หมวด ๑๔ การป้องกัน (Protection)

การปันหน้าที่กันทำงาน ในระหว่างพลเมืองชาติเดียวกัน และในระหว่างพลเมืองต่างชาติต่างประเทศ ซึ่งจะให้เกิดเปนผลประโยชน์ได้อย่างมากที่สุด จำจะต้องอาศรัยการค้าขายสำหรับที่จะนำสินค้าซึ่งเปนผลของแรงทำการโดยแบ่งหน้าที่กันทำนั้น ไปแลกเปลี่ยนซึ่งกันแลกันในทำเลที่ต่าง ๆ ซึ่งจะมีผู้ต้องการแลกหรือสินค้านั้นไปใช้ การค้าขายดำเนินไปได้โดยสดวกเท่าใด แลยิ่งกว้างขวางห่างไกลออกไปได้เท่าใด ทั้งการค้าขายเปิดหนทางให้ผู้ทำสินค้าประมูลแข่งแย่งกันขายลดราคาให้ถูกลงในระหว่างพลเมืองชาติเดียวกัน และในระหว่างพลเมืองผู้ทำสินค้าที่ต่างชาติต่างประเทศกันได้โดยสดวกเท่าใด ลงปลายผู้ที่ต้องการใช้สินค้านั้นคงได้ประโยชน์มาก โดยที่ราคาสินค้าจะถูกลงเพราะการประมูลแข่งแย่งกันในระหว่างผู้ทำเสมอ

ถ้าปล่อยให้การค้าขายดำเนินไปได้โดยลำพังตัว ปล่อยให้พลเมืองซึ่งเปนผู้ทำสินค้าประกวดประขันประชันกันได้โดยสดวก และปล่อยให้ผู้ซึ่งจะต้องการใช้สรอยสินค้านั้น เลือกซื้อเอาแต่ของที่ราคาถูกได้ตามชอบใจแล้ว การที่ปล่อยให้ผู้ทำของขายปล่อยให้พ่อค้าและปล่อยให้ผู้ใช้สรอยของทำได้ตามชอบใจเช่นนี้ จะเรียกได้ว่าเปนการค้าขายโดยสดวกแท้ (Free Trade) ถ้าการทำนองนี้เปนไปได้โดยสดวก ในระหว่างพลเมืองเดียวชาติเดียว แลอยู่ในการปกครองของรัฐบาลเดียวกันใช้กฎหมายอย่างเดียวกันแล้ว ความเจริญของชาติเดียวนั้นจะมีแต่ดียิ่งขึ้นเสมอไปเปนแน่ การประกวดประขันประชันกันทำสินค้าขายสดวกเท่าใด ผู้ที่ทำสินค้านั้นจะมีความรู้ความชำนาญและมีฝีมือช่ำชองว่องไวขึ้นทุกที ถ้าในการทำสินค้าประชันกันนี้ ผู้ใดอ่อนเพลียลงทำสู้เพื่อนไม่ได้ ก็เปนอันว่าควรจะไปหาการอย่างอื่นที่ทำได้ถนัดกว่านั้นทำต่อไป การเคราะห์ร้ายเช่นนี้เปนอยู่ในบ้านเมืองเสมอ แต่หากว่าเปนแต่น้อยคนบางครั้งบางคราวที่ตำบลโน้นบ้างนี้บ้าง แห่งละคนแห่งละหมู่ไม่ได้เปนพร้อมกันทั่วไป บ้านเมืองก็ไม่รู้สึกความเสียหายอย่างใด

แต่เมื่อการค้าขายเช่นนี้จะแผ่ไพศาลออกไปพ้นเขตร์แดนพ้นความปกครองป้องกันของรัฐบาลเดียวกันชาติเดียวกัน เปนการค้าขายระหว่างประเทศที่ต่างก็มีอิสรภาพด้วยกัน ประเทศหนึ่งก็มุ่งหมายแต่จะบำรุงพลเมืองของเขาเปนใหญ่ยิ่งกว่าพลเมืองประเทศอื่นเปนธรรมดานั้น ผลประโยชน์ของประเทศหนึ่งคงจะต่างกันขัดกัน หรือเปนการต่อสู้กันในระหว่างพลเมืองที่ต่างชาติต่างประเทศกันอยู่บ้างเปนแน่ การประมูลแข่งแย่งกันในการทำผลประโยชน์เลี้ยงชีพ คงเปนเหตุที่จะก่อความคิดเห็นการได้เปรียบเสียเปรียบแก่กันเปนความลำเอียงเข้าข้างชาติของตัว ที่ไม่อยากจะให้เสียเปรียบแก่ชาติอื่น หรืออยากจะให้ได้เปรียบแก่ชาติอื่นอยู่เปนธรรมดาของโลกทั่วไป เพราะเช่นนี้การสงครามในระหว่างนา ๆ ประเทศจึงได้มีขึ้นเปนครั้งคราว ตั้งแต่ชั้นประถมบรมโบราณมาจนถึงท้าวทุกวันนี้ ต่อสู้กันโดยทางการใช้กำลังทหารแลอาวุธแล้ว ยังต่อสู้กันในทางการแก่งแย่งทำผลประโยชน์ในการกสิกรรม หัดถกรรม และพานิชกรรม เปนนิจนิรันดรอยู่อีก รัฐบาลต้องจัดการป้องกันเขตร์แดน และป้องกันผลประโยชน์ของพลเมืองในการทำมาหากินด้วยกันทั้งสองอย่าง ถ้ามิฉนั้นก็จะตั้งตัวเปนอิสรภาพอยู่ไม่ได้

ในการป้องกันทางค้าขายนั้น ความคิดก็จะมีอยู่ว่าจะทำประการใดจึงจะป้องกันการกสิกรรม, หัดถกรรม, และพานิชกรรมของพลเมืองไม่ให้เสื่อมทรามลง เพราะการประมูลแก่งแย่งของนา ๆ ประเทศได้ชั้นหนึ่งแล้ว ยังจะต้องคิดต่อไปอิกชั้นหนึ่งว่า จะช่วยบำรุงอุดหนุนอย่างใด อำนาจแลกำลังของพลเมืองที่จะทำผลประโยชน์ขึ้นได้นั้น จะแขงแรงพอที่จะต่อสู้อำนาจเช่นเดียวกันของนา ๆ ประเทศได้

ถ้าปล่อยให้พลเมืองทำการค้าขายกับนา ๆ ประเทศได้ตามชอบใจโดยสดวก ราคาสินค้าที่ทำอยู่ในเมืองตกต่ำลง จนผู้ทำไม่มีกำไรสู้เขาไม่ได้ต้องละทิ้งการหากินอย่างนั้นเสีย บ้านเมืองจะต้องขัดสนยากจนลงเพียงที่ประโยชน์อย่างนั้นจะขาดไปแต่บุคคลผู้ที่ซื้อสินค้าอย่างนั้นใช้นั้น แน่แล้วจะต้องยินดีเพราะซื้อได้ราคาถูก ผู้ทำจะขาดทุนเสียหายลงเท่าใดก็ไม่จำเปนจะต้องคิดไปถึง แลพ่อค้าสิ่งของต่างประเทศนั้นก็เหมือนกัน เมื่อค้าขายมีกำไรอยู่แล้ว ผู้ทำหรือผู้ซื้อจะได้เปรียบเสียเปรียบกัน จนฉิบหายล้มละลายดงอย่างใดก็ไม่พลอยเสียหายด้วย ขอแต่ให้ได้ซื้อถูกขายแพงอยู่ได้ก็แล้วกัน ค้าขายไม่มีกำไรเมื่อใด จะถอนทุนเลิกการค้าขายไปอยู่เสียที่อื่นก็ได้

ที่แท้จริงผู้ที่เปนพลเมืองเดียวชาติเดียวกันนั้น แม้แต่ว่าต่างคนต่างก็จะปันหน้าที่กันทำงานคนละสัดละส่วนต่างกันก็ดี แต่โดยที่ต้องพึ่งพาอาศรัยแรงทำการที่ต่างกัน เปนการพาดพิงต่อเนื่องกันจึงมีความเจริญได้นั้น ถ้าการแพนกใดทรวดโทรมลงอย่างหนึ่งแล้ว ความทรวดโทรมนั้นก็จะพลอยกระทบกระเทือนไปถึงตัวได้ไม่มากก็น้อยทุกครั้งไป

เพื่อป้องกันไม่ให้การทำสินค้าในบ้านเมืองเสื่อมทรามลงเปนความเสียหาย เพราะชาวต่างประเทศส่งเข้ามาขายลดราคาลงก็ดี เพื่อถนอมการทำสินค้าซึ่งยังไม่เจริญดีนั้น ให้มีเวลาเจริญดียิ่งขึ้นได้อีกก็ดี รัฐบาลจำเปนต้องตั้งพิกัดเก็บภาษีสินค้าที่เข้ามาในเมืองนั้น ให้แรงพอกับที่จะไม่ให้ชาวต่างประเทศขายสินค้าต่ำราคาลงกว่าสินค้าเช่นเดียวกันที่ทำอยู่ในเมืองนั้นได้ หรือเมื่อเห็นว่าชาวเมืองจะทำสินค้าอย่างใดส่งออกไปขายนอกประเทศ เปนการที่สามารถจะแข่งสู้เขาได้ แต่ในชั้นต้นชาวเมืองยังไม่มีความชำนาญพอหรือยังตั้งตัวไม่ได้มั่นคงพอ รัฐบาลก็ต้องช่วยส่งเสริมอุดหนุนให้ผู้ทำสินค้าอย่างนั้นกล้าแข็งขึ้น โดยที่จะเอาเงินแผ่นดินออกให้เปนบำเหน็จเพิ่มเติมให้ผู้ที่มีกำไรในจำนวนสินค้าที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ พอสมควรที่จะชักชวนให้มีน้ำใจขึ้นบ้าง

การที่รัฐบาลทำเช่นนี้ เปนการทำให้ราคาสินค้าที่ป้องกันนั้นแพงขึ้น พลเมืองผู้ที่ซื้อสินค้าใช้ต้องเปลืองเงินมากขึ้นเท่าใด ก็เท่ากับว่ารัฐบาลลำเอียงเอาเงินของผู้ซื้อของที่แพงขึ้นนั้น ไปให้แก่ผู้ทำเปนการสงเคราะห์กันฝ่ายเดียว แต่การที่รัฐบาลจัดแจงให้ราคาสินค้าแพงขึ้นโดยวิธีป้องกันนี้ กระทำให้สินค้านั้นน้อยลง เพราะชาวต่างประเทศจะส่งน้อยไปหรือไม่ส่งเลย ถ้าจำนวนสินค้าไม่พอใช้ ชาวเมืองจะต้องทำเพิ่มเติมขึ้นเอง ถ้ามีกำไรดีต่างก็จะประมูลแข่งขันประชันกันเองมีความชำนาญช่ำชองขึ้น และจะลดราคากันเองจนกว่าราคาจะต่ำลง พอกับที่จะส่งออกไปขายแข่งราคากับเขาในนา ๆ ประเทศได้

