คำฉันท์คชกรรมประยูร

“คำฉันท์คชกรรมประยูร” เป็นตำราคชลักษณ์ฉบับหนึ่งที่เขียนด้วยคำประพันธ์ประเภทฉันท์ ต้นฉบับสมุดไทยคำฉันท์เรื่องนี้ รวมอยู่ในเล่มเดียวกับคำฉันท์ดุษฎีสังเวยและคำฉันท์กล่อมช้างครั้งกรุงเก่า สมุดไทยบางฉบับปรากฏเฉพาะเรื่องคชกรรมประยูรเพียงเรื่องเดียว แต่เนื่องจากคำฉันท์เรื่องนี้ระบุระยะเวลาที่แต่งว่า แต่งในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึ่งนับได้ว่าเป็นวรรณคดีคำฉันท์สมัยอยุธยาอีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

คำฉันท์คชกรรมประยูร บอกรายละเอียดเกี่ยวกับผู้แต่งและสมัย ที่แต่งไว้ว่า

๏ สารนี้บพิตรผู้ทรง พระคุณใหญ่ยง
ผู้ข้าชื่อราชวังเมือง  
๏ ตรัสสอนทุกสิ่งเนาเนือง ประโยชน์ให้เรือง
คุโณประการนานัตถ์  
๏ จึ่งมีพระบัณฑูรตรัส ให้แต่งสารสวัสดิ์
คเชนทรลักษณโสภี  
๏ ศักราชพันร้อยสิบปี มะโรงเชษฐมาสี
สำเร็จนิพันธโดยจรึง ฯ  

ความดังกล่าวสรุปได้ว่า “ราชวังเมือง ผู้เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทซึ่งพระองค์ได้ตรัสสอน ทรงมีพระบัณฑูรให้แต่งเรื่องช้างศุภลักษณ์นี้สำเร็จเมื่อ ปีมะโรง เดือน ๗ จุลศักราช ๑๑๑๐ (พุทธศักราช