คำอธิบายศัพท์
คำฉันท์ดุษฎีสังเวย ของขุนเทพกระวี นั้นอาจกล่าวได้ว่า เป็นคำฉันท์ที่ประพันธ์ด้วยภาษาเขมร โดยเฉพาะส่วนที่เป็นบทสดุดีอวยสังเวย ใช้ภาษาเขมรเกือบทั้งหมด และภาษาที่ใช้นั้นเป็นภาษาเขมรสมัยอยุธยา หลายคำแตกต่างไปจากที่มีใช้ในภาษาเขมรปัจจุบัน บางคำมีการเปลี่ยนรูป บางคำมีการเปลี่ยนเสียง และบางคำเปลี่ยนไปทั้งรูปและเสียง เนื่องจากเมื่อไทยรับเอาคำเขมรมาใช้ บางครั้งรับมาเพียงรูปแต่เวลาออกเสียงเป็นอย่างอักขรวิธีไทย บางครั้งรับมาแต่เสียงแต่รูปตัวเขียนเราเขียนอย่างไทย ประกอบกับคำที่เขมรใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น เราไม่อาจทราบได้ว่าคำเดียวกันนั้นสมัยอยุธยาออกเสียงอย่างไร ทำให้มีปัญหาอย่างยิ่งในการตรวจสอบ
การเปรียบเทียบหาเค้าความหมายของคำที่มาจากภาษาเขมรในวรรณคดีสมัยอยุธยาครั้งนี้ ได้พยายามนำหลักการของวิชาภาษาศาสตร์ เชิงประวัติ (Historical Linguistic) มาใช้เป็นสมมติฐานพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของคำในลักษณะต่าง ๆ ศัพท์บางคำเมื่อพิจารณาจากรูปและเสียงแล้วเกิดความสับสน บางศัพท์รูปและเสียงใกล้เคียงกัน แต่ความหมายต่างกัน ในที่นี้ได้พิจารณาบริบทของคำ กลุ่มคำ และประโยคแวดล้อมคำนั้นๆ โดยเลือกอธิบายความหมายตามที่นำจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด
เนื่องจากศัพท์บางคำมีหลายความหมาย แต่ในการทำคำอธิบายศัพท์ครั้งนี้ได้ให้ความหมายเฉพาะที่ปรากฏในเรื่องเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ศึกษาวรรณคดีอยุธยาเรื่อง คำฉันท์ดุษฎีสังเวย คำฉันท์กล่อมช้างครั้งกรุงเก่าและคำฉันท์คชกรรมประยูร สามารถตีความในบทประพันธ์ได้ใกล้เคียงที่สุด เนื่องจากบางศัพท์จำเป็นต้องยกตัวอย่างประกอบจึงบอกไว้ด้วยว่าศัพท์คำนั้นปรากฏในเรื่องใด และบอกลำดับที่ของบทประพันธ์ไว้ในวงเล็บท้าย ตัวอย่างคำประพันธ์คือ ดุษฎีสังเวย หมายถึง คำฉันท์ดุษฎีสังเวย ของขุนเทพกระวี กล่อมช้าง หมายถึง คำฉันท์กล่อมช้างครั้งกรุงเก่า และคชกรรมประยูร หมายถึง คำฉันท์คชกรรมประยูร เช่น
มานกาลวิงแปร รูปกุมารมายา (ดุษฎีสังเวย ๔) หมายความว่า ตัวอย่างคำประพันธ์ดังกล่าวนำมาจากคำฉันท์ดุษฎีสังเวย บทที่ ๔
อนึ่ง ในการสันนิษฐานความหมายของคำศัพท์ต่างๆ ครั้งนี้ อาจยังมีข้อบกพร่องบางประการ ซึ่งต้องขอให้เป็นหน้าที่ของผู้รู้ได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขในโอกาสต่อไป
ก
กมลาสน |
กมลาสน์ กมล (ดอกบัว) + อาสน (ที่นั่ง) ผู้มีดอกบัวเป็นที่นั่ง หมายถึงพระพรหม |
กมเลศ |
เลือนมาจาก กมลาศน์ หมายถึงพระพรหม |
กมุท กุมุท กระมุท |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่งในช้างอัฐทิศ อยู่ในตระกูลพรหมพงศ์ ประจำทิศหรดี สีกายดังดอกกมุท |
กรม |
ทั้งหมด ทั้งสิ้น |
กรินทร กรินทร์ |
ช้าง กรี + อินทร์ |
กระ |
จุดหรือรอยด่างสีขาวบนผิวหนังช้าง กระมุข หมายถึงมีกระที่หน้า เช่น ผิวละเอียดกระมุข (คชกรรมประยูร ๔๘) |
กระด้างกระเดื่อง |
แข็ง นอนแนบหินผา กระด้างกระเดื่องทังตัว (กล่อมช้าง ๖๓) |
กระพอง |
ตระพอง ตะพอง ส่วนที่นูนเป็นปม ๒ ข้างที่ศีรษะช้าง |
กระพัด |
สายรัดกูบหรือสัปคับบนหลังช้าง |
กระยา |
สิ่งของ เครื่องกิน กระยานุถกลทาบ (ดุษฎีสังเวย ๘) กระยา ในที่นี้หมายถึง เครื่องสังเวย |
กระยาสังเวย |
เครื่องเซ่น เครื่องสังเวยในพิธีกรรม เครื่องโภชนะกระยา สังเวยประดับทุกพรรณ (กล่อมช้าง ๕) |
กระลาบังคัล |
กระลา ห้อง บังคัล เสาหลัก ข. บงฺโคล (บ็องโกล) กระลาบังคัลคนผจง (กล่อมช้าง ๗๐) ห้องและเสาหลักที่คนตกแต่งไว้อย่างงาม |
กระศัลย์ |
ศัลย เป็นทุกข์ เติม กระ หน้าศัพท์เป็น กระศัลย์ |
กระหมวด |
โขมด จอมประสาทส่วนหัวของช้าง |
กรุงโกรม |
ผู้เป็นใหญ่ของแผ่นดิน หมายถึงพระราชา กรุง เป็นใหญ่ ปกป้องคุ้มครอง ข. กฺรุง (กฺรง) โกรม ใต้ ล่าง ข. โกฺรม (โกฺรม) กรุงโกรมอุภัทธบุรณา นุอุเทนทรมนตรผคอง (ดุษฎีสังเวย ๒๙) |
กฤตยกร |
ผู้กระทำด้วยเวทมนตร์ กฤตย กฤตยา การใช้เวทมนตร์ กร ผู้ทำ ผู้กระทำ |
กฤตยกิตย |
งานที่ประกอบด้วยเวทมนตร์ กิตย กิจ ธุระการงาน กฤตยกิตยการสกล (ดุษฎีสังเวย ๔๓) หมายถึง งานทั้งปวงที่ประกอบด้วยเวทมนตร์ |
กฤษดาญชุลี |
แผลงมาจาก กฤษดาญชลี ยกมือไหว้แล้ว ทำความเคารพแล้ว |
กลี |
ร้าย อัปมงคล |
กล่ำ |
มะกล่ำ ในที่นี้หมายถึง มะกล่ำเครือ ต้นเป็นเถา ฝักแก่มีเมล็ดแดง |
กษิรามฤตย |
กษิรามฤต กษิร น้ำนม + อมฤต น้ำทิพย์ หมายถึง น้ำ อมฤตที่เกิดจากการกวนเกษียรสมุทร |
กันดอง |
กระทงใบตอง ในที่นี้น่าจะหมายถึง บัตร ซึ่งได้แก่ กระทงใบตอง สำหรับใส่เครื่องสังเวย ข. กนฺโทง (ก็อนโตง) |
กันดาล |
กลาง ข. กณฺฎาล (ก็อนดาล) |
กันลอง |
ข้าม ผ่าน ข. กนฺลง (ก็อนลอง) มหาโพยมกันลอง (ดุษฎีสังเวย ๖) หมายถึง ข้ามฟ้าอันกว้างใหญ่ |
กันแอกกุม กันแอกสกุม |
ช้างทุรลักษณ์หรือช้างโทษพวกหนึ่ง หูใหญ่ยานดังปีกกา กันแอก อีกา ข. แกฺอก (แกฺอก) กุม จับ ถือ |
กัมพุชภาษา |
ภาษากัมพุช ภาษาเขมร |
กาจับ |
แปลศัพท์จาก กันแอกกุม ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง |
กาลวิง |
กาลก่อน เมื่อก่อน วิง ที่เก่า ก่อน คืน กลับคืน ข. วิญ (วิญ) ในจารึกเขมรโบราณใช้ วิง มานกาลวิงแปร รูปกุมารมายา (ดุษฎีสังเวย ๔) |
กาหล |
แตรงอน |
กาฬวกะหัตถี |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีกายดำดังปีกกา |
กำนล |
ของกำนัล ของที่ใช้ในบวงสรวง หรือบูชา เรียกว่า เครื่องกำนล ถ้าเป็นเงิน เรียกว่า เงินกำนล |
กำนุง |
ใน ภายใน ข. กฺนุง (คฺนง) หลังราบแต่ท้ายคอคุง โดยศาสตรกำนุง (คชกรรมประยูร ๑๙๘) |
กำปบกำโบล |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง น้ำลายไหลยืดตลอดเวลา เป็นดวงด่างขาวทั่วตัว ถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดเท้าหลังดังเทน้ำ ในตำรานารายน์ประทมสินธุ์ เรียก กำพตกำโบม ข. กํพบ (ก็อมปุบ) หก ตกหล่น กํบูว (ก็อมโบ็ว) เจ่อ บวมตุ่ย |
กำลุง |
หมู่ เหล่า ข. กํลุง (ก็อมลุง) แล้วจึ่งจะตั้งกมลจิต ประดิษฐกำลุงใน (ดุษฎีสังเวย ๕๕) |
กำเลาะ |
หนุ่ม ข. กํโละ (ก็อมลอะห์) กำลังกำเลาะฦๅชา (คชกรรมประยูร ๖๐) |
กินนร |
คนครึ่งนก ถ้าเป็นเพศหญิงเรียกว่า กินรี |
กินผอก |
เหลือกิน มาก เกินเลย เทียบคำว่า ผอกพ้น ในภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า เกิน เลย ครั้นดีเชื่องชาญในสนาม กินผอกเหลือหลาม สรนุกนิอยู่หฤหรรษ์ (กล่อมช้าง ๗๔) |
กิริณี |
นางช้าง ช้างพัง |
กึม |
ชุ่ม ฉํ่า ข. คํ (เกือ็ม) ศรกเบิญ ด จราสกึม ด ทึกวิทึกผอง (ดุษฎีสังเวย ๖) |
กุกุร |
ชุกชุม ดาษดื่น ข. กุะกร (โกะห์กอร์) พฤกษเถลิงสดับศับทผองยม กุกุรทรนม (ดุษฎีสังเวย ๒๑) |
กุโงก |
นกยูง ข. โกฺงก (กอโงก) เขดาไถงสดับศับทกุโงก (ดุษฎีสังเวย ๒๒) |
กุมบิ |
อย่าแม้ ข. กํ (กม) อย่า บี,เบี (เบ็ย,เบอ) ถ้า แม้ |
กุมภประเจียด |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง เสียงร้องดุจเสียงนกกระเรียน ขนหูอ่อน ละเอียดดุจดอกหญ้า |
กุสุม |
ดอกไม้ |
เกสศ |
กิเลศ เครื่องเศร้าหมองในใจ อารมณ์ที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง |
เกรียง |
ยิ่ง สุรสังขเกรียงศับทเอาใจ (คชกรรมประยูร ๓๘) หมายถึง มีเสียงดังเป็นที่พอใจยิ่งดุจเสียงเป่าสังข์ |
โกรม |
ใต้ ล่าง ข. โกรฺม (โกฺรม) พระไพรโกรมเลอ (ดุษฎีสังเวย ๙) |
โกสีย์ |
พระอินทร์ |
ไกร |
ยิ่ง ข. ไกฺร (ไกร) แลไกรแลงพระผอง (ดุษฎีสังเวย ๑๒) |
ไกรลาส |
ชื่อเขาที่อยู่ของพระศิวะ |
ไกรแลง |
อย่างยิ่ง ข. ไกฺรแลง (ไกฺรแลง) บูชาพระไพร แลไกรแลงพระผอง (ดุษฎีสังเวย ๑๒) |
ไกวัล |
สวรรค์ |
ข
ขจี |
อ่อน ข. ขฺจี (เขฺจ็ย) พระพนม ด ธมโดม นุบพิตรสอขจี (ดุษฎีสังเวย ๑๔) สอ ขาว สีขาว ข. ส (ซอ) สอขจี สีขาว อ่อน ในที่นี้หมายถึง พระพนม หรือ เจ้าแห่งขุนเขา (คือพระศิวะ) มีกายสีขาว |
ขดวนศุกข |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง เป็นช้างที่มีครรภ์ คล้องได้จากป่าแล้วมาตกลูกในเมือง บางแห่งว่า ขดรศุข หรือ ขดวรศุข ข. กฺฎวล (กฺดวล) รุ่มร้อน สฺรก (ซฺรก) บ้านเมือง |
ขนาย |
งาช้างพัง งาช้างตัวเมีย ข. ขฺนาย (คฺนาย) |
ขนอง |
หลัง ข. ขฺนง (คฺนอง) |
ขยล |
ลม ข. ขฺยล่ (คฺย็อล หรือ คฺจ็อล) |
ขยลบก |
ลมพัด ข. บก่ (บ็อก) โบก พัด กวัก ขยลบกบิมวยดอง (ดุษฎีสังเวย ๑๓) |
ขันธยกุมาร ขันธกุมาร |
เทพเสนาบดี และเทพเจ้าแห่งการสงคราม เป็นโอรสของพระอิศวรและพระอุมา เรียกอีก อย่างหนึ่งว่า สกันท |
