาการลิขิตนี้ขึ้นมาให้เปนสำคัญ ถ้าท่านผู้ใช้มามีตัวจริงแล้ว เราขออวยพรอนุโมทนาทานด้วยปราถนาคความเจริญ อายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ แลสวัสดิมงคลผลอย่างอื่นๆแลความประสงค์สิ่งไรของท่านซึ่งเปนกุศลไม่มีโทษจงสำเร็จทุกประการเทอญ

เพราะเราได้รับธรรมบรรณาการ ความรำพรรณถึงเจ้ากรุงอังวะเปนมหาราชกระษัตริย์ แลสรรเสริญสมบัติทั้งพระเกียรติยศธรรมคุณต่างๆ ยืดยาวนักหนา เราก็ควรจะต้องกล่าวความในกรุงสยามประเทศนี้ แสดงออกไปเปนปฏิบรรณาการตอบแทนให้ท่านฟังบ้าง แต่ปรกติไทยชาวกรุงสยามประเทศนี้ย่อมรู้ประมาณในทางกถา ความใดๆ ถึงจะจริงแท้ แต่ถ้าเปนความไกลตาเห็นว่าเปนคนไกลๆ จะเชื่อยากก็ไม่หยากกล่าวยืดยาวไป ด้วยเห็นว่าไม่มีประโยชน์ แลคำยกยอว่ากระษัตริย์มหาสมมุติราชวงศ์ อสัมภินขัติยวงศ์บริสุทธิ์มาเนืองๆ ในพระบาฬีแลธรรถกถาฎีกาต่างๆนั้น คนทั้งปวงชาวประเทศต่างๆ ได้ทราบทั่วกันว่า เปนคำยกย่องของคนโบราณใช้ในมัธยมประเทศที่ได้รู้อยู่บัดนี้ ว่าฮินดูสถาน เพราะบาฬีเปนของสังคายนาในมัธยมประเทศนั้น แลอรรถกถาฎีกาก็เปนคำกล่าวแก้บาฬี แต่ในการมัธยมประเทศไม่ได้ว่าด้วยการประเทศอื่นๆ แลคนบางพวกในประเทศนั้นได้ชื่อว่ากระษัตริย์ เพราะเนื่องด้วยขัติยชาติตามเชื้อชาติสืบตระกูลเปนลำดับมาดังนี้ ชาติอื่นคือพราหมณ์ แพสย์ สูท จัณฑาล เนสาท ปุกุส เปนต้น ซึ่งถือกันต่างๆ ในประเทศนั้น แลคนที่ใช่ชาติกระษัตริย์เดิม จะชื่อว่ากระษัตริย์ด้วยเปนเจ้าแผ่นดินก็หาไม่ แลเจ้าแผ่นดินในประเทศนั้น คนทั้งหลายย่อมนับถือให้ได้ราชาภิเศก เฉพาะแต่ขัติยชาติเปนธรรมเนียมมา ชาติอื่นแม้มีอำนาจว่าการแผ่นดินก็ไม่ได้ราชาภิเษก แต่ถ้าจะว่าโดยธรรมวงศ์แล้ว แม้นถึงในประเทศชาติอื่น ผู้ที่ได้ครอบครองราชสมบัติเปนเจ้าแผ่นดินในประเทศนั้นๆเมื่อประพฤติถูกต้องตามมูลนิติขัติยธรรม เหมือนกระษัตริย์ในมัธยมประเทศ ซึ่งเปนต้นแบบแผนอย่างกฎหมายบ้านเมืองต่างๆ สืบมา ก็จะพึงกล่าวได้บ้าง โดยที่ได้ตั้งอยู่ในธรรมวงศ์ของกระษัตริย์ แต่ก็หาสู้ต้องการนักไม่ ด้วยชื่อว่ากระษัตริย์ขัติยนี้ เมื่อความดีมีอยู่แล้วก็เปนความดี แลข้อซึ่งว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ มีชาติบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์เจือปนนักไม่เจือปนมาแต่ต้นเดิมนั้น ถึงจะว่าจริงก็เปนการไกลห่างล่วงมาแล้วนาน ก็เชื่อยาก จะเอาเปนประมาณไม่ได้ ด้วยว่า สพฺเพ สํขารา อนิจฺจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงเปนของไม่เที่ยง มีความแปรปรวนยักย้ายไปเปนธรรมดา เพราะฉนั้นคำเกินๆ เช่นนี้เราจะยกเสียไม่เลียนตามว่าตาม ซึ่งไม่ว่านั้นเพราะจะเห็นว่าพระเจ้ากรุงสยามของเราต่ำตระกูลกว่าเจ้านายในกรุงอังวะบัดนี้นั้นก็หามิได้ ด้วยว่าต้นเชื้อวงศ์ในประเทศพม่า