คำฉันท์ดุษฎีสังเวย
ต้นฉบับเอกสารตัวเขียนเรื่อง “คำฉันท์ดุษฎีสังเวย” นี้บางฉบับระบุชื่อเรื่องว่า “สดุดีสังเวย” หรือ “สดุดีอวยสังเวย” แต่ทุกฉบับเขียนบอกไว้ตรงกันว่า “ขุนเทพกระวี เมืองสุโขทัย” เป็นผู้แต่ง
“พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนสมัยอยุธยา” กล่าวถึง บรรดาศักดิ์ข้าราชการในสังกัดกรมพระอาลักษณ์ตำแหน่งหนึ่ง คือ “หมื่นเทพกระวี” มิใช่ “ขุนเทพกระวี” อย่างที่ปรากฏในคำฉันท์ดุษฎีสังเวย แต่อาจเป็นไปได้ที่ว่า “หมื่นเทพกระวี” จะได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น “ขุน” จากหลักฐานต่างๆ เท่าที่ปรากฏ ไม่อาจกำหนดได้ว่า“ขุนเทพกระวี” ผู้นี้เป็นกวีรัชกาลใด และแต่งคำฉันท์ดุษฎีสังเวยนี้ขึ้นเมื่อไร
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่า คำฉันท์ดุษฎีสังเวยแต่งขึ้นก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่จะเป็นเมื่อใดนั้นมิได้ทรงสันนิษฐานไว้
จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์และภาษาที่ใช้ในคำฉันท์ดังกล่าว สันนิษฐานได้ว่า น่าจะแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พุทธศักราช ๒๑๑๒-๒๑๓๓) ขึ้นไป
เหตุผลที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานดังกล่าวคือ ความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งระบุว่าเมืองสุโขทัยตกอยู่ในสภาพว่างเปล่า มีผู้คนเบาบางมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา กล่าวคือ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ ๑ ในปีพุทธศักราช ๒๑๑๒ นั้น พม่าได้กวาดต้อนผู้คนจากกรุงศรีอยุธยาไปยังพม่าเป็นจำนวนมาก เพื่อตัดกำลังมิให้ไทยตั้งมั่นได้ในภายหลัง สมเด็จพระมหาธรรมราชาซึ่งทรงเป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงรับสั่งให้ “เทครัวเมืองเหนือทั้งปวงลงมายังกรุงศรีอยุธยา” ราษฎรชาวเมืองสุโขทัยถูกอพยพมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยาเกือบทั้งหมดเพื่อทดแทนกำลังพลที่ถูกพม่ากวาดต้อนไป แม้เมืองสุโขทัยจะมิได้ตกอยู่ในสภาพเมืองร้างอย่างสิ้นเชิง แต่ผู้คนที่เหลืออยู่บ้างนั้นเป็นระดับแรงงานหรือชาวบ้าน ส่วนปัญญาชน นักปราชญ์ นักปกครอง อันเป็นชนชั้นสูงคงอพยพมาอยู่กรุงศรีอยุธยาในคราวนั้น เมื่อเป็นดังนี้ “ขุนเทพกระวี” จึงน่าจะมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาอย่างช้าที่สุดในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา ทั้งนี้มิได้หมายความว่า “ขุนเทพกระวี” อพยพมาในคราว “เทครัวเมืองเหนือทั้งปวง” อาจมาแต่ก่อนหน้านี้นานแล้ว เพราะเมืองสุโขทัยนั้นตกอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพะงั่ว) ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๑๙๑๔
