พระราชปุจฉาที่ ๒
ว่าด้วยการก่อพระทรายแลเรื่องเตภาติกชฎิล
๏ ด้วยพระยาศรีสุนทรไกหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดีพิริยพาหะ เจ้ากรมพระอาลักษณ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งให้เรียงความข้อพระราชปุจฉา ๔ ข้อ ส่งไปให้พระยาวุฒิการบดี ศรีวิสุทธิสาสนวโรประการ จางวางกรมสังฆการีธรรมการ เผดียงถามพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายคันถธุระแลพระสงฆ์บาเรียญทุกพระอาราม.
ในพระราชปุจฉานั้น ข้อ ๑ ว่าการก่อพระทรายฤๅเจดีย์ทราย ในฤดูตรุศสงกรานต์แลฤดูอื่นบ้าง เช่นอย่างก่อกันทุกวันนี้ จะมีบทพระบาฬีฤๅอรรถกถาฎีกา คัมภีร์ใดบ้าง.
ข้อ ๒ การก่อพระทรายนี้ มีมาแต่ครั้งพุทธกาล ฤๅมีขึ้นภายหลัง เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว.
ข้อ ๓ ถ้ามีขึ้นภายหลังพุทธกาล มีขึ้นณประเทศใดก่อน ผู้ใดเปนต้นบัญญัติจัดการ แลปรารภเหตุอะไร จึงได้คิดจัดการก่อพระทรายขึ้น เปนธรรมเนียมในบ้านเมืองที่นับถือพระพุทธสาสนาสืบมาจนถึงกาลทุกวันนี้
ข้อ ๔ ในเรื่องเตภาติกชฎิล เดิมว่าพระอุรุเวลกัสสปมีบริวารห้าร้อย พระยากัสสปะมีบริวารสามร้อย พระนทีกัสสปะมีบริวารสองร้อยรวมชฎิลบริวารครบพันหนึ่ง ควรจะเปนพันสามรูปทั้งอาจารย์ด้วย
ครั้นเรื่องความในอาทิตตปริยายสูตรมีว่า “ตสฺส ภิกฺขุสหสฺสสฺส อนุปาทาย อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสุ” ว่าจิตรของพระภิกษุพันหนึ่งนั้นหลุดจากอาสวะทั้งหลาย คือบรรลุอรหัตผลสิ้นด้วยกันทั้งพันหนึ่งนั้นแล้ว
อนึ่งความในพระปฐมสมโพธิ กล่าวด้วยพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองกบิลพัสดุครั้งแรกมีว่า “ขีณาสวสหสฺสปริวุตฺโต” ว่าพระภิกษุขีณาสพพันหนึ่ง คือท่านโบราณชฎิลพวกนั้นนั่นและ แวดล้อมตามเสด็จพระผู้มีพระภาคมาแล้ว
ในจาตุรงคสันนิบาต มีว่าพระภิกษุขีณาสวารหันตโบราณชฎิลพันพระองค์ ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคในสมัยจาตุรงคสันนิบาต ในความนี้ก็คือพระบุราณชฎิลพวกพระอุรุเวลกัสสปนั้นนั่นแหละ มิใช่พระอรหันต์พวกอื่น
ความเรื่องนี้ทรงฟังยังเคลือบคลุมอยู่ จะเปนพระอรหันต์พันถ้วนฤๅพันสาม อย่างไรแน่จะมีข้อวินิจฉัยถ่องแท้ในพระคัมภีร์ใดบ้าง.
