หมวด ๔ ว่าด้วยวิธีเงินตราของนา ๆ ประเทศ

ในหมวดก่อนได้ชี้แจงลักษณะเงินตราของกรุงสยามมาโดยเลอียดแล้ว เพื่อจะให้เห็นว่าวิธีเงินตราของไทยจะผิดเพี้ยนกันกับวิธีเงินตราของนา ๆ ประเทศเพียงใดบ้างนั้น ในหมวดนี้จะขอย่อความของวิธีต่าง ๆ นั้นมากล่าวพอเปนเครื่องเปรียบเทียบกันบ้าง

ประเทศอังกฤษเปนประเทศที่มั่งมีบริบูรณ์ทรัพย์สมบัติยิ่งอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ วิธีเงินตราของเขาก็เปนความสรรเสริญของนักปราชญ์ว่า มีหลักถานมั่นคงเปนปึกแผ่นดี ควรจะเอาแบบอย่างได้ เพราะฉนั้นในที่นี้จึงจะยกวิธีเงินตราของอังกฤษมากล่าวเปนต้นไป

ประเทศอังกฤษ

๑. ประเทศอังกฤษใช้ธาตุทองคำอย่างเดียวเปนมาตรามาแต่คฤศตศักราช ๑๘๑๖ แล้ว จำนวนหน่วยแห่งวิธีเงินตราอังกฤษตามที่ใช้กันนั้นเรียกว่า เปานต์สเตอร์ลิง (Pound Sterling) ซึ่งมีเนื้อทองบริสุทธิ์ ๑๑ ส่วน เปนทองแดง ๑ ส่วน หรือมีเนื้อทองบริสุทธิ์ ๙๑๖.๖๖ เศษส่วนใน ๑,๐๐๐ และน้ำหนัก ๗๙.๘๘๐๕ แกรม

๒. การที่พิมพ์เหรียญกระสาปน์ทองเปนจำนวนมากน้อยเท่าใดนั้น สุดแล้วแต่ความต้องการของบุคคลเปนใหญ่ ผู้ใดจะนำทองไปให้กรมกระสาปน์อังกฤษทำเหรียญกระสาปน์ทองให้สักเท่าใดก็ได้ ถ้านำทองคำเนื้อบริสุทธิ์ ๑๑/๑๒ หนัก ๑ เอานซ์ ไปส่งกรมกระสาปน์ ๆ จะต้องพิมพ์ทองตราให้เท่าราคา ๓ ปอนด์ ๑๗ ชิลลิง ๑๐ เปนซ์ครึ่งโดยไม่คิดค่าจ้าง แต่เพื่อจะไม่ต้องคอยช้าไปจนกว่ากรมกระสาปน์จะพิมพ์เหรียญสำเร็จ จะนำทองไปแลกธนบัตรได้ที่แบงก์ออฟอิงแลนด์ (Bank of England) แบงก์ได้รับทองหนัก ๑ เอานซ์ จะต้องออกธนาบัตรของแบงก์ให้เปนราคา ๓ ปอนด์ ๑๗ ชิลลิง ๙ เพนซ์ ผิดเงินกันเอานซ์ละ ๑ เปนนีครึ่ง ซึ่งพอจะเรียกได้ว่าเปนส่วนค่าจ้างพิมพ์ทองนั้นตรง ๆ ได้ธนบัตรไปแล้วก็จะแลกเหรียญทองต่อไปได้ทันที

๓. เหรียญปลึกเงินและเหรียญปลีกทองแดงทุกชนิด มีเนื้อธาตุในราคาที่กำหนดลงเปนส่วนเหรียญปลีกย่อยของทองปอนด์ ต่ำกว่าราคาเนื้อธาตุที่ซื้อขายกันในตลาด เพราะฉนั้นกฎหมายจึงบังคับให้เปนเงินตราซึ่งเจ้าหนี้จ่าต้องรับเหรียญปลีกเงินแต่เพียงราคา ๔๐ ชิลลิงหรือ ๒ ปอนด์ เหรียญเปนนีทองแดงแต่เพียง ๑ ชิลลิงเหรียญปลีกเงินแลทองแดงรัฐบาลมีอำนาจทำแต่ฝ่ายเดียว