ทำเช่นนี้เปนการเปลืองทรัพย์มากปวยการแรงทุนแลเวลามากก็จริง แต่ถ้าไม่ลงทุนบำรุงแลถนอมการอย่างนั้นไว้บ้าง พลเมืองก็ไม่มีทางที่จะสู้ชาวต่างประเทศได้เสียเลย

ต้องอาศรัยชาวต่างประเทศมากขึ้นเท่าใด ความอิสระของบ้านเมืองก็จะเสื่อมทรามลงเท่านั้น จะเสื่อมทรามลงจนที่สุดพลเมืองจะต้องตกอยู่ในใต้อำนาจชาวต่างประเทศได้ ประโยชน์ที่เห็นแต่จะได้ทางซื้อของราคาถูกง่าย ๆ นั้น ลงปลายจะเปนการทำลายตัวเองไป

เมื่อได้ตรวจดูจดหมายเหตุและพงษาวดารของต่างประเทศที่มีอำนาจใหญ่ต่าง ๆ แต่ต้นเดิมมา ก็จะเห็นได้ว่าความเจริญของเขา ในชั้นต้นเกิดจากการกสิกรรมก่อน พลเมืองทำการกสิกรรมประกอบความชำนาญ ความรู้วิชาจนมีความคิดทำการปลูกเพาะได้ผลบริบูรณ์ดีแล้ว การหัดถกรรมทำของบริโภคนุ่งห่มใช้สรอยก็เกิดมีมากอย่างต่างชนิดขึ้นทุกที ผลของการหัดถกรรมในชั้นต้น ได้แลกเปลี่ยนกันกับผลเพาะปลูกในระหว่างคนพวกเดี่ยวชาติเดียวกันก่อน ครั้นพลเมืองมีความขยันขันแข็งแลค่อยประหยัดทรัพย์เปนทุนได้มากขึ้น ทำการเพาะปลูกและทำสิ่งของใช้สรอยได้มากมายจนเหลือใช้ในบ้านเมืองแล้ว การค้าขายต่างประเทศก็ค่อยเกิดขึ้นต่อไป พ่อค้าขนเอาผลของแรงทำการเพาะปลูกแลหัดถกรรมที่มีเหลือใช้นั้น ไปเที่ยวขายส่งตามประเทศต่าง ๆ ที่จะต้องการใช้ แล้วก็ซื้อของซึ่งพลเมืองของตัวจะต้องการใช้กลับไปขายให้ต่อไป สินค้าที่ซื้อแล้วนำเข้ามาขายในเมืองนั้นจะเปนของชนิดที่ชาวเมืองทำเองไม่ได้จึงไม่มีใช้ก็ดี หรือเปนของชนิดที่ชาวเมืองทำได้เองแต่ทำสู้ของต่างประเทศไม่ได้ เพราะฝีมือทำเลวกว่า หรือทำได้เหมือนกันแต่ราคาแพงกว่าก็ดี สักแต่ว่าพ่อค้าเห็นว่าขายมีกำไรแล้ว ก็จะนำสินค้านั้นเข้ามาขายเสมอไป ข้างฝ่ายผู้ซื้อใช้เมื่อเห็นได้เปรียบเพราะซื้อได้ราคาถูกกว่าของที่ทำในบ้านเมือง ก็ต้องชอบซื้อของต่างประเทศอยู่เอง ชาวเมืองที่ทำสินค้าเช่นนั้น จำเปนจะต้องขยันขันแขงทำสินค้าของตัวให้ดีขึ้นเสมอกันกับสินค้าต่างประเทศ หรือให้ดียิ่งกว่าทั้งราคาก็ต้องขายให้ถูกลงเสมอกันหรือถูกกว่าด้วย มิฉนั้นชาวเมืองก็จะไม่ซื้อ ในชั้นต้นผู้ทำสินค้าในเมืองทำแข่งขันประชันกันอยู่ในพวกเดียวชาติเดียวกันแล้ว ในชั้นหลังนี้จะต้องแข่งขันประชันกันขึ้นกับสินค้าที่ชาวต่างประเทศทำส่งเข้ามาขายนั้นอีก สินค้าชนิดใดที่ทำสู้เขาไม่ได้ก็ต้องเสื่อมทรามลง ผู้ทำต้องขาดทุนมากและน้อยสุดแล้วแต่ว่าทุนที่ได้ลงไปนั้น จะได้ก่อรากสร้างโรงงานสร้างเครื่องมือซื้อที่ดินไว้มากน้อยเพียงใด แลส่วนคนทำงานที่อาศรัยเลี้ยงชีพอยู่ในการชนิดนั้น จะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด

ถ้าการที่ชาวต่างประเทศรุกรานเข้ามาแข่งแย่งนี้ สามารถจะทำให้เปนการเสียหายเสื่อมทรามลงในบ้านเมืองได้มากในภายน่า เพราะชาวเมืองจะสู้เขาไม่ได้แน่แล้ว ต่อนี้ไปรัฐบาลก็จำเปนต้องเข้าแทรกมือช่วยจัดการบ้องกันอยู่เอง จะป้องกันด้วยอุบายเก็บภาษีสินค้าเข้าเมืองชนิดนั้นจนสินค้าต่างประเทศจะเข้ามาขายแข่งราคาไม่ได้ หรือด้วยอุบายทำหนังสือสัญญาแลกเปลี่ยนคุณประโยชน์ซึ่งกันแลกัน กับประเทศที่เข้ามาแข่งขันประชันอยู่อย่างใดก็ดี สักแต่ว่าจะช่วยชาติของตัวได้เพียงใดก็ต้องช่วยจนสุดกำลัง แม้แต่ถึงกับต้องพาลหาเหตุอื่นทำสงครามกัน เพราะเหตุนั้นเปนใหญ่ก็มี ความข้อนี้ไม่ต้องอ้างไปถึงพงษาวดารแต่ป่างก่อนเลย ที่ชาติเยอร์มันนีชาติออสเตรียทำสงครามกันอยู่กับชาติอังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัชเซีย, ยี่ปุ่น และอิตาลีทุกวันนี้ ก็เกิดจากมูลเหตุเดิม ที่อิจฉาฤษยากันในการแข่งแย่งกันค้าขายจนเกลียดชังกันหนักขึ้นทุกชั้นไป ชาติเยอร์มันแข่งแย่งชาติอังกฤษฝรั่งเศสในการหัดถกรรม, พานิชกรรม, แลการเดินเรือหนักขึ้นเสมอมาเพียงใด ดูแต่การค้าขายในประเทศเราแห่งเดี๋ยวก็จะเห็นปรากฎได้แล้ว

การกสิกรรมและหัดถกรรมต้องอาศรัยการพานิชกรรมภายในเมืองและนอกประเทศเปนใหญ่แล้ว การพานิชกรรมยังต้องอาศรัยการเดินเรือต่อไปอีก ความเจริญของบ้านเมืองพึงจะดีขึ้นเปนลำดับไปดังที่กล่าวมา ในชั้นต้นเมื่อพลเมืองยังเปนป่าเถื่อนโง่เขลาทำได้แต่การปศุสัตว์การเพาะปลูกอย่างเดียวนั้น ถ้ามีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันกับนา ๆ ประเทศเปนการสดวกได้ดีเท่าใด พลเมืองได้เปิดหูเปิดตาเห็นของต่าง ๆ นา ๆ ที่ชาวต่างประเทศทำเข้ามาขาย ได้ทำการคบค้าสมาคมกับชาวต่างประเทศ ได้เรียนวิชาความรู้ความชำนาญของเขามากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งมีความฉลาดขึ้นเสมอไป ในชั้นต้นการค้าขายโดยสดวก (Free Trade) จะเปนคุณแก่บ้านเมืองมาก ครั้นต่อไปชาวเมืองมีปัญญากล้าแข็งขึ้น จะทำการกสิกรรม, หัดถกรรม, และพานิชกรรมสู้กับเขาบ้าง มิฉนั้นก็จะเอาตัวไม่รอด เพราะจะต้องพึ่งพาอาศรัยเขามากเกินไป ทีนี้รัฐบาลจะต้องเข้าป้องกันช่วยบำรุงส่งเสริมจนเต็มกำลัง จนกว่าชาวเมืองจะตั้งการทำมาหากินแข่งขันประชันกับเขาได้จนเสมอกัน จึงจะปล่อยให้ทำการค้าขายกันกับนา ๆ ประเทศได้โดยสดวกอย่างเดิม

ในการค้าขายแลกเปลี่ยนผลของแรงทำการซึ่งกันแลกันนั้น แน่แล้วในชั้นต้นการค้าขายภายในประเทศสำคัญมากกว่าพลเมืองได้พึ่งพาอาศรัยแรงทำงานซึ่งกันแลกัน เปนการเลี้ยงตัวพึ่งตัวเองได้ดีพร้อม มีความเจริญทั่วหน้ากันในการกสิกรรมและหัดถกรรม ต่างฝ่ายต่างสร้างสินค้าขึ้นแลกเปลี่ยนกัน จนเกินส่วนต้องการใช้เหลือเพื่อแล้ว จึงจะนำเข้าสินค้าที่เหลือใช้ในเมือง ซึ่งเปนแต่ส่วนน้อยในผลของแรงทำการนั้น ส่งออกไปขายแลกเปลี่ยนเอาสินค้าต่างประเทศเข้ามาใช้บ้าง การที่ส่งสินค้าออกไปขายนอกประเทศต้องเติมค่าแรงขนแลค่าระวางเรือหรือรถไฟลงในราคาสินค้าอีกชั้นหนึ่ง ราคาสินค้านั้นยิ่งแพงขึ้น เพราะฉนั้นประเทศที่ต้องอาศรัยใช้สินค้าต่างประเทศ ซึ่งเปนผลของการหัดถกรรมเปนใหญ่ จึงแพ้เปรียบแก่ประเทศที่ทำการหัดถกรรมได้เอง แลประเทศนี้ยังจะแพ้เปรียบประเทศอื่นในการค้าขายต่อไปอีกชั้นหนึ่ง ถ้าทำการเดินเรือเองไม่ได้หรือไม่มีเรือใช้พอ ก็จะต้องอาศรัยเรือของประเทศอื่นซึ่งมีการหัดถกรรมแลกสิกรรมเจริญอยู่พร้อมแล้ว

ประเทศอังกฤษ

ประเทศอังกฤษในสมัยนี้มั่งมีบริบูรณ์เจริญดียิ่งใหญ่กว่าประเทศอื่นในโลก ดีพร้อมทั้งการหัดถกรรม, พานิชกรรม และการเดินเรือซึ่งไม่มีชาติใดจะเสมอ เพราะฉนั้นประเทศอังกฤษจึงเปิดให้การค้าขายดำเนินไปโดยสดวก ไม่ตั้งพิกัดอัตราเก็บภาษีสินค้าเข้าเมืองเปนการป้องกัน เพราะไม่เกรงการประมูลแข่งขันของชาติที่จะส่งสินค้าเข้าไปขายลดราคาในเมืองได้มากนัก เก็บภาษีแต่ในสินค้าบางอย่างซึ่งเห็นว่าจะเปนของบริโภคและใช้สรอย เปนการเผอเรอที่ไม่จำเปนต้องบริโภคหรือใช้สรอยให้เปลืองทุนไปเปล่า ๆ เช่น ใบชา สุรา ยาสูบ เปนต้น

แต่เมื่อได้ตรวจดูพงษาวดารของประเทศอังกฤษแต่ต้นมาแล้วก็จะเห็นได้ทันทีว่า เพราะเหตุที่รัฐบาลแต่ก่อนได้ป้องกันบำรุงการหัดถกรรมและส่งเสริมการเดินเรือมาได้สัก ๖๐๐ ปีมาก่อนแล้ว การหัดถกรรมและพานิชกรรมกับการเดินเรือของอังกฤษจึงได้เจริญใหญ่โตขึ้นถึงเพียงนี้ได้

ชาติอังกฤษแต่โบราณ เมื่อทำการเพาะปลูกยังไม่เจริญ พลเมืองได้อาศรัยกินเนื้อสุกรเปนกันมากกว่าเนื้อสัตว์อย่างอื่น เพราะเหตุว่าสุกรนั้นเลี้ยงตัวเองได้ โดยที่เที่ยวหาอาหารตามทุ่งและชายป่าได้พอ แล้วก็เปนสัตว์ที่เกิดทวีคูณได้รวดเร็วด้วย ครั้นต่อไปการกสิกรรมค่อยเจริญขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศที่ใกล้เคียงค่อยมีมากขึ้น การเลี้ยงสุกรก็เสื่อมลง มีการเลี้ยงแกะเลี้ยงโคและม้ามาก ดังที่จะเห็นได้ในจดหมายเหตุของต. ฮูม (Hume) ว่าในคฤศศักราช ๑๓๒๗ ปีนั้นท่านลอร์ดสเปนเซอร์ผู้มีบรรดาศักดิ์คนหนึ่งในสมัยนั้น มีที่ดินอยู่ ๖๓ ตำบลเลี้ยงสัตว์ไว้เปนจำนวนดังนี้คือ :-

แกะ ๒๘,๐๐๐ โค ๒,๒๐๐ ม้า ๕๖๐ สุกร ๒,๐๐๐ เมื่อคิดเฉลี่ยก็จะได้จำนวนสัตว์เปนส่วนดังต่อไปนี้คือ ในที่แห่งหนึ่งมีแกะ ๔๕๐ โค ๓๕ ม้า ๙ สุกร ๓๒ จำนวนแกะที่เปนส่วนมากกว่าอื่นนำความให้เห็นได้ว่า ในสมัยนั้นขนแกะสำหรับทอผ้าเปนสินค้าใหญ่สำคัญของชาติอังกฤษ

แต่ในสมัยนั้นการค้าขายต่างประเทศในกรุงอังกฤษตกอยู่ในมือชาวต่างประเทศทั้งสิ้น

ในสมัยนั้นการค้าขายทางเรือข้างตอนเหนือทวีปยุโรป อยู่ในมือพลเมืองพ่อค้าพวกหนึ่งคือพวกแฮนซีอาติกลี๊ค ซึ่งรวมทำสัญญาเข้าเปนพวกเดียวกัน รวมที่สุดเที่ยวตั้งอยู่ได้ถึง ๙๐ หัวเมือง เรียงรายกันอยู่ตามชายเทลมหาสมุทแอตแลนติก มหาสมุทเยอร์มัน และเทลบอลติก ตั้งทำเลที่ค้าขายรายทางไปในประเทศฮอแลนด์ อังกฤษ นอร์เว เยอรมัน รัสเซีย ตลอดเข้าไปในที่ดอนจนถึงประเทศโปแลนด์ ทั้งเมืองลูเบก (Lubeck) เปนที่ประชุมของพวกหัวหน้าผู้แทนตัวของพวกพ่อค้าตามเมืองต่าง ๆ และทำเลที่ค้าขายสำคัญอยู่ที่เมืองโนฟโกรอด (Novgorod) ในประเทศรัสเซีย ในเมืองบรูชส์ (Bruges) เมืองลอนดอน และในเมืองแบร์เคน (Bergen) ในประเทศนอร์เวเปนต้น พลเมืองพวกนี้ทำแต่การพานิชกรรมตั้งหน้าแต่จะขนสินค้าไปเที่ยวแลกเปลี่ยนกันตามประเทศต่าง ๆ เปนใหญ่ ไม่ได้ทำการกสิกรรมหรือหัดถกรรมเอง เพราะฉนั้นจึงต้องอยู่ไม่ได้ตลอดมาถึงทุกวันนี้ และมูลเหตุเดิมที่ได้รวบรวมกันเข้าเปนพวกเดียวกันนั้น ก็เพื่อจะป้องกันพวกสลัดที่คอยปล้นเรือค้าขายอยู่ตามเทลที่ได้กล่าวมานั้นเปนต้น

ที่ไปตั้งอยู่ในกรุงลอนดอนนั้น พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษริอ่านเกลี้ยกล่อมเอาเข้าไปจากประเทศเยอร์มัน ตั้งแต่เมื่อคฤศศักราช ๑๒๕๐ ปี พ่อค้าพวกนี้ขนสินค้าซึ่งเปนผลของการกสิกรรมเมืองอังกฤษ มีขนแกะเปนใหญ่ออกไปส่งที่ห้างของเขาในเมืองบูรชส์ (Bruges) แล้วแลกเอาผ้าสักหลาดซึ่งชาวเมืองเบลเยียมทอนั้นกลับเข้าไปขายชาติอังกฤษเปนต้น

ครั้นต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าแผ่นดินเอดเวิดที่ ๓ คฤศศักราช ๑๓๓๑ ทรงเห็นว่าชาติอังกฤษจะทอผ้าเสียเองดีกว่าจะส่งแต่ขนแกะออกไปให้ชาวต่างประเทศทอให้ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้จึงเกลี้ยกล่อมชักชวนพวกชาวเมืองเฟลมมิง (เบลเยี่ยม) เข้าไปตั้งการทอผ้าในเมืองอังกฤษบ้าง เพื่อจะสอนให้ราษฎรเรียนอย่างทำ ครั้นชาวเมืองเรียนการทอผ้าได้บ้างแล้ว อยู่มาไม่ช้านานสักเท่าใด ก็ห้ามไม่ให้พลเมืองใช้ผ้านุ่งห่มที่ทำเข้ามาจากเมืองต่างประเทศเปนอันขาด บังคับให้ใช้แต่ผ้าสักหลาดที่ทอในเมืองอังกฤษฝ่ายเดียว ความเจริญของชาติอังกฤษในการหัดถกรรมแลพานิชกรรมจะนับได้ว่าตั้งต้นมาแต่แผ่นดินกิงเอดเวิดที่ ๓ ตั้งแต่นี้ไปการทอผ้าขนแกะค่อยจะเจริญเปนลำดับมา จนถึงแผ่นดินกิงเอดเวิดที่ ๔ คฤศศักราช ๑๔๑๓ ปี ความฤษยาต่อพวกพ่อค้าต่างประเทศในเมืองอังกฤษแก่กล้าขึ้นจนถึงกับได้ห้ามผ้าต่างประเทศและสินค้าบางอย่างไม่ให้เข้าเมืองอังกฤษ การป้องกันและการบำรุงรักษาการหัดถกรรมของชาติอังกฤษ โดยทางตรงและทางอ้อม โดยทางการสงครามและทางทำหนังสือสัญญาการค้าขายกับต่างประเทศมีเรื่อยมา จนชาติอังกฤษแย่งการค้าขายต่างประเทศจากพวกแฮนซิอาติกลี๊ค ซึ่งเข้าไปตั้งปิดประตูค้าอยู่ในแผ่นดินอังกฤษเองนั้นได้เต็มมือ การทอผ้าด้วยขนแกะของชาติอังกฤษ ในชั้นต้นทำได้แต่ผ้าเนื้อหยาบแล้วส่งออกไปย้อมสีและแต่งให้ดีขึ้นในเมืองเบลเยียม ครั้นมาในแผ่นดินกิงเยมส์ที่ ๑ และกิงชาลส์ที่ ๑ (คฤศศักราช ๑๖๐๓ ถึง ๑๖๔๐) การป้องกันและการบำรุงสินค้านี้เข้มงวดขึ้นเสมอไป ลงปลายผ้าอย่างดีต่างประเทศเข้าไปในเมืองอังกฤษไม่ได้เลย กลับมีแต่ผ้าอย่างดีและที่ย้อมสีดีนั้นออกจากประเทศอังกฤษฝ่ายเดียว รวมสินค้าทั้งสิ้นที่ออกนอกประเทศในสมัยนั้น มีจำนวนผ้าสักหลาดอยู่เปนเศษส่วนถึงเก้าในสิบ

วิชาช่างทำการหัดถกรรมอย่างอื่นก็มิได้ขาดการบำรุง พระเจ้าแผ่นดินที่สืบวงษ์ต่อเนื่องมาอุส่าห์เกลี้ยกล่อมชักชวนช่างชาวต่างประเทศต่าง ๆ เข้าไปทำการให้ชาวเมืองเรียนทำตามเยี่ยงอย่าง การหัดถกรรมเจริญมากขึ้น การค้าขายทางเรือก็เจริญขึ้นตามกันเปนลำดับไป จนถึงแผ่นดินพระนางเจ้ากวินอิลิสซาเบต (Queen Elizabeth) การค้าขายของชาติอังกฤษแข่งแย่งพวกแฮนซิกาติกลิ๊กหนักขึ้น พวกนี้จึงเข้าไปขอพระบารมีพระเจ้าเอมปเรอร์เยอร์มันเปนที่พึ่ง พระเจ้าเอมปเรอร์ออกประกาศห้ามไม่ให้พ่อค้าอังกฤษเข้าไปค้าขายในประเทศเยอร์มันนี (ปี ๑๕๙๖) ต่อนั้นมาไม่ทันได้ถึงปี กวินอิลิสซาเบตก็ออกประกาศต่อสู้บ้าง เก็บริบเอาเรือกำปั่นค้าขายของพวกแฮนซิอาติกลี๊ค ซึ่งเดินอยู่ในทเลแถบนั้นเสียถึง ๖๐ ลำ รวมทั้งสินค้าที่บรรทุกอยู่ในเรือนั้นด้วย

