หมวด ๗ การเชื่อหนี้อาจชักจูงราคาสินค้าให้ผันแปรไปได้ต่าง ๆ

ในหมวดที่ได้กล่าวถึงลักษณะเงินตรานั้น ได้ชี้แจงไว้ว่าถ้าจำนวนเงินตราที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่ในบ้านเมืองเวลาใดมีมากเกินส่วนที่จะต้องการ สำหรับซื้อสินค้าใช้ในบ้านเมืองไปแล้ว สินค้าทั้งปวงอาจมีราคาสูงขึ้นตามส่วนเงินตราที่มากนั้นได้ หรือมิฉนั้นสินค้าต่างประเทศจะทุ่มเทเข้ามาแลกเปลี่ยนเอาเงินตราที่เกินส่วนอยู่นั้นออกไปเสี่ยนอกประเทศ จนกว่าจำนวนเงินตราจะลดน้อยลงพอเท่าเทียมกับจำนวนสินค้าที่ต้องการใช้ ถ้าเงินตรานั้นเปนทองหรือเปนเงินแลทอง จะต้องไหลออกไปแลกกับสินค้าที่ไหลเข้ามา เพราะเหตุที่ราคาสินค้าในเมืองนั้นแพงขึ้น แลจะเปนการตรงกันข้าม ถ้าหากว่าในขณะใดเงินตราที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในบ้านเมืองลดน้อยเกินส่วนที่ควรไป ราคาสินค้าที่มีอยู่ในเมืองจะต้องตกต่ำลง จนกว่าสินค้าในเมืองจะไหลออกไปต่างประเทศ แลกเอาเงินทองเข้ามาเพราะเหตุที่สินค้าในเมืองตกราคา พวกพ่อค้าก็จะซื้อส่งออกไปขายต่างประเทศมากขึ้น จนกว่าจะมีเงินตราในบ้านเมืองใช้มากขึ้นพอดีกัน ลักษณะราคาเงินทองกับสินค้าย่อมจะคอยถ่วงกันอยู่เปนธรรมดาเช่นนี้เสมอ

ธนบัตร์ แต่การเชื่อหนี้โดยวิธีใช้ธนบัตร์ ใช้ใบสั่งจ่าย (Bill of Exchange) ใช้เช็ก (Cheque) แลหนังสือสัญญาใช้เงินต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวมาในหมวด ๖ นั้น ก็มีลักษณะใช้แทนเงินตราได้ด้วย ผิดกันที่ตรงว่าหนังสือสัญญาทั้งหลายนี้จะขนเอาออกไปขายต่างประเทศอย่างสินค้าธาตุเงินทองนั้นไม่ได้ เพราะฉนั้นถ้าในขณะใด ในบ้านเมืองใช้การเชื่อหนี้กันแทนเงินมากเกินส่วนไป ราคาสินค้าทั้งปวงก็อาจสูงขึ้น ชักจูงเอาสินค้าต่างประเทศทุ่มเทเข้ามาขายในบ้านเมือง แลกเอาแต่เงินตราทองตราซึ่งจะเอาไปยุบขายเปนสินค้าได้นั้นออกไปอย่างเดียว เงินทองจะไหลออกไปจนหมดสิ้น ถ้าหากว่าการเชื่อหนี้นั้น ไม่ลดน้อยลงทันกัน เปนต้นว่าถ้าในขณะหนึ่งขณะใด รัฐบาลจะเลิกกฎหมายบังคับการออกธนบัตร์เสียชั่วครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง ไม่มีเขตร์ขั้นว่าจำนวนธนบัตร์ที่ออกนั้น จะต้องมีเงินทอง มาแลกเปลี่ยนไปให้เต็มจำนวน รัฐบาลพิมพ์ธนบัตร์ขึ้นจำหน่ายตีเสียว่ามากขึ้นกว่าจำนวนเงินตราที่ใช้อยู่ในบ้านเมืองอีกเท่าหนึ่ง และเงินตราที่ใช้หมุนเวียนอยู่ ก็ไม่เอาเข้าไปเก็บเสีย ถ้าเปนเช่นนี้ ราคาสินค้าทั้งปวงอาจสูงขึ้นอีกเท่าตัวตามส่วนที่ธนบัตร์นั้นมากขึ้นได้ ถ้าเปนเช่นนี้แลถ้ารัฐบาลไม่เก็บธนบัตร์ที่เกินส่วนคืนเข้าคลังเสีย ราคาสินค้าจะแพงอยู่เรื่อยไป คนต่างประเทศเห็นราคาสูงจะส่งสินค้านอกประเทศเข้ามาขายเอากำไรแล้วเอาแต่เงินตรากลับคืนไป ส่วนเงินตราทองตราที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในบ้านเมืองจะไหลออกไปต่างประเทศจนสิ้นเชิง เงินที่ใช้หมุนเวียนอยู่ก็จะเหลือแต่ธนบัตร์ที่ตกราคาเท่านั้น