ขับไพรี |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง ในตำรานารายน์ประทมสินธุ์ เรียกว่า ศัพทเภรี มีเสียงดังเสียงกลอง อุรกุมภใหญ่โดยมี ชื่อขับไพรี สำเนียงคือกลองบันฦๅ (คชกรรมประยูร ๘๗) |
เขดา |
ร้อน ข. เกฺฎา (เกฺดา) เขดาไถง หมายถึงเวลากลางวัน เขดาไถงสดับศับทสำเนียง พระแลงผองเสียง (ดุษฎีสังเวย ๑๙) |
เขน |
เครื่องป้องกันอาวุธอย่างหนึ่ง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หนังหย่อนยานอัน ดั่งเหนียงระมาดคือเขน (คชกรรมประยูร ๒๑๙) ในที่นี้น่าจะหมายความว่า เขนที่ทำจากหนังระมาด |
แขม |
หญ้าชนิดหนึ่งลำต้นสูง ใบคมเป็นเหลี่ยม หญ้าแฝกแขมคา แลเงื้อมชรง่อนเทินเขา (กล่อมช้าง ๑๗) |
โขมด |
ผี ข. โขฺมจ (โคมจ) คนธรรพกินนรแลทา นพโขมดจุเนาคง (ดุษฎีสังเวย ๓๑) |
ไขย |
ไข เปิด ขยายออก |
ค
คง |
คงอยู่ ประนับ ข. คง่(ก็วง) คนธรรพกินนรแลทา นพโขมดจุเนาคง (ดุษฎีสังเวย ๓๑) |
คชาภรณ์ |
เครื่องประดับช้าง คช + อาภรณ์ |
คณา |
หลาย ด้วยกัน ข. คฺนา (เคฺนีย) รูโป ต คณา โสดกุมบิเดิรพระลบ (ดุษฎีสังเวย ๔) |
คนธรรพ คนธรรพ์ |
ชาวสวรรค์พวกหนึ่ง ชำนาญในการดนตรีและขับร้อง |
คม |
ก้ม ไหว้ คำนับ น้อมลง ข. คม (กวม) จบบาศยาตรคมนิเคา รพิสุทธเบญจางค์ (ดุษฎีสังเวย ๕๙) |
ครบกระจอก |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง มีเล็บเท้าละ ๕ เล็บ |
คล่าวคลาย |
คล่าวไคล เคลื่อนไป จงชมเทินธารน้ำไหล คล่าวคลายแสงใส (กล่อมช้าง ๘๖) |
ควาญ |
คนเลี้ยงและขับขี่ช้าง ข. ฆฺวาล (เคฺวียล) เลี้ยงอย่างเลี้ยงช้าง |
ดังไคย |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีกายดุจสีน้ำไหล เกิดริมฝั่งแม่น้ำคงคา |
คัดธรณี |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง ท้ายสูง หน้าต่ำ งาตรงแนบกับงวง ข. คาส่ (เกือะส์) งัด ธรณี แผ่นดิน |
คันธ |
กลิ่นหอม เทียนธูปคันธวรบุษ ปนุลาชเปรมปราย (ดุษฎีสังเวย ๓๓) |
คันธหัตถี |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีกายดุจไม้กฤษณา อุจจาระปัสสาวะและร่างกายมีกลิ่นหอม ในตำรานารายน์ประทมสินธุ์ เรียกว่า มงคลหัษดี |
คา |
หญ้าชนิดหนึ่งใบคม ปลายใบแหลม หญ้าแฝกแขมคา แลเงื้อมชรง่อนเทินเขา (กล่อมช้าง ๑๗) |
คิรีเมขล์ |
ช้างในสวรรค์มี ๓ เศียร สีกายดังสีดอกคล้า ลักษณะงามบริบูรณ์ เป็นช้างทรงของท้าวไพจิตราสูร |
คุง |
ตลอด ตราบเท่าถึง ท้ายหลังคุงคอ แลราบเสมอกันไป (คชกรรมประยูร ๒๐๔) |
คุโณประการ |
คุโณปการ ความเกื้อกูล อุปการะอุดหนุน คุณ + อุปการ คุโณประการนานัตถ์ (คชกรรมประยูร ๑๒๗) |
เคราะห เคราะห์ |
อันตราย คราวดีคราวร้าย |
เคาร |
ความนับถือ ตัดศัพท์จาก เคารพ จบบาศยาตรคมนิเคา รพิสุทธเบญจางค์ (ดุษฎีสังเวย ๔๙) |
เคืองคาย |
ระคายเคือง ไม่สะดวก พเนกจรุงเกลี้ยงเกลา เมลือง บ ได้เคืองคาย (กล่อมช้าง ๑๘) |
แครง |
อึกทึกกึกก้อง พ่อแม่พี่น้องกันเปนเสน่ หทังนั้นอย่าแครงครวญ (กล่อมช้าง ๔๐) |
โคบุตร |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีกายเหลืองดุจหนังโค เสียงร้องดุจเสียงโค ขนหางขึ้นรอบดุจหางโค แม่เป็นนางโค |
โคเพลาะ |
โคป่าชนิดหนึ่ง เขาบิดๆ |
ไคล |
ไป |
ไคลคลาย |
เคลื่อนไปเรื่อยๆ คล้อย |
ง
งอนพลุกสดำ |
พลุกสดำ ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง งางอนขึ้นเบื้องขวา ข. ภฺลุก (พฺลุก) งาช้าง สฺฎำ (ซฺดำ) ขวา ข้างขวา |
จ
จงกลนี |
บัวชนิดหนึ่ง |
จตุรสกุมภ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง เท้าทั้ง ๔ กลมงาม ตำรานารายน์ประทมสินธุ์ เรียกว่า จัตุรกุมภ |
จบ |
พบ บรรจบ ข. จวบ (จวบ) แลเที่ยวมาจวบจบกัน (กล่อมช้าง ๘๗) |
จมณำ |
เครื่องหมายที่สังเกต ข. จํณำ (จ็อมนำ) เฉพาะกิตยอาจมนปราณ จมณำแลสนธยา (ดุษฎีสังเวย ๔๗) |
จรง |
น่าจะหมายถึง ลำธาร ข. ชฺรลง (จฺรัวลวง) |
จรจรัล |
เที่ยวไป เดินไป |
จราส |
ทวน ทวนกลับ ข. จฺราส (จฺระส์) |
จริต |
การกระทำ ความประพฤติ |
จรึง |
จริง ความจริง สำเร็จนิพัทธโดยจรึง (คชกรรมประยูร ๑๒๙) |
จรุง |
ตะลุง เสาสำหรับผูกช้าง เมืองโพ้นโรงรัตนพัฬเหา พเนกจรุงเกลี้ยงเกลา (กล่อมช้าง ๑๘) |
จรลิง |
เหมาะเจาะ ข. จฺรฬึง (จฺรอเลิง็) |
จวบ |
พบ เจอ ข. จวบ(จวบ) แลเที่ยวมาจวบจบกัน (กล่อมช้าง ๘๗) |
จอง |
ผูก มัด ข. จง (จอง) |
จักราพาฬ |
จักรวาล ภูเขา กำแพงล้อมรอบเป็นเขตกั้นปริมณฑลแสงสว่างและมืด |
จังหูร |
ลำธาร ข. จงฺหูร (จ็องโฮร์) จังหูรพรรณรายชราบ (ดุษฎีสังเวย ๙) |
จัตุรศก จัตุศก |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง ปลายงาแยกเป็น ๒ งา รวมงาซ้ายและงาขวาเป็น ๔ งา |
จันทรคีรี |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีกายขาวดุจเถ้า |
จำนอง |
สิ่งที่ผูกไว้ ข. จํณง (จ็อมนอง) ช้างใดต้องบาศ บ ไคล จำนองจองไป (กล่อมช้าง ๑๒) |
จำเหียงสดำ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง ข. จํเหียง (จ็อมเฮียง) ซีก ครึ่ง สฺฎำ (ซฺดำ) ขวา ข้างขวา สรวมเอกทันตนุจำเริญ จำเหียงสดำนุเจียรถมา (ดุษฎีสังเวย ๓๙) |
จิตร |
จิต ใจ จิตรโอนศิโรจร (ดุษฎีสังเวย ๓๓) |
จุทัศ |
จำนวน ๔๐ ป. จุทฺทส สํ. จตุรฺทศนฺ เสร็จสิ้นคชลักษณโสภี จุทัศรังสี (คชกรรมประยูร ๑๒๕) |
จุเนา |
ลงมาอยู่ ข. จุะ (โจะห์) ลง เถิด ใช้ขยายคำกริยา ข. เนา (เนิว็) อยู่ คนธรรพกินนรแลเทา นพโขมดจุเนาคง (ดุษฎีสังเวย ๓๑) |
จุมปราสาท |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง ปลายงามีรัศมีสีแดง |
จูรณ |
ผงเครื่องหอม เบญจพรหมางค์ศิวาง คชปนพิทธยาง คสำเร็จก็เจิมจูรณ (ดุษฎีสังเวย ๕๐) |
เจตร |
เจตรมาส เดือน ๕ เดือนที่ ๕ ในทางจันทรคติ |
เจิม |
เอาแป้งผสมเครื่องหอมแต้มเป็นจุดๆ ที่คนหรือสิ่งของที่ต้องการให้มีความเจริญ เจิมจูรณ เจิมด้วยผงเครื่องหอม เจิมจันทน เจิมด้วยผงไม้จันทน์ |
เจริญ |
มาก ข. เจฺรีน (เจฺริน) |
เจียน |
ตัด เกือบ จวน |
เจียร |
จิร ช้า นาน ยั่งยืน เจียรถมา (ดุษฎีสังเวย ๓๙) เป็นเวลาช้านาน ข. ถฺมาร (ทฺมาร์) กาล เวลา |
เจรียว |
เกรียว เสียงเกรียวกราว เสียงอื้ออึงพร้อมกันหลาย ๆ เสียง |
โจรก |
จรอก ตรอก ซอก ทางเล็กๆ ข. จฺรก (จฺรอก) เขดาไถงสดับศับทกุโงก มฤคผองรัด ด โจรก (ดุษฎีสังเวย ๒๒) |
ฉ
ฉทึง |
ลำน้ำ แม่น้ำ ลำธารที่มีต้นน้ำมาจากภูเขา ข. สฺทึง (ซฺตึง) ฉทึงธารคิรีเหวผา (กล่อมช้าง ๒) |
ฉม |
กลิ่นหอม เครื่องหอม ถวายภักษโภชนแลเพียญ ชนะบุษปฉมสลา (ดุษฎีสังเวย ๖๒) |
ฉมวยฉมำ |
ผู้เฝ้ารักษา ผู้ช่วยเหลือ ข. ฌฺมวย (ชฺมวย) ผู้ช่วยเหลือ ฉฺมำ (ชฺมำ) ผู้เฝ้ารักษา อภิวันทฉมวยฉมำ (ดุษฎีสังเวย ๔๒) ในที่นี้ หมายถึง เทวดาผู้รักษาป่ารักษาช้าง |
ฉมัน |
เล็ก ข. ฉฺมาร (ชฺมาร์) เฌอฉมัน ต้นไม้เล็ก เฌอฉมันเฌอธนมดูชรลอง (ดุษฎีสังเวย ๑๓) |
ฉัด |
เตะ อาการพยศของช้าง แลอย่าถีบอย่าฉัดแทง (กล่อมช้าง ๒๘) |
ฉัททันต์ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีกายและงาขาวดังเงินยวง งวงแดง หางแดง เล็บแดง มีกำลังมากเดินทางไปในจักรวาล ๓ ล้าน ๖ แสน ๓ ร้อย ๕๐ โยชน์ ใช้เวลาแต่เช้าไม่ถึงสาย |
เฉวียง |
ซ้าย ช้างซ้าย ข. เฉฺวง (เชฺวง) สรวมทักดำเรียวรเชิงโกรย เฉวียง ด คงพนานต์ (ดุษฎีสังเวย ๔๑) |
โฉลก |
โชค สารโฉลก ช้างที่นำโชคลาภ สารโฉลกโดยนาม (คชกรรมประยูร ๗๘) |
ช
ชกา |
ถาง ทำให้โล่ง ข. ฉฺกา (ชฺกา) |
ชงฆ ชงฆ์ |
แข้ง ป. ชฺงฆ |
ชนโกลน |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง เมื่อคล้องมักหันหน้ากลับมาสู้ช้างต่อ ในตำราช้างกล่าวว่า เพียงแลเห็นช้างชนิดนี้ก็เป็นอัปมงคล ข. ชน่ (จ็วน) บ่า หลาก มาก โกฺรล (โกฺรล) คอก |
ชนัก |
สายสำหรับผูกที่คอช้าง เพื่อให้คนขี่คอใช้หัวแม่เท้าคีบกันตก ชนักแร่งประแอกอาน แลกระพัดตระคนควร (กล่อมช้าง ๔๖) |
ชปน |
ท่องบ่น สํ. ชปน ศิวางคชปนพิทธยางค (ดุษฎีสังเวย ๔๐) หมายถึง ท่องบ่นศิวมนตร์ในพิธี |
ชมลบ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง หูปรบเบื้องหน้าถึงกัน |
ชรง่อน |
ชะง่อน ก้อนหินที่เป็นปุ่มเป็นแง่อยู่ตามเขา |
ชรลอง |
คละกัน ปะปนกัน ข. จฺรฬุง (จฺรอโล็ง) เฌอฉมันเฌอธนมดูชรลอง (ดุษฎีสังเวย ๑๓) หมายถึง ต้นไม้เล็กต้นไม้ใหญ่ขึ้นปะปนกัน |
ชรอื้อ |
มืดครึ้ม |
ชราบ |
ซึมซาบ ข. ชฺราบ (เจรียบ) |
ชวาบ |
เปิด กว้าง ข. จฺรวาบ (จฺรอวาบ) |
ชวาลา |
ตะเกียง ดวงประทีป |
ชันบันเชษฐ |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง ท้องใหญ่ ขนไม่เป็นระเบียบ เท้าคอด ข. ชน่ (จ็วน) บ่า หลาก มาก บญฺฉิต (บัญเช็ด) เฉไป ไม่ตรง |
ชา |