“คำฉันท์ดุษฎีสังเวย” ประพันธ์ขึ้นเพื่อใช้ประกอบในพิธี “คชกรรม” เมื่อมีการ “เสด็จวังช้าง” เพื่อล้อมจับช้างเถื่อน นำมาฝึกปรือให้เชื่องสำหรับใช้เป็นพาหนะหรือใช้ในกิจการต่าง ๆ หลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พุทธศักราช ๒๐๙๑-๒๑๑๑) มืการเสด็จวังช้างหลายครั้ง ซึ่งในการเสด็จแต่ละครั้งจะต้องประกอบพระราชพิธีคชกรรม และมี “สดุดีอวยสังเวย” ทุกครั้ง ดังนั้นคำฉันท์ดุษฎีสังเวยอาจแต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเพื่อใช้สำหรับใช้ประกอบในพระราชพิธีดังกล่าวก็เป็นได้
ดังได้กล่าวมาแล้วในคำอธิบายตอนต้นว่า คำฉันท์ดุษฎีสังเวย มิได้แต่งขึ้นเพื่อใช้สำหรับกล่อมช้าง แต่แต่งเพื่อใช้สำหรับการบวงสรวง ในตำราพระคชกรรมระบุไว้ชัดเจนว่าให้พฤฒิบาศอ่าน “ดุษฎีสังเวย” เป็นช่วงๆ ทั้งบอกลำดับขั้นตอนในพิธีกรรมไว้ด้วยว่า เมื่อไรบ้างที่ต้อง “สดุดีสังเวย” บทมนตร์ที่กล่าวไว้ในตำราพระคชกรรมส่วนใหญ่เป็นภาษาเขมร เมื่อจบบทมนตร์แล้วจึงกำหนดให้ต่อด้วยบทสดุดีอวยสังเวย ดังตัวอย่าง
“เนะ คิ เราะห อาทฺธสตฺต บิ มานกำเนิต นุ สงฺ กนฺวยฺร เนะ จุะ ต วฺระธรณิ เทป ธฺยาน กนฺหสฺร วฺระธรณิ เถฺลง เมากฺ สฺรตุติ นุ เทวตาส อิตฺ เนาะ เผางฺ ต กนฺวยฺร เนะ คิ เจฺลาง เนาะ อฺนกฺ เสฺรจ เยากฺ ชา วฺระเฌสฺดำ ทุกฺ นำ เปฺร เหา วฺระกุมฺรเตง อญฺ กถา สิทฺธิ มฺวย เหา เอกสิทฺธิ มฺวย เหา วฺระหนุมาน เมากฺ อํวิ ไถุงย เนาะ เหาง เทป วฺระกุมฺรเตง อญฺ ต ปรเมศวร ปนฺทูล ต วฺระกุมฺรเตง อญฺ หนุมาน เนาะ คิ เจฺฏญฺศิลา ถฺลา ปิ ชฺรง มาน มฺวย สตโยชน จำงาย มาน มฺวย สตโยชนปฺรลุง มาน อนฺตราย เลย สฺวาหฺวํฯ แล้วจึ่งให้หมอลำลาก คือให้คดข้าวนั้นใส่ตระไลทองแดง แลทำเปนส่วน จึ่งเย็บกรวย ใส่ข้าวที่เชือกบาศนั้นกรวยหนึ่ง แล้วเอาน้ำสรรพคนธประพรมข้าวทังปวง แล้วจึ่งอ่านสดุดีพระเทวกรรมแลสดุดีโอยสังเวย...”[๑]
ขั้นตอนในตำราพระคชกรรมตอนที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ทำเมื่อก่อนคล้องช้าง จะเห็นว่ากำหนดให้สดุดีอวยสังเวย หลังจากร่ายมนตร์ที่เป็นภาษาเขมรแล้ว
ตัวอย่างในขั้นตอนอื่นๆ ที่ระบุให้อ่านสดุดีอวยสังเวยอีก ได้แก่
“...แล้วให้ขดเชือกเข้ามาตั้งในชันรมด้วยมนตรนี้ โอม เภาติก โอมมาลิก โอมราติก อาย นุ อญฺ กุมปิ มาน เตายฺ เทาเนานุ อญฺ สฺวาหฺวํฯ แลกระทำการกำนลเชือกนั้นโดยขนาดแล้ว ให้ควาญแก้เครื่องช้างทังปวงด้วยมนตรนี้ โอม กฺรเตาะ จล เทวาย นาม นาคราชาย นาเคนฺทฺร ติ สฺวาหา ฯ แล้วให้พฤทธิบาศทำการหุงภาว แลชำโรมภาว แลสดุดีพระเทพกรรม แลสดุดีอวยสังเวย...”[๒]
และ
“ให้ควาญเอาข้าวนั้นไปยืนหน้าช้าง แลทิ้งข้าวนั้นข้ามหัวช้าง ไปทีละปั้น แลให้ผู้ทิ้งนั้นอ่านมนตรนี้ โอย อญฺ คฺวาลฺเหย เยากฺบาย ฯ แล้วให้พฤทธิบาศสดุดีพระเทวกรรมแลสดุดี โอยสังเวย...”[๓]
คำฉันท์ดุษฎีสังเวย แบ่งออกเป็น ๓ ลา คือ
ลาที่ ๑ ตั้งแต่คำประพันธ์บทที่ ๑ ถึงบทที่ ๒๕ เป็น “สดุดีอวยสังเวย” เนื้อหาว่าด้วยการบูชาเทพยดาต่างๆ ในพิธีคชกรรม เช่น
๏ อัญขยมบังคมบรมภูวสวะ | มนตรชากรุงชนะ |
นิตยเทวดาผอง |
ฯลฯ
บทสดุดีดังกล่าวมีเนื้อหาทำนองเดียวกับมนตร์บางบทในตำราพระคชกรรม เช่น
“สิทฺธิ สฺวสฺติ อญฺ ภาวนา เนะ คิ เราะห วฺระศาสน วฺระกุมฺรเตง อญฺ ต ปรเมศวร ปนฺทูล ต วฺระกมฺโม ...”
คำแปล ความสำเร็จ ความสวัสดี ข้าฯ ภาวนานื้คือ ตามนี้ พระคำสอนของพระกุมรเตง อัญ พระปรเมศวรสั่งยัง พระกรรม...
เนื้อหาในลาที่ ๑ นี้ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงกำเนิดของพระมหาวิฆเนศวรเทวดาสำคัญในพิธีคชกรรมไว้ด้วยคือ
๏ มานกาลวิงแปร | รูปกุมารมายา |
รูโป ต คณา | โสดกุมบิเดิรพระลบ |
๏ อาจเดิรดำเนิรนัก | กุมบิเดิรบิเจริญจบ |
อาจเถวอบินักสยบ | กุมปิยอกจรลิงฮองฯ |
ความตอนนี้ กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อพระนางปารวตี (พระอุมา) ชายาของพระอิศวรเอาไคลขมิ้นที่ทาพระกายมาปั้นเป็นกุมารรูปงาม สำหรับเป็นทวารบาลเฝ้าประตูในขณะที่พระนางกำลังสรงน้ำอยู่ วันหนึ่ง พระอิศวรปรารถนาที่จะเข้าไปในห้องสรง กุมารผู้เฝ้ารักษาไม่ยอม จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น พระอิศวรสู้ไม่ได้จึงให้พระนารายณ์และเทพทั้งหลายมาช่วยปราบ แต่ก็ยังสู้กุมารนั้นไม่ได้อีกเช่นกัน พระนารายณ์ต้องใช้อุบายเนรมิตรูปมายา กุมารนั้นเหม่อดูรูปมายาจนเผลอตัว เปิดโอกาสให้พระนารายณ์ตัดเศียรขาดและทำลายเศียรนั้น เป็นเหตุให้พระนางปารวตีกริ้วมาก พระอิศวรต้องให้เทพองค์หนึ่งไปหาศีรษะมาต่อ บังเอิญเทพนั้นไปได้ศีรษะช้างมา กุมารผู้เฝ้าประตูจึงมีเศียรเป็นช้าง พระอิศวรตั้งให้เป็นใหญ่ในหมู่บริวารของพระองค์ จึงได้นามว่า คเณศ วินายก หรือ วิฆเนศ
พระมหาวิฆเนศวรเทพเจ้าสำคัญในพิธีคชกรรมนี้บางตำราว่าเป็นคนละองค์กับพระขันธกุมาร (สกันท) แต่บางตำราก็ว่าเป็นองค์เดียวกัน ในเรื่องนารายณ์ยี่สิบปางฉบับเก่า กล่าวถึงกำเนิดของช้างว่า ครั้งหนึ่ง พระอิศวรมีเทวโองการให้พระเพลิงกระทำเทวฤทธิ์ให้บังเกิดศิวบุตร ๒ องค์ เบื้องขวาเกิดเป็นพระพิฆเนศวรศิวบุตร มีพระพักตร์เป็นช้าง ๑ พักตร์ ๔ กร เบื้องซ้ายเกิดเป็นพระโกญจนาเนศวรศิวบุตร มีพระพักตร์เป็นช้าง ๓ พักตร์ ๖ กร ตามคติฮินดูว่าพระโกญจนาเนศวรศิวบุตร เป็นปางหนึ่งของพระขันธกุมาร ส่วนพระเทวกรรมเทวดาสำคัญอีกองค์หนึ่งในพิธีคชกรรมนั้นเป็นปางหนึ่งของพระพิฆเนศวรศิวบุตรมี ๒ กร กรซ้ายทรงงาช้าง กรขวาทรงไม้เทวทัณฑ์ (ไม้เท้า) หรือก้อนขนมโมทกะ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบรมราชาธิบายเกี่ยวกับกำเนิดของช้างเผือกไว้ในพระราชนิพนธ์ “เรื่องช้าง” ความตอนหนึ่งว่า