แลไทยซึ่งใกล้เคียงกันก็มีสืบมาในพระราชพงศารดาร แลคำให้การคนไปมาเนืองๆ ความจริงอย่างไรก็ย่อมแจ้งแก่คนทั้งสองประเทศที่พอใจฟังโดยจริงอยู่ด้วยกัน จะขอว่าแต่การที่ควร อันนี้เปนธรรมเนียมคนทั้งปวงทุกประเทศ ย่อมนับถือเจ้านายที่มีชาติภาษาแลกูลจารีต ถือธรรมลัทธิเสมอกันมากกว่าชาติอื่นภาษาอื่น เพราะฉนั้นฝ่ายข้างกรุงสยามนี้ ถึงเมื่อบ้านเมืองได้เปนระส่ำระสายยักย้ายไป ต้องอยู่ในอำนาจชาติอื่นภาษาอื่น แลความลำบากยากเข็ญซึ่งเปนมาแล้วแต่หลัง ดังครั้งศักราช ๑๑๒๙ ปีนั้นก็ดี ก็ยังได้รวบรวมประดิษฐานราชตระกูล มีเจ้านายที่สมณพราหมณาจารย์ประชาราษฎรทั้งปวงนับถือวงศ์ตระกูล แลคุณธรรมแต่เดิมมานั้นขึ้นดำรงรักษาราชอาณาจักรเปนพระเจ้าแผ่นดินเอกราชไม่ต้องพึ่งเมืองอื่น ขึ้นครอบครองแผ่นดินสืบมา แลพระราชวงศ์นี้มิใช่โจรราชอาณาจักร คือใครกล้าแขงกว่าผู้อื่นแล้วก็ขึ้นเปนใหญ่โดยลำพังพลานุภาพเท่านั้น อันพระราชวงศ์นี้ เปนบรมวงค์มหาราชอาณาจักรดำรงราชตระกูลมาด้วยความยินดี ยอมพร้อมเพรียงแห่งคนทั้งหลายซึ่งได้รับพระเดชพระคุณ แลนับถือสืบมาในราชตระกูล แลอมัจจตระกูลสืบมาได้สี่ลำดับพระเจ้าแผ่นดิน นับกาลก็เกือบได้ร้อยปีมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามพระองค์นี้ เปนบรมราชนัดดาธิราชของสสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม พระองค์เปนประถมพระบรมราชวงศ์นี้ แลเปนพระบรมราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระบรมราชวงศ์มาเปนที่สอง แลเปนบรมขนิษฐาธิราชของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระบรมราชวงศ์ลงมาเปนที่สาม แลพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามพระองค์นี้ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติเปนที่สี่ในพระบรมราชวงศ์นี้ ไม่มีคนตระกูลอื่นขัดคั่นแทรกแทรงให้เสื่อมทราม เสวยราชสมบัติได้ ๗ ปีทั้งปีนี้ เมื่อก่อนยังไม่ได้เถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น พระองค์ก็ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนในพระคัมภีร์พระพุทธสาสนาเปนอันมาก บัดนี้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็ได้ทรงดำรงรักษาสยามราชอาณาจักรทั้งประเทศราชทั้งทุกทิศ ให้มีความศุขสำราญโดยราชวิธานกิจนั้นๆ แลได้ทรงอนุเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์ข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวง ให้มีอิศริยยศบริวารยศโดยถานานุศักดิ์ แลทรงทำนุบำรุงพระพุทธสาสนาให้รุ่งเรือดำรงอยู่เปนปรกติ แลทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ทรงอุปถัมภ์พระภิกษุสงฆ์สามเณรทั้งปวงโดยสมควรแก่ศีลคุณสุตคุณ พระนครนี้ก็เจริญรุ่งเรืองเปนศุขสำราญนิราศอุปัทวอันตราย.

