หมวด ๓ ว่าด้วยลักษณะเงิน

คำ “เงิน” ในภาษาไทยที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ใช้ปะปนกันหมายความได้หลายอย่าง เปนต้นว่า ธาตุเงิน เงินตรา เงินกระดาด และรวมทั้งสตางค์ทองแดงนิเกอร์ซึ่งเปนเศษส่วนต่าง ๆ ของเงินตราด้วย จนที่สุดทองที่เรียกกันว่าเงินได้ เช่น เงินปอนด์ซึ่งที่แท้จริงเปนเหรียญกระสาปน์ทองที่ใช้กันอยู่ในประเทศอังกฤษ เมื่อหมายความปะปนกันอยู่ในภาษาเช่นนี้ ก็น่าจะคิดเห็นไปได้ว่าเมื่อแรกมนุษย์รู้จักใช้ธาตุเงิน นิยมธาตุเงินว่าเปนของดีวิเศษมากกว่าธาตุอื่นนอกจากทอง จึงได้ใช้เงินเปนเครื่องกลางสำหรับเปรียบเทียบราคากับสิ่งของอื่น ๆ เช่นกับว่า ผ้าผืนหนึ่งแลกเนื้อเงินบริสุทธิ์ได้เปนน้ำหนักกึ่งตำลึง โดยวิธีที่ตัดเงินลิ่มออกชั่งแลกเปลี่ยนสินค้าในการค้าขายดังที่ยังเปนอยู่ในประเทศจีนบางแห่งทุกวันนี้เปนต้น จนที่สุดเมืองอังกฤษซึ่งใช้มาตราทองทุกวันนี้ แต่เดิมใช้ธาตุเงินเปนมาตราด้วย เอาน้ำหนักหนึ่งปอนด์ของเงินเปนเกณฑ์ เมื่อเปลี่ยนเปนมาตราทองแล้ว ก็ยังเรียกเหรียญทองเปนปอนด์เสตอร์ลิง ในเมืองเราก็เช่นเดียวกัน ได้ใช้เงินเปนมาตรามาแต่ต้นแล้ว ก็ใช้คำ “เงิน” นั้นเพรื่อไปดังที่กล่าวมา

ในภาษาฝรั่งเศสใช้คำ “อายอง” (argent) แปลความตรงกันกับธาตุเงิน รวมกระดาดเงิน และทองเข้าในคำเงินอย่างเดียวกันกับภาษาไทย ส่วนเงินตราทองตราเหรียญกระสาปน์ เรียกเสียว่า “โมเน” (monais) ซึ่งเปนคำเดียวกันกับภาษาอังกฤษที่เรียกว่า “มันนี่” (money) แต่คนอังกฤษใช้คำมันนี่หมายความตรงกันกับคำเงินอย่างที่เราและฝรั่งเศสใช้กัน

ในความที่จะพูดต่อไปในหมวดนี้ ก็จะใช้ว่า “เงิน” โดยให้หมายความว่าเปนวัตถุอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งนิยมกันใช้เปนเครื่องกะราคา มีเงินตราทองตราเหรียญกระสาปน์ ธนบัตร์ใบสั่งจ่าย และใบสัญญาใช้เงิน ธนาณัติ ตัวตราไปรสนีย์เหล่านี้ เปนต้น

การค้าขายในโลกมีมาแต่โบราณดั้งเดิมก็จริง แต่ในสมัยนั้นไม่ปรากฎว่าประเทศใดรู้จักใช้เงินเปนของกลางสำหรับกะราคาแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกันอย่างทุกวันนี้ การค้าขายจึงเปนแต่เพียงแลกสินค้าต่อกันตรง ๆ ทำนองเดียวกันกับแม่ค้าเอาของไปแลกเข้าชาวนา กว่าจะตกลงกันได้ว่าเข้าสัดหนึ่งจะแลกปลาได้ที่หาง โคตัวหนึ่งจะแลกผ้านุ่งได้ที่ผืนเปนต้นเช่นนี้ จะต้องพูดจาโต้ตอบต่อตามกันมากมายสักเพียงใด จึงจะปรานีปรานอมยอมกันได้ ถ้าของที่จะแลกนั้นมีค่าพอเท่าเทียมกันก็จะเปนอันเลิกแล้วกันไป ถ้าบังเอินของข้างหนึ่งมีค่ามากกว่าของอีกข้างหนึ่ง จะใช้หนี้กันอย่างไรจึงจะลบล้างกันได้ ต้องเปนเรื่องที่จะพูดจาต่อตามกันไปอีก ถ้าตกลงกันไม่ได้อย่าแลกกันเสียเลย หรือถ้าผู้หนึ่งอยากจะได้ของของเพื่อนบ้านคนหนึ่ง แต่บังเอินเพื่อนบ้านคนนั้นไม่อยากได้ของของผู้นั้นสักอย่างเดียว ผู้นั้นก็เปนอันไม่ได้อะไรเลย ทำนองแลกสินค้ากันตรง ๆ เช่นนี้ย่อมเปนที่ลำบากยากเย็นขัดข้องแก่ความจำเริญของประชาชนเปนอันมาก

ภายหลังมาชาติทั้งหลายค่อยมีความฉลาดขึ้น ต่างก็เลือกหาของกลางชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าเปนของดีที่คนทั้งปวงพึ่งอยากได้ทั่วไปนั้นมาเปนเครื่องสำหรับกะราคาสินค้า อย่างที่เราใช้เงินทุกวันนี้ บางชาติใช้โคกระบือแทนเงิน บางชาติใช้โลหะต่าง ๆ มีเหล็กทองแดงตะกั่วดีบุกเปนต้น จนที่สุดแม้แต่เบี้ยหอยก็นิยมกันเอามาใช้แทนเงิน อย่างที่เราได้เคยใช้มาแล้ว แต่ของต่าง ๆ นั้นไม่ถาวรยืดยืน และไม่มีคุณวิเศษเท่ากับเงินทอง ลงปลายชาติทั้งหลายจึงได้ร่วมใจกันใช้เงินทองเปนมาตรากลางสำหรับกะราคาแลกสินค้าซึ่งกันแลกัน การค้าขายจึงสดวกและจำเริญขึ้นมาก นิยมกันว่าเงินทองเปนของหายาก ราคาไม่ค่อยจะตกต่ำห รือสูงขึ้นรวดเร็วเหมือนสินค้าอื่น ๆ เปนของที่ชอบตาของคนโดยทั่วไป ทั้งแข็งและเหนียวพอที่จะไม่แตกหักสึกหรอเปนอันตรธานไปโดยง่าย และเพื่อประสงค์จะมิให้ราษฎรคิดเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันในน้ำหนักหรือเนื้อต่ำสูงของทองเงินนั้น รัฐบาลทั้งหลายจึงตั้งมาตราทำขนาดเปนเงินเหรียญทองเหรียญกระสาปน์น้อยใหญ่ให้เสมอกันทั้งน้ำหนักและเนื้อ แล้วจารึกบอกราคาและตีตราลงไว้ให้เปนพยานว่า เงินทองขนาดนั้น ๆ ถูกต้องตามมาตราแน่แท้ด้วย

โดยที่ความมุ่งหมายของการค้าขายมีแต่จะแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกันเปนใหญ่นั้น ถ้าสินค้าที่จะแลกเปลี่ยนต่อกันมีค่าเท่ากันแล้ว ก็ไม่มีเหตุจำเปนอย่างไรที่จะต้องใช้เงินตราเลย แต่เหตุที่เงินตราเปนเครื่องเปรียบเทียบวัดราคาสรรพสิ่งทั้งปวง การที่จะแลกเปลี่ยนสินค้าต่างกันจึงต้องกะเปนราคาเงินเสียก่อน เมื่อตกลงกันแล้วจึงจะแลกเปลี่ยนสินค้ากันได้ ค่าจ้างค่าแรงและค่าเช่าทั้งสิ้นก็ต้องกะค่าเปนราคาเงินเหมือนกัน ถ้าการแลกเปลี่ยนยังไม่เท่าเทียมกัน ข้างไหนยังจะต้องใช้สินค้าหรือแรงเพิ่มเติมให้เพียงไร ก็ต้องกะค่าเปนราคาเงินเปนจำนวนหนี้ลงไว้เปนเกณฑ์

เงินทองเปนของหายาก ผู้ใดจะต้องการใช้ก็จำจะต้องออกแรงทำการอย่างใดอย่างหนึ่งจึงจะหามาได้ จะไปขุดคุ้ยดินหาในที่ ๆ มีบ่อทองหรือเงินก็ได้ หรือมิฉนั้นเมื่อผู้อื่นได้มาแล้ว ผู้ใดจะต้องการก็จำจะต้องออกแรงทำการหาของอื่นไปแลก หรือต้องทำการอย่างใดใช้หนี้ทดแทนค่าแรงที่เจ้าของเงินได้ออกไปในการหาเงินนั้นมาแต่เดิม จึงจะได้เงินมาใช้บ้าง เมื่อความจริงเปนดังนี้ ตัวเงินที่ใช้กันเปนของกลาง และเปนเกณฑ์ตั้งราคาในการแลกเปลี่ยนซื้อขายนั้น ก็ประดุจดังว่า เปนพยานแห่งเจ้าของว่า เจ้าของนั้นได้ออกแรงทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่คณะมหาชนไปก่อนแล้ว แต่ยังไม่ได้ของใช้หนี้ทดแทนค่าแรงที่เจ้าของเงินได้ออกไป จึงได้เงินนั้นไว้เปนคะแนนสำหรับจะได้เรียกเอาค่าตอบแทนจากผู้อื่นเมื่อเวลาจะต้องการ เงินเปนพยานว่าผู้ถือเปนเจ้าหนี้ของคนทั้งหลาย ผู้ถือเงินจึงมีกรรมสิทธิ์ที่จะแลกเขาสิ่งของ หรือแรงทำงานของผู้อื่นมาใช้หนี้นั้นได้ตามราคาเงินที่มีเปนคะแนนอยู่

ถ้าจะพูดโดยย่อก็คือเงินเปนเครื่องวัดกะราคาสิ่งของและค่าแรง ทั้งเปนของกลางสำหรับใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าต่อกันด้วย และโดยที่เงินเปนคะแนนตามที่กล่าวมานั้น ผู้ที่ถือเงินอยู่จึงเปรียบได้ประดุจดังว่า เปนผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือเปนเจ้าหนี้ของคณะมหาชนทั้งปวง จะสั่งสมเงินเปนทุนไว้มากมายหรือช้านานเพียงใตก็ได้ แต่เงินที่สั่งสมไว้เปนทุนนี้ จะทำประโยชน์อันใดให้เจ้าของไม่ได้ จนกว่าเจ้าของจะได้เอาเงินนั้นออกจำหน่ายใช้ไป

รัฐบาลของประเทศที่พลเมืองไม่เปนป่าเถื่อน พึงจะเห็นเปนประโยชน์อันดีที่จะบำรุงรักษาการแลกเปลี่ยน คือการค้าขายให้เรียบร้อยเปนความสดวกไปได้อย่างดีที่สุดที่จะทำได้ทุกประเทศ ในชั้นต้นต้องทำกฎหมายอย่างดีในเรื่องกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สมบัติให้เปนความแน่นอนมั่นคงแก่เจ้าของแล้ว ยังต้องตั้งข้อบังคับเปนพระราชกำหนดกฎหมายสำหรับตัดสินอรรถคดีวิวาทในระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ให้ได้ฟ้องร้องกันโดยง่าย ทั้งให้ได้รับความยุติธรรมโดยสดวกโดยเร็ว และโดยที่ต้องเสียเงินค่าใช้สรอยในคดีนั้นให้น้อยที่สุดด้วย มิฉนั้นการทำมาค้าขายของพลเมืองก็จะไม่ดำเนินไปสู่ความเจริญได้ตามที่ควรจะเปน