เป็น ดี ข. ชา (เจีย) ชากรุง เป็นใหญ่ เป็นเจ้า มนตรชากรุงภูตประธานเดชะ (ดุษฎีสังเวย ๓) |
ชิโนนาถ |
ผู้ชนะ ผู้เป็นที่พึ่ง หมายถึง พระพุทธเจ้า แห่งองค์ชิโนนาถ ทศพลยอดญาณ (คชกรรมประยูร ๒) |
ชำนิ |
พาหนะสำหรับขี่ ข. ชํนิะ (จ็วมนิะห์) จักเปนชำนิภู ธรเกล้าตรีโลกีย์ (กล่อมช้าง ๔๘) |
เชวง |
ใสเหมือนแก้ว ข. ฉฺวง่ (ชฺว็อง) ภูรโดกเรไร ไชยนุชกาเชวง (ดุษฎีสังเวย ๑๕) |
เชิงโกรย |
เท้าหลัง ข. เชิง (เจิง) เท้า ตีน โกฺรย (โกฺรย) หลัง |
เชือน |
เบนไป ไม่ตรง หัวเชือนตาถลกมุ่งเมิล (คชกรรมประยูร ๑๔๐) |
ไชย |
ดีกว่า เจริญกว่า ป. เชยฺย |
ซ
ซองหาง |
อุปกรณ์สำหรับคล้องโคนหางช้าง |
ซื่อ |
ตรง งาซื่อสีดุจบัวแดง (คชกรรมประยูร ๕๒) |
เซราะเซรา |
ธารน้ำลึก ข. โชฺระ (จฺรัวะห์) ลำธารที่ไหลมาจากภูเขา เชฺรา (เจฺริว์) ลึก จงชมบึงบางเซราะเซรา (กล่อมช้าง ๘๗) |
ฌ
เฌอ |
ไม้ ต้นไม้ ข. เฌี (เชอ) |
ด
ด |
อัน ซึ่ง ซึ่งเป็น ข. ฎ็ (ดอ) ในจารึกเขมรโบราณใช้ ต มนตรพระ ด อาจโปรด ชนะเคราะหบังคอง (ดุษฎีสังเวย ๒) |
ดก |
ค้างอยู่ ข. ฎก่ (ด็อก) มนทีรสุริย ด ยรรยง ดลจันทร์เสด็จเนา (ดุษฎีสังเวย ๕๘) |
ดนัย |
ลูก ลูกชาย |
ดบะ |
ตบะ วิธีข่มกิเลสโดยทรมานตัว |
ดอง |
ครั้ง ข. ฎง ( ดอง) ขยลบกบิมวยดอง (ดุษฎีสังเวย ๑๓) หมายถึง ลมพัดแม้ครั้งเดียว |
ดัสผธม |
ปลุกให้ตื่น ข. ฎาส่ (ด็ะส์) ปลุกให้ตื่น ผฺทํ (พฺตุม) นอน บรรทม บิบำเรอหนุดัสผธม (ดุษฎีสังเวย ๑๗) |
ดามพ์ |
ทองแดง อำนวยบุณฑฤกแดงดามพ์ (คชกรรมประยูร ๑๐๘) |
ดามพหัตถี |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีดังทองหล่อน้ำใหม่ |
ดาษ |
มากมาย เกลื่อนกลาด |
ดำกล |
หนุนให้สูงขึ้น งาม แผลงจาก ถกล ข. ฎํกล่ (ด็อมก็อล) |
ดำเนิร |
ดำเนิน การเดิน ข. ฎํเณีร (ด็อมเนอร์) แผลงจาก เฎีร |
ดำพงถนิม |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง เท้าทั้ง ๔ ปลายหาง ศีรษะตลอดปลาย งวงสีแดงดังดอกแจง ตัวดำดังใส่เสื้อ |
ดำรู |
งาม แผลงจาก ตรู |
ดำเรีย |
ดำรี ช้าง ข. ฎํรี (ด็อมเร็ย) |
ดึก |
นา ข. ทึก (ตึก) ดึกกษิรามฤตย น้ำทิพย์ที่ได้มาจากการกวนเกษียรสมุทร |
ดุ ดู |
ขึ้น งอก ข. ฎุะ (โด็ะห์) เณอฉมันเฌอธนมดูชรลอง (ดุษฎีสังเวย ๑๓) เฌอฉมันเฌอธนม ดูรไดดุเรียงเรียง (ดุษฎีสังเวย ๑๘) |
เดิร |
เดิน ข. เฎีร (เดอร์) |
แด |
ใจ |
โดม |
สูง. ข. โฎม (โดม) พระพนม ด ธมโดม (ดุษฎีสังเวย ๑๔) |
โดร |
หอมฟุ้ง ฟุ้งไป ตัดศัพท์จาก พิโดร ข. พิโฎร (ปิโดร์) จงชมดอกโดรทั่วทัง ป่าปรือไพรกรัง (กล่อมช้าง ๘๙) |
ได |
มือ ข. ไฎ (ได) |
ต
ต |
ได้ อัน ซึ่ง ซึ่งเป็น ข.ฏ็ (ดอ) ในจารึกเขมรโบราณใช้ ต รูโป ต คณา โสดกุบิเดิรพระลบ (ดุษฎีสังเวย ๔) |
ตนุ ตนู |
ตัว ตน นักสกลสบนา บูชาตนูพระไพร (ดุษฎีสังเวย ๑๑) |
ตรนล |
พร้อมกัน ข. ตํณาล (ต็อมนาล) ตรนลศับททรไน (ดุษฎีสังเวย ๑๕) |
ตระคน |
รัตคน รัดประคน สายผูกกูบหรือสัปคับล่ามอกช้าง ชนักแร่งประแอกอาน แลกระพัดตระคนควร (กล่อมช้าง ๔๖) |
ตระดกกันทุย |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง หน้าพองบวม หางคดยาวจรดดิน ข. กณฺฎก่ (ก็อนด็อก) นูน ป่องตรงกลาง กนฺทุย (ก็อนตุย) หาง |
ตระดาษ |
กว้างขวาง ข. ตฺรฎาจ (ตฺรอดาจ) แต่นี้ พ หน้าทาง ก็ตระดาษทังผอง (กล่องช้าง ๔๑) |
ตระดุ้งนาคิน |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง หลังแอ่นเป็นบั้งดังกระไดลิง คดไปคดมา เหมือนนาคสะดุ้ง |
ตระบังบัด |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง งาซ้ายเกไปทางซ้าย งาขวาเกไปทางขวา ข. ตฺรบำงบะ (ตฺรอบังบะห์) กระโดกกระเดก หกหน้าหกหลัง |
ตระศักดิ ตระศักดิ์ |
สง่างาม ข. ตฺรสุส (ตฺรอโซะส์) ผุดผ่อง หมดจด |
ตรีโลกีย์ |
โลกทั้ง ๓ คือ มนุสสโลก เทวโลก พรหมโลก |
ตฤปสมุทรตฤปไพร |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง เมื่อจะกินน้ำ กินหญ้าไม่จับหญ้าด้วยงวง ก้มศีรษะกินด้วยปาก ข. ตรึบ (เตฺริบ็) ดูด ดื่มกิน |
ตาว |
ดาบ งาสั้นใหญ่มี แลปลายคือเสี้ยมแสนตาว (คชกรรมประยูร ๑๖๗) |
เตรจ |
เตร็จ ท่องไป เที่ยวไป ข. เตฺรจ (เตฺรจ) |
แต่ |
จาก ขอแต่พระไพร (กล่อมช้าง ๕๐) |
ไตรคตา |
ไปแล้วด้วยองค์ ๓ ถึงพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ กาย วาจา ใจ เถพอการกฤตยกรโส ภณเสร็จทำโบรา- ณายามสวาทไตรคตา นุประนบพระโองการ (ดุษฎีสังเวย ๕๒) |
ไตรดายุค |
ยุคที่ ๒ ในยุคทั้ง ๔ คือ กฤตยุค ไตรดายุค ทวาปรยุค และกลียุค |
ไตรตรึงษ์ |
สามสิบสาม เสร็จจบทุรลักษณสำแดง ไตรตรึงษ์กิจแจง (คชกรรมประยูร ๒๒๓) ในที่นี้หมายถึง ไตรตรึงษ์ศักดิราช หรือ ไตรตรึงษดิราษฎร์ คือ ช้างทุรลักษณ์ ๓๓ ชนิด |
ถ
ถกล |
หนุนหรือตั้งให้สูงขึ้น ข. ถฺกล่ (ถฺก็อล) |
ถกาศ |
หญ้าชนิดหนึ่ง ข. ถฺกาส (ถฺกะส์) แสรกเสียงกรุยเกรียว เหิรถกาศ ด ทรนม (ดุษฎีสังเวย ๒๐) |
ถมา |
กาล เวลา ข. ถฺมาร (ทฺมาร์) รุงโดมประไพโฉม นุบพิตรเจียรถมา (ดุษฎีสังเวย ๗) |
ถวีรถ |
น่าจะหมายความว่า มีฝีงาคล่องแคล่ว ชำนาญ ข. ถฺวี (เทว็ย) ชำนาญ รต่ (ร็วด) คล่องแคล่ว ชื่องอนพลุกสดำงอนงา ถวีรถขึ้นขวา (คชกรรมประยูร ๖๑) |
ถัน |
นม |
ถา |
ว่า กล่าว ข. ถา (ทา) มหาโพยมกันลอง ด ศรีรไถงถา (ดุษฎีสังเวย๖) |
เถลิง |
ขึ้น ฮึกเหิม ข. เถฺลีง (เทฺลิง) พฤกษเถลิงสดับศับทผองยม (ดุษฎีสังเวย ๒๑) |
เถพอ เถวอ |
ทำ ข. เธฺวี (เทฺวอ) เถพอการกฤตยกร (ดุษฎีสังเวย ๕๒) อาจเถวอดบะชนะ นิตยโลกยสบนา (ดุษฎีสังเวย ๓) |
ไถง |
ดวงตะวัน วัน ข. ไถฺง (ไทฺง) |
ท
ทงัน |
ตระหง่าน ใหญ่โต ตัวใหญ่คือภูเขาทงัน (คชกรรมประยูร ๓๕) |
ทธา |
นกกระทา ข. ททา (ตัวเตีย) ลงาดไถงฮองสดับศับททธา ธมยมสบนา (ดุษฎีสังเวย ๒๓) |
ทมพลุก |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง งาใหญ่ปลายแหลม ร้าวแตกถึงไส้งาตั้งแต่ต้นจนปลาย ข. ธํ (ทม) ใหญ่ ภฺลุก (พลุก) งาช้าง |
ทรนม |
คอน ที่นกหรือไก่เกาะ ข. ทฺรนํ (ตฺรัวนุม) กุกุรทรนม ด พหูรโอกโฮก (ดุษฎีสังเวย ๒๑) |
ทรไน |
สรไน ปี่ไฉน เทียบโคลงยวนพ่าย มฤทึงค์ทรไนทรอ ทรุพราช ตรนลศับททรไน (ดุษฎีสังเวย ๑๕) |
ทรหึง |
เซ็งแซ่ อื้ออึง ข. ทฺรหึง (ตฺรัวเฮิง) อ้าพ่อจงเสียพยศอันร้าย แลอย่างขึ้งทรหึงหวล (กล่อมช้าง ๒๘) |
ทรหูล |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง หลังตรง กระดูกหลังคด หนังท้องยาน ในตำรานารายน์ประทมสินธุ์ เรียก ว่า ทรหุน |
ทรเห |
ทรเหล ความลำบากในการเดินทาง อย่าคิดลำเนาพนอันมี คชเคยทรเหหวล (กล่อมช้าง ๓๙) |
ทรโหย |
ร้องไหโฮ ข. ทฺรโหยํ (ตฺรัวโฮยุม) ทรหึงทรโหยโหยหา (กล่อมช้าง ๕๘) |
ทวาทศ |
สิบสอง ทวาทศองคุลี หมายถึง ๑๒ องคุลี |
ทศพล |
ผู้กอปรด้วยกำลัง ๑๐ ประการ หรือผู้มีญาณ ๑๐ ประการ คือ ๑. ฐานาฐานฌาณ กำหนดรู้การควรและไม่ควร ๒. วิปากญาณ กำหนดรู้ผลแห่งกรรม ๓. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ กำหนดรู้ทางไปสู่ภูมิทั้งปวง ๔. นานาธาตุญาณ กำหนดรู้ธาตุแท้ของสรรพสัตว์ ๕. นานาธิมุตติกญาณ กำหนดรู้อัธยาศัยของสรรพสัตว์ ๖. อินทริยปโรปริยัตตญาณ กำหนดรู้ความยิ่งหย่อนแห่งอินทรีย์ของสรรพสัตว์ ๗. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ กำหนดรู้ความเศร้าหมองของธรรมมีฌาณเป็นอาทิ ๘. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ กำหนดรู้ระลึกชาติหนหลังได้ ๙. จุตูปาตญาณ กำหนดรู้การเกิดดับแห่งสรรพสัตว์ ๑๐. อาสวักขยญาณ กำหนดรู้การทำให้สิ้นอาสวกิเลส |
ทอก |
ช้างตัวใหญ่ที่เป็นจ่าโขลง |
ทักดำเรีย |
ต่อช้าง โพนช้าง ข. ทาก่ (เตีย็ก) ต่อ อย่างต่อสัตว์ ฏํรี (ด็อมเร็ย) ช้าง ทาก่ฏํรี คือการโพนช้าง |
ทักษิณ |
ทิศใต้ |
ทัง |
ทั้ง |
ทานพ |
อสูรพวกหนึ่ง |
ทาบ |
เทียบ แต่งไว้ มนตรอัญสดุดียฮอง กระยานุถกลทาบ (ดุษฎีสังเวย ๘) |
ทาม |
เทียม เสมอ เท่า ศีรษะเท่าท้ายเทียมทาม (คชกรรมประยูร ๑๕๕) |
ทำ |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง ตัวต่ำ หนังท้องยาน เรี่ยดินสุนัขลอดมิได้ หน้าสั้น ต้นงาเน่า ข. ทำ (เตือ็ม) แตกร้าว |
ทำนุก |
ทำนุ รักษาไว้ อุดหนุน บำรุง ข. ทํนุก (ต็วมนุก) |
ทิพาไสย |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง มักคุกเข่านอนกลางวัน นอนไม่ราบ แปลตามศัพท์ว่า นอนกลางวัน ทิวา + ไสย |
ทฤษฎิ์ |
ความเห็น การเห็น |
ทีรฆชีวา |
มีอายุยืน สํ. ทีรฆ ยาว ชีว มีชีวิต เป็น |
ทึก |
น้ำ ข. ทึก (ตึก) |
ทุกขาดุร |
ความเดือดร้อนลำบาก ทุกข + อาดุร |
ทุรคม ทุราคม |
ไปลำบาก ไปถึงได้ยาก |
ทุย |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง งาเน่า หางสั้น ปลายหางขาดวิ่น ข. ทุยมุย (ตุยมุย) ซึมเซา ยืดยาด |
