พระบรมราชาธิบายที่ ๑

ว่าด้วยทรัพย์มรฎกของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จะเปนของสงฆ์ฤๅไม่

๏ สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎพระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม รำพึงความเห็นว่า ความมรฎกพระสงฆ์ที่ถึงมรณภาพลงทั้งเปนพระไม่ได้ลาสิกขาก่อนแล้วจึงตายนั้น ไม่เคยมาขึ้นโรงขึ้นศาลให้ตระลาการฝ่ายคฤหัสถ์ชำระตัดสินเลย ตามบังคับในบาฬีพระวินัย ทั้งอธิบายในพระคัมภีร์อรรถกถา ก็ได้ทราบมาว่าสิ่งของซึ่งเปนของๆ ภิกษุแลสามเณรที่ตายลง ถ้าไม่ได้ให้ขาดเปนของผู้อื่นไปแต่ก่อน ตายแล้วก็ตกเปนของสงฆ์ทั้งสิ้น แลคำที่ว่าให้ขาดนั้นให้พิจารณาให้จงละเอียด ด้วยมีความในพระบาฬีชี้เปนตัวอย่างว่า ต่อผู้ให้นั้นว่าของนี้ข้าพเจ้ายกให้เปนของผู้นี้ผู้นั้นแล้ว จงเปนของผู้นี้ผู้นั้นเถิด ดังนี้จึงเปนอันให้ขาด ถ้าเปนแต่มอบผู้ใดผู้หนึ่งว่าจงเอาของนี้ไปให้ผู้นั้นจงเก็บไว้ให้ผู้นั้นดังนี้ ของนั้นยังไม่ถึงมือ ยูงไม่ได้แก่ผู้ซึ่งผู้ให้สั่งให้ๆ นั้นแล้ว ของนั้นก็ยังเปนของเจ้าของเดิมอยู่ ถ้าเจ้าของเดิมตายลงก็คงเปนของสงฆ์ เนื้อความนี้จะให้ชักบาฬีว่าก็จะยาวไป จะใคร่สอบให้เห็นจริงก็ให้ดูในจีวรขันธ์ ที่ว่าด้วยเรื่องภิกษุฝากผ้านั้น อนึ่งในอรรถกถาก็ได้ว่าไว้ว่า “ปพฺพชิตา อจฺจยทานํ น วฏฺฏติ” คือว่าเหมือนหนึ่งผู้ไข้ที่เปนบรรพชิต เมื่อยังไม่ตายจะสั่งก็ดี โดยจะทำพินัยกรรมก็ดีว่า เมื่อตัวตายแล้วให้แจกให้ๆ ของๆ ตัวแก่ผู้นั้นผู้นี้ และไม่ยกตัดขาดว่าให้ขาดเปนของผู้นี้แล้วก็ดี เปนของพวกนี้แล้วก็ดี ก็ไม่ชื่อว่าเปนอันให้ บรรพชิตผู้เจ้าของเมื่อตายลงแล้วก็คงเปนของสงฆ์ แต่กาลทุกวันนี้พระสงฆ์ทั้งปวงในพระสาสนา มีข้อปรนิบัติแลความประสงค์ผิดจากพระพุทธประสงค์ของพระศาสดา เพราะคำพระพุทธเจ้าตรัสว่าสงฆ์เปนอรรคทักขิไณยบุคคล ใครได้ถวายทานแก่สงฆ์ได้อานิสงส์มากกว่าถวายปุคคลิกทานหลายร้อยเท่า เพราะฉนั้นใครๆ ที่เปนคฤหัสถ์ก็ดีบรรพชิตก็ดี ของๆ ตัวมีก็ควรที่จะแบ่งจะยกถวายเปนของสงฆ์เอากุศลให้มาก ถึงจะตายลงก็ควรจะให้มรฎกตกเปนของสงฆ์ดีกว่าให้ตกเปนของผู้อื่น เพราะสงฆ์เปนบุญเขตรอันยิ่ง ถึงฝ่ายพระสงฆ์เล่าก็ควรปรนิบัติ ให้ลาภสงฆ์บังเกิด ไม่ควรให้เสื่อมเพราะเปนที่ได้ทั่วถึงกัน