หมวด ๑ ว่าด้วยการแลกเปลี่ยน

ในทรัพย์สาตร์เล่ม ๑ ซึ่งได้เรียบเรียงขึ้นไว้แล้วนั้น ได้ตั้งต้นกล่าวลักษณะการสร้างทรัพย์ไปจนถึงการแบ่งปันทรัพย์ มีความพอเปนเค้ามูลบ้างแล้ว ในเล่ม ๒ นี้จะได้กล่าวลักษณะการแลกเปลี่ยนทรัพย์ คือการค้าขายเปนลำดับต่อไป

ในการทำผลประโยชน์ทุกอย่างโดยความเจตนาจะสร้างทรัพย์ให้เกิดขึ้นได้นั้น ได้ชี้แจงมาแต่ชั้นต้นแล้วว่า สิ่งที่จะเปนทรัพย์ได้จำเปนต้องให้มีลักษณะที่จะแลกเปลี่ยนกันได้กับของอื่น มิฉนั้นก็จะไม่เปนทรัพย์

การแลกเปลี่ยนจึงเปนการสำคัญอันใหญ่ยิ่งอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องใช้ในการทำมาหากินอันจะกระทำทรัพย์ให้เพิ่มพูลขึ้นได้

การแลกเปลี่ยนเปนวิธีที่จะเอาของซึ่งเรามีเหลือใช้หรือซึ่งเราไม่ต้องการนั้นไปแลกกันกับของอื่นที่เราต้องการหรือที่เราอยากได้มากกว่า ของที่เราจะต้องการแลกมานั้น จะต้องมีทรัพยสาตร์คุณประโยชน์แก่เราสักอย่างหนึ่ง ถ้าไม่มีประโยชน์อะไรเราก็ไม่อยากได้ แต่บางทีของที่เราต้องการในชั้นต้นนั้นจะมีคุณประโยชน์แก่เราสักเท่าใดก็ดี มาตอนปลายถ้าเรามีของชนิดเดียวกันนั้นเหลือเฟือมากเกินความต้องการไป ของที่เกินต้องการไปนี้ก็เปนอันว่าไม่มีประโยชน์อะไรแก่เราจนกว่าจะเอาไปแลกเปลี่ยนกันกับของอื่นที่เรายังจะต้องการใช้อยู่มาก เปนต้นว่าชาวนาทำการเพาะปลูกได้เข้าเปนผลเหลือกินอยู่เปนอันมาก ข้างฝ่ายชาวประโมงที่ทำการแต่หาปลาอย่างเดียว ก็จะได้ปลามากเกินที่เขาจะต้องการ เข้าของชาวนาและปลาของชาวประโมงที่เหลือเฟืออยู่นั้น จะไม่เปนประโยชน์อะไรแก่เจ้าของจนกว่าเจ้าของเข้าจะต้องการปลา และเจ้าของปลาจะต้องการเข้า ต่างก็เอาเข้ากับปลาไปแลกเปลี่ยนกัน การแลกเปลี่ยนนั้นจึงกระทำให้ของซึ่งแต่ก่อนไม่มีประโยชน์มาเกิดมีประโยชน์ขึ้นด้วยกันทั้งสอง ฝ่ายชาวนามีแต่เข้าอย่างเดียวไม่มีปลากินบ้างก็ไม่พอใจ ชาวประโมงมีแต่ปลาถ้าไม่มีเข้ากินก็เต็มที การแลกเปลี่ยนจึงกระทำให้ก่อเกิดกำไรเปนผลประโยชน์ยิ่งขึ้นได้แก่ผู้แลกเช่นนี้

มูลเหตุของการแลกเปลี่ยนที่จะก่อเกิดขึ้นได้นั้น ก็เปนเพราะการปันหน้าที่กันทำการเปนส่วนเปนสัดไปต่าง ๆ กันตามที่ได้พรรณามาในทรัพย์สาตร์เล่ม ๑ โดยเลอียดแล้ว เพราะถ้าต่างคนต่างก็ทำการอย่างเดียวกันเหมือนกันไปเสียหมดแล้ว การแลกเปลี่ยนค้าขายก็เปนอันมีไม่ได้ ใครจะเอาเข้าต่อเข้าหรือเอาปลาต่อปลาชนิดเดียวกันไปแลกกันให้เสียเวลาเปล่าโดยไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นอิกได้ การปันหน้าที่กันทำการจะเกิดผลมากก็เพราะจะแลกเปลี่ยนผลที่ทำขึ้นได้ต่างกันนั้นซึ่งกันและกัน ยิ่งมีการมากอย่างต่างชนิดออกไป ยิ่งเกิดมีวิชาหากินมากอย่างขึ้น การแลกเปลี่ยนก็ยิ่งจะแพร่หลายกว้างขวางออกได้โดยรวดเร็วขึ้นเสมอไป คนทำนาและชาวประโมงที่ได้ยกตัวอย่างมากล่าวนั้น ต่างคนก็จะได้กินเข้าและกินปลาซึ่งเปนผลของตัวได้ทำขึ้นนั้นตลอดไปได้ แต่ช่างเหล็กที่ตีเคียวสำหรับเกี่ยวเข้า ถ้าทำการแต่อย่างเดียวคงจะไม่มีโอกาศใช้เคียวที่ตัวทำนั้นสักขณะเดียว จำเปนจะต้องเอาเคียวไปแลกกับเข้าของชาวนา ช่างเหล็กจึงจะมีเข้ากิน

เมื่อมีการทำคนละอย่างต่าง ๆ กันเช่นนี้มากอย่างออกไปแล้ว ก็จะต้องมีพวกพ่อค้าคนกลางอิกพวกหนึ่งสำหรับทำธุระขนของต่าง ๆ นั้นไปส่งถึงที่ที่ผู้จะต้องการใช้เปนประโยชน์ มีการขนของของผู้ที่ไม่ต้องการไปส่งให้แก่ผู้ที่จะต้องการ หรือขนของซึ่งมีผู้ต้องการน้อยไปส่งในทำเลที่ซึ่งจะมีผู้ต้องการของสิ่งนั้นมากเปนต้น

ถ้าช่างเหล็กคนหนึ่งทำเคียวได้สำเร็จวันละ ๕ เล่ม แต่ถ้าชาวนาจะทำเคียวเองจะต้องลงแรงเสียเวลาถึง ๓ วันจึงจะจะทำเคียวได้สำเร็จสักเล่มหนึ่ง และถ้าชาวนาจะเกี่ยวเข้าในวันเดียวได้มากเท่ากับช่างเหล็กจะเกี่ยวเข้าได้ใน ๓ วันแล้ว ก็เปนอันเห็นได้อยู่เองว่า ถ้ามีคนกลางเปนพ่อค้ามาทำธุระนำเคียวไปส่งชาวนา แล้วแลกเข้าไปส่งช่างเหล็กแทนคนทั้ง ๒ ฝ่ายนี้อยู่แล้ว ชาวนาก็จะเกี่ยวเข้าของตัวได้เรื่อยไปทั้งจะได้เคียวใช้ด้วย ส่วนช่างเหล็กเมื่อทำเคียวอยู่ไม่ต้องหยุดยั้งนั้นก็จะมีเข้ากินด้วยเหมือนกัน

พ่อค้าคนกลางสำหรับขนเข้าและเคียวที่กล่าวนี้ ถึงโดยว่าไม่ได้กระทำให้เกิดมีสัมภาระใหม่อย่างใดเพิ่มเติมเปนทรัพย์ขึ้นอิกก็ดี แต่การที่ชาวนากับช่างเหล็กต่างก็ไม่ต้องป่วยการเวลาขนเข้ากับเคียวไปส่งให้แก่กันนั้น ชาวนากับช่างเหล็กไม่ต้องหยุดยั้งการงานที่ทำอยู่ ทำผลได้มากขึ้น เพราะเหตุที่มีพ่อค้ามารับทำธุระแทนเท่าใด ผลที่งอกขึ้นได้เพราะไม่ต้องหยุดยั้งการงานนั้น ก็เปนจากเหตุที่ได้พึ่งแรงพ่อค้าเปนต้น การเปนดังนี้ก็เปนประดุจดังว่า พ่อค้าสร้างทรัพย์ขึ้นได้อย่างเดียวกันกับผลที่ชาวนาและช่างเหล็กทำขึ้นได้

ในทรัพยสาตร์เล่ม ๑ ภาค ๑ หมวด ๒ ได้บัญัติลงไว้ว่า สิ่งที่จะเปนทรัพย์ได้นั้นต้องมีคุณประโยชน์มีค่าแลกเปลี่ยนและมีที่สิ้นสุดประกอบกัน แล้วได้แยกประเภททรัพย์ออกเปน ๓ ประเภทคือ

๑. สัมภารที่แลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้

๒. แรงทำการ

๓. ความเชื่อ

ซึ่งต้องล้วนแต่มีคุณประโยชน์ และมีค่าแลกเปลี่ยนกันได้ทั้ง ๓ อย่าง

การค้าขายหรือการแลกทรัพย์ ๓ ประเภทนี้ พอจะแยกออกได้ต่อไปว่ามีลักษณะต่างกัน ๖ ประการ คือ

๑ แลกสัมภาระชนิดหนึ่งกับสัมภาระอย่างอื่นอิกชนิดหนึ่ง เช่นกับเอาเข้าไปแลกปลา หรือเอาเงินไปแลกเข้า

๒ แลกสัมภาระกันกับแรงทำการ เช่นกับเอาเงินไปจ้างคนแจวเรือ หรือเอาเข้าเปลือกไปใช้เปนบำเหน็จตอบแทนค่าแรงคนแจวเรือ

๓ เอาแรงทำการชนิดหนึ่งไปแลกกันกับแรงทำการอิกชนิดหนึ่ง เช่นกับลูกศิษย์วัดไปรับใช้การงานของพระ พระสอนหนังสือให้เปนการแลกเปลี่ยนแรงตอบแทนกัน

๔ เอาแรงทำการไปแลกกันกับความเชื่อ เช่นกับไปทำงานให้รัฐบาล รัฐบาลให้ธนบัตร์เปนค่าตอบแทนแรงทำการ หรือไปทำงานให้ผู้ใดผู้นั้นเขียนตั๋วใบสำคัญสั่งจ่ายเงินให้เปนค่าแลกเปลี่ยนแรงทำการ

๕ เอาสัมภาระไปแลกกับความเชื่อ เช่นกับเอาสินค้าไปขาย แล้วได้รับใบสั่งจ่ายเงินตอบแทนมา หรือเอาสินค้าไปแลกกับใบสำคัญสัญญาใช้เงินทำนองใดทำนองหนึ่ง

๖ เอาความเชื่ออย่างหนึ่งไปแลกกันกับความเชื่ออีกอย่างหนึ่ง เช่นกับผู้ทำการคลังเงิน (Banker) รับใบสำคัญสัญญาใช้เงินของห้างใดไว้แล้ว จดบาญชีลงว่า คลังเงินเปนหนี้ห้างหรือห้างเปนเจ้าหนี้คลังเงินเท่าจำนวนเงินในใบสำคัญใช้เงินนั้น หรือบุคคลผู้หนึ่งรับใบสำคัญสั่งจ่ายเงินของบุคคลผู้อื่นไปแล้ว เอาใบสั่งจ่ายเงินนั้นไปขายให้กับคลังเงิน หรือเอาไปส่งคลังเงินเพื่อจะให้จดบาญชีลงว่า บุคคลผู้นั้นเปนเจ้าหนี้คลังเงินตามจำนวนในใบสั่งจ่าย

การค้าขายสารพัดอย่าง ต้องตกอยู่ในการแลกเปลี่ยน ๖ ประเภทนี้ทั้งสิ้น

แต่ในการแลกเปลี่ยนสิ่งของต่างกันที่รวมอยู่ใน ๖ ประเภทนี้ คงจะมีปัญหาเกิดขึ้นทุกครั้งไปว่า ของสิ่งนี้เท่านี้จะแลกกันกับของสิ่งนั้นได้มากน้อยเพียงใด เปนต้นว่า เข้าเปลือกสัตหนึ่งจะแลกปลาแห้งได้ที่หาง หรือไปทำงานให้เขาวันหนึ่ง ควรจะได้เข้าสารเปนบำเหน็จกี่ทะนาน หรือได้เงินเปนค่าแรงเท่าใด เปนเรื่องที่จะต้องมีกำหนดค่าแลกเปลี่ยน หรือราคาเปนเครื่องสำหรับเปรียบเทียบกะประมาณส่วนและจำนวนของที่จะต้องมีมากหรือน้อยกว่ากันข้างหนึ่งเสมอไป หรือจะพูดตามโวหารที่ใช้กันอยู่ก็คือว่า ของที่ต่างกันนั้นอย่างหนึ่งจะมีค่ามีราคาต่างกันเท่าใด เมื่อได้กะประมาณค่า หรือราคาของทั้ง ๒ อย่างที่จะแลกเปลี่ยนกันนั้นแล้ว จึงจะแลกของกันไปได้โดยสดวก

เรื่องค่าแลกเปลี่ยนและราคาเปนสิ่งสำคัญอยู่ในการค้าขายแลกทรัพย์ซึ่งกันและกันฉนี้ เมื่อจะชี้แจงลักษณการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแลกทรัพย์ต่อไปให้แจ่มแจ้ง ก็จำจะต้องชี้แจงลักษณะค่าแลกเปลี่ยนและราคาให้ชัดแจ้งเสียก่อน แล้วจึงจะชี้แจงการต่อไปได้ถนัด ในหมวดหน้าจะได้ชี้แจงลักษณะค่าแลกเปลี่ยนและราคาต่อไป

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