อินเดีย

เมืองอินเดียแต่เดิมมาใช้มาตราเงิน อย่างที่กรุงสยามใช้อยู่ก่อน จนถึงปี ร.ศ. ๑๑๒ เมื่อราคาธาตุเงินตกต่ำมาก ราคาเงินรูเปียพลอยตกต่ำไปตามกัน รัฐบาลอังกฤษจึงต้องหยุดการพิมพ์เหรียญเงินรูเปียเสียชั่วครั้งหนึ่งแล้ว บังคับให้ตั้งราคาค่าแลกเงิน ๑ รูเปียเท่ากับทองบริสุทธิ์หนัก ๗.๕๓๓๔๔ เกรนส์ ซึ่งตรงกันกับราคา ๑ ชิลลิง ๔ เปนซ์หรือ ๑๕ รูเปียต่อ ๑ ปอนด์ ต่อมาเมื่อ ร.ศ. ๑๑๘ จึงได้ออกกฎหมายตั้งมาตราทองลงเต็มที่ บังคับให้ใช้เหรียญกระสาปน์ทองปอนด์ และเหรียญครึ่งปอนด์อังกฤษ เปนเงินตราที่เจ้าหนี้จำต้องรับโดยไม่จำกัดจำนวน ส่วนเงินเหรียญรูเปียก็ให้ใช้เปนเงินตราที่เจ้าหนี้จำต้องรับโดยไม่จำกัดจำนวน ทั้งให้คงมีราคาเท่า ๑ ชิลลิง ๔ เพนซ์อยู่ตามเดิมด้วย แต่ไม่ให้เหรียญเงินมีน้ำหนักตกต่ำลงถึงร้อยละ ๒ ได้ เหรียญรูเปียน้ำหนักเต็มตามกฎหมาย ๑๑.๖๖๔ แกรม แลมีเนื้อเงินบริสุทธิ์อยู่ ๙๑๖.๖๖ ส่วนใน ๑,๐๐๐ หรือมีเนื้อเสมอกันกับเหรียญเงินชิลลิงอังกฤษ

วิธีนี้ก็ต่างกันไปจากวิธีอังกฤษที่ตรงว่าใช้เหรียญรูเปียธาตุเงินเปนเงินตราที่เจ้าหนี้จำต้องรับโดยไม่จำกัดจำนวนปนอยู่กับเหรียญกระสาปน์ทองด้วย

ประเทศยูไนเตดสเตตส์ออฟเมริกาเหนือ

วิธีเงินตราประเทศอเมริกาเหนือเปนมาตราทอง รัฐบาลเปิดโรงกระสาปน์รับพิมพ์เหรียญทองให้ราษฎร แลในประเทศนั้นถึงไม่ใคร่มีเหรียญกระสาปน์ทองใช้หมุนเวียนอยู่ในการซื้อขายสักเพียงใดก็จริง แต่ในคลังแลแบงก์มีทองเก็บสะสมสำรองขึ้นไว้ราวราคา ๑๓๒ ล้านปอนด์ มีเงินเหรียญดอลลา (Dollars) สำรองอยู่ ๘๒ ล้านปอนด์ (จำนวนเลขที่กล่าวมานี้ คัดออกจากรายงานกรรมการทำขึ้นรัฐบาลอังกฤษเมื่อคริศตศักราช ๑๘๙๓) ในจำนวนเงินเหรียญดอลลาที่เก็บสำรองไว้นั้น รัฐบาลทำธนบัตรออกจำหน่ายใช้หมุนเวียนแทน คิดราคาเงินกับทองเปนส่วน ๑๖ หนัก แลยังมีเงินแท่งที่ยังไม่ได้พิมพ์เหรียญกระสาปน์เก็บอยู่ในคลังเปนราคา ๑๗ ล้าน ๘ แสนปอนด์ เงินแท่งเหล่านี้รัฐบาลพิมพ์ธนบัตรออกจำหน่ายใช้หมุนเวียนแทนเงินตราเปนราคา ๑๖ หนักเหมือนกัน ในประเทศยูไนเตดสเตตส์มีเงินกระดาดใช้อยู่รวมทั้งสิ้นประมาณราคา ๒๑๐ ล้านปอนด์ ส่วนเงินกระดาดที่รัฐบาลพิมพ์ขึ้นใช้หมุนเวียนอยู่แทนธาตุเงินล้วนที่ได้กล่าวมาแล้ว แลทั้งเหรียญกระสาปน์เงินทั้ง ๒ อย่างนั้น ก็ใช้แทนเงินตราที่เจ้าหนี้จำต้องรับตามกฎหมายโดยไม่จำกัดจำนวนด้วย ราคาเงินกระดาดเหล่านี้ก็ไม่ต่ำกว่าราคาธนบัตรที่รัฐบาลทำออกจำหน่ายแทนธาตุทองที่เก็บไว้ในคลัง ราษฎรนิยมใช้เปนราคาเสมอกัน แลถึงโดยว่า รัฐบาลตั้งราคาเงินกับทองถึง ๑๖ หนัก ซึ่งเกินกว่าราคาธาตุเงินในตลาดอยู่มากก็ไม่มีใครรังเกียจที่จะใช้ธนบัตรเงินแลเหรียญกระสาปน์เงินนั้นเลย รัฐบาลรักษาราคาแลกเปลี่ยนเงินกับทองให้คงเปน ๑. ๖ หนักอยู่ได้เสมอ