“บัดนี้จะกล่าวถึงที่มาของช้างเผือก เอก โท ตรี แลช้างเอราวัณ คิริเมขละ ก่อนในตำราสร้างโลกมีว่า ในไตรดายุคหรือเตตายุค พระเป็นเจ้ามาพระชุมพร้อมกัน พระอิศวรมีเทวโองการให้พระเพลิงทำเทวฤทธิ์ เกิดเป็นเปลวเพลิงออกจากช่องกรรณทั้งสองและกลางเปลวเพลิงนั้นมีเทวกุมารองค์หนึ่ง มีพระพักตร์เป็นหน้าช้างมีกร ๒ กร ๆ ขวาทรงตรีศูล กรซ้ายทรงดอกบัว ทรงสังวาลนาคนั่งชานุมณฑล พระเป็นเจ้าจึงให้นามว่า พิฆเนศวร กรรณเบื้องซ้ายเกิดเทวกุมารองค์หนึ่ง พระพักตร์เป็นช้าง ๓ พักตร์ มีพระกร ๖ พระกร กรหนึ่งเป็นช้างเผือกผู้ มีเศียร ๓ เศียร ๔ บาท ชื่อเอราวัณ กรหนึ่งเกิดช้างเผือกผู้มีเศียร ๓ เศียร ๔ บาท ชื่อคิริเมขละไตรดายุค ๒ ช้างนี้เป็นช้างพาหนะของพระอินทร์ (แต่มิใช่พระอิศวร) อีก ๒ กรนั้นเกิดช้างข้างละ ๓ ช้าง เป็นช้างเผือก เอก โท ตรี แต่พังนั้นอยู่ข้างพระหัตถ์ซ้าย พลายนั้นอยู่ข้างพระหัตถ์ขวา พระเป็นเจ้าประสาทไว้สำหรับให้เป็นพาหนะของกษัตริย์ อันมีอภินิหารบารมีในแผ่นดิน อีก ๒ กรนั้นเกิดเป็นสังข์ทักษิณาวรรตอยู่เบื้องขวา สังข์อุตราวรรตอยู่เบื้องซ้าย แลเทวบุตรองค์นี้ยืนอยู่เหนือพระกระพองช้างเจ็ดเศียร พระเป็นเจ้าจึงให้นามว่า โกญจนาเนศวรศิวบุตร ตระกูลช้างเผือก ๑,๒,๓ จึงได้เกิดแต่นั้นสืบมา เพราะพระเพลิงเป็นผู้ทำเทวฤทธิ์ ให้เกิดโกญจนาเนศวรศิวบุตร ซึ่งเป็นต้นของช้างเผือกขึ้น ช้างเผือกที่เกิดต่อๆ มาจึงนับเข้าเป็นชาติอัคนีพงศ์ รวมเก่าใหม่ อัคนีพงศ์เป็น ๕๑ ตระกูล หมอช้างทั้งหลาย จึงได้ไหว้บูชาพระศิวบุตรพิฆเนศแลโกญจนาเนศวรศิวบุตรสืบมา”[๔]
เรื่องราวเกี่ยวกับตำนานของเทพเจ้าสำคัญในพิธีคชกรรมคือ พระขันธกุมาร พระวิฆเนศวร และพระโกญจนาเนศวร มีที่มาหลายกระแสซึ่งในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียด
ลาที่ ๒ ตั้งแต่คำประพันธ์บทที่ ๒๖ ถึงคำประพันธ์บทที่ ๔๒ เป็น “สดุดีขอช้าง” เริ่มด้วยบทบูชาพระพรหม พระนารายณ์ พระเทวกรรม พระอุมา เทวดาอัฐเคราะห์ พระมหาวิฆเนศวร พระขันธกุมาร ฤๅษีสิทธิดาบส ตลอดจนเทวดาและอมนุษย์ที่สิงสถิตอยู่ในป่า และขอช้างที่มีลักษณะดีชนิดต่าง ๆ
ฉันท์บทหนึ่งในบทสดุดีขอช้าง มีเนื้อความกล่าวถึงพระเจ้าอุเทนว่า “กรุงโกรมอุภัทธบุรณา นุอุเทนทรมนตรผคอง” พระเจ้าอุเทนนี้ตามเรื่องในคัมภีร์พระธรรมบทว่า มีพิณกำกับด้วยมนตร์สามารถบังคับช้างป่าทั้งหลายให้อยู่ในอำนาจของพระองค์ได้ ในตำราพระคชกรรม มีมนตร์หลายบทที่กล่าวถึงพระนามของพระเจ้าอุเทนอยู่ในมนตร์นั้นด้วย เช่น