รัฐบาลต้องถือเอาเปนหน้าที่ที่จะตั้งข้อบังคับให้มีมาตราขนาดเครื่องตวง เครื่องวัด เครื่องชั่ง และตั้งมาตราเงิน สรรพสิ่งทั้งปวงซึ่งเปนของกลางสำหรับกะวัดราคาเปรียบเทียบเหล่านี้ให้เปนหลักถานมั่นคงแน่นอนเที่ยงแท้ได้ เมื่อได้ตั้งกฎหมายขึ้นแล้วยังจะต้องจำหน่ายใช้ทรัพย์ในทางที่จะให้มีเจ้าพนักงานประจำคอยระวังเครื่องวัด เครื่องตวง เครื่องชั่ง และเงินตราทั้งหลายนี้ ไม่ให้มีของฉ้อของปลอมได้เปนอันขาด ผู้กระทำผิดในการฉ้อโกงเรื่องหนี้สิน หรือใช้เครื่องวัดเครื่องตวง และทำเงินตราปลอมต่าง ๆ นั้น ต้องให้มีโทษหนักพอที่จะมิให้เอาเยี่ยงอย่างกันแพร่หลายไปได้ แต่ในที่นี้มุ่งหมายจะชี้แจงเรื่องเงินโดยเฉภาะจึงจะขอกล่าวเรื่องเงินตราต่อไปก่อน

ชาติทั้งหลายได้ใช้ธาตุเงินกับทองเปนเงินตรามาแต่ดั้งเดิมนั้น ก็เพราะเหตุที่ได้ชี้แจงมาก่อนแล้วว่า ธาตุ ๒ อย่างนี้เปนของหายาก และราคาไม่สู้จะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงต่างกันนัก จึงได้ใช้เปนเงินตรามาได้โดยยืดยืน แต่ก่อนราคาเงิน ๑๕ บาท ๒ สลึงเท่ากับทองหนัก ๑ บาท เรียกกันโดยย่อว่าสิบห้าหนักกึ่ง มาในสมัยนี้ราคาเงินตกต่ำลงกว่าเก่าเสมอไป เพราะเหตุที่วิธีทำบ่อแร่เงินและหาบ่อเงินได้เนื้อมากเกินส่วนทองที่หามาได้ในสมัยเดียวกัน เมื่อเปรียบแต่เงินกับทอง ๒ อย่างเท่านี้ ถ้าราคาเงินตกราคาทองก็ต้องสูงขึ้นหรือถ้าจะเปรียบสินค้าสารพัดอย่างกับธาตุเงินและทองซึ่งต้องนับว่าเปนสินค้าด้วยเหมือนกัน ถ้าราคาธาตุเงินและทองแพงขึ้นโดยเหตุที่หายาก หรือมีผู้ต้องการมากขึ้นอย่างใด ราคาสินค้าอื่นเมื่อเปรียบกันกับเงินและทองก็ต้องตกต่ำอยู่เอง และถ้าราคาสินค้าทั้งหลายแพงขึ้นโดยทั่วไป เมื่อเปรียบกันกับราคาเงินและทอง ก็จะเปนเพราะเหตุที่จะเห็นได้อย่างหนึ่งว่า เพราะเงินและทองมีมากขึ้น แต่เรื่องที่เงินทองหรือสรรพสิ่งที่ใช้แทนเงินทองได้จะมากขึ้นหรือน้อยลง จะแพงขึ้นหรือถูกลงยังจะมีเหตุอย่างอื่นช่วยประกอบได้อีก แต่ข้อนี้จะได้อธิบายต่อภายหลัง

กรุงสยามแต่ก่อนมาใช้ธาตุเงินเปนมาตราอย่างเดียว ครั้นราคาธาตุเงินในตลาดตกต่ำลงเรื่อยไป และราคานั้นไม่ค่อยจะยั่งยืนอยู่เสมอได้หมั่นขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ ราคาสินค้าทั้งปวงก็ต้องขึ้น ๆ ลง ๆ หมั่นสูงหมั่นต่ำไปตามกัน และเมื่อกรุงสยามต้องซื้อของและขายสินค้าออกไปตามนา ๆ ประเทศที่ใช้มาตราทองเปนส่วนมากขึ้น ราคาสินค้าทั้งหลายในเมืองก็ยิ่งจะขึ้น ๆ ลง ๆ ไปตามราคาเงินด้วย ในที่สุดนา ๆ ประเทศแทบทั่วโลกเปลี่ยนมาตราเงินเปนมาตราทองไปตามกันเสียแล้ว ยังเหลือแต่ประเทศสยาม ประเทศจีน และเมืองญวน เมืองตังเกี๋ยที่ใกล้เคียงซึ่งเปนเมืองขึ้นฝรั่งเศส ที่ยังคงใช้มาตราเงินอยู่อย่างเดิม รัฐบาลสยามเห็นว่าเปนการเสียเปรียบและเปนความลำบากแก่การค้าขาย โดยที่ราคาสินค้าต้องวิ่งขึ้นลงไม่ยั่งยืนแน่นอนอยู่ได้ยืดยาวเพียงใดนั้น ในรัตนโกสินทรศก ๑๒๗ จึงได้เปลี่ยนมาตราเงินเปนมาตราทองคำดังที่ได้ใช้อยู่ทุกวันนี้เปนต้น ตามพระราชบัญญัติรัตนโกสินทรศก ๑๒๗ กำหนดเอาเงินบาทเปนจำนวนหน่วยแห่งวิธีเงินตราสยาม ให้สมมุติว่า เปนเหรียญบาททองซึ่งมีส่วนธาตุทองคำบริสุทธิ์หนัก ๕๕.๘ เซนติแกรม

คำที่ใช้ในพระราชบัญญัติว่า เหรียญบาททองเปนจำนวนหน่วยแห่งวิธีเงินตราสยามนั้น ต้องแปลความว่า ในวิธีนับเงินตามกฎหมายนี้ต้องนับแต่เงินบาทเปนใหญ่ ผิดกันกับวิธีนับเงินแต่เมื่อยังใช้มาตราเงินอยู่ ในสมัยนั้นนับเงินตราเปนจำนวนชั่ง ตำลึง บาท ประดุจเดียวกันกับมาตราชั่งน้ำหนัก

เงินตราบาทหนึ่งซึ่งมีน้ำหนักแต่ส่วนเงินแท้อยู่เพียง ๑๓ แกรมครึ่ง ให้แลกทองบริสุทธิ์ได้ ๕๕.๘ เซนติแกรม และส่วนเงินตรา ๑ บาทนั้นให้แบ่งออกเปนเศษส่วนได้ ๑๐๐ สตางค์ กำหนดเหรียญกระสาปน์ให้มีกำหนดดังต่อไปนี้

ทองทศ ๑ เหรียญมีราคา ๑๐ บาท แล้วยังมีเงินปลึกเปนเงินตราเหรียญละ ๒ สลึงกับสลึงหนึ่งส่วนเงินเฟื้องอย่างเก่าให้เลิกเสีย ให้มีเหรียญนิเกอร์ ๑๐ สตางค์กับ ๕ สตางค์ และตัวสตางค์เปนทองแดง

ทองทศเหรียญหนึ่งให้มีเนื้อทองบริสุทธิ์ ๙๐๐ ส่วนปนทองแดง ๑๐๐ ส่วน มีน้ำหนัก ๖.๒ แกรม

เหรียญบาทเหรียญหนึ่งมีเงินบริสุทธิ์ ๙๐๐ ส่วนปนทองแดง ๑๐๐ ส่วน มีน้ำหนัก ๑๕ แกรม แต่เงินปลีกเหรียญ ๒ สลึงกับสลึงหนึ่งนั้นให้มีเนื้อเงินบริสุทธิ์เพียง ๘๐๐ ส่วนปนทองแดง ๒๐๐ ส่วนมีน้ำหนักตามเศษส่วนของเหรียญบาท เหตุที่ต้องผสมทองแดงลงในทองและเงินนั้น ก็เพื่อประสงค์จะให้เงินเหรียญเงินตรานั้นแขงขึ้น และสึกหรอบุบฉลายยากกว่าทองและเงินบริสุทธิ์

เหรียญกระสาปน์ทองทศกับเหรียญบาทนั้น พระราชบัญญัติกำหนดให้เปนเงินตราซึ่งเจ้าหนี้จำต้องรับโดยไม่จำกัดจำนวน ส่วนเงินเหรียญปลึกให้เปนเงินตราซึ่งเจ้าหนี้จำต้องรับแต่เพียงจำนวนที่มีราคา ๕ บาท เหรียญนิเกอร์และสตางค์ทองแดงเพียงราคา ๑ บาทในกฎหมายข้อนี้หมายความว่า ถ้าลูกหนี้เปนหนี้เงินอยู่ ๑๐๐ บาท จะเก็บแต่ล้วนเหรียญเงินปลีกรวมเปนราคาถึง ๑๐๐ บาทไปใช้ หรือจะเก็บเหรียญนิเกอร์และสตางค์ทองแดงไปใช้จนเต็มจำนวนไม่ได้ ถ้าหากว่าเจ้าหนี้ไม่ยอมรับ เจ้าหนี้ต้องจำเปนยอมรับตามกฎหมายเงินปลึกเพียงราคา ๕ บาท และเหรียญนิเกอร์กับสตางค์เพียงราคา ๑ บาทเท่านั้น ส่วนเหรียญกระสาปน์ต่างประเทศไม่ให้นับว่าเปนเงินตราซึ่งเจ้าหนี้จำต้องรับ

ตามพระราชบัญญัติที่อ้างว่ารัฐบาลสยามเปลี่ยนมาตราเงินมาใช้เปนมาตราทองนั้นก็พึงเปนอันเข้าใจกันได้ว่า รัฐบาลแห่งเดียวที่มีอำนาจจะพิมพ์เหรียญกระสาปณ์ เหรียญบาทและเหรียญปลีก ทั้งเหรียญนิเกอร์และสตางค์ทองแต่งได้มากน้อยตามที่รัฐบาลจะเห็นสมควรว่า การซื้อขายแลกเปลี่ยนของบ้านเมืองจะต้องการใช้เหรียญบาท และเหรียญปลีกต่าง ๆ นั้นหมุนเวียนอยู่สักเท่าใด รัฐบาลตั้งราคาเหรียญเงิน เหรียญนิเกอร์และทองแดงสูงกว่าราคาตลาดที่จริงของธาตุต่าง ๆ นั้นเพียงใด รัฐบาลก็มีกำไรเพียงนั้น แต่ส่วนเหรียญทองกระสำฝนผู้ใดจะต้องการสักเท่าใดก็ได้ ถ้าหากว่าผู้นั้นนำทองไปขอให้รัฐบาลพิมพ์ให้ตามพระราชบัญญัติ ถ้ามีผู้นำทองคำซึ่งมีเนื้อทองบริสุทธิ์อยู่ไปส่งให้รัฐบาลหนัก ๑๐๐ บาท รัฐบาลจะพิมพ์เหรียญทศ หรือเหรียญบาทแทนค่าทองให้เปนจำนวนเงิน ๒,๖๘๐ บาท แต่ถ้าจะส่งทองให้รัฐบาลไทยที่ประเทศยุโรป ไม่ขนทองเข้ามาส่งในกรุงเทพฯ แล้วรัฐบาลได้รับทองบริสุทธิ์หนัก ๑๐๐ บาท หรือหนัก ๑,๕๐๐ แกรมแล้ว รัฐบาลจะใช้เงินให้ในกรุงเทพฯ เปนราคาเพียง ๒,๖๖๒ บาทเท่านั้น ตามส่วนนี้คิดคำนวณพอตรงกันกับราคาเงิน ๑๓ บาทเท่ากับ ๑ ปอนด์สตอร์ลิงอังกฤษ

