คำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า

“คำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า” ซึ่งแต่เดิมเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกับฉันท์ดุษฎีสังเวยนั้น จากการศึกษาโดยละเอียดได้พบว่า “คำฉันท์กล่อมช้าง” มีเนื้อหาและจุดประสงค์เพื่อการนำไปใช้ประกอบในพิธี “คชกรรม” ในขั้นตอนเมื่อล้อมจับช้างได้แล้ว ต่างไปจาก “คำฉันท์ดุษฎีสังเวย” ซึ่งแต่งขึ้นเพื่อบูชาเทพยดาต่าง ๆ มีพระอิศวร เป็นต้น เพื่อขอความเป็นสวัสดิมงคลในพิธีคชกรรม ประกอบกับคำฉันท์กล่อมช้างเริ่มต้นคำประพันธ์บทแรกโดยไม่ร้อยสัมผัสรับกับปลายบาทสุดท้ายของคำฉันท์ดุษฎีสังเวย ดังนั้นคำฉันท์ดุษฎีสังเวยและคำฉันท์กล่อมช้างจึงมิใช่เรื่องเดียวกัน

คำฉันท์กล่อมช้างน่าจะแต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปีพุทธศักราช ๒๒๐๓ คราวที่ได้ช้างเผือกเจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์ มาสู่พระบารมี ทั้งนี้มีข้อสังเกตจากเหตุผลที่ว่า เจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์ เป็นช้างเผือกที่อยู่ในตระกูล “พรหมพงศ์” และ ในคำฉันท์กล่อมช้างมีข้อความระบุว่า ช้างที่กล่อมในครั้งนั้นอยู่ในตระกูล “พรหมพงศ์” คือ

๏ หนึ่งโสดสมเด็จบรมหง สคือองคพระพรหม
รังสฤษดิสรรคพ่อมาสม เปนวรพ่าหภูเบนทร์ ฯ

และ

๏ กมลาสน์ ธ แกล้งเกลาสรรค์ อย่าโทษพงศ์พัน
ธุเทพมานุษย์เลย ฯ  

ช้างตระกูลฉัททันต์ ตามตำราคชลักษณ์ว่า พระพรหมเป็นผู้สร้าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์ “เรื่องช้าง” ว่า

“พระพรหมได้ให้นางอุปกาสีมีบุตรเปนช้าง ๑๐ หมู่ หมู่ที่ ๑ ชื่อว่าฉัททันต์ สีขาวเหมือนสีเงิน งาขาวเหมือนสีเงิน...”[๑]

พระบรมคเชนทรฉัททันต์ ช้างเผือกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น เป็นช้างเผือกพลายได้มาจากเมืองนครสวรรค์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๒๐๓ หลังจากที่ทรงประกอบพระราชพิธีบัญชีพรหมหรือพระราชพิธีคชกรรม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๒๐๑ ในคำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า มีข้อความสอดคล้องกัน คือ

๏ ฝ่ายช้างไสยศาสตร์นี้ใคร ฤๅจะเปรียบปูนใน
พระองค์ไท้ทรงธรรม์  
๏ เมื่อเสร็จการอุดมกรรม์ ได้ช้างเผือกอัน
วิสุทธิสารบวร ฯ  

พระราชพิธีบัญชีพรหมที่จัดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งนั้นคงหมายถึง “พระราชพิธีอุดมกรรม” นั่นเอง

อนึ่ง ในตำราพระคชกรรม มีมนตร์บทหนึ่งปรากฏคำว่า “บัญชีพรหม” อยู่ในมนตร์นั้นด้วย ได้แก่

“เนะ นาม ปญฺชิวฺรหฺม คิ ปี ปงฺกนฺ จฺรตฺ เปร ทกฺตำมฺเรีย ทฺนกฺ เทป สฺวตฺ มนฺตร เนะ ทลฺ เมากฺ อญฺ เผางฺ เหย เมลลมฺปู ปญฺชิวฺรหฺม...”[๒]

(ปญฺชิวฺรหฺม คือ บัญชีพรหม, ทกฺตำมฺเรีย คือ ทักดำเรีย ได้แก่ การต่อช้าง)

คำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า บอกที่มาของเรื่อง ว่า

๏ แก้กลอนกัมพุชภาษา แจงแจ้งเอามา
เป็นสยามพากยพิสัย ฯ  

ความในคำประพันธ์บทดังกล่าวระบุว่า คำประพันธ์ภาษาสยามนี้ แก้ไขเปลี่ยนแปลงมาจาก “กลอนกัมพุชภาษา” คือ คำประพันธ์ภาษาเขมร อันน่าจะได้แก่ “คำฉันท์ดุษฎีสังเวย” นั่นเอง และสาเหตุที่ต้องมีการ “แก้กลอนกัมพุช” ในครั้งนั้น อาจเนื่องมาจากในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่นิยมใช้ภาษาเขมร ทั้งหาตัวผู้ที่มีความรู้ภาษาเขมรได้น้อย ดังนั้น “คำฉันท์ดุษฎีสังเวย” ซึ่งแต่งเป็นภาษาเขมรสื่อความหมายได้ไม่เข้าใจ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นคำฉันท์ภาษาไทยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ประกอบกับในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นมีกวีสำคัญในราชสำนักเป็นจำนวนมาก เมื่อได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมี จึงมีการประพันธ์คำฉันท์ขึ้น เพื่อใช้กล่อมช้างสำคัญก่อนที่จะนำออกจากป่ามาดังพระนคร แต่บทมนตร์ต่างๆในพิธีคชกรรมยังเป็นภาษาเขมรอยู่เช่นเดิม ทั้งนี้เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของพิธี “คำฉันท์กล่อมช้าง” นี้น่าจะเป็นคำฉันท์สำนวนแรกที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการกล่อมช้าง ก่อนหน้านี้ขึ้นไปอาจยังไม่มีประเพณีกล่อมช้าง เมื่อคล้องช้างได้แล้ว มีเพียงการอ่านฉันท์ดุษฎีสังเวยในพระราชพิธีคชกรรมเท่านั้น

คำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า มีข้อความหัวเรื่องบอกไว้ว่า “สดุดีลาไพร” เนื้อหาเริ่มต้นด้วยบทบูชาเทพยดา หลังจากที่คล้องช้างได้แล้ว ขอให้พระไพรช่วยคุ้มครองรักษาพระมหากษัตริย์และไพร่พลที่มาทำการคล้องช้าง จากนั้นกล่าวเล้าโลมช้างที่คล้องได้ให้ละทิ้งความทุกข์ยากในป่าที่เคยอยู่ไปยังเมืองที่มีความสุขสบายกว่า

ในการล้อมช้างแต่ละคราวนั้น นอกจากช้างสำคัญหรือช้างเผือกที่อาจคล้องได้ในบางครั้งแล้ว ยังคล้องช้างอื่นๆ ที่มีลักษณะดีทั้งช้างพลาย และช้างพังไปด้วยคราวละมาก ๆ ดังนั้นในคำฉันท์กล่อมช้างบางบทจึงใช้คำว่า “อ้าพ่อ” เป็นสรรพนามสำหรับ “ช้างพลาย” และบางแห่งใช้คำว่า “กิริณี” อันหมายถึง นางช้างหรือช้างพัง

การกล่อมช้างด้วยคำฉันท์ในสมัยเมื่อแต่งคำประพันธ์เรื่องดังกล่าว คงมิได้ทำพิธีกล่อมในพระราชวัง น่าจะทำในป่าที่คล้องช้างนั้นได้ ดังในคำฉันท์กล่าวว่า เมื่อคล้องช้างได้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็จะกล่าวขอลาพระไพรกลับไปยังพระนคร

๏ ส่วนพระภูธรผู้ไกร ขอลาพระไพร
ไปยังอโยทธยาศรี  
๏ จงสถาพรสุขมากมี ยศลํ้าโลกีย์
หฤทัยมีหื่นหรรษ์ ฯ  

และความในคำประพันธ์อีกบทหนึ่งกล่าวว่า ผู้ทำพิธีกล่อมช้างก็ขอลาพระไพรกลับไปยังบ้านเมือง ทั้งขอให้ช้างที่คล้องได้นั้น ตั้งใจเดินไปยังบ้านเมืองด้วยเช่นกัน

๏ ขอแต่พระไพร ด คณา ตูจักลีลา
ยังสุขรมยบุรี  
๏ จงตั้งใจเดิรด้วยดี อย่ารำพึงศรี
และสระสโรชในไพร ฯ  

เนื่องจาก “คำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า” มิได้ระบุนามผู้แต่ง และไม่ปรากฏข้อความใดที่จะสันนิษฐานนามผู้แต่งได้ จึงไม่สามารถระบุได้ว่ากวีผู้แต่งคำฉันท์เรื่องนี้คือผู้ใด แต่น่าจะแต่งขี้นตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดิน ดังความในคำประพันธ์ที่ว่า

๏ ทังนี้โสดองค์พระสรร เพชญ์ไททรงธรร
มเลิศนิลํ้าไตรตรา  
๏ แก้กลอนกัมพุชภาษา แจงแจ้งเอามา
เปนสยามพากยพิสัย ฯ  

“คำฉันท์ดุษฎีสังเวย” และ “คำฉันท์กล่อมช้าง” ประพันธ์เพื่อใช้ประกอบในพระราชพิธีคชกรรม แต่ทั้ง ๒ เรื่องใช้ในโอกาสและจุดประสงค์ที่ต่างกัน



[๑] ชุมนุมพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หมวดวรรณคดีและหมวดโบราณคดี และประชุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ ภาคปกิณกะ. กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๒

[๒] ตำราพระคชกรรม เอกสารสมุดไทยดำ เส้นหรดาล เลขที่ ๙๙ หมวดสัตวศาสตร์ หมู่ช้าง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