ภาษาเขมรในตำราคชศาสตร์
เนื่องจากคำฉันท์ดุษฎีสังเวย มีคำภาษาเขมรปนอยู่เป็นจำนวนมาก และคำฉันท์เรื่องดังกล่าวจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “คชกรรม” อันเป็นแขนงหนึ่งในวิชา “คชศาสตร์” ในที่นี้จึงขอนำลักษณะของภาษาที่ใช้ใน “ตำราคชศาสตร์” มาอธิบายโดยสังเขป เพื่อเป็นสมมติฐานในการกำหนดที่มาและอายุของตำราดังกล่าว
“ตำราคชศาสตร์” คือวิชาที่ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับช้าง แบ่งออกเป็น ๒ หมวด ได้แก่
คชกรรม ว่าด้วยเรื่องการจับช้าง รักษาช้าง การกำจัดเสนียดจัญไรเกี่ยวกับช้าง การฝึกหัดช้าง การบังคับช้าง การใช้อาวุธบนหลังช้าง และเวทย์มนตร์คาถาสำหรับใช้ในพิธีเกี่ยวกับช้าง
คชลักษณ์ ว่าด้วยรูปพรรณสัณฐาน ลักษณะดีร้ายของช้าง และการจำแนกช้างออกเป็นตระกูลต่าง ๆ
สันนิษฐานว่า ไทยนำจะได้รับวิทยาการเกี่ยวกับ “คชศาสตร์” ทั้งคชกรรมและคชลักษณ์ส่วนหนึ่งมาจากเขมรโบราณ ทั้งนี้เนื่องจากในตำราดังกล่าวมีคำภาษาเขมรปนอยู่เป็นจำนวนมาก ในเอกสารโบราณเรื่อง “ตำราพระคชกรรม” ส่วนที่เป็นบทมนตร์ต่างๆ นั้น ใช้ภาษาเขมรอย่างเก่า คำบางคำน่าจะมีอายุถึงสมัยเมืองพระนครของเขมรโบราณ ส่วนในตำราคชลักษณ์ ปรากฏชื่อช้างทั้งช้างศุภลักษณ์และช้างทุรลักษณ์หลายชื่อ เป็นคำที่มาจากภาษาเขมรเช่นกัน
เอกสารโบราณ ต้นฉบับตัวเขียนเรื่อง “ตำราพระคชกรรม” เอกสารเลขที่ ๙๙ หมวดสัตวศาสตร์ หมู่ช้าง มีเนื้อหาว่าด้วยการตั้งโขลนทวารในพิธีคชกรรม ตัวอักษรที่ใช้ในตำราดังกล่าว ส่วนที่เป็นบทมนตร์เขียนด้วยตัวอักษรขอม ภาษาเขมร ส่วนที่เป็นคำอธิบายขั้นตอนพิธีกรรมเขียนด้วยตัวอักษรไทย
สมุด “ตำราพระคชกรรม” เล่มนี้น่าจะเป็นฉบับที่มีการคัดลอกขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ผู้คัดลอกอาจไม่มีความรู้ภาษาเขมร โดยเฉพาะภาษาเขมรยุคโบราณ ทำให้คำต่างๆ มีความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไปเป็นอันมาก
อนึ่ง เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบศัพท์บางคำที่ใช้ในตำราพระคชกรรมกับภาษาที่ใช้ในศิลาจารึกเขมรโบราณ สมัยเมืองพระนครแล้ว จะเห็นว่ามีลักษณะใกล้เคียงกัน
ในที่นี้ได้คัดบทมนตร์บางบท ถ่ายถอดออกเป็นอักษรไทย เพื่อนำมาเปรียบเทียบตั้งเป็นสมมติฐานในการกำหนดอายุของ “ตำราคชศาสตร์” ตัวอย่างบทมนตร์ในพิธีคชกรรม เช่น