แต่การที่รัฐบาลกำหนดค่าแลกเงินตราสยามกับเงินตราอังกฤษลงเช่นนี้เพื่อเฉภาะชั่วครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง โดยเหตุที่รัฐบาลยังไม่ทันจะจัดการรับทองที่มีผู้จะเอามาส่งในกรุงเทพฯ ให้กรมกระสาปน์พิมพ์เปนเหรียญทองขึ้นเท่านั้น

ค่าแลกเปลี่ยนเงินในระหว่างประเทศต่อประเทศที่แท้จริงตามกฎธรรมดาของการแลกเปลี่ยน ราคาเงินที่แลกเปลี่ยนกันนั้นจะขึ้นลงต่างกันได้เพียงใดจะต้องสุดแล้วแต่จำนวนเงินมากน้อยที่ประเทศฝ่ายหนึ่งจะต้องใช้หนี้ฝ่ายหนึ่งในการค้าขายเปนใหญ่ นอกจากนี้ไม่มีผู้ใดจะมีอำนาจตั้งกำหนดการแลกเปลี่ยนเงินในระหว่างประเทศต่อประเทศให้ยั่งยืนตลอดไปได้ แต่ความข้อนี้จะชี้แจงให้เลอียดในที่นี้หาได้ไม่จำจะต้องงดไว้ชี้แจงในหมวดหลัง ๆ ต่อไป เพราะยังไม่ได้ชี้แจงลักษณะเงินในหมวดนี้ตลอดไปได้

ได้กล่าวมาข้างต้นหลายครั้งแล้วว่า การค้าขายที่เปนอยู่ทุกวันนั้น ความเจตนาที่แท้จริงมีอยู่แต่ว่าจะเอาสิ่งของข้างฝ่ายหนึ่งไปแลกกันกับสิ่งของอิกฝ่ายหนึ่ง มุ่งหมายจะต้องการสิ่งของนั้นมาเปนประโยชน์ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่ได้ปราถนาจะเอาเงินทองเปนใหญ่ก็จริง แต่โดยเหตุที่ต้องใช้เงินทองในการแลกเปลี่ยนซื้อขายทุกครั้งไป จึงอาจเห็นไปได้ว่าการค้าขายเปนเครื่องที่ปราถนาจะเอาเงินทองเปนใหญ่ยิ่งกว่าอื่น แต่เมื่อมาคิดดูว่าเงินทองที่ได้มาไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้เลย จนกว่าจะได้ใช้เงินนั้นออกไปเสียอิกแล้ว จึงจะได้ประโยชน์กลับคืนมา ผู้ขายเมื่อขายของได้รับเงินสดหรือขายเชื่อไป ได้รับสัญญาของผู้ซื้อว่าจะใช้ค่าสิ่งของให้นั้น เท่ากับได้ไว้เปนพยานว่าผู้ขายได้ขายของไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับสิ่งของตอบแทนเปนค่าแลกเปลี่ยน ได้รับเงินไปหรือรับสัญญาที่ผู้ซื้อจะใช้เงินนั้นไป ก็เพื่อว่าผู้ขายจะต้องการของใช้เปนประโยชน์ให้คุ้มค่าสิ่งของที่ได้ขายไปนั้นเมื่อไร จะได้เอาเงินซึ่งถือไว้เปนพยานอยู่นั้นไปแลกเอาสิ่งของในตลาด หรือไปแลกเอาแรงผู้อื่นมาใช้ได้เพียงราคาเงินนั้นตามชอบใจ การซื้อขายเช่นนี้ผิดกันกับการแลกของซึ่งกันแลกันตรง ๆ ในการแลกของเช่นนี้ ผู้แลกทั้ง ๒ ฝ่ายได้ของไปใช้ตามความปราถนาได้ทันที แต่ได้เฉภาะสิ่งเดียวที่แลกเปลี่ยนกันมาเท่านั้น จะปราถนาของอย่างอื่นอีกไม่ได้ แต่การแลกของซึ่งให้เงินเปนของกลางไว้แทน และเงินนั้นเปนกำหนดราคาสิ่งของที่ได้แลกไปพร้อมอยู่ด้วยแล้ว ผู้ที่ได้เงินไปจะเก็บเงินไว้ช้านานสักเท่าใด โดยที่ยังจะไม่ต้องการของมาใช้หรือจะไม่ใช้เงินนั้นเลย เอาไปให้บุตรภรรยาหรือผู้หนึ่งผู้ใดเพื่อผู้นั้นจะได้หาของมาใช้ได้ตามชอบใจของเขา หรือมิฉนั้นจะเอาเงินไปแลกกับของอย่างอื่นเพื่อจะเอาของนั้นไปขายต่อไป อย่างที่ทำมาแล้วอิกกี่ครั้งกี่หนก็ได้

ลักษณะของเงินมีคุณวิเศษช่วยการแลกทรัพย์การค้าขายได้สดวกเปนอันมาก เมื่อเงินสักแต่ว่าเปนอำนาจจะซื้อของใช้ได้ในวันหน้าเช่นที่กล่าวมาแล้ว ลักษณะของเงินก็เท่ากันกับว่าเปนความเชื่อหนี้กันอย่างหนึ่ง ดีกว่าใบสัญญาใช้หนี้ที่กล่าวมาเพียงแต่ว่าใบสัญญานั้นยังไม่ถึงกำหนดสัญญา ผู้ถือจะเอาสัญญาไปแลกของใช้ไม่ได้ ผู้ถือสัญญามีกรรมสิทธิ์อยู่แต่เพียงว่าจะเรียกร้องเอาค่าจากผู้ทำสัญญาหรือลูกหนี้นั้นคนเดียว ถ้าหากว่าลูกหนี้นั้นล้มละลายหรือหลบหนีสูญหายไปอย่างใด ผู้ถือกรรมสิทธิ์ไม่ได้ค่าของกลับคืนตามสัญญาความเชื่อหนี้นั้นก็เปนอันใช้ไม่ได้ ข้างฝ่ายผู้ที่ถือเงินอยู่มีกรรมสิทธิ์จะเรียกร้องเอาค่าจากมหาชนได้ทั่วไป เงินนั้นตกไปถึงมือผู้ใดผู้นั้นก็เกิดมีกรรมสิทธิ์อันแน่นอนขึ้นในค่าสิ่งของสารพัดอย่าง ที่มีราคาเท่ากันกับเงิน แต่ถึงฉนั้นก็ดีสัญญาเชื่อหนี้กันแม้แต่จะไม่แน่นอนมั่นคงเหมือนตัวเงิน ก็อาจใช้ทำธุระได้แทบเท่าเทียมกันกับเงินเหมือนกัน เพราะเหตุฉนี้การซื้อเชื่อขายเชื่อมีราคาเปนจำนวนเงินมากกว่าการซื้อขายกันด้วยเงินสดเปนหลายส่วน

การใช้เงินสดก็ต้องประกอบด้วยความเชื่อของผู้ถือเงิน ว่าจะใช้เงินนั้นซื้อของได้จริง ถ้าไม่ฉนั้นเงินชนิตที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์อยู่นั้นจะหามีคุณค่าสักเท่าใดไม่ เปนต้นว่า ถ้าเงินที่ถืออยู่นั้นไม่ใช่เงินจริงหากเงินปลอมหรือบุบฉลายไม่เต็มราคาตามมาตราเหรียญกระสาปน์ การที่มีความเชื่อถือในเงินนั้นหมดไปเงินก็หาประโยชน์มิได้

การซื้อเชื่อขายเชื่อโดยที่ยึดถือแต่ใบสัญญาใช้เงินไว้แทนเงินสดก็เหมือนกัน ถ้าความเชื่อเปนอันใช้ไม่ได้เช่นเงินปลอมอย่างที่ว่านี้ สัญญานั้นก็เปนอันไม่มีราคาเพราะหมดความเชื่อกันเสียแล้ว

เมื่อการใช้เงินและการเชื่อหนี้เปนใหญ่อยู่ที่ความเชื่ออย่างเดียวแล้ว ถึงโดยว่ารัฐบาลจะลดน้ำหนักเนื้อทองหรือเงินให้น้อยลงกว่าที่มีอยู่ในเหรียญบาทเดี๋ยวนี้สักเท่าไร ถ้าหากว่าคนยังเชื่อกันอยู่ว่าเหรียญกระสาปณ์ที่รัฐบาลทำใหม่ ย่อมลง เบาลงนั้นยังคงแลกเปลี่ยนซื้อสินค้าหรือจ้างแรงทำการได้เท่าราคากันกับเมื่อก่อนนั้นแล้ว เหรียญกระสาปน์ที่ลดน้ำหนักน้อยลงนี้ ก็เปนอันว่าไม่ผิดราคาอะไรกันกว่าเก่าเลย จนถึงที่สุดแม่รัฐบาลจะเก็บเงินเหรียญกระสำปน์ที่ใช้หมุนเวียนอยู่เข้าพระคลังมหาสมบัติเสียทั้งสิ้น แล้วพิมพ์ธนบัตร์ออกจำหน่ายใช้ทดแทนเงินนั้น ถ้าคนเชื่อว่าราคาที่จาฤกไว้ในธนบัตร์อาจแลกสินค้าที่มีราคาเท่ากันได้อย่างเหรียญกระสาปน์เดิมแล้ว, ธนบัตร์ซึ่งเปนแต่กระดาดแผ่นเดียวก็มีราคาประดุจดังเงินทองแท้จริง

ประเทศต่าง ๆ ที่ใช้ธนบัตร์แทนเงินกระสาปน์เปนพื้นก็มีอยู่ในปัจจุบันนี้หลายประเทศ คือประเทศปอร์ตุกัด (Portugal) สะเปน (Spain) อิตาลี (Italy) คริศ (Greece) ออสะเตรีย (Austria) เตอร์กี (Turkey) กับประเทศรัสเซีย (Russia) เปนต้น ธนบัตร์หรือเงินกระดาดเหล่านี้ผู้ถือไม่มีอำนาจที่จะเรียกร้องเปลี่ยนเอาทองเงินตามราคาที่กำหนดไว้ในธนบัตร์นั้นกลับคืนได้ ผิดกันกับลักษณะธนบัตร์ของรัฐบาลสยามที่ใช้กันอยู่ทุกวัน แลผิดกันกับลักษณะธนบัตร์ที่ใช้กันอยู่ในประเทศอังกฤษ (England) เยอรมัน (Germany) ฮอแลนด์ (Holland) เบลเยี่ยม (Belgium) ฝรั่งเศส (France) ซึ่งผู้ถือธนบัตร์มีอำนาจจะแลกเปลี่ยนเรียกร้องเอาเงินกลับคืนได้เท่าราคาในธนบัตร์