ในสมัยเดียวกันนั้น การเดินเรือของประเทศฮอลแลนด์ (Holland) เจริญดียิ่งกว่าอังกฤษ ชาวฮอลแลนต์ทำการหาปลาในทะเลแถบเหนือเปนใหญ่อยู่พวกเดียว เดินเรือค้าขายตามหัวเมืองชายทะเลทั้งสองฝั่งแล้ว ยังค้าสินค้าที่ต้องห้ามตลอดลงไปถึงประเทศสเปนอีก คอยตีปล้นสดมเรือของชาติสเปนที่บรรทุกธาตุเงินทองและสินค้าจากประเทศอเมริกาอยู่เสมอ มีความเชี่ยวชาญในการสงครามทางเรือมากขึ้นทุกที กระทำให้ชาติอังกฤษมีความฤษยาคิดแข่งแย่งขึ้นบ้าง

ข้างฝ่ายประเทศอังกฤษเมื่อการหัดถกรรมค่อยเจริญขึ้น สำมโนครัวพลอยมากขึ้นตามกัน ต้องการอาหารมากขึ้น การหาปลาทำปลาเค็มเปนอาหารเปนที่ต้องการมากขึ้น ชาติอังกฤษก็ต้องมีเรือใช้มากขึ้นตามกัน การขุดถ่านหินก็ค่อยเจริญขึ้นด้วย แต่ก่อนชาติอังกฤษซื้อเรือกำปั่นจากชาวต่างประเทศที่ใกล้เคียง หรือไปเที่ยวสั่งให้ต่อเรือตามอ่าวท่าเรือต่าง ๆ ในทะเลบอลติก (Baltic Sea) มาชั้นนี้พระเจ้าแผ่นดินทรงส่งเสริมอุดหนุนมากขึ้น ก็ริอ่านต่อเรือใช้เองบ้าง ต้องไปขนไม้จากชายทะเลบอลติกมาทำเรือเสมอไป ชาติอังกฤษต้องส่งสินค้าที่ทำในเมืองออกไปแลกเปลี่ยนกับไม้ จนที่สุดแย่งเอาการค้าขายทางเรือจากชาติฮอลแลนด์และพวกแฮนซอาติกลี๊กมาไว้ในมือได้มากขึ้นทุกที ความฤษยาในระหว่างประเทศอังกฤษกับฮอลแลนด์ในการแข่งแย่งกันค้าขายมีหนักขึ้น จนถึงคฤศศักราช ๑๖๕๑ ปี รัฐบาลอังกฤษเห็นมีกำลังพอที่จะต่อสู้ชาติฮอลแลนด์ในทางเรือได้ จึงริอ่านทำกฎหมายสำหรับการเดินเรือของชาติอังกฤษขึ้นเรื่องหนึ่ง (Navigation Act, 1651) อนุญาตให้แต่เรือของชาติอังกฤษแลเฉภาะเรือของชาติต่างประเทศที่ทำสินค้านั้นบรรทุกสินค้าเข้าไปขายในเขตร์แดนอังกฤษได้ เรือของชาติอื่นนอกจากนี้ห้ามไม่ให้บรรทุกสินค้าเข้าเมืองได้เปนอันขาด รัฐบาลอังกฤษมีเจตนาที่จะตัดผลประโยชน์ของชาติฮอลแลนด์โดยเฉภาะ ผลของกฎหมายนี้จึงกระทำให้เกิดการสงครามขึ้นกับประเทศฮอลแลนด์ในไม่ทันจะครบรอบปี ได้ทำสงครามกันตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๖๕๒ ปี จนถึงเมษายน ๑๖๕๔ ปี จึงได้ทำหนังสือสัญญาสงบศึกกันได้ ชาติอังกฤษมีไชยชะนะทำลายกองทัพเรือของประเทศฮอลแลนด์ได้เปนอันมาก ต่อนั้นมาในคฤศศักราช ๑๖๖๕ ปี แลคฤศศักราช ๑๖๗๒ ปี ประเทศอังกฤษกับฮอลแลนด์ได้ทำสงครามทางเรือกันอีกสองครั้ง เพราะด้วยเหตุที่มีความฤษยาต่อกันในการค้าขายในระหว่างสองชาตินี้เปนต้น การสงครามทางเรือในสมัยนั้น มิใช่แต่จะรบกันแต่ในระหว่างกองทัพเรือของรัฐบาล พวกพ่อค้าพลเมืองต่างก็จัดแจงแต่งเรือค้าขายของเขาออกช่วยรบด้วย พวกนี้มีเจตนาที่จะเปนสลัดออกตีปล้นเรือของพวกข้าศึกโดยเฉภาะ ได้ความจากพงษาวดารของเดวิดฮูม (David Hume) ว่าในระหว่างเวลาที่สองชาติทำสงครามกันนี้ ชาติฮอลแลนด์เสียเรือแก่กองทัพเรืออังกฤษราวสัก ๑๖๐๐ ลำ และข้างฝ่ายการเดินเรือค้าขายของชาติฮอลแลนด์ในทะเลเหนือและทะเลบอลติกนั้น เรือไปรเวตของพ่อค้าอังกฤษทำลายเสียเกือบสิ้นเชิง ในที่สุดได้ความว่าใน ๒๘ ปี ตั้งแต่การที่รัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมายในการเดินเรือที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น การค้าขายทางเรือของชาติอังกฤษเจริญขึ้นอีกเท่าตัว กฎหมายการเดินเรือนี้มีผลคือ :

๑ เปิดการค้าขายของชาติอังกฤษแผ่ไพศาลออกไปทั่วถึงประเทศฝ่ายเหนือทั้งปวง การค้าขายเหล่านี้แต่ก่อนอยู่ในมือชาติฮอลแลนด์ทั้งสิ้น

๒ เปิดให้ทำการค้าขายลอบลักหนีภาษีเข้าออกกับประเทศสเปนแลปอร์ตุคัล ซึ่งมีผลประโยชน์เปนอันมากนั้นให้กว้างขวางเจริญขึ้นได้มาก

๓ ทำให้ชาติอังกฤษทำการหาปลาแฮริงและปลาวาฬเจริญขึ้น การหาปลาสองอย่างนี้เดิมชาติฮอลแลนด์ทำอยู่ชาติเดียว

๔ ชาติอังกฤษได้ตั้งโคโลนีที่สำคัญใหญ่ในชั้นต้นลงมั่นคงได้ที่เกาะเวสต์อินเดียร์ โดยชะนะสงครามในปี ๑๖๕๕ เปนการปิดประตูค้าน้ำตาลอ้อยในเกาะนั้นได้ฝ่ายเดียว

๕ อังกฤษทำหนังสือสัญญาชื่อเมทูเอนตรีตี (Methuen Treaty) กับประเทศปอร์ตุกัลได้สำเร็จ โดยฝีมือของราชทูตอังกฤษชื่อลอร์ดเมทูเอนในปี ๑๗๐๓ กันการค้าขายของชาติเยอร์มันและชาติฮอลแลนด์ ออกจากประเทศปอร์ตุกัลและเมืองขึ้นของประเทศนั้นได้สิ้นเชิงแล้ว สัญญาว่าชาติอังกฤษจะลดพิกัดภาษีสุราของประเทศปอร์ตุกัลที่ส่งเข้าไปในเมืองอังกฤษนั้น ให้น้อยลงกว่าพิกัดภาษีที่เก็บจากสุราของชาติอื่นเปนส่วนหนึ่งในสาม แต่ขอให้ปอร์ตุกัลยอมให้ชาติอังกฤษได้ส่งผ้าเข้าไปขายในเมืองปอร์ตุกัลได้ โดยที่จะยอมเสียภาษีให้ตามราคาของร้อยละ ๒๓

พอทำหนังสือสัญญาฉบับนี้แล้ว สินค้าซึ่งเปนผลหัดถกรรมของอังกฤษ ก็ไหลทุ่มเทเข้าไปขายแข่งราคากับสินค้าในเมืองปอร์ตุกัลได้สำเร็จตามปราถนา ทำลายล้างการหัดถกรรมของชาวเมืองลงได้สิ้นเชิง ชาติอังกฤษขนเอาเงินตราของประเทศปอร์ตุกัลออกจากเมืองไปได้สิ้นแล้ว ยังขนเอาทองคำซึ่งประเทศปอร์ตุกัลได้จากเมืองขึ้นของเขานั้นไปได้อีก การค้าขายในชั้นหลังก็มีแต่ส่งสินค้าซึ่งเปนผลของการหัดถกรรมชาติอังกฤษ เข้าไปแลกกับธาตุเงินทองของประเทศปอร์ตุกัลเปนใหญ่ ได้เงินทองนี้ไปแล้วชาติอังกฤษเอาไปแลกสินค้าในประเทศตวันออกทางเมืองอินเดียร์และเมืองจีน มีผ้าด้ายและแพรกับของป่าและผลเพาะปลูกต่าง ๆ ที่ในครั้งนั้นยังทำไม่ได้ในประเทศตวันตกเปนต้น สินค้าที่เปนผลหัดถกรรมของชาวตวันออกนั้น อังกฤษพาไปขายในประเทศยุโรปแลกเปลี่ยนเอาผลเพาะปลูกและสินค้าดิบต่าง ๆ ของประเทศเหล่านี้ กลับเข้าไปใช้ในประเทศอังกฤษ หรือเอาไปดัดแปลงแต่งสรร ทำเปนของฝีมือส่งออกไปขายนอกประเทศต่อไป ในทวีปเอเซียมีประเทศอินเดียร์ ประเทศจีน ซึ่งในสมัยนั้นมีฝีมือหัดถกรรมทำการช่างต่าง ๆ ดีกว่าชาวประเทศตวันตกในยุโรปแทบทุกอย่าง ที่สุดประเทศตวันออกมีความเจริญในการหัดถกรรม กสิกรรมมาแต่ครั้งโบราณเก่าก่อนมาก พวกฝรั่งเมื่อหาทางเดินเรือมาถึงได้ ก็ตั้งต้นเรียนเยี่ยงอย่างไปทำบ้าง ในชั้นต้นขนเอาธาตุเงินทองจากประเทศอเมริกา ซึ่งเปนของต้องการมากของชาวตวันออกมาแลกสินค้าไปก่อน เห็นมีผลบระโยชน์มากก็อุส่าห์เที่ยวหาที่พักอาศรัยอยู่ตามหัวเมืองชายทะเลต่าง ๆ ตามระยะทางเดินเรือของเขาก่อน ค่อย ๆ เขยิบแผ่อำนาจเบียดเบียนชาวตวันออก แผ่อาณาเขตร์กว้างขวางออกทุกชั้นไป เมื่อเห็นว่าพลเมืองชาติใดมีกำลังน้อยก็พาลหาเหตุก่อการสงคราม แย่งชิงเอาบ้านเมืองเปนที่พักที่มั่นไว้ ถ้าเห็นว่าชาติใดยังมีกำลังแขงแรงอยู่จะหักหาญเอาไม่ได้ทันที ก็คอยหาโอกาศที่จะคอยช่วยซ้ำเติมเอาเมื่อเวลาชาติตวันออกหมู่นั้นทำสงครามกันจนอ่อนเพลียลง ในที่สุดสักแต่เห็นว่าจะตั้งการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศใดในทำเลที่ไหนเหมาะ ก็ตั้งความเพียรเบียดเบียนเอาที่นั้นไว้ในอำนาจจนได้

ชาติฝรั่งทั้งหลายที่ตั้งตัวมีอำนาจใหญ่ในการค้าขายต่างประเทศ แผ่ไพศาลไปได้ก็เพราะเจริญในการเดินเรือก่อน มีเรือค้าขายมากก็ต้องสร้างเรือรบสำหรับป้องกันมากขึ้น ในชั้นต้นชาติปอร์ตุกัลหาทางเดินเรืออ้อมใต้ทวีปอาฟริกามาถึงทวีปเอเซียได้ก่อน แล้วชาติสเปนจะหาทางให้สั้นเข้าจึงไปพบทวีปอเมริกา ชาติยุโรปเลยเอาเยี่ยงอย่างกัน เที่ยวหาที่พักที่อาศรัยค้าขายจนทั่วโลกในระหว่างเวลานั้น ก็ทำสงครามแย่งชิงกันเองตลอดไป ชาติปอร์ตุกัล, ฮอลแลนด์, สเปน, อังกฤษ, ฝรั่งเศษ, ต่างก็ไปเที่ยวมีแผ่นดินปกครองอยู่ทั่วไปในสามทวีปจนทุกวันนี้

แต่เมื่อจะพูดถึงเรื่องการค้าขายของชาติอังกฤษแต่ต้นมาให้ตลอดไปแล้ว จะต้องกล่าวถึงการทอผ้าสำลีซึ่งเปนการใหญ่อยู่จนท้าวบัดนี้ต่อไปด้วย คนชาตินี้เมื่อได้มาตั้งเปนบริษัทค้าขายมั่นคงในประเทศอินเดียร์แล้ว ขนเอาผ้าด้ายและใหมของชาวประเทศตวันออกไปขายในทวีปยุโรปเปนสินค้าสำคัญใหญ่อย่างหนึ่งก็จริง แต่ชาติอังกฤษมีความฉลาดที่ไม่เอาผ้าด้ายและใหมเข้าไปขายในเมืองของตัวเอง อุส่าห์เรียนวิชาทอผ้าชนิดนี้จากชาติอินเดียร์จนทอได้เอง ขนเอาแต่ฝ้ายและไหมเข้าในเมือง จนถึงที่สุดมีความชำนาญพอที่จะกลับเอาผ้าด้ายนั้น ออกมาขายแข่งราคาล้างผลาญการทอผ้าของชาติอินเดียร์ให้เสื่อมทรามลงได้ ประเทศอินเดียร์แต่ก่อนเจริญในการหัดถกรรมอยู่บ้าง มาภายหลังการหัดถกรรมเสื่อมทรามลง ก็กลับกลายลงเปนแต่ทำการกสิกรรมเพาะปลูกฝ่ายเดียว ประเทศที่ทำการหัดถกรรมคงได้เปรียบและมีอำนาจใหญ่ยิ่งกว่าประเทศที่ทำแต่การกสิกรรมล้วนเปนแน่แท้ เพราะฉนั้นทุกวันนี้จึงเห็นปรากฎว่าบรรดาประเทศที่มีแต่การกสิกรรมเปนใหญ่นั้น มีความเจริญล้าหลังเพื่อนอยู่เพียงใด

ประเทศอังกฤษป้องกันการหัดถกรรมและการเดินเรืออย่างกวดขัน จนถึงได้ปิดประตูค้าบรรดาเมืองขึ้นของเขาในประเทศอเมริกาเหนือ เข้าไว้ในมือพ่อค้าและพวกทำการหัดถกรรมอังกฤษ จนชาวอเมริกาเหนือซึ่งเทือกเถาเหล่ากอเปนชาติอังกฤษและอยู่ในความปกครองป้องกันของประเทศอังกฤษมาแต่เดิมนั้น ทนทานความลำเอียงของรัฐบาลอังกฤษไม่ได้ ต้องเกิดเปนขบถขึ้นทำการสงครามกันมีไชยชะนะแก่ประเทศอังกฤษแล้ว ตั้งตัวขึ้นเปนประเทศเอกราชมาได้ตั้งแต่คฤศศักราช ๑๗๗๖ (พระพุทธศักราช ๒๓๑๙)

อังกฤษเสียประเทศอเมริกาเหนือไปครั้งนี้ ผลประโยชน์ที่เกิดจากการปิดประตูค้าชาติอเมริกันนั้น ประมาณกันว่าขาดไปถึงปีละ ๓,๐๐๐,๐๐๐ปอนด์ และคิดตามจำนวนสำมโนครัวชาวอเมริกันเทียบกับจำนวนสินค้าที่ประเทศอังกฤษทำส่งไปขาย ประมาณกันว่าชาวอเมริกาคนหนึ่งต้องบริโภคสินค้าอังกฤษเฉลี่ยเปนกลางเปนราคาเงินปีละหนึ่งปอนต์ (๑๓ บาท)

การป้องกันสินค้าอังกฤษมีมาจนถึงคฤศศักราช ๑๗๘๖ จึงได้ทำหนังสือสัญญากับประเทศฝรั่งเศษ ต่างชาติต่างผ่อนผันกันลดพิกัดภาษีสินค้าเข้าเมืองลง ตั้งต้นเปลี่ยนแปลงวิธีจัดการค้าขายของชาติอังกฤษเปนการค้าขายโดยสดวก (Free Trade) แต่นั้นมา

ในสมัยนั้นบังเอินประจวบกันกับความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นในการหัดถกรรมการช่างที่เปนวิชาหากินของชาติอังกฤษด้วย คือมีเครื่องปั่นด้ายแลเครื่องทอผ้าอย่างใหม่เกิดขึ้นสองสามอย่างที่ทำด้วยเครื่องจักร์ได้สำเร็จดีรวดเร็วขึ้นกว่าทำด้วยฝีมืออย่างโบราณ ทั้งเกิดความคิดทำเครื่องจักร์ใช้กำลังไอน้ำร้อน (Steam Engine) ขึ้นด้วย ความคิดใหม่ใช้เครื่องจักร์นี้ต้องการใช้ธาตุเหล็กมากขึ้น การถลุงเหล็กแต่ก่อนถลุงด้วยถ่านไม้ราคาแพง มาชั้นนี้ใช้ถ่านศิลาแทนได้ ราคาเหล็กก็ถูกลงมาก วิชาอย่างใหม่เหล่านี้ ช่วยให้การหัดถกรรมของชาติอังกฤษเจริญใหญ่โตขึ้นรวดเร็ว จนเดินน่านา ๆ ประเทศได้ทั่วไปในโลก ผลประโยชน์ที่ได้ในการใหม่เหล่านี้ในไม่ช้าสักกี่ปีก็คุ้ม และได้เกินผลประโยชน์ที่ขาดไปทางประเทศอเมริกาเปนอันมาก ในใต้พื้นแผ่นดินอังกฤษเฉภาะมีแร่เหล็กกับถ่านศิลาสลับซับซ้อนกันอยู่ในที่เดียว หรือในที่ใกล้ชิดกันด้วย การทำเครื่องเหล็กจึงทำได้ราคาถูกนัก เพราะฉนั้นแร่เหล็กและถ่านศิลาในประเทศอังกฤษจึงกลับเปนทรัพย์ที่มีราคายิ่งไปเสียกว่าบ่อทองในประเทศอื่นอีก

ในที่สุดจะรวมความตามพงษาวดารของชาติอังกฤษได้ว่า ได้จัดการป้องกันและบำรุงการหัดถกรรมการเดินเรือในบ้านเมืองได้แขงแรงมั่นคงดีจนสู้นา ๆ ประเทศได้แน่แล้ว รัฐบาลอังกฤษจึงได้เลิกการป้องกันนั้นเสีย ปล่อยให้ทำการค้าขายกันโดยสดวกได้

ได้ยกเรื่องประเทศอเมริกาเหนือมากล่าวไว้บ้างแล้ว และโดยที่ประเทศนี้กำลังรุ่งเรือง เพราะวิธีจัดการป้องกันการหัดถกรรมในเมืองอย่างกวดขัน เปนการตรงกันข้ามกับวิธีค้าขายโดยสดวกของประเทศอังกฤษในขณะนี้เพียงใด เพื่อจะให้ต่อเรื่องกันให้ตลอด ในหมวดน่าจะได้กล่าวลักษณะประเทศอเมริกาเหนือต่อไป

ประเทศยูไนเตดสเตตส์อเมริกาเหนือ

ตัวอย่างที่จะยกมากล่าวถึงความเจริญของบ้านเมือง เพราะการเก็บภาษีป้องกัน การกสิกรรมหัดถกรรมและการเดินเรือของชาติในประเทศใดนั้น ดูลักษณะการที่เปนอยู่ในประเทศอเมริกาเหนือจะเห็นได้ชัดแจ้งกว่าประเทศอื่น โดยเหตุที่ประเทศอเมริกาเหนือเปนแผ่นดินที่พึ่งได้ตั้งตัวขึ้นเปนอิศรภาพได้ใน ๑๓๙ ปีที่ล่วงมานี้เอง

