หมวด ๑๓ การค้าขายระหว่างประเทศ

การปันหน้าที่กันทำงานตามความสันทัด ตามความสดวกของบุคคลในทำเลที่ ๆ เหมาะแห่งหนึ่ง แล้วมีคนกลางคือพ่อค้ามาขนเอาของต่าง ๆ ที่ทำนั้น ไปแลกเปลี่ยนเอาของต่างชนิดซึ่งคนในทำเลที่อื่นได้ทำขึ้นตามความสันทัด แลความสดวกของเขาเหมือนกัน มาเที่ยวแจกจ่ายให้คนทั้งสองฝ่ายได้ของไปใช้หรือบริโภคได้ ตามความต้องการของบุคคลต่าง ๆ นั้น และที่เรียกกันว่าการค้าขาย

การค้าขายเกิดจากความปราถนา ที่จะแลกเปลี่ยนสินค้าต่างชนิดซึ่งกันแลกันเปนมูลเหตุ ไม่ได้เกิดจากความปราถนาที่ต่างคนก็ต่างจะอยากได้ธาตุเงินแลทองทั้งสองฝ่ายจริง แต่โดยที่เงินทอง เปนเครื่องวัดกะราคาสิ่งของที่แลกเปลี่ยนกัน เปนของกลางแลเปนคะแนนสำหรับใช้ในการแลกเปลี่ยนด้วยนั้น คนทั้งหลายจึงได้นิยมกันรับเงินแลทองซึ่งได้กะลงว่าเท่ากับราคาสิ่งของที่ให้ไปแลกนั้นขึ้นมือไว้ก่อน เมื่อภายหลังจะต้องการของอย่างใดไปใช้ หรือจะต้องการแรงผู้ใดไปทำงานให้ ก็จะได้เอาเงินทองซึ่งได้เปนคะแนนไว้นั้นออกแลกเปลี่ยนมาใช้ได้ตามความปราถนา

การแลกเปลี่ยนสินค้าโดยจะไม่ต้องใช้เงินทองเปนของกลางเลยก็ได้ เช่นแม่ค้าชาวสวนเอาผลไม้ไปแลกเข้าจากชาวนาเปนต้น แลในการค้าขายต่างประเทศที่คล้ายกันรวมราคาสินค้าที่แลกเปลี่ยนกัน ในระหว่างประเทศต่อประเทศ นับได้ตั้งร้อยล้านบาทขึ้นไป ถ้าราคาสินค้าที่แลกกันนั้นเท่ากัน ก็ไม่ต้องใช้เงินทองเพิ่มเติมอีก หักหนี้สินถมล้างกันไปได้โดยลำพังคิดบาญชี หรือถ้าจะมีราคามากกว่ากันข้างหนึ่ง ถ้าข้างที่เปนลูกหนี้ไม่มีเงินทองจะส่งไปใช้ จะส่งสินค้าเพิ่มเติมไปใช้หนี้แทนเงินทองก็ได้เหมือนกัน

วิธีที่พลเมือง ๆ เดียวกันปันหน้าที่กันทำการแล้วเอาผลที่ทำขึ้นได้ต่างชนิด ไปแลกกันมาใช้เปนประโยชน์ได้โดยสดวกทั้งสองฝ่าย โดยที่อาศรัยแรงทำการของพวกพ่อค้าเปนคนกลางสำหรับนำสินค้าซึ่งมีเหลือใช้ข้างหนึ่ง ไปแลกกับสินค้าอย่างอื่นที่มีเหลือใช้อยู่อีกข้างหนึ่งนั้น ทำให้งอกผลประโยชน์ขึ้นได้อีกเพียงใด ได้ชี้แจงมาในหมวดที่ ๑ แล้วเมื่อการแลกเปลี่ยนนี้ ได้ขยายตัวกว้างขวางต่อออกไปถึงนา ๆ ประเทศได้ ก็ยิ่งจะมีประโยชน์มากขึ้นแก่ผู้ทำสินค้านั้นอีก ชาวต่างประเทศต้องการสินค้าชนิดใดของเรามากขึ้น ราคาสินค้าชนิดนั้นก็จะมีราคาสูงขึ้น และไม่ตกต่ำลงจนกว่าพลเมืองเดียวกัน หรือพลเมืองประเทศอื่น จะทำสินค้าอย่างเดียวกันนั้นส่งไปขายจนมากมายเกินความต้องการไป

สารพัดสินค้าในบ้านเมืองที่มีมากเหลือกินเหลือใช้ก็ดี สัมภาระทั้งปวงที่มีอยู่แต่เราใช้ทำประโยชน์ได้น้อยราคาจึงต่ำหรือถ้าทำขึ้นเปนประโยชน์ได้มาก แต่ต้องลงทุนลงแรงมาก ราคาของสำเร็จนั้นจะแพงเกินไปจนมีคนต้องการน้อย แลสัมภาระทั้งปวงที่มีอยู่ แต่เราไม่รู้จักใช้หรือไม่ทำให้เกิดเปนประโยชน์ในได้ตามสมควรเหล่านี้ ถ้าชาวต่างประเทศต้องการซื้อ ให้ราคาพอมีกำไรที่จะจัดทำหรือหาส่งได้ ก็เปนอันว่าการค้าขายกับต่างประเทศ เปิดตลาดให้ของเหล่านั้นออกไปขาย เปนประโยชน์แก่พลเมืองของเราได้กว้างขวางออกไปอีก

