๑๔

“เทียนในถาดนั้นครบ ๒๒ มัดแล้วหรือนิจ?”

“๒๑ มัดเท่านั้นแหละค่ะ”

“อ้าว! ต้อง ๒๒ ถึงจะถูก อายุเธอครบ ๒๑ ไม่ใช่หรือ? ธรรมเนียมทำบุญอายุเขาต้องทำเกินองค์หนึ่งเสมอ” พูดแล้วเฉลายกกระจาดเทียนเข้ามาใกล้ เรียงเทียนขี้ผึ้ง ๒๑ เล่มให้เป็นรูปสามเหลี่ยมแล้วมัดด้วยด้ายขาว

หล่อนกับนิจกำลังนั่งทำงานอยู่ที่นอกชานเรือนฝากระดานชั้นเดียวในบ้านใหม่ ที่จริงเรือนนี้มีไว้สำหรับให้คนใช้อยู่ แต่ยังคงมีห้องว่างที่แม่บ้านสาวใช้เก็บสัมภาระกระจุกกระจิกและอาศัยในเวลาทำงาน

“นี่เป็นความรู้ใหม่” นิจพูดพลางหัวเราะ “เกิดมาเพิ่งเคยทำของทำบุญเองเป็นครั้งแรก ปีก่อนๆ คุณแม่ทำให้ทุกที และนิจไม่เคยสังเกตเลยว่าของนั้นมีจำนวนเกินอายุเสมอ ขันแท้ๆ”

“เอ้าเสร็จแล้ว เธอเพิ่มใบชา หมาก พลู บุหรี่ และไม้ขีดไฟลงถาดอีกอย่างละหนึ่ง พี่จะมัดธูปให้ ส่งกรรไกรให้พี่ที”

เมื่อจัดของลงในถาดแล้ว ก็ช่วยกันยกถาดเหล่านั้นไปแอบไว้ในห้อง หมากตัดเป็นระแง้เล็กๆ ระแง้ละ ๕ แผล กับพลูซึ่งอยู่ในซองและห่อยาจืดอยู่ในถาดหนึ่ง ไม้ขีดไฟห่อใหญ่กับบุหรี่ใบตองอ่อนอีกถาดหนึ่ง ธูปเทียนอยู่รวมกัน ใบชาอยู่ต่างหาก ๔ ถาดวางเรียงเป็นแถว

“เสร็จกันที” นิจพูดพลางเช็ดเหงื่อที่หน้าผาก แล้วยืดตัวเหยียดแขนออก “แหมเมื่อยหลังจัง ถ้าหากพี่เฉลาไม่มาป่านนี้นิจคงนั่งอยู่คนเดียว”

เฉลายกแก้วน้ำขึ้นดื่มแล้วยิ้มอย่างตรึกตรอง หล่อนยังเป็นนางสาวเฉลา ชัยนคร อยู่อย่างเดิม เวลาสองปีทำให้หน้าของหล่อนเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงสดชื่นและน่ารักตามเคย ถึงแม้ว่าแววตาของหล่อนจะไม่คมเฉียบอย่างแต่ก่อน เชื่องช้าลงและขรึม แต่ก็ยังเป็นแววตาของคนฉลาด มีความรู้หลักแหลม ช่างคิด ช่างตรอง

“นี่กับข้าวและของหวานทำที่บ้านคุณอาหรือ?” เฉลาถาม

“ค่ะ ทำที่นี่ไม่ไหว คนไม่พอ พรุ่งนี้คุณพ่อกับคุณแม่จะนำมาพร้อมกับตัวท่าน พี่เฉลาต้องมาด้วยนะคะ ย่ำรุ่งตรงถึงนี่”

“จ้ะ พี่จะมา มาอนุโมทนากุศลและชมเชยความสุขของเธอ นั่งรอเวลาเช้าตรู่เป็นของโปรดของพี่ด้วย”

“ความสุขที่เธอเป็นผู้อุปการะ” นิจต่อ กอดคอเฉลาไว้ “เอ๊ะ..ถึงเวลา…...คุณหลวงมาแล้ว ป่านนี้รถกำลังขึ้นสะพาน”

“เอ๊ะ! เธอรู้ได้อย่างไร” เฉลาถามด้วยความพิศวง

“รู้สิคะ” นิจตอบยิ้มละไมอย่างมั่นใจจริง ๆ “ไม่เชื่อก็คอยดูซี นิจทายถูกหรือไม่”

เพียง ๓ นาที ภายหลังเท่านั้นมีรถแล่นเข้ามาในบ้านจริง ๆ เฉลาได้ยินเสียงประตูปิดดังปังใหญ่ พอสุดเสียงนั้นก็ได้ยินเสียงผู้ชายพูดว่า “นี่คุณไปไหนล่ะ?”