เมื่อเงินที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่มีจำนวนเปนเหรียญกระสาปน์ทองเงิน เปนธนบัตร์เงินกระดาดและเปนจำนวนเงินซึ่งใช้กันในสัญญาเชื่อหนี้ทั้งหลายปะปนกันอยู่เปนอันมากแล้ว ก็เปนอันเหลือนิสัยที่จะกะประมาณได้ถูกต้อง ว่าในคณะใดตำบลไหนจะมีเงินเหล่านี้ใช้หมุนเวียนอยู่มากน้อยเท่าใด แม้แต่เปนประเทศเดียวตำบลเดียวเงินที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่ก็อาจมาก ๆ น้อย ๆ ได้ เปนเวลาเปนวัน หรือเปนฤดูกาลซึ่งการค้าขายแลกทรัพย์ซึ่งกันแลกันอาจขยันขันแข็งขึ้นหรือลดหย่อนลง เปนต้นว่าในกรุงเทพฯ ซึ่งการค้าขายสารพัดอย่างต้องอาศรัยเข้าผลเพาะปลูกในท้องนาเปนใหญ่ เมื่อถึงฤดูเข้าสุกราษฎรเกี่ยวออกขายในคราวเดียวกันทั่วไปในแผ่นดิน แน่แล้วผู้ซื้อก็ต้องการเงินออกจำหน่ายซื้อเข้าเปนจำนวนเงินมากมายผิดกันกว่าเมื่อเวลาแรกราษฎรตั้งต้นไถคราดที่นานั้นเปนอันมาก ข้างฝ่ายชาวนาได้รับเงินค่าเข้าแล้วก็เอาเงินนั้นออกจำหน่ายใช้ซื้อสิ่งของสารพัดอย่าง ซึ่งเขาจะต้องการใช้ ในที่สุดในฤดูเข้าออกนี้การค้าขายทั่วไปในกรุงสยามต้องขยันขันแขงมากขึ้นกว่าปรกติ และเพราะฉนั้นจึงต้องใช้เงินหมุนเวียนในการค้าขายชั่วฤดูนั้นมากขึ้น ในชั่วฤดูราษฎรชาวนาขายเข้ากันชุกชุมเพียงในกำหนด ๔ เดือนเท่านั้นทุน ๑๐๐ บาทอาจทำธุระสักแต่ว่าซื้อเข้าขายเข้า กลับไปกลับมาได้ตั้ง ๒๐ ครั้ง ใช้เงิน ๑๐๐ บาทนั้นทำธุระซื้อเข้าขายเข้าได้เปนราคาถึง ๒,๐๐๐ บาทเปนต้น นอกจากการค้าเข้ายังมีการใช้จ่ายในเรื่องขนเข้าส่งเข้าต่อ ๆ ไปนั้นอิกเปนอเนกประการ เงินจากต่างประเทศก็ไหลเข้ามาในเวลานั้นด้วย ส่งเงินเข้ามาใช้ค่าเข้า หรือส่งสินค้าเข้ามาขายเอาเงินซื้อเช้ากลับออกไปเปนต้น โรงสีหรือกำปั่นแลเรือเล็กน้อยรวมทั้งพลโยธาที่ทำการในชั่วฤดูที่อาศรัยสินค้าเข้าเปนใหญ่นั้น พลอยขยันขันแขงทั่วไปหมด เปนเวลาที่จำเปนต้องจำหน่ายใช้เงินหมุนเวียนทั้งเงินสดแลเงินเชื่อหนี้ ซึ่งมีในสัญญาหรือในบาญชีมากขึ้นกว่าปรกติหลายเท่า ลูกค้าที่ไม่มีทุนพอก็เที่ยวกู้หนี้ยืมสิน หรือเอาทรัพย์สมบัติออกจำนำพอจะได้เงินไปใช้ในการค้าขายเมื่อเวลาชุกชุมนั้นชั่วครั้งชั่วคราวจนสิ้นฤดูแล้วจึงเก็บเงินไปใช้หนี้เขา ในขณะนี้เงินนั่งเงินนอนต่าง ๆ ก็ต้องไหลออกมาใช้หมุนเวียนอยู่ด้วย

เมื่อการค้าเข้าซาลง การค้าขายทั้งหลายต้องพลอยซาตามไปด้วย เงินที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในตลาดก็ต้องลดน้อยถอยลงตามกัน จำนวนเงินหมุนเวียนในบ้านเมืองจึงอาจมาก ๆ น้อย ๆ ได้ตามเหตุที่ยกมาอ้างเปนตัวอย่างนี้เปนต้น

ได้ชี้แจงลักษณะเงินมาถึงเพียงนี้ ก็พอได้ความแล้วว่า อำนาจของเงินที่มหาชนนิยมกันใช้เปนของกลางในการแลกทรัพย์ และเปนเครื่องกำหนดตั้งราคาของทรัพย์ที่แลกเปลี่ยนกันนั้น ช่วยทำธุระในการค้าขายได้ดีเพียงไร กระทำให้การค้าขายดำเนินไปได้โดยสดวก จึงเปนการส่งเสริมความจำเริญของมนุษย์ ในการปันหน้าที่กันทำงานตามความสนัดความชำนาญ ให้ได้แลกเปลี่ยนผลของแรงทำการต่าง ๆ ได้โดยสดวก แลการที่รัฐบาลแซกมือเข้ามาทำเหรียญกระสาปน์ขึ้นใช้ กระทำให้ราษฎรมีความเชื่อถือมั่นคงยิ่งขึ้นนั้น ก็ช่วยส่งเสริมความสดวกในการค้าขายให้มากขึ้นอีกชั้นหนึ่งด้วย

ต่อนี้ไปยังจะมีเรื่องที่จะชี้แจงยกเหตุผลมาให้เห็นว่า เขตรชั้นของการทำเงินออกใช้หมุนเวียนในบ้านเมือง ไม่เลือกว่าเหรียญกระสาปน์ธนบัตร์ หรือจำนวนเงินเชื่อหนี้อย่างใดนั้น รวมทั้งสิ้นจะมีจำนวนพอดีพอสมควรกับความต้องการใช้ในการแลกทรัพย์สักเพียงไหน ถ้าเงินใช้หมุนเวียนมีน้อยไปหรือมากเกินไปกว่าความต้องการ จะมีผลดีร้ายอย่างใดบ้าง แต่ความอธิบายข้อนี้จะต้องยกไว้พลางก่อน, จำจะต้องชี้แจงลักษณะ และผลดีร้ายซึ่งจะเกิดขึ้นจากเหรียญกระสาปน์ที่ตกต่ำมีน้ำหนักหรือมีเนื้อเงินและทองในเหรียญกระสาปน์นั้นน้อยไปกว่าราคาที่จริง หรือราคาตลาดของธาตุเงินและทองที่เปนอยู่ในขณะเดียวกันนั้นเสียก่อน ต่อไปจึงจะชี้แจงผลดีและร้ายของจำนวนเงินหมุนเวียนที่จะมีมากไปหรือน้อยไปกว่าความต้องการใช้นั้นได้ถนัด

ลักษณะเหรียญกระสาปน์ที่ตกต่ำ

รัฐบาลมีอำนาจแต่ฝ่ายเดียวที่จะทำเหรียญกระสาปน์ขึ้นใช้ในบ้านเมือง แลการที่ทำเหรียญกระสาปน์นี้จะไม่คิดเอาค่าทำหรือจะคิดเอาค่าทำ หรือจะเลยหากำไรในการทำเหรียญกระสาปน์นั้น ต่อไปอิกสักเท่าใดก็ได้ อำนาจของรัฐบาลนี้จะมีที่สิ้นสุด หรือมีเหตุขัดขวางขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความเชื่อถือของราษฎรในรัฐบาลนั้นจะน้อยไป ถ้าราษฎรยังเชื่อถือมั่นคงอยู่แล้ว แม้ว่ารัฐบาลจะคิดค่าทำเหรียญกระสาปน์นั้น ถึงกับจะเอากำไร ๑๐๐ ละ ๑๐๐ เช่นกับทธนบัตร์ออกจำหน่ายแทนเงินได้

ในพงษาวดารของโลกแต่ก่อนมาเคยมีเยี่ยงอย่างอยู่ว่า เมื่อถึงสมัยใดเกิดการศึกสงครามหรือการฉิบหายอย่างหนึ่งอย่างใดในบ้านเมือง พระเจ้าแผ่นดินขัดเงินใช้ในราชการเข้าเมื่อใด บางคราวบางสมัยที่หันลงเบียดแว้งเอากำไรในการทำเงินนั้น เปนต้นว่าเงินปอนด์ของประเทศอังกฤษ แต่ชั้นเดิมมีน้ำหนักเต็ม ๑ ปอนด์ น้ำหนักนี้ค่อยลดถอยลงทีละเล็กน้อย จนเท่ากันกับน้ำหนักของเนื้อเงินใน ๒๐ ชิลลิงที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ แต่ถ้าถึงกับจะยกพงษาวดารของแผ่นดินอังกฤษและประเทศอื่น ๆ ในยุโรปมากล่าวในที่นี้ว่า เมื่อครั้งไหนแผ่นดินใดผลร้ายของการที่เหรียญกระสาปน์ตกต่ำลงจะมีอย่างใดบ้างนั้น ก็จะเปนความเลอียดเกินความต้องการของการศึกษาทรัพยสาตร์แต่เพียงในชั้นประถมนี้ไป จะย่อแต่ใจความมากล่าวพอให้เห็นเท่านั้น

เงินบาทที่ใช้อยู่ในกรุงสยามทุกวันนี้ แต่ก่อนมีราคาใกล้กับความจริงของราคาธาตุเงินที่มีอยู่ในตลาด มาบัดนี้รัฐบาลเปลี่ยนมาตราเงินเปนมาตราทอง ตั้งเหรียญกระสาปน์เงิน ๑ บาทเปนหน่วยของมาตราสยาม และให้สมมุติว่าราคาเงินตราบาท ๑ นั้น เท่ากันกับทองบริสุทธิ์หนัก ๕๕.๘ เซนติแกรม แต่น้ำหนักเงินแท้ของเงินบาทนั้นมีอยู่เพียง ๑๓ แกรมครึ่ง ซึ่งที่แท้จริงต่ำกว่าราคาทอง ๕๕.๘ เซนติแกรมในขณะนี้มาก เศษที่ต่ำกว่านี้เปนกำไรของรัฐบาลในการทำเหรียญกระสาปน์ ส่วนทองทศราคา ๑๐ บาทนั้นไม่เอากำไรเกินค่าทำที่แท้จริงไป

เมื่อรัฐบาลยังใช้มาตราเงินอยู่ ราคาธาตุเงินในตลาดไม่สู้จะห่างไกลกันกับราคาเงินในเหรียญบาทนั้น พวกช่างเงินช่างทองทั้งหลาย เมื่อจะทำของรูปพรรณ์ขึ้นใช้ พึงจะยุบเงินบาทลง ทำเปนเครื่องใช้ต่าง ๆ เปนพื้น การที่รัฐบาลต้องลงทุนซื้อธาตุเงินมาพิมพ์เปนเหรียญกระสาปน์ขึ้นนั้น ก็เปนอันว่าป่วยการไปมาก ทำขึ้นแล้วมีคนเอาไปยุบเสีย ก็ต้องหมั่นทำขึ้นเรื่อยไป ครั้นมาภายหลังเปลี่ยนเปนมาตราทองเนื้อแลน้ำหนักเงินบาทคงมีอยู่ตามเดิม แต่รัฐบาลให้สมมุติราคาสูงขึ้นเท่ากับน้ำหนักทอง ๕๕.๘ เซนติแกรม ราคาที่แท้จริงในเงินบาทจึงสูงเกินไปกว่าธาตุเงินที่ขายกันอยู่ในตลาดมาก การนี้ก็เปนอันป้องกันไม่ให้พวกช่างทั้งหลายเอาเหรียญกระสาปน์ไปยุบหลอมได้ต่อไป เพราะเหตุที่จะซื้อเนื้อเงินตายได้ถูกกว่าเงินในเหรียญกระสาปน์นั้นเปนอันมาก ธรรมดาราคาสินค้าสารพัดอย่างอาจขึ้น ๆ ลง ๆ เช่นคราวเปนสมัยอยู่เสมอ ถ้าบังเอินราคาธาตุเงินในตลาดสูงเกินราคาเงินบาทไปเมื่อใด พวกพ่อค้าคงจะต้องรวบรวมเงินบาทนี้ยุบหลอมออกไปขายในทันที เมื่อถึงคราวเช่นนี้ ถ้ารัฐบาลไม่ทำเงินที่น้ำหนักเบายิ่งไปกว่าออกใช้แทนแล้ว เงินบาททั้งสิ้นที่มีอยู่คงจะไหลออกไปนอกประเทศหมด เหตุที่รัฐบาลไม่เติมน้ำหนักเงินบาทขึ้นอีกนั้นก็เพื่อจะป้องกันทางนี้ด้วย

แต่ในขณะเมื่อเนื้อเงินที่มีอยู่ในเหรียญกระสาปน์ยังตกห่างไกลกันกับราคาธาตุเงินในตลาดนั้น ถึงจะอย่างใดก็ไม่มีใครจะเห็นดีที่จะยุบเงินออกไปขายต่างประเทศ เพราะเหตุว่าเงินนั้นถึงจะเบาน้ำหนักอย่างไร ก็ยังซื้อของได้ราคาเท่ากันกับราคาทองที่รัฐบาลสมมุติตั้งลงไว้

ราคาเหรียญกระสาปน์จะตกต่ำไปกว่าราคาทองที่รัฐบาลสมมุติไว้ได้ ก็จะเปนเมื่อรัฐบาลทำเหรียญกระสาปน์เช่นนั้นออกจำหน่ายใช้สรอยเพิ่มเติมจำนวนเงินหมุนเวียนซึ่งต้องการใช้สำหรับการค้าขายนั้นจนมากเกินส่วนที่ควรไป แลจะเห็นปรากฎได้ว่า เงินที่ใช้หมุนเวียนกันในบ้านเมืองจะมากเกินส่วนที่สมควรไป ก็เมื่อขณะที่ราคาสินค้าทั่วไปในบ้านเมืองจะแพงยิ่งขึ้นกว่าปรกติ เปนต้นว่าถ้าทองบริสุทธิ์หนัก ๕๕.๘ เซนติแกรม ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้เท่าราคากับเงิน ๑ บาทนั้นจะซื้อของนอกประเทศชนิดหนึ่งได้ แต่ในประเทศสยามจะต้องซื้อของชนิดเดียวกันนั้นแพงขึ้นไปถึง ๑ บาท ๕๐ สตางค์ โดยที่ไม่คิดกำไรแลค่าส่งของชนิดนั้นด้วยเปนต้นแล้ว ก็เปนอันเห็นได้ตรงว่าเงินหมุนเวียนในบ้านเมืองมีมากเกินจำนวนที่ควรไปถึง ๑๐๐ ละ ๕๐ เงินหมุนเวียนในบ้านเมืองจึงตกราคาตามส่วนนั้น เปนการตรงกันกับกฎธรรมดา ที่ว่าของสิ่งใดมีมากเหลือเกินไปกว่าความต้องการแล้ว ของสิ่งนั้นจำเปนต้องตกราคา

เงินหมุนเวียนในบ้านเมืองมีมากเกินต้องการไป เงินนั้นก็ต้องตกราคา เมื่อเงินตกราคา สินค้าที่ต้องแพงขึ้นเปนเครื่องถ่วงกันอยู่เช่นนี้เสมอ

เงินหมุนเวียนในบ้านเมือง ซึ่งมีธนบัตร์ที่รัฐบาลทำออกจำหน่ายปนอยู่ด้วยอีกส่วนหนึ่งนั้นก็เหมือนกัน จำหน่ายธนบัตร์ออกมากเกินไป หรือจำหน่ายเหรียญกระสาปนออกมากเกินไป ก็เปนอันว่าเพิ่มเติมเงินหมุนเวียนขึ้นด้วยกันทั้ง ๒ อย่าง จะแก้ไขให้ราคาสินค้าทั่วไปถูกลงจนเท่ากับราคาสินค้านอกประเทศได้ ก็มีทางเดียวที่รัฐบาลจะต้องถอนเงินกระสาปน์แลธนบัตร์ที่จำหน่ายเกินไปนั้นขึ้นเก็บไว้เสีย ถอนออกจากเงินหมุนเวียน จนกว่าจำนวนนั้นจะลดน้อยถอยลง เมื่อลดน้อยถอยลงแล้ว ราคาเงินต้องกลับแพงขึ้น หรือราคาสินค้ากลับถูกลงตามเดิม ความข้อนี้เปนข้อสำคัญอันใหญ่ยิ่งที่รัฐบาลจำจะต้องคอยระวังอยู่อย่างกวดขันเสมอ ถ้ารัฐบาลไม่คอยระวังรักษาการอยู่เช่นนั้น ขืนจำหน่ายธนบัตร์หรือเหรียญกระสาปนออกใช้ยิ่งมากเกินไป ราคาสินค้าในบ้านเมืองก็ยิ่งจะแพงหนักขึ้น รัฐบาลจะได้กำไรที่พิมพ์กระดาด อันไม่มีราคาออกใช้แทนเงิน หรือได้กำไรในการพิมพ์เหรียญกระสาปน์ที่ราคาต่ำออกจำหน่ายฝ่ายเดียว แต่ราษฎรทั้งแผ่นดินจะต้องขาดทุนเพราะต้องซื้อของแพงตามส่วนที่รัฐบาลได้กำไร ถ้าการเปนเช่นนี้เหรียญกระสาปน์จะตกต่ำราคาไป จนถึงกับว่าถ้ายุบลงเปนทองแท่ง เงินแท่งส่งออกไปแลกสินค้านอกประเทศได้มากกว่าที่จะแลกสินค้าในประเทศเมื่อใด เหรียญกระสาปน์ทั้งสิ้นจะต้องละลายไหลออกไปนอกประเทศหมด จะเหลืออยู่แต่ธนบัตร ซึ่งจำจะต้องตกราคาลงตามส่วนเงินหมุนเวียนที่เกินต้องการนั้นอยู่เสมอ ถ้าธนบัตร์มีมากเกินส่วนถึง ๑๐๐ ละ ๕๐ ธนบัตร์นั้นก็ต้องตกราคาลงถึง ๑๐๐ ละ ๕๐ เปนต้น ถ้าเปนเช่นนี้ราคาธนบัตร์ ๗๕ บาทจะเท่ากับราคา ๕๐ บาทที่สมมุติตั้งไว้ในมาตราทอง

ความจริงอาจเปนได้เช่นกล่าวมานี้ เหตุนี้จึงเปนเหตุหนึ่งซึ่งจะเปนเขตรขั้นกั้นกางไม่ให้รัฐบาลทำเหรียญกระสาปนที่ต่ำราคาหรือที่เต็มราคาก็ดี หรือธนบัตร์ก็ดี ออกใช้มากเกินไปกว่าความต้องการใช้หมุนเวียนในบ้านเมือง

เพื่อจะชี้แจงความข้อนี้ให้ชัดขึ้น จะอุประมาว่ามีเมืองค้าขายอยู่ ๒ เมืองคือเมือง ก. กับเมือง ข. ใช้เงินอย่างเดียวกัน แต่ต้องการจำนวนเงินหมุนเวียนใช้เปนส่วนที่พอจะกระทำให้พิกัดราคาสินค้าเหมือนกันทั้ง ๒ ฝ่าย อุประมาเสียว่าลักษณะการใน ๒ เมืองนี้คงเปนดังที่กล่าวมาปรกติอยู่เสมอไป

ครั้นอยู่มาบังเอิน เมือง ก. มีเงินใช้มากขึ้นกว่าเก่าในปัจจุบันทันที เช่นกับไปพบขุมทรัพย์ หรือบ่อทองขึ้นใหม่ ขุดได้ทองเปนความมั่งมีขึ้นเปนอันมาก เมื่อมีโชคดีเกิดขึ้นเช่นนี้ทันที จำนวนเงินใช้ก็พึงจะมีมากขึ้น แต่จำนวนสินค้าในพื้นเมืองมีคงที่อยู่เท่าเดิม ไม่มีเวลาพอที่จะมีสินค้าเพิ่มเติมเข้ามาทัน เหตุที่เงินมีมากขึ้นจึงกระทำให้สินค้าในเมืองนั้นแพงขึ้นตามส่วนทุกอย่าง

ข้างฝ่ายเมือง ข. รู้ว่าราคาสินค้าในเมือง ก. สูงกว่าราคาสินค้าในเมือง ข. ก็ขนสินค้าเมือง ข. เข้าไปขายในเมือง ก. บ้างได้กำไรเท่าใดก็ขนเอาเงินทองของเมือง ก. กลับออกไปเมือง ข. ข้างฝ่ายราษฎรเมือง ก. เห็นว่าสินค้าในเมือง ข. ราคาถูกกว่าสินค้าในเมือง ก. ก็ช่วยขนเงินทองเมือง ก. ออกไปแลกสินค้าเมือง ข. ในที่นี้เปนอันร่วมคิดกันขนเงินทองเมือง ก. ไปให้เมือง ข. แลขนสินค้าเมือง ข. ไปให้เมือง ก. ไม่ช้านานสักเท่าใดเงินทองในเมือง ข. ก็จะเกิดมีมากขึ้นเพราะการแลกเปลี่ยนนี้จนเท่าเทียมเสมอกัน เมื่อมีจำนวนเงินเสมอกันแล้วราคาสินค้าทั้ง ๒ ฝ่ายก็ต้องกลับคืนลงเสมออยู่เท่าลักษณะที่เปนอยู่แต่เดิมมาทั้ง ๒ เมือง เงินที่มีใช้ในเมืองพอเท่าเทียมกันกับราคาปรกติของสินค้าดังที่เปนอยู่แต่ก่อน การค้าขายในระหว่างนา ๆ ประเทศเปนอยู่เช่นนี้ เมืองใดมีเงินใช้มากราคาของในเมืองนั้นแพง เมืองอื่นก็ส่งสินค้าเข้าไปแลกเอาเงินของเมืองนั้นไปเปนประโยชน์ ถ้าเมืองใดมีเงินน้อยราคาสินค้าในเมืองนั้นต่ำ เมืองที่มีเงินมากก็ส่งเงินเข้าไปซื้อหรือแลกเอาสินค้าที่ราคาต่ำนั้นไป ธรรมดาการค้าขายพึงจะจัดระเบียบแต่ลำพังตัวเองได้ จนราคาของทั้งปวงจะพอสม่ำเสมอกันลงทั่วไปดังที่กล่าวมานี้เปนต้น

สินค้าที่ทำด้วยฝีมือช่างต่างประเทศโดยมากอย่าง ที่ขายกันถูกกว่าราคาสินค้าที่จะทำได้ในกรุงสยามนั้น เราต้องการมากมายเพียงใด ไม่มีเงินทองจะส่งออกไปซื้อก็ส่งเข้าที่ทำได้ในบ้านเมืองออกไปแลกเขามา เข้าเปนสินค้าที่มีมากเหลือเกินกว่าพลเมืองจะบริโภคเปนอันมาก ถ้าไม่เอาเข้าออกไปแลกสินค้าอื่นเข้ามาใช้ ราคาเข้าในเมืองจะตกต่ำลงกว่าเดี๋ยวนี้เปนอันมาก ข้างฝ่ายนา ๆ ประเทศจะต้องการเข้าซึ่งเหลือใช้ของเรานั้นไปบริโภคบ้างก็ส่งสินค้าที่เหลือใช้ของเขาเข้ามาแลกเอาไป

