หมวด ๙ การเชื่อหนี้ใช้ในการสร้างทรัพย์

แบงก์แลพ่อค้าซื้อหนี้ขายหนี้กันในการค้าขาย โดยความฉลาดที่เอาหนี้กลับมาใช้ทำทุนแทนเงินตราได้จริงอย่างไร ได้ชี้แจงมาในหมวดก่อนแต่เพียงที่ว่ามีสินค้าเกิดขึ้นแล้ว พวกลูกค้าทั้งหลายซื้อเชื่อสินค้านั้นต่อ ๆ กันไปโดยวิธีใช้ใบสั่งจ่ายแทนเงิน จนได้ขายถึงมือคนหลังที่สุด ที่ต้องการสินค้าไปใช้จึงจะได้ทุนกลับคืนมาใช้หนี้กัน เปนการลบล้างทำลายจำนวนเงินหนี้ ในใบสั่งจ่ายทุกฉบับที่ได้เกิดขึ้นเพราะสินค้ากองนั้นไปได้เสร็จสิ้น

เมื่อเอารายหนี้ในการค้าขายสินค้าที่มีอยู่แล้ว มาซื้อขายกันแต่ใช้แทนเงินตราได้จริงชั่วครั้งหนึ่งคราวหนึ่งได้แล้ว จะใช้ความเชื่อหนี้เช่นนี้ เปนเงินทุนในการสร้างทรัพย์ขึ้นใหม่ก็จะได้เหมือนกัน

กล่าวตัวอย่างคือรัฐบาลเห็นเปนคุณประโยชน์ที่จะทำทางรถไฟขึ้นใหม่สายหนึ่ง คาดคะเนเห็นว่าคงจะเก็บค่าระวางแลค่าโดยสานใช้ทุนคืนได้หมดสิ้นในกำหนด ๓๐ หรือ ๔๐ ปี เปนต้น แล้วยังจะมีกำไรโดยทางตรงและทางอ้อม ที่รถไฟสายนั้นจะช่วยการค้าขายแลการเพาะปลูกให้เจริญขึ้นกว่าเก่า ราษฎรตามทางสายนั้นจะขายสินค้าที่เขาทำได้ราคาดีขึ้น เพราะฉนั้นค่าแรงหรือที่ดินที่ทำสินค้านั้นจะมีราคามากขึ้นกว่าเก่า โดยที่ไปมาสดวกแลภาษีอากรผลประโยชน์แผ่นดิน ก็จะพลอยงอกงามขึ้นด้วยเปนต้น แต่โดยเหตุที่รัฐบาลไม่อยากจะเอาเงินแผ่นดินออกใช้ในการทำทางสายนี้ เพราะจะไม่มีเงินพอใช้สรอยในการอย่างอื่นที่จำเปนจะต้องทำด้วย แลคิดว่าครั้นจะเรี่ยรายกู้ยืมเงินของราษฎรในพื้นเมืองไปทำทุนในการทำทางนี้ ก็จะเปนอันว่ารัฐบาลชักทุนในบ้านเมืองไปใช้การเสียทางเดียว ถ้ามีทางหากินอย่างอื่นเกิดขึ้น ชาวเมืองจะหาที่กู้ยืมซึ่งกันและกันยากไป ดอกเบี้ยจะแพงเพราะทุนในเมืองที่มีสำรองอยู่ สำหรับทำผลประโยชน์อย่างอื่นจะน้อยไปเปนต้น ถ้าความคิดของรัฐบาลจะเปนดังที่กล่าวนี้ และถ้าจะทำทางรถไฟสายนั้นให้ได้ เพราะเห็นจะมีประโยชน์เปนกำไรมาก รัฐบาลก็มีทางที่จะหาทุนมาทำได้โดยสดวก โดยที่จะกู้เงินชาวต่างประเทศดังที่ได้ทำมาแล้ว สัญญาใช้ดอกเบี้ยเขาตามสมควร แลกำหนดเวลาผ่อนต้นเงินกับดอกเบี้ยใช้เขา จนกว่าจะสิ้นกำหนดสัญญาในสามสิบสี่สิบหรือห้าสิบปีเปนต้น เปนอันว่ารัฐบาลเอาหนี้ไปขายเอาเงินมาทำทุนในการสร้างทำรถไฟขึ้นใหม่สายหนึ่ง หนังสือสัญญากู้เงินนี้ ต้องทำขึ้นเปนรูปใดรูปหนึ่งที่จะให้ผู้ถือเอาจำนวนเงินหนี้ในสัญญานั้น ไปซื้อขายกันใช้แทนเงินให้สดวกด้วย เพราะฉนั้นจึงจะต้องพิมพ์เปนรูปตั๋วหรือใบสัญญารับใช้เงินแลดอกเบี้ยแก่ผู้ถือ เปนจำนวนเงินย่อยฉบับละ ๑๐๐ บาท ๕๐๐ บาทหรือ ๑๐๐๐ บาทเปนต้น โดยที่คิดเห็นว่า ผู้ที่มีเงินเหลือใช้สรอยอยู่แต่น้อยเพียง ๑๐๐ บาท ถ้าอยากจะได้ดอกเบี้ยก็จะเอาเงินนั้นไปซื้อตั๋วเงินกู้ของรัฐบาลมาเก็บไว้ได้ หรือจะขายเมื่อใดก็จะขายได้โดยง่าย เพราะราคาตั๋วไม่มากมายนัก ถึงกำหนด ๖ เดือนรัฐบาลสัญญาใช้ดอกเบี้ยครั้งหนึ่งเมื่อใด ก็จะได้ไปรับดอกเบี้ยมาใช้ ถ้าผู้มีทรัพย์มากมีเงินเหลือใช้มาก จะต้องการดอกเบี้ยมาก ก็ซื้อตั๋วย่อยนั้นไปหลายฉบับจนพอความปราถนา ตั๋วเงินกู้ซึ่งมีลักษณะเปนแต่ความเชื่อหนี้ชนิดนี้ ก็เปนทรัพย์สมบัติอย่างหนึ่ง ที่มีราคาจะซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนกันกับของที่มีราคาอย่างอื่นได้ แล้วก็ใช้ความเชื่อหนี้นั้นเปนทุนสำหรับสร้างทรัพย์ใหม่ เช่นทางรถไฟนั้นขึ้นได้โดยแน่นอนด้วย