เฉลามองดูหน้าเพื่อน ซึ่งกำลังยิ้มอย่างผาสุก หล่อนก็พลอยยิ้มด้วยในความสุขของเพื่อน

“แหม! ไฟฟ้าถึงกันแรงจริงนะ” หล่อนพูด “รถยังอยู่แค่สะพานอีกคนหนึ่งอยู่ในบ้านละรู้แล้วล่ะ นี่แสดงว่ากลับบ้านตรงเวลาเสมอไม่เคยชักช้าสักนาทีเดียวใช่ไหม?”

นิจหัวเราะเบา ๆ อย่างอิ่มเอิบตอบว่า

“ค่ะ โดยมากไม่ค่อยช้า นอกจากมีธุระอะไรจำเป็นมักโทรศัพท์มาบอกก่อน”

ขณะนั้นเสียงฝีเท้าเดินโครมๆ อยู่บนตึกแสดงว่าผู้เดินๆ อย่างไม่ปรานีปราศรัย สักครู่หนึ่งเสียงรองเท้าแตะลงบันไดดังแฉะ ๆ สนั่น นิจกับเฉลานั่งลงห่อธูปกับเทียน แล้วรวบรวมของที่เหลือใช้ เสียงฝีเท้าดังใกล้เข้ามาทุกที

“อะฮา! คุณพี่ ผมไหว้ครับ คนที่มาใหม่พูดแกมหัวเราะ แล้วขึ้นบันได ๓ ขั้นมานั่งเท้าแขนพิงลูกกรง นิจหันไปยิ้มกับเขาอย่างหวานที่สุด เฉลาพูดว่า

“เอาวางไว้นั่นแหละค่ะ”

“อะไร?”

“ไหว้น่ะซีคะ”

“แหม! ดูถูกจริงคุณพี่นี่ เขาไหว้ทั้งทีไม่รับ วางทิ้งไว้ดื้อๆ ยังงั้นหรือ?”

“ไม่รับไม่แร็บละ เอาแต่เพียงขอบใจเถอะ”

“ใช้ได้-นี่ทำอะไรกันนี่?”

“จัดของสำหรับใส่บาตรพรุ่งนี้ยังไงล่ะคะ” นิจตอบ

“นี่จะมาทำลืมวันเกิดกันอีกละหรือ?” เฉลายั่ว

“ลืมที่ไหนได้” ชายหนุ่มพูดอย่างเหย่อยิ่ง “ไปจ่ายตลาดมาด้วยกันนี่นา-แต่ฉันไม่เคยเห็นเธอทำของที่นี่นี่นิจ เห็นส่งไปที่บ้านเจ้าคุณทุกที”

ก็เมื่อปีกลายนี้นิจทำไหวเมื่อไหร่ล่ะ” ภริยาสาวตอบ

“อ้อ จริง! จริง! ลืมไป! เมื่อปีกลายนี้กำลังอ้วน”

นิจหันไปค้อนให้ทีหนึ่ง เฉลาหัวเราะอย่างขบขันที่สุด

“เออ! นี่หนูหายไปไหน?” ชายหนุ่มถามขึ้นอย่างตกอกตกใจ

“ไปกับคุณย่าตั้งแต่เช้าค่ะ”

“ป่านนี้ยังไม่กลับ? ตายละไปอยู่ทั้งวัน ประเดี๋ยวเอาอะไรต่ออะไรป้อนเข้าไปกลับมาท้องเสียแย่”

“แหม! คุณพ่อ ช่างห่วงลูกจริงนะเหมือนกับใคร ๆ เขาไม่รู้จักภาษาอะไรยังงั้นแหละ”

เฉลาว่าแล้วค้อนให้วงหนึ่ง “ดูราวกับตัวเคยเป็นพ่อแต่คนเดียว”

“อ้าว คุณพี่ เคยโดนแล้วนี่นาถึงได้เป็นห่วง…...นี่เมื่อไรถึงจะกลับกันเสียที่ล่ะลูกเราน่ะ”

ประโยคสุดท้ายเขาพูดกับภริยา

“เราต้องไปรับค่ะ” นิจตอบ “พาพี่เฉลาไปส่งบ้าน แล้วเลยไปรับหนู”