ตามกฎหมายในกรุงสยามทุกวันนี้ รัฐบาลพิมพ์ธนบัตร์ออกจำหน่ายเท่าใดต้องแลกเอาเงินตราเข้าเก็บไว้ในพระคลังเท่านั้น เปนการบังคับอยู่ในตัวเองว่าจะจำหน่ายธนบัตร์ออกเปนส่วนที่ควรไม่ได้ แต่ตามกฎหมายนี้จำนวนเงินซึ่งเอาธนบัตร์ออกแลกมาไว้ได้นั้น มีมากน้อยเท่าใด รัฐบาลจะยืมไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ครึ่งหนึ่ง เหลือสำรองไว้ในพระคลังครึ่งหนึ่ง เผื่อผู้ถือธนบัตร์จะได้แลกเงินตราขึ้นไปใช้ได้ตามชอบใจ แต่เมื่อคิดไปถึงว่าทุนในบ้านเมืองมีน้อยดอกเบี้ยแพง จนต้องกู้เงินต่างประเทศเข้ามาใช้ในการทำรถไฟเปนต้นแล้ว ถ้ารัฐบาลจะเอาเงินรายครึ่งหนึ่งที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้นั้นออกใช้ทำทุนหาประโยชน์เสียในบ้านเมืองก็ได้ ถ้าเปนเช่นนี้ก็เปนอันว่ารัฐบาลจะเอาเงินตราหรือธนบัตร์ออกเพิ่มเติมจำนวนเงินที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่ในเมืองเท่าครึ่งจำนวนของธนบัตร์ที่ได้จำหน่ายไป เงินหมุนเวียนที่เพิ่มเติมขึ้นเพราะมีการใหม่เกิดขึ้นเช่นทำทางรถไฟต่อยืดยาวออกไปอิก ต้องใช้ค่าแรงทำการค่าสิ่งของแลเครื่องเหล็กเครื่องใช้เพิ่มเติมขึ้นเปนต้นนั้น ไม่มีลักษณะที่จะทำให้ราคาสินค้าทั่วไปพลอยสงขึ้นได้ ถ้าหากว่ามีคนทำงานแลสิ่งของที่ต้องการใช้ในการทำทางรถไฟนั้นเพิ่มเติมเข้ามาในบ้านเมืองเท่ากับที่จะต้องการ

ตามที่ได้กล่าวมานี้จะเห็นผลของธนบัตร์ที่จะมีได้สองประการ ๑ ถ้ารัฐบาลจำหน่ายธนบัตร์ ออกจำเพาะเท่ากับที่จะแลก เอาเงินตราที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่ก่อนนั้นเข้าเก็บไว้ในพระคลังแลกระทรวงพระคลังไม่พิมพ์เงินตราออกจำหน่ายมากเกินที่ควรไป ธนาบัตร์นั้นก็จะไม่ทำให้ราคาสินค้าผันแปรไปได้ ฝ่ายราษฎรมีความสดวกที่ได้ใช้ธนบัตร์แทนเงินตรา ๆ ที่แลกไปเก็บนิ่งไว้ไม่สึกหรอขาดเนื้อ เปนการประหยัดทรัพย์ได้อย่างหนึ่ง ๒. ถ้าหากว่ารัฐบาลเลิกกฎหมายที่ตั้งข้อบังคับเปนเขตร์ขั้นกันไม่ให้จำหน่ายธนาบัตร์เปนจำนวนเงินตราที่จะแลกมาเก็บนั้นเสีย แล้วจำหน่ายธนาบัตร์ออกใช้เพิ่มเติมจำนวนเงินตราที่มีอยู่แล้ว เปนเงินใช้หมุนเวียนมากเกินส่วนที่ควรไปในบ้านเมืองมากเมื่อใด ราคาสินค้าทั้งหลายในเมืองคงต้องสูงขึ้นตามกันเปนแน่ ราคาสินค้าจะสูงขึ้นเพราะราคาเงินตราแลธนบัตร์จะตกต่ำลง โดยเหตุที่มีขึ้นใช้กันมากเกินส่วนที่ต้องการใช้ไป