เมืองแคนนาดา

เมืองนี้เปนเมืองใช้มาตราทอง แต่ไม่มีเหรียญกระสาปน์ทองใช้ แลถึงโดยว่ามีกฎหมายตั้งไว้ว่าให้ทำเหรียญกระสาปน์ทองดอลลา ขึ้นใช้เปนราคา ๔.๘๖ ๒/๓ เหรียญต่อ ๑ ปอนด์อังกฤษ ซึ่งเปนส่วนแลกทอง ๑๖ หนักนั้นก็ดี แต่ไม่มีเหรียญกระสาปน์ทองที่กล่าวนี้ออกใช้กันเลย แม้แต่โรงกระสาปนก็ไม่ได้ตั้งขึ้นไว้ เงินเหรียญปลีกที่มีใช้อยู่ก็ทำจากประเทศอังกฤษ เหรียญกระสาปน์ทองอื่นก็ไม่สู้มี แต่ในคลังมีทองสำรองอยู่ ๒ ล้าน ๔ แสนปอนด์ ส่วนเงินที่ใช้หมุนเวียนอยู่นั้น นอกจากเงินปลึกก็ล้วนแต่เปนธนบัตรทั้งสิ้น ในเมืองนี้จะเอาเหรียญเงินไปแลกเปนทองตามส่วนที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายไม่ได้ รวมใจความว่า ในเมืองนี้สักแต่ว่าตั้งกฎหมายไว้ว่าเปนเมืองใช้มาตราทองคำ แต่แท้ที่จริงก็ไม่มีทองใช้เลย เงินหมุนเวียนที่ใช้อยู่ในเมืองล้วนแต่เปนเงินกระดาด มีเงินเหรียญดอลลาอเมริกันใช้อยู่บ้าง แต่รัฐบาลบังคับให้ใช้หนี้กันได้เพียงคราวละ ๑๐ เหรียญ แลเหรียญหนึ่งให้มีเศษย่อยเพียง ๘๐ เซนต์ ถึงฉนั้นราคาเงินที่กล่าวนี้ ก็ยังคงมีค่าแลกทองยืนอยู่ได้ ๑๖ หนักเสมอ

ลักษณะเงินตราในประเทศแคนนาดาเปนอยู่อย่างเดียวกันกับเงินตราของไทยทุกวันนี้ คือไม่มีเหรียญกระสาปน์ทองใช้ ๆ แต่เหรียญกระสาปนี้เงินดอลลาแลธนบัตรซึ่งเปนราคาเงินดอลลา แต่ก็ยังรักษาค่าแลกเงินแลแลกกระดาดเงินนั้นเปนราคาเท่ากับทองที่กฎหมายกำหนดไว้ได้

ประเทศเยอรมันนี

ประเทศเยอรมันนีได้ตั้งต้นเปลี่ยนจากมาตราเงินมาเปนมาตราทอง เมื่อคฤศตศักราช ๑๘๗๓ ประมาณ ๔๐ ปีมานี้เอง ในการใช้มาตราทองนี้ ก็ทำตามเยี่ยงอย่างวิธีทองตราอังกฤษเปนพื้น ข้อสำคัญผิดกันแต่ที่ตรงว่า ในประเทศเยอรมันนีมีเหรียญกระสาปน์เงินทาเล่อ (Thalers) เก่า ประมาณราคา ๒๐ ล้านปอนด์ใช้เปนเงินหมุนเวียนอยู่ในบ้านเมือง แลมีส่วนแลกทองเปนส่วน ๑๕ หนักกึ่ง ทั้งกฎหมายกบังคับให้เจ้าหนี้จำต้องรับโดยไม่จำกัดจำนวนด้วย

แบงก์ในประเทศเยอรมันนีมีทองเปนทุนสำรองอยู่ราวราคา ๓๔ ล้าน ๒ แสน ๕ หมื่นปอนด์ ยังมีทองที่รัฐบาลเก็บไว้ในป้อมเมืองสปานเดาอีก ๖ ล้านปอนด์ รวมเปนจำนวน ๔๐ ล้าน ๒ แสน ๕ หมื่นปอนด์ (๔๐,๒๕๐,๐๐๐) แต่ส่วนจำนวนเงินที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในเมืองนั้น ประมาณกันว่ามีอยู่ในระหว่าง ๖๕ ล้านถึง ๗๐ ล้านปอนด์ ยังมีเงินกระดาดที่ใช้จำหน่ายออกไปแล้ว รวมทั้งสิ้นเปนราคา (๖๘,๗๔๐,๐๐๐) ปอนด์ ๖๘ ล้าน ๗ แสน ๔ หมื่นปอนด์

ประเทศสแกนดิเนเวีย (Scandinavia)

ประเทศสวิเดนนอร์เว ๒ ประเทศนี้ ใช้มาตราทองมาพร้อมกันกับประเทศเยอรมันนี เมื่อคฤตศศักราช ๑๘๗๓ แต่มีเหรียญกระสาปน์ทองใช้หมุนเวียนอยู่น้อยที่สุด มีแต่ธนบัตรซึ่งผู้ถือมีอำนาจแลกเอาทองกลับคืนได้ แบงก์ต่าง ๆ มีทองเปนทุนสำรองเปนทุนอยู่ ๕ ล้าน ๕ แสนปอนด์ แลมีธนบัตรใช้เปนราคาอยู่ประมาณ ๑๓ ล้านปอนด์

ประเทศที่อยู่ในสมาคมแลติน (The Latin Union)

๑. ประเทศฝรั่งเศส ในประเทศฝรั่งเศสผู้ใดจะนำทองไปส่งให้กรมกระสาปน์พิมพ์เหรียญกระสาปน์ทองให้ก็ได้ ส่วนเหรียญกระสาปน์เงินที่ใช้เปนเงินตราตามมาตราเงินนั้น สัญญาของสมาคมแลตินห้ามไม่ให้พิมพ์ขึ้นใช้มาตั้งแต่เมื่อคฤศตศักราช ๑๘๗๘ จนถึงบัดนี้ อนุญาตให้พิมพ์ได้แต่เหรียญเงินปลีกเท่านั้น ในประเทศฝรั่งเศสมีเหรียญกระสาปน์ทองใช้หมุนเวียนอยู่มาก แต่ถึงฉนั้นก็ยังมีเหรียญกระสาปนเงิน ๕ แฟรงเปนอันมากใช้หมุนเวียนอยู่ตามราคาค่าแลกทอง ๑๕ หนักกึ่ง ซึ่งได้กำหนดไว้แต่เก่าก่อนมา เหรียญเงินเหล่านี้เจ้าหนี้จำต้องยอมรับโดยไม่จำกัดจำนวน แล้วก็ยอมรับกันโดยสดวกประดุจเดียวกันกับเหรียญกระสาปนทองด้วย ในประเทศฝรั่งเศสมีเงินใช้หมุนเวียนเปนจำนวนทองประมาณราคา ๑๗๑ ล้านปอนด์ เปนเงินประมาณราคา ๑๔๐ ล้านปอนด์ เปนธนบัตรประมาณ ๑๓๒ ล้านปอนด์

ธนบัตรของแบงก์ประเทศฝรั่งเศสนั้น แบงก์มีอำนาจที่จะเลือกให้ทองหรือเงินแก่ผู้แลกได้ตามชอบใจแต่ฝ่ายเดียว แบงก์ไม่มีความรังเกียจที่จะจำหน่ายทองออกใช้ในบ้านเมือง แต่ถ้าผู้ใดจะต้องการทองส่งออกไปนอกประเทศแล้วจะต้องไปทำความตกลงกันกับแบงก์เสียก่อน แต่ถึงฉนั้นการแลกเหรียญกระสาปน์เงิน แลธนบัตร์ กับทองก็ยังแลกได้ยืนอยู่ตามราคาทองที่ได้กำหนดลงไว้เสมอ วิธีใช้เงินตราในประเทศฝรั่งเศสตามที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็เปนอันรวมใจความได้ว่า วิธีของเขาถึงอย่างไรก็ดี แต่ตามความที่เปนอยู่จริงทุกวันนั้น ก็เปนอันเชื่อได้ว่ามีหลักถานมั่นคงพอ ชาวฝรั่งเศสบางทีก็ให้ชื่อวิธีใช้เงินตราฝรั่งเศสว่า เปนมาตราเดินกระเผลก (Etalon Boiteus) ซึ่งเมื่อความจริงเปนอยู่ว่าใครจะให้กรมกระสาปน์พิมพ์เหรียญทองก็พิมพ์ได้ แต่ห้ามไม่ให้พิมพ์เหรียญเงินนั้น วิธีใช้เงินตราของฝรั่งเศสกเปนมาตราทองอยู่เอง แต่ส่วนเหรียญกระสาปน์เงินที่มีอยู่เปนอันมากนั้น จะเปลี่ยนเปนทองไม่ได้ แลส่วนธนบัตร์นั้นจะเปลี่ยนเปนเงินหรือทองได้ ก็ต้องสุดแล้วแต่ความยอมของแบงก์เปนใหญ่ พิกัดแลกเงินเปนทองตามส่วน ๑๕ หนักกึ่งก็ยังยั่งยืนอยู่ได้เสมอ

๒. ประเทศเบลเยี่ยม ประเทศนี้ใช้วิธีเงินตราซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกันกับประเทศฝรั่งเศสทุกอย่างไป โดยเหตุที่อยู่ในสมาคมเดียวกัน ในเมืองเบลเยี่ยมนี้มีทองใช้หมุนเวียนอยู่ราวราคา ๕ ล้านปอนด์ มีเหรียญกระสาปน์เงิน ๕ แฟรง ราคา ๘ ล้านปอนด์ มีธนบัตรราคา ๑๕ ล้านปอนด์ ธนบัตรนี้ถ้าจะแลกก็ต้องสุดแล้วแต่ว่าแบงก์จะยอมให้ทองหรือให้เงิน

๓. ประเทศอิตาลี ในประเทศนี้ ก็มีลักษณะการใช้เงินตราเหมือนกันกับประเทศฝรั่งเศส ผิดกันแต่ว่าความเชื่อหนี้ในประเทศนี้มีน้อย แลเปนประเทศที่อัตคัดเงินทองอยู่ด้วย เหรียญกระสาปน์ทองแลเงินซึ่งใช้หมุนเวียนอยู่ในบ้านเมืองจึงไม่สู้จะมี ประเทศอิตตาลีมีทุนสำรองเปนทองประมาณ ๒๓ ล้าน ๖ แสนปอนด์ เหรียญกระสาปน์เงิน ๕ แฟรง ๔ ล้านปอนด์ ธนบัตร ๕๗ ล้านปอนด์

