อธิบายเรื่อง
คำฉันท์ดุษฎีสังเวย คำฉันท์กล่อมช้างครั้งกรุงเก่า และ คำฉันท์คชกรรมประยูร
[๑]วรรณคดีสมัยอยุธยา เรื่อง “คำฉันท์ดุษฎีสังเวย” ของขุนเทพกระวี เมืองสุโขทัย และ “คำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า” พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ “ชุมนุมฉันท์ดุษฎีสังเวย” ในงานศพพระยาศรีธรรมาศุกราช บรมนารถนิตยภักดี พิริยพาหะ (เจริญ จารุจินดา) เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๗ ในการพิมพ์ครั้งนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์คำนำ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “หนังสือดุษฎีสังเวยซึ่งแต่งครั้งกรุงเก่าก่อนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช”
เนื่องจากภาษาที่ใช้ในคำฉันท์ดุษฎีสังเวยเป็นภาษาเก่า ทั้งมีคำภาษาเขมรและภาษาสันสฤตปนอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อมีการพิมพ์ในครั้ง ต่อๆ มาเกิดความลักลั่นคลาดเคลื่อนหลายแห่ง กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์พิจารณาเห็นว่า คำฉันท์ดุษฎีสังเวยเป็นหนังสือที่มีความสำคัญมากเรื่องหนึ่ง จึงดำเนินการตรวจสอบชำระใหม่เพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่
จากการตรวจสอบชำระครั้งนี้พบว่า ต้นฉบับสมุดไทยเรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาเป็น ๓ ตอน คือ ตอนต้น เป็นคำฉันท์ดุษฎีสังเวย ใช้เป็นบทสำหรับอ่านเมื่อประกอบพิธีคชกรรม ตอนกลาง เป็นคำฉันท์กล่อมช้าง ใช้เป็นบทสำหรับกล่อมช้างเมื่อคล้องช้างสำคัญได้แล้ว และตอนปลาย เป็นคำฉันท์คชกรรมประยูร ว่าด้วยลักษณะช้างชนิดต่างๆ คำฉันท์ทั้ง ๓ เรื่องดังกล่าว แต่งขึ้นด้วยจุดประสงค์ต่างกันและแต่งในระยะเวลาต่างกัน
ตอนต้นและตอนกลางนั้นมีเนื้อหาจัดอยู่ในหมวด “คชกรรม” คือ พิธีกรรมเกี่ยวกับช้าง ส่วนตอนปลายมีเนื้อหาจัดอยู่ในหมวด “คชลักษณ์” อันได้แก่ “คำฉันท์คชกรรมประยูร” ซึ่งยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน
ในการตรวจสอบชำระถือเอาฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๔๕๙ เป็นหลักเปรียบเทียบสอบทานกับฉบับตัวเขียน เอกสารโบราณเรื่อง “คำฉันท์ดุษฎีสังเวย” หมวดวรรณคดี หมู่ฉันท์ จำนวน ๑๑ ฉบับ เอกสารทั้งหมดเก็บรักษาไว้ที่ ส่วนภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติ ตามรายละเอียดดังนี้
ฉบับที่ ๑ |
สมุดไทยดำ เส้นรง เอกสารเลขที่ ๑๕ ขนาด กว้าง ๑๑.๗ เซนติเมตร ยาว ๓๖ เซนติเมตร หนา ๔.๕ เซนติเมตร ประวัติ หอพระสมุดซื้อเมื่อ วันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๕ ความในบานแพนกว่า “หน้าต้นสดุดีสังเวย ฯ” |
ฉบับที่ ๒ |
สมุดไทยดำ เส้นรง เอกสารเลขที่ ๑๖ ขนาด กว้าง ๑๑ เซนติเมตร ยาว ๓๔.๕ เซนติเมตร หนา ๕.๕ เซนติเมตร ประวัติ หม่อมไพชยนต์เทพ (ม.ร.ว. พิน) ถวายหอพระสมุด เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๑ |
ฉบับที่ ๓ |
สมุดไทยดำ เส้นรง เอกสารเลขที่ ๑๗ ขนาด กว้าง ๑๑.๔ เซนติเมตร ยาว ๓๕ เซนติเมตร หนา ๕ เซนติเมตร ประวัติ เป็นสมบัติเดิมของหอพระสมุด มีข้อความในบานแพนกว่า “๏ วัน ๑ ๑๓ฯ ๑ ค่ำจุลศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลู นพศก ข้าพระพุทธเจ้า นายพินิจสารสเถียร ชุบ ขอเดชะ ฯ” (ได้พิมพ์ภาพถ่ายต้นฉบับไว้ในภาคผนวก) |
ฉบับที่ ๔ |
