พระบรมราชาธิบายที่ ๔

ว่าด้วยคำว่า ตถาคต อหํ มํ มมํ เม

พระสงฆ์มาใช้ว่าอาตมาเสียหมด

พระสงฆ์มาฉันก็ดี เทศนาก็ดี ก็ย่อมให้ศีลว่า มุสาวาทาเวรมณี ทุกเวลา ในพระสาสนาทั้งศีลพระศีลคฤหัสถ์ ชาววัดชาวบ้าน ก็มีมุสาวาทาเวรมณีหมด ในสาสนาติเตียนมุสาวาทด้วยบรรยายเปนอันมาก สรรเสริญความสัตย์ความจริงว่าเปนดี ความสัตย์ก็เปนบารมีอย่างหนึ่ง ของพระโพธิสัตวที่สร้างพระบารมีจะตรัสเปนพระพุทธเจ้า ก็คำคนพูดเปนภาษาอื่น ฤๅหนังสือเปนภาษาอื่น เมื่อจะเอาภาษานั้นมาว่าให้คนอื่นฟัง ตามภาษาของผู้ฟัง ถึงผิดไปจากภาษาเดิมของหนังสือนั้น ด้วยถ้อยคำเปนภาษาอื่น ฤๅสำนวนในภาษาของหนังสือนั้น กลับหน้ากลับหลังผู้ฟังเข้าใจยาก จะมายักสำนวนให้เข้าหูผู้ฟังตามภาษาผู้ฟังก็ดี ฤๅความยาวอ้อมค้อมนัก จะตัตใจความให้สั้นก็ดี ฤๅคำที่ว่ามาในหนังสือนั้นสั้นนักฦกนักกลัวผู้ฟังจะไม่เข้าใจ จะอธิบายออกไปให้เข้าใจก็ดี ไม่มีโทษไม่เปนมุสา สุดแต่ว่าความประสงค์ของผู้กล่าวเรื่องเดิมเปนอย่างไรในหนังสือ ก็มาว่ากล่าวความประสงค์นั้นให้ชัดให้ผู้ฟังเข้าใจ แล้วก็ไม่เปนเท็จ คงเปนคำจริง แต่คำที่พระเทศนาอยู่ทุกวันนี้ รังเกียจอยู่สองคำ คำหนึ่งคือเทศน์ ว่าพระพุทธเจ้าเรียกพระองค์ท่านเอง ฤๅจะว่าเปนคำตลาดก็ว่าตัวท่านเอง ว่าพระตถาคต ๆ ทุกคำไป ไม่มีวิเศษเว้นบ้างมีที่ควรที่ไม่ควรบ้างเลยนั้น จะเปนจริงแล้วฤๅ ? ก็คนฟังคำเทศนาทั้งบ้านทั้งเมืองพระเทศนาสอนให้ถือลัทธิ ว่าพระพุทธเจ้าจะเรียกพระองค์ท่านเองทั้งทรงคิดแลตรัส ฤๅทั้งคำพูด คำคิดว่า ตถาคต พระตถาคต ไปเสียหมด ไม่มีว่ากูว่าเราว่าข้าเลยดังนี้ นั่นจะเปนจริงแล้วฤๅ ? จะเปนถูกต้องกับความในพระบาฬีแล้วฤๅ ? ก็ในพระบาฬีนั้นจะชี้ให้เห็นก็มีที่ประหลาดเปนอันมาก แต่จะว่าไปก็จะเกินตาเห็น เกินใจจำของพระสงฆ์เหม่นเหม่ไป ขอชี้เอาบาฬีที่ขึ้นปากขึ้นใจ คือบาฬีธชัคสูตรว่า “อหฺจโข ภิกฺขเว เอวํ วทามิ สเจ ตุมฺหากํ ภิกฺขเว ฯลฯ มเมว ตสฺมึ สมเย อนุสฺสเรยฺยาถ ฯลฯ ภควาติ มมํ หิ โว ภิกฺขเว อนุสฺสรตํ ฯลฯ จนถึง สํฆํ หิโว ภิกฺขเว ฯลฯ ปหิยิสฺสติ ตํ กิสฺสเหตุ ตถาคโต หิ ภิกฺขเว อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ฯลฯ อปลายีติ” ในบาฬีนี้คำที่ว่า “อหํ มมํ ก็มี ตถาคโต” ก็มี