“คุณเจ้าคะ เจ้าคุณกับคุณหญิงลงมือรับประทานข้าวเจ้าค่ะ”

นิจมองดูนาฬิกาข้อมือ เห็นเวลาเพียงย่ำเศษเท่านั้น หล่อนเพิ่งกลับจากบ้านเจ้าคุณสุรแสน กำลังผลัดเครื่องแต่งกายไม่เสร็จ จึงรีบสวมเสื้อชั้นนอกและหวีผมให้เรียบร้อย แล้วรีบไปยังห้องรับประทานอาหาร

หล่อนเดินช้า ๆ ไปนั่งลงตรงข้ามกับสามี เขาไม่ได้แสดงกิริยาว่าเห็นหล่อน คงรับประทานอาหารอยู่เรื่อย ๆ คุณหญิงเป็นผู้ต้อนรับด้วยอาการชำเลืองค้อน จนเห็นแต่ตาขาว เป็นวิธีแสดงความไม่พอใจในการที่ลูกสะใภ้มารับประทานอาหารช้ามาก นิจรู้ท่าจึงจ้องตอบท่าน แล้วพูดเรียบๆว่า

“ยังไม่ทุ่มหนึ่งเลยค่ะ ดิฉันไม่ทราบว่าจะรับประทานอาหารแต่หัวค่ำเช่นนี้”

“ไปไหนมายะ” คุณหญิงถามโดยไม่รู้จะพูดว่ากระไร

“ไปหาคุณพ่อมาค่ะ ดิฉันจำได้ว่าได้ลาคุณอาแล้ว”

สีหน้าคุณหญิงเฝื่อนด้วยความโกรธ ท่านไม่คุ้นเคยกับสำนวนเช่นนั้น ลงท้ายท่านพูดว่า

“ฉันน่ะ ไม่ว่าอะไรหรอก แม่คู้-ณ จะไปไหนก็ไปเถอะ แต่ฉันเห็นว่าไม่สวย เป็นสาวเป็นแส้ไปไหนค่ำๆมืดๆ”

“รับประทานโทษค่ะ คุณอา ดิฉันไม่ใช่สาวแล้ว อีกประการหนึ่งตาวันคนขับรถเป็นคนไว้วางใจของคนพ่”อ

คุณหญิงกระแทกช้อนลงในแกง จนชามเอียง

“ดีแล้วๆ ไม่ต้องอธิบายอีกละ ฉันพูดไม่ทันหล่อนหรอก แต่ฉันหัวหงอกแล้วนะ แก่กว่าแม่นิจ หลายปี เมื่อฉันตักเตือนแม่นิจไม่ได้ก็ให้มันรู้กันไป”

“มิได้ค่ะ ดิฉันยินดีฟังคำตักเตือนของคุณอาเสมอ และตั้งใจจำไว้ด้วย แต่สำหรับเรื่องไปหาคุณพ่อนี้...”

“คุณแม่ครับ วันนี้ผมไปให้หมอตรวจ” หลวงธนสารพูดขึ้นโดยเร็ว เห็นชัดว่าการโต้เถียงระหว่างมารดากับนิจ ทำให้เขาหายใจไม่สะดวก “ผมไม่สบายมาหลายวันแล้ว ปวดศีรษะเสมอ นอนก็ไม่ค่อยหลับ”

“เออ!” เจ้าคุณวิชัยวางถ้วยน้ำที่กำลังดื่มอยู่ทันที “แล้วหมอว่าอย่างไรบ้างล่ะ?”

“เขาว่าผมทำงานมากไป ถ้าไม่หยุดเสียบ้างจะเป็นโรคเส้นประสาท เขาแนะนำให้ผมลาพัก ไปตากอากาศเสียชั่วคราว”

ความประสงค์ของชายหนุ่มเป็นอันสำเร็จ คุณหญิงวิชัยแม้จะมีนิสัยที่นึกถึงแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง ก็ยังมีเวลาสำหรับนึกถึงบุตรชายที่รักดังดวงใจของท่านได้ ท่านลืมเรื่องราวลูกสะไภ้เสียทันที หันมารับขวัญบุตรชายเป็นควัน

หลวงธนสารเป็นโรคเส้นประสาท! นิจนึกยิ้มในใจ หล่อนเชื่อแน่มานานแล้วว่าเขาเป็นคนเส้นประสาทพิการ แต่ไม่คิดว่าโรคนั้นเกิดจากทำงานมากไป