ความเจตนาของการค้าขายต่างประเทศก็เปนอันว่าถ้อยทีก็จะแลกสินค้าซึ่งมีเหลือใช้อยู่ทั้ง ๒ ฝ่ายซึ่งกันแลกัน เมืองอังกฤษมีเครื่องเหล็กเหลือใช้การงานในบ้านเมือง แต่ไม่มีไม้ที่ดีอย่างไม้สักจะใช้ต่อเรือ ก็ต้องส่งเครื่องเหล็กหรือสินค้าอย่างอื่นที่เหลือใช้นั้นมาขายแลกเอาไม้สักไป ข้างฝ่ายเราต้องการเครื่องเหล็กมากกว่าไม้สักที่มีอยู่ในพื้นเมือง ถึงไม้สักจะหายากอยู่บ้างก็ยังหาได้ง่ายกว่าเครื่องเหล็กที่เรายังทำไม่เปน การแลกเปลี่ยนจึงมีประโยชน์ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย

ราคาทองกระสาปน์เงินกระสาปน์แลราคาธาตุทองธาตุเงินตามราคาตลาดในพระราชบัญญัติมาตราทองคำ ร.ศ. ๑๒๗ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น รัฐบาลบัญญัติลงไว้ว่าจำนวนหน่วยแห่งวิธีเงินตราสยาม ให้สมมุติว่า เปนเหรียญบาททองซึ่งมีส่วนธาตุทองคำบริสุทธิ์หนัก ๕๕.๘ เซนติแกรม แลเหรียญบาทเงินซึ่งมีส่วนเนื้อเงินบริสุทธิ์หนัก ๑๓ แกรมครั้งนั้น ให้มีราคาเท่ากับเนื้อทองบริสุทธิ์หนัก ๕๕.๘ เซนติแกรมที่ได้กล่าวมาแล้ว

เนื้อความเปนดังนี้ก็เปนอันเห็นได้ชัดว่าเงินตราสยามเปนเหรียญบาททองมีราคาที่แท้จริงเท่ากับทองบริสุทธิ์หนัก ๕๕.๘ เซนติแกรม แต่ส่วนเหรียญบาทเงินซึ่งมีเนื้อเงินบริสุทธิ์อยู่ ๑๓ แกรมครึ่งนั้น สักแต่ว่าให้สมมุติเอาว่าเปนราคาเท่ากับเหรียญบาททองเท่านั้น น้ำหนักทองกับเงินที่ได้กำหนดลงสำหรับเหรียญบาททองแลเหรียญบาทเงินนี้และ ที่หมายความจะให้เรียกว่าราคาทองกระสาปน์ เงินกระสาปน์ เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนมาตราเงินมาเปนมาตราทอง และได้กำหนดน้ำหนักทองลงเปนราคาเช่นที่กล่าวมานั้น ก็เปนอันว่าเหรียญบาททองของเราจะซื้อหรือแลกสินค้าสารพัดอย่างไม่เท่ากันกับที่ธาตุทองบริสุทธิ์ ที่มิได้ตีตราเปนเหรียญกระสาปน์จะแลกสินค้านั้นในตลาดได้ ส่วนเหรียญบาทเงินซึ่งสักแต่ว่าให้เปนเครื่องหมายราคาของเหรียญบาททองในมาตราทองนั้น น้ำหนักเงินบริสุทธิ์มีอยู่เท่าใด ก็จะแลกสินค้าได้เพียงเท่ากับที่ธาตุเงินทั่วไปจะแลกได้เท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะบังคับให้ธาตุเงินหนัก ๑๓ แกรมครึ่งซึ่งยังมิได้ตีตราเปนเหรียญกระสาปน์ แลกสินค้าทั่วไปได้เท่ากับที่ธาตุทองหนัก ๕๕.๘ เซนติแกรมจะแลกได้

ราคาทองกับธาตุเงินในตลาดจะขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่เสมออยู่ได้ ในเวลานี้ราคาธาตุเงินในตลาดก็ต่ำกว่าราคาเนื้อเงินในเหรียญกระสาปน์มาก เพราะฉนั้นถ้าหลอมยุบเหรียญบาทเงินลงแล้วคงจะแลกสินค้าได้น้อยกว่าทองหนัก ๕๕.๘ เซนติแกรม

ราคาธาตุทองแต่งกับธาตุนิเก้อล์ที่มีอยู่ในเหรียญสตางค์แลเหรียญนิเก้อล์นั้น ก็ต่ำกว่าราคาธาตุทองแดงแลธาตุนิเก้อล์ในตลาดประตุจเดียวกันกับธาตุเงินที่มีในเหรียญบาท เหรียญกระสาปน์ที่เปนเหรียญปลึกต่าง ๆ นี้สักแต่ว่าเปนเครื่องหมายราศส่วนแบ่งย่อยของเหรียญทอง ซึ่งเปนหลักอยู่ในวิธีเงินตราสยามเท่านั้น

เหรียญกระสาปน์ที่สึกหรอบุบฉลาย

ในประเทศใดมีเหรียญกระสาปน์ทองเงินที่สึกหรอโดยอาการที่ใช้หรือโดยเหตุใดเหตุหนึ่ง ซึ่งน้ำหนักตกต่ำไปกว่ากำหนดที่ได้ตั้งลงไว้ในกฎหมาย และถ้ารัฐบาลทำเหรียญกระสาปน์ใหม่ที่มีน้ำหนักเต็มบริบูรณ์ขึ้นใช้เพิ่มเติมปะปนกันอยู่กับเหรียญที่สึกหรอนั้นด้วยแล้ว ถ้าลักษณะการเช่นนี้เปนอยู่ในประเทศใดก็คงจะมีผลเกิดขึ้นเพราะเงินตราที่ดีแลชั่วปะปนกันอยู่นั้นได้ ๒ ประการ ๑ ผู้ขายของอาจมีความรังเกียจที่จะรับเงินซึ่งบุบฉลายเลือกรับเอาแต่เงินใหม่ที่มีน้ำหนักเต็มอัตรา หรือถ้าได้เงินที่บุบฉลายก็จะขายของให้แต่น้อย ถ้าเงินดีเต็มน้ำหนักก็จะขายของให้มาก ตั้งราคาของขายต่างกันไป สุดแล้วแต่ว่าผู้ซื้อจะเอาเงินบุบฉลายหรือเอาเงินเต็มน้ำหนักมาซื้อ เปนอันว่าราคาเงินที่บุบฉลายนั้นตกต่ำลงกว่าราคาเงินที่มีน้ำหนักเต็ม ๒ หรืออิกประการหนึ่ง ถ้ากฎหมายแผ่นดินบังคับไม่ให้ผู้ใดตีราคาเงินเก่าใหม่ให้ผิดกันไป พวกที่ค้าธาตุเงินทองเห็นจะได้เปรียบก็จะเลือกเก็บเอาแต่ล้วนเหรียญกระสาปน์ใหม่ที่เต็มน้ำหนักนั้นเข้ากักไว้เสีย หรือยุบหลอมลงเปนลิ่มเปนก้อนส่งออกไปขายต่างประเทศจนสิ้น เมื่อเงินบุบฉลายกับเงินเต็มน้ำหนักซึ่งใช้ปะปนอยู่มีผลขึ้นเช่นนี้แล้ว ก็จะเปนความตรงกันกับกฎธรรมดา ซึ่งนักปราชญ์ได้ชี้แจงไว้ว่า เงินชั่วอาจขับไล่เงินดีสูญหายไปจากการใช้หมุนเวียนในบ้านเมือง หรือขับไล่เงินดีออกไปเสียนอกประเทศได้หมด

ในพระราชบัญญัติมาตราทองคำรัตนโกสินทรศก ๑๒๗ ยังมีความสำคัญข้อใหญ่ที่จะพิจารณาอิกข้อหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวด้วยหลักอันเปนที่ตั้งของมาตราทอง คือในหมวดที่ ๓ มาตรา ๑๑,-๑๒, มีความว่า ผู้ใดนำทองคำไปส่งยังกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จะขอรับแลกเปนเงินกระสาปน์ทอง ก็ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจ่ายเหรียญกระสาปน์ทองให้ตามพิกัดเนื้อทองคำบริสุทธิ์หนัก ๑๐๐ บาท เปนราคา ๒,๖๘๐ บาทถ้วน แต่ไม่จำเปนจ่ายในขณะที่ได้รับเนื้อทองไว้ ต้องให้มีเวลาอันสมควรที่พอจะทำเนื้อทองคำนั้น ให้เปนเหรียญกระสาปน์ขึ้นได้จึงจ่าย หรือถ้าผู้ที่นำเนื้อทองคำมาส่งนั้นยอมรับแลกเงินตราซึ่งเจ้าหนี้จำต้องรับตามกฎหมายไม่เลือกว่าชนิดใด ถ้าสดวกก็ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจ่ายให้ทันใด แลในหมวดที่ ๗ มาตรา ๒๓ มีความว่า ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดตั้งเงินทุนสำรองขึ้น กันเปนส่วนไว้แพนกหนึ่งสำหรับรักษาราคาแลกเปลี่ยนระหว่างเงินตราสยามกับเงินตราต่างประเทศไว้ให้ยืนที่มั่นคง

ยังมีประกาศเพิ่มเติมแก้มาตรา ๑๑ - ๑๒ ที่กล่าวมาแล้วต่ออิกว่าในขณะที่รัฐบาลยังรับทองในกรุงเทพฯ ไม่ได้นั้น ให้งดความในมาตรา ๑๑ - ๑๒ ที่อ้างไว้ชั่วครั้งหนึ่งคราวหนึ่งก่อน แต่ให้กระทรวงพระคลังรับเนื้อทองได้ในเมืองต่างประเทศ ถ้าเปนเช่นนี้ รัฐบาลได้รับทองคำบริสุทธิ์หนัก ๑๐๐ บาทก็ให้กระทรวงพระคลังจำหน่ายเงินตราให้ที่ในกรุงเทพฯ นี้ ๒,๖๖๒ บาท หรือถ้าได้รับทองอังกฤษ ๑ ปอนด์ให้จ่ายเงินให้ ๑๓ บาท

รัฐบาลหยุดการทำเหรียญกระสาปน์เงินบาทมาตั้งแต่ศก ๑๒๖ จนถึงศก ๑๓๔ นี้หลายปีแล้ว ก็ยังไม่ได้ทำเหรียญกระสาปนเพิ่มเติมขึ้นใหม่เลย เหตุนี้เปนเพราะเงินเหรียญบาทเก่า ยังมีใช้หมุนเวียนอยู่ในบ้านเมืองเปนอันมาก และถ้าหากว่าเงินเหรียญบาทนั้น จะไม่เพียงพอกันกับความต้องการใช้ก็ยังมีธนบัตร์ที่รัฐบาลพิมพ์ออกจำหน่ายใช้แทนเงินเหรียญกระสาปน์เพิ่มเติมหมุนเวียนอยู่ในบ้านเมืองมากขึ้นเสมอไป