ประเทศฮอแลนด์แลเมืองขึ้นของเขาข้างทิศตวันออก

ประเทศฮอแลนด์กับเกาะชวาใช้มาตราทองปนอยู่กับเหรียญกระสาปน์เงินแลธนบัตร์ ราคาเงินแลกที่กำหนดไว้ในประเทศนี้เปน ๑๕ ๕/๘ หนัก ตั้งแต่เมื่อเปลี่ยนมาตราเงินเปนมาตราทองมาแต่คฤศตศักราช ๑๘๗๕ ได้พิมพ์เหรียญกระสำปน์ทองขึ้นไว้เปนอันมากแต่หาได้เอาออกจำหน่ายใช้หมุนเวียนไม่ เปนแต่เก็บสำรองไว้เท่านั้น ใช้แต่เหรียญเงิน คุลเดน (Gildlens) ซึ่งสมมุติให้มีราคาเท่าทอง ๑๕ ๕/๘ หนัก แลให้ใช้หนี้กันได้โดยไม่จำกัดจำนวน ธนบัตร์ก็ให้มีราคาทองเหมือนกัน แต่เหรียญเงินแลธนบัตรนั้น จะแลกเอาทองไปจริง ๆ ไม่ได้ ส่วนทองซึ่งต้องการใช้ในการค้าขายสำหรับส่งออกไปนอกประเทศนั้น แบงก์เนตเทอแลนด์ (Netherlands Bank) ยอมแลกให้โดยง่าย จำนวนเงินหมุนเวียนมีเปนทองอยู่ในเมืองฮอแลนด์ราว ๕ ล้าน ๒ แสนปอนด์ ในเกาะชวา ๕ แสนปอนด์ มีเงินในเมืองฮอแลนด์ ๑๑ ล้านปอนด์ ในเกาะชวา ๒ ล้าน ๘ แสนปอนด์ มีธนบัตรในเมืองฮอแลนด์ ๑๖ ล้านปอนด์ ในเกาะชวา ๔ ล้าน ๒ แสน ๕ หมื่นปอนด์

วิธีใช้เงินตราในประเทศฮอแลนต์กับเกาะชวาดังที่กล่าวมานั้น ก็มีใจความว่าใช้มาตราทอง แต่มีเหรียญทองใช้น้อยหรือแทบไม่มีเลย ส่วนเหรียญกระสาปน์เงินก็ตั้งราคาไว้สูงกว่าราคาธาตุเงินในตลาดมาก มีธนบัตรเปนราคาเงิน แลเงินเหรียญกระสาปน์กับธนบัตรนั้นจะแลกเปนทองไม่ได้ก็จริง แต่ถ้าจะต้องการทองส่งออกนอกประเทศแล้ว แบงก์เนตเทอแลนด์ก็ยอมแลกทองให้ได้โดยสดวก เพราะฉนั้นจึงรักษาค่าแลกเงินไว้ได้ตามราคาทองที่สมมุติตั้งลงไว้แต่ต้นมาเสมอ

ออสเตรีย ฮังการี

ออสเตรีย ฮังการี ได้ใช้มาตราเงินมาจนถึงคฤศตศักราช ๑๘๗๙ จึงได้เปลี่ยนเปนมาตราทอง วิธีเงินตราของประเทศนี้ เงินฟลอริน เปนจำนวนหน่วยแต่เดิมมา มีน้ำหนัก ๑/๔๕ ในธาตุเงินหนัก ๑ ปอนด์ เมื่อยังใช้มาตราเงินอยู่ ผู้ใดจะต้องการเงินเหรียญกระสาปน์ฟลอรินเท่าไร ก็นำธาตุเงินไปให้กรมกระสาปน์พิมพ์ให้ได้ เหรียญกระสาปน์เงินฟลอรินแลธนบัตรที่เปนจำนวนเงินฟลอรินนั้น ใช้หนี้กันได้ตามกฎหมายโดยไม่จำกัดจำนวน ค่าแลกเงินฟลอรินกับเหรียญทองปอนด์อังกฤษ เปนราคาขึ้น ๆ ลง ๆ ดังที่ปรากฎอยู่ในสารบาญชีของประเทศนั้น คือตั้งแต่คฤศตศักราช ๑๘๖๑ เงินฟลอริน ๑๔๑.๗๘ แลกทองอังกฤษได้ ๑๐ ปอนด์ แล้วสูงขึ้นไปจนถึงคฤศตศักราช ๑๘๗๓ ค่าแลกทอง ๑๐ ปอนด์เปนเงิน ๑๑๑ ฟลอริน