อนึ่งเพราะคำซึ่งมีมาในหนังสือว่าพม่าซึ่งมาครั้งนี้ มานมัสการพระสังฆราชซึ่งเปนพระมหาเถรเจ้า เปนประธานในพระพุทธสาสนาสยามประเทศนี้ แลพม่าพวกซึ่งมาครั้งนี้ หาได้พบพระมหาเถรที่เรียกชื่อดังนั้นไม่ ก็ด้วยเหตุนั้นท่านผู้ใช้มาจะเข้าใจว่าในกรุงสยามบัดนี้ การพุทธสาสนาจะไม่มีผู้ใหญ่บังคับบัญชา เพราะฉนั้นจะขออธิบายชี้แจงให้ทราบ ด้วยตำแหน่งพระสังฆราชนั้นเดิมแต่ก่อนอย่างธรรมเนียมในสยามประเทศนี้ แลเมืองอื่นๆ ใกล้เคียงกัน บันดาเปนเมืองมีพระสงฆ์อยู่เปนที่นับถือ โดยปรกติคนในพื้นบ้านเมืองนั้นย่อมมีจารีตมา คือพระมหาเถรเจ้าองค์ใด ซึ่งพระเถรานุเถระผู้น้อยผู้ใหญ่เจ้าหมู่เจ้าคณะในพระพุทธสาสนาเปนอันมาก พร้อมใจกันนับถือบูชา เปนผู้ประกอบด้วยศีลแลปัญญาศรัทธาธิคุณ ควรจะเปนประธานที่พึ่งแก่พระสงฆ์ทั้งปวง แลราชตระกูล ทั้งราษฎร ในการสั่งสอนแนะนำให้ปฏิบัติการกุศลในพระพุทธสาสนาได้ด้วยดีแล้ว ในพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกับความคิดท่านเสนาบดี ก็ย่อมแต่งตั้งพระมหาเถรเจ้าองค์นั้นให้มีอิศริยยศบรรดาศักดิ์อย่างใหญ่อย่างสูงกว่าพระสงฆ์ทั้งปวงเรียกนามว่าพระสังฆราช เยี่ยงอย่างนี้มีมานาน ครั้นเมื่อถึงรัชกาลแผ่นดินประจุบันนี้ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม ได้ทรงสังเกตการเก่าที่มีมาในพระบาฬีอรรถกถาโดยเลอียดแล้ว ทรงปฤกษาด้วยพระสังฆเถรานุเถรผู้รู้พระปริยัติธรรม แลนักปราชญ์ราชบัณฑิตเปนอันมากเห็นพร้อมกันว่า คำว่าราชานี้ไม่ควรจะใช้เปนชื่อ ไม่ควรจะเรียกจะให้แก่บรรพชิตอื่น นอกจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะในบาฬีแลคัมภีร์อรรถกถาฎีกา แต่พระนามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียว เรียกบางแห่งว่าธรรมราชา ถึงฤๅษีมุนีนอกจากพระสาสนา จะชื่อว่าราชิสีก็มีแต่พระเจ้าทัฬหเนมี พระเวสสันดรเปนต้น ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินมาแต่ก่อน แล้วออกทรงผนวช จึงได้นามเดิมมาเรียกบ้างอย่างในจักรวัตติสูตร แลชาดกว่าราชฤๅษี แต่ในพระพุทธสาสนาแล้ว ถึงท่านที่เปนเจ้าแผ่นดินมาแต่เดิม อย่างพระเจ้ามหากบิลราช พระเจ้าภัททิยราช พระเจ้าปุกกุสาติกราชเปนต้น เมื่อได้ออกทรงบรรพชาแล้วมีแต่นามว่า พระมหากบิลเถร พระภัททิยเถร พระปุกกุสาติภิกษุ ไม่ได้ปรากฎนามว่าราชาเลย ตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานมาแล้ว ถึงพระมหาสัพพกามิเถรแลพระโมคคลีบุตรดิศเถร