รุ่งขึ้นตอนเช้าตรู่ พระอาทิตย์แรกขึ้นอากาศกำลังบริสุทธิ์และสดชื่น ดอกไม้กำลังหอม แมลงภู่กำลังสอดส่ายสุดเรณู นกกำลังออกจากรังโผผินบินไปมา เจ้าคุณสุรแสนสงครามกับคุณหญิงมาถึงที่อยู่ของบุตรี ลงจากรถตรงประตูใหญ่ ที่นั่นมีโต๊ะตั้งเตรียมอยู่พร้อมด้วยขันเชิงเงินใส่ข้าว ซึ่งกำลังร้อน ควันขึ้นฉุยกับของถวายสิ่งอื่น คุณหญิงเรียกคนใช้ให้ยกถาดกับข้าวและของหวานจากรถเอาลงมาตั้งบนโต๊ะ เจ้าคุณเดินตัดสนามไปที่หน้าตึก ยังไม่พบเจ้าของบ้าน อีกประเดี๋ยวหนึ่งเฉลาก็มาถึง ยืนคุยกับเจ้าคุณเป็นนาน นิจยังคงไม่ลงมา ในที่สุดเจ้าคุณอัดใจทนไม่ได้ เลยชวนเฉลาขึ้นไปข้างบน

เสียงหัวเราะดังคิกคักอยู่ในห้องชั้นบนที่ติดกับบันไดนั่นเอง เจ้าคุณเลี้ยวเข้าไปในห้องนั้นจึงเห็นบุตรเขยของท่านนั่งยองๆ มือประคองเด็กขนาดขวบกว่า ๆ ไว้ในท่าให้เด็กยืน นิจกำลังพยายามจะใส่กระดุมเสื้อให้เด็กนั้น ซึ่งกำลังกระโดดขึ้นกระโดดลงและหัวเราะอยู่แก๊กๆ ข้างๆ คนทั้ง ๓ มีเสื้อตัวนิดๆ สีต่างๆ ทิ้งอยู่เรี่ยราด ชายหนุ่มเป็นคนเห็นเจ้าคุณก่อน เขาพูดว่า

“แน่ะ หนูคุณตามาแล้ว เร็วๆ เข้า อย่าดิ้นไปซี แม่เขาใส่กระดุมไม่ติด”

“ไม่เอาละ!” นิจร้องแล้วลุกขึ้นยืน “ผันแกไปจัดการไป๊”

หล่อนวิ่งเข้าไปกราบและกอดบิดา เจ้าคุณจูบบุตรสาวพลางว่า

“ขอให้เจ้ามีความสุขยิ่งๆ ขึ้นนะนิจ อายุมั่น ขวัญยืน อยู่กับสามีจนแก่จนเฒ่า”

บุตรเขยของเจ้าคุณอุ้มบุตรเข้ามายืนตรงหน้า

“หนู ขอรับผมคุณตาเสียที อ้าวอย่าดื้อวันนี้เป็นวันเกิดของแม่หนูต้องเป็นเด็กดี น่านยังงั้น”

เจ้าคุณสุรแสนรับหลานมาจากบุตรเขย พ่อหนูสะบัดขาแรงแล้วหัวเราะ มือน้อยๆ คว้าผมอันหงอกขาวของเจ้าคุณเข้าไว้แน่น นิจหันไปหาเฉลา สองหญิงสวมกอดกัน เฉลาอวยชัยให้พรเสียยืดยาว ส่งห่อกระดาษสีชมภูอ่อนให้ วัตถุในห่อนั้นเป็นหีบกำมะหยี่สีน้ำเงิน เปิดหีบนั้นขึ้นจึงเห็นสายสร้อยเส้นเล็กนิดหนึ่ง มีพลอยสีโศกอยู่ในเรือนทองแขวนอยู่ด้วย นิจเอาสายสร้อยสวมคอแล้วกล่าวคำขอบใจอย่างอ่อนหวาน

“ลงไปข้างล่างกันหรือยังล่ะ” เจ้าคุณเตือนขึ้น “ป่านนี้พระคงมาแล้ว มัวทำอะไรกันอยู่นะ เมื่อตะกี้ แขกมาถึงบ้านไม่เห็นมีใครรับ”

“คุณหลวงแน่ค่ะ เกิดจะแต่งตัวลูกเองขึ้นมาละ เสื้อกี่ตัวๆ ไม่ถูกใจ เจาะจงจะให้ใส่อ้ายตัวสีชมพูที่ขาดน่ะแหละ”

“ไม่ช่าย! ฉันเห็นว่าเธอเกิดในวันอังคารถึงอยาก ให้เจ้าหนูแต่งตัวสีชมภูเหมือนกับฉันยังไงล่ะ”

เจ้าคุณสุรแสนส่งหลานให้กับบุตรสาวแล้วพากันกลับลงมาข้างล่าง นายวันผู้มีหน้าที่คอยนิมนต์พระ รายงานว่ายังไม่มีพระผ่านมาทางนี้สักองค์ จึงจับกลุ่มคุยกันเพื่อฆ่าเวลา

“นี่หนูเมื่อไรจะมีชื่อเสียสักที?” เจ้าคุณสุรแสนถามขึ้น

“ผมอยากจะให้ชื่อสมใจ แต่แม่เขาไม่ยอมเขาจะให้พี่เฉลาของเขาตั้งให้”