อย่างไรก็ดี นิจไม่ทำให้เป็นคนชนิดรู้กว่าหมอ และเชื่อว่าหลวงธนสารต้องการพักผ่อน ยิ่งกว่านั้น หล่อนยินดีตามคำแนะนำของหมอเสียด้วย เพราะเผอิญมาตรงกับความต้องการของหล่อนเข้า

ตอนเช้าวันนี้ นิจได้รับจดหมายจากเฉลาฉบับหนึ่ง ถามข่าวและเตือนให้รักษาสัญญา กับบอกว่าหล่อนจะไปหัวหินกับเจ้าคุณพ่อและพี่ๆ น้องๆ อีกหลายคน หล่อนเชิญให้นิจไปด้วยจะได้สนุกด้วยกันทั้งเป็นประโยชน์แก่ร่างกายนิจด้วย

คำชวนของเฉลาทำให้นิจติดใจมาก แต่ยังไม่กล้ารับคำเพราะมีเหตุติดขัด สตรีเป็นเพศที่ประหลาด เรื่องสามีแล้วไม่ชอบให้คลาดจากสายตา จะได้เห็นอะไรดีหรือไม่ดีที่สามีปฏิบัติก็ทนได้ ขอให้ได้เห็นเป็นพอ นิจเป็นคนหนึ่งที่เป็นอย่างว่านี้ เพราะฉะนั้นแม้ว่าคำชวนของเฉลาจะเร้าความกระหายสักเท่าไร และแม้ว่าตอนกลางวันหล่อนไปหาบิดามารดา ท่านทั้งสองชักชวนเกลี้ยกล่อมให้ไปกับท่าน ซึ่งท่านก็จะไปพร้อมๆ กันกับเฉลา นิจก็ยังคงไม่รับคำอยู่นั่นเอง แต่บัดนี้เมื่อได้ทราบว่าหมอแนะนำให้สามีไปตากอากาศ นิจตัดสินใจทีเดียวว่าจะหาอุบายให้เขาไปหัวหินให้จงได้

วันรุ่งขึ้นเป็นวันอาทิตย์ นิจตื่นขึ้นราว ๗ นาฬิกา แต่งตัวเสร็จแล้วก็หยิบหนังสือเล่มหนึ่งลงไปนั่งอ่านที่สนามตามเคย ครั้นสายเข้า แดดขึ้นจัด อากาศชักร้อน นิจจึงปิดหนังสือเสีย แล้วเดินไปตัดดอกกุหลาบได้ช่อใหญ่ พอกับความประสงค์แล้วก็กลับขึ้นเรือน นำดอกไม้ไปจัดลงไว้ในแจกันที่โต๊ะเครื่องแป้ง เหลือไว้ ๕-๖ ดอกสำหรับปักแจกันในห้องของสามี หล่อนถือดอกไม้เหล่านั้นไปที่ประตู ซึ่งเปิดถึงห้องนอนของเขาก้มตัวลงบรรจงถอดกลอนแต่เบาๆ หัวใจเต้นแรงจนต้องเอามือกุมทรวงอกไว้ หล่อนพิพักพิพ่วนอยู่นาน พอได้ยินเสียง ๆ หนึ่งลอดประตูออกมา เสียงนั้นทำให้นิจเกิดความกล้า ด้วยอาการแสดงความเด็ดขาด หล่อนเปิดประตูออกโดยแรง

หลวงธนสารแต่งตัวเรียบร้อย แสดงว่าเขาตื่นนานแล้ว นอนอยู่บนเตียง หนังสือปกแข็งเล่มหนึ่งแบะคว่ำไว้บนหน้าอก เจ้าของเสียงที่นิจได้ยินนั่งอยู่ข้างตัวเขา นิจเดินเข้าไปยืนอยู่ใกล้คนทั้งสอง มองดูผู้หญิงอย่างถือดี แล้วพูดว่า

“เธอนี่เองแหละหรือรัศมี มาแต่เช้าทีเดียว ฉันอยู่ในห้องได้ยินเสียงผู้หญิงพูดเข้าใจเสียว่าไสว เพราะไม่นึกว่าเธอจะเข้ามาในห้องคุณหลวงเวลานี้”