ในระหว่างเวลานั้น ราคาธนบัตรตกต่ำกว่าราคาธาตุเงินที่ซื้อขายกันในตลาดอยู่มาก เพราะเหตุฉนั้นจึงไม่มีผู้ใดนำเงินไปให้กรมกระสาปน์พิมพ์เปนเหรียญกระสาปน์ขึ้นได้ ในคฤศตศักราช ๑๘๗๓ เงินหนัก ๑ เอาซ์มีราคาตลาด ๕๙ ๑/๔ เพนซ์ ครั้นมาเมื่อคฤศตศักราช ๑๘๗๙ ราคาธาตุเงินตกต่ำลงไปถึง ๕๑ ๑/๔ เพนซ์ ราคาธนบัตรที่ใช้อยู่ในเมืองก็เปนอันว่ามีราคาเสมอกันขึ้น เพราะฉนั้นจึงมีผู้นำธาตุเงินไปส่งให้โรงกระสาปน์พิมพ์เหรียญกระสาปน์เงินขึ้นได้ ในระหว่างคฤศตศักราช ๑๘๗๘ กับ ๑๘๗๙ ปีเดียวนั้น กรุงออสเตรียได้พิมพ์เหรียญเงินขึ้นใช้หมุนเวียนเพิ่มเติมจำนวนเก่าขึ้นเปนราคาถึง ๗ ล้านปอนด์ จนมากเกินความต้องการไป รัฐบาลจึงไม่ยอมให้ราษฎรนำเงินไปให้โรงกระสาปน์พิมพ์ต่อไป รัฐบาลพิมพ์ใช้ได้แต่ฝ่ายเดียว จำนวนเงินที่รัฐบาลพิมพ์ขึ้นในระหว่างคฤศัตศักราช ๑๘๘๐ กับ ๑๘๙๑ นั้นมีจำนวนถึง ๑๒๕ ล้าน ๕ แสน (๑๒๕,๕๐๐,๐๐๐) ฟลอริน รัฐบาลได้ตกลงเปลี่ยนมาตราเงินเปนมาตราทองในคฤศตศักราช ๑๘๙๒ คิดค่าแลกเงินฟลอรินกับทองปอนด์อังกฤษตามสารบาญชี ตั้งแต่ได้หยุดการพิมพ์เงินมาแต่เมื่อคฤศตศักราช ๑๘๗๙ นั้น ค่าแลกเงินในปี ๑๘๘๐ สูงขึ้นถึง ๑๑๗.๘๓ ฟลอรินต่อ ๑๐ ปอนด์ กลับตกลงเปน ๑๒๖.๖๑ ในปี ๑๘๘๗ แล้วกลับสูงขึ้นถึง ๑๑๙. ๒๐ ในปี ๑๘๙๒ เมื่อรัฐบาลตั้งมาตราทองขึ้น จึงได้คิดเฉลี่ยเอาราคาปานกลางของค่าแลกทองที่กล่าวมานี้เปนประมาณ กำหนดราคาลงเปนครั้งที่สุดว่าเงิน ๑๒๐.๑ ให้เท่ากับราคาทองฟลอรินอังกฤษ ๑๐ ปอนด์ หรือเหรียญกระสาปน์ทอง ให้มีราคาเท่าเงินฝรั่งเศส ๒ แฟรง ๑๐ ซองตีม ซึ่งตรงกันกับทอง ๑ หนักแลกเงินฟลอรินได้ ๑๘.๒๒ หนัก

รัฐบาลตั้งแต่เปิดโรงกระสาปน์ให้พิมพ์เหรียญทองขึ้นแล้ว มีทุนสำรองประมาณเงิน ๓๕๑ ล้านฟลอริน (คิดเปนราคาทองประมาณ ๓๐ ล้านปอนด์) และตกลงกันว่าจำนวนเงินเหรียญฟลอริน แลจำนวนธนบัตรซึ่งมีใช้หมุนเวียนอยู่ในบ้านเมืองเปนอันมากนั้น รัฐบาลจะถอนขึ้นเสียบ้าง ยังเหลือธนบัตรเท่าใด ต่อไปภายหน้าจะให้แลกเปนทองได้เต็มจำนวน

ลักษณะการที่เปนอยู่ในประเทศออสเตรีย ฮังการี เปนดังที่ได้กล่าวมานี้ ก็เก็บใจความได้ว่า ประเทศที่ใช้มาตราเงินแลมีเงินกระสาปน์ ที่สมมุติตั้งราคาเกินอยู่กว่าราคาธาตุเงินในตลาด ทั้งที่เงินกระดาดที่แลกเงินทองคืนไม่ได้ใช้อยู่เปนส่วนมากในเงินหมุนเวียนของบ้านเมืองนั้น สามารถที่จะรักษาค่าแลกเงินกับทองให้ยืนที่อยู่ได้โดยวิธีที่ได้หยุดการพิมพ์เหรียญกระสาปน์เงินเสียชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อหยุดพักการพิมพ์เหรียญกระสาปน์เงิน แลได้จำกัดการจ่ายธนบัตรออกใช้หมุนเวียนให้น้อยลงแล้ว ราคาเงินที่ต้องการใช้หมุนเวียนอยู่ในเมืองก็อาจสูงขึ้น และมีค่าแลกพอเท่าเทียมกันกับราคาทองได้โดยยั่งยืน ตามกำหนดราคาที่ได้สมมุติตั้งขึ้นไว้ในเหรียญกระสาปน์