“เมื่อตั้งโขลนทวารแล้วให้สวาทยายมนตรนี้ นมสฺสิตฺวา อาตฺม โอเทนราชา สิทฺธิสุขปุริโส โอเทนราชาสุขปถวิ โอเทนราชา สุขจตุทิสา โอเทนราชา สุขสตฺตปพฺพตา...ฯลฯ มนตรนี้ สมเด็จท้าวอุเทนราชให้ชุมนุมเทพดาทั้งปวงก่อน... ศาสตร์นี้มัทธยาวามหาฤๅษีให้แก่พระอุเทนราช... ศาสตร์นี้พระอุเทนราชเมื่อเรียนให้เอาทองตั้ง ๑๐ ชั่งจึ่งเรียน”[๕]
จากพระนามของพระเจ้าอุเทนที่ปรากฏในบทสดุดีขอช้าง และบทมนตร์ในตำราพระคชกรรมนั้น แสดงว่า พระองค์เป็นที่นับถือของพฤฒิบาศ หมอประกรรมผู้ทำการคล้องช้าง และควาญช้างเป็นอย่างยิ่ง
ลาที่ ๓ ตั้งแต่คำประพันธ์บทที่ ๔๓ ถึงคำประพันธ์บทที่ ๖๔ เป็น “สดุดีสิทธิดาบส” ซึ่งเชื่อว่าสิงสถิตอยู่ในเชือกบาศที่ใช้คล้องช้าง เนื้อหาในคำฉันท์กล่าวว่า ฤๅษีสิทธิดาบสตั้งพิธี “อรรจนอิศวร” คือ บูชาพระอิศวร พิธีดังกล่าวตอนหนึ่งปรากฏในคำฉันท์ว่า “ยอกภัสมธารทรงศิพมน ตรเบญจพรหมางค์ศิวางค” อันได้แก่ การประพรมน้ำศิวมนตร์จากพระเต้าเบญจคัพย์ วิธีการดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับขั้นตอนหนึ่งในพิธีพระคชกรรม คือ
“...ครั้นก่อไฟซ้ายขวาแล้ว จึ่งตามเทียนไฟซ้ายขวาสามเล่ม แลพฤฒิบาศกระทำกรศุทธิอาตมศุทธิ แล้วเอานํ้าเบญจคัพยมาละลายสรรพคนธ แลพระกำทวดแล้วเสร็จ...”[๖]
ความในคำฉันท์ที่เป็นบทสดุดีสิทธิดาบสว่า
๏ จึ่งสิทธิดาบสพิสุทธิ | หัตถบาทปรักสาร |
เฉพาะกิตยอาจมนปราณ | จมณำแลสนธยา |
๏ ยัชโญประวีตมาประดิษ | ฐในหัตถซ้ายขวา |
สวดมนตรเชิญวรมหา | สมเด็จไททังเก้าตน |
๏ เนาในสังวาลนพสูตร | เสร็จแสดงดังใจดล |
มล้างบาปบาปเกลศกมล | พิโรธเบาบาง |
๏ ยอกภัสมธารทรงศิพมน | ตรเบญจพรหมางค์ศิวาง |
คชปนพิทธยาง | คสำเร็จก็เจิมจูรณ |
๏ ทำโดยพิทธีการสนาน | อภิเษกบริบูรณ |
ยอกหัตถสมพรมามูล | จะพิสูทธิอาตมา |
๏ เถพอการกฤตยกรโส | ภณเสร็จทำโบรา- |
ณายามสวาทไตรคตา | นุประนบพระโองการ |
๏ นำสวาทโดยบุรพโอษฐ | ดำเนินศิวัทธนาวาร |
เนาในหฤทัยกมลสาน | ตินิโรธศูนยา |
๏ ครั้นเสร็จก็โปรยวิไลยมาศ | ด สูกษมสูกษมา |
อากาศศุนยบรมทวา | ทศองคุลีไลย |
๏ แล้วจึ่งจะตั้งกมลจิต | ประดิษฐกำลุงใน |
หุงการชาอัคนิประไพ | ก็เผาอาตมนิสสกนธ์ |
๏ แลดึกกษิรามฤตยอำ | พิสุริยจันทรมณฑล |
ศิตจุตอาคมพระมนตร | สฤษดิด้วยพระโองการ ฯ |
อนึ่ง ในพระราชพิธีทอดเชือก ดามเชือก มีลักษณะขั้นตอนของพิธีคล้ายกับที่กล่าวในคำฉันท์ดุษฎีสังเวย และตำราพระคชกรรม คือการ “กระสูทธิ์ อัตมสูทธิ์ บูชาเบญจคัพย์” กระสูทธิ์ ซึ่งในคำฉันท์ดุษฎีสังเวยใช้ว่า “จึ่งสิทธิดาบสพิสุทธิ” และ “ยอกหัตถสมพรมามูล จะพิสูทธิอาตมา” นั้น หมายถึง “กรสุทธิ์” หรือ “กรศุทธ” ได้แก่การชำระมือของพราหมณ์ก่อนที่จะประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ
ในเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ ตอนพระสมุทรโทษเสด็จวังช้าง กล่าวถึงพิธีคชกรรมซึ่งให้จัดขึ้นก่อนที่จะมีการล้อมช้างเถื่อน ขั้นตอนต่างๆ ในพิธีตรงกับในตำราพระคชกรรม และรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องสังเวยเทพยดาก็กล่าวตรงกับในคำฉันท์ดุษฎีสังเวย เช่น
๏ เทียนธูปธงฉัตรฉมสลา | เหล้าข้าวเนื้อปลา |
ประดับด้วยภูษากาญจน | |
๏ พาดภาวพนักโดรณโดยสาร | บังคับสบสถาน |
แลตั้งจังเว็จรอบราย ฯ |
ต่อจากนั้นกล่าวถึงพระสมุทรโฆษประกอบพิธีบวงสรวงว่า
๏ พระภูธรเสด็จถึงสถาน | กุณฑกลาการ |
แสงสิทธิจรูญจรัส | |
๏ หัสดาจารยถวายศิวภัสม | พระเจิมจูรณสวัส- |
ดิโฉมคือพินทุศีขร | |
๏ สิบนิ้วคราสคนธกำจร | เทียนธูปบวร |
แลเสร็จประการกรศุทธ ฯ |
ข้อความข้างบนนี้มีเนื้อหาเดียวกับบทสดุดีสิทธิดาบส ในคำฉันท์ดุษฎีสังเวย หนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์ตอนเสด็จวังช้างจึงเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาอธิบายความบางตอนในคำฉันท์ดุษฎีสังเวยให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น
เนื่องจากศัพท์ที่ใช้ในคำฉันท์ดุษฎีสังเวย มีความเกี่ยวข้องสืบเนื่องกันกับภาษาเขมรซึ่งเป็นบทมนตร์ในตำราพระคชกรรม อนึ่ง ศิลาจารึกต่างๆ ที่จารึกขึ้นในสมัยสุโขทัย และจารึกสมัยอยุธยาตอนต้น หลายหลักจารึกด้วยตัวอักษรขอมและภาษาเขมร เป็นหลักฐานว่าสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยาตอนต้น แม้เราจะใช้ภาษาไทยเป็นหลักแต่ก็ยังใช้ภาษาเขมรอยู่ด้วย
ศิลาจารึกหลักที่ ๔ หรือ จารึกวัดป่ามะม่วง ซึ่งจารึกเมื่อมหาศักราช ๑๒๖๙ (พุทธศักราช ๑๘๙๐) ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงนี้มีทั้งหมด ๓ หลัก คือ จารึกหลักที่ ๔ อักษรขอม ภาษาเขมร จารึกหลักที่ ๕ อักษรไทย ภาษาไทย และจารึกหลักที่ ๖ อักษรขอม ภาษามคธ ศิลาจารึกทั้ง ๓ หลักดังกล่าวมีเนื้อหาเดียวกัน แสดงว่าครั้งนั้นภาษาเขมรยังคงมีความสำคัญ และมีผู้ใช้ภาษาเขมรอยู่ในสังคมนั้นเป็นจำนวนไม่น้อย
ตัวอย่าง ข้อความจากศิลาจารึกหลักที่ ๔
“...กาลนา นุ บฺวส สฺวํ ศิล โนะ พฺระบาทกมฺรเดง อญฺ ศฺรีศูรฺยฺพงฺศราม มหาธรฺมฺมราชาธิราช สฺดจ ฌร เลก อญฺชุลี นมสฺการ พฺระสุพรฺณปฺรติมา ...”