เทพคีรี |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีเขียวอ่อนดังผลหว้าดิบ |
เทพยี่สิบหกองค์ |
มาตังคกรีเทพ เทวดา ๒๖ องค์ ที่เนรมิตกลายเป็นช้างมาตังคกรีเทพ ในตำราคชกรรมกล่าวไว้เพียง ๒๐ องค์ได้แก่ พระอาทิตย์ รักษาโขมด ศีรษะ พระจันทร์ รักษาคอ พระอังคาร รักษาท่าขอ พระพุธ รักษาสี่เท้า พระพฤหัสบดี รักษาท้อง พระศุกร์ รักษาทรวง พระเสาร์ รักษาองคพาหุ พระเกตุ รักษาลิ้น พระพาย รักษาหูทั้งสองข้าง พระจักรี รักษาตาทั้งสองข้าง พระกาล รักษางาขวา พระเทวทัต รักษางาซ้าย พระมงคลนาคราช รักษางวง พระกุลิ รักษาเล็บ พระบุญญเทพ รักษาสีข้าง พระธรณี รักษาเนื้อ พระคงคา รักษาเลือด พระคุมฤๅแดงเทพาสูร รักษาท้าย พระอดุลนาคราช รักษาหาง พระศรีทรพัตร รักษาจามร หนึ่งเทพยี่สิบหกองค์ นิมิตเปนมาดงค์ (คชกรรมประยูร ๑๖) |
เทเพนทรพฤกษ |
รุกขเทวดา เทพ + อินทร + พฤกษ เทเพนทรพฤกษนุกันดอง (ดุษฎีสังเวย ๓๐) |
เทียร |
ย่อม ล้วนแล้วไปด้วย เทียรโทษโดยบุรพเผดียง (คชกรรมประยูร ๑๗๔) |
เทียว |
ทิว แนว ป่งป่าท่าทางเทียวธาร (กล่อมช้าง ๓) |
โทน |
โดดเดี่ยว ลำพัง พลุกสดำมีงาขวาถวิล โทนทอกโยนยิน (คชกรรมประยูร ๖๐) |
ธ
ธนม |
น่าจะแผลงจาก ธม ข. ธํ (ทม) ใหญ่ เฌอฉมันเฌอธนมดูชรลอง (ดุษฎีสังเวย ๑๓) |
ธม |
ใหญ่ ข. ธํ (ทม) |
ธรรมวัด |
ธรรมวัต ความประพฤติชอบ ธรรม ความชอบ + วต การประพฤติ |
ธาดา |
ผู้สร้าง หมายถึงพระพรหม สํ. ธาตฺฤ |
น
นครฆาต นครฆาฏ |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง งายาวเสมอกับงวง หน้ากับท้ายเสมอกัน เมื่อกินหญ้ามักก้มหน้า นครฆาต แปลตามศัพท์ว่า ฆ่าเมือง |
นพสุบรรณ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง อวัยวะ ๙ ส่วนยาวถึงดิน คือ เท้าทั้ง ๔ งา ทั้ง ๒ งวง หาง และอัณฑโกศ |
นมะศิวาย |
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระศิวะ เดโชอำนาจนมะศิวาย (ดุษฎีสังเวย ๔๒) |
นรนรินทร์ |
ผู้เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์ทั้งปวง หมายถึง พระราชา |
นอม |
พนอม พนม จอมเขา สร้างศัพท์วิธีเดียวกับ เทพ + พนม เป็น เทพนม เทพ + พนอม เป็น เทพนอม บิงคัลสีสุริยะเสด็จจอม อุทัยเทพนอม (คชกรรมประยูร ๒๖) |
นัก |
คน ข. นาก่ (เนีย็ก) นักสกลสบนา บูชาตนูพระไพร (ดุษฎีสังเวย ๑๑) นักสกล หมายถึง คนทั้งหมด |
นักผลุม |
คนเป่าปี่ ข. นาก่ (เนีย็ก) คน ผลฺ (พฺลม) เป่า นักผลุมบิฦๅเลวง (ดุษฎีสังเวย ๑๖) |
นาคพันธ |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง งาทู่ งวงสั้น ศีรษะควํ่า ตัวต่ำ หลังคุ่ม ตาเล็กเหมือนตานาค |
นานัตถ์ |
ประโยชน์ต่าง ๆ นานา ต่าง ๆ + อัตถ ประโยชน์ |
นารถ |
นาถ ที่พึ่ง แลงรักษพระภู ธรนารถเจียรไกร (ดุษฎีสังเวย ๒๕) |
นาสดึกพินาย |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง มีงาซ้ายข้างเดียว ปลายงาโค้งอ้อมใต้งวงไปทางด้านขวา งาขวางปาก |
นินาท |
เสียงก้อง ดังกึกก้อง เผลียงลักษนินาทสดับ ศับทสำเนียงบิเราะหเสนง (ดุษฎีสังเวย ๑๖) |
นิโรธ |
ความดับสนิท ดับโดยไม่เหลือ |
นิลจักษุ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง ตาสีดำ |
นิลทันต์ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง งาทั้ง ๒ ข้างสีดำ |
นิลนขา |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง เล็บสีดำ |
นิลหัตถี |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง กายสีดำ |
นิสสกนธ์ |
ปราศจากร่างกาย นิร ปราศจาก + สกนธ ร่างกาย ก็เผาอาตมนิสสกนธ์ (ดุษฎีสังเวย ๕๕) |
นุ |
นั้น ข. นุะ (นุะห์) พระไพร ด มานโฉม นุบพิตรแลงผอง (ดุษฎีสังเวย ๘) |
เนา |
อยู่ ยัง ข. เนา (เนิว็) |
เนาวโลกอุดรธรรม์ |
นวโลกตรธรรม ธรรมที่อยู่พ้นวิสัยโลก ๙ ประการ ได้แก่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค อรหัตผล และนิพพาน |
เนาะ |
นั้น ข. โนะ (นุะห์) ในจารึกเขมรโบราณสมัยเมืองพระนคร ใช้ว่า เนาะห เนาบาปเนาะผอง (ดุษฎีสังเวย ๒) |
เนียม |
ช้างศุภลักษณ์อยู่ในตระกูลประทุมทันต์ แบ่งเป็น เนียมเอก เนียมโทและเนียมตรี |
แนะ |
นี้ ข. เนะ (นิะห์,เนะห์) ในจารึกเขมรโบราณสมัยพระนครใช้ เนะห แนะมินนุมางษ์บายสุรา (ดุษฎีสังเวย ๑๑) |
บ
บก |
โบก พัด ข. บก่ (บ็อก) ขยลบกบิมวยดอง (ดุษฎีสังเวย ๑๓) |
บงกชบาท |
เท้างามดังดอกบัว เบญจางคประดิษฐศรดบง กชบาทบาทา (ดุษฎีสังเวย ๖๓) |
บดล |
พื้น เพดาน สํ. ปฎล อากาศเทวนุบดล (ดุษฎีสังเวย ๓๒) หมายถึง เทวดาในสวรรค์ชั้นต่าง ๆ |
บดิ |
บดี ผู้เป็นใหญ่ ป. ปติ สดุดีบังคมบดีรำพาย นิตยภักดีสบวาร (ดุษฎีสังเวย ๔๐) |
บพิตร |
พระองค์ท่าน |
บร |
อื่น ฝ่ายอื่น ศัตรู |
บริวัตร |
ปริวรรต หมุนเวียน วนไปรอบๆ แว่นทองประทักษิณแลเทียน บริวัตรนาถา (ดุษฎีสังเวย ๖๑) |
บวรวรรณ |
มีผิวพรรณอันประเสริฐ ในที่นี้หมายถึง ช้างเผือก สรวมบุณฑฤกกมุทโรจ บวรวรรณโสภา (ดุษฎีสังเวย ๓๖) |
บรรทม |
ผทม นอน ข. ผฺทํ (พฺตุม) |
บังกิน |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง งาข้างหนึ่งเกกเข้า งาข้างหนึ่งเกกออก หลังหยักเป็นบั้ง ๆ หางคด ข. บงฺกิน (บ็องเก็น) ใส่ความ ใส่ร้าย |
บังคอง |
คานไว้ คอนไว้ ข. บงฺคง (บ็องกวง) ชนะเคราะหบังคอง (ดุษฎีสังเวย ๒) |
บังคลอง |
อวัยวะส่วนหนึ่งของช้าง อยู่บริเวณหางและทวาร |
บังบัด บังบัดควาญ |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง งาทั้ง ๒ คดโค้งไปข้างหลังเสมอกับหู ข. บํบาต่ (บ็อมบัด) โกง ยักยอก ทำให้หาย. |
บัณฑระ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีกายดังเขาไกรลาส |
บัทม |
ปัทม บัวหลวง ดอกสีแดงมีกลิ่นหอม บานเวลาเช้า |
บันโดย |
ตาม คล้อยตาม ข. บณฺโฎย (บ็อนโดย) สรวมลักษณโคบุตรบันดาล แลบันโดยบุอิจฉา (ดุษฎีสังเวย ๓๘) |
บันฦๅ |
บันลือ แผดเสียง ข. บนฺลื (บ็อนเลอ) ชื่อขับไพรี สำเนียงคือกลองบันฦๅ (คชกรรมประยูร ๘๗) |
บันเวียร |
บังเวียน ขด หมุนเป็นวง ข.บงฺเวียน (บ็องเวียน) คชหนึ่งนาคพันธบันเวียร ขนองโกงสีเศียร (คชกรรมประยูร ๑๕๘) |
บันลายโศก |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง ข. บนฺลาย (บ็อนลาย) คลายออก ขยายออก ข. โสก (โซก) โศกเศร้า รกรุงรัง |
บาป |
ความไม่ดี ความชั่ว เนาบาปเนาะผอง (ดุษฎีสังเวย ๒) |
บาย |
ข้าว ข. บาย (บาย) แนะมินนุมางษ์บายสุรา (ดุษฎีสังเวย ๑๑) |
บาศ |
บ่วง ในที่นี้หมายถึง เชือกบาศสำหรับคล้องช้าง ส่วนช้างพังพลายสบสรรพ์ ไป่ต้องบาศอัน พิเศษเลื่องฦๅไกร (กล่อมช้าง ๘๒) |
บำนัก |
การโบก การพัด จากศัพท์ ข. บก่ (บ็อก) ลงอาคม-ำน- เป็น บำนัก เผลียงอุรบำนักขยล ตรนลศับททรไน (ดุษฎีสังเวย ๑๕) |
บำบัด |
ทำให้หายไป ข. บํบาต่ (บ็อมบัด) แม้นมีช้างโทษโดยยล พันหนึ่งอาจประจญ บำบัดวิบัตินานา (คชกรรมประยูร ๗๖) |
บำเรอ บำเรอห |
รับใช้ ข. บํเรี (บ็อมเรอ) |
บิ |
ถ้า แม้ ข. เบี (เบอ) ในจารึกเขมรโบราณใช้ บิ อาจเถวอบินักสยบ (ดุษฎีสังเวย ๕) |
บิงคัล |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีกายดังตะวันแรกขึ้น |
บิเดาะ |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง มีนม ๓ เต้า ข. บี (เบ็ย) สาม ข. โฎะ (ดอะห์) นม |
บิเราะห |
ไพเราะ ข. พีโระ (ปีรัวะห์) บิเราะหกันลองสบนา (ดุษฎีสังเวย ๑๐) |
บุณฑฤก |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีกายดังดอกบัวขาว งาใหญ่สั้นดังสีสังข์ กลิ่นตัวหอมดังดอกสัตตบงกช |
บุรณา |
เต็ม บริบูรณ์ สํ. ปูรณ |
บุษป |
ดอกไม้ สํ. ปุษฺป |
บุษปทันต |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีกายดังสีหมากสุก ผิวเนื้อละเอียด |
บูรพทิศาศานต์ |
บูรพทิศ ทิศตะวันออก |
เบญจางค์ |
องค์ ๕ เบญจ + องค จบบาศยาตรคมนิเคา รพิสุทธเบญจางค์ (ดุษฎีสังเวย ๕๙) ในที่นี้หมายถึง การทำความเคารพด้วยเบญจางคประดิษฐ์ |
เบญจพรหมางค์ |
องค์แห่งพรหมทั้ง ๕ เบญจ + พรหม + องค ยอกภัสมธารทรงศิพมน ตรเบญจพรหมางค์ (ดุษฎีสังเวย ๕๐) ในที่นี้น่าจะหมายถึง พระเต้าเบญจคัพย์ ที่ใช้ในการราชพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงรับน้ำอภิเษก หรือใส่น้ำเทพมนตร์ ซึ่งในตำราพระคชกรรมและพระราชพิธีทอดเชือกตามเชือกกล่าวว่ามีพระเต้าเบญจคัพย์ด้วย |
เบิญ |
เปล่ง ฉายประกาย ข.บาญ่ (บัญ) |
แบกเคียว |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง หนังเป็นเกล็ดดุจหนังแรด ในตำรานารายน์ประทมสินธุ์ เรียกว่า สะแบกเขี้ยว ข. แสบฺก (ซฺแบก) หนัง ข. เกว (เกว) พับเป็นจีบ ๆ |
ป
ป่ง |
โป่ง ดินที่มีรสเค็มตามป่า ป่งป่าท่าทางเทียวธาร (กล่อมช้าง ๓) |
ปรมาถี ประมาถี |
ช้างศุภลักษณ์อำนวยพงศ์พวกหนึ่ง มีสีดังท้องฟ้า |
ประกายพรึก |
ดาวประกายพรึก ขึ้นตอนใกล้รุ่งมีแสงสว่างรุ่งเรืองกว่าดาวอื่น ข. ผฺกาย (พฺกาย) ดาว ข. พฺรึก (พฺรึก) เวลาเช้า |
ประจิม |
ทิศตะวันตก |
ประณาม |
การไหว้อย่างนอบน้อม ธรรมวัดประณามศิวบาท ก็ถวายบังคมลา (ดุษฎีสังเวย ๖๔) |
ประฏิสนธิ |
ปฏิสนธิ เกิด เกิดใหม่ ป. ปฏิสนฺธิ |
ประทักษิณ |
การเวียนขวา เบื้องขวา |
ประทุมหัตถี |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีกาย ขน หาง เล็บ สีดุจดอกบัวโรย ตาขาวบริสุทธิ์ |
ประนบ |
นบ น้อมไหว้ นุประนบพระโองการ (ดุษฎีสังเวย ๕๒) |
ประเบียด |
เบียดชิดกัน ข. ปฺรเบียด (ปรอเบียด) สองงาเปรียบปูน ประเบียดแลเปรตามกัน (คชกรรมประยูร ๑๖๙) |
ประพาส |
เที่ยวไป |
ประโพธ ประโพธิ |
การตื่นจากหลับ ความมีสติ รู้ทั่ว มานรัศมิดาษทิศฉาย นุประโพธิสบสถาน (ดุษฎีสังเวย ๒๗) |
ประไพจิตร |
ไพจิตร ตกแต่ง งาม |
ประแอก |
พิง ที่สำหรับพิง ชนักแร่งประแอกอาน แลกระพัดตระคนควร (กล่อมช้าง ๔๖) |
ปรักสาร |
ช้างสีเงิน หมายถึง ช้างเผือก ข. ปฺราก่ (ประก์) เงิน |
ปราย |
โปรย หว่าน ข. ปฺราย (ปฺราย) |
ปละ |
ปล่อย ละทิ้ง อำเพออันร้ายพึงปละ (คชกรรมประยูร ๑๗๗) |
ปักข์ ปักษ์ |
ฝ่าย ข้าง ทังปักข์ทังปวงเดิรดง (กล่อมช้าง ๘) |
ปัญจางค์ชุลี |
กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ |
ป้าน |
ทู่ ไม่แหลม งาใหญ่สั้นป้าน (คชกรรมประยูร ๓๙) |
ปิงคลหัตถี |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีกายดังตะวันแรกขึ้น |
ปิศาจ ปีศาจ |
ผี คนที่ตายไปบังเกิดในภาวะอสูรกาย |
เปร |
เบนไป เบี่ยงไป สองงาเปรียบปูน ประเบียดแลเปรตามกัน (คชกรรมประยูร ๑๖๙) |
เปรม |
ความอิ่มใจ ความพึงใจ เทียนธูปคันธวรบุษ ปนุลาชเปรมปราย (ดุษฎีสังเวย ๓๓) |
แปร |
กลับกลาย เปลี่ยนไป ข. แปุร (แปฺร) |
ผ
ผคอง |
บำรุงรักษา ข. ผฺคง่ (พฺก็วง) กรุงโกรมอุภัทธบุรณา นุอุเทนทรมนตรผคอง (ดุษฎีสังเวย ๒๙) |
ผดุงผดา |
อุดหนุน ค้ำจุน ตูข้าตั้งใจ ทำนุกอำรุงผดุงผดา (กล่อมช้าง ๔) |
ผทม |
บรรทม นอน ข. ผฺทํ (พฺตุม) |
ผนฎ ผนด |
รอยพับเป็นปล้องๆ ข. ผฺนต่ (พฺน็อด) เล็บงามท้องคือผนด รำยวลเมฆปรากฏ ท้าวหาญ บ เหือดเรืองณรงค์ (คชกรรมประยูร ๔๐) |
ผอง |
ทั้งหมด ทั้งปวง ข. ผง (พอง) นิตยเทวดาผอง (ดุษฎีสังเวย ๑) |
เผดียง |
บอกให้รู้ ข. เผฺฎียง (เพฺดียง) เทียรโทษโดยบุรพเผดียง อย่าไว้โรงเรียง อุบาทว์อุบัติคือไฟ (คชกรรมประยูร ๑๗๔) |
เผลียง |
ฝน ข. เภฺลียง (เพฺลียง) เผลียงอุรบำนักขยล (ดุษฎีสังเวย ๑๕) |
เผลียงลักษ |
คำนี้น่าจะมาจาก เภฺลียง (เพฺลียง) ฝน + ธฺลาก่ (เทฺลีย็ก) ตก แปลโดยรวมว่า ฝนตก แต่ถ้าแปลตามรูปศัพท์ ลักษ หมายถึง จำนวนแสน เผลียงลักษ แปลว่า ฝนจำนวนมากเป็นแสนก็ได้ เผลียงลักษนินาทสดับ (ดุษฎีสังเวย ๑๖) |
ฝ
แฝก |
หญ้าชนิดหนึ่ง ใบเรียวยาว หญ้าแฝกแขมคา (กล่อมช้าง ๑๗) |
พ
พนม |
ภูเขา ข. ภฺนํ (พฺนุม) |
พนานต พนานต์ |
ป่า |
พนาวัน |
ป่า |
พนัสบดี |
ต้นไม้ ผู้เป็นใหญ่แห่งป่า เจ้าป่า สํ. วนสฺปติ สบสถานทุราคมประพาส ทุพนัสบดีผอง (ดุษฎีสังเวย ๓๐) |
พเนก |
เบญพาด ไม้พาดระหว่างเสาตะลุงที่ผูกช้าง เมืองโพ้นโรงรัตนพัฬเหา พเนกจรุงเกลี้ยงเกลา เมลือง บ ได้เคืองคาย (กล่อมช้าง ๑๘) |
พยัคฆเวภาร |
เสือแห่งภูเขาเวภาร เสียงพยัคฆเวภารสำคัญ (คชกรรมประยูร ๕๖) |
พหูร |
น่าจะหมายถึง พหูล มาก จำนวนมาก ด พหูรโอกโฮก (ดุษฎีสังเวย ๒๑) |
พรรณ |
ชนิด สี ผิว สํ. วรุณ |
พรรธนีเศา |
ทั้งสองซึ่งเป็นของพระศิวะ สํ. วรฺธนี ของพระศิวะ + อีศ ผู้เป็นใหญ่ แจกวิภัติที่ ๑ ทวิพจน์ เป็นพรรธนีเคา เถพอพาหะสงเคราะหสกน ทแลพรรธนีเศา (ดุษฎีสังเวย ๕๙) พรรธนีเศา ในที่นี้หมายถึง สกันธ์ หรือพระขันธกุมารโอรสของพระอิศวร |
พ หน้า |
ภายหน้า แต่นี้พ หน้าทาง (กล่อมช้าง ๔๑) เทียบปูมราชธรรม เอกสารสมเด็จพระนารายณ์มหาราช “กิจจานุกิจอันจะเกิดใน พ หน้าก็ดี” |
พรหม |
พระผู้เป็นเจ้า ตามคติพราหมณ์ว่า เป็นผู้สร้างโลก อัญขยมบังคมประนตประนม พรหมวิษณุธาดา (ดุษฎีสังเวย ๒๖) |
พระกรรม พระกรรม์ |
พระเทวกรรม เทพเจ้าเศียรเป็นช้างมีงาซ้ายข้างเดียว เป็นเทวดาสำคัญในพิธีคล้องช้าง โพนช้าง |
พระธรรมธร |
เทพเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม หมายถึง พระยม เทพแห่งความยุติธรรม มีนามอีกอย่างหนึ่งว่า พระธรรมราช |
พระพนม |
เจ้าแห่งขุนเขา หมายถึง พระศิวะ พระพนม ด ธมโดม (ดุษฎีสังเวย ๑๔) |
พระไพร |
เจ้าป่า น่าจะมีความหมายเดียวกับ พนัสบดี |
พระฤๅษีสิทธิ |
หมายถึง สิทธิดาบส ในคำฉันท์ดุษฎีสังเวยของขุนเทพกระวี กล่าวถึงบทสดุดีสิทธิดาบสว่าเป็นผู้ตั้งพิธีบูชาพระอิศวร หลังจากจบบทสดุดีขอช้าง (ดูตำนานครูประกรรมในภาคผนวก) |
พระลบ |
พลบ โพล้เพล้ เวลาย่ำค่ำ ข. พฺรลบ่ (พฺรัวลุบ) โสดกุมบิเดิรพระลบ (ดุษฎีสังเวย ๔) |
พราหมณ |
พราหมณโลหิต ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่งในตระกูลพรหมพงศ์ เป็นช้างอัฐทิศ ประจำทิศทักษิณ สีกายแดง ดังโลหิต งาใหญ่ คอกลม |
พรุณราช |
วรุณราช พระวรุณ เป็นโลกบาลทิศตะวันตก มีนามอีกอย่างหนึ่งว่า สินธุบดี |
พรุณสานต์ |
พรุณสันต์ สงบจากฝน สิ้นฤดูฝน สํ. พรุณ (วฺรุณ) ฝน ป. สันต์ สงบ สงัด กาลนั้นในมาสฤดู แลเจตรเสร็จพรุณสานต์ (ดุษฎีสังเวย ๔๕) |
พฤทธิ |
ความเจริญ ความสมบูรณ์ มั่งคั่ง |
พฤทธิบาศ |
พฤฒิบาศ พราหมณ์ผู้ทำพิธีเกี่ยวกับช้างและปัดเสนียดจัญไร |
พลุก |
งาช้าง ข. ภฺลุก (พฺลุก) มานพลุกฝ่ายเฉวียงดั่งพระ พิฆเนกชำนะ (คชกรรมประยูร ๑๗๘) |
พลุกแบก |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง งาคลอนเน่า งาแตกถึงปลายดังปากงู ข. ภฺลุก (พลุก) งาช้าง แบก (แบก) แตก |
พลุกสดำ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่งในตระกูลวิษณุพงศ์ จัดอยู่ในอัฐคช งางอนขึ้นทางขวา ข. ภฺลุก (พฺลุก) งาช้าง ข. สฺฎำ (ซฺดำ) ขวา |
พอง |
ผอง ทั้งหมด ทั้งปวง ข. ผง (พอง) จะกล่าวคชาธาร อัฐคชเรืองรณพอง (คชกรรมประยูร ๕๔) |
พักตรเบญจ |
๕ หน้า ในที่นี้น่าจะหมายถึง พระปัญจานน ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระอิศวรมี ๕ พักตร์ |
พัทพินาย |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง งาซ้ายงอกเสมอสนับงา ในตำรานารายน์ประทมสินธุ์ เรียกว่า ภัทรพินาย |
พันฦก |
พันลึก พิลึก แปลก |
พัฬเหา |
ใหญ่ มาก เมืองโพ้นโรงรัตนพัฬเหา พเนกจรุงเกลี้ยงเกลา (กล่อมช้าง ๑๘) |
พาน |
พบ ประสบ อย่าต้องอย่าพานเบียดเบียน (กล่อมช้าง ๑๐) |
พายัพ |
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ |
พาลจักรี |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่งในตระกูลอัคนีพงศ์ งางอนปลายงาจรดกัน |
พาหะสงเคราะห |
นำเข้ามารวมกัน เถพอพาหะสงเคราะหสกน ทแลพรรธนีเศา (ดุษฎีสังเวย ๕๙) |
พาหุน |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง คอเป็นร่องลึก ๓ แห่ง ศีรษะลึกน้ำขัง น่าจะกลายมาจาก ข. ปฺรโหง (ปฺรอฮอง) ช่อง ร่อง |
พำลา |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง หุบปากไม่สนิท อ้าปากแลเห็นกราม ข. พำ (เปือ็ม) คาบ ข. ลา (เลีย) อ้า ออก กางออก |
พิฆเนก |
พระพิฆเนศ เทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาการ มานพลุกฝ่ายเฉวียงดั่งพระ พิฆเนกชำนะ แก่พิฆนไภยทังผอง (คชกรรมประยูร ๑๗๘) |
พิฆเนศม |
พระพิฆเนศ ลงวิภัติที่ ๒ เป็น พิฆเนศํ |
พิฆเนศวร |
พระพิฆเนศ เทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาการ ถือกำเนิดจากพระอิศวรกับพระอุมา |
พิฆเนไภย |
ภัยอันตรายและอุปสรรค พิฆน อุปสรรค + ภัย สิ่งอันพึงกลัว |
พิจิตร |
งาม สํ. วิจิตฺร |
พิตเพียล |
เมียงมอง ข. พิตพิล (ปิดปิล) วรรณคดีสมัยอยุธยาหลายเรื่องใช้ว่า พิศเพียร เฉกอัฒจันทร์พาล ประเภทพึงพิตเพียล (คชกรรมประยูร ๑๕๗) |
พิทธี |
พิธี วิธี |
พิทธยางค |
ส่วนที่เกี่ยวกับพิธี พิธี + องค |
พินาย |
ช้างที่มีงาซ้ายข้างเดียว พระเทวกรรม ด มหา สิทธิศักดิพินาย (ดุษฎีสังเวย ๖๖) ในที่นี้หมายถึง พระเทวกรรม เทวดาที่มีเศียรเป็นช้างมีงาซ้ายข้างเดียว |
พิบาก |
ลำบาก ยาก ข. พิบาก (ปิบาก) แต่นี้จงสร่างสระเสบย ทุกข์หลังอันเคย พิบากลำบากเหลือใจ (กล่อมช้าง ๖๑) |
พิโรธ |
ความโกรธ ความประทุษร้าย |
พิลาป |
พร่ำเพ้อ คร่ำครวญ ป. วิปลาป |
พิศนุเสนงไชย |
ปี่ที่ทำด้วยเขาสัตว์ ข. แสฺนง (แซฺนง) |