ก็พระมาเทศน์บาฬีนี้ ในที่ “อหํ มมํ” ว่าพระตถาคต ตถาคต ก็ในที่บทว่า “ตถาคโต” ว่าพระเจ้าฤๅพระพุทธเจ้า ฤๅว่าพระผู้มาสุ่พุทธภูมิ เสมอด้วยพระพุทธเจ้าในก่อน ก็ที่เทศน์เช่นนี้นั้นเปนจริงฤๅเปนเท็จ ? “อหํ มํ เม” ซึ่งคำพระพุทธเจ้ามาเทศนามาแปลว่า พระตถาคตๆ ไปเสียหมด ส่วน “ตถาคโต” บาฬีมีตรงตัวสิแปลว่า พระเจ้าพระนาย อะไรไปเล่า อย่างนี้นี่จริงแล้วฤๅ ๆ เปนเท็จไป ? ทำให้คนเข้าใจผิดไปทั้งบ้านทั้งเมือง ว่าพระตรัสอย่างนั้น คำว่า “อหํ มํ เม” ของคนอื่นสิแปลว่ากูว่าข้าว่าเราได้ อย่าเถียงว่าเปนแต่โวหาร ถ้าของใช้ทั่วไปได้ อย่างคำคนพูดจึงจะว่าโวหาร เหมือน “อหํ มํ เม” เหล่านี้ว่ากูนั้นตรง แต่ในโวหารไทยนั้นเขายักย้าย ถ้าไพร่เสมอกันพูดกัน ฤๅผู้มีบันดาศักดิ์สูงว่าแก่ไพร่จึงใช้กู ฤๅผู้มีบันดาศักดิ์เสมอจะพูดกัน ผู้ใหญ่พูดแก่ผู้น้อยว่าข้า ผู้น้อยพูดแก่ผู้ใหญ่ว่าฉัน ผู้เสมอกันถ้ากระด้างต่อกันก็ว่าข้าด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าอ่อนผ่อนต่อกันก็ว่าฉัน ดีฉัน กระผม ทั้งสองฝ่าย ถ้าผู้น้อยพูดแก่ผู้ใหญ่ก็ว่า ดีฉัน กระผม ข้าพเจ้า กระหม่อมฉัน ข้าพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ใหญ่กว่าตัวน้อยๆ ขึ้นไปเปนชั้นๆ จนถึงพระเจ้าแผ่นดิน เปนที่ล้นที่พ้นตามลำดับนั้น พระสงฆ์สามเณรพูดกันแลพูดแก่คนสามัญก็ใช้เหมือนโวหารคฤหัสถ์ แต่เมื่อพูดแก่คฤหัสถ์ที่มีบันดาศักดิ์สูง ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมา จนถึงขุนนางที่เปนพระยาเปนพระ ก็ว่าอาตมาบ้าง อาตมภาพบ้าง พูดแก่ผู้มีบันดาศักดิ์ต่ำลงไปกว่านั้น ก็ว่ารูป เปนอย่างธรรมเนียมคำพระสงฆ์สามเณร ก็ผู้อื่นมิใช่พระสงฆ์สามเณร จะว่าอาตมา อาตมภาพแลรูปแก่ใครๆ ไม่ได้เลย การทั้งปวงที่พรรณนามานี้ในโวหารไทยใช้ในคำมคธว่า “อหํ มํ เม” ทั่วบ้านทัวเมืองไป ก็ถ้าจะเทศนาตามโวหารไทยที่เคยใช้อยู่ทั่วบ้านทั่วเมืองดังนี้ เห็นไม่เปนเท็จไม่เปนผิดด้วยว่าตรงคำที่เขาเคยใช้กัน ก็พระพุทธเจ้ามีแต่พระองค์เดียวในเมืองอื่นในเวลาหนึ่งคราวหนึ่ง มิใช่ชาวเมืองนี้ คำว่าตถาคตพระตถาคตมิใช่โวหารชาวเมืองนี้ เปนแต่โวหารของผู้ใส่ความเอาพระพุทธเจ้าเปล่าๆ ลบเลือนวิเศษในบาฬีเสีย ก็วิเศษในบาฬีนั้นอย่างไร