ด้วยสีหน้าแสดงความถือดีเท่ากัน รัศมีตอบว่า

“ไม่ใช่ไสว นั่งคนนั้นมันไม่กล้าเข้ามาในเวลาที่คุณพี่ยังนอนอยู่หรอก”

“ถ้าฉะนั้น” นิจพูดอมยิ้ม “ฉันอยากจะแสดงความยินดีกับมัน ในข้อที่มันรู้จักรักษาชื่อดีกว่าผู้ดีเสียอีก” พลางหล่อนก็ทอดสายตาอันเต็มไปด้วยความติเตียนไปทางสามี หล่อนพูดด้วยเสียงเป็นกังวานหนักแน่นและเยือกเย็น “หนังสือธัมมะเล่มหนึ่งสอนไว้ว่า “ชายผู้มีความคิด ไม่ควรอยู่ในสถานที่ลับตาคนกับธิดา พี่สาวน้องสาวแม้กับมารดาตน” พูดพลางหล่อนเดินไปที่โต๊ะหนังสือ ยกช่อกุหลาบที่ร่วงโรยอยู่ในแจกันออกทิ้งเสีย แล้วปักดอกที่ตัดมาใหม่ลงแทน

ในระหว่างที่นิจทำงานอยู่นั้น ไม่มีใครปริปากพูดว่ากระไร นิจได้ยินแต่เสียงขยับตัวและเสียงฝีเท้า ครั้นงานของหล่อนเสร็จแล้วกำลังเก็บกลีบกุหลาบซึ่งร่วงอยู่บนโต๊ะ สามีเดินเข้ามาใกล้ พูดเสียงห้าวๆ ตามเคยว่า

“นี่ ฉันไม่ต้องการให้เธอมาแสดงอำนาจในห้องฉัน น้องของฉันคนนี้เคยปฏิบัติวัตรถากฉันทุกอย่าง เขามีสิทธิที่จะเข้ามาในห้องฉันได้ทุกเวลา

ดวงหน้าอันขาวของนิจ กลายเป็นสีแดงจัดขึ้น หล่อนยืดตัวตรงประดุจจะวัดความสูงระหว่างตัวเขากับหล่อน ดวงตาดำคมแสดงความดูหมิ่นและท้าทาย หล่อนตอบว่า

“ถ้าคุณหลวงมีผู้ปฏิบัติอยู่แล้ว โดยไม่ต้องเสียอะไรแลกเปลี่ยน ทำไมถึงมาแต่งงานกับนิจให้เปลืองทรัพย์ ถ้าน้องของคุณหลวงจำเป็นจะต้องปฏิบัติใครคนหนึ่งเสมอ ก็ควรจะหาคนใหม่ ไม่ควรจะมาเหนื่อยแรงแย่งหน้าที่ของภริยาเขา” พูดแล้วหล่อนยืนนิ่ง คอยฟังคำตอบครั้นเห็นไม่มี ด้วยคนทั้งสองกำลังโกรธเกินที่จะนึกหาคำพูดโต้ตอบได้ หล่อนก็ยกศีรษะตรงเดินไปที่ประตูก่อนจะออกหล่อนหันมากล่าวว่า

“นิจจะไปบ้านคุณพ่อและจะอยู่ทั้งวัน เมื่อวานนี้ ท่านบ่นว่าท่านไม่ได้พบคุณหลวงมานานแล้ว นิจเรียนท่านว่าคุณหลวงมีธุระ ไม่ค่อยมีเวลาว่าง”

เสียงลั่นกลอน เสียงฝีเท้า และเสียงพูด หลวงธนสารคงยืนถมึงทึงอยู่กลางห้อง จนมีมือยาวๆ และอุ่นๆ มาจับไหล่เบาๆ เขาจับมือนั้นจูงมานั่งที่เตียง พูดว่า

“ฉันไม่รู้จะทำอย่างไรกับเด็กคนนี้ ความผิดของเขาก็ไม่มีสักนิด คุณแม่ท่านทำกรรมให้แท้ๆ ที่ถูกท่านควรจะแต่งงานกับเด็กเสียเอง” เขาหัวเราะคำพูดอันเหลวไหลของตัวเอง “นี่แน่ะรัศมี อ้ายเรื่องกาแฟนรสิงห์ของเราเป็นอันล้ม พี่จะต้องไปหาเจ้าคุณสุรแสนเสียที”