พิสุทธ พิสุทธิ |
บริสุทธิ์ สะอาด |
พิสุทธิหัตถบาท |
ชำระมือและเท้าให้บริสุทธิ์ จึ่งสิทธิดาบสพิสุทธิ หัตถบาทปรักสาร (ดุษฎีสังเวย ๔๗) |
พิสูทธิอาตมา |
ชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ของพราหมณ์ก่อนประกอบพิธีกรรม เรียกว่า อาตมศุทธ หรือ อัตมสูทธิ์ ถ้าเป็นการชำระมือให้บริสุทธิ์ก่อนทำพิธี เรียกว่า กรศุทธ หรือ กระสูทธิ์ ยอกหัตถสมพรมามูล จะพิสูทธิอาตมา (ดุษฎีสังเวย ๕๑) |
เพ็ญ |
เต็ม ข. เพญ (ปิญ) |
เพรง |
ก่อน เก่า โบราณ ปางก่อน ข. เพฺรง (เพรง) อ้าพ่ออย่าคิดทุกขบัดนี้ ทุกขหลังบุราณเพรง (กล่อมช้าง ๒๖) |
เพียญชน |
กับข้าว แกง สํ. วฺยญฺชน อวยสรรพเพียญชนพิทธี กรมเสร็จกำนลถวาย (ดุษฎีสังเวย ๗๒) |
เพียลพิต |
เมียงมอง กลับศัพท์จาก พิตเพียล เพื่อให้สัมผัสรับตามบังคับฉันทลักษณ์ หลังราบปลายหูต้องติด หน้าหลังเพียลพิต กระหมวดทังสองสูงไขย (คชกรรมประยูร ๓๗) |
โพบาย |
ต้นโพ ไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง |
โพรงพราย |
ประกายระยิบระยับ ข. โพฺรง (โพรง) โพลง โพลน พฺราย (เพฺรียย) แตกเป็นประกาย เทวีอุมาภควดี ดูประเสริฐโพรงพราย (ดุษฎีสังเวย ๒๗) |
ไพรกรัง |
เนินป่า กรัง เนิน ป่าปรือไพรกรัง (กล่อมช้าง ๘๙) |
ไพรงา |
ขอบงา ส่วนโคนของงาช้างที่ติดกับผิวหนัง งอกเสมอไพรงาสำอาง (คชกรรมประยูร ๖๙) |
ฟ
ฟาน |
เก้ง กวางขนาดเล็กชนิดหนึ่ง |
ภ
ภควดี |
มีโชค มีความเจริญ ใช้เรียกนางผู้เป็นที่เคารพยิ่ง เช่น พระอุมา พระลักษมีในที่นี้หมายถึง พระอุมา เทวีอุมาภควดี ดูประเสริฐโพรงพราย (ดุษฎีสังเวย ๒๗) |
ภคินี |
พี่สาว น้องสาว |
ภัสมธาร |
ละอองน้ำ ป. ภสฺม เถ้า ละออง ยอกภัสมธารทรงศิพมนตร (ดุษฎีสังเวย ๕๐) |
ภาษจักร |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง ต้นงาใหญ่ปลายงาเรียว |
ภิเษก |
การรดน้ำในพิธี ตัดศัพท์จาก อภิเษก |
ภุชงคราช ภุชเคนทร |
พญานาค |
ภูต |
สัตว์ สํ. ภูต มนตรชากรุงภูตประธานเดชะ (ดุษฎีสังเวย ๓) ชากรุงภูต หมายถึง เป็นใหญ่ในหมู่สัตว์ทั้งหลาย |
ภูเบนทร์ |
พระราชา พระเจ้าแผ่นดิน |
ภูรโดก |
โพระดก นกชนิดหนึ่งตัวสีเขียวหม่น ปากสีเหลืองส้ม ร้องเสียงไพเราะ |
ภูวสวะ |
ผู้เป็นเจ้าของแผ่นดิน สํ. ภูว แผ่นดิน สฺวะ ผู้เป็นเจ้าของ อัญขยมบังคมภูวสวะ (ดุษฎีสังเวย ๑) |
ไภย |
ภัย สิ่งอันพึงกลัว |
ไภยภิต |
สิ่งอันพึงกลัวยิ่ง ป.สํ. ภย สิ่งอันพึงกลัว ป.สํ. ภีต กลัว |
ม
มนตร มนตร์ |
ปัญญาอันรู้รอบ คำศักดิ์สิทธิ์สำหรับเสกเป่า สํ. มนฺตฺร อัญขยมบังคมภูวสวะ มนตรชากรุงชนะ นิตยเทวดาผอง (ดุษฎีสังเวย ๑) |
มนทีร มณฑีร |
มณเฑียร เรือนหลวง สํ. มณฺฑิร ป. มนฺทิร |
มนัส |
ใจ |
มนอร |
ปลื้มใจ ยินดี ข. อร (ออร์) ยินดี ปลาบปลื้ม เปรมปราชญปรีดิมนอร สรรเสริญนมัสการ (ดุษฎีสังเวย ๔๔) |
มโนช |
เกิดแต่ใจ สํ. มนสฺ + ช |
มล้าง |
ล้าง ชำระให้หมดจด |
มวยดอง |
ครั้งเดียว ครั้งหนึ่ง ข. มวย (มวย) หนึ่ง จำนวนนับหนึ่ง ข. ฎง (ดอง) ครั้ง ขยลบกบิมวยดอง (ดุษฎีสังเวย ๑๓) ลมพัดแม้เพียงครั้งเดียว |
มหัต |
ใหญ่ มาก สํ. มหตฺ |
มหาโพยม |
ท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ มหาโพยมกันลอง (ดุษฎีสังเวย ๖) |
มอก |
มา ข. มก (โมก) นุบพิตรมอกฮอง (ดุษฎีสังเวย ๙) |
มางษ์ |
มางส เนื้อ |
มาดงค์ |
มาตงค์ ช้างพลาย สํ. มาตงฺค |
มาดร |
มารดา แม่ สํ. มาตฺฤ สรวมสีหชงฆ์สอลออ จิตรมาดรเสี่ยมสาร (ดุษฎีสังเวย ๓๘) |
มาน |
มี ประกอบด้วย ข. มาน (เมียน) |
ม่าม |
กิน (ถิ่นอีสาน) |
มาลา |
ดอกไม้ พวงดอกไม้ สํ. มาลา |
มาส |
เดือน สํ. มาส |
มิน |
มีน ปลา สํ. มีน |
มุข |
หน้า ปาก สํ. มุข |
มูตร |
ปัสสาวะ สํ. มูตฺร |
เมฆครรชิต |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง เสียงดังดุจเสียงฟ้าร้อง |
เมิล |
มอง ดู ข. เมีล (เมิล) |
เมลือง |
งามเปล่งปลั่ง สุกใส |
โมกข |
ความหลุดพ้น บทโมกข = บถโมกข ทางแห่งความหลุดพ้น |
ย
ยยง |
ยง กล้าหาญ ซ้ำคำแบบอัพภาสเป็น ยงยง-ยยง เทเพนทรพฤกษนุกันดอง นิตยเดิรยยงยง (ดุษฎีสังเวย ๓๐) |
ยม |
ร้อง ข. ยํ (ยุม) พฤกษเถลิงสดับศับทผองยม (ดุษฎีสังเวย ๑๙) |
ยรรยง |
กล้าหาญ งามสง่า |
ยวล |
อ่อนน้อม อ่อนโน้มลงมา ข. ยุล, ยุร (ยุล , ยุร์) จงพ่อมาเสียพยศยวล (กล่อมช้าง ๔๐) |
ยอ |
ยก ยกเท้ายอชง ฆโจมแลจ้วงโจนสรรพ (คชกรรมประยูร ๘๐) |
ยอก |
เอา ข. ยก (ยวก) ยอกภัสมธารทรงศิพมนตร์ (ดุษฎีสังเวย ๕๐) |
ยักษ์ |
อมนุษย์พวกหนึ่ง มีร่างกายใหญ่โต น่ากลัว กินมนุษย์และสัตว์เป็นอาหาร |
ยัชโญประวีต |
สายธุรำมงคลของพราหมณ์ สวมเฉวียงบ่าซ้ายไปขวา ยัชโญประวีตมาประดิษ ฐในหัตถซ้ายขวา (ดุษฎีสังเวย ๔๘) |
ยานยูร |
หย่อนยาน ยานย้อยลงมา ข. ยุร(ยุร์) ทังหนังแลหน้ายานยูร (คชกรรมประยูร ๑๖๘) |
โยนยัก |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง มักหลับตา มักใช้เท้าและงวงตีอก โยกศีรษะไปมา เอาหูและหางฟาดตัวอยู่ไม่เป็นสุข |
ร
รดีรดัส |
รดีดัส ตื่นอยู่ด้วยความรัก ตื่นอยู่ด้วยความยินดี สํ. รติ ความรัก ความยินดี ข. ฎาส่ (ด็ะส์) ปลุกให้ตื่น ลางตัวตัวผู้มาเอา กลิ่นตัวเมียเมา รดีรดัสกำจร (กล่อมช้าง ๖๘) รดีรดัส น่าจะเกิดจากเพิ่มเสียง ร เพื่อความงามของภาษา |
รได |
น่าจะหมายความว่า ซับซ้อนเล็กบ้างใหญ่บ้าง ข. รเฎียร (รัวเดียร์) |
รมทันต์ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง งางาม งอน งาขวาทับงาซ้าย |
รมยวล รำยวล |
ปั่นป่วน ข. รํชวล (รุมจวล) ไห้ห่มรมยวลไปมา (กล่อมช้าง ๕๙) เล็บงามท้องคือผนด รำยวลเมฆปรากฏ (คชกรรมประยูร ๔๐) |
รอม |
เป็นวงโค้งเข้าหากัน ชื่อรัตนกุมพลนั้นมี งารอมเสียดสี (คชกรรม ๗๕) |
ระมาด |
แรด ข. รมาส (รัวเมียะส์) |
ระร่อน |
ร่อนร่อน ง่ายๆ ทังหญ้าระร่อนอ่อนหวาน (กล่อมช้าง ๕๔) |
รังสฤษดิ |
รังสฤษฎ์ แต่งตั้ง สร้าง |
รัด |
วิ่ง ข. รต่ (ร็วด) มฤคผองรัด ด โจรก (ดุษฎีสังเวย ๒๒) |
รัตจักษุ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง ตาแดง |
รัตทันต์ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง งาแดง เล็บแดง ในตำรานารายน์ประทมสินธุ์ ว่า รัตนัข |
รัตนกุมพล |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง งาขวาทับงาซ้ายเสียดสีกัน ในตำรานารายน์ประทมสินธุ์ว่า รัตกัมพล |
รัถยา |
ทางเดิน |
รันแซง |
รันชนรันแชง กระทบกระทั่งปั่นป่วน ช้างหนึ่งมีนามพลุกแจง โทษนั้นรันแซง พิการหลากหลายดล (คชกรรมประยูร ๑๔๗) |
รัศมิ |
รัศมี แสง รังสี |
ราชวังเมือง |
นามบรรดาศักดิ์ข้าราชการในกรมพระคชบาลปรากฏในตำแหน่งนาพลเรือนว่า หลวงราชวังเมือง สุริยชาติ สมุหพระคชบาลซ้าย |
ราชี |
แนว แถว ระเบียบ พฤกษราชี แถวไม้ แนวไม้ |
รำพาย |
ระบาย ชายผ้าระบาย ข. รํภาย (รุมเพียย) สดุดีบังคมบดิรำพาย นิตยภักดิสบวาร (ดุษฎีสังเวย ๔๐) |
รุง |
ใหญ่ มาก ข. รุง (รุง) รุงโดมประไพรโฉม นุบพิตรเจียรถมา (ดุษฎีสังเวย ๗) |
รูจี |
แสงสว่าง รุ่งเรือง |
รูโป |
รูป ร่างกาย ตัวตน รูโป ต คณา (ดุษฎีสังเวย ๔) |
เรไร |
แมลงชนิดหนึ่ง ร้องเสียงดัง พวกเดียวกับจักจั่น |
เราะห |
ตามนั้น เช่นนั้น คำนี้ปรากฏในจารึกเขมรโบราณสมัยเมืองพระนคร เช่น จารึกพิมานอากาศ ใช้ว่า เราะห เราะหพิณเราะหพาทย์ เราะหพิศนุสนงไชย เราะหเสนงสครได บิบำเรอหนุดัสผธม (ดุษฎีสังเวย ๑๗) |
เรียง |
เรียงเป็นแถว ทั้งหมด ข. เรียง (เรียง) เฌอฉมันเฌอธนม ดูรไดดุเรียงเรียง (ดุษฎีสังเวย ๑๘) |
เรียบ |
ราบ ข. ราบ (เรียบ) อรินทรเรียบฤๅเสบย (กล่อมช้าง ๗๗) |
แร่ง |
หนังที่ห้อยย้อยตั้งแต่คางจนถึงอก เช่น แร่งโค มานแร่งระใบ ดั่งชาติโคเพลาะพรรค์ (กล่อมช้าง ๔๖) |
โรจ |
เสาวโรจ หรือ เสาวโรฐ ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีกายแดงดังปากนกแขกเต้า |
โรม |
ขน ป. โรม มานโรมรายพรัดยืดใย (คชกรรมประยูร ๒๐๕) |
ไร |
รอยเป็นเส้นๆ เช่น ไรฟัน ไรงา งานั้นเปนปล้องร่องไร (คชกรรมประยูร ๑๔๙) |
ฤ
ฤๅษีสิทธิ์ |
ในที่นี้หมายถึง สิทธิดาบส |
ล
ลงาดไถง |
เวลาเย็น ข. ลฺงาจไถฺง (เลฺงียจไทฺง) ลงาดไถงฮองสดับศับททธา (ดุษฎีสังเวย ๒๓) |
ลบชม |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง หูเบื้องหลังปรบถึงกัน ข. ลุบ (ลุบ) กลบ ข. ชุํ (จุม) รวมกัน |
ลออ |
สวย งาม ดี ข. ลฺอ (ลฺออ) |
ละลุมสังไกย |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง โขมดสูงดังจอมปลวก ไม่มีร่องกลาง ในตำรานารายณ์ประทมสินธุ์เรียกว่า รลมสังไก่ ข. รลูน (รัวลูน) กลม มน เรียว ข. สงฺเกียร (ซ็องเกียร์) ระบม |
ละมาน |