ขออาราธนาเจ้าพระคุณพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยแลบาเรียญทั้งปวง เรียงความถวายวิสัชนาพระราชปุจฉาทั้ง ๔ ข้อนี้ มายื่นแก่พระยาศรีสุนทรโวหารในกำหนดวันนี้ พระยาศรีสุนทรโวหารจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง
หมายมาณวันที่ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๘
----------------------------
วันที่ ๒๑ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๘
รับพระราชทานถวายวิสัชนาพระราชปุจฉา ๔ ข้อตามสติปัญญา ข้อต้นซึ่งว่า การก่อพระทรายฤๅพระเจดีย์ทรายในฤกษ์ตรุศสงกรานต์ฤๅฤกษ์อื่นบ้าง เช่นอย่างก่อกันทุกวันนี้ จะมีในบทพระบาลีฤๅอรรถกถาฎีกาคัมภีร์ใดบ้างนั้น อาตมภาพยังไม่พบว่ามาในพระบาลีแห่งใดนอกจากทรงอนุญาตให้ก่อพระสตูปพระตถาคตเจ้าไว้เปนที่สักการบูชาในที่ประชุมทางสี่ ซึ่งมีมาในบาลีมหาปรินิพพานสูตรในทีฆนิกายมหาวรรค ส่วนในคัมภีร์อรรถกถาฎีกาทั้งหลาย จำแนกพระสตูปไว้โดยชื่อแลประเภทต่างๆ กัน รวมเปน ๔ อย่างคือ พระสตูปที่บรรจุพระธาตุเรียกธาตุเจดีย์บ้าง สารีริกเจดีย์บ้างอย่าง ๑ พระสตูปที่บรรจุพุทธบริกขารแลวัดถุสถานที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบริโภค ซึ่งเปน อสํหาริยะ ยกนำไปไม่ได้ มีไม้พระมหาโพธิเปนต้น เรียกว่าบริโภคเจดีย์อย่าง ๑ พระสตูปที่บรรจุอักษรแสดงพระธรรมที่เปนพระพุทธพจน์ เรียกว่าธรรมเจดีย์อย่าง ๑ พระสตูปพระปฏิมาที่สร้างอุทิศต่อพระพุทธเจ้า เรียกอุทเทสิกเจดีย์อย่าง ๑ ก็สตูปนั้น ในพระบาลีแลอรรถกถาฎีกาก็ไม่ได้นิยมชัดว่าให้ก่อด้วยสิ่งอันใด แต่การก่อพระสตูปที่มีปรากฎในเรื่องนั้นๆ ก็ล้วนก่อด้วยถาวรวัดถุมีอิฐเปนต้น ที่ปรากฎภว่าพระเจดีย์ทรายแท้นั้น มีมาในธรรมิกบัญฑิตราชชาดก ในคัมภีร์ปัญญาสะชาดกซึ่งได้ทราบว่าเปนของลาวแต่งแสดงว่าเปนคำพระอินทร์บอกแก่พระโพธิสัตวว่า ก่อพระเจดีย์แล้วได้วิมานแก้ว มีเรื่องแลถ้อยคำสำนวนลักษณะประโยคไม่เปนที่น่าเชื่อฟังได้ ส่วนในคัมภีร์อื่นๆก็พรรณาแต่อานิสงส์ในการเกลี่ยทรายในภูมิสถานให้ราบรื่นเท่านั้น ฤๅมีมาในคัมภีร์ใดอิกบ้างนั้นอาตมภาพทราบยังไม่ตลอด
ข้อ ๒ ซึ่งว่าการก่อพระทรายนี้ มีมาแต่ครั้งพุทธกาลฤๅมีขึ้นภายหลังนั้น เพราะไม่มีในบาลีแห่งใด ว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตฤๅตรัสสอนให้ก่อด้วยทรายโดยอาการที่ก่อกันในทุกวันนี้ ได้ความสันนิษฐานว่า มีขึ้นภายหลัง แต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
ข้อ ๓ ซึ่งว่าถ้ามีขึ้นภายหลังพุทธกาลมีขึ้นณประเทศใดก่อน ผู้ใดเปนต้นบัญญัติจัดการ แลปรารภเหตุอะไรจึงได้คิดจัดการก่อพระทรายขึ้น เปนธรรมเนียมในบัานเมืองที่นับถือพระพุทธสาสนา สืบมาจนกาลทุกวันนี้นั้น เพราะมีมาในปัญญาสะชาดกดังกล่าวแล้วในข้อต้นแลไม่มีผู้ใดก่อกันในประเทศตะวันตกคือพม่า, มอญ, อินเดีย, ลังกา เว้นไว้แต่มอญที่ออกไปจากกรุงเทพฯ ได้อย่างไปทำขึ้นบ้าง ได้ความสันนิษฐานว่า มีขึ้นในประเทศลาวก่อน ลาวเปนต้นบัญญัติจัดการ ปรารภเหตุคืออยากจะได้บุญให้มากกว่าเกลี่ยทรายโดยปรกติ ฤๅคิดทำอย่างนี้แล้ว