หมวด ๖ ว่าด้วยใบสำคัญต่าง ๆ ของการเชื่อหนี้ที่ใช้ได้ต่างเงินตรา

ตามธรรมดาในระหว่างเจ้าหนี้นั้น เจ้าหนี้คงจะต้องขอใบสำคัญสัญญาเปนคู่มือไว้โดยรูปหนึ่งรูปใดสักอย่างหนึ่งจากลูกหนี้ว่า ลูกหนี้เปนหนี้เงินซึ่งจะต้องใช้ให้เจ้าหนี้มากน้อยเท่าใดในกำหนดเวลาช้านานเพียงไหนเปนต้น หนังสือ/*380*/สำคัญสัญญาเหล่านี้ทำกันเปนรูปแลเปนวิธีต่าง ๆ ดังที่จะได้กล่าวต่อไป

. หนังสือสัญญาใช้เงินซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า ปรอมิสซารีโนต (Promisory Note) หรือใบสำคัญสั่งจ่ายที่เรียกว่า บิลออฟเอกสเชญ (Bill of Exchange) หนังสือสำคัญ ๒ อย่างนี้ตามธรรมเนียมการค้าขายใช้แทนเงินโดยวิธีโอนกรรมสิทธิ์ ขายจำนวนเงินหนี้ซึ่งมีอยู่ในหนังสือสำคัญนั้นต่อ ๆ ไปได้ หนังสือสัญญาใช้เงินตามธรรมดาก็มีความว่าลูกหนี้สัญญาจะใช้เงินให้เจ้าหนี้หรือตามคำสั่งของเจ้าหนี้หรือผู้ถือสัญญานั้น ในกำหนดเวลาหนึ่งเวลาใดเปนจำนวนเงินเท่าใด และถ้าไม่ใช้หนังสือสัญญารูปนี้ เจ้าหนี้จะเขียนคำสั่งให้ลูกหนี้ของตัวใช้เงินให้ตัวเจ้าหนี้เองหรือตามคำสั่งของเจ้าหนี้ หรือให้ใช้เงินให้แก่ผู้ใดฤๅตามคำสั่งของผู้นั้น หรือให้ใช้ให้แก่ผู้ถือใบสั่งจ่ายนั้นเท่าจำนวนเงินที่เปนหนี้ตามกำหนดเวลาที่ได้สัญญาไว้กับเจ้าหนี้ก็ได้ ใบสั่งจ่ายเช่นนี้เรียกว่า บิลออฟเอกสเชญ (Bill of Exchange) ซึ่งเปนรูปสัญญาใช้เงินที่ใช้กันอยู่เปนส่วนมาก เพราะเมื่อเจ้าหนี้เขียนใบสั่งจ่ายถึงลูกหนี้แลลูก/*381*/หนี้ได้เซนชื่อยอมรับลงไว้เปนสำคัญแล้ว เจ้าหนี้ผู้ถือใบสั่งจ่ายไว้เปนสำคัญมีอำนาจที่จะเรียกเงินคืนได้จากลูกหนี้เมื่อถึงกำหนดเวลา กฎหมายของนา ๆ ประเทศโดยมากก็ยอมให้โอนกรรมสิทธิ์แห่งใบสั่งจ่ายเช่นนี้ต่อ ๆ ไปได้ ผู้ใดได้ลงลายมือรับใช้หนี้ไว้บนหลังใบสั่งจ่ายนั้นแล้ว ก็เปนอันเข้าใจกันว่าผู้นั้นจะต้องรับใช้หนี้ตามจำนวนแลกำหนดเวลาในคำสั่งให้แก่ผู้ถือคำสั่งนั้น ผู้ถือใบสั่งจ่ายไว้เปนสำคัญนั้น ถ้าจะโอนกรรมสิทธิ์เงินในจำนวนนั้นให้ผู้อื่นต่อไป ได้เซ็นชื่อของตัวลงบนหลังใบสั่งจ่ายแล้ว ก็เปนอันโอนกันได้ตามกฎหมาย ผู้ถือใบสั่งจ่ายคนหลังที่สุดนั้นจะได้รับโอนมากี่ชั้นแล้วก็ดี เมื่อถึงกำหนดเวลาในใบสั่งจ่ายนั้นแล้วคงจะมีอำนาจไปเอาเงินกับผู้รับคำสั่งใช้หนี้ในชั้นแรกนั้นได้เสมอ บันดาผู้ที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ต่อมาแลได้เซ็นชื่อลงไว้ต้องเปนประกันรับใช้หนี้รายนั้นแก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ทุกคนไป เมื่อกฎหมายยอมให้เปนไปได้ดังที่กล่าวนี้แล้ว ใบสั่งจ่ายนั้นก็เปนอันว่าจะใช้แทนเงินได้ไปจนตลอดเวลาที่ได้กำหนดไว้ในใบสั่งจ่าย

ในการค้าขายที่มีการขายเหมาส่งสินค้ากันครั้งละมาก ๆ ที่เรียกกันว่าขายส่งนั้น โดยมากผู้ซื้อกับผู้ขายไม่ค่อยจะได้เอา/*382*/เงินทองออกมานับใช้หนี้กัน ผู้ซื้อได้รับของไปแล้วพึงจะเขียนใบสั่งจ่ายไปถึงลูกหนี้ของผู้ซื้อคนหนึ่งคนใด ว่าให้ใช้เงินให้แก่ผู้ขายตามคำสั่งของในกำหนดเวลาหนึ่งเวลาใด ผู้ขายของเมื่อได้รับใบสั่งจ่ายนี้แล้ว ก็นำใบสั่งจ่ายไปสอบกับผู้ที่จะต้องใช้เงิน ว่าจะยอมรับใช้ตามคำสั่งหรือไม่ ถ้ายอมแลได้ลงลายมือลงไปเปนสำคัญแล้วผู้ที่ขายสินค้านั้นจะคอยไปจนกว่าจะถึงกำหนดสัญญาแล้ว จึงจะไปถอนเงินมาจากผู้ที่รับจะใช้เงินรายนั้นก็ได้ หรือมิฉนั้นถ้าผู้ขายของไม่อยากจะคอยไปจนถึงกำหนดสัญญา เพราะปราถนาจะได้เงินสดไปทำธุระอื่นในทันที จะเอาคำสั่งจ่ายคือจำนวนเงินหนี้ที่มีอยู่ในใบสั่งจ่ายไปขายให้แก่ผู้อื่นต่อไปอีกก็ได้ สุดแล้วแต่จะตกลงราคากันว่าผู้ที่รับซื้อหนี้นั้นจะคิดเอาค่าน้ำเงินซึ่งเปนค่าป่วยการเงินที่ได้ทดรองล่วงหน้าไปให้ผู้ขายนั้น ๑๐๐ ละเท่าใด เมื่อตกลงกันแล้วผู้ขายก็ต้องเขียนชื่อลงลายมือสักหลังหนังสือนั้นมอบไว้ให้แก่ผู้ซื้อหนี้ต่อไป แลคนผู้นี้ถ้าจะต้องการเงินก่อนกำหนดสัญญาเมื่อใดจะขายโอนกรรมสิทธิ์ใบสั่งจ่ายนั้นต่อ ๆ กันไปตามทำนองนี้สักกี่ครั้งที่หนก็ได้ ใบสั่ง/*383*/จ่ายที่ผลัดเปลี่ยนเจ้าของเปนผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อเนื่องกันไปนั้น ก็เปนอันว่าได้ใช้จำนวนเชื่อหนี้หมุนเวียนได้ประดุจเดียวกันกับเงินตรา เมื่อสิ้นกำหนดสัญญาเมื่อใด ผู้ถือกรรมสิทธิ์ครั้งหลังที่สุดได้รับเงินจากผู้ที่รับใช้หนี้ซึ่งได้สักหลังไว้ในใบสั่งจ่ายนั้นแล้ว ก็เปนอันว่าจะใช้ใบสั่งจ่ายนั้นซื้อขายกันไมได้ต่อไป