ข้าวป่าชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในจำพวกหญ้า หญ้าปล้องหญ้าหวายแลละมาน (กล่อมช้าง ๒๒) |
ลังลอง |
เวิ้งว้าง ลิบๆ ข. ลนลง่ (ล็วนล็วง) พระไพรรุจีวา นิพรรณรายบิลังลอง (ดุษฎีสังเวย ๗) |
ลันดาด |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง ลิ้นยาวใหญ่ ย้อยพ้นไพรปาก ข. ลาญ (เลียญ) วินาศ ผลาญ ข. ฎาจ (ดาจ) ขาด |
ลาช |
ข้าวตอก หมายถึงข้าวตอกดอกไม้ในพิธีพลีกรรม สํ. ลาช เทียนธูปบุษปนุลาชสบไถง (ดุษฎีสังเวย ๑๒) |
ลาวัณย์ |
ความงาม ความน่ารัก |
ลำโอก |
ขุ่น มัว ข. ลฺอก่ (ลฺอ็อก) บิลำโอกเถลิงฮอง (ดุษฎีสังเวย ๒๓) |
ลำเพ็ญ |
ตรงสมส่วน ข. เพญ (ปิญ) เต็ม เนียมมาลยยรรยงรูปธรา ยุลำเพ็ญลำเพาขนาย (ดุษฎีสังเวย ๓๙) |
ลำเพา |
รูปงาม โฉมงาม |
เลปน เลปน์ |
ลูบไล้ ฉาบทา สํ. เลปน |
เลอ |
บน เหนือ ข. เลี (เลอ) พระไพรโกรมเลอ (ดุษฎีสังเวย ๙) |
เลิง |
ขึ้น ข. เลีง (เลิง) ดุจแสงสูรเยนทรมหา เลิงเลอเมฆา (คชกรรมประยูร ๒๑๗) |
เลี้ยงม่ามอ่ามสาย |
เลี้ยงสืบต่อกันไม่ขาด หนึ่งจงเลี้ยงม่ามอ่ามสาย ลูกเต้าพังพลาย (กล่อมช้าง ๘๔) |
แลง |
ยิ่ง ใช้คู่กับ ข. ไกฺร เป็น ไกฺรแลง |
แล่น |
วิ่ง |
โลเกศ |
เป็นใหญ่ในโลก โลก + อิศ |
ฦๅ
ฦๅ |
ลือ เลื่องลือ กล่าวขานถึง ดัง เสียงดัง |
ฦๅชา |
ลือชา ยกย่องชื่อเสียง |
ฦๅสาย |
ลือสาย ผู้เป็นใหญ่ พระเจ้าแผ่นดิน |
ว
วรพ่าห วรพ่าห์ |
พาหนะอันประเสริฐ |
วรรณ วรรณา |
ชนิด สี ผิว สํ. วรุณ |
วัด |
ตวัดไปโดยแรง เหวี่ยงไปโดยแรง วัดวายถีบตี ทังฉัดแลหล่ออย่าทำ (กล่อมช้าง ๗๒) |
วัลย์ |
ไม้เลี้อย ไม้เถา |
วานิ |
ถ้อยคำ สํ. วาณี พระไพรรุจีวา นิพรรณรายบิลังลอง (ดุษฎีสังเวย ๗) |
วาย |
ตี |
วิ |
พิ จาก ข. พี (ปี) วิเนาทัศโลกบาล (ดุษฎีสังเวย ๒๘) |
วิทึก |
จากน้ำ ข. พีทึก (ปีตึก) ข. พี (ปี) จาก ศัพท์คำนี้ตามจารึกเขมรโบราณใช้ วิ หรือ วี |
วิง |
กลับ ข. วิญ (วิญ) ในจารึกเขมรโบราณ สมัยเมืองพระนครใช้วิง |
วิไลยมาศ |
ผงทอง สํ. วิลย ละเอียดย่อย ข.มาส (เมียะส์) ทอง ครั้นเสร็จก็โปรยวิไลยมาศ ดูสูกษมสูกษมา (ดุษฎีสังเวย ๕๔) |
วิษณุ |
นามหนึ่งของพระนารายณ์ |
วิสุทธิสาร |
ช้างเผือก เมื่อเสร็จการอุดมกรรม์ ได้ช้างเผือกอัน วิสุทธิสารบวร (กล่อมช้าง ๙๙) |
เวสันต์ |
เพศ ป. เวส เพศ + อนฺต ที่สุด ในที่นี้เป็น บูรณบท คือ ส่วนเติมเต็มไม่มีความหมาย เสียงไก่แลอึ่งเวสันต์ หมายความว่า มีเสียงร้องดุจเพศไก่และอึ่ง |
เวียด |
คด บิดเบี้ยว ข. เวียจ (เวียจ) |
แว่น |
แว่นสำหรับเวียนเทียน แว่นทองประทักษิณแลเทียน บริวัตรนาถา (ดุษฎีสังเวย ๖๑) |
ศ
ศรก |
ชุ่มฉ่ำ ชุ่มน้ำ ข. โสฺรก (โซฺรก) |
ศรด |
ระลึกถึง ป. สรติ สํ. ศรุต เบญจางคประดิษฐศรดบง กชบาทบาทา (ดุษฎีสังเวย ๖๓) |
ศริรังคาพยพ |
ร่างกาย อวัยวะต่างๆที่ประกอบเป็นร่างกาย ศริร + องฺค + อวยว |
ศรี |
สตรี ผู้หญิง ข. สฺรี (เซฺร็ย) อย่ารำพึงศรี (กล่อมช้าง ๕๑) ในที่นี้น่าจะหมายถึงนางช้าง |
ศรีร |
สรีระ ร่างกาย สํ. ศรีร |
ศับท |
ศัพท เสียง คำ สํ. ศพฺท |
ศิขร ศีขร |
ยอดเขา สํ. ศิขร |
ศิตจุตอาคม |
มนตร์ทั้งสิ้นเป็นเครื่องผูก หมายถึง ผูกด้วยมนตร์ สํ. สิต ผูก + จุต สิ้น หมด + อาคม มนตร์ ศิตจุตอาคมพระมนตร สฤษดิด้วยพระโองการ (ดุษฎีสังเวย ๕๖) |
ศิพมนตร |
ศิวมนตร์ มนตร์ของพระศิวะ |
ศิริรัตนมณเฑียร |
รัตนมณเฑียรอันประเสริฐ หมายถึง พระราชวัง |
ศิโร |
ศีรษะ หัว สํ. ศิร ศิรา |
ศิโรรัตน์ |
ส่วนที่ประเสริฐสุดของศีรษะ ขอถวายศิโรรัตน์ สิริสวัสดิสาทร (คชกรรมประยูร ๑) |
ศิวบาท |
พระบาทของพระอิศวร |
ศิวัทธนาวาร |
วาระอันแน่แท้แล้วของพระศิวะ ศิว + อทฺธ + น (ต) + วาร ดำเนินศิววัทธวาร (ดุษฎีสังเวย ๕๓) |
ศิวางค |
พระศิวะ ศิว + องฺค ศิวางคชปนพิทธยางค (ดุษฎีสังเวย ๕๐) |
ศุนย |
ศูนย์ ว่างเปล่า อากาศศุนยบรมทวา ทศองคุลีไลย (ดุษฎีสังเวย ๕๔) |
ศุภลักษณ |
ลักษณะอันดี ลักษณะอันเป็นมงคล |
ศุลี |
พระอิศวร |
เศวตคช |
ช้างเผือก |
เศวตคชรัตน |
ช้างเผือกตัวประเสริฐ |
เศวตจักษุ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง ดวงตาสีขาว |
เศวตนขา |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง เล็บสีขาว |
เศวตพระพร |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีกายขาวดุจสีสังข์ ขน ตา เล็บ หางมีสีขาว |
โศก |
โศกจะกิน หรือ โศกกลีกาล ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง มีนมที่ปลายหาง |
ส
สกนท |
สกันท พระขันธกุมาร โอรสของพระศิวะ อีกความหมายหนึ่งว่า “เป็นของพระอิศวร” สํ. สฺกฺท สฺกนฺท เถพอพาหะสงเคราะหสกน ทแลพรรธนีเศา (ดุษฎีสังเวย ๕๘) |
สกนธ |
ร่างกาย สํ. สกนฺธ |
สกล |
ทั่วไป ทั้งหมด สํ. สกล นักสกลสบนา (ดุษฎีสังเวย ๑๑) |
สกัน |
ฉกรรจ์ รุ่นหนุ่มรุ่นสาว หมู่คณะ ข.สงฺกล (ซ็องก็อล) เมืองโพ้นนางช้างก็สกัน (กล่อมช้าง ๑๔) |
สคร |
กลอง ข. สฺคร (ซฺกัวร์) สครได กลองมือ น่าจะหมายถึงบัณเฑาะว์ อันเป็นเครื่องดนตรีที่ในพิธีกรรมของพราหมณ์ สฺคร + ไฎ เราะหเสนงสครได (ดุษฎีสังเวย ๑๗) |
สงฆอัษฎางค |
พระอริสงฆ์ ๘ เหล่า คือ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล พระสกิทาคามิมรรค พระสกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค และอรหัตผล |
สงสถาน |
สัณฐาน ลักษณะรูปทรง สีใบตองแก่ชื่อสาร วโภมสงสถาน (คชกรรมประยูร ๕๐) |
สนธยา |
เวลาต่อระหว่างกลางวันกับกลางคืน ได้แก่ เวลารุ่งสาง และเวลาโพล้เพล้ ในวรรณคดีไทยมักหมายถึง เวลาโพล้เพล้ ใกล้ค่ำ สํ. สํธฺยา |
สนับพลุก |
สนับงา ส่วนของผิวหนังที่เบียดชิดอยู่กับงา ข. สฺนาบ่ (ซฺนับ) ข. ภฺลุก (พฺลุก) |
สนับหาง |
หนังบริเวณโคนหางของช้าง |
สนาน |
การอาบน้ำ ข. สฺนาน (ซฺนาน) ทำโดยพิทธีการสนาน (ดุษฎีสังเวย ๕๑) |
สบ |
ทั้งปวง ทั้งหมด ข. สพฺพ (ซ็อบ) อาจเถวอดบะชนะ นิตยโลกสบนา (ดุษฎีสังเวย ๓) |
สบไถง |
ทุกวัน ข. สพฺพไถฺง (ซ็อบไทฺง) |
สบวาร |
ทุกวัน ข. สพฺพวาระ (ซ็อบเวียเรียะ) นิตยภักดิสบวาร (ดุษฎีสังเวย ๔๐) ด้วยความภักดีเป็นนิตย์ทุกวัน |
สบไศล |
ทั่วทุกขุนเขา |
สบสถาน |
ทุกแห่ง มานรัศมิดาษทิศฉาย นุประโพธิสบสถาน (ดุษฎีสังเวย ๒๗) |
สมเด็จไททังเก้า |
เทวดานพเคราะห์ ๙ องค์ คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระเกตุ และพระยม สวดมนตรเชิญวรมหา สมเสด็จไททังเก้าตน (ดุษฎีสังเวย ๔๘) |
สมเด็จบรมหงส |
พระพรหม ผู้ทรงหงส์เป็นพาหนะ |
สมพงษถนิม |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง ตา เล็บ ขน สีขาว มีกระทั่วตัว |
สยบ |
ซบกัน ฟุบลง |
สยามพากย |
ภาษาไทย ภาษาสยาม แก้กลอนกัมพุชภาษา แจงแจ้งเอามา เปนสยามพากยพิสัย (กล่อมช้าง ๙๗) |
สร |
เสียง |
สรงม |
สลัว ครึ้ม มืดครึ้ม ข. สฺรงำ (ซฺรองำ) เฌอไพรผองดูสรงม (ดุษฎีสังเวย ๑๘) |
สรดอง |
ร่ม ครึ้ม ข. สฺรทํ (ซฺรอตุม) ไพรสรดอง ป่าที่ร่มครึ้ม เตรจไพรสรดอง (ดุษฎีสังเวย ๑๐) |
สรนุกนิ |
สนุก เบิกบานใจ เพลินใจ |
สรรค |
บท ตอน สร้าง สํ. สรฺค สรรคอาคม หมายถึง บทมนตร์ เสร็จสรรคอาคมบรี สุทธิแล้วก็ธารทรง (ดุษฎีสังเวย ๔๘) รังสฤษดิสรรคพ่อมาสม (กล่อมช้าง ๓๕) |
สรรพคับ |
สัปคับ ที่นั่งบนหลังช้าง อาภรณ์ประดับสรรพสรร พคับควรทุกอัน (กล่อมช้าง ๗๕) |
สรวม |
ขอ ข. สุํ (ซม) ในจารึกเขมรโบราณใช้ สฺวมฺ สรวมสิทธิสรวมบวรศัก ดิประเสริฐสรวมพร (ดุษฎีสังเวย ๓๔) |
สระ |
สดใส ข. สฺรส่ (เซฺราะส์) แต่นี้จงสร่างสระเสบย (กล่อมช้าง ๖๑) |
สระสโรช |
สระบัว |
สราก |
สาก ระคาย ไม่เรียบ ต้นลิ้นสีสรากใหญ่ลาม อ้าปากเดินทราม (คชกรรมประยูร ๑๘๗) |
สร่าง |
สว่าง แสงสลัวๆ ข. สฺราง (ซฺราง) |
สราย |
แยะออก คลายออก ข. สฺราย (ซฺราย) งาเเตกต้นปลาย เเลร้าวสรายโดยเห็น (คชกรรมประยูร ๑๔๔) |
สลม |
ดูที่ สลมสลอน ใบบัทมแบ่งเเลก็สลม ก็สลอนทังสระศรี (กล่อมช้าง ๓๘) |
สลมสลอน |
มากมาย ทางท่องมหิมา สลมสลอนพร้าวตาล (กล่อมช้าง ๖๔) |
สลา |
หมาก ข. สฺลา (ซฺลา) |
สวด |
โสด ส่วน ฝ่าย ข. โสต (โสด) โสดสูงสวดกาย (คชกรรมประยูร ๔๔) |
สวาท |
สาธยาย ร่ายมนตร์ ในตำราพระคชกรรมใช้ว่า สวาท หรือ สวาทยาย ข. สฺวาธฺยาย (ซฺวาเทฺยียย) นำสวาทโดยบุรพโอษฐ (ดุษฎีสังเวย ๕๓) |
สวาน |
สุนัข สํ. ศฺวาน สวานลอดท้องประปราน (คชกรรมประยูร ๑๓๔) |
สวามิฆาต |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง หน้าผากเรียบ สวามิฆาต แปลตามศัพท์ว่า ฆ่าเจ้าของ |
สอ |
ขาว สีขาว ข. ส (ซอ) |
สะดุ้งนาค |
ดูที่ ตระดุ้งนาคิน |
สังขทันต |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง งาขาวดังสีสังข์ สีกายดำปลอด |