อีกฝ่ายหนึ่งสินค้าสารพัดอย่างที่ไม่มีในบ้านเมืองแลที่เราทำเองในบ้านเมืองไม่ได้ หรือถ้าทำได้ก็จะต้องลงทุนลงแรงเปลืองมาก เพราะไม่มีความรู้วิธีทำดีพอ หรือไม่สันทัดโดยปราศจากความชำนาญ หรือในทำเลที่ ๆ ทำนั้นไม่เหมาะทุนแลแรงที่จะเอาไปลงในการทำของเหล่านี้เอง จะได้ผลเปนกำไรไม่เท่ากันกับการอย่างอื่นที่เราทำอยู่โดยช่ำชองโดยสดวก แลโดยที่อยู่ในทำเลที่เหมาะ แต่ของเหล่านี้ชาวต่างประเทศทำได้สนัดดีกว่าเรา แต่ทำแล้วส่งเข้ามาขายเปนราคาต่ำพอที่เราจะซื้อใช้ได้แล้ว เราเอาของต่างประเทศมาใช้จะมีคุณประโยชน์กว่าที่จะไม่มีใช้เลย หรือที่จะทำเองไม่ได้เปนราคาต่ำเท่ากัน ในที่สุดถ้าเราทำการใดสำเร็จได้โดยง่าย ทั้งได้บำเน็จค่าแรงในการนั้นมาก แลสดวกกว่าทำการอย่างอื่น แน่แล้วเราก็ควรจะทำแต่การอย่างเดียวนั้นเสมอไป มุ่งหมายเอาผลของการที่เราทำได้นั้น ไปแลกกับของอย่างอื่นที่เราจะต้องการใช้หรือบริโภค

ต้นเหตุซึ่งจะชักชวนให้คนในประเทศเดียวกัน ริอ่านแลกเปลี่ยนผลของแรงทำการ ที่เปนสินค้าในระหว่างคนพวกเดียวชาติเดียวกันมีอย่างใด การค้าขายต่างประเทศซึ่งคนต่างเมืองต่างชาติ ได้ริอ่านแลกเปลี่ยนสินค้าต่างประเทศกันขึ้นด้วย ก็เปนเพราะเหตุอย่างเดียวกันนั้นเอง

แต่ทำนองการแลกเปลี่ยนในระหว่างประเทศต่อประเทศจำจะต้องผิดเพี้ยนกันไป โดยเหตุที่หนทางซึ่งจะขนสินค้าไปแลกกันนั้น เปนทางไกลต้องเปลืองค่าขนสินค้ามากขึ้นเปนสำคัญ แล้วยังจะมีความสดวกน้อยกว่าการค้าขายในบ้านเมืองเดียวกัน เพราะพลเมืองพูดภาษาต่างกัน ใช้ธรรมเนียมแลกฎหมายต่างกัน ใช้รเบียบการปกครองต่างกันเปนต้น เหตุต่าง ๆ เหล่านี้ประดุจดังว่าเปนรั้วอย่างหนึ่งซึ่งจะกั้นกาง ไม่ให้ทุนแลคนทำงานต่างประเทศนั้นเลื่อนไปมาหากันได้โดยสดวก ถ้าไม่มีรั้วกันเขตรแดนอยู่เช่นที่กล่าวมานี้แล้ว การค้าขายต่างประเทศจะไม่ผิดกันไปจากการค้าขายในประเทศเดียวกันนั้นเลย

การค้าขายต่างประเทศ เปนการเปิดตลาดเพิ่มเติมทำเลที่ขายสินค้าของประเทศต่าง ๆ ให้กว้างขวางออกไปได้แทบจะทั่วโลก การขนสินค้าไปแลกเปลี่ยนกันทางทเลยิ่งสดวกมากขึ้น เพราะค่าระวางบันทุกสินค้าต่ำลงโดยเหตุที่บริษัทเจ้าของเรือกำปั่นแข่งขันประชันกันลดค่าระวางเรือลงเสมอไป ยังมีทางรถไฟคอยรับสินค้าจากเรือ ส่งแพร่หลายต่อเข้าไปในแผ่นดินที่อยู่ห่างไกลจากชายทเลออกไปนั้นอิก ในที่สุดการแลกสินค้ายิ่งสดวกขึ้น แลยิ่งแลกห่างไกลออกไปได้อิกเท่าใด มนุษย์ที่อยู่ต่างประเทศต่างชาติศาสนา ก็ยิ่งจะได้อาไศรยใช้แรงทำการซึ่งกันแลกันเปนประโยชน์ส่วนตัวแลชาติมากขึ้น เพราะการปันหน้าที่กันทำงานนั้นมากอย่างต่างชนิดขึ้นทุกที พลเมืองอยู่ในภูมิประเทศชนิดใดถ้าได้ทำการแต่ล้วนที่สนัดสันทัดในกิจอย่างใด ที่จะได้ผลประโยชน์มากที่สุดโดยน้ำพักน้ำแรงของตัวอยู่เสมอไปแล้ว ผลของการอย่างนั้นคงจะเกิดมีมากขึ้นตามส่วน ที่การแลกเปลี่ยนสินค้ากันจำเริญขึ้นเปนแน่

การแลกเปลี่ยนสินค้ากันในระหว่างนา ๆ ประเทศ มีคุณมากที่ตรงว่า สินค้าชนิดที่เราทำไม่ได้เอง หรือถ้าทำได้เองจะต้องเปลืองแรงเปลืองทุน เพราะการไม่สดวกอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น เราจะมีใช้ได้โดยที่ไม่ต้องเปลืองแรงแลทุนมากเท่ากับที่เราจะทำเอง เพราะเหตุที่ผู้ทำซึ่งเปนชาวต่างประเทศนั้นทำได้ดีกว่า ต้องเสียค่าขนสินค้าอย่างนั้นส่งเข้ามาถึงเมืองเราแล้ว ยังขายได้ราคาต่ำกว่าที่เราจะทำได้เอง

การได้เปรียบที่จะมีขึ้นในการแลกสินค้าต่างประเทศได้ ก็เมื่อราคาสินค้าสองชนิดในประเทศหนึ่งมีส่วนแลกเปลี่ยนผิดกันกับส่วนราคาสินค้าอย่างเดียวกันนั้นในประเทศอื่น เปนต้นว่าในเกาะชวาแลในประเทศสยาม ต่างก็ทำนาปลูกเข้าแลปลูกอ้อยทำน้ำตาลได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย กำหนดเสียว่าในเกาะชวานั้นราคาเข้า ๑ หาบ จะเท่ากับราคาน้ำตาล ๑๕๐ ชั่ง (จีน) แต่ในประเทศสยามราคาเข้าหนัก ๑๕๐ ชั่ง จะแลกน้ำตาลเมืองชลได้ ๑ หาบ ถ้าราคาสินค้าสองชนิดในสองประเทศผิดกันตามส่วนเช่นนี้ ก็จะเห็นได้ทันทีว่า ถ้าไทยจะต้องการน้ำตาลแล้วส่งเข้าเมืองไทยไปแลกกับน้ำตาลในเกาะชวา จะได้เปรียบกว่าที่จะไปแลกน้ำตาลในเมืองชล ส่วนชาวชวาถ้าจะต้องการเข้าแล้ว ส่งน้ำตาลชวามาแลกเข้าไปจากเมืองไทยจะได้เปรียบกว่าที่จะแลกเข้าในเกาะชวานั้นเอง

ถ้าราคาเข้าในเกาะชวาหาบละ ๑๐ บาท ราคาน้ำตาลหาบละ ๗ บาท ๕๐ สตางค์ ส่วนราคาเช้าในกรุงสยามหาบละ ๗ บาท ๕๐ สตางค์ ราคาน้ำตาลหาบละ ๑๐ บาท เข้าเมืองไทยราคา ๗ บาท ๕๐ สตางค์นั้น จะแลกเอาน้ำตาลชวาเข้ามาขายในเมืองได้ราคาถึง ๑๐ บาท ถ้าคิดหักค่าระวางเรือที่ต้องขนเข้าไปแลขนน้ำตาลมาประมาณว่า ๕๐ สตางค์ ค้าขายเที่ยวเดียวพ่อค้าไทยจะได้กำไรในค่าน้ำตาล ๒ บาท ฝ่ายพ่อค้าชวาถ้าแลกกันทำนองนี้ก็จะได้กำไรในค่าเข้า ๒ บาทเหมือนกัน ต่างก็ได้เปรียบด้วยกันทั้งสองฝ่าย

หรือถ้าหากว่า ราคาสินค้าในเมืองหนึ่งจะต่ำกว่าราคาสินค้าในเมืองหนึ่งทั้งสองชนิด เปนต้นว่าในกรุงสยามราคาเข้าหาบละ ๕ บาท ราคาน้ำตาลหาบละ ๗ บาท ๕๐ สตางค์ แต่ในเกาะชวาราคาเข้าหาบละ ๘ บาท ราคาน้ำตาลหาบละ ๑๐ บาท แพงกว่าราคาในกรุงสยามทั้งสองอย่าง ถ้าเปนอย่างนี้ก็ยังจะค้าขายแลกเปลี่ยนกันมีกำไรได้ทั้งสองฝ่ายเหมือนกัน ตามส่วนราคานี้น้ำตาลในกรุงสยาม ๑ หาบ จะแลกเข้าในกรุงสยามได้หาบครึ่ง ส่วนน้ำตาลในเกาะชวา ๑ หาบจะแลกเข้าในเกาะนั้นได้ ๑๒๕ ชั่ง (จีน) ถ้าเปนเช่นนี้น้ำตาลชวา ๑ หาบ ราคา ๑๐ บาท จะแลกเข้ากรุงสยามได้ ๒ หาบเปนราคา ๑๐ บาท แล้วเอาไปขายในเกาะชวาจะได้ราคาหาบละ ๘ บาท ๒ หาบเปนเงิน ๑๖ บาท มีกำไร ๖ บาทในค่าเข้า ส่วนในกรุงสยามราคาเข้า ๒ หาบเปนเงิน ๑๐ บาท เมื่อส่งไปขายในเกาะชวาจะได้ราคา ๑๖ บาท ซื้อน้ำตาลชวาได้ ๑๖๐ ชั่ง เอาเข้ามาขายในกรุงสยาม ได้ราคาหาบละ ๗ บาท ๕๐ สตางค์ ๑๖๐ ชั่ง เปนเงิน ๑๒ บาท หักทุนค่าเข้า ๑๐ บาทยังเหลือเปนกำไรอยู่ ๒ บาท โดยที่ไม่ได้คิดค่าระวางทั้งสองฝ่าย

ถ้าสินค้าสองชนิดนั้น มีส่วนราคาแลกเท่ากันทั้งสองประเทศ การแลกเปลี่ยนกันก็จะไม่งอกประโยชน์อย่างใดขึ้น เปนต้นว่าถ้าในกรุงสยามเข้าสองหาบจะแลกน้ำตาลได้ ๑ หาบ แลในเกาะชวาเข้า ๒ หาบ ก็จะแลกน้ำตาลในเกาะนั้นได้ ๑ หาบเหมือนกัน ถ้าเปนเช่นนี้ก็หามีใครจะส่งน้ำตาลชวามาแลกกับเข้าไทย หรือส่งน้ำตาลไทยไปแลกกับเข้าชวาให้ป่วยการไม่

ตามธรรมดาของการค้าขายต่างประเทศนั้น พ่อค้าบางคนก็ตั้งหน้าค้าแต่สินค้าอย่างที่เขาชำนาญแต่ชนิดเดียว ที่ซื้อของนั้นส่งออกไป หรือซื้อของนอกเข้ามาขายก็มี ที่ซื้อสินค้าหลายอย่างส่งออกไปขายทางเดียว หรือซื้อสินค้าหลายอย่างเข้ามาขายทางเดียวก็มี แลที่ค้าทั้งสินค้าออกนอกเมืองแลสินค้าเข้าในเมืองพร้อมกันทั้งสองฝ่ายก็มี สุดแล้วแต่จะเห็นว่าราคาฝ่ายในกับฝ่ายนอกผิดกัน พอเกินค่าขนสินค้าไปส่งเปนกำไรสมควรกับความเหน็จเหนื่อยแล้ว ก็คงจะซื้อของสิ่งนั้นขายเอากำไรได้ทุกชนิดไป แต่กำไรนี้ถ้ามากเกินส่วนกำไรปานกลางไป ไม่ช้าก็คงจะต้องลดลงมาเพราะการประมูลที่พ่อค้าทั้งหลายจะแก่งแย่งกันลดกำไรลง

ในการค้าขายต่างประเทศที่ห่างไกลกันนั้น ค่าระวางเรือแลค่าใช้สรอยสารพัดอย่างในการส่งสินค้าไปแลส่งกลับมานั้นจะต้องเปนข้อสำคัญที่จะคิดเสียก่อน ราคาสินค้าที่ส่งไปมาถึงกันต้องแพงขึ้น เพราะค่าใช้สรอยในการขนสินค้ารวมทั้งกำไรปานกลางของพ่อค้านั้นด้วย เมื่อคิดค่าขนแลกำไรของพ่อค้าเติมเข้า แล้วลงปลายราคาของชนิดเดียวกันในประเทศที่ส่งแลประเทศที่รับสินค้าอย่างนั้น คงจะเท่ากันอยู่เสมอ จะสูงกว่ากันเกินส่วนไปไม่ได้ ก็เพราะการประมูลแก่งแย่งกันในระหว่างผู้ทำแลผู้ค้าซึ่งจะคอยบังคับอยู่เปนธรรมดา การค้าขายถ้าไม่มีที่ติดขัดเพราะการปิดประตูค้า การเก็บภาษีหรือข้อบังคับต่าง ๆ ของรัฐบาล หรือเพราะติดขัดด้วยข้อหนังสือสัญญาซึ่งรัฐบาลต่างประเทศได้ทำไว้ต่อกัน พ่อค้าต่อพ่อค้าผู้ทำสินค้าต่อผู้ทำสินค้า ได้ประมูลแข่งขันประชันกันได้โดยสดวกแล้ว ราคาสินค้าที่แลกเปลี่ยนกันคงจะต่ำลงถึงที่สุด เพียงที่ผู้ทำแลผู้ค้าจะได้กำไรปานกลางพอสมควรเท่านั้น ลงปลายที่สุดคุณประโยชน์ของการค้าขายคงจะได้แก่พลเมืองที่เปนผู้บริโภคใช้สรอยสินค้านั้นทั่วไป

สินค้าซึ่งประเทศหนึ่งจะส่งออกไป จนกว่าจะพอดีกันกับความต้องการของประเทศหนึ่งเมื่อใดนั้น จะมีเขตรคั่นต่อเมื่อราคาสินค้าที่แลกเปลี่ยนกันในห้องประเทศนั้น จะค่อยลดหย่อนลงหากันเข้าระเบียบไปเอง เปนต้นว่าในการค้าเข้ากับน้ำตาลในระหว่างกรุงสยามกับเกาะชวาที่ได้ยกมากล่าวเปนตัวอย่างก่อนนั้น เมื่อเวลาที่ไทยส่งเข้า ๑ หาบไปแลกน้ำตาลในเกาะชวาได้ถึง ๑ หาบครึ่ง จะมีกำไรเปนอันมากนั้น แน่แล้วพ่อค้าไทยก็คงจะอยากส่งเข้าไปอย่างมากที่สุดที่จะส่งไปได้ พ่อค้าไทยทั้งหลายต่างก็จะเอาเยี่ยงอย่างกันเพราะเห็นมีกำไรมาก เมื่อเปนเช่นนี้เข้าในเกาะชวาจะมากเกินส่วนต้องการของชาวชวาไปจนกว่าพ่อค้าไทยเหล่านั้นจำเปนจะต้องลดราคาเข้าลง มิฉนั้นก็จะขายเข้าไม่ได้ แลในระหว่างเวลาเดียวกันนั้นราคาเข้าในเมืองไทยก็จะต้องสูงขึ้น เพราะเหตุที่เข้าในเมืองจะน้อยลงโดยที่พ่อค้าไทยขนออกไปส่งเกาะชวามากนั้นเอง เหตุที่กล่าวนี้จะทำให้พ่อค้าไทยมีความท้อถอยในการที่จะส่งเข้าไปเกาะชวาถึงสองประการ คือราคาเข้าในเกาะชวาต้องตกต่ำลงฝ่ายหนึ่ง แล้วราคาเช้าในกรุงสยามก็ต้องสูงขึ้นอิกฝ่ายหนึ่งด้วย ลงปลายพ่อค้าก็จะมีกำไรแต่พอคุ้มค่าขนเข้าส่งแลพอคุ้มค่าแรงที่ทำการค้าขายเข้าแต่พอสมควรเท่านั้น ชาวชวาที่กินเข้าของไทยจะซื้อได้ด้วยราคาต่ำพอสมควร การค้าขายต่างประเทศถ้าได้แลกเปลี่ยนสินค้ากันได้โดยสดวกทั้งสองฝ่ายแล้ว ผลอันดีคงจะได้แก่ผู้ซื้อของกินของใช้โดยที่จะซื้อของได้โดยราคาต่ำที่สุดเปนธรรมดาเช่นนี้เสมอ ผู้เพาะปลูกแลผู้ทำสินค้าก็จะมีที่ส่งสินค้าออกไปขายตามนา ๆ ประเทศกว้างขวางห่างไกลออกไป พอมีกำไรปานกลางได้เสมอ เว้นเสียแต่ว่าถ้าพลเมืองประเทศอื่นทำสินค้าชนิดเดียวกันส่งเข้ามาขายในเมืองได้ต่ำราคากว่า ชาวเมืองต้องลดราคาลงจนไม่มีกำไรเมื่อใด แลถ้าประชุมชนที่ทำการเลี้ยงชีพอยู่แต่เฉพาะการอย่างเดียวนั้น ไม่มีปัญญาจะป้องกันการประมูลแก่งแย่งของชาวต่างประเทศแล้ว การชนิดที่ทำอยู่นั้นจะเปนอันทำไม่ได้ต่อไป เช่นกับการปลูกอ้อยทำน้ำตาลเมืองนครไชยศรีแลตามหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งเคยส่งออกไปขายต่างประเทศเปนผลประโยชน์ใหญ่ของกรุงสยามอย่างหนึ่งที่ต้องเลิกทำเสียเปนต้น ยังมีการทอผ้าพื้นผ้าไหมซึ่งทำใช้กันอยู่แต่ในบ้านเมืองแท้ ๆ ชาวต่างประเทศก็อุส่าห์ทอผ้าพื้นผ้าม่วงเข้ามาขายลดราคาอยู่ได้ คนทำงานที่เคยเลี้ยงชีพอยู่ด้วยการทำของที่กล่าวมาเปนตัวอย่างนี้ ต้องขาดผลประโยชน์ที่เคยได้ แลต้องไปหาการอย่างอื่นทำต่อไป ถ้าพลเมืองพวกนี้มีจำนวนคนเปนส่วนน้อยความเสียหายก็จะไม่มีผลชั่วร้ายเท่าใดนัก ข้างฝ่ายพลเมืองโดยทั่วไปได้ใช้น้ำตาลราคาถูกลงกว่าเก่า แลเสียค่าผ้าพื้นผ้าไหมนุ่งน้อยลงเพราะของต่างประเทศถูกกว่า มีคุณทางนี้มากก็พอจะลบล้างกันกับการเสียหายนั้นได้ การประมูลแข่งแย่งกันลดราคาสินค้าต่ำลงได้เพียงใด ก็เปนประโยชน์แก่พลเมืองที่ต้องซื้อสินค้าอย่างนั้นทั่วไป ถ้าทางได้มีมากกว่าทางเสียหลายเท่าก็ควรจะต้องปล่อยให้การเปนไปตามธรรมดา