สมุดไทยดำ เส้นรง เอกสารเลขที่ ๑๙ ขนาด กว้าง ๑๒.๒ เซนติเมตร ยาว ๓๕.๒ เซนติเมตร หนา ๓.๓ เซนติเมตร ประวัติ หอพระสมุดซื้อจาก หม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๗๙ |
ฉบับที่ ๕ |
สมุดไทยดำ เส้นรง เอกสารเลขที่ ๒๐ ขนาดกว้าง ๑๐.๘ เซนติเมตร ยาว ๓๓.๔ เซนติเมตร หนา ๑.๕ เซนติเมตร ประวัติ ได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี |
ฉบับที่ ๖ |
สมุดไทยดำ เส้นรง เอกสารเลขที่ ๒๑ ขนาดกว้าง ๑๑.๕ เซนติเมตร ยาว ๓๔ เซนติเมตร หนา ๒ เซนติเมตร ประวัติ ได้มาจากพิพิธภัณฑ์ฯ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ มีข้อความในบานแพนกว่า “คำฉันท์ดุษฎีสังเวย เล่มนี้ ข้าพระพุทธเจ้า ขุนนิมิตอักษร จำลอง ทูลเกล้าฯ ถวาย ขอเดชะฯ” |
ฉบับที่ ๗ |
สมุดไทยดำ เส้นดินสอ เอกสารเลขที่ ๒๒ ขนาดกว้าง ๑๑.๔ เซนติเมตร ยาว ๓๔.๒ เซนติเมตร หนา ๑ เซนติเมตร ประวัติ เป็นสมบัติเดิมของหอพระสมุด |
ฉบับที่ ๘
|
สมุดไทยดำ เส้นรง เอกสารเลขที่ ๒๑ ขนาดกว้าง ๑๓.๔ เซนติเมตร ยาว ๓๖ เซนติเมตร หนา ๘ เซนติเมตร ประวัติ ได้จากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี |
ฉบับที่ ๙ |
สมุดไทยดำ เส้นดินสอ เอกสารเลขที่ ๔๖ ขนาดกว้าง ๑๑ เซนติเมตร ยาว ๓๕ เซนติเมตร หนา ๑ เซนติเมตร ประวัติ เป็นสมบัติเดิมของหอพระสมุด |
ฉบับที่ ๑๐
|
สมุดไทยดำ เส้นรง เอกสารเลขที่ ๔๗ ขนาดกว้าง ๑๑.๔ เซนติเมตร ยาว ๓๕ เซนติเมตร หนา ๒.๘ เซนติเมตร ประวัติ เป็นสมบัติเดิมของหอพระสมุด |
ฉบับที่ ๑๑
|
สมุดไทยดำ เส้นรง เอกสารเลขที่ ๔๙ ขนาดกว้าง ๑๒ เซนติเมตร ยาว ๓๕ เซนติเมตร หนา ๗ เซนติเมตร ประวัติ เป็นสมบัติเดิมของหอพระสมุด (ได้พิมพ์ภาพถ่ายต้นฉบับไว้ในภาคผนวกเฉพาะส่วนที่เป็นคำฉันท์ดุษฎีสังเวยและคำฉันท์กล่อมช้างครั้งกรุงเก่า) |
เนื้อหาในสมุดเล่มนี้ตอนต้นเป็นฉันท์ดุษฎีสังเวยและคำฉันท์กล่อมช้าง ตอนกลางเป็นตำราช้างคำฉันท์ อีกสำนวนหนึ่งซึ่งต่อไปจากคำฉันท์คชกรรมประยูร ตอนปลายเป็นคำฉันท์กล่อมช้าง พระนิพนธ์ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
เอกสารโบราณต้นฉบับตัวเขียนทั้งหมดที่ใช้ในการตรวจสอบชำระครั้งนี้ ไม่มีหลักฐานในเอกสารฉบับใดที่ระบุว่าเขียนขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เข้าใจว่าทุกฉบับมีการคัดลอกขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์
เนื่องจากศัพท์บางคำที่ปรากฏในแต่ละฉบับมีความลักลั่นคลาดเคลื่อนในการตรวจสอบชำระ ได้พิจารณาบริบทแวดล้อมของคำที่มีปัญหาในบางฉบับ แล้วเลือกเอาฉบับที่เห็นว่ามีความเป็นไปได้ในทางวิชาการมากที่สุด ทั้งนี้อาศัยการเปรียบเทียบคำศัพท์ที่มีปัญหานั้นกับศัพท์ในวรรณคดีคำฉันท์สมัยอยุธยาเรื่องอื่นๆ และได้จัดทำคำอธิบายศัพท์ไว้ในตอนท้ายของคำประพันธ์ด้วย
อนึ่ง ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้ปรับอักขรวิธีบางส่วนในคำประพันธ์ ให้เป็นปัจจุบัน โดยจะเปลี่ยนอักขรวิธีเฉพาะในกรณีที่เมื่อเปลี่ยนแล้วไม่ทำให้ออกเสียงต่างไปจากเดิม คำใดหากเปลี่ยนแล้วทำให้การออกเสียงเปลี่ยนจะคงรูปศัพท์นั้นไว้ตามต้นฉบับตัวเขียน เพื่อเป็นการรักษา “สัททาลังการ” หรืออลังการฝ่ายเสียง ให้คงอยู่ตามเจตนารมณ์ของกวีผู้แต่ง
[๑] นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ นักอักษรศาสตร์ ๘ ว. กลุ่มงานวรรณกรรม กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร