พระบรมราชาธิบายที่ ๗

ว่าด้วยพระเทพโมลีถวายเทศนาใช้คำผิด

ณวัน ๖ เดือน ๙ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีชวดฉศก ศักราช ๑๒๒๖ เวลากลางคืนพระเทพโมลีถวายพระธรรมเทศนาพระธรรมบทเบื้องต้นผูก ๑ ถึงในที่ว่า “ปติฏฺาปิตมตฺติกํ สาสนํ ราชมุทฺธาย ลฺจนฺโตวิย” ในนิทานพระจักขุปาลเถร ก็อ่านไปว่าประทับพระราชสาสน์ มีดินอันบุคคลประดิษฐานแล้วด้วยแหวนแห่งพระราชา ครั้นถวายพระธรรมเทศนาจบทรงประเคน จึงทรงเปลื้องพระธำมรงค์ที่ทรงอยู่ในพระอนามิกา เมื่อเวลาเสด็จไปทรงประเคนนั้น พระราชทานให้หลวงนายศักดิ์กลับไปถามพระเทพโมลีว่าอะไร บอกมาว่าแหวนเวลาหนึ่งแล้ว ก็ความคิดผิดเช่นนี้ก็เปนแต่กิริยาไพร่ไม่รู้จักการในพระราชวัง ที่พระสงฆ์จะเรียกว่าในราชตระกูล ก็พระเทพโมลีเปนพระราชาคณะมีบันดาศักดิ์เหมือนขุนนางเปนพระยาชาววัดเรียกว่ากุลูปกะแล้ว ก็มาเรียกของเครื่องทรงของพระเจ้าแผ่นดินเหมือนกับของไพร่ๆ ไม่สมควรเลย พระเทพโมลีเล่า ก็ไม่ขึ้นแก่ความรู้ของตัวทุกช่องทุกประตูไป ขึ้นแต่หนังสืออ่าน ก็ผู้แต่งหนังสือให้อ่านนั้นก็เปนคนปากต่ำปากเลวนัก มาเรียกของเปนคำมคธที่พระเทพโมลีเรียกว่าพระบาลีนั้น ว่าแหวนแห่งพระราชา ผู้นั้นเปนชาววัดฤๅชาวบ้าน ผู้นั้นแปลหนังสือออกจนได้มารับจ้างฤๅรับอาสาเปนอาจารย์สอนพระเทพโมลีให้เทศนาได้ ก็ควรจะยินดีขอบใจด้วยแล้ว ยังรู้จักดูหนังสือคำมคธแปลถูกศัพท์อยู่ ดีกว่าพระเทพโมลีที่ละเลยหนังสือเสีย คงอยู่แต่นั่งกินนอนฉันนิตยภัตร ที่ในหลวงหลงสำคัญว่าเอาธุระพระสาสนาบอกหนังสือหนังหาอยู่นั้น แล้วแลพระราชทานไปถึงเดือนละ ๑๘ บาทเปนนิตย์ แต่ผู้นั้นปากไพร่นักมักง่าย “ราชมุทฺธา” ที่แปลว่าแหวนแห่งพระราชานั้น เปนของเจ้าของนายเรียกอะไร อย่างนี้ไม่ควรเลย ว่าตามสัตย์ตามจริง “ราชมุทฺธาย” จะว่าถวายแหวนคำนี้ที่แปลหนังสืออยู่ตามเคยได้ยินมา แปลโบราณแท้ว่าด้วยตราพระราชสีห์ ครั้นมาภายหลังมีผู้ติว่า ตราพระราชสีห์เปนของกรมมหาดไทย มิใช่ของพระเจ้าแผ่นดินที่ชาววัดจะเรียกว่า พระมหากระษัตริย์ จึงบิดแปลเสียใหม่จากคำโบราณ แลหันให้ถูกศัพท์ด้วย ว่าด้วยตราแห่งพระยาบ้าง ด้วยแหวนแห่งพระยาบ้าง ตามภาษาแปล ก็แต่ภาษาเทศนาถึงในเรื่องชาดกต่างๆ ที่กล่าวด้วย “ราชงฺคุลิมุทฺธิกา” ก็เคยได้ยินท่านเทศน์ว่าพระธำมรงค์ แต่เมื่อเปนของท้าวพระยาเมืองอื่นโบราณ คนก็มักเรียกหมิ่นๆ เสียว่าแหวน อย่างพระธำมรงค์ของนางสีดาทศกรรฐ์ถอดออกคว่างสดายุๆ คาบไว้ถวายพระรามๆ ให้หณุมานคืนไปถวายนางสีดานั้น คนโบราณก็เรียกกันค่าถวายแหวน คำนั้นหัวเปนมังกุท้ายเปนมังกรอยู่ ก็นางสีดาแลพระรามนั้นเปนเจ้าฤๅเปนไพร่ ถ้าเปนเจ้ากีไม่ควรจะว่าถวายแหวน