การค้าขายโดยสดวกและการป้องกันการค้าขายในประเทศนี้ ต้องเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาเห็นผลดีและร้ายทันตาได้ในน้อยปี เห็นผลได้เร็วก็เพราะเหตุที่พลเมืองชาติใหม่นี้ขยันขันแขงในการทำมาหากิน มีความรู้ความชำนาญพอเท่าเทียมกันกับชาวยุโรป พร้อมใจกันจัดการปกครองป้องกันตัวเอง รวบรวมเข้าเปนคนร่วมชาติร่วมผลประโยชน์ได้ด้วยความสามัคคี เปนกำลังและอำนาจใหญ่ขึ้นมั่นคงแข็งแรง ประกอบทั้งมีที่แผ่นดินใหม่อันกว้างใหญ่แผ่ไพศาล ทำการเพาะปลูกและขุดแร่บังเกิดผลดีบริบูรณ์รวดเร็วมากกว่าแผ่นดินเก่าในประเทศยุโรปเปนอันมาก

เมื่อยังอยู่ในใต้บังคับรัฐบาลอังกฤษ ชาติอังกฤษปิดประตูค้าเสียฝ่ายเดียว ไม่ยอมให้ริอ่านก่อการหัดถกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีลักษณะจะแข่งขันประชันกับสินค้าที่ทำในประเทศอังกฤษได้เปนอันขาด อังกฤษส่งเสริมให้ทำแต่การเพาะปลูกแลป่าไม้จนเหลือใช้สรอยในบ้านเมือง ราคาตกต่ำลงแล้ว ชาติอังกฤษจึงได้ขนสินค้านั้นไปขายเอากำไรในประเทศยุโรป แล้วส่งสินค้าที่ทำในแผ่นดินอังกฤษออกไปขายแลกเปลี่ยนกัน พ่อค้าอังกฤษมีกำไรงามทั้งสองฝ่าย ไหนยังจะห้ามหวงกันไม่ให้ชาติอเมริกาค้าขายกับประเทศอื่นได้โดยสดวกด้วย ชาติอเมริกันทนทานอยู่ไม่ได้ จึงได้ตั้งตัวเปนขบถแขงเมืองเปนเอกราชขึ้นในคฤศตศักราช ๑๗๗๖ ปี ดังที่ได้กล่าวไว้ในพงษาวดารอังกฤษหมวดก่อนนั้นแล้ว

แต่ก่อนมาชาติอเมริกันต้องอาศรัยใช้สรอยผลของการหัดถกรรมของชาติอังกฤษเปนพื้น ครั้นเกิดการสงครามขึ้นในการขบถต่ออังกฤษครั้งนี้ อาศรัยใช้สิ่งของที่ทำในเมืองต่างประเทศไม่ได้ ชาติอเมริกันก็ต้องอุส่าห์ทำขึ้นใช้เองในเมืองตามแต่จะทำได้

ชาติอเมริกาแต่ก่อนไม่ได้คาดคเนเห็นเลยว่า การที่จำเปนต้องริอ่านทำของหัดถกรรมขึ้นใช้เองในเมืองในระหว่างการสงครามนั้น จะมีผลเปนความเจริญแก่ชาติได้ทันตาเห็นในน้อยปี แต่อันที่จริงตามธรรมดาในชั้นต้น เมื่อพลเมืองเดียวกันแรกตั้งทำการหัดถกรรมที่ยังไม่เคยทำหรือยังไม่ชำนาญ และมีของซึ่งจะต้องทำขึ้นใช้เองสารพัดอย่าง ในขณะเดียวกันพร้อมกันนั้น แน่แล้วการประมูลแก่งแย่งกันทำแต่เฉภาะสินค้าอย่างหนึ่งอย่างใด ก็พึงจะมีน้อยหรือแทบจะไม่มีอยู่เอง ผู้ทำย่อมจะตั้งราคาเอาอย่างสูงที่สุดที่ผู้ต้องการใช้ของนั้นจะกล้าซื้อ ของอย่างใดที่ยังมีไม่พอใช้ของอย่างนั้นก็มีราคาสูงอยู่ได้ตลอดไป ผู้ทำของหัดถกรรมมีกำไรมาก ได้ค่าแรงมากขึ้นกว่าพวกที่ทำการกสิกรรมเพาะปลูกอย่างเก่าเท่าใด เหตุนี้ย่อมจะชักชวนพลเมืองที่ทำการเพาะปลูกอยู่ห่างไกลหัวเมืองชายทะเลซึ่งมีกำไรหรือได้ค่าแรงแต่น้อยเพราะทางกันดารหรือเหตุอื่น ๆ นั้น ให้ละทิ้งการกสิกรรมเช่นนั้นเสีย แล้วเข้าไปรับจ้างหรือลงทุนทำการหัดถกรรมในบ้านเมืองที่มีประชุมชนแน่นหนานั้นมากขึ้นทุกที เหตุที่กล่าวมานี้บังคับให้ค่าแรงของคนทำงานสูงขึ้น แล้วก็ทำให้ราคาที่ดินทั่วไปพลอยสูงขึ้นตามกันด้วย แม้แต่การสงครามได้ทำลายล้างทรัพย์สมบัติในบ้านเมืองให้เสียหายเปนอันตรทานไปเปนอันมากอยู่แล้วก็ดี พลเมืองในขณะการสงครามนั้นยังอุส่าห์ขยันทำการได้ผลประโยชน์เปนความเจริญมาเจือจานความเสียหายนั้นได้เปนอันมาก

แต่ความเจริญในการหัดถกรรมชั้นต้นนั้นหาได้ถาวรอยู่ได้ไม่ พออังกฤษได้ทำหนังสือสัญญายอมรับประเทศอเมริกาเหนือเปนประเทศอิสรภาพ (ในปี ๑๗๘๓) เลิกการสงครามแล้ว ชาติอังกฤษก็ตั้งต้นส่งสินค้าอังกฤษเข้าไปขายแข่งลดราคา สินค้าซึ่งพึ่งแรกริทำขึ้นในประเทศอเมริกานั้นทรุดโทรมลงอีก เปนเพราะเหตุที่มณฑลต่าง ๆ ในประเทศนั้นยังไม่ปรองดองกันวางแบบแผนจัดการค้าขายภายนอกร่วมกันลงได้ ขาดความป้องกันการหัดถกรรมในเมือง สินค้าอังกฤษทุ่มเทเข้าไปขายได้โดยสดวก เกิดเปนความขาดทุนเสียหายลงทั่วไปทั้งแผ่นดิน พวกที่ทำสินค้าโดยการหัดถกรรมต้องล้มแล้ว ผลของการเพาะปลูกที่มีอยู่ในขณะนั้นก็ขายไม่ออก ที่ดินตกราคา กลับกลายเปนความฉิบหายไปเพราะการสงบสงครามนั้นเสียอีก การหัดถกรรมของชาติอเมริกาไม่ฟื้นขึ้นได้ จนบรรดามณฑลที่ต่างก็มีอำนาจปกครองตัวเองอยู่ได้นั้น รวบรวมเข้าเปนชาติเดียวกันอยู่ในใต้กฎหมายที่ได้พร้อมใจกันตั้งเปนหลักของการปกครองแผ่นดินขึ้นในปี ๑๗๘๗ ตั้งยอชวอชิงตัน (George Washington) เปนประธานาธิบดีคนแรก ประเทศอเมริกาเหนือครั้งนั้นมีเขตร์แดนต่างกันอยู่ ๑๓ มณฑลคือ :- เวอร์ยิเนีย (Virginia) มาสซาชูเสตส (Massachusetts) เดลาแวร์ (Delaware) แมรีแลนด์ (Maryland) นิวเยอร์ซี (New Jersey) คอนเนกติกัด (Connecticut) เปนซิลเวเนีย (Pensylvania) เซาต์คาโรไลนา (South Carolina) นอรต์คาโรไลนา (North Carolinaนิวยอร์ก (New York) เกาะโรดไอแลนต์ (Rhode Island) นิวแฮมพ์ชีย (New Hampshire) ยอร์เยีย (Georgia) มณฑล ๑๓ แห่งนี้ต่างก็มีรัฐบาล แลตั้งกฎหมายปกครองบ้านเมืองภายในของตัวได้เองเต็มอำนาจตามที่กฎหมายคอนสติติวชันซึ่งมณฑลทั้งหลายได้พร้อมใจกันตั้งขึ้น รวมเข้าเปนชาติเดียวกัน ทุกมณฑลตั้งผู้แทนไปเข้าในสภาของรัฐบาลกลางที่เรียกว่าคอนเกรส (Congress) ความสามัคคีมีขึ้นเพราะเหตุที่รวมกันเข้าได้เช่นนี้แล้ว รัฐบาลอเมริกันก็ตั้งพิกัดเก็บภาษีป้องกันสินค้าภายในได้ตามชอบใจ แต่ในชั้นต้นปี ๑๗๘๙ เก็บแต่เล็กน้อย และเลือกเก็บแต่สินค้าผลหัดถกรรมของต่างประเทศที่ส่งเข้ามาขายในเมืองล้วนแต่เปนสินค้าสำคัญที่สุดเท่านั้น การหัดถกรรมกสิกรรมแลการค้าขายกลับตั้งต้นฟื้นตัวขึ้นได้ตั้งแต่นั้นมา แต่เหตุที่พิกัดภาษีสินค้าเข้าเมืองในชั้นต้นยังต่ำอยู่เพียงกำหนดร้อยละ ๑๕ เท่านั้น ชาติต่างประเทศคืออังกฤษเปนต้น รู้จักวิธีทำของหัดถกรรมที่ดีกว่า จึงอุส่าห์ทำสิ่งของเข้ามาขายแข่งราคาอยู่ได้ ความเจริญจึงมิได้ดำเนินไปได้ตามสมควรกับกำลังและคุณวุฒิของชาติอเมริกัน ถึงเช่นนั้นก็ยังเห็นความเจริญปรากฎขึ้นว่าในปี ๑๗๘๙ นั้น การเดินเรือของชาติอเมริกันรวมทั้งสิ้นนับได้เพียงสองแสนตันเท่านั้น ในปี ๑๘๐๑ การเดินเรือมากขึ้นถึงหนึ่งล้านตันหรือเจริญขึ้น ๕ เท่าในกำหนด ๑๒ ปี การหัดถกรรมทำของขายก็ยังสู้ชาติอังกฤษไม่ได้ เก็บภาษีสินค้าเข้าเมืองแต่เพียงร้อยละ ๑๕ จะป้องกันไม่ให้สินค้าอังกฤษเข้าเมืองหาสำเร็จไม่ อังกฤษรู้จักวิธีทำและใช้เครื่องมืออย่างใหม่ทำการได้ผลมากเปลืองทุนน้อยลงเท่าใด ก็ส่งสินค้าเข้าไปขายแข่งราคาในประเทศอเมริกามากขึ้นทุกที การหัดถกรรมแลการเดินเรือเกือบจะทรุดโทรมลงแล้ว บังเอินในปี ๑๘๑๒ เกิดการสงครามขึ้นกับประเทศอังกฤษอิกครั้งหนึ่ง อังกฤษรบอยู่ได้แต่ในทะเล สินค้าอังกฤษเข้าเมืองไม่ได้ การสงครามครั้งนี้จึงเปนเหตุช่วยสังเคราะห์ให้การทำมาค้าขายในประเทศอเมริกาเจริญใหญ่ขึ้นโดยรวดเร็ว การหัดถกรรมเจริญทำของใช้ในเมืองได้พอแล้ว ยังมีเหลือส่งออกไปขายต่างประเทศได้อิก ในปี ๑๘๑๕ กองกรมการสำหรับการค้าขายและการหัดถกรรมได้รายงานต่อรัฐบาลว่าในการทอผ้าขนแกะแลผ้าสำลีอย่างเดียวเท่านั้น ต้องใช้คนทำงานมีจำนวนถึง ๑ แสนคน ทำผ้าปีหนึ่งได้เกินราคา ๖๐ ล้านเหรียญ