ในสิกขาบทสองสิกขาบทในพระปาติโมกข์ ก็ห้ามไม่ให้น้อมลาภสงฆ์ไปแก่ตนและบุคคลผู้อื่น ถ้าขืนน้อมไปก็เปนอาบัติปาจิตตีย์ ของสงฆ์สิ่งใดที่เปนของถาวร คือที่ดินที่สวนและเย่าเรือนและเครื่องเย่าเรือน เครื่องไม้จริงตั้งแต่ท่อนไม้ยาว ๘ นิ้วขึ้นไป ไม้ไผ่ตั้งแต่ปล้องหนึ่งขึ้นไป เครื่องเหล็กเครื่องทองแดงทั้งปวง เว้นไว้แต่บาตรเรียกค่าครุภัณฑ์ ถ้าบังเกิดแก่สงฆ์ด้วยมีผู้ให้ก็ดี แลกเปลี่ยนมาด้วยกัปปิยวัตถุก็ดี เปนมรฎกของภิกษุสามเณรผู้ตายก็ดีก็คงไว้เปนของสงฆ์ห้ามไม่ให้แจกห้ามไม่ให้ยกให้แก่ผู้ใด ถึงแจกไปก็ไม่เปนอันแจก ยกให้ไปก็ไม่เปนอันยกให้ มืความในบาฬีชัดอย่างนี้ แต่พระสงฆ์ทุกวันนี้ หลายชั่วแผ่นดินมาแล้ว หลายชั่วอายุพระสังฆราชมาแล้ว บังคับแลปรนิบัติวิปริตไป กลับว่าครุภัณฑ์แจกได้ เอาออกอปโลกแจกกันหลายคราวฉลองวัดมาแล้ว เอาอำนาจพระสังฆราชเข้าข่มเหง ฝ่าฝืนขืนพุทธบัญญัติ ถ้าเจ้าอธิการฤๅพระสงฆ์ในวัดใดๆ ตายลงไม่ได้ปลงปริกขารเปนของสงฆ์ พระวัดนั้นมาหาฤๅวัดเดิมตามวัดขึ้น ก็บังคับไปให้ชุมนุมสงฆ์ในวัดนั้นอปโลกยกให้แก่ผู้ที่จะเปนเจ้าศพ ทำบุญให้ทานในการศพถวายแจกจ่ายไปผิดๆ ถูกๆ ทั้งครุภัณฑ์แลลหุภัณฑ์ไม่ว่าเปนของสงฆ์เลย ถ้าภิกษุใดที่มีทรัพย์และบริขารมากป่วยหนักลง โดยลิ้นกระด้างคางแข็งพูดไม่ใคร่ออก ก็พากันล้อมหน้าล้อมหลัง ตักเตือนเร่งเร้าให้ปลงบริกขารกลักว่าลาภสงฆ์จะบังเกิด เมื่อคนไข้พูดไม่ใคร่ออกก็แนะนำไปว่าให้ผู้นั้นฤๅผู้นี้ฤๅ ครางฮื้ออืแอออกทีหนึ่งก็ว่าเปนได้กัน ฤๅผู้จะปลงเองเล่าก็ปลงง่อนๆ แง่นๆ ไม่เปนอันให้ขาด เหมือนอย่างเรื่องนี้ ก็ได้ความว่าเปนแต่สั่งว่าให้ หลวงศรีคงยศแจกกันในพี่น้องลูกหลาน ก็ไม่เปนอันให้ขาดแก่ผู้ใด แคลงอยู่กลัวจะไม่พ้นจากเปนของสงฆ์ แต่เงินทองนั้นเพราะตามวินัยว่าเปนอกัปปิย ถ้าภิกษุผู้รับเงินทองมาไม่เอาออกเสียสละนิสสัคคีย์แก่สงฆ์แล้ว สงฆ์ก็ดี ภิกษุและสามเณรก็ดี จะบังคับบัญชาให้น้อมไปเปนอกัปปิยภัณฑ์มิได้ ควรแต่ที่จะทิ้งเสียอย่างเดียว เพราะฉนั้นท่านผู้รู้วินัยจึงตัดใจความ ว่าเงินทองของภิกษุตายไม่เปนของสงฆ์ตามแต่ใครจะเอาไป โบราณว่ามาดังนี้ผิดถูกไม่ทราบ แต่กาลทุกวันนี้พระสงฆ์สามเณรในการอื่นๆ หลายอย่าง ก็ปรากฎในทางปรนิบัติเปนพระสงฆ์สามเณรอยู่ แต่ในเงินในทองแล้วเห็นเปนเสมอกับคฤหัสถ์ฤๅยิ่งไปกว่าคฤหัสถ์อิกหารู้ที่จะตัดสินไม่ เงินทองของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์มีเท่าใด ก็เห็นว่าแต่ล่วนเงินที่ในหลวงจบพระหัตถ์และของทายกอื่นติดเทียนจบใส่ศีศะอธิษฐานถวายแด่พระพุทธสาสนา ออกวาจาว่านิพพานปัจจโยโหตุทั้งสิ้น สิ่งของอื่นๆ ก็มีแต่ร่มเกือก แต่เสื่อและผ้าขาวพับ เห็นมีทางที่ได้มากก็มีแต่นิตยภัตรและที่เทศนาและบังสกุล ไม่ได้มาด้วยบุตรหลานแลญาติผู้ใดช่วยขวนขวายเลย ทรัพย์สมบัติของคฤหัสถ์ที่เขามีๆ อยู่นั้น บุตรหลานเขาช่วยกันรื้อหามแบกขนถ่อพาย ทำมาหากินจึงได้มา (ความตรงนี้ต้นฉบับขาดหายไป) รวบรวมหอมยับทรัพย์เปนอกัปปิย ให้พระใบฎีกาวันผู้หลานซึ่งเปนภิกษุเก็บไว้ ถ้าสมเด็จพระพุทธเปนผู้รู้แท้ จะทำตามความรู้แล้ว ถ้ารู้คิดถึงตัวว่าแก่ว่าไข้หนักแล้ว ทำไมไม่เอาเงินเหล่านี้ไปเสียสละเปนนิสสัคคีย์ แล้วเทศนาอาบัติเสียตามพระวินัยเล่า เอามามอบให้หลวงศรีคงยศแจกหลานนั้นต้องพระวินัยแล้วฤๅ เมื่อเวลาก่อนจะถึงมรณภาพสามวัน ก็ยังให้มีผู้หามผู้จูงลงไปครองกฐินในพระอุโบสถได้ เมื่อนั้นสงฆ์ก็พร้อมกันทำไมจึงไม่เสียสละนิสสัคคีย์เสีย เพราะฉนั้นเชื่อนักก็ไม่ได้ เงินที่พระยาประสิทธิศุภการชำระเรียกมาได้นั้น ในหลวงรับสั่งว่าเอาใส่ในการวัดมหาธาตุเสียจะสิ้นรังเกียจสงไสยไปอย่างหนึ่งฝ่ายคฤหัสถ์ เพราะเปนของมีทายกอุทิศถวายในวัด ก็ใส่ในวัดเสีย แต่ของที่ค้างนายเย็นนั้น ถ้ามีพยานรู้เห็นว่ามีผู้ร้ายลักไปจริงก็ควรจะให้ใช้บ้างกึ่งหนึ่ง ฤๅสองส่วนน้อมเข้าในวัดเสียเหมือนกัน สิ่งของครุภัณฑ์ทั้งปวงที่จำเลยรับว่าเปนของสมเด็จพระพุทธยังเหลืออยู่ ถ้าจะขอคือมาถวายวัดเสียให้หมด จะยอมฤๅไม่ยอม ให้พระยาประสิทธิศุภการกลับเอาคำนี้ไปหาฤๅโจทย์หารือจำเลยดูจะว่ากะไร แล้วให้นำเอามาทูลหาฤๅกรมหมื่นบวรรังษี ๑ สมเด็จพระพนรัต ๑ สมเด็จพระพุทธ ๑ พระธรรมวโรดม ๑ พระพรหมมุนี ๑ พระเทพกระวี ๑ พระเทพมุนี ๑ พระเทพโมฬี ๑ พระธรรมไตรโลก ๑ พระโพธิวงศ์ ๑ พระธรรมทานาจารย์ ๑ พระวินัยรักขิต ๑ ว่าความเรื่องนี้จะเห็นอย่างไร ให้ว่ามาจงแจ้ง ๚

(เรื่องนี้ได้มาแต่พระบรมราชาธิบายเท่านั้น ส่วนคำถวายวิสัชชนาไม่พบคำต้นฉบับ) ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