ควรจะว่าถวายพระธำมรงค์ เพราะของนั้นนางสีดาได้ทรงมาแต่ก่อน ภายหลังพระรามมาทรงไว้ มิใช่ของๆ ผู้อื่นซึ่งเปนของไพร่ หณุมานได้มาโดยซื้อขายฤๅแย่งชิง ฤๅเปนของตกกลางป่าค่าไม้ได้มา จึงควรจะว่าถวายแหวน ก็ในของ ๆ เจ้านายบ้านอื่นเมืองอื่นถึงคนโบราณก็ว่าผิดๆ อยู่ดังนี้มีเปนอย่างมากอยู่ ก็ในที่เทศนานั้นพลั้งคำเทศน์ไปอย่างคำแปลก็ไม่สู้กระไรนักดอก แต่เมื่อเทศนาจบแล้ว เสด็จไปทรงประเคนทรงพระธำมรงค์ไป พระธำมรงค์นั้นก็ทรงอยู่เปนนิตย์ทั้งกลางคืนกลางวัน เห็นจำได้อยู่ด้วยกันทั้งชาววัดชาวบ้าน เมื่อพระราชทานให้หลวงนายศักดิ์ไปถามว่านี้อะไร พระเทพโมลีเรียกมาว่าแหวนนั้น พานจะพลุ่มพล่ามเหลือลามอยู่สักน้อย ครั้นจะซักเข้าก็จะมีที่แก้ตัวว่าจำไม่ได้แลไม่เห็น แลอื่นๆ ยกไว้ทีหนึ่งไม่ว่า ครั้นมาเมื่อณวัน ๗ เดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำเวลากลางคืน พระเทพโมลีมาถวายพระธรรมเทศนาว่า ในที่ประโยคว่า “อถขฺวสฺส ปุรโต อภิกฺกมนฺตสฺส ยุคํ คิวํ พาธติ” นี้ เทศนาว่าเมื่อโคใช้นั้นล่วงไปข้างน่า แอกก็เบียดเบียฬซึ่งข้อแห่งโคนั้น ว่าดังนี้ดังๆ ได้ยินถนัดว่าข้อ ไม่ว่าฅอเลย ก็เมื่อเสียงดังนี้ได้ยินออกมา ถ้าเปนเสียงพระศิริธรรมมุนีฤๅพระโพธิวงศ์ ก็จะทรงสงไสยว่า เปนเสียงชาวตะวันตกจึงได้ยินไปดังนี้ แต่เสียงพระเทพโมลีคำอื่นเปนเสียงไทยชัดว่าดังนี้ ก็ทรงพระสันนิษฐานเปนแน่ถนัดว่า พระเทพโมลีนั้นวางใจขาดแก่หนังสืออ่าน ไม่ได้แลดูหนังสือคำมคธแลคิดถึงความผิดถูกเลย จึงได้มีพระราชโองการให้ขุนสุวรรณอักษรคลานเข้าไปถามว่าข้ออะไรของโค พระเทพโมลีบอกว่าข้อเท้าแล้วกลับซ้ำทวนเทศน์ใหม่ว่า เมื่อโคใช้นั้นล่วงไปข้างน่า แอกก็เบียดเบียฬซึ่งข้อแห่งโคอิกอย่างก่อนนั้นจึงได้ทรงร้องดังขึ้นว่าแอกเขาผูกกับอะไร พระเทพโมลีจึงแก้ตัวได้อ่านอิกครั้งหนึ่งว่า เมื่อโคใช้นั้นล่วงไปข้างน่า แอกก็เบียดเบียฬซึ่งฅอแห่งโคนั้น ก็ของนี้ความเหม่นเหม่นัก แต่เด็กๆ มันก็รู้ว่าแอกไม่ได้ผูกเท้าโค ว่าอะไรเลอะอย่างนี้ ดูจืดจางแหลกเหลวนัก พระเทพโมลีอายุถึง ๖๒ ปีก็เปนผู้ใหญ่อยู่แล้ว จะหักชราก็ไม่ได้ เพราะอายุยังไม่ถึง ๗๐ ก็ถ้าในที่คำลึกๆ จะทราบความยาก เหมือนอย่างที่มาว่า ตัดตระตัดตระวะสักคิ ภัพตังปาปุนาติ เช่นนี้ก็ยกไว้จะไม่ว่าอะไรนักที่พระเทพโมลี แต่ในที่ถวายเทศนาณบัดนี้ ความก็ย่อมทราบกันอยู่กลุ้มๆ เห็นว่าหละหลวมมักง่ายเลอะนักแล้ว จึงให้ลดนิตยภัตรเสีย ให้คงได้รับแต่สามตำลึง อย่างพระราชาคณะที่ไม่ได้เล่าเรียน เปนแต่ผู้อยู่รักษาพระอารามไม่มีความถ้อยสิ่งไรก็เปนดีอยู่แล้ว ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