การกู้หนี้ยืมสินกันโดยทำนองลูกหนี้ทำหนังสือสัญญาให้เจ้าหนี้ ตามธรรมดาที่ชาวบ้านทำกันนั้น ไม่มีลักษณะที่จะโอนกรรมสิทธิ์เงินรายหนี้กันได้ตามชอบใจของเจ้าหนี้ ๆ จำจะต้องคอยไปกว่าจะสิ้นกำหนดสัญญา จึงจะได้ต้นเงินกลับคืนมาใช้ หนี้เช่นนี้ก็เปนอันว่าเปนเงินตายนิ่งอยู่เปล่า ๆ ผิดกันกับใบสัญญากู้เงินของรัฐบาลที่จะเอาไปโอนกรรมสิทธิ์กัน แลกเงินสดมาใช้เมื่อใดก็ได้ ผิดกันที่ตรงว่า ความเชื่อถือในรัฐบาลนั้นมีราคามากกว่ากัน แม้แต่จะสัญญาใช้หนี้ช้านานถึง ๕๐ ปีก็เชื่อรัฐบาลได้

ในการกู้เงินชาวต่างประเทศมาทำทุนเช่นนี้ เราจะขนเอาทองเงินเข้ามาทำเงินตราใช้ในเมืองได้เท่าจำนวนเงินที่กู้แล้ว ชาวต่างประเทศที่ได้ซื้อหนี้ของรัฐบาลไปนั้น ก็ยังเอาตั๋วกู้เงินของรัฐบาลไปใช้แลกเปลี่ยนกันกับเงินทองได้อีกชั้นหนึ่งด้วย