ประเทศบราซิล

เมืองซึ่งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้เมืองหนึ่งที่พอจะยกขึ้นเปนตัวอย่างแทนประเทศอื่นบางแห่งในทวีปนั้นได้บ้าง ก็คือประเทศบราซิล ในประเทศนี้ใช้วิธีเงินตราแปลกกว่าประเทศต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้งสิ้น เงินตราของประเทศบราซิลมีชื่อว่า มิลไร (Milreis) ซึ่งรัฐบาลสมมุติให้มีราคาทองคำเท่ากับ ๒ ชิลลิง ๓ เพนซ์อังกฤษ ในชั้นต้นก็ได้พิมพ์เหรียญทองขึ้นใช้บ้าง แต่เหรียญทองเหล่านั้นไหลออกไปเสียนอกประเทศสิ้นเชิง ตั้งแต่เมื่อคฤศตศักราช ๑๘๒๔ แล้วยังเหลืออยู่แต่ธนบัตรซึ่งจะเรียกเอาทองกลับคืนไม่ได้ ประเทศนี้ต้องยากจนลงเพราะการสงครามแลการจลาจลในบ้านเมืองเกิดมีอยู่เนือง ๆ ความเชื่อถือของคนน้อยไป ราคาเงินมิลไรส์ที่กำหนดไว้แต่เดิมว่าเท่ากับ ๒๗ เพนซ์อังกฤษนั้น มาตอนปลายนี้ตกต่ำลงไปถึงระหว่าง ๑๐ เพนซ์กับ ๑๔ เพนซ์ เมื่อคฤศตศักราช ๑๘๙๒ ประมาณกันว่ามีธนบัตรที่แลกทองเงินไม่ได้นั้นใช้หมุนเวียนอยู่ในบ้านเมืองเปนราคา ๕๑ ล้าน ๓ แสน ๗ หมื่นปอนด์ (๕๑,๓๗๐,๐๐๐) ซึ่งเปนจำนวนมากเกินส่วนสำมะโนครัว แลเกินส่วนความต้องการของการค้าขายนัก จึงเปนเหตุที่ได้กระทำให้ราคาตกต่ำไป ธนบัตรเหล่านี้สมมุติกันขึ้นใช้แทนเงินเฉย ๆ โดยที่ไม่มีทุนเปนทองหรือเปนเงินสำรองไว้เปนที่ตั้งของวิธีใช้เงินตราเมืองนั้นเลย แต่เมื่อคนยังมีความเชื่อถืออยู่ในการปกครองของรัฐบาลบ้างแล้ว กระดาดธนบัตรนั้นก็ยังใช้แลกทองต่างประเทศได้โดยราคายั่งยืนอยู่บ้าง

เมื่อได้เก็บความเรื่องวิธีใช้เงินตราของนา ๆ ประเทศที่มีต่างกันไป ตามลักษณการที่เปนอยู่ในบ้านเมืองต่าง ๆ กันนั้น มาเปรียบกันกับวิธีใช้เงินตราของกรุงสยามในสมัยนี้ ก็ไม่ผิดเพี้ยนไปจนถึงจะกระทำให้มีความสงสัยเกิดขึ้นได้ว่า ความแน่นอนในวิธีใช้เงินตราสยามจะไม่ยั่งยืนอยู่ได้

ประเทศต่าง ๆ ที่ได้อาศรัยธาตุทองอย่างเดียวเปนที่ตั้ง โดยที่มีหลักถานอันมั่นคงว่า เหรียญกระสาปน์ทองที่มีอยู่นั้นยุบหลอมหรือจะแลกเปลี่ยนกับเนื้อทองก็คงได้เท่าราคากันจริง แลธนบัตรที่ได้ทำขึ้นโดยอาศรัยจำนวนทองที่มีสำรองไว้คอยแลกธนบัตรได้เต็มจำนวน เช่นวิธีใช้เงินตราในประเทศอังกฤษเปนต้นนั้น มีน้อยกว่าบรรดาประเทศที่แม้แต่ใช้มาตราทองแล้วก็ยังมีเงินปะปนอยู่เปนส่วนมาก เช่นประเทศอเมริกา (United States) ประเทศฝรั่งเศษ (France) ประเทศเยอรมันนี (Germany) เปนต้น

ยังมีประเทศที่ใช้ธาตุเงินเปนพื้นอยู่ในบ้านเมือง แต่สมมุติว่าเปนมาตราทอง โดยไม่มีเหรียญทองใช้เลยหรือมีบ้างแต่น้อย เช่นประเทศกันนาดา (Canada) ประเทศอิตาลี (Italy) แลประเทศออสเตรีย (Austria) เปนต้น ยังมีประเทศละเปน (Spain) ปอตุกัล (Portugal) รัสเซีย (Russia) เตอรกี (Turkey) แลอื่น ๆ ซึ่งยังไม่ได้กล่าวนั้นอิกหลายประเทศ ที่ใช้เงินแทนทองทำนองเดียวกัน จนที่สุดแม้แต่จะไม่มีทองหรือเงินทุนสำรองไว้เปนที่ตั้งของวิธีใช้เงินตรา มีแต่ธนบัตรซึ่งเปนการใช้กระดาดแทนเงินทองแท้ เช่นเมืองบราซิลนั้น ก็ยังอุส่าห์รักษาค่าแลกเงินในเมืองกับเมืองต่างประเทศให้ยั่งยืนอยู่ได้ชั่วครั้งคราว ในขณะเมื่อการบ้านเมืองเรียบร้อยปรกติอยู่โดยปราศจากการสงคราม หรือปราศจากความเสียหายต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นเพราะการใช้เชื่อหนี้ในการค้าขายมากเกินส่วนไปเปนต้น

