คำนำ
ด้วยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ นางสุนทรี ชมธวัช ทายาทลิขสิทธิ์หนังสือนวนิยายและเรื่องสั้นของหม่อมหลวงบุบผา นิมมานเหมินท์ ผู้ใช้นามปากกาว่า “ดอกไม้สด” ได้มีใจเอื้อเฟื้อแก่ราชการ และได้มอบลิขสิทธิ์หนังสือนวนิยายและเรื่องสั้นของ “ดอกไม้สด” ให้แก่หอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้หอสมุดแห่งชาติได้มีรายได้ อันจะได้นำไปใช้สอยในกิจการต่างๆ เป็นการบำรุงหอสมุดแห่งชาติ ให้เป็นประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้ของประชาชนมากยิ่งขึ้น
การที่เอกชนมีจิตศรัทธาในงานสาธารณประโยชน์และให้ความร่วมมือแก่ทางราชการ โดยการบริจาคทรัพย์สิ่งของ เพื่อให้งานสาธารณประโยชน์ดำเนินไปด้วยดีนั้น นับว่าเป็นการเสียสละเพื่อส่วนรวมที่น่าสรรเสริญ การให้ความรู้เป็นวิทยาทาน เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของไทยเรา และเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นความนิยมในคุณค่าของวิทยาการ ตลอดจนความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นมีความรู้ในวิชาต่างๆ ซึ่งเป็นความปรารถนาที่ดี และมีส่วนช่วยในการทะนุบำรุงสติปัญญา และความคิดของแต่ละคน ซึ่งจะมีผลส่งถึงส่วนรวมด้วย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ และได้พระราชทานหอพระสมุดวชิรญาณซึ่งเป็นของส่วนพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ให้เป็นส่วนหนึ่งของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรทั้งหลายได้มีโอกาสอ่านหนังสือในหอพระสมุด ซึ่งหลังจากเปลี่ยนการปกครองแล้ว ได้เปลี่ยนชื่อเป็นหอสมุดแห่งชาติ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดำเนินการโดยเสด็จพระราชประสงค์เป็นแหล่งวิทยาการสำหรับประชาชนชาวไทย การทะนุบำรุงหอสมุดแห่งชาติด้วยประการใดๆ ก็นับว่าเป็นการเอื้อต่อวิทยาการของชาวไทยทั้งปวง
กรมศิลปากรมีความยินดีที่ นางสุนทรี ชมธวัช ได้มีจิตศรัทธาต่อวิทยาการ และได้มีความเสียสละอันน่าชมเชยยิ่ง ขอให้ท่านผู้อ่านหนังสือนี้ รำลึกถึงกุศลจิตของผู้บริจาค รำลึกถึง หม่อมหลวงบุบผา นิมมานเหมินท์ ผู้ประพันธ์ ช่วยกันอนุโมทนาขอให้ความดีนี้ช่วยส่งสนองให้ นางสุนทรี ชมธวัช ผู้บริจาคได้ประสบความสุขความเจริญ ให้หม่อมหลวงบุบผา นิมมานเหมินท์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้ถึงซึ่งความสงบสุขชั่วนิรันดร.
กรมศิลปากร