คำแปล เมื่อเวลาจะบวชขอศีลนั้น พระบาทกมรเดงอัญศรีสุริยพงศ์ รามมหาธรรมราชาธิราช เสด็จยืนขึ้นยกอัญชลีนมัสการพระพุทธรูปทอง
จารึกลานทอง พบในกรุพระบรมธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี จารึกเมื่อพุทธศักราช ๑๙๗๘ ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ข้อความในจารึกลานทองดังกล่าวใช้ภาษาเขมร คือ
“...ศกเถาะนกฺษตฺร บิยเกด...มานบนฺทูลพฺระราชโองฺการ เสฺดจบรมราชาธิบดี ศฺรีมหาจกฺรพรฺดิราช นุ พฺระราเมศวร สุจริต สฺรทฺธา อนุโมทนา นุ พุทฺธดีกา เสฺดจ พฺระครุ... นามกรอวย มหาเถรสาริบุตฺรนาม”
กฎมณเฑียรบาล ซึ่งตราขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ระบุชื่อตำแหน่งบรรดาศักดิ์ข้าราชการหลายตำแหน่งเป็นภาษาเขมร เช่น
“กุํมฤๅแดงจุลาเทพภักดีศรีกันดาลพล ทหารขึ้นฝ่ายซ้าย นา ๖๐๐”
“กุํมฤๅแดงธารมาธิการี ขึ้นฝ่ายขวานอกทั้งปวง นา ๖๐๐”
จากหลักฐานดังกล่าวแสดงว่า ภาษาเขมรมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น ดังนั้น คำฉันท์ดุษฎีสังเวยที่แต่งเป็นภาษาเขมร จึงน่าจะมีอายุเก่าถึงสมัยอยุธยาตอนต้นเป็นอย่างต่ำ และใช้เป็นบทอ่านในพระราชพิธีคชกรรมมาแต่ครั้งนั้นจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ปัจจุบันไม่มีการจัดพระราชพิธีคชกรรมเช่นในอดีตแล้ว คำฉันท์ดุษฎีสังเวยซึ่งต้องอ่านในพระราชพิธีดังกล่าวจึงไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์โดยตรง แต่เนื้อหาและคำศัพท์ต่างๆ ที่ปรากฏในคำฉันท์เรื่องนี้ยังคงมีความสำคัญต่อการศึกษาด้านวัฒนธรรมประเพณีและวรรณคดีไทย
[๑] ตำราพระคชกรรม เอกสารสมุดไทยดำ เส้นหรดาล เลขที่ ๙๙ หมวดสัตวศาสตร์ หมู่ช้าง
[๒] เรื่องเดียวกัน
[๓] ตำราพระคชกรรม เอกสารสมุดไทยดำ เส้นหรดาล เลขที่ ๙๙ หมวดสัตวศาสตร์ หมู่ช้าง
[๔] ชุมนุมพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หมวดวรรณคดีและหมวดโบราณคดีและประชุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ ภาคปกิณกะ.กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๒
[๕] ตำราพระคชกรรม เอกสารสมุดไทยดำ เส้นหรดาล เลขที่ ๙๙ หมวดสัตวศาสตร์ หมู่ช้าง
[๖] ตำราพระคชกรรม เอกสารสมุดไทยดำ เส้นหรดาล เลขที่ ๙๙ หมวดสัตวศาสตร์ หมู่ช้าง