เมื่อเปรียบกันดูกับวิธีใช้เงินตราสยามเมื่อเปลี่ยนเปนมาตราทองแล้ว หลักถานที่มั่นของเราก็ยังดีอยู่มาก ในชั้นต้นในขณะนี้รัฐบาลสยามมีทองเก็บสำรองไว้ในเมืองต่างประเทศอยู่มาก ถึงในบ้านเมืองที่สมมุติว่าใช้มาตราทอง แต่ว่าไม่มีเหรียญกระสาปน์ทองใช้ มีแต่เหรียญบาทเงินเปนพื้น กับธนบัตรที่จะแลกคืนได้แต่เงินนั้นก็จริง หากว่ารัฐบาลเตรียมพร้อมอยู่เสมอที่จะให้ชาวต่างประเทศเอาเงินบาทแลธนบัตรแลทองออกไปนอกประเทศได้โดยสดวกแล้ว ก็เปนอันเชื่อได้ว่าค่าแลกเงินตราสยามกับเงินต่างประเทศคงจะยั่งยืนอยู่ได้ตามราคาทอง ซึ่งรัฐบาลให้สมมุติว่ามีในเหรียญบาททองนั้นเสมอไป

เมื่อรัฐบาลสยามยังใช้มาตราเงินล้วนอยู่ ผู้ใดจะนำธาตุเงินไปส่งกระทรวงพระคลังมหาสมบัติให้พิมพ์เปนเงินบาทเท่าใดก็ได้ มาภายหลังราคาธาตุเงินในตลาดตกต่ำหนักลง รัฐบาลต้องพิมพ์เงินบาทออกจำหน่ายใช้หมุนเวียนช่วยในการค้าขายอย่างขยันขันแข็งจนแทบจะพิมพ์เงินบาทออกไม่ทัน เพราะเหตุที่ราคาธาตุเงินตกต่ำนั้นเอง เมื่อมีเงินตราออกจำหน่ายใช้หมุนเวียนมากขึ้น ราคาเงินบาทก็ยิ่งต่ำหนักลง กระทำให้ราคาสินค้าในเมืองแพงขึ้นกว่าปรกติโดยรวตเร็วดังเช่นที่เปนมาแล้ว รัฐบาลเห็นว่าเงินบาทมีมากเกินไป จึงได้หยุดการพิมพ์เงินบาทตั้งแต่ ร.ศ. ๑๒๖ มาจนถึงทุกวันนี้ (ร.ศ. ๑๓๒) หยุดการโรงกระสาปน์แล้วจึงได้เปลี่ยนมาตราเงินเปนมาตราทอง ยกราคาเงินบาทให้สูงขึ้นตามสมควรกับกำลังของรัฐบาลที่มีอยู่ในจำนวนทองซึ่งเก็บไว้เปนทุนสำรองนั้นได้ เมื่อรัฐบาลคอยระวังที่จะไม่ทำเหรียญกระสาปน์เงินลทำธนบัตรออกจำหน่ายให้มากเกินส่วนไปกว่าความต้องการใช้หมุนเวียนในบ้านเมืองแท้แล้ว เราก็พึงมีความไว้วางใจได้แน่นอนว่า วิธีใช้เงินตราทำนองนี้คงจะยั่งยืนถาวรอยู่ได้โดยที่ได้เห็นเยี่ยงอย่างในพงษาวดารแลจดหมายเหตุเรื่องเงินของนา ๆ ประเทศมาแล้ว

ในบรรดาเงินซึ่งเปนที่ต้องการใช้หมุนเวียนอยู่ในการซื้อขายแลกทรัพย์นั้น ได้กล่าวลักษณะเงินตราที่เปนเหรียญกระสาปน์ทองเงินมาในหมวดนี้แลหมวดก่อนพอเปนทางที่จะให้พิจารณาในเรื่องเงินตราได้บ้างแล้ว แต่ยังมีเรื่องที่จะต้องชี้แจงถึงเงินกระดาดต่าง ๆ มีธนบัตรใบสั่งจ่าย ตั๋วเงินกับสัญญาทั้งปวง ที่ใช้แทนเงินหมุนเวียนอยู่ด้วยในการค้าขาย แลที่เปนส่วนมีจำนวนมากกว่าการใช้เงินตราหลายเท่านั้น แต่โดยเหตุที่เงินหมุนเวียนเช่นที่กล่าวนี้เกิดขึ้นเพราะความเชื่อซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่าเครดิต (Credit) แลหนี้ (Debt) เปนต้นเหตุนั้น ในหมวดหน้าจำจะต้องชี้แจงลักษณะการเชื่อหนี้เสียก่อน แล้วจึงจะชี้แจงถึงเรื่องเงินกระดาดทั้งหลายที่กล่าวนั้นเข้าเปนเรื่องเกี่ยวกันต่อไป

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