. ใบสั่งจ่ายที่กล่าวมาแล้วนั้นใช้หมุนเวียนแทนเงินตราได้ โดยลักษณะที่ผิดกันกับธนบัตรที่ตรงว่าผู้ถือกรรมสิทธิ์และผู้รับใช้หนี้จำเปนต้องมีชื่อเขียนปรากฎอยู่ในใบสั่งจ่ายนั้นเปนลำดับไป ทั้งจะต้องมีกำหนดเวลาลงไว้ว่า ผู้ถือใบสั่งจ่ายจะได้รับเงินเมื่อไรด้วย ส่วนธนบัตร์ซึ่งเปนหนังสือสัญญาของแบงก์คลังเงินหรือของรัฐบาล ว่าจะใช้หนี้ให้แก่ผู้ถือธนบัตรตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในทันใด เช่นธนบัตร์ของรัฐบาลสยามเปนต้นนั้น เหตุที่คนมีความเชื่อต่อแบงก์และรัฐบาลมั่นคงมาก ก็ไม่มีความรังเกียจที่จะรับธนบัตร์นั้นโดยสดวก ในกรุงสยามรัฐบาลผู้เดียวในสมัยนี้เปนผู้ออกธนบัตร์ได้ แลมีกฎหมายบังคับให้ใช้หนี้กันแทนเงินตราได้ด้วย ใน/*384*/เมืองอังกฤษและฝรั่งเศสเปนต้น ก็บังคับให้รับธนบัตร์ของแบงก์กรุงอังกฤษและกรุงฝรั่งเศสแทนเงินตราได้ เพราะรัฐบาลใน ๒ ประเทศนี้ไม่ออกธนบัตร์เอง และตามประเทศอื่น ๆ ก็เปนเช่นเดียวกัน ยังมีคลังเงินหรือแบงก์ต่าง ๆ ที่รัฐบาลยอมให้ออกธนบัตร์ได้เฉภาะในบริเวณทำเลที่แห่งหนึ่งแห่งใดที่มีเขตร์ขั้นปันแดนไว้ ธนบัตรเหล่านี้กฎหมายแผ่นดินไม่บังคับให้ใช้หนี้กันแทนเงินตราได้ก็จริง แต่เมื่อราษฎรมีความเชื่ออยู่ต่อถ้อยคำสัญญาของแบงก์ต่าง ๆ นั้นยอมรับธนบัตร์ใช้แทนเงินตราแล้ว ก็เปนอันว่าใช้ได้อย่างเดียวกันกับธนบัตรที่รัฐบาลบังคับดังที่กล่าวมา ผิดกันแต่ว่าถ้าแบงก์ชั้นหลังนี้ล่มจมไปรัฐบาลไม่พลอยรับความเสียหายด้วย ราษฎรต้องรับความเสียหายเอง ประดุจเดียวกันกับที่ผู้รับซื้อหนี้จากหนังสือสัญญาใช้หนี้หรือจากใบสั่งจ่ายที่กล่าวมาในข้อต้น ซึ่งแม้ว่าผู้ที่รับใช้หนี้ทั้งหลายนั้นล่มจมลง ผู้ซื้อหนี้ก็ไม่ได้เงินคืนอยู่เอง ธรรมดาธนบัตรซึ่งแบงก์และรัฐบาลออกจำหน่ายใช้ต่างเงินตรานั้น โดยเหตุที่ได้สัญญาไว้ว่า ผู้ถือธนบัตรนำไปขึ้นเอาเงินตราเมื่อใด จะใช้เงินตราให้ในทันใดนั้น แบงก์และ/*385*/รัฐบาลผู้ออกธนบัตร์จำเปนจะต้องมีเงินตราสำรองไว้คอยแลกธนบัตรที่ราษฎรจะนำมาขึ้นเอาเงินให้ได้จริงตามสัญญา รัฐบาลสยามในชั้นต้นบังคับให้กระทรวงพระคลังมีเงินตราสำรองไว้คอยรับแลกธนบัตรแต่ ๓ ส่วนใน ๔ ส่วนจำนวนเงินที่ได้ออกธนบัตรไป เหลืออีกส่วนหนึ่งอนุญาตให้กระทรวงพระคลังเอาออกจำหน่ายใช้ทำผลประโยชน์ได้ มาตอนหลังที่สุดนี้เห็นว่าจำนวนเงินที่สำรองไว้คอยรับแลกธนบัตรมีมากเหลือเกินไปกว่ากำหนดที่ราษฎรนำธนบัตรมาแลกนัก เงินที่เก็บสำรองไว้เกินนั้นป่วยการดอกเบี้ยไปเสียเปล่า มาชั้นหลังนี้จึงได้ลดจำนวนเงินสำรองลงแต่ครึ่งหนึ่ง เหลืออิกครึ่งหนึ่งอนุญาตให้กระทรวงพระคลังเอาออกใช้ทำผลประโยชน์ แต่แท้ที่จริงตามความรู้ความชำนาญของแบงก์ทั้งหลายในยุโรปซึ่งรับเงินฝากของราษฎรนั้น เชื่อถือกันว่าเงินฝากมี ๓ ส่วน เอาสำรองไว้คอยให้เจ้าของเงินแต่ส่วนเดียวเท่านั้นก็เหลือพอ ยังเหลืออก ๒ ส่วนจะเอาไปใช้ทำประโยชน์ได้โดยดี เมื่อความจริงเปนเช่นนี้ก็พึงเห็นได้ชัดว่า โดยอำนาจความเชื่อของประชาชนในแบงก์แลรัฐบาลที่กล่าวมาแล้ว แบงก์แลรัฐบาลสามารถจะ/*386*/ใช้เงินได้เปล่า ๆ มากถึง ๒/๓ ของจำนวนเงินที่เชื่อไป เงินเหล่านี้อาจใช้เปนทุนทำผลประโยชน์ให้งอกขึ้นได้อีก ประดุจเดียวกันกับทุนเงินแท้ เมื่อคะเนดูว่าในประเทศหนึ่งประเทศหนึ่งมีธนบัตรใช้หมุนเวียนอยู่เท่าใด ก็จะได้ความชัดว่าประโยชน์ซึ่งเกิดจากความเชื่อในธนบัตรนั้น อาจงอกงามขึ้นได้เพียงใด เปนต้นว่าในกรุงสยามขณะนี้ รัฐบาลจำหน่ายธนบัตรออกได้ในน้อยปี ตั้งแต่ริอ่านออกธนบัตรมาเปนจำนวนราคาเงินถึง ๒๕ ล้านบาทแล้ว ถ้ากระทรวงพระคลังทำตามกฎหมายที่ได้อนุญาตไว้ให้เอาเงินในจำนวนธนบัตร์ออกจำหน่ายเปนทุนทำผลประโยชน์ได้เต็มจำนวนครึ่งของธนาบัตร์แล้ว กระทรวงพระคลังจะมีทุนใช้ได้เปล่า ๆ ถึง ๑๒ ล้าน ๕ แสนบาท ถ้ากระทรวงพระคลังไม่เอาเงินรายนี้ส่งไปทำผลประโยชน์ในยุโรป แล้วจะใช้แต่เงินครึ่งส่วนของจำนวนธนบัตร์ทำทุนพอตั้งต้นก่อรากตั้งแบงก์สำหรับชาติ หรือแบงก์แผ่นดินไปพลางก่อนก็จะได้ เงินจำนวนนี้จะได้เอาออกช่วยเกื้อกูลการค้าขายและการเพาะปลูกเติมเงินทุนที่มีอยู่ในบ้านเมืองนั้นได้เปนแท้ ผลประโยชน์ที่จะได้จากทุนนี้โดยทางตรง แลทางอ้อมคงจะมี/*387*/มากกว่าที่รัฐบาลได้อยู่จากต่างประเทศทุกวันนี้เปนแน่ ถึงอย่างใดก็คงได้ดอกเบี้ยเท่ากันหรือมากกว่าที่รัฐบาลไปกู้เขามา

วิธีใช้หนี้กันโดยใบสั่งจ่ายยังมีรูปอีกชนิดหนึ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า เชก (Cheque) คนต่าง ๆ ที่มีเงินไปฝากให้แบงก์เก็บไว้ให้ โดยที่ไม่อาจเก็บไว้ในบ้านเรือนของตัวเองเพราะกลัวอันตรายหรือเอาไปฝากแบงก์ไว้เพื่อเปนการสดวกอย่างหนึ่งอย่างใดนั้น เมื่อเวลาจะต้องการใช้สักเท่าใดแน่แล้วก็จะถอนเงินคืนได้ตามชอบใจ แต่ในวิธีใช้คำสั่งจ่ายโดยใช้ เชก (Cheque) นั้น ผู้ฝากเงินจะใช้หนี้ผู้ใดไม่จำเปนจะต้องป่วยการเสียเวลาไปเบิกเงินจากแบงก์มาเสี่ยชั้นหนึ่งก่อนแล้ว จึงเอาเงินนั้นไปใช้หนี้ จะใช้หนี้ใครเมื่อใดก็เขียนแต่คำสั่งจ่ายให้เจ้าหนี้ไปเบิกเอาเงินที่แบงก์นั้นเอง ถ้าหากว่าเจ้าหนี้ผู้นี้ก็มีแบงก์ที่ฝากเงินของเขาด้วยแห่งหนึ่งเหมือนกัน เขาก็ไม่ต้องจะไปเบิกเงินที่แบงก์เองส่งแต่ตัว เชก (Cheque) ของลูกหนี้ไปให้แบงก์ของเขา แบงก์ของเขาก็จะจดบาญชีรับเงินฝากรายนี้ลงไว้ให้ประดุจดังว่าได้เบิกเงินจากแบงก์หนึ่งไปส่งให้แบงก์หนึ่ง ฝ่ายแบงก์ต่อแบงก์เล่าต่างคนก็ต่างจะไปรับใบสั่งจ่ายของผู้ฝาก/*388*/ให้ไปเบิกเงินจากกันทั้ง ๒ ฝ่าย แบงก์ต่อแบงก์เมื่อถึงเวลาต่างคนต่างก็จะนำ เชก (Cheque) ที่เขาได้รับนั้นไปหักลบชำระหนี้สินกันอีกครั้งหนึ่ง

เปนต้นว่านาย ก. ไปซื้อของนาย ข. มาแล้วจะต้องใช้เงินนาย ข. ตามราคาของเปนเงิน ๑๐๐ บาท นาย ก. ก็เขียนคำสั่งจ่ายไปถึงนาย ค. เจ้าของแบงก์ผู้รับฝากเงินของนาย ก. ฉบับหนึ่งเปนรูปตั๋วเชก (Cheque) ว่าให้นาย ค. ใช้เงินให้แก่นาย ข. ๑๐๐ บาท แล้วนาย ก. ก็ส่งเชก (Cheque) นั้นให้นาย ข. ฝ่ายนาย ข. ได้รับเชก (Cheque) แล้วก็ส่งเชก (Cheque) นั้นไปให้นาย ง. เจ้าของแบงก์อีกคนหนึ่งซึ่งเปนผู้รับฝากเงินของนาย ข. นาย ง. ได้รับเชก (Cheque) ฉบับนี้แล้วก็จดจำนวนเงินลงในบาญชีรายได้ของนาย ข. ว่าได้รับเงินนาย ข. ๑๐๐ บาท นาย ง. ส่งตั๋วเชก (Cheque) นั้น ไปหักบาญชีกับนาย ค. ซึ่งเปนผู้รับฝากเงินของนาย ก. ต่อไป โดยที่นาย ค. เจ้าของแบงก์คงจะได้รับตั๋วเชก (Cheque) จากผู้หนึ่งผู้ใดที่จะให้ไปเอาเงินกับแบงก์นาย ง. บ้างเหมือนกันถ้าเงินรายนี้เปนเงิน ๑๐๐ บาทเท่ากัน นาย ง. กับนายค. /*389*/ก็ไม่ต้องใช้เงินตราให้แก่กันเลย เปนแต่ส่งเชกต่อเชกคืนให้แก่กันก็ลบล้างหนี้สินกันได้

ในความที่กล่าวนี้ก็พึงจะเห็นชัดได้แล้วว่า ลักษณะการใช้หนี้สินกันด้วยวิธีใช้เชกเช่นที่กล่าวมานี้ ไม่จำเปนจะต้องใช้เงินตราสักนิดเดียว ใช้แต่ความเชื่อซึ่งกันแลกันแทนเงินได้โดยดี ในการหักลบหนี้กันเช่นนี้พวกแบงก์ต่าง ๆ พึงจะมีกำหนดวันสัญญาที่จะชำระหนี้กัน เช่น ๓ วันครั้งหนึ่งหรือ ๗ วันครั้งหนึ่งเปนต้น เมื่อถึงเวลานัดต่างคนต่างก็นำตั๋วเชก (Cheque) แลใบสั่งจ่ายซึ่งถึงกำหนดชำระเงินแล้วนั้นมาหักหนี้สินกัน

ในกรุงลอนดอนมีที่กลางแห่งหนึ่งสำหรับไว้ชำระหนี้กันเช่นนี้โดยเฉภาะ แลจำนวนที่หักลบกันโดยวิธีใช้คำสั่งจ่ายแทนเงินอย่างเดียวนี้ บางอาทิตย์ก็เปนจำนวนเงินมากมายนับได้ตั้ง ๑๕๐ ล้านปอนด์ขึ้นไป ในการนี้ไม่ต้องใช้ทองเงินเลยสักชิ้นเดียว เมื่อชำระบาญชีกันแล้วตกลงว่าแบงก์ใดเปนเจ้าหนี้ลูกหนี้แก่แบงก์ใดเท่าไรก็จดลงในบาญชีกลางของแบงก์ออฟอิงแลนด์ไว้เปนพยานเท่านั้น

/*390*/วิธีใช้การเชื่อหนี้กันโดยทางบาญชีอิกอย่างหนึ่งซึ่งสามารถจะยกเว้นการใช้เงินตราได้บ้าง เปนต้นว่าชาวนาซื้อเชื่อเสบียงอาหารจากแม่ค้าไปบริโภคเมื่อเวลาทำนายังไม่ได้ผล ครั้นถึงฤดูเกี่ยวเข้าชาวนาก็เอาเข้าไปขายให้แม่ค้าเปนการหักลบบาญชีหนี้สินกันได้ เสบียงอาหารที่ชาวนาซื้อเชื่อไป แลเข้าซึ่งแม่ค้าซื้อจากชาวนาเพียงเท่าราคาสินค้าที่ขายเชื่อไปนั้น ไม่ต้องใช้เงินตราเลย การซื้อขายเช่นนี้ก็เปนอันว่าประดุจเดียวกันกับการแลกของต่อกัน การเชื่อหนี้ทำนองนี้ถึงโดยว่าจะใช้ความเชื่อแทนเงินตราไม่ได้กว้างขวางมากมายเท่ากันกับการใช้ธนบัตร์หรือการใช้ใบสั่งจ่ายซึ่งมีลักษณะที่จะโอนกรรมสิทธิ์จำนวนเงินหนี้ใช้หนี้แทนเงินตราต่อ ๆ ไปได้หลายซับหลายซ้อน แลโดยที่การเชื่อหนี้กันทางบาญชีซึ่งเปนไปได้แต่เฉภาะบุคคลต่อบุคคลจึงโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายจำนวนเงินหนี้ในบาญชีนั้นไม่ได้โดยสดวกเท่ากันกับใบสั่งจ่าย เพราะฉนั้นจำนวนเงินเชื่อหนี้ซึ่งใช้แทนเงินตราทางบาญชีนั้น จึงเปนส่วนน้อยอยู่ก็จริง แต่ถึงเช่นนั้นเมื่อคิดดูตามความที่เปนจริงว่าการเชื่อหนี้ทางบาญชีมีอยู่แพร่หลายทั่วไปแล้ว การ/*391*/เชื่อหนี้ทางนี้ก็เปนจำนวนมากแลสำคัญพอกับที่ควรจะยกมากล่าว ในเรื่องการเชื่อหนี้ที่ใช้กันได้แทนเงินตรานั้นด้วย

ลักษณะการเชื่อหนี้ทางบาญชีใช่ว่าจะมีแต่ในบรรดาคนชั้นชาวนาที่กล่าวนั้นหมู่เดียว แม้แต่คนชั้นสูงแลเศรษฐีที่มีทรัพย์มากอยู่แล้วก็ยังเว้นที่จะซื้อเชื่อเขาไม่ได้ ดังที่เห็นปรากฎอยู่ ตามธรรมเนียมที่พ่อค้านายห้างแลชาวร้านทำตั๋วแลบาญชีไปเที่ยวเก็บเงินตามลูกหนี้ผู้ซื้อเชื่อที่เปนหนี้ค้างอยู่ชั่วครั้งชั่วคราวนั้นทั่วไป ผู้ที่ซื้อเชื่อส่วนมากในการเช่นนี้ ถ้าในขณะเมื่อซื้อของนั้น แม้จะยังไม่มีเงินอยู่กับตัวเลย หากว่าเจ้าของสินค้ามีความเชื่อในความสามารถของผู้ซื้อ ว่าในวันหน้าคงจะหาเงินไปใช้หนี้เขาได้ ผู้ซื้อเชื่อก็ได้ของไปใช้โดยไม่ต้องใช้เงินในทันใด ถ้าไม่มีการเชื่อหนี้กันเช่นนี้บ้างเลย และถ้าจะต้องใช้เงินสดซื้อของกันทุกครั้งไปจนถึงที่สุด แม้แต่การจ้างแรงทำการสารพัดอย่างก็ต้องใช้เงินสดกันเปนรายวันไปแล้ว จำนวนเงินตราทองตราซึ่งจะต้องมีไว้ใช้ในบ้านเมืองจำเปนจะต้องมีมากขึ้นอีกหลายเท่าจึงจะพอเพียงกันกับความต้องการของการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์ทุกวัน

/*392*/ได้พรรณาลักษณะการเชื่อหนี้ซึ่งใช้กันเปนรูปแลเปนทำนองต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ต่อไปก็จะชี้แจงได้โดยสดวกว่าการเชื่อหนี้ทั้งหลายนั้น จะมีอำนาจชักจูงราคาสินค้าทั้งปวงให้ผันแปรสูงต่ำไปได้โดยสถานใดบ้าง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