ถ้ารัฐบาลจะทำตั๋วกู้เงินย่อยเช่นนั้นออกจำหน่ายในบ้านเมือง ราษฎรคนใดที่มีเงินเหลือใช้อยากจะได้ดอกเบี้ย ก็คงจะซื้อไปบ้างเปนการช่วยราษฎรในการออมสินได้โดยดี แล้วรัฐบาลยังจะได้เงินทุนไปใช้ทำผลประโยชน์อีก ส่วนตั๋วเงินกู้ของรัฐบาลนั้น ถ้ามีผู้ต้องการซื้อแลถ้าไม่มีมากมายเกินส่วนคนต้องการไป ตั๋วนั้นคงจะขายได้ราคาเต็มจำนวนเงินที่รัฐบาลสัญญาจะใช้อยู่เสมอ จะมีกำหนดเวลาใช้หนี้ในสิบปียี่สิบปีหรือสามสิบปีก็ได้ ถ้าผู้ถือตั๋วได้ดอกเบี้ยโดยสดวกแล้ว ก็คงมีผู้ต้องการเรื่อยไป ถ้าราคาตั๋วนั้นจะมีเวลาตกต่ำลงบ้างเปนครั้งเปนคราว ก็จะเปนเพราะผู้ถือตั๋วรีบร้อนจะต้องการเงินสดใช้โดยเหตุหนึ่งเหตุใดจึงจะต้องขายขาดทุน ตั๋วเงินกู้หนี้เช่นนี้ จะไม่ผิดกันกับสินค้าอย่างอื่นซึ่งจะมีราคาขึ้น ๆ ลง ๆ ตามเหตุที่จะมีผู้ต้องการซื้อมากหรือต้องการขายมากเกินส่วนไปข้างใดข้างหนึ่ง น่ากลัวจะมีอันตรายเกิดเปนความวิบัติขึ้นได้ก็โดยที่จะออกตั๋วเช่นนั้นมากมายเกินไปจนตกราคา ผู้ถือตั๋วต้องขาดทุนมาก การที่หาทุนได้ง่าย ๆ นั้น เปนการยั่วยวนให้ชล่าใจอยู่บ้าง แต่ถ้าคอยระวังคุมเชิงราคาขึ้นลงอยู่เสมอ เมื่อเห็นว่าราคาตัวนั้นจะตกมากไป รัฐบาลจะให้ราคาคงเต็มที่เสมออยู่ ก็ต้องซื้อตั๋วนั้นกลับคืนเข้าเก็บไว้เสีย ให้มีใช้หมุนเวียนอยู่น้อยลง จนกว่าราคาจะกลับสูงขึ้น เพราะราษฎรจะต้องการซื้อตัวชนิดนั้นมากขึ้นอีก เมื่อได้เอาทุนเงินที่กู้นี้ไปทำการมีกำไรเก็บทุนคืนได้ทีละเล็กละน้อยเท่าใด ก็เอากำไรนั้นซื้อตั๋วคืนใช้หนี้ไปจนกว่าจะสิ้นจำนวนเงินที่กู้ อำเภอเมืองต่าง ๆ ในยุโรป มักจะใช้กู้เงินทำนองนี้ เพื่อจะเอาทุนไปสร้างการโยธาอย่างหนึ่งอย่างใด ที่จะเก็บกำไรผ่อนใช้หนี้คืนได้โดยแน่นอน มีการสร้างตลาดขายของสด การประปาหรือการใช้ไฟฟ้าไฟก๊าศในท้องที่อำเภอต่าง ๆ เปนต้น ถ้าเลือกทำแต่ล้วนการที่จะงอกประโยชน์มีกำไรไปใช้หนี้นั้นได้แน่นอนแล้ว ก็ไม่น่าวิตกอย่างไร แม้แต่ธนบัตร์ของรัฐบาลที่ไม่มีดอกเบี้ย ก็ยังมีคนเอาไปเก็บสระสมเปนทรัพย์ตายอยู่ได้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