ส่วนการเชื่อหนี้โดยใช้หนังสือสัญญามีกำหนดเวลาใช้เงินให้แก่เจ้าหนี้ (Promissory Note) ใบสั่งจ่ายที่เรียกว่าบิลออฟเอกซเชญ (Bill of Exchange) หรือที่เรียกว่าเช๊ก (Cheque) ก็ดี การเชื่อหนี้โดยทางจดบาญชีก็ดี การเชื่อหนี้เหล่านี้ก็เปนอันว่าใช้แทนเงินตราได้ในชั่วคราวที่ยังไม่ได้ใช้หนี้กัน ถ้ามีมากก็เท่ากับเติมเงินตราที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่ในบ้านเมืองให้มากขึ้น เมื่อเงินที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่ในเมืองมากเกินส่วนที่ควรไปเมื่อใด ราคาสินค้าจจะต้องสูงขึ้นตามกัน หรือจะว่าอิกทางหนึ่งก็คือเงินหมุนเวียนที่ใช้อยู่ในขณะใดมีมากเกินส่วนที่ต้องการแท้ไป เงินนั้นย่อมจะต้องตกราคา เมื่อเงินตกราคาคืออำนาจเงินที่จะซื้อของได้นั้นน้อยลง ราคาสินค้าทั้งปวงก็จะสูงขึ้นเปนธรรมดาอยู่เอง

อีกฝ่ายหนึ่งถ้าในขณะใดการซื้อเชื่อขายเชื่อน้อยลงเพราะเหตุหนึ่งเหตุใด ที่จะทำให้เกิดระแวงระวังกันขึ้น ในระหว่างพ่อค้าทั้งปวง เพราะความเชื่อถือไว้วางใจต่อกันจะลดน้อยลงกว่าเก่า ผู้ที่มีทุนทดรองให้กู้ยืมไม่ยอมปล่อยทุนให้คนเอาไปค้า หรือพ่อค้าไม่ยอมขายของเชื่อ แลเมื่อการเชื่อหนี้ก็ใช้แทนเงินตราได้ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น คนทั้งหลายหยุดการซื้อเชื่อขายเชื่อกันเสียมากเท่าใด ก็เท่ากันกับได้ชักถอนเอาเงินที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่ในบ้านเมืองออกเสียเท่านั้น

ถ้าการเปนดังที่กล่าวขึ้นในขณะใด แลในขณะนั้นก็ไม่มีเงินตราเพิ่มเติม ออกมาใช้หมุนเวียนแทนจำนวนเงินที่เชื่อหนี้กันอยู่ทัน เงินหมุนเวียนในบ้านเมืองมีใช้น้อยลงไม่พอกับจะซื้อสินค้าที่มีอยู่ในขณะนั้นตามเวลาที่ต้องการใช้ ราคาสินค้าในขณะนั้นก็ต้องตกต่ำลงไปเอง จะตกต่ำไปจนกว่าความเชื่อถือไว้วางใจกันจะกลับมีขึ้นดังเก่า หรือจนกว่าพ่อค้าต่างประเทศจะส่งเงินเข้ามาซื้อสินค้าที่ตกราคานั้น ออกไปขายเอากำไรที่นอก ถ้าเปนเช่นนี้ก็เปนอันว่าราคาสินค้าตกต่ำลงมากเมื่อใด เงินทองต่างประเทศจะต้องไหลเข้ามาแลกเปลี่ยนเอาสินค้านั้นออกไปจนกว่าสินค้าในเมืองจะน้อยลง แลกลับคืนราคาสูงขึ้นอย่างเดิม ราคาสินค้าที่ว่าจะสูงขึ้นหรือตกต่ำลง เพราะจำนวนเงินหมุนเวียนที่ใช้กันอยู่ในบ้านเมืองในขณะใดจะลดน้อยไป หรือจะมีมากขึ้นนั้น ในที่นี้หมายความว่า เปนราคาสินค้าโดยทั่วไปจะพลอยสูงขึ้นหรือตกต่ำลงตามกัน แต่ในขณะเดียวกันนั้น ถ้าจะมีราคาสินค้าเปนสิ่งเปนอย่าง ที่จะไม่พลอยสูงหรือตกต่ำลงตามกัน เช่นหมากหรือมะพร้าวของสวนขึ้นราคา เปนการตรงกันข้ามกับสินค้าโดยทั่วไปเปนต้น ถ้าเปนอย่างนี้ก็จะเปนเพราะเหตุอื่นที่เกี่ยวข้องกับหมากมะพร้าวโดยจำเภาะ คิดเสียว่าเปนเพราะเหตุที่ในปีนั้น หมากมะพร้าวตามสวน บังเอิญออกผลน้อยไปกว่าธรรมดา เพราะเหตุที่ฝนฟ้าอากาศผันแปรผลไม้ออกไม่พอกับความต้องการของชาวเมือง ราคาหมากมะพร้าวจึงแพงขึ้นโดยลำพังตัวเอง ราคาไม่พลอยสูงขึ้นหรือต่ำลง เพราะเรื่องเงินมีมากหรือน้อย

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