พระราชปุจฉาที่ ๑

(ไม่พบพระราชปุจฉา มีแต่คำถวายวิสัชนา)

เรื่องแปลศัพท์พระนิพพาน

แปลศัพท์นิพพาน ตามโวหารพระราชาคณะหลายพระองค์ โดยพระราชปุจฉาเมื่อปีระกาเบญศกศักราช ๑๒๓๕

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

ครั้งยังดำรงพระยศเปนกรมพระ

๏ นิพพานนั้น คือความดับไม่เหลือแห่งอวิชาแลตัณหา จนขันธ์ทั้งห้าไม่มีไม่เปนต่อไป ความที่อวิชาแลตัณหาดับไม่เหลือ ด้วยอริยมรรคสมุจเฉทปหานนี้แลชื่อว่านิพพาน

หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์

วัดบพิตรภิมุข

๏ นิพพาน ศัพท์นั้น แปลว่าสิ้นราคะโทสะโมหะทั้งปวง สมด้วยเนื้อความในชมพูขาทกสูตร พระธรรมเสนาบดีสาริบุตร แสดงธรรมเทศนาแก่ภิกษุทั้งปวงว่าสิ้นราคะโทสะโมหะ ได้ชื่อว่านิพพานประการหนึ่ง นิพพานนั้นแปลว่า ธรรมเปนที่ดับทุกข์ทั้งปวง สมดังถ้อยคำที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมเทศนาในสัจจวิภังค์ ว่าดับซึ่งตัณหาด้วยอริยมรรคทั้ง ๔ มีโสดาปัตติมรรคเปนต้น มีอรหัตมรรคเปนที่สุดไม่มีเศษได้ชื่อนิพพาน เปนที่ดับทุกข์ทั้งปวงประการหนึ่ง นิพพานนั้นแปลว่าธรรมชาติออกจากตัณหา สมด้วยบทวิคหะว่าธรรมชาติใดออกจากตัณหา เปนเครื่องพันผูกไว้ในไตรภพทั้ง ๓ ธรรมชาตินั้นชื่อว่านิพพาน นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่านิพพานนั้น แปลได้สามประการ คือแปลว่าสิ้นราคะโทสะโมหะหนึ่ง แปลว่าดับทุกข์ทั้งปวงหนึ่ง แปลว่าออกจากตัณหาเปนเครื่องพันผูกไว้ในไตรภพทั้งสาม คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ เปนสามประการฉนี้

หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์

ครั้งยังเปนหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์

วัดระฆังโฆสิตาราม

“วานโต นิกฺขนฺตํ นิพฺพานํ อถวา วานสํงขาตาย ตณฺหาย นิกฺขนฺตํ นิพฺพานํ นิพฺพาติ เอเตนาติ นิพฺพานํ”

๏ แปลว่า ธรรมชาติออกจากธรรมร้อยไว้ซึ่งสัตว ชื่อว่านิพพาน

นัยหนึ่งว่า ธรรมชาติออกจากตัณหา อันกล่าวคือวานะชื่อว่านิพพาน

อิกนัยหนึ่ง “นิพฺพานํ” แปลว่าธรรมเปนเครื่องดับแห่งเพลิง คือราคะ เปนต้น

หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิศธาดา

วัดบวรนิเวศ

๏ “นิพฺพานํ” นั้นคือเปนเครื่องดับเพลิงกิเลสแลเพลิงทุกข์ทั้งสิ้นแลสรรพสังขารทั้งหมด ดับสนิทสิ้นเชื้อหาเศษมิได้

แปลตามสติปัญญาโดยสังเขปเท่านี้

สมเด็จพระวันรัต (ทับ) วัดโสมนัศวิหาร

ครั้งยังเปนพระพิมลธรรม

๏ นิพพานะ แปลว่าดับเหตุเกิดทุกข์ ดับทุกข์เสียหมด จึงเปนศุขอย่างยิ่ง ผู้ใดทำให้แจ้งนิพพาน ด้วยความรู้ความเห็นเองแล้วผู้นั้นก็ดับทุกข์สิ้นทุกข์หมด แปลนิพพานนี้ไม่ยากนักดอก แต่ความทำให้แจ้งด้วยความรู้ความเห็นจริงนี้ยากนักเทียว ผู้ที่หลงงมอยู่ไม่รู้จักทุกข์แล้วไม่ชอบไม่อยากได้นิพพานเลย ถึงจะพูดถึงนิพพานเล่าก็ไม่มีเห็นจริง เหมือนกับคนที่มีจักษุบอดแต่กำเนิด ไม่รู้ไม่เห็นอะไรก็พูดไปตามเขาที่พูดกันฉนั้น นั้นแล

สมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐ

ครั้งยังเปนพระสาสนโสภณ ที่ พระธรรมวโรดม

๏ นิพพานะศัพท์ ว่าดับ คือดับเครื่องร้อนเครื่องเผาเสีย ท่านผู้ทำเครื่องร้อนเครื่องเผาให้ดับได้แล้ว เปน นิพฺพุโต สีตีภูโต ผู้ดับแล้วเปนผู้เย็นแล้ว หนึ่งท่านแยกเปน ๒ นิ ๑ วานะ ๑ นิ ว่าออก ว่าไม่มี วานะ ว่าผู้ร้อยไว้ ผู้เย็บไว้ คือตัณหา อาเทศ (ว) อักษรเปน พ อักษร สัมฤทธิรูป เปน นิพฺพานํ ประกอบความว่า นิพฺพานํ ออกจาก วานะ คือ ตัณหาแล้ว นิพฺพานํ ไม่มี วานะ คือตัณหา นิพฺพานํ เปนเหตุเปนเครื่องไม่มี วานะ ตัณหา ดังนี้ เปนนัยวิธีหนึ่ง

ก็แต่นัยว่า นิพฺพานํ ดับ คือดับเครื่องร้อนเครื่องเผา ได้ยุติกว่านัยที่แยกเปน ๒ คือ นิ ๑ วานะ ๑

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี) วัดประทุมคงคา

ครั้งยังเปนพระพรหมมุนี

๏ นิพฺพานํ ธรรมชาติไม่มีแห่ง วานะ คือ ตัณหา

พระพรหมมุนี (เหมือน) วัดบรมนิวาศ

ครั้งยังเปนพระอริยมุนี

๏ นิพฺพานํ นั้น ก็คำว่า นิพฺพานํ นี้มีมาก เมื่อประสงค์สังขตธรรมวิสังขาร ซึ่งไม่มีสังขตลักษณะ คือความเกิดขึ้นดับไปตั้งอยู่แปรไป แลไม่มีตัวอย่างที่จะแสดงให้เห็นชัดแล้ว นิพฺพานํ แปลว่าธรรมเปนที่ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ ฤๅแปลว่าธรรมเปนที่ไม่มี วานะ ของร้อยรัดคือตัณหา

พระเทพกระวี (นิ่ม) วัดเครือวัลิ์

ครั้งยังเปนพระสุคุณคณาภรณ์

๏ นิพพานศัพท์ คือ นิพฺพานํ แปลว่า ธรรมชาติเปนที่ออกจากตัณหา ละกิเลศทั้งปวง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) วัดประยูรวงศาวาศ

๏ นิพพาน แปลว่า ออกจากตัณหา ตัณหานั้นคือ ความอยากได้ ความปราถนา วิญญาณดวงใจ ไม่มีความอยากได้ ความปราถนา เปนวิญญาณบริสุทธิ ดุจอากาศไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้อง ติดค้างอยู่ได้ วิญญาณดวงนั้นแลเปนนิพพาน เพราะเปนวิญญาณสอาดไม่ติดอยู่ด้วยมลทินโทษสิ่งใด ก็จะพ้นจากความเกิดความตายทุกข์ภัยทั้งปวง รับพระราชทานพิจารณาเห็นอย่างนี้ ควรมิควรสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรด

สมเด็จพระวันรัต (สมบุญ) วัดพระเชตุพน

๏ ข้อถามว่า นิพพานศัพท์แปลว่ากะไรนั้น อาตมภาพ ทราบว่าเดิมเปนนิ ๑ วานะ ๑ ครั้นปริยายเอา (ว) เปน (พ) แล้วทเวภาพเปนสองสำเร็จรูปเปนนิพพานะ แปลว่าธรรมเข้าไปรงับสิ้นไม่เหลือหลง

พระพิมลธรรม (อัน) วัดพระเชตุพน

ครั้งยังเปนพระธรรมไตรโลกอยู่วัดสุทัศน์

๏ นิพฺพานํ นั้น ตามพยัญชนะ ว่าออกจากตัณหา เปนเครื่องเย็บร้อยไว้ อย่างหนึ่ง แปลว่าดับ คือธรรมอันดับเพลิง ราคะ โทสะ โมหะ แม้นพระสาริบุตรกล่าวว่า ความสิ้นราคะโทสะโมหะ ชื่อว่านิพพาน

พระธรรมเจดีย์ (เนียม) วัดกัลยาณมิตร

ครั้งยังเปนพระเทพโมลี

๏ วิสัชนา นิพพานศัพท์ตามนัยแห่งพระอรรถกถา สัตตมสูตร วรรคที่ ๔ คัมภีร์อิติวุตกะ ว่า “วานํ วุจฺจติ ตณฺหา” ความว่า ตัณหา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า วานะ บทวิเคราะห์ว่า “นิกฺขนฺตํ วานโต นตฺถิ เอตฺถ วานํ อิมสฺมึ วา อธิคเต วานสฺส อภาโวติ นิพฺพานํ” แปลว่า ธรรมชาติอันใดออกจากตัณหาชื่อว่า วานะ เพราะฉนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่านิพพาน

นัยหนึ่งตัณหาชื่อว่า วานะ ไม่มีในธรรมชาตินี้ เพราะฉนั้นธรรมชาตินี้ชื่อว่า นิพพาน

นัยหนึ่ง ในเมื่อธรรมชาตินี้บุทคลได้แล้ว ความที่หามิได้แห่งตัณหาชื่อว่า วานะ ปรากฎ เพราะฉนั้นธรรมชาตินิ้ชื่อนี้ชื่อนิพพาน ธรรมชาติที่ออกจากตัณหาชื่อว่า วานะ นั้น คือพระอรหัตผล

พระธรรมไตรโลก (ทอง) วัดอรุณาราชวราราม

ครั้งยังเปนพระเทพมุนี

๏ ในบทคือนิพพานนั้นว่าดับโดยไม่เหลือ

สมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์

ครั้งยังเปนพระเทพกระวี

๏ นิพพานํ นั้นโดยพยัญชนะว่า ออกจากตัณหาเปนเครื่องเย็บร้อยไว้ อย่างหนึ่งแปลว่าดับ คือเปนธรรมดับเพลิงราคะโทสะโมหะ สมตามคำพระสาริบุตรว่า ความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ ชื่อว่านิพพาน

พระธรรมภาณพิลาศ (ผ่อง) วัดประยูรวงศาวาศ

เมื่อยังเปนพระโพธิวงศ์

๏ นิพพานศัพท์ มีเนื้อความวิภาคมากหลายอย่างนัก ถ้าจะแปลสั้นๆ นิพพาน แปลว่า ของเปนที่ดับกิเลสเท่านี้ จึงจะสรุปความได้มากกว่าอื่น

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง) วัดราชบุรณ

ครั้งยังเปนพระราชมุนี

๏ คำว่านิพพาน ที่พระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญว่าเลิดกว่าธรรมทั้งหลายนั้น คำประเภทตามสังเกตในพระปริยัติว่านิพพานดังนี้ นิพพาน นั้นคือนามธรรมอย่างหนึ่ง ชืออสังขตธาตุ ชื่ออสังขตธรรม เปนสภาวะอันทรงเปนปรกติของตน อวิชาแลตัณหาเปนต้น ซึ่งเปนปัจจัยธรรมไม่ประชุมแต่งได้ กล่าวโดยปริยายยักเยื้องแยกเปนสองคือสอุปาทิเสส คืออนุปาทิเสส นิพพานเปน ๓ คือดับสังขารทุกข์ในภพสาม เปน ๕ คือรำงับในกามคุณ ๕ เปน ๖ คือทำลายตัณหาในอารมณ์ ๖

อสังขตธาตุนั้น ท่านผูกพยัญชนะเปนที่สังเกต กล่าวคุณวิเศษของธรรมนั้นว่านิพพาน ธรรมอันออกแล้วจากตัณหา โดยบทว่า “วานโต นิกฺขนฺตํ นิพฺพานํ” ธรรมอันใดออกแล้วจากตัณหา ธรรมนั้นชื่อว่านิพพาน

“นตฺถิ เอตฺถ วานนฺติ นิพฺพานํ” ตัณหาไม่มีในอสังขตธรรมนี้เพราะเหตุนั้น อสังขตธรรมนั้น จึงชื่อนิพพานเปนที่ไม่มีตัณหา

นัยหนึ่ง “อธิคเต วานสฺส อภาโวติ นิพฺพานํ” อสังขตธรรมบุทคลได้สำเร็จแล้ว ตัณหามิได้มี เพราะเหตุนั้นอสังขตธรรม จึงว่านิพพานธรรมอันไม่มีตัณหา โดยความอธิบายว่า อสังขตธรรมนั้น ให้ผู้ที่ได้สำเร็จแล้วมิให้มีตัณหาดังนี้ ได้รับพระราชทานโดยอรรถสันนิษฐานดังนี้

พระญาณสมโพธิ (อิ่ม) วัดมหาธาตุ

๏ พระบาฬีนิพพานสูตรว่า “โย โข ราคกฺขโย โทสกฺขโย โมหกฺขโย อิทํ วุจฺจติ นิพฺพานํ” ธรรมสิ่งใดที่ให้ ราคะโทสะโมหะ สิ้นไป ธรรมสิ่งนี้ชื่อว่านิพพาน คำอธิบายในนิพพานศัพท์ โดยบทที่มีในคัมภีร์พระมงคลทีปนี ในบทนิพพานสัจฉิกิริยานั้น นิพพานศัพท์นี้แปลว่า เปนที่ดับแห่งเพลิง คือราคะโทสะโมหะ

อิกนัยหนึ่ง นิพพานศัพท์ แปลว่าออกแล้วจากตัณหาเปนที่ยังจิตรให้หลง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