“โอมฺ สิทฺธิสฺวสฺติ อญฺ ภาวนา เนะ คิ เราะห วฺระศาสน วฺระกุมฺรเตง อญฺ ต ปรเมศวร ปนฺทูล ต วฺระกมฺโม วฺระกุมงฺไตฺท อญฺ ชา ภทฺรปูร นุ อฺนกฺ สหสฺส สงฺวฺระฏนฺรม เสฺดจ เถฺลิง เมากฺ นุ ปริภาริกา คณ เผางฺ มฺวย สหสฺรสฺสงฺค ฉฺทฺส มนุสฺย วณฺโณภาชน เมากฺ ทฺรง สมร โนะ ปญฺชี ต วฺระธรณิ โนะ เทป กนฺห สงฺ วฺระธรณิ ต เทา โอยสิทฺธิ โอยสฺวสฺติ โอยชย โอยทิก กฺปิรามฺญฺตฺย เมากฺ โสฺรจสฺรง ต วฺระธรณี เลง ยฺลาญฺ ปิ สุวาหฺวํ ฯ แล้วจึ่งปลูกโรงโดยลักษณะนั้น แลในโรงชันรมนั้นให้พูนสถลทินโดยโดรณทวารทังสี่ทิศ พูนสถลทินพระเทวกรรม...”[๑]
และ
“เนะ คิ เราะห อาทฺธิส อิตฺ มาน กฺเนิต ธรณี ไผฺลยง เจฺฬิงไตก เจฺลิง ติ วฺระอาทิตฺย ติก วฺระวายุ ถสุจิ วฺระจนฺท เนา ชา กุมฺรเตง อญฺ สุวาหฺวํ”
“...มาน กำเนิต กำตปฺ กนฺวยฺง โนฺวต ตงฺ ถฺนกฺ จตฺ ฎํนกฺสฺนาม กนฺเตาลฺ รำหุน ปงฺคไกย เตางฺ ต มาน เผางฺ เนะ อชฺกาล จฺรถม เลย เทป เกิต ปฺรถวี เทป เกิต ตำมเรี ขฺมา เทป วฺระกุมฺรเตง อญฺ ต ปรเมศวร ปนฺจูล วฺระวฺรหฺม เปร ฤษีศาตฺร เทป เยากฺ ตำมเรีขฺมา เนะ มฺวย โอย เทา ต ชา ตำมเรี ทฺนกฺ ต วฺระกมฺม...” [๒]
การใช้คำขึ้นต้นบทคาถาว่า “เนะ คิ เราะห” ซึ่งแปลว่า “นี้คือ ตามนั้น” มักใช้เป็นคำขึ้นต้นข้อความในศิลาจารึกเขมรโบราณ สมัยเมืองพระนครหลายแห่ง เช่น
จารึกสด็อกก๊อกธม
“เนะ คิ เราะห ศาขสนฺตาน โนะ สนฺตาน อนินฺทิตปุร เตง สุรุกศตคฺราม กุรุงฺ ภวปุร โอย ปฺราสาท ภูมิ อาย วิษฺย อินฺทรปุร สนฺตาน จตฺ สฺรุก ชฺมะ ภทฺรโยคิ องฺกฺวยฺ ต คิ สฺถาปนา วฺระ ศิวลิงฺค ต คิ มนฺ วฺระปาท ปรเมศวร เมากฺ อํวิ ชฺวา...”[๓]
จารึกปราสาทพิมานอากาศ
“เนะ คิ เราะห วทฺธปฺรติชฺญฺา เยง ต อฺปาลฺล เนะ นา ภาคตมฺรฺวจ จตฺวาริ สฺยงฺ ต ศาปถเวลา กาตฺ ไต ถฺวาย อายุหฺ นุ กฺฤตชฺา ภกฺติ ต เยง ต ศุทฺธ ต ธุลี วฺระ ปาท...”[๔]
คำศัพท์หลายคำที่ใช้ในจารึกเขมรโบราณสมัยพระนครกับในตำราพระคชกรรม มีความใกล้เคียงกันมาก ดังตารางเปรียบเทียบ
ตำราพระคชกรรม | จารึกสมัยเมืองพระนคร | เขมรปัจจุบัน | ความหมาย |
อญฺ | อญฺ | อัญ | ข้า |
เนะ | เนะ | เนะ | นี้ |
คิ | คิ | คื | คือ |
เราะห | เราะห | - | ตามนั้น |
วฺระ | วฺระ | พฺระ | พระ |
ชา | ชา | ชา | เป็น ดี |
อฺนกฺ | อฺนกฺ | นาก่ | คน |
เมากฺ | เมากฺ | มก | มา |
นุ | นุ | นุะ | นั้น |
ต | ต | ฎ็ | ซึ่ง อัน |
โอย | โอย | อวย | ให้ |
ติก | ทิก | ทึก | น้ำ |
โนะ | โนะ | โนะ | นั้น |
เทป | เทป | เทิป | จึง |
เปฺร | เปฺร | เปฺรี | ใช้ |
อํวิ | อํวิ | อํพี | จาก |
เยากฺ | เยากฺ | ยก | เอา |
เผางฺ | เผางฺ | ผง | ทั้งปวง |
ฯลฯ
จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นว่าคำเขมรที่ปรากฏใน “ตำราพระคชกรรม”มีลักษณะใกล้เคียงกับคำเขมรที่ใช้ในศิลาจารึกสมัยเมืองพระนคร
ตำราคชลักษณ์ของไทยซึ่งว่าด้วยลักษณะช้างประเภทต่าง ๆ นอกจากจะกำหนดชื่อช้างเป็นภาษาสันสกฤต เช่น บุณฑฤก โคบุตร ฯลฯ แล้ว ชื่อช้างต่างๆ โดยเฉพาะช้างที่มีลักษณะร้ายหรือช้างทุรลักษณ์ส่วนมากเป็นคำภาษาเขมร เช่น บิเดาะ พลุกแบก ตระบังบัด เป็นต้น
จากศัพท์ภาษาเขมรที่ปรากฏในตำราคชศาสตร์ ทั้งส่วนที่ว่าด้วย “คชกรรม” และ “คชลักษณ์” นั้น เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ไทยน่าจะได้รับตำรานี้มาจากเขมรตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ -๑๙ เป็นอย่างช้า ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ระบุว่า สมเด็จพระราเมศวรเสด็จยกทัพหลวงขึ้นไปตีกรุงกัมพูชาและกวาดต้อนราษฎรเข้ามาไว้ ณ กรุงศรีอยุธยา พระราชพงศาวดารได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ว่าเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ปีพุทธศักราช ๑๙๓๐ แต่มิได้ระบุว่าเป็นปีใด ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่๒ (เจ้าสามพระยา) เสด็จไปตีเมืองพระนครของเขมรได้ในปีพุทธศักราช ๑๙๖๔ ทรงให้พระราชโอรส คือพระนครอินทร์ปกครองเมืองพระนคร ครั้งนั้นทรงให้นำ “รูปภาพทั้งปวง” มายังกรุงศรีอยุธยา อาจเป็นไปได้ว่าสรรพวิทยาการต่าง ๆ และวิชาคชกรรมบางส่วนของเขมรได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในครั้งนั้นด้วย
อนึ่ง ตำราคชศาสตร์ไทยเราเองนั้นมีมาก่อนหน้านี้แล้ว ครั้นรับตำราจากเขมรโบราณเข้ามาอาจมีการปรับปรุง ผสมผสานให้กลมกลืนกันกับของเดิม ดังจะเห็นได้จากบทมนตร์ต่างๆ ในตำราคชกรรม ซึ่งมีทั้งภาษาไทยและภาษาเขมรโบราณ
ลิลิตยวนพ่าย วรรณคดีสมัยอยุธยาซึ่งแต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จ พระบรมไตรโลกนาถ มีโคลงหลายบทกล่าวถึงกระบวนทัพช้างที่ยิ่งใหญ่ ประกอบด้วยช้างศุภลักษณ์ร่วมไปในกองทัพถึง ๑,๐๐๐ เชือก และในจำนวนช้างเหล่านั้นไม่มี “ไตรตรึงษดิราษตร” คือ ช้างทุรลักษณ์ ๓๓ จำพวก ปะปนอยู่ในกองทัพเลย
๏ ไตรตรึงษดิราษตรร้าย | ฤๅมี หนึ่งเลย |
อัษฎลักษณาการ | แก่นเกื้อ |
คชสารคู่คชสีห | พิริยภาพ |
แลเครื่องแลช้างเคื้อ | คู่ขยน ฯ |
โคลงจากลิลิตยวนพ่าย บทดังกล่าวเป็นหลักฐานว่า กองทัพไทยในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีความรู้เกี่ยวกับลักษณะช้างตามตำราคชลักษณ์เป็นอย่างดี
[๑] ตำราพระคชกรรม เอกสารสมุดไทยดำ เส้นหรดาล เลขที่ ๙๙ หมวดสัตวศาสตร์ หมู่ช้าง
[๒] ตำราพระคชกรรม เอกสารสมุดไทยดำ เส้นหรดาล เลขที่ ๙๙ หมวดสัตวศาสตร์ หมู่ช้าง
[๓] อุไรศรี วรศะริน. คำบรรยายรายวิชา “จารึกเขมรสมัยพระนคร” หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาจารึกภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๒๖
[๔] เรื่องเดียวกัน