ซึ่งเปนใหญ่เปนประธานในการปฐมทุติยตติยสังคายนาก็ดี พระมหินทเถรซึ่งเปนพระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ออกไปประดิษฐานพระพุทธสาสนาในลังกาทวีปก็ดี ก็ไม่ได้เรียกว่าสังฆราชเลย เพราะฉนั้นจึงพร้อมกันให้ยกตั้งนามว่าพระสังฆราชนั้นเสีย ไม่ได้ตั้งท่านองค์ใดเปนที่พระสังฆราชเลย แตในการแรกตั้งแผ่นดินประจุบันนี้ พระบรมวงศ์เธอพระองค์หนึ่งเปนพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม พระองค์เปนปฐมในพระบรมราชวงศ์นี้ เปนขนิษฐาธิบดีของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระบรมราชวงศ์มาเปนที่สอง ได้ทรงผนวชในพระพุทธสาสนาแต่ทรงพระเยาว์มา จนทรงพระเจริญพระชนม์ได้หกสิบพรรษา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามพระองค์นี้ เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น ได้ทรงศึกษาอักขระวิธี แลพุทธวจนะแลวิชาการคดีโลกอื่นๆ ในสำนักแห่งพระบรมวงศ์เธอพระองค์นั้นมา ครั้นเมื่อได้เถลิงราชสมบัติ จึงทรงปรึกษาด้วยพระบรมราชวงศานุวงศ์แลเสนาบดีผู้ใหญ่ แลพร้อมด้วยอนุมัตยาภิชฌาไศรยแห่งพระเถรานุเถรเจ้าหมู่เจ้าคณะทั้งปวงด้วยกันแล้ว ได้สถาปนาพระบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น ให้มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัตรว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส เปนพระสมณุตมมหาสังฆปรินายกอันใหญ่ยิ่งกว่าสงฆบริษัททั่วทั้งสกลอาณาจักร กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสเจ้านั้น จึงได้ทรงจัดแจงมอบคณะฝ่ายเหนือ ให้ขึ้นแก่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สถิตย์ณวัดสุทัศนเทพราราม คณะฝ่ายใต้ให้ขึ้นแก่สมเด็จพระวันรัต สถิตย์ณวัดอรุณราชวราราม คณะกลางคือพระสงฆ์ในเขตแดนพระนครนี้แบ่งกันบังคับว่ากล่าวเปนสามคณะ คือขึ้นณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามโดยมาก ขึ้นในพระบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ สถิตย์ณวัดบวรนิเวศวรวิหารบ้าง ขึ้นแก่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์สถิตย์ณวัดมหาธาตุบ้าง ตามที่คุ้นเคย กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ได้เสด็จดำรงอยู่ได้สามพรรษา ก็ทรงพระประชวรสิ้นพระชนม์ล่วงไป ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามจึงโปรดให้จัดแจงการถวายพระเพลิง กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสเสร็จแล้ว ก็ยังทรงพระอาไลยถึงยิ่งนัก จึงได้โปรดให้ประดิษฐานพระอัฐิธาตุไว้ณพระตำหนัก ซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสนั้นได้เสด็จอยู่ เหมือนยังมีพระชนม์ มิได้ทรงตั้งแต่งท่านผู้ใดเปนที่พระสังฆราชต่อไปอิกเลย มีแต่ท่านที่เปนมหาเถรผู้ใหญ่เปนเจ้าคณะทั้งห้าว่ากล่าวตามคณะจนบัดนี้ ฝ่ายเราเปนเชษฐันเตวาสิกในกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส จึงได้มาปฏิบัติเฝ้าพระอัฐิ แลรักษาหมู่คณะอยู่ณพระอารามนี้ตามอย่าง เมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสยังทรงพระชนม์อยู่ เพราะฉนั้นเมื่อพม่า ๕ คนมาถึงวัดราชาธิวาศ ไต่ถามพระสงฆ์ว่าจะมาหาพระสังฆราช พระสงฆ์ในอารามนั้นจึงได้พาพวกพม่ามายังสำนักนิ์เราณวัดพระเชตุพน ซึ่งเคยเปนที่สถิตย์แห่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสนั้นดังนี้ แลการพระพุทธสาสนาในกรุงสยามนี้ ถึงจะไม่มีสมเด็จพระสังฆราชตามอย่างเดิม เจ้าหมู่เจ้าคณะทั้ง ๕ ก็มีสมัคสโมสรพร้อมกันปฤกษาว่ากล่าวการทั้งปวงให้เรียบร้อยเปนปรกติ การปฏิบัติเล่าเรียนก็บริบูรณ์อยู่ทุกประการ

แลแต่ก่อนมาจนบัดนี้ คนชาวกรุงสยามประเทศนี้ได้รู้ทั่วกันมานานว่า พม่าเปนฆ่าศึกกับไทย เมื่อก่อนแต่นี้ไปภายน่าในสองร้อยปีลงมาพม่าได้กล่าวไทยว่าเปนอย่างไรกับพม่านั้น การที่จริงที่แท้อย่างไรในคำนั้นก็ดี พม่าได้ทำกับเมืองไทยอย่างไรก็ดี การทั้งปวงนั้นก็แจ้งอยู่กับใจของไทย แลบุตรหลานของไทยที่ตกอยู่ณเมืองพม่า ฤๅแต่ตัวพม่าที่เปนคนซื่อสัตย์มักสืบสาวการโบราณ รู้เรื่องราชพงศาวดารแต่ก่อนอันจริงนั้นทุกประการแล้ว อย่าให้เราผู้เปนสมณะต้องกล่าวถึงความบ้านเมืองแต่หลังมานั้นเลย ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงสยามแต่ก่อนๆ ครั้งนี้ขึ้นไปนั้น มีพวกพม่าได้เข้ามาถึงกรุงเทพมหานครหลายครั้งแล้วมาอวดอ้างว่าเปนขุนนางทูตพระเจ้าแผ่นดิน แลเสนาบดีพม่าใช้มาบ้าง ว่าตัวเปนคนมีชาติมีตระกูลเปนเชื้อเจ้านายบ้าง เข้ามาขอเจริญทางพระราชไมตรีผูกพันสองพระนครให้เปนทองแผ่นเดียวกันบ้าง ฤๅว่าจะหนีภัยข้างเมืองโน๊มมา ฤๅขอให้ช่วยตัวด้วยกำลังแลอื่นๆ บ้าง แลการที่คนเหล่านั้นให้การไว้อย่างไร ครั้นสืบฟังไปการก็เปนอย่างอื่นเปนเท็จแท้ไม่เปนจริงดังนั้น ภายหลังมามีพม่าบางพวกบางคนเข้ามาอิกมาพูดจากันต่างๆ เช่นนั้นอิกก็ไม่มีใครเชื่อฟัง