ผลของการสงครามครั้งที่สองก็คล้ายกับการสงครามครั้งแรก เพราะเหตุที่สินค้าต่างประเทศเข้าเมืองไม่ได้นั้น การหัดถกรรมกสิกรรมและพานิชกรรมพลอยเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามกันได้ทั่วไป ในที่สุดพวกเจ้าของที่ดินเจ้าของทุนและคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายภายใน เจริญขึ้นทั่วหน้ากันได้โดยรวดเร็ว

พอได้ทำหนังสือสัญญาสงบการสงครามกันแล้ว (ปี ๑๘๑๔) รัฐบาลอเมริกันเคยเห็นตัวอย่างร้ายเมื่อการลงบศึกครั้งก่อน ครั้งนี้จึงตั้งพิกัดเก็บภาษีสินค้าเข้าเมืองทวีคูณขึ้นอีกเท่าหนึ่ง แต่ความเจริญก็ดำเนินเรื่อยไปได้เพียงปี ๑๘๑๖ เท่านั้น ในปีนี้พลเมืองในประเทศอเมริกามีพวกทำการหัดถกรรมและกสิกรรมเกิดแตกความสามัคคีกันขึ้น พวกทำการกสิกรรมร้องว่าพิกัดภาษีป้องกันอย่างสูงนั้นทำผลประโยชน์ช่วยข้างพวกทำการหัดถกรรมฝ่ายเดียว พวกกสิกรรมไม่พลอยได้ผลประโยชน์ หรือพลอยเสียผลประโยชน์ไปด้วย โต้เถียงกันลงปลายพวกกสิกรรมมีเสียงมาก รัฐบาลก็ต้องลดพิกัดภาษีสินค้าเข้าเมืองลงเสียโดยมาก การทำมาค้าขายทั่วไปก็กลับทรุดโทรมตกต่ำไป ลดพิกัดภาษีมาถึงปี ๑๘๒๔ แล้วจึงได้กลับเพิ่มเติมพิกัดขึ้นอีกได้ เหตุนี้เปนเพราะการเปลี่ยนแปลงที่จัดกันใหม่ในประเทศอังกฤษกระทบมาถึง

คือเมื่อประเทศอังกฤษกำลังทำการสงครามกันอยู่กับประเทศฝรั่งเศส (ครั้งนะโปเลียนที่ ๑) และประเทศอเมริกาด้วยนั้น การค้าขายต่างประเทศของชาติอังกฤษทรุดโทรมลงมากก็จริง แต่เหตุที่พลเมืองในแผ่นดินอังกฤษต้องอาศรัยกินเข้าสาลีที่เพาะปลูกในแผ่นดินอังกฤษเองโดยที่เข้าสาลีต่างประเทศเข้าเมืองไม่ได้เพราะการสงครามนั้น การเพาะปลูกในประเทศเจริญรุ่งเรืองขึ้นเปนอันมาก ที่แผ่นดินซึ่งแต่ก่อนทำการเพาะปลูกไม่มีกำไรมาครั้งนี้ราคาเข้าสาลีแพงขึ้นสองเท่าก็ทำให้การเพาะปลูกในที่ ๆ เลวอยู่นั้นมีผลเปนกำไรขึ้นได้ การเพาะปลูกเปิดทางให้คนทำงานเข้าไปอาศรัยทำการเลี้ยงชีพอยู่ได้เปนอันมาก ข้างฝ่ายการหัดถกรรมก็ไม่ทรุดโทรมลงเท่าใด ครั้นเมื่อได้ทำสัญญาสงบศึกลงในปี ๑๘๑๔ แล้ว ชาติอังกฤษเกรงว่าเข้าสาลีต่างประเทศจะเทเข้ามาขายทำให้ราคาเข้าในเมืองตกต่ำลงอย่างเดิม การกสิกรรมจะเปนอันตรายจนจะพาให้บ้านเมืองพลอยฉิบหายลงมากมายได้ พลเมืองอังกฤษซึ่งเปนคนทำงานจะตกทุกข์ได้ยากนัก รัฐบาลจึงตั้งพิกัดเก็บภาษีเข้าสาลีเปนการป้องกันการเพาะปลูกในเมืองไม่ให้ทรุดโทรมลงได้ แต่ความมุ่งหมายนี้หาสำเร็จไม่ ลงปลายปีใดฝนฟ้าอากาศไม่ดีเข้าออกไม่พอกิน ราคาแพงจนเข้าต่างประเทศสู้เสียภาษีแล้วยังขายแข่งราคาได้ แลถ้าเปนปีที่ผลเพาะปลูกงอกงามก็มีเข้ามากมายเหลือเฟือไปราคาต้องตกต่ำลง พวกที่ตื่นกันไปทำการเพาะปลูกมากขึ้นเพราะภาษีป้องกันนี้ก็ขาดทุนต้องเลิกการปลูกเข้าสาลีเสียเปนอันมาก ความฉิบหายกลับยิ่งใหญ่ไป

แต่ถึงเช่นนี้ก็ดี การป้องกันเข้าสาลีในประเทศอังกฤษที่ริอ่านเก็บภาษีขึ้นนี้ กระทำให้ชาวนาประเทศอเมริกาพลอยเดือดร้อนด้วยเปนอันมาก เพราะส่งเข้าสาลีไปขายในเมืองอังกฤษไม่ได้สดวกตามที่เคยทำมา พวกอเมริกันข้างมีผลประโยชน์ในการหัดถกรรมแลการค้าขายได้โอกาศเหมาะ จึงชักชวนพวกทำการกสิกรรมให้ปรองดองกันเพิ่มเติมพิกัดภาษีสินค้าเข้าเมืองมุ่งหมายเก็บภาษีผลหัดถกรรมที่มาจากประเทศอังกฤษให้แรงขึ้น เปนการตอบแทนแก้เผ็ดต่อการที่รัฐบาลอังกฤษตั้งกองเก็บภาษีเข้าสาลี ตั้งแต่นี้ไปการป้องกันสินค้าอเมริกันก็มีเรื่อยไป เปนเหตุให้ชาติอเมริกันเจริญรุ่งเรืองขึ้นเปนลำดับมาจนทุกวันนี้

ความเจริญของประเทศอเมริกาเหนือที่ดำเนินไปได้ใหญ่โตรวดเร็วนักนั้น เปนการอัศจรรย์และเปนการสำคัญอย่างยิ่งที่มีขึ้นในพงษาวดารของโลกในปัตยุบันนี้แท้ ในปี ๑๗๘๗ มีมณฑล (States) อยู่เพียง ๑๓ มณฑล มีจำนวนสำมโนครัวประมาณคนสองล้าน มาถึงสมัยนี้มีมณฑลเพิ่มเติมขึ้นเปน ๔๓ มณฑล ยังมีจังหวัดที่แผ่นดินที่เรียกว่าเทริตตอรี่ (Territories) อีก ๑๑ ตำบล แลมีเกาะ ต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่นเกาะฟิลลิปไปน์ส (Philipines) และคิวบา (Cuba) นั้นด้วย จำนวนสำมโนครัวในปี ๑๙๑๒ (พระพุทธศักราช ๒๔๕๕) มี ๙๕,๖๕๖,๐๐๐ สำมโนครัวงอกมากขึ้นตั้งแต่สองล้านถึงเก้าสิบห้าล้านหกแสนในกำหนด ๑๒๕ ปีเท่านี้ ไม่มีประเทศใดจะเปรียบได้เปนแน่แท้ ที่แผ่นดินมีเนื้อที่ถึง ๓,๕๕๗,๐๐๐ สแควไมล์ อาณาเขตรแผ่ไพศาลจดมหาสมุทแอตแลนติก กับปาซิฟิกทั้งสองข้างฝั่งตวันออกแลตวันตก แลข้างทิศใต้แลทิศเหนือนั้นอยู่ในระหว่างเส้นแบ่งส่วนของโลก ตั้งแต่ราว ๒๕ ดิกรีเหนือ (Latitude) เส้นสูนย์กลางโลกขึ้นไปถึง ๔๘ ดิกรี นอกจากแหลมอาลาสกาซึ่งอยู่สูงจดถึงมหาสมุทอากติก ในที่แผ่นดินนี้มีทั้งแม่น้ำขนาดใหญ่ยิ่งในโลก ทั้งมีทเลสาบใหญ่เขาใหญ่พร้อมทุกอย่าง อากาศในตอนเหนือหนาวที่สุดแต่ค่อยอุ่นลงมาถึงเขตรแดนข้างใต้ ปรอดร้อนสูงที่สุดถึง ๙๐ ดิกรี (ฟาเรนไฮต์) ภูมิประเทศเปนทำเลที่ต่างกันมีอากาศหนาวร้อนต่อเนื่องกันเปนลำดับไป ดังที่ได้กล่าวมานี้ ก็เปนอันจะเห็นได้ว่าในการกสิกรรมนั้น ชาติอเมริกันจะเพาะปลูกได้ตั้งแต่ ยาสูบ ฝ้าย และอ้อย ซึ่งเปนพรรณไม้ที่เพาะปลูกกันในประเทศร้อน ตลอดไปถึงพืชพรรณไม้ที่เพาะปลูกกันได้ในประเทศหนาวทุกอย่าง ในใต้พื้นแผ่นดินยังมีบ่อแร่ถ่านศิลา น้ำมันดิน เหล็ก ทอง เงิน ทองแดง ตะกั่ว และสังกระสี ที่จะใช้ทำประโยชน์สำหรับการหัดถกรรมได้บริบูรณ์ดีด้วย ตามชายทเลข้างฝั่งมหาสมุทแอตแลนติกก็มีอ่าวที่อาไศรยจอดเรือ สำหรับทำการค้าขายกับประเทศยุโรปได้โดยสดวก การหาปลาก็มีผลบริบูรณ์ ยังมีฝั่งมหาสมุทปาซิฟิก ซึ่งมีท่าเรือที่จะค้าขายตรงต่อทวีปอาเซียได้ดีอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ตามอ่าวชายทเลมหาสมุทแอตแลนติกนั้นเอง ที่ชาวประเทศยุโรปปราถนาจะหาทางไปทวีปเอเซียให้สั้นเข้า จึงได้เดินเรือมาพบทวีปใหม่นี้ตั้งแต่สี่ร้อยปีมาแล้ว แต่ในประเทศยูไนเตดสเตตส์อเมริกาเหนือ ที่เปนเรื่องของเรานี้ ชาติอังกฤษได้มาตั้งมั่นลงครั้งแรกที่ชายทเลแห่งหนึ่ง ในมณฑลเวอร์ยิเนีย (Virginia) ในปี ๑๖๐๗ แล้วก็ไปตั้งอยู่ที่อ่าวเคบคอต (Cape Cod) ในมณฑลมาสซาชูเสตส์ ในปี ๑๖๒๐ แต่ที่มณฑลนิวยอร์ก (New York) นั้นเดิมพวกฮอลันดาไปตั้งอยู่ก่อน (ปี ๑๖๓๘) และในมณฑลแมรีแลนด์ (Maryland) ชาติสวิเดนไปตั้งในปี ๑๖๓๘ มณฑลนี้ภายหลังมาชาติฮอลแลนด์แย่งชิงเอาเข้าไว้ในมณฑลนิวยอร์ก จนถึงปี ๑๖๖๔ ชาติอังกฤษจึงได้รับไล่ชาติฮอลแลนด์แย่งเอาที่นี้เสียต่อไป

ตั้งแต่นั้นมาพวกฝรั่งในประเทศยุโรปก็เพิ่มเติมกันออกไปตั้งอยู่เรื่อยไป มีคนมากขึ้นแล้วก็ค่อย ๆ เลื่อนห่างชายทเลเข้าไปทางทิศตวันตก ขับไล่ชาติอินเดียนแดง ซึ่งเปนคนป่าและเปนเจ้าของแผ่นดินแต่ต้นเดิมมานั้นห่างออกไปทุกที โดยมากพวกฝรั่งฆ่าฟันล้างพืชพรรณเสีย ประดุจสัตว์เดียรฉาน จนถึงที่สุดในสมัยนี้ แทบจะไม่เห็นหน้าคนพวกนี้เลย ในแถบแผ่นดินข้างทิศตวันตก นาน ๆ จะได้เห็นสักครั้งหนึ่ง คนพวกนี้จึงกลายเปนคนปลาดหน้าดูเล่นไป

เมื่อคิดดูตามภูมิประเทศซึ่งกว้างใหญ่ไพศาล มีอาณาเขตร์จดมหาสมุทแอตแลนติกและปาซิฟิกทั้งสองฝ่ายแล้ว ถ้าชาติอเมริกันจะตั้งหน้าทำแต่การเพาะปลูก สำหรับคนครัวหนึ่งต้องการที่กว้างใหญ่มากจึงจะทำได้พอเลี้ยงกัน สำมโนครัวมากขึ้น ก็จำเปนจะต้องกระจัดกระจายออกไปอยู่ห่างไกลชายทเลซึ่งเปนที่สำคัญของการค้าขายต่างประเทศ และการเดินเรือเสมอไป พลเมืองยิ่งห่างไกลกระจัดกระจายออกไปเท่าใด ความโง่เขลาเกียจคร้านก็จะยิ่งมีมากขึ้นตามกัน และเมื่อไรเลยสำมโนครัวจึงจะมีจำนวนมากพอกับจะทำการเพาะปลูกให้เต็มอาณาเขตร์อันกว้างใหญ่นั้นได้

การเพาะปลูกในที่แผ่นดินใหม่นั้น ตามธรรมดาไม่ต้องดงทุนเติมปุ๋ยหรือตกแต่งที่ดินสักเท่าใด ก็เกิดผลงอกงามได้ผลเปนอาหารนั้นเปนอันมาก เมื่อทุกคนทำแต่การเพาะปลูกอย่างเดียว ถึงจะมีอาหารเลี้ยงชีพไม่รู้จักความอดหยากเลยก็ดี แต่ผลที่ทำไว้เหลือเฟือทั่วไปนั้น จะไม่มีราคาสมควรกับความเหน็จเหนื่อยคุ้มค่าแรงเลย ในที่ ๆ ห่างไกลจากชายทเลนั้น แม้จะขนผลเพาะปลูกออกไปขายต่างประเทศได้สดวก แต่ต้องลงทุนค่าขนมากเพราะทางไกล ค่าขนนี้ต้องคิดเอาในเนื้อของผู้เพาะปลูก ถึงราคาผลนั้นจะแพงขึ้นเพราะเอาไปขายต่างประเทศได้ก็จริง แต่เมื่อหักค่าใช้สรอยในการขนสินค้านั้นลงแล้ว ผู้ทำก็จะไม่มีประโยชน์งอกขึ้นมากสักเท่าใด เหตุนี้จะชักชวนให้พวกชาวไร่ชาวนาลดหย่อนความขยันขันแขงท้อถอยลงได้เปนอันมาก พลเมืองไม่มีโอกาศพอที่จะออกแรงและความคิดสร้างทรัพย์ให้เกิดผลได้เต็มกำลัง เปนการทิ้งแรงทิ้งเวลาเสียเปล่า ทั้งเปนเหตุที่จะทำให้มีความเกียจคร้านขึ้นเปนนิไสยของพลเมืองด้วย ความเจริญควรจะดำเนินไปได้เร็วกว่านั้น

อีกประการหนึ่งผลของการเพาะปลูกที่ทำขึ้นได้นั้น เมื่อต้องอาไศรยขายแก่เมืองต่างประเทศเปนกำลังแล้ว จะหมายได้ประโยชน์เปนการแน่นอนไปช้านานนักหาได้ไม่ ของนี้จะต้องออกไปขายแข่งราคากันในตลาดนา ๆ ประเทศ ราคาจะต้องสุดแล้วแต่สินค้าต่างประเทศในตลาด จะมีมากหรือน้อย จะต้องสุดแล้วแต่ว่าประเทศใดจะคิดป้องกันห้ามสินค้านั้นเสียเพียงใด หรือจะมีการสงครามเกิดขึ้นที่ไหน ทำให้ผลปลูกเพาะนั้นขายยากไป หรือถ้าขายไม่ได้เลยเมื่อใด พลเมืองที่ทำผลนั้นจะต้องได้ความอับจนลงเปนแน่ เมื่อตกยากลงแล้วกว่าจะกลับฟื้นตัวได้จะต้องการเวลามากนัก

ข้างฝ่ายประเทศที่ทำการเพาะปลูก และทำการหัดถกรรมก็ได้ด้วย เช่นประเทศฝรั่งเศสและเยอร์มันนีนั้น ถึงพื้นที่แผ่นดินเพาะปลูกจะเก่าแก่ ต้องลงทุนตกแต่งที่ดินมากก็จริง แต่เมื่อพลเมืองไม่ต้องพึ่งพาอาไศรยชาวต่างประเทศอยู่เปนกำลังใหญ่แล้ว อำนาจของประเทศนั้นก็มีแต่จะใหญ่โตแขงแรงขึ้นได้เสมอไป พวกที่ทำการเพาะปลูกทำอาหาร และวัตถุที่เปนของดิบต่าง ๆ ไปส่งพวกที่ทำการหัดถกรรมในเมืองเดียวกัน ข้างพวกทำการหัดถกรรมทอผ้าหรือทำสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้สารพัดอย่าง ทำไปให้พวกทำการเพาะปลูก ต่างฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนผลของแรงทำการกันได้อยู่เสมอ พลเมืองได้ใช้แรงและความคิดเต็มกำลังเช่นนี้ อำนาจที่จะสร้างทรัพย์ของชาติก็พึงจะมีได้เต็มที่อยู่เอง สร้างทรัพย์ได้มากขึ้นก็จะมีกำลังก่อสร้างกองทัพบกทัพเรือ และทำสาตราวุธป้องกันความอิสรภาพของชาติชั้นได้แขงแรงยิ่งขึ้น จนเปนชาติที่มีอำนาจใหญ่ขึ้นในโลกได้เท่าเทียมชาติอื่น

ความคิดเห็นเหตุผลดังที่กล่าวมานี้เปนต้น ที่ได้เปนมูลเหตุให้รัฐบาลอเมริกันคิดป้องกันบำรุงรักษา และถนอมการหัถกรรมของชาติอย่างหวงแหนแขงแรงนัก การป้องกันมิใช่แต่จะมีผลดีที่จะก่อเกิดที่ทำการหัถกรรมขึ้นทั่วไป ตามหัวเมืองชายทเล จนมีเรือค้าขายภายในและภายนอกประเทศ ทั้งสร้างเรือรบป้องกันอาณาเขตร์ได้แขงแรงอย่างทุกวันนี้เท่านั้น ข้างฝ่ายในที่กลางประเทศซึ่งห่างไกลจากชายทเลไป ก็มีที่ตั้งทำการหัดถกรรมอยู่ได้ทั่วไปด้วย พลเมืองที่ทำการเพาะปลูกกับพลเมืองที่ทำการหัดถกรรมตามเมืองต่าง ๆ นั้นได้อยู่ใกล้กันมากเท่าใด ก็ได้อาไศรยแรงแบ่งปันหน้าที่กันทำการแลกเปลี่ยนผลของแรงทำการได้ที่บริบูรณ์มากขึ้น การเก็บภาษีอากรน้อย ราคาอาหารเครื่องเลี้ยงชีพไม่แพง ความสุขความเจริญมีแก่พลเมืองมากกว่าชาวยุโรปเปนนักหนา แลผลของการป้องกันหัดถกรรมนั้นก็ทำให้ค่าแรงของคนทำงานสูงขึ้นทั่วไปทั้งบ้านเมืองด้วย ที่ดินก็มีราคามาก ราคาที่ดินและค่าแรงที่สูงขึ้นได้ ก็เพราะกำไรในการเพาะปลูกที่มีมากนั้น ต้องมาเจือจานเลี้ยงพวกที่ทำการหัดถกรรมและการค้าขายจนพอสม่ำเสมอกันทั่วไป

ในที่สุดถ้าไม่ใช่เพราะการป้องกัน ชาติอเมริกันเหนือคงไม่เจริญรุ่งเรืองใหญ่โตขึ้นได้ในน้อยปี ดังที่เห็นประจักษ์แก่ตาอยู่ในปัตยุบันนี้

จบเล่ม ๒

เล่ม ๓ ยังพิมพ์ต่อไป

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