ความเดือดแค้นในใจรัศมีเวลานั้นทำให้เจ้าตัวนึกว่า หล่อนอาจฆ่าคนเล่นได้โดยง่าย แต่หล่อนฉลาดพอที่จะไม่แสดงมากนัก เป็นแต่เพียงเมินหน้าและพูดว่า

“แหม! ช่างซื่อตรงต่อคำสั่งดีจริง ตัวอย่างนี้จะหาที่ไหนได้”

“เธอก็รู้อยู่แก่ใจแล้วว่า เขาไม่ได้สั่งพี่เขาเล่าให้ฟังต่างหาก” หลวงธนสารค้าน

เขาไม่เกลียดอะไรมากเท่ากับเวลาที่ใครว่าเขาทำอะไรตามคำสั่งของภริยา “ที่พี่จะต้องไปก็เพราะเห็นว่าจำเป็น เจ้าคุณสุรแสนเป็นคนที่น่านับถือ และท่านกรุณาแก่พี่เสมอ”

“เพราะเหตุฉะนั้น พี่จะต้องไปหาวันนี้ จำเพาะจะต้องเป็นวันนี้ ช้าอีกวันเดียวก็ไม่ได้ยังงั้นไม่ใช่หรือ?”

รัศมีสะบัดหน้าแรง จนมวยเอียงมาข้างหู

“ถ้ายังงั้นดิฉันกลับละ”

“อ้าว! ไหนว่าจะอยู่คุยกับพี่ทั้งวันยังไงล่ะ”

“จะให้อยู่ทำไมอีกล่ะคะ ประเดี๋ยวคุณพี่ก็จะต้องไปหาพ่อตาแม่ยาย”

ชายหนุ่มไม่ยักตอบว่ากระไร ปล่อยให้หล่อนเดินไปจนถึงประตู แล้วหล่อนหันกลับมาอีก พูดว่า

“ไปหาเสียตอนกลางวันได้ไหมล่ะคะ?”

“เสียใจจริงๆ ที่รัก พี่มีธุระ ต้องทำงานที่เอามาจากกระทรวงให้แล้ว”

รัศมีสะบัดหน้าแรงอีกครั้งหนึ่ง แล้วออกประตูไป

หลวงธนสารทำงานทั้งวันจริงดังพูด กว่าจะเสร็จตกราว ๑๗ นาฬิกา มีเวลาพอดีแต่งตัวตามสบายและไปถึงบ้านเจ้าคุณพ่อตาก่อนค่ำ

เขาขับรถเข้าไปจอดที่หน้าตึกตามเคย แล้วขึ้นบันไดหน้ามุข เข้าในห้องซึ่งเขารู้แน่ว่า เจ้าคุณกับคุณหญิงใช้เป็นห้องนั่งเล่นเสมอ

เจ้าคุณสรแสนสงคราม นอนตะแคงอยู่บนเตียงยาวใกล้หน้าต่าง หันหน้ามองดูคุณหญิงซึ่งนั่งอยู่หน้าเตียง กำลังถักไหมพรมสำหรับรองบาตร นิจนอนฟังพาบมือเท้าคางอยู่ข้างมารดาฝีเท้าของหลวงธนสารที่เดินเข้าไปนั้นเบามาก จึงไม่มีใครรู้สึก ต่อเขานั่งพับเพียบลงแล้วทำเสียงคล้ายเสียงกระแอม คุณหญิงจึงเงยหน้าขึ้นดู

“อ้อ! หลวงธนสารมา แหมช่างเงียบเชียบดีจริง”

นิจคงนอนอยู่ในท่าเดิม เจ้าคุณสุรแสนลงจากเตียงมานั่งขัดสมาธิ์อยู่ข้างภริยา แล้วพูดว่า

“ยังไง สบายดีหรือ หลานชาย ถามนิจเขาเมื่อเร็วๆนี้ ได้ความว่าธุระมาก ไม่มีเวลาว่าง ราชการงานเมืองของเราดีอยู่หรือ?”