จะชักชวนผู้ที่อยากได้บุญให้มาก ทำได้โดยสดวกกว่าจะเกลี่ยโดยปรกติเหมือนบอกบุญก่อพระเจดีย์ดินกันในทุกวันนี้ ชรอยผู้ต้นบัญญัติเรื่องก่อพระทรายนี้จะคิดเห็นว่า พระสตูปเปนของที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ในอรรถกถาฎีกาแสดงบริโภคเจดีย์ แลอุทเทสิกเจดีย์ไว้ด้วย เมื่อก่อทรายให้เปนจอมขึ้นก็จะได้เปนสตูป เมื่อเก็บเอาใบโพธิ์นับถือว่าเปนพืชพันธุ์เนื่องมาแต่ต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้บรรจุไว้ณภายใน ทั้งตนก็อุทิศต่อพระพุทธเจ้า ก็จัดได้ชื่อว่าเปนบริโภคเจดีย์แลอุทเทสิกเจดีย์ดีกว่าจะเกลี่ยโดยปรกติ ข้อนี้เปนแต่อนุมานตามเหตุ
อิกประการหนึ่ง เรื่องก่อพระทรายนี้ จะเปนของย่อมาแต่ก่อพระสถูปด้วยถาวรวัตถุเหมือนเรื่องมีแจงซึ่งถือกันว่า ใครทำได้ชื่อว่ายกย่องพระสาสนา เปนของย่อมาแต่ก่อนมาแต่สังคายนาฉนั้น เรื่องสังคายนานั้น ก็นิมนต์พระสงฆ์มาเทศนา ๓ รูป แสดงเรื่องสังคายนา พระสงฆ์สวดเต็มที่ ๕๐๐ เท่าพระสงฆ์ในประถมสังคีติ ให้ทำท่าอย่างสังคายนาเพื่อให้เจริญศรัทธาเลื่อมใสของตน ทำเท่านั้นก็เปนอันยากอยู่ จึงย่อลงมาอิก ลดพระสงฆ์คงไว้แต่ร้อยละห้า รวมเปน ๒๕ รูป ยืนเปนแบบ ครั้นต่อมาก็ถือเสียว่าใครนิมนต์พระมาเทศนาแลสวดเช่นนั้น ชื่อว่าได้ทำสังคายนายกพระสาสนา ข้อนี้ฉันใด เรื่องก่อพระทรายเล่าก็จะเปนเช่นนั้น ในคัมภีร์ปฐมสมันตปาสาทิกา แสดงเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชว่า ทรงพระราชศรัทธาในพระพุทธสาสนา โปรดให้สร้างวิหารพร้อมด้วยพระเจดีย์ในพระราชอาณาเขตรนับได้ ๘๔๐๐๐ เท่าพระธรรมขันธ์ อาไศรยเรื่องนี้ ผู้ที่อยากจะทำให้เท่านั้นบ้าง ทำด้วยถาวรวัดถุไม่ได้จึงย่อลงมาเปนก่อด้วยทราย ข้อที่ก่อด้วยทรายนั้นถึงว่าไม่มั่นคง เมื่อทำลายแล้วก็เปนประโยชน์ คือใช้ผสมกับปูนใช้ทำการวัด ฤๅถมพื้นที่ จะก่อให้ครบ ๘๔๐๐๐ ก็ยังต้องลงทุนมาก จึงย่อลงมาตามกำลัง แต่เปนเต็มที่อยู่เพียง ๘๔๐๐๐ เท่านั้น เหมือนพระสงฆ์สวดแจงเต็มที่เพียง ๕๐๐
ข้อ ๔ ซึ่งว่าในเรื่องเตภาติกชฏิลเดิมว่าพระอุรุเวลกัสสปมีบริวาร ๕๐๐ พระนทีกัสสปมีบริวาร ๓๐๐ พระคยากัสสปมีบริวาร ๒๐๐ ควรจะเปนพันสามรูปทั้งอาจารย์ด้วย ส่วนในอาทิตตปริยายสูตรก็ดี ในเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จเมืองกบิลพัสดุ์ก็ดี ในเรื่องจาตุรงคสันนิบาตก็ดีว่าแต่พันถ้วน จะเปนพระอรหันต์พันถ้วนฤๅพันสามรูปนั้น ข้อนี้ ในบาฬีมหาวรรคก็ว่าเคลือบคลุมอยู่ ในอรรถกถามหาวรรคก็มิได้ว่าไว้ เหมือนบริวารพระสาริบุตรพระโมคคัลลานก็ว่า ๒๕๐ กับทั้งอาจารย์ควรจะเปน ๒๕๒ รูป ครั้นเรียกรวมกันหมดก็ว่าแต่ ๒๕๐ เช่นในเรื่องจาตุรงคสันนิบาตนั้นเอง ว่าโดยความเห็นก็เปนต่างๆ กัน ถ้าจะวินิจฉัยตามที่มากกว่าแล้ว พระปุราณชฎิลทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์ เปนแต่พันถ้วนเท่านั้น
รับพระราชทานถวายวิสัชนาในพระราชปุจฉา ๔ ข้อ ตามสติปัญญายุติแต่เท่านี้
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดฯ ขอถวายพระพร
กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส