ประวัติโดยสังเขป

ของ

หลวงประเสริฐไมตรี (วงศ์ โชติกเสถียร)

หลวงประเสริฐไมตรี (วงศ์ โชติกเสถียร) เป็นบุตรของพระยาสรรพกิจปรีชา (ชื่น โชติกเสถียร) และคุณหญิงฉลวย สรรพกิจปรีชา เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ณ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร มีประวัติย่อโดยสังเขป คือ

การศึกษา

เมื่อครั้งเยาว์วัย หลวงประเสริฐไมตรีได้เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดอนงค์ และไปต่อที่โรงเรียนราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนสุดท้ายในประเทศไทย หลังจากนั้นพระยาสรรพกิจปรีชาผู้บิดาซึ่งขณะนั้นรับราชการอยู่ ณ กรุงลอนดอน ได้ให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ขณะนั้นมีอายุเพียง ๑๔ ปี การศึกษาในประเทศอังกฤษปรากฏดังนี้

พ.ศ. ๒๔๕๔ เข้าเรียนที่ Ascham House School Westcliff-on-sea England จบชั้นสูงสุดของโรงเรียนนี้ อันเป็นโรงเรียนเตรียมเข้าโรงเรียน Public School

พ.ศ. ๒๔๕๖ เข้าเรียน Haileybury College England ได้ Low Middle II

พ.ศ. ๒๔๕๘ เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย Oxford กับครูส่วนตัว และสอบเข้ามหาวิทยาลัยนี้ได้ในหนึ่งปีภายหลัง

พ.ศ. ๒๔๖๐ เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Oxford จนได้รับปริญญา B.A. เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔

พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้ไปเรียนอักษรศาสตร์ต่อที่ประเทศฝรั่งเศส

การรับราชการและตำแหน่งหน้าที่

หลวงประเสริฐไมตรีเริ่มเข้ารับราชการเป็นนักเรียนผู้ช่วยสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน และเป็นผู้ช่วยสถานทูตนี้ประมาณเกือบ ๕ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้ย้ายไปเป็นเลขานุการตรีประจำสถานทูตไทย ณ กรุงปารีสต่อไป และได้เลื่อนขึ้นเป็นเลขานุการโทอยู่ต่อเนื่องประจำสถานทุต ณ กรุงปารีสจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๒ รวมเวลาที่อยู่สถานทูตนี้ประมาณ ๑๒ ปี จึงกลับเข้ามารับราชการประจำกระทรวงการต่างประเทศ

รวมเวลาชีวิตแห่งการศึกษาและรับราชการ ณ ต่างประเทศของหลวงประเสริฐไมตรี ต่อเนื่องรวมกันมาประมาณ ๒๘ ปีในระยะนี้

พ.ศ. ๒๔๘๕ หลวงประเสริฐไมตรีได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นกงสุลไทย ณ เมืองไซ่ง่อน จนได้รับตำแหน่งเป็นกงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองนี้ตลอดมา ๔ ปี

พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงประเสริฐไมตรีได้รับโอนให้ประจำสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ และได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปประจำ ณ ที่ประทับเมืองโลซานน์ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในตำแหน่งราชเลขานุการประจำพระองค์ตราบจนกระทั่งเสด็จกลับพระนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔

พ.ศ. ๒๔๙๔ รับราชการเป็นข้าราชการสำนักพระราชวัง ในตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ประจำ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

พ.ศ. ๒๕๐๕ ออกจากราชการเพื่อรับบำนาญเพราะเหตุสูงอายุ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงประเสริฐไมตรีปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับพระราชกิจในสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถต่อไป

ราชการพิเศษ

กันยายน ๒๔๖๘ เป็นผู้ช่วยผู้แทนรัฐบาลฝ่ายไทยในการประชุม Geodesy and Geophysics ที่กรุงมาดริด

กันยายน ๒๔๖๙-๗๐ เป็นผู้ช่วยในคณะผู้แทนในการประชุมสันนิบาตชาติที่เจนีวาประจำปี ๒๔๖๙ และ ๒๔๗๐

กันยายน ๒๔๗๑ เป็นเลขานุการในคณะผู้แทน ในการประชุมสันนิบาตชาติที่เจนีวา

มิถุนายน ๒๔๗๒ ถึง มิถุนายน ๒๔๘๓ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการประชุมประจำปีทุก ๆ ปี ของกรรมการของสมาคมนานาประเทศว่าด้วยเรื่องถนน

กรกฎาคม ๒๔๘๔ ได้รับแต่งตั้งให้ไปราชการพิเศษในคณะผู้แทนรัฐบาลไทย รับโอนอาณาเขตชุดจังหวัดนครจำปาศักดิ์

มกราคม ๒๔๘๕ เป็นกรรมการผู้ช่วยในคณะผู้แทนฝ่ายไทยในคณะกรรมการปักปันเขตแดน

ธันวาคม ๒๔๙๔ คณะรัฐมนตรีลงมติแต่งตั้งให้เป็นกรรมการพิจารณาปรับปรุงรัฐธรรมนูญ

มิถุนายน ๒๕๐๓ ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปประเทศอเมริกาและยุโรป

อิสริยาภรณ์และเกียรติยศที่ได้รับจากต่างประเทศ (ตามลำดับ)

เบญจมาภรณ์ช้างเผือก

จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย

จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก

ตริตาภรณ์มงกุฎไทย

Chevalier de la Légion d`Honneur

มงกุฎอิตาลี ชั้น ๔

Officier de l`ordre de Léopold de Belgique

ตริตาภรณ์ช้างเผือก

ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๙

ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย

เหรียญจักรพรรดิมาลา

ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก

เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๓

ทุติยจุลจอมเกล้า

La médaille de la Courronne (เหรียญทอง)

ประถมาภรณ์มงกุฎไทย

เหรียญราชรุจิทอง

ประถมาภรณ์ช้างเผือก

หลวงประเสริฐไมตรีได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒ รวมอายุได้ ๗๒ ปี ๒๓ วัน.

เมื่อถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พระราชทานเครื่องเกียรติยศประกอบศพตามเกียรติของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระมหากรุณาเป็นกรณีพิเศษอีกหลายประการ เช่น

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการศพโดยตลอดมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีสวดพระอภิธรรมพระราชทาน ๓ คืน และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ๓ วัน พระราชทานด้วย

อนึ่ง ในโอกาสที่จะประกอบการรับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ตามเกียรติยศ ในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๒ นั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สำนักพระราชวังกำหนดการเป็นงานที่จะเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งนี้ นับได้ว่าได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่หลวงประเสริฐไมตรี อย่างสุดที่จะประมาณได้.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