“อยู่ดีๆ จะให้ชื่อสมใจ ซึ่งไม่มีจริงสักนิดนี่คะ นิจจะเล่าให้ฟังทุกคน เมื่อหนูเกิด พอรู้ว่าเป็นผู้ชาย คุณหลวงสะบัดหน้าแสดงความไม่พอใจเห็นโต้งๆ แล้ว จะให้ลูกชื่อสมใจถูกที่ไหนเป็นการหลอกเด็กเปล่าๆ”

“เธอละก้อ! เดี๋ยวนี้มันสมใจฉันแล้วเพราะหน้าตามันเหมือนเธอราวกับแกะ” หันไปทางเจ้าคุณ “ผมอยากให้ลูกคนแรกเป็นผู้หญิงจะได้เอาไว้ดูแทนตัวนิจ เมื่อเราทั้งสองแก่เฒ่าลง ผมหวังว่าถ้าลูกหัวปีเป็นผู้หญิงคงมีนิสัยใจคอเหมือนแม่ไม่มีผิด พอเป็นที่ไว้ใจให้ดูแลน้องและเป็นตัวอย่างความประพฤติแก่น้องได้ในเวลาต่อไป แต่หนูดูเหมือนมันรู้ใจผม ยิ่งนานวันยิ่งเหมือนแม่มากขึ้น ดูซีครับตาหนูกับตานิจราวกับตาเดียวกัน ผิดแต่ที่แววเท่านั้น”

คุณหญิงสุรแสนพอใจในคำพูดอันเป็นเชิงยกย่องบุตรีเป็นอันมาก พอจบลงท่านกล่าวว่า

“ระวังนะเขาว่าหน้าตาของเด็กมักเปลี่ยนเสมอ เล็กๆ สวยโตขึ้นอาจขี้ริ้วก็ได้ ดูเด็กต้องดูเวลาเกิดใหม่ๆ เวลานั้นหน้าตาเหมือนใคร โตขึ้นมันจะเหมือนคนนั้น”

“นิจออกจะให้เกียรติยศแก่ดิฉันเกินสมควร” เฉลาเรียนคุณหญิง “ถึงกับให้เป็นผู้ให้ชื่อกับลูกชายคนโต น่ากลัวพ่อของหนูจะอิจฉา”

“ไม่มีเลย คุณพี่ เต็มใจที่สุด ชื่อที่คุณพี่ตั้งมาละก้อจะชอบทั้งนั้น ขอแต่ให้เร็วๆ เข้าเถอะ เจ้าหนูมันเกือบจะสองขวบอยู่แล้ว เมื่ออ้ายคำว่าหนูเต็มที่”

“อะไรเกือบสองขวบ” คุณหญิงท้วง “เพิ่ง ๑๕ เดือนเท่านั้น

“คุณพ่อท่านอยากให้ลูกของท่านเป็นหนุ่มเร็วๆ” เฉลาว่า

“นั่นแน่ พระมาแล้ว!” ชายหนุ่มร้องขึ้น “เดินตามกันเป็นแถว ไปเร็วหนู ไปช่วยแม่ใส่บาตร”

แสงแดดขึ้นมาเรื่อๆ ส่องลอดใบไม้มาตรงที่นิจยืนอยู่ พระภิกษุผู้มีหน้าอิ่มเอิบด้วยสีผ้าเหลืองจับ ยืนอุ้มบาตรอยู่ตรงหน้า ชายหนุ่มร่างสูงและผึ่งผาย ดวงหน้าสดชื่น ยืนอยู่ข้างภริยาตักข้าวและหยิบของรับประทานใส่ลงในบาตร สามีมือซ้ายอุ้มบุตรชาย มือขวาหยิบของไทยทานใส่ตามลงไปองค์ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม จนถึง ๒๒ องค์เป็นองค์ที่สุด นิจรับบุตรชายมาจากสามีแล้วจุมพิตแก้มเป็นพวงของพ่อหนู หลวงธนสารแสดงเหมือนยังเสียดายที่ได้อุ้มลูกไม่นานพอ เขยิบเข้าไปใกล้ก้มลงจุมพิตบุตรบ้าง ศีรษะทั้งสามชนชิดรวมกันอยู่ภายใต้แสงแดด อันเป็นวงกลมที่ถนนหน้าบ้าน สีเหลืองอ่อนของจีวรพระที่เดินเรียงกันเป็นแถวกำลังถูกแสงแดดจับเต็มที่ ความมันของฝาบาตรที่ทำด้วยทองเหลืองกำลังเป็นประกาย พระสงฆ์ ๒๒ รูปเดินสำรวมอิริยาบถตามกันไปช้าๆ ขึ้นสะพาน เฉลิมโลกลงทางถนนเพชรบุรี ภาพอันน่าเลื่อมใสบูชาก็ลับหายไป.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