เขตร์ชั้นที่รัฐบาลจะจำหน่ายธนบัตรแลเหรียญกระสาปน์ออกใช้เปนจำนวนเงินหมุนเวียนอยู่ได้สักเพียงใดนั้น จะต้องสุดแล้วแต่ความต้องการใช้ของมหาชนในแผ่นดินเปนใหญ่ ถ้าจำนวนเงินใช้หมุนเวียนมีเงินตราธนบัตรรวมทั้งเงินเชื่อหนี้ต่าง ๆ ด้วย ยังไม่พอกับความต้องการใช้ เหตุที่ไม่พอนี้อาจกระทำให้ราคาสินค้าสาระพัดอย่างในบ้านเมืองตกราคาไปได้ แต่การที่จะเห็นว่าสินค้าตกราคานั้น ก็จะเห็นได้จากราคาเงินบาทหนึ่งซึ่งกำหนดว่าเท่ากับราคาทอง ๕๕.๘ เซนติแกรมนั้นจะซื้อของในกรุงสยามได้มากกว่าที่จะซื้อของอย่างเดียวชนิดเดียวกันนั้นข้างฝ่ายนอกประเทศ ถ้าเปนเช่นนี้ก็จะมีผลว่าสินค้านอกประเทศจะเข้ามาในเมืองน้อยไปกว่าปรกติ เพราะเหตุที่สินค้าในเมืองตกราคา ส่วนสินค้าขาออกนอกประเทศอันเปนผลที่ทำขึ้นในบ้านเมืองนั้น เมื่อราคาตกไปชาวต่างประเทศก็จะนำทองมาส่งรัฐบาล แลกเงินตราหรือธนบัตรของรัฐบาลออกจำหน่ายซื้อสินค้าในเมืองที่ราคาต่ำออกไปขายเอากำไรนอกประเทศ เปนการช่วยจัดการในตัวเองให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่มเติมขึ้นใช้ในบ้านเมืองได้อีก จนกว่าเงินหมุนเวียนนั้นจะมีมากพอกับที่จะกระทำให้สินค้าสาระพัดอย่างในเมืองมีราคาสูงขึ้นเปนปรกติตามสมควร การที่เงินหมุนเวียนมใช้น้อยไปนั้น จึงไม่สู้จะมีอันตรายไปได้ยืดยืนช้านานสักเท่าใด

แต่อีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าหากว่ารัฐบาลทำธนบัตรแลเงินเหรียญกระสาปน์ออกจำหน่ายโดยอาการฟูมฟายมากเกินไปกว่าความต้องการใช้หมุนเวียนในบ้านเมืองเหรียญกระสาปน์เงินมีเนื้อต่ำกว่าราคาทองที่กำหนดไว้อยู่แล้ว ยังมิหนำธนบัตรนั้นเปนแต่กระดาดที่มีข้อสัญญาว่ารัฐบาลจะใช้เหรียญกระสาปน์นั้นเองเปนเครื่องถ่ายถอนธนบัตรอยู่แล้ว ถ้าเงินหมุนเวียนในแผ่นดินมีจำนวนมากเกินไปกว่าความต้องการใช้แล้ว ราคาสินค้าสาระพัดอย่างในบ้านเมืองก็อาจสูงขึ้นกว่าปรกติได้ตามส่วนจำนวนเงินหมุนเวียนที่มีมากกว่าความต้องการ เมื่อสินค้าในบ้านเมืองแพงขึ้น ชาวต่างประเทศเห็นว่าเอาสินค้าต่างประเทศเข้ามาขายจะมีกำไรดี ก็จะขนสินค้าทับถมเข้ามาขายในบ้านเมืองมากขึ้นกว่าปรกติ แลมากขึ้นไปจนกว่าสินค้าเหล่านั้นจะเหลือเกินความต้องการใช้ของราษฎรในพื้นเมือง ถ้าถึงเช่นนี้ของในตลาดมีดื่นมากเกินส่วนไป ของนั้นก็ต้องตกราคาอยู่เอง แต่ถึงเช่นนั้นก็ดี สินค้าต่างประเทศที่เข้ามาขายในบ้านเมือง เมื่อเวลาที่ราคาสินค้ายังสูงอยู่กว่าปรกติทั่วไปนั้น ชาวต่างประเทศขายของได้เงินตราสยามไปแล้วจะเอาเงินนั้นซื้อสินค้าอันเปนผลที่เกิดในแผ่นดินสยามส่งออกไปขายต่างประเทศไม่ได้ เพราะเหตุว่าราคาสินค้าที่กล่าวนั้นแพงเกินไป เมื่อชาวต่างประเทศเอาสินค้าออกไปไม่ได้แล้ว ก็มีอยู่ทางเดียวแต่ที่จะเอาเงินตราสยามที่ขายของได้นั้นมาส่งกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ขอแลกเอาทองของรัฐบาลไป ตามกำหนดราคาปอนด์ละ ๑๓ บาทที่รัฐบาลได้ตั้งไว้ แลถ้าหากว่ารัฐบาลไม่เก็บธนบัตรแลเงินบาทที่มีใช้อยู่มากเกินไปนั้นกลับคืนเข้ากักไว้เสียในพระคลัง หรือยังขืนจำหน่ายธนบัตร์ออกใช้เรื่อยไปอีกแล้ว ชาวต่างประเทศจะต้องขนเอาทองซึ่งเปนส่วนที่รัฐบาลจัดตั้งเปนเงินทุนสำรองขึ้นไว้สำหรับรักษาราคาแลกเปลี่ยนระหว่างเงินตราสยามกับเงินตราต่างประเทศ ให้ยืนที่มั่นคงอยู่ได้นั้นไปเสียจนหมดสิ้น และทุนสำรองเพียงเท่ากับที่มีอยู่เดี๋ยวนี้อาจหมดไปได้โดยรวดเร็ว เพราะเหตุว่าเปนจำนวนทุนน้อยส่วนกว่าเงินที่ใช้หมุนเวียนอยู่หลายเท่านัก ความอันตรายใหญ่อาจเกิดขึ้นเพราะการที่เงินใช้หมุนเวียนในบ้านเมืองจะมีมากเกินส่วนความต้องการไปได้เช่นนี้ ถ้าทองที่เปนทุนสำรองของรัฐบาลหมดไป และเพื่อจะรักษาราคาแลกเปลี่ยนเงินตราสยามกับเงินตราต่างประเทศให้ยืนที่มั่นคงอยู่ให้ได้ตามพระราชบัญญัติ รัฐบาลจำเปนจะต้องกู้ทองต่างประเทศมาเพิ่มเติมทุนสำรองขึ้นอีก ถ้าไม่ทำเช่นนี้ราคาเงินตราสยามจะตกต่ำลงฮวบฮาบได้ทันที จะต่ำลงจนกว่าราคาเนื้อเงินที่มีอยู่ในเงินบาทนั้น จะกลายเปนราคาธาตุเงินในตลาดหรือยิ่งต่ำไปกว่านั้น เปนอันหมดราคาทองที่ได้สมมุติตั้งขึ้นไว้สำรับเงินบาทเปนแน่แท้ เมื่อราคาเงินหมุนเวียนในบ้านเมืองตกต่ำลงเช่นนี้ ราคาสินค้าสาระพัดอย่างก็อาจแพงขึ้นตามส่วนราคาเงินที่ตกต่ำนั้นไป ความอันตรายอาจมีได้ดังความที่กล่าวเช่นนี้ ความสำคัญมีอยู่ที่ตรงว่ารัฐบาลซึ่งเปนผู้ทำเงินตราแลธนบัตรออกจำหน่ายได้แต่ฝ่ายเดียวนั้น จะต้องคอยระวังที่จะมิให้ความพลั้งเผลอในการจำหน่ายเงินตราแลธนบัตรมากเกินส่วนที่ควรไป ความระวังจะต้องไปเพ่งเลงอยู่ที่ตรงราคาสินค้าเข้าออก ซึ่งจะขึ้น ๆ ลง ๆ เพาะเหตุอื่น ๆ ได้อิกหลายประการนั้นเปนต้น

วิธีเงินตราสยามที่เปลี่ยนจากมาตราเงินมาเปนมาตราทอง โดยที่รัฐบาลให้สมมุติว่า เหรียญบาททองเปนจำนวนหน่วยแห่งวิธีเงินตราสยาม แต่ยังไม่มีเหรียญกระสาปน์ทองใช้ในบ้านเมือง จึงบังคับให้ใช้เหรียญบาทเงิน เปนเงินตราสยามซึ่งเจ้าหนี้จำต้องรับโดยไม่จำกัดจำนวน แต่โดยที่รัฐบาลให้สมมุติว่าเหรียญบาทเงินมีราคาเท่าทองคำบริสุทธิ์หนัก ๕๕.๘ เซนติแกรมซึ่งเปนการยกราคาเนื้อเงินที่มีอยู่ในเหรียญบาทให้สูงกว่าราคาธาตุเงินตายที่ซื้อขายกันอยู่เปนสินค้าอย่างหนึ่งในตลาดของโลกนั้น เพื่อจะรักษาราคาแลกเปลี่ยนระหว่างเงินตราสยามกับเงินตราต่างประเทศไว้ให้ยืนที่มั่นคงอยู่ได้ รัฐบาลเข้ารับเอาหน้าที่ ๆ จะรับแลกทองในเมืองต่างประเทศ เปนราคา ๒,๖๖๒ บาทต่อทองบริสุทธิ์หนัก ๑๐๐ บาทหรือรับแลกทองปอนด์อังกฤษ ๑ ปอนด์เปนราคาเงิน ๑๓ บาท ลักษณะการใช้เงินหมุนเวียนในกรุงสยามที่เปนอยู่ทุกวันนี้ ก็ดูปรกติเรียบร้อยอยู่ได้ตามความปราถนาของรัฐบาลทุกอย่าง ราคาค่าแลกเปลี่ยนเงินตราสยามกับต่างประเทศ ไม่ขึ้น ๆ ลง ๆ ห่างไกลกันโดยรวดเร็วได้เหมือนเมื่อยังใช้มาตราเงินอยู่แต่ก่อน ก็เปนอันว่ารัฐบาลช่วยการค้าขายในบ้านเมือง แลในระหว่างกรุงสยามกับต่างประเทศให้สดวกดีขึ้นยิ่งกว่าเก่าเปนอันมาก ดังที่จะได้ยกข้อสำคัญบางข้อมาชี้แจงให้เห็นว่า ในการที่รัฐบาลเข้าแบกหามรับจัดตั้งค่าแลกเปลี่ยนเงินตราสยาม กับเงินตราต่างประเทศให้ยั่งยืนอยู่ได้นั้น รัฐบาลทำคุณให้แก่ชาติอย่างไรบ้าง คือ:-

๑. แต่เดิมมาเมื่อราคาเงินในตลาดมีส่วนแลกกับทองเปนส่วน ๑๕ หนักกึ่งหรือราวปอนด์ละ ๘ บาท โดยที่เปรียบกับเงินตราอังกฤษ ราคาของในกรุงสยามสารพัดอย่างไม่แพงเหมือนอย่างทุกวันนี้ อาหารการกินอุดมทั่วไป เข้าสารไม่เกินถังละ ๒ สลึงเปนต้น แม้ว่าในขณะนั้นราษฎรจะหาเงินได้ยากก็จริง แต่ความอัตคัดในการเลี้ยงชีพน้อย ความศุขก็ต้องมีมากตามส่วนกัน