ผู้บรรดาศักดิ์ย่อมมีความสงไสย ว่าเปนคนสอดแนมเที่ยวสืบข่าวการบ้านเมือง ฤๅหลอกลวงจะเอาลาภผลรางวัลด้วยเล่ห์กล ท่านจึงจับตัวกักขังไว้บ้างจองจำทำโทษเสียบ้าง มิได้ปล่อยให้ไปมาตามสบาย ครั้นข่าวนี้ทราบออกไปในเมืองพม่า คนในเมืองพม่าแม้ถึงเปนคนดีมีศรัทธาซื่อตรง ประสงค์จะเข้ามาเที่ยวนมัสการพระเจดีย์แลทำบุญให้ทานด้วยเห็นแก่พระพุทธสาสนาฝ่ายเดียว ไม่เกี่ยวข้องด้วยราชการบ้านเมืองก็ดี ก็มีความสดุ้งเกรงกลัวจะต้องกักขังตัวไว้ จึงหาได้ไปมาถึงกันไม่นานแล้ว แต่บัดนี้พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามพระองค์นี้ ทรงพระกรุณาเมตตาแก่คนชาติมนุษย์ทุกประเทศที่ถือพระพุทธสาสนา ตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาก็ทรงพระดำริห์ว่า เมืองต่างๆ ที่เปนฆ่าศึกมาแต่ก่อนก็สงบเงียบมาช้านานแล้ว คนชาติอื่นภาษาอื่นที่ถือพระพุทธสาสนาถูกต้องกัน คือพระสงฆ์สามเณรแลคฤหัสถ์ จะเที่ยวชนบทจาริกแสวงหาข้อปฏิบัติ แลนมัสการพระเจดีย์โดยความประสงค์ประโยชน์ชาติน่าก็ดี ฤๅลูกค้าวานิชเที่ยวค้าขายหมายผลประโยชน์ชาตินี้ก็ดี เมื่อไม่มีข้อเหตุต่างๆ ขัดขวางต่อการแผ่นดิน มาตามตรงไปตามตรงแล้ว ก็ทรงพระมหากรุณาโปรดให้สำเร็จความประสงค์ของคนพวกนั้น จะมาก็ให้มา จะไปก็ให้ไปตามสบาย ไม่ได้ห้ามหวงยคดหน่วงเอาตัวไว้ แลครั้งนี้เราได้เห็นพม่าพวกนี้เปนคนถือพระพุทธสาสนาเหมือนกัน เราได้ให้ล่ามไต่ถามพูดจาฟังดู ก็เหนว่าไม่มึความเกี่ยวข้องขัดขวางการแผ่นดินแต่อย่างหนึ่งอย่างใด เราจึงได้รับรองโดยปรกติตามวิสัยสมณะ แลได้รับไทยธรรมของท่านโดยหารังเกียจมิได้ดังว่ามาแล้วแต่หลัง

อนึ่งเราขอแจ้งความมาให้ท่านเชื่อว่า ในกรุงเทพมหานครบัดนี้พระพุทธสาสนาก็รุ่งเรืองดำรงอยู่ พระเถรานุเถระผู้ทรงคุณธรรม ครอบครองหมู่คณะสั่งสอนพระสงฆ์สามเณรแลคฤหัสถ์ ให้เล่าเรียนพระคัมภีร์ใหญ่น้อย แลได้ตั้งอยู่ในข้อปฏิบัติบำเพ็ญกุศลต่างๆ ก็มีอยู่มากทั้งภายในภายนอกพระนคร แลคัมภีร์พระพุทธวจนะ คือบาฬีอรรถกถาฎีกาทั้งปวง ก็มีบริบูรณ์ในกรุงเทพมหานครนี้ เราทั้งหลายคือพระภิกษุสงฆ์ขออนุโมทนาเจริญเมตตาอวยพรมาถึงท่าน ขอท่านจงมืความศุขสวัสดิเจริญ แลประกอบความเลื่อมใส่ในพระรัตนไตรยให้มั่น จงบำเพ็ญการกุศลทานศีลภาคนาสัมมาปฏิบัติ เพื่อเปนอุปนิสัยแก่ทางสุคติสวรรค์นฤพานให้บริบูรณ์ทุกประการ เทอญ

ลิขิตมาณวัน ฯ ค่ำปีมะเสงนักษัตรนพศก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