สังวาลนพสูตร |
สังวาล ๙ สาย ป. นว, นพ เก้า สํ. สูตร ด้าย เส้น |
สังหาร |
การทำลายล้าง การนำไป |
สัตบัน |
สัตตบรรณ บัวชนิดหนึ่ง อุบลสัตบันแบ่งบาน (กล่อมช้าง ๕๕) |
สา |
มั่นคง ข. สาร (ซาร์) กระหมวดในนามชื่อพญา ช้างหางหูสา (คชกรรมประยูร ๗๒) |
สาทร |
กอปรด้วยความเอื้อเฟื้อ สํ. สาทร ขอถวายศิโรรัตน์ สิริสวัสดิสาทร (กล่อมช้าง ๔๙) สาทร ในที่นี้น่าจะหมายถึง สาธุ แปลว่า ยังประโยชน์ให้สำเร็จ |
สาธารณ์ |
ทั่วไป สามัญ |
สาธุสัชชน |
คนดี สาธุ ดี + สนฺต ดี (สตฺ กลายรูปเป็น สัช ตามคำว่า ชนที่อยู่ช้างหลัง) ชน |
สารวโภม |
เสาวโภม ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีเขียวดังตองแก่ เท้าทั้ง ๔ ดังตองอ่อน สัณฐานดังใส่เสื้อ เสียงดุจนกกระเรียน |
สารศรี |
ช้างตัวประเสริฐ |
สำลาน |
สีเหลืองปนแดง แสด ข. สฺรําง (ซฺรัง) |
สิงคาลษรจักร |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง |
สิงหชงฆ์ สีหชงฆ์ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง เท้าหลังดำดุจราชสีห์ |
สิทธิดาบส |
ดูที่ พระฤๅษีสิทธิ |
สิทธพินาย |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง ไม่มีงาดุจช้างพัง |
สิบหมู่ |
ช้างศุภลักษณ์ ๑๐ หมู่ ได้แก่ ฉัททันต์ อุโบสถ เหมหัตถี อัญชนหัตถี คันธหัตถี ปิงคลหัตถี ดามพหัตถี บัณฑรหัตถี คังไคยหัตถี และกาฬวกหัตถี |
สีสลาสุก |
สีหมากสุก สีเหลืองแสด |
สึง |
อยู่ นอนอยู่ ข. สิง (เซิง็) |
สุครีป |
สุครีพ ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง คอใหญ่ สั้น หน้าบวมดุจเน่าพอง หางคด |
สุทธ สุทธ์ |
สะอาด หมดจด |
สุธาทิพย |
น้ำอมฤต น้ำทิพย์ เจิมจันทนเลปนสุธา ทิพยคนธอบองค์ (ดุษฎีสังเวย ๖๒) |
สุประดิษฐ สุประดิษฐ์ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีกายดังเมฆเมื่อสนธยา งาตรง ขาวบริสุทธิ์ |
สุประพลุก |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง งาเบียดเฉไปทางเดียวกัน |
สุรสังข |
เสียงสังข์ สุร + สังข |
สูกษมสูกษมา |
สุขุม ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง สํ.สูกฺษม + สูกฺษม |
สูงสง |
มีสัณฐานสูง ตัดศัพท์จาก สูงสงสถาน |
เสนง |
เขาสัตว์ ข. แสนุง (แซฺนง) ศับทสำเนียงบิเราะหเสนง (ดุษฎีสังเวย ๑๖) ในที่นี้หมายถึง ปีที่ทำด้วยเขาสัตว์ |
เสนาะ |
ไพเราะ วังเวงใจ |
เสบย |
สบายใจ |
เสพย เสพย์ |
สิ่งที่รับใช้ นักผลุมบิฦๅเลวง บิ ด เสพยพระไพร (ดุษฎีสังเวย ๑๖) ในที่นี้หมายถึง สิ่งที่บำเรอรับใช้ถวายพระไพร |
เสาวโรจ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง ดูที่ โรจ |
เสียพยศ |
ละพยศ อ้าพ่อจงเสียพยศอันร้าย แลอย่าขึ้งทรหึงหวล (กล่อมช้าง ๒๘) |
เสี่ยมสาร |
งามเสงี่ยม จงมีจริตสุทธอันงาม สงบเสงี่ยมแลเสี่ยมสาร (กล่อมช้าง ๓๐) |
แสงสะ |
แสงสว่างสดใส ข. แสง (แซง) ข. สฺรส่ (เซฺราะส์) ด ศรีรแสงสะ (ดุษฎีสังเวย ๒) |
แสรก |
ร้อง ข. แสรฺก (แซฺรก) แสรกเสียงกรุยเกรียว (ดุษฎีสังเวย ๒๐) |
โสด |
ฝ่าย ส่วน ข. โสต (โสด) |
โสนัข |
สุนัข |
โสรจสรง |
รดน้ำ อาบน้ำ ข. โสฺรจ (โซรฺจ) รด รดน้ำ ข. สฺรง่ (ซฺร็อง) อาบน้ำ |
ห
หรดี |
ทิศตะวันตกเฉียงใต้ |
หล่อ |
สะบัด หล่อหลอนอย่าทำกิจ บ ควร (กล่อมช้าง ๒๘) |
หลาม |
มาก หลาย กินผอกเหลือหลาม (กล่อมช้าง ๗๔) |
หลื้อลืด |
หลื้อ หลานของเหลน ลืด ลูกของหลื้อ อ้าพ่ออย่าคิดคชผู้หลาน เหลนหลื้อลืดแลพงศ์พันธุ์ (กล่อมช้าง ๒๑) |
หวล |
หวน กลับมาอีก เวียนกลับมา |
หิมวันต์ |
ป่าหิมพานต์ |
หื่นหรรษ์ |
มีใจยินดี |
หุงการชาอัคนิ |
พิธีโหมกุณฑ์บูชาไฟ หุง = โหม(หุํ) + การ + ชา ดี เป็น + อัคนี ไฟ หุงการชาอัคนีประไพ ก็เผาอาตมนิสสกนธ์ (ดุษฎีสังเวย ๕๕) |
เหม |
ทอง ในที่นี้หมายถึง เหมหัตถี ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง |
เหมจักษุ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง ดวงตาสีเหลือง |
เหมหัตถี |
ช้างศุภลักษณ์หมู่หนึ่ง ใน ๑๐ ตระกูล เล็บ ตา และสีกายเหลือง |
เหิร |
บิน ปลิว ข. เหีร (เฮอร์) |
อ
อธิก |
มากยิ่ง เลิศ |
อภิเษก |
การรดน้ำในพิธี สํ. อภิเษก |
อร |
ปลาบปลื้ม ยินดี ข. อร (ออร์) ทุกเทพยทังหลายชมอร อึงอวยพระพร (กล่อมช้าง ๑๐๐) |
อรรจน |
อรรจนะ บูชา สักการะ ยำเกรง สํ. อรฺจน เสด็จอรรจนอิศวรบพิตร (ดุษฎีสังเวย ๖๓) |
อลงก์ |
อลงกต ประดับ ตกแต่ง |
อลงการ |
เครื่องตกแต่ง เครื่องประดับ |
อวย |
ให้ ข. โอย (ออย) |
อ้อมจักราพาฬ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง งาซ้ายเสมอหน้างวง งาขวาโอบงวงมาทับงาซ้ายหน่อยหนึ่ง |
อ้อยช้าง |
ต้นไม้ชนิดหนึ่ง ขึ้นตามป่า |
อะเหลาะ |
ไม่มีความรุ่งเรือง ไม่มีพลัง ส. อลสฺ , อละ คล้องต้องอะเหลาะการ (คชกรรมประยูร ๑๕๒) |
อังคชาต |
องคชาต อวัยวะเพศผู้ หางยาวอิกอัง คชาติจรดธรณี (คชกรรมประยูร ๖๔) |
อังชัน |
ดูที่ อัญชัน |
อังชันคีรี |
ชื่อเขาในป่าหิมพานต์ |
อัญ |
ข้า สรรพนามบุรษที่ ๑ ข. อญ (อัญ) |
อัญขยม |
ข้า สรรพนามบุรษที่ ๑ ข. อญฺขญุํ (อัญคฺญม) |
อัญชน อัญชัน |
ช้างศุภลักษณ์หมู่หนึ่งใน ๑๐ ตระกูล |
อัฐคช |
ช้างศุภลักษณ์ ๘ ชนิดที่พระนารายณ์เป็นผู้สร้าง |
อัฐคชาธาร |
ช้างศุภลักษณ์ ๘ ชนิดที่พระอิศวรเป็นผู้สร้าง |
อัฐทิศ |
ช้างศุภลักษณ์ ๘ ชนิดที่พระพรหมเป็นผู้สร้าง ประจำทิศต่าง ๆ |
อัฒจันทร์ |
พระจันทร์ครึ่งดวง ครึ่งวงกลม |
อัณฑโกศ |
อวัยวะเพศผู้ |
อัพลา |
อพลา ไม่มีกำลัง อ + พล |
อัษเฎา |
จำนวน ๘ อัษเฎาพสูรทวาสวัสดิ (ดุษฎีสังเวย ๒๘) |
อากาศเทว |
อากาศเทวดา เทวดาที่สถิตอยู่ในอากาศ |
อาคเนย์ |
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ |
อาเจียณ |
อาจิณ สม่ำเสมอ เป็นนิสัย หนึ่งชื่อพำลาอาเจียณ หุบปาก บ มิเนียน (คชกรรมประยูร ๑๓๕) |
อาดุร |
ความเดือดร้อนทั้งกายใจ |
อาตม |
ฉัน ข้าพเจ้า สรรพนามบุรุษที่ ๑ เอกพจน์ |
อาน |
เบาะรองนั่งบนหลังพาหนะ |
อาโป |
น้ำ สํ. อปฺ |
อำนล |
น่าจะหมายถึง กำนล เครื่องกำนลที่ใช้ในพิธีบวงสรวง นิตยอวยอำนลถวาย (ดุษฎีสังเวย ๔๑) |
อำนวยวงศ์ |
ช้างศุภลักษณ์ที่เกิดจากการผสมต่างตระกูล เช่น อำนวยกมุท อำนวยบุณฑฤก |
อำพล |
เผ่าพงศ์ ตระกูล วงศ์ ข. อมฺบูร (อ็อมโบร์) คชหนึ่งชื่อบิเดาะอำพล ถันตรีเต้ากล (คชกรรมประยูร ๑๖๐) |
อำพิ |
จาก เนื่องจาก ข. อํเพี (อ็อมปี) ในจารึกเขมรโบราณใช้ อํพิ หรือ อํวิ แลดึกกษิรามฤตยอำ พิสุริยจันทรมณฑล (ดุษฎีสังเวย ๕๖) |
อำเพอ |
การกระทำ สิ่งที่ต้องกระทำ ข. อฺเพี (อ็อมเปอ) ในจารึกเขมรโบราณสมัยเมืองพระนคร ใช้ อํเว หรือ อํเพ คชหนึ่งชื่อพินายเรืองฤทธิ์ โทษนั้นพิพิธ อำเพออันร้ายพึงปละ (คชกรรมประยูร ๑๗๗) |
อำเภอ |
ลำพัง ตามลำพัง ทังนี้ย่อมอำเภอกรรม์ (กล่อมช้าง ๓๒) |
อำรุง |
เลี้ยงดู ทะนุถนอม บำรุง |
อิจฉา |
ความปรารถนา สรวมลักษณโคบุตรบันดาล แลทันโดยนุอิจฉา (ดุษฎีสังเวย ๓๘) |
อินทรกลีพินาย |
ช้างทุรลักษณ์พวกหนึ่ง งาแดงดังสีชาด งาขวายาวงอน งาซ้ายสั้นดังขนาย ในตำรานารายน์ประทมสินธุ์ เรียกว่า อินทกินพินาย |
อิสาน |
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ |
อุก |
อีก คำนี้ปรากฏในจารึก สด็อกก็อกธม และจารึกอื่นๆ สมัยเมืองพระนคร ใช้ว่า อุก แปลว่า อีก |
อุดมกรรม์ |
อุดมกรรม พระราชพิธีกับช้าง มี ๓ อย่างคือ ประถมกรรม มัธยมกรรม และอุดมกรรม |
อุดมภิเษกสัมฤทธิ์ |
เสร็จการรดน้ำในพิธีอันสูงสุด อุดม + อภิเษก + สัมฤทธิ์ |
อุดรทิศา |
อุดรทิศ ทิศเหนือ |
อุเทนทร |
อุเทน พระเจ้าอุเพน หรืออุทัยนะ ราชาแห่งกรุงโกสัมพี มีมนตร์และพิณบังคับช้าง กรุงโกรมอุภัทธบุรณา นุอุเทนทรมนตรผคอง (ดุษฎีสังเวย ๒๙) |
อุโบสถ |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง สีดังทอง |
อุภัทธ |
อุปพัทธ ผูกไว้มั่น สํ. อุป มั่น ป. พทฺธ ผูก กรุงโกรมอุภัทธบุรณา นุอุเทนทรมนตรผคอง (ดุษฎีสังเวย ๒๙) |
อุมา |
พระอุมา ชายาของพระอิศวร เทวีอุมาภควดี (ดุษฎีสังเวย ๒๗) |
อุร |
ลำธาร ข. อูร (โอร์) เผลียงอุรบำนักขยล (ดุษฎีสังเวย ๑๕) |
อุสุภ |
โค โคตัวผู้ |
เอกทันต |
ช้างศุภลักษณ์พวกหนึ่ง มีงาข้างเดียว |
เอราวัณ ไอยราวรรณ |
ช้างของพระอินทร์ มี ๓๓ เศียร |
โอก |
น้ำ ที่อยู่ ป. โอก ส. โอกสฺ |
โองการ |
คำอันศักดิ์สิทธิ์ บทมนตร์ ถ้าเป็นพระดำรัสสั่งของพระเจ้าแผ่นดินเรียกว่า พระบรมราชโองการ |
ไอยรา |
ช้าง |
ไอยราพต |
ช้าง ๓ เศียร เป็นพาหนะของพระอินทร์ |
ฮ
ฮอง |
ฉะนี้แล ดังนี้แล ใช้เป็นคำลงท้าย ข. โหง (โฮง) |
โฮก |
โหก โงกหลับ ข. หก่ (ฮ็อก) |