๒. มาภายหลังธาตุเงินในตลาดตกราคาลงเรื่อยไปไม่ใคร่จะมีเวลากลับตัวสูงขึ้นได้ ตกต่ำเสมอมาจนถึงส่วนแลกเปลี่ยนเงินกับทองเกือบถึง ๔๐ หนัก เมื่อเปนเช่นนี้ ผู้มีทรัพย์สมบัติสะสมเก็บเปนเงินตราไว้ในกรุงสยามก็ต้องยากจนลงตามส่วนนั้น เพราะว่าราคาเงินตกต่ำลงเพียงใด ราคาสินค้าสารพัดอย่างก็แพงขึ้นตามกันเปนธรรมดา แต่ก่อนเงิน ๒ สลึงซื้อเข้าได้ถึงหนึ่ง มาชั้นหลังต้องใช้เงินมากขึ้นไปถึง ๖ สลึงจึงจะซื้อเข้าได้เท่านั้น อำนาจของเงินบาทที่จะแลกของได้ต่ำไปเพียงใด เจ้าของเงินก็จนลงเพียงนั้น จนลงโดยไม่ใช่ความผิดอะไรของตัวเลย

๓. การที่ราคาเงินกับทองหมั่นขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่นั้นเปนความขัดข้อง แลเปนความไม่แน่นอนสำหรับการค้าขายเปนอันมาก เปนต้นว่าพ่อค้าลงทุนซื้อของต่างประเทศเปนราคาทอง ๑ ปอนด์ ซึ่งในขณะนั้นมีค่าแลกเปลี่ยนกับเงินตราสยามเท่า ๑๕ บาท ครั้นขายไปแล้ว ถึงเวลาจะใช้หนี้ บังเอินราคาเงินบาทตกต่ำไปเปน ๑๗ บาทต่อปอนด์ พ่อค้าจะต้องใช้หนี้เขาเปนทองปอนด์ ก็ต้องเสียค่าแลกถึง ๑๗ บาท ขายของได้ ๑๕ บาทเท่านั้น ก็เปนอันว่าขาดทุนไป ๒ บาทเปล่า ๆ อิกประการหนึ่ง ถ้าพ่อค้าในกรุงเทพฯ ซื้อเข้าเพื่อจะส่งไปขายประเทศยุโรปเปนราคาหาบละ ๘ บาท ซึ่งในขณะนั้นค่าแลกเงินปอนด์เปน ๑๖ บาทต่อปอนด์ เข้าหนึ่งหาบจะขายได้ราคาครึ่งปอนด์ ครั้นส่งเข้าออกไปถึงยุโรป ขายได้ราคาเปนทองแล้ว บังเอินในระหว่างเวลานั้นเงินบาทในกรุงเทพฯ ขึ้นราคาไปถึง ๑๕ บาทต่อปอนด์เปนต้น ค่าแลกเปลี่ยนผิดไปบาท ๑ พ่อค้าเข้าจะแลกเงินได้ค่าเข้าที่ขายไปกลับคืนแต่เพียงราคาหาบละ ๗ บาท ๒ สลึงเท่านั้น ขาดทุนไป ๒ สลึง ในค่าแลกเงิน (ในคำเปรียบนี้ไม่คิดกำไรธรรมดาแลค่าใช้สรอยในการขายเข้านั้นเข้าด้วย) เมื่อการซื้อขายค้ากำไรเปนอันไม่แน่นอนได้ตามคาดหมายเช่นนั้นแล้ว การค้าขายก็คล้ายกับการพนันไป พ่อค้าเพื่อจะกันความขาดทุนในค่าแลกเงินที่อาจขึ้น ๆ ลง ๆ ได้โดยรวดเร็วนั้น ก็มีทางเดียวแต่ที่จะกะราคาซื้อสินค้าในเมืองให้ต่ำ และกะราคาขายสินค้าไว้ให้สูงมากกว่าส่วนกำไรที่ควรจะได้ตามธรรมดา ตั้งราคาเผื่อไว้เปนส่วนที่เห็นว่าพอจะคุ้มกันกับการขาดเหลือที่อาจเปนไปเพราะค่าแลกเงิน เมื่อการเปนเช่นนี้ พลเมืองก็ต้องขายของราคาถูก แลซื้อของราคาแพงเกินส่วนที่ควรอยู่เสมอ ส่วนที่เกินนั้นพ่อค้าเอาไว้สำหรับทดแทนค่าแลกเปลี่ยน

๔. พวกที่ส่งสินค้าออกไปขายนอกประเทศพึงจะได้เปรียบพลเมืองในราคาของที่ซื้อส่งออกไปนั้นเนือง ๆ เพราะค่าแลกเงินในขณะที่เงินบาทตกราคา แลพวกพ่อค้าที่เอาของต่างประเทศเข้ามาขายในเมืองก็อาจได้เปรียบพลเมืองผู้ซื้อด้วย เปนต้นว่าในขณะหนึ่งค่าแลกเงินเปนราคา ๑๖ บาทต่อปอนด์ ประมาณเสียว่าราคาเข้าในขณะนั้นเกวียนละ ๙๖ บาท เปนราคาทอง ๖ ปอนต์ ซึ่งราษฎรชาวนาขายให้แก่โรงสีเปนราคาปรกติอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว มาภายหลังเงินบาทตกราคาเปนปอนด์ละ ๑๘ บาท พวกโรงสีในชั้นต้น เมื่อราษฎรยังไม่รู้ตัวก็คงจะซื้อเข้าราษฎรยืนราคาเดิมอยู่เพียงเกวียนละ ๙๖ บาทเสมอ แท้ที่จริง เมื่อเงินตกราคาลงถึงปอนด์ละ ๒ บาทเช่นนั้น ถ้าคิดตามราคาทองเกวียนละ ๖ ปอนด์ราคาเข้าก็คงจะขึ้นไปถึง ๑๐๘ บาท ผิดเงินกัน ๑๖ บาทซึ่งจะเปนลาภของโรงสีได้เรื่อยไปจนกว่าโรงสีต่อโรงสีด้วยกันจะประมูลราคาเข้าขึ้นให้แก่ชาวนาจนถึง ๑๐๘ บาทตามที่เขาควรจะได้ตามราคาทอง กำไรของโรงสีรายนี้ได้จากเนื้อชาวนาตรง ๆ

อีกประการหนึ่ง ข้างฝ่ายพวกพ่อค้าที่ส่งของต่างประเทศเข้ามาขายพลเมือง ถ้าขณะใดเงินบาทขึ้นราคา พวกพ่อค้าขายของต่างประเทศก็อาจมีกำไรได้มากเปนทำนองเดียวกันกับการขายออกนอกประเทศ เมื่อเวลาเงินบาทตกราคา เปนต้นว่าในขณะหนึ่ง ค่าแลกเงินเปนราคาปอนด์ละ ๑๘ บาท พ่อค้าซื้อผ้าราคา ๑ ปอนด์เข้ามาขายในกรุงเทพฯ เปนราคาเงิน ๑๘ บาทตรงกัน (โดยที่ไม่ได้คิดไปถึงกำไรแลค่าใช้สรอยบวกเข้าด้วย) มาภายหลังเงินบาทขึ้นราคาเปนปอนด์ละ ๑๖ บาท แต่ราษฎรเคยซื้อผ้าพับละ ๑๘ บาทมาแล้ว เมื่อไม่รู้ว่าราคาค่าแลกเงินขึ้นลงเมื่อใด ก็ยังต้องหลงซื้อราคา ๑๘ บาทอยู่นั่นเอง แท้จริงราคาของผ้าพับนั้นเปนแต่ ๑๖ บาท ผู้ขายสินค้าต่างประเทศได้กำไรเงิน ๒ บาทเพิ่มกำไรธรรมดาขึ้นอีกเปล่า ๆ พลเมืองต้องเสียเปรียบทั้งการซื้อแลการขายดังที่กล่าวนี้

๕. ราคาธาตุเงินตกต่ำลงเพียงใด ประเทศที่มีมาตราเงินซึ่งเปนหนี้ประเทศที่ใช้มาตราทองนั้น พึงจะต้องเปลืองเงินใช้หนี้มากขึ้นตามส่วนกันเสมอไป ได้ความลำบากเช่นประเทศจีนทุกวันนี้ แลเช่นประเทศอินเดียเมื่อยังใช้มาตราเงินอยู่นั้นเปนต้น รัฐบาลสยามในขณะนี้เปนหนี้ต่างประเทศอยู่ ๘ ล้านปอนด์ แลจะต้องส่งดอกเบี้ยแลต้นทุนคืนให้เจ้าหนี้ราวปีละ ๓๕๐,๐๐๐ ปอนด์ และถ้าประมาณว่านอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องซื้อของต่างประเทศเข้ามาใช้ มีเครื่องรถไฟแลอาวุธต่าง ๆ กับให้เงินเดือนข้าราชการที่อยู่ต่างประเทศเปนต้นนั้น ราวสักปีละ ๒๐๐,๐๐๐ ปอนด์รวมเปนเงิน ๕๕๐,๐๐๐ ปอนด์ ถ้าค่าแลกเงินตามราคาธาตุเงินในตลาดในขณะนี้ต่ำลงถึงปอนด์ละ ๒๐ บาท รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินถึงปีละ ๑๑ ล้านบาท แต่ถ้าต้องใช้เงินตามค่าแลกเงินซึ่งรัฐบาลตั้งไว้เปนปอนด์ละ ๑๓ บาทแล้วรัฐบาลจะเสียเพียงปีละ ๗,๑๕๐,๐๐๐ บาท เสียน้อยลงถึงปีละ ๓,๘๕๐,๐๐๐ บาทรายนี้เปนแต่ส่วนรัฐบาลจะต้องเสีย ถ้าคิดไปถึงส่วนคนสามัญที่จะต้องใช้หนี้เปนราคาทองอิกทั่วไป ซึ่งรวมทั้งสิ้นคงจะมากกว่าส่วนที่รัฐบาลต้องเสียอีกหลายเท่านั้น ก็เปนอันเห็นได้ว่า การที่เปลี่ยนมาตราเงินเปนมาตราทองกระทำคุณให้แก่แผ่นดินได้เพียงใดบ้าง ส่วนการเสียเปรียบที่ตรงว่าชาวต่างประเทศเปนหนี้ไทยนั้นแทบจะไม่มี เพราะว่าเราไม่ค่อยจะมีลูกหนี้ต่างประเทศ คำเปรียบที่กล่าวนี้ไม่ได้คิดรวบความไปถึงราคาสินค้าเข้าแลออกซึ่งค้าขายกันอยู่ทุกวัน การค้าขายเช่นนี้ผิดกันกับการกู้หนี้ที่มีสัญญากำหนดเวลาอันช้านาน การซื้อขายพึงจะตั้งราคากันตามค่าแลกเงินขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่เปนปรกติธรรมดา จะผิดเพี้ยนกันไปได้บ้างก็ไม่ช้านานได้

๖. เมื่อเวลาใช้มาตราเงิน แลราคาธาตุเงินหมั่นขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่นั้น ชาวต่างประเทศจะเอาทุนเข้ามาลงในบ้านเมืองหาสดวกไม่ เพราะราคาเงินกับทองไม่ยั่งยืนอยู่ได้นั้นเอง การขาดทุนอาจเกิดขึ้นได้เพราะค่าแลกเงินไม่ยั่งยืนนั้นต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา

ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับค่าแลกเงินนั้น ยังจะได้กล่าวในหมวดอื่นโดยเฉภาะต่อไปอีกต่างหาก แต่เมื่อได้ชี้แจงวิธีเงินตราสยามมาถึงเพียงนี้แล้ว ก็ควรจะยกวิธีใช้เงินตราของนา ๆ ประเทศมากล่าวพอเปนเรื่องสำหรับจะได้พิจารณาเปรียบเทียบกันบ้าง ในหมวด ๔ ต่อนี้ไปจะได้รวบรวมใจความในวิธีใช้เงินตราของนา ๆ ประเทศมากล่าว

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