อย่างบาลีธชัคสูตรที่ว่าก่อนนั้น ที่ตรัสว่า “อหํ” ว่า “มมํ” ก็มี ว่า “ตถาคโต” ก็มี นั้นก็เปนวิเศษอยู่ แต่อรรถกถาไม่แก้ จงยกไว้ บาฬีในเวรัญชกัณฑ์พระวินัยบาฬีอาทิกรรมผูกหนึ่งมีว่า “อตฺถิ” เขฺวส พฺราหฺมณ ปริยาโย เยน มํ ปริยาเยน สมฺมาวทมาโน วเทยฺย อรสรูโป สมโณ โคตโมติ เย เต พฺราหฺมณ รูปรสา สทฺทรสา คนฺธรสา รสรสา โผฏฺพฺพรสา เต ตถาตสฺส ปหีนา อุจฺฉินฺนมูลา ตาลาวตฺถุกตา อนภาวํกตา อายตึ อนุปฺปาทธมฺมา อยํโข พฺราหฺมณ ปริยาโย เยน มํ ปริยาเยน สมฺมาวทมาโน วเทยฺย อรสรูโป สมโณ โคตโมติ” ในสมันตปาสาทิกาที่แก้บาฬีนี้มีว่า “มยฺหํ ปหีนา มม ปหีนาติ วตฺตพฺเพ” แล้วว่ากระไรไปมิรู้อยู่ ดูเอาเถิด ก็วิเศษของบาฬีที่เปน “อหํ มํ เม” แลเปน “ตถาคตสฺส” นั้นมีอยู่ อรรถกถาจารย์แก้ไขไว้ ครั้นมาถือลัทธิเท็จๆ ว่าพระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระองค์เองว่าตถาคต พระตถาคตไปทุกคำ ไม่มีกูแลข้าแลเราบ้างเลย เนื้อความวิเศษที่อรรถกถาจารย์แก้ไขไว้ ก็ชื่อว่าลบล้างทำลายเสียให้สาบสูญ แยบคายพุทธาธิบายนั้นมีอยู่นา ลบล้างเสียดังนี้ไม่สมควรเลยน่าเสียดายนัก

ประการหนึ่ง พระสงฆ์เทศนาคำคิดฤๅคำพูดบ้างของใครๆ ไม่ว่าไม่เลือกว่าพระว่าคฤหัสถ์ มนุษย์แลสัตว์ดิรัจฉานตลอดลงไปจนสุนักข์สุกร ก็ว่าอาตมาไปเสียหมด อาตมาจะอย่างนั้น อาตมาจะอย่างนี้ ทั้งเทศนาทั้งแปล การที่ใช้ดังนี้ก็เกินโวหารไทยไป เพราะโวหารไทย อาตมาแลอาตมภาพ เปนคำสำหรับพระสงฆ์สามเณรจะเจรจาแก่พระเจ้าแผ่นดินเปนต้น ลงไปจนพระยาแลพระ ต่ำกว่านั้นก็ว่ารูป ถ้าพูดกันเองก็ใช้เหมือนคฤหทัสก์ตามบันดาศักดิ์สูงต่ำแลเสมอกัน ฤๅพูดแก่คนสามัญมิใช่ขุนนาง ก็พูดโดยเสมอๆ ฤๅพูดแก่ศิษย์แก่ทาษก็ว่ากู ไม่ได้ว่าอาตมาไปทุกผู้ทุกคน สาสนาจะบังคับให้ว่าก็ไม่มี เปนแต่การตามเคย ก็ซึ่งเอาอาตมาไปใส่ให้เปนคำของคนทั้งปวง ไม่ว่าพระแลคฤหัสถ์ชาววัดชาวบ้าน มนุษย์ติรัจฉาน อะไรเลยนั้น ผิดโวหารไทยอยู่ ถ้าจะว่าพระสาริบุตรฤๅพระอานนท์ถวายพระพรแก่พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ฤๅพระนาคเสนถวายพระพรแก่พระเจ้ามิลินท์ พระมาไลยถวายพระพรแก่พระอินทร์ ฤๅพระศรีอาริยเทพบุตร ว่าอาตมาอาตมภาพว่าอย่างนี้ ว่าอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ทำอย่างนั้น ขอถวายพระพร ฟังก็นวนหู เพราะดี ถึงไม่จริงอย่างนั้นก็ต้องแก่โวหารไทยซึ่งใช้แก่ผู้มีบันดาศักดิ์ดังนั้น ฤๅอย่างหนึ่งจะว่าพระเถรองค์หนึ่งเข้าไปเจริญพรแก่เสนาบดี ว่าอาตมภาพประสงค์สิ่งนี้ ขอเจริญพรดังนี้ก็ฟังได้ ถ้าจะเล่าเรื่องว่าพระสงฆ์สั่งสนทนากัน ว่าอาตมาอย่างนี้อย่างนั้นขัดหูอยู่ เพราะพระสงฆ์พูดกันเอง ไม่เคยได้ยินว่าอาตมภาพ เคยได้ยินอยู่บ้างแต่พระราชาคณะบางองค์ที่เปนผู้ใหญ่ ท่านพูดแก่เจ้านายที่ทรงผนวชอ่อนพรรษากว่าท่านว่าอาตมภาพนั้นมีอยู่ ฟังก็ไม่ขัดหู เห็นเปนอันเคารพแก่เจ้านายโดยปรกติ แลลางองค์ท่านก็ไม่ใช้ว่าอาตมภาพท่านว่าดีฉัน เมื่อว่าอย่างนั้นพิเคราะห์ก็น่ารักน่าฟังอยู่เห็นความชัดว่าไม่ว่าอาตมภาพ เพราะสำคัญว่าเปนภิกษุเพื่อนสพรหมจรรย์ ไม่ขึ้นข้าเหมือนอย่างพูดกันกับภิกษุหนุ่มอื่นด้วยเคารพแก่เจ้านาย ยกขึ้นให้เปนเสมอเหมือนพรรษาอายุเท่ากัน ฟังดูก็ชอบกลอยู่ แต่พระราชาคณะที่พรรษาใกล้เคียงฤๅอ่อนกว่าเจ้านายที่ทรงผนวช เห็นท่านพูดแก่เจ้านายที่ทรงผนวชนั้นว่า กระหม่อมฉันดังนั้น การอย่างนั้นก็สมควรแล้ว ก็ส่วนคำเทศนาล้วนแล้วด้วยอาตมาๆ ไปหมด เลอะไปไม่ว่าใครต่อใครกีดหูนัก พระเทพกระวีถวายเทศนา ในที่คำพระราชาคณะอื่นเทศนาว่าอาตมานั้น ท่านว่ากู พระราชาคณะอื่นๆ ก็ติเตียนว่า พระเทพกระวีว่าไม่ถูก ว่าเปนคำหยาบคายเปนคำตลกไปไม่ควร ก็ที่พระเทพกระวีว่ากูๆ นั้นชอบถูกแล้ว เพราะคำในหนังสือโบราณมีเปนอันมาก ถึงสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์วัดราชเดชกรุงเก่าท่านแต่งไว้ก็ว่ากู แลในหนังสือสิกขาบทวินิจฉัยแปลร้อย ท่านก็แต่งไว้ว่ากู มีตัวอย่างมาดังนี้ ก็ถ้าหากจะมีคำเล่านิทานเปนคำบาฬีว่าดังนี้ “ปุพฺเพ กิร เอกา สุนขี ภตฺตฺจ สูปฺจ มจฺฉฺจ ภุฺชิตฺวา ปานิยํ ปิวิตฺวา นิปชฺชิสฺสามีติ จินฺเตสิ” จะมิต้องแปลว่า ดังได้ยินมาในกาลก่อน ยังมีนางสุนักข์ตัวหนึ่ง คิดว่าอาตมาจะฉันจังหันก็ดี สูปังก็ดี แล้วดื่มกินอุทกังก็ดี แล้วจักจำวัดดังนี้ฤๅ ขอให้พระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยดำริห์ดูจงเลอียดในคำที่ใช้แปลว่า อาตมาๆ นั้นเทอญ ๚ะ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