“ดีครับ” หลวงธนสารตอบคำเดียวตามนิสัย เขาเป็นคนพูดน้อย และไม่ชอบพูดเรื่องของตัวเองเลย แต่เจ้าคุณสุรแสนเป็นคนมีนิสัยรื่นเริง และชอบเล่นชอบคุย ซึ่งนิจได้รับมรดกนั้นไว้ด้วย เพราะฉะนั้น ท่านจึงซักถามเรื่องราวต่างๆ และบังคับให้หลวงธนสารคุยจนได้

เรื่องมาลงเอยกันที่โรคเส้นประสาทของหลวงธนสาร เจ้าคุณเอ่ยขึ้นว่า

“นิจเขาบอกว่าหลานชายไม่สบาย หมอแนะนำให้ไปตากอากาศหรือ?”

บุตรเขยรับคำ ท่านจึงพูดต่อไป “เจ้าพระยานครินทร์ฤๅชัย คะยั้นคะยอให้ไปหัวหิน ฉันไม่ค่อยชอบนักหรอก อ้ายที่นั่นฟังเขาเล่าดูมันกลายเป็นสมาคมสำหรับการแข่งความเฟ้อกันไปเสียแล้ว และยิ่งกว่านั้นออกจะกลายเป็นสถานที่เลือกคู่กันอีกด้วย ครั้นจะปฏิเสธหรือก็เกรงใจผู้ใหญ่ เดี๋ยวจะว่าท่าโน้นท่านี้ก็เลยรับคำ ทั้งท่านว่าเดือนสองเดือนนี้ไม่ค่อยมีคนด้วย เพราะยังไม่ถึงคราวของเขา ยายเฉลาก็อิดออดขอให้พานิจไปด้วยให้ได้ หลานกำลังต้องการพักผ่อน ไปสนุกกันที่หัวหินสักพักไหมล่ะ?”

หลวงธนสารรอคำถามประโยคนี้มาตั้งแต่ประโยคแรกแล้ว ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีเวลาพอเตรียมคำตอบ เขานั่งอึกอักอยู่นาน คุณหญิงจึงพูดขึ้น

“ท่าเห็นจะไม่เต็มใจรับกระมัง ไปกับผู้ใหญ่กลัวจะไม่มีเพื่อนสนุก ก็ลูกชายลูกสาวเจ้าคุณนครินทร์ก็ไปกันหลายคน รู้จักกันไม่ใช่หรือ?”

ลูกเขยยังคงนิ่ง โดยไม่ได้ตั้งใจ เขามองไปทางนิจ พบสายตาของหล่อนกำลังจ้องดูเขา มียิ้มแกมเยาะเย้ยอย่างรู้เท่าคล้ายจะพูดว่า

“ถึงจะมีเพื่อนสักกี่คน ก็สู้เพื่อนคนหนึ่งในกรุงเทพฯ ไม่ได้”

หลวงธนสารรู้สึกฉุนแกมกระดาก ให้กระอักกระอ่วนใจ ในที่สุดหลุดปากออกไปว่า

“ผมก็อยากไปเหมือนกัน แต่...” เขาหยุดนิ่งอยู่เพียงเท่านั้น ไม่ทราบจะหาอะไรมาต่อให้เหมาะกับ ‘แต่’ นั้นได้ การกล่าวเท็จเขาไม่ชอบและไม่อยากประพฤติ

ภริยาสาวช่วยต่อคำพูดของสามี

“แต่เป็นห่วง…...” ชะงักไว้นิดหนึ่ง ‘งาน

“เปล่าไม่ใช่!” สามีค้านอย่างตกใจโดยไม่มีมูล

นิจหัวเราะ หลวงธนสารรู้สึกตัวจึงพูดต่อไปเป็นปกติว่า

“ไม่มีอะไรมิได้ ผมตกลงใจแล้ว เป็นว่าไป”