แต่ถ้าการประมูลแข่งขันกันกับชาวต่างประเทศ จะมีผลร้ายมากเกินส่วนที่ดีไป ถึงกับจะทำให้พลเมืองส่วนมากยากจนค่นแค้นลงได้ทั่วไปแล้ว รัฐบาลก็จำเปนจะต้องเข้าแซกมือจัดการป้องกันอยู่เอง มิฉนั้นบ้านเมืองก็มีแต่จะซุดโทรมยากจนลงทุกที เพราะเหตุนี้รัฐบาลนา ๆ ประเทศโดยมากในทวีปยุโรปแลอเมริกา จึงได้คอยระวังเอาใจใส่คุมเชิงราคาสินค้าอยู่เสมอ ถ้าเห็นว่าสินค้าต่างประเทศชนิดใด จะเข้าไปทำลายพิธีการทำสินค้าอย่างนั้นในบ้านเมืองของเขาได้ ก็ต้องคิดอ่านห้ามสินค้าอย่างนั้นไม่ให้เข้าเมือง โดยที่จะตั้งพิภัตอัตราเก็บภาษีสินค้าเข้าเมืองให้สูงขึ้น จนชาวต่างประเทศจะส่งเข้าไปขายเอากำไรไม่ได้ มิใช่จะทำกันแต่เพียงนี้ รัฐบาลยังสอดส่องดูต่อไปอิกว่าสินค้าใหม่อย่างใด เกิดขึ้นในเมืองโดยที่มีผู้ริอ่านทำขึ้นนั้น ถ้ามีลักษณะที่จะทำให้มากมายใหญ่โตเกิดผลประโยชน์ได้มากในภายน่าแน่แล้ว รัฐบาลก็จัดการป้องกันเสียแต่ต้นไป การป้องกันเช่นนี้เปนการส่งเสริมให้สินค้าอย่างใหม่มีโอกาศที่จะจำเริญขึ้นได้โดยสดวก คอยประคองให้จำเริญไปจนกว่าผู้ที่จะมีความชำนาญพอที่จะตั้งตัวได้มั่นคง จนถึงกับจะส่งสินค้าอย่างใหม่นั้นออกไปขายแข่งขันกันนอกประเทศได้

วิธีป้องกันเปนการบำรุงสินค้าในบ้านเมืองให้จำเริญขึ้นเช่นนี้ มีประเทศอเมริกาเหนือ ประเทศเยอรมัน ประเทศฝรั่งเศส ออสเตรีย อิตาลี แลรัสเซียที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้เปนต้น การค้าขายของเขาก็ดูจำเริญขึ้นได้ดีกว่าเก่าโดยรวดเร็ว

การค้าขายโดยสดวก

แต่พวกอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เห็นดีในวิธีป้องกันมีประเทศอังกฤษ แลบรรดาเมืองขึ้นของเขาเปนสำคัญอยู่นั้น เห็นความว่าปล่อยให้การค้าขาย การหัดถกรรม แลการเพาะปลูกดำเนินไปตามลำพังตัวโดยสดวกดีกว่า การใดที่ทำสู้เขาไม่ได้โดยลำพังตัวเอง เพราะต้องเปลืองทุนเปลืองแรงมากกว่าเขาเพราะทำในทำเลที่ไม่เหมาะกับการ หรือทำสู้เขาไม่ได้โดยลักษณะการนั้นไม่ถูกกันกับนิสัยของคนทำงาน ทำไม่สันทัดไม่สนัดแลไม่สดวกต่าง ๆ นั้น ไม่ควรจะป้องกันเอาไว้ให้ต้องเปลืองทุนเปลืองแรงแลป่วยการเวลาทำ รัฐบาลควรจะเป็ตทางให้พลเมืองได้ซื้อของกินแลของใช้ได้โดยราคาต่ำที่สุด ไม่ควรจะบังคับให้ต้องซื้อของแพง โดยที่จะป้องกันไม่ให้ของราคาถูกเข้าเมือง เปนการสงเคราะห์แก่ผู้ทำซึ่งเปนคนส่วนจำนวนน้อยในบ้านเมือง เพราะฉนั้นจึงควรจะละทิ้งการอย่างนั้นเสีย ไปทำการอย่างอื่นซึ่งจะเกิดผลจากทุนแลแรงทำการมากกว่า ใครสนัดทำการอย่างใดได้อย่างดีที่สุด ก็ควรจะทำแต่การอย่างนั้น เห็นกันว่าถ้านา ๆ ประเทศปล่อยให้การเปนไปได้ตามลำพังเช่นที่กล่าวมานี้แล้ว ก็จะมีผลดีที่ตรงว่า ต่างชาติก็ต่างจะทำแต่ล้วนของที่ทำได้สดวกดีกว่าอย่างอื่น เพราะฉนั้นจึงสามารถจะทำได้มากขึ้นกว่าเก่า แลจะเปนการตัดการทำสินค้าเช่นที่ทำไม่สนัดนั้นให้ลดน้อยลงพร้อมกันด้วย เมื่อเปนเช่นนี้ได้ ค่าใช้สรอยในการทำผลประโยชน์นั้นจะเปลืองน้อยลง แล้วยังจะได้ทุนแลแรงทำการที่ป่วยการอยู่เมื่อก่อนนั้น ไปใช้ในการที่จะเกิดผลได้โดยสาวกนั้นด้วย เปนการใช้ทุนแลแรงทำงานในบ้านเมืองให้ได้ผลอย่างดีเต็มกำลัง

เมื่อมองไปดูภูมิประเทศของเกาะอังกฤษแล้วก็จะเห็นได้ทันทีว่า เขาคิดการตามทำนองที่ปล่อยให้การทำมาหากินในบ้านเมืองเดินไปแต่ลำพังความสดวกนั้น (Free trade) เปนการเหมาะสมควรกับลักษณะพลเมืองแลทำเลที่แผ่นดินของเขาจริง เมืองอังกฤษมีที่ดินสำหรับเพาะปลูกน้อยแต่พลเมืองหนาแน่นเกินส่วนที่ดินเพาะปลูกอาหาร ถ้าจะเอาใจชาวนาบำรุงการเพาะปลูกโดยที่จะป้องกันไม่ให้เข้าสาลีแลอาหาร ที่เกิดจากการเพาะปลูกต่างประเทศเข้าไปขายลดราคาได้ ก็จะเสียเปรียบชาวต่างประเทศ เพราะว่าอาหารที่จะทำได้ในพื้นเมืองอันเปนที่แคบแลที่ดินเก่าแก่ต้องลงทุนลงแรงมากจึงจะได้ผลพอเลี้ยงกันนั้น ราคาอาหารจำเปนจะต้องแพงมาก เมื่ออาหารแพงมากค่าแรงของคนทำงานจะต้องแพงขึ้นตามกัน เมื่อค่าแรงแพงราคาสินค้าทุกอย่างที่ทำขึ้นใช้ในเมืองหรือที่จะส่งออกไปขายนอกประเทศก็จะแพงขึ้นด้วย เพราะต้องลงทุนทำสินค้านั้นมากไป เปนการเสียเปรียบแก่ชาวต่างประเทศที่มีแผ่นดินเพาะปลูกอาหารกว้างใหญ่ พลเมืองได้กินอาหารราคาต่ำ ค่าแรงต่ำทั้งราคาสินค้าที่จะทำขึ้นขายแข่งแย่งกันนั้นก็จะต่ำกว่าสินค้าอังกฤษด้วย ชาวอังกฤษเห็นเหตุที่อาจเสียเปรียบเขาได้ดังที่กล่าวมานี้ จึงได้เลิกการป้องกันผลเพาะปลูกแลสินค้าอื่นเสียทุกอย่าง ปล่อยให้สินต่างประเทศไหลเข้าไปในบ้านเมืองได้โดยสดวก ราคาอาหารในเมืองก็ตกต่ำลง เพราะได้อาไศรยอาหารต่างประเทศเพิ่มเติมเข้าไป ทุนแลแรงที่ต้องไปป่วยการใช้ในการเพาะปลูกซึ่งเปนที่กันดานอยู่แต่ก่อนนั้น มาภายหลังนี้ราคาอาหารถูกลง จะทำการอยู่ในที่ชนิดนั้นไม่ได้ต่อไป เจ้าของทุนก็จำจะต้องถอนทุนไปคิดอ่านทำการอย่างอื่นอยู่เอง เมื่ออาหารถูกลงค่าแรงทำการถูกลง การหัดถกรรมแลการพานิชกรรมได้อาไศรยใช้ทุนที่ป่วยการอยู่แต่ก่อนเพิ่มเติมขึ้นด้วย การสองอย่างนั้นก็พึงจะต้องเจริญขึ้นได้โดยรวดเร็ว การหัดถกรรมแลพานิชกรรมของพลเมืองอังกฤษแต่ก่อนก็จำเริญอยู่มากกว่าประเทศที่ใกล้เคียงอยู่แล้ว กรุงอังกฤษมีเมืองขึ้นอยู่ทั่วโลก เปนตลาดคอยซื้อสินค้าอังกฤษอยู่เปนนิจ แต่ลำพังพลเมืองอังกฤษแข่งขันประชันฝีมือกันเองก็ชำนิชำนาญช่ำชองดีอยู่เสมอ ไหนยังคนทำงานในกรุงอังกฤษจะหมั่นแลอดทนทำงานได้เนื้อมากกว่าพลเมืองอื่นอยู่เปนธรรมดาด้วยเพราะฉนั้นการที่รัฐบาลอังกฤษเปิดความสาวกให้แก่การค้าขายทั่วไปนั้น จึงเปนคุณแก่ชาติอังกฤษเปนอันมาก บ้านเมืองยิ่งจำเริญขึ้น ทุนงอกมากขึ้น การค้าขายจำเริญ มีเรือบันทุกสินค้าทวีมากขึ้นเพียงใด อำนาจของกรุงอังกฤษก็มากขึ้นตามกัน พลเมืองในแผ่นดินอังกฤษไม่ได้อาไศรยผลเพาะปลูกในเมืองเปนกำลังเลี้ยงตัวพอก็จริง แต่ในใต้พื้นแผ่นดินอุดมไปด้วยแร่เหล็กแลมีถ่านหินในที่ใกล้กันเปนอันมากด้วย การถลุงเหล็กแลหัดถกรรมต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเครื่องเหล็กก็ต้องทำได้โดยราคาต่ำกว่าประเทศอื่นอยู่เอง แร่เหล็กนั้นถึงโดยว่าจะเปนแร่ที่ราคาต่ำเพราะมีอยู่มากทั่วไปในโลกก็จริง แต่เมื่อมนุษย์เราใช้เครื่องที่ทำด้วยธาตุเหล็กมากกว่าธาตุอื่นหลายส่วนนัก ประเทศใดที่มีถ่านหินใช้ประกอบด้วย การทำเครื่องเหล็กสารพัดอย่างก็ต้องรุ่งเรืองมีผลมากอยู่เอง ผลของการหัดถกรรมซึ่งเกิดจากแร่เหล็กแลถ่านหินนั้น อังกฤษส่งออกไปแลกอาหารจากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยงกัน พลเมืองชำนาญการหัดถกรรมแลพานิชกรรมมาก่อนแล้ว เมื่อทำการค้าขายได้โดยสดวก ก็รับสินค้าซึ่งเปนผลเพาะปลูกแลของสารพัดอย่างที่เกิดในพื้นแผ่นดินของนา ๆ ประเทศทั่วโลกเข้าไปดัดแปลงแต่งสรรขึ้นเปนสินค้าใหม่ส่งกลับออกไปขายได้ทั่วไปอีก ในที่สุดชาติอังกฤษเลี้ยงตัวอยู่ได้ด้วยการหัดถกรรมแลพานิชกรรมโดยแท้ ประเทศอเมริกาเหนือแม้แต่ปลูกฝ้ายแลเลี้ยงแกะได้เองทอผ้าได้เองแล้ว ก็ยังไม่พ้นที่จะต้องขายฝ้ายให้อังกฤษไปทอผ้าในแข่งกันขายในตลาดต่างประเทศได้ค่าแรงในประเทศอังกฤษต่ำกว่าพลเมืองมีความชำนาญกว่าชาติอังกฤษแม้แต่ต้องซื้อผ้ายเมืองอื่นมาใช้ก็ยังอุส่าห์ทอผ้าได้ดีแลขายราคาถูกกว่าเมืองที่เพาะปลูกของเดิม

การค้าขายโดยทางสดวกมีผลดีเปนความเจริญมากแก่ชาติอังกฤษดังที่ได้กล่าวมาช่นนั้นก็จริงแต่เหตุใดประเทศอิสรภาพใหญ่ ๆ ในยุโรปแลอเมริกาจึงเห็นเปนการผิดตรงกันข้ามไป ยังถือว่าการป้องกันจะทำให้บ้านเมืองของเขาเจริญดีกว่าอยู่เสมอ

แต่เมื่อจะพิจารณาดูเหตุผลทั้งปวง ที่ได้ชักชวนให้ประเทศเหล่านี้นิยมไปข้างทางป้องกันฝ่ายเดียวให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นนั้น ในชั้นต้นจำเปนจะต้องดูภูมิสาตร์ทำเลที่ แลตรวจดูจดหมายเหตุของประเทศที่ต่างกันเพียงที่เกี่ยวข้องแต่จำเภาะการค้าขาย พอให้รู้เค้าความเสียก่อนว่า ลักษณะของประเทศต่าง ๆ นั้น เปนอย่างไรมาแต่เดิม พลเมืองทำการกสิกรรมหัดถกรรมแลพานิชกรรมจำเริญขึ้นเปนลำดับมาได้อย่างใด แลเพราะมีทางได้ทางเสียอย่างไร ประเทศเหล่านั้นจึงมิได้เห็นดี ในการที่จะปล่อยให้ค้าขายกันโดยสดวกอย่างประเทศอังกฤษที่ได้ประพฤติอยู่ทุกวันนี้เปนต้น ต่อเมื่อได้ทราบความที่กล่าวมานี้บ้างแล้ว ผู้ศึกษาจึงจะตัดสินได้ว่าประเทศสยามควรจะเดินทางตามวิธีไหน หรือจะจัดการผ่อนผันอย่างใด จึงจะเหมาะกันกับภูมิประเทศแลพลเมืองของเรา แต่จะยกเรื่องราวของประเทศต่าง ๆ มาพรรณาเรียงตัวเปนลำดับไปในที่นี้จะยืดยาวนัก จำเปนจะต้องงดความไว้กล่าวในหมวดหน้าต่อไป.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