ตอนกลางคืนนิจอิ่มเอิบใจเป็นอันมาก หล่อนรีบเขียนจดหมายถึงเฉลา มีใจความดังนี้

ถนนสาธร

วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒

พี่เฉลาที่รักของนิจ

จดหมายของเธอนิจได้รับแล้ว ขอบคุณจริงๆ ที่เป็นห่วงและเอาใจช่วยนิจนักหนา จะหาเพื่อนที่ไหนได้อย่างเธอเป็นคนที่สองเห็นจะไม่มีแล้ว นิจทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับเธอ และรู้สึกว่าได้ผลดี การที่เลิกตั้งคำถามกับตัวเองว่า คนนั้นทำไมถึงเกลียดเรา คนนี้ทำไมถึงไม่ชอบเราเสียได้ ทำให้นิจหายกลุ้มได้มาก นิจกำลังพยายามทำตัวให้สนุกสนานเต็มที่ เริ่มต้นด้วยการเป็นเพื่อนกับเด็กๆ ทำได้ง่ายเหลือเกิน มันพากันติดนิจทั้งบ้าน เคยมาวิ่งเล่นที่ข้างห้องนิจกลุ่มโต ๆ คุณหญิงทำท่าไม่พอใจว่าเด็กวิ่งบนสนามย่ำหญ้าของท่านเสีย นิจทำหูทวนลม นี่เป็นขั้นแรก ที่นิจเลิกเอาใจใส่ในความคิดของคุณหญิง ท่านคงทำหน้าที่ “แม่ผัวเกลียดลูกสะใภ้” ตามเคย เมื่อวานนี้เถียงกันสองสามคำ ด้วยเรื่องนิจไปหาคุณพ่อกลับจนค่ำ ขันจริงๆ ที่ท่านชอบแสดงเอาใจใส่ในตัวนิจอยากจะให้ดี อยากจะให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ แต่คำตักเตือนของท่านไม่เห็นถูกเรื่องสักที นิจเป็นศิษย์ที่ถือคำสั่งครูอย่างเคร่งครัด เมื่อเช้าก็ฟาดข้อกับคุณหลวงและแม่รัศมี ‘มวยโต’ ตามที่เธอเรียก จะเล่าเรื่องละเอียดให้เธอฟัง เมื่อเราพบกันที่หัวหิน

พูดถึงหัวหิน อดหัวเราะไม่ได้ คุณหลวงติดกับของนิจเข้าถนัดใจ เมื่อได้รับจดหมายเธอชวนไปหัวหินนั้น ให้นึกอยากไปเสียเหลือเกิน แต่ว่า-นี่ นิจบอกตรงๆ เธอจะนึกว่านิจเป็นบ้าหรือ อะไรก็ตามใจ ถ้านิจปล่อยให้คุณหลวงอยู่บ้าน เขา กับ เจ้าหล่อน คงสำราญกันใหญ่ เกือบจะเลิกคิดถึงหัวหินอยู่แล้ว พอดีวันนั้นเองคุณหลวงเขาเล่าว่า เขาเป็นโรคเส้นประสาท หมอแนะนำให้ไปตากอากาศที่ใดที่หนึ่ง นิจมองเห็นหนทางที่จะได้ไปเที่ยวสมใจทีเดียว และจะลากเอาคุณหลวงไปเสียด้วยให้เข็ด เช้าขึ้นจึงบอกกับเขาว่า คุณพ่อคุณแม่บ่นถึง เขาก็ดี อุตส่าห์ไปหาคุณพ่อในเย็นวันนั้นเอง แปลว่าเขาเอาเท้าสอดเข้าบ่วงที่นิจดักไว้ เพราะนิจหนุนคุณพ่อคุณแม่ไว้แล้ว ให้ชวนเขาไปตากอากาศพร้อมกับท่าน นิจน่ะแน่ใจว่าเขาเป็นห่วงดวงใจของเขา แต่เขาเกรงใจคุณพ่อ ทั้งหาข้อแก้ตัวไม่ได้ด้วยจึงต้องรับ นิจขอให้ท่านหาบ้านให้เราสองคนต่างหาก ถ้าท่านหาได้แล้วโทรเลขมาบอกเราจึงจะไป เพียงแต่นึกถึงความสุขที่จะได้พบกับเธอที่นั่น และเล่นหัวกันทุกวัน ก็ทำให้นิจกลืนข้าวจะไม่ลงเสียแล้ว และภาวนาให้วันมาถึงเร็วๆ เข้า เธอจำภาพหัวหินเมื่อสองปีก่อนได้ไหม ตั้งแต่คราวนั้นมานิจยังไม่ได้เล่นน้ำสนุกอีกเลย หวังว่าจะได้เล่นในสองสามวันนี้

ฝากความคิดถึงให้พี่ ๆ และน้องๆ ของเธอทุกคน

โดยความรัก

จากเพื่อนและน้องของเธอ

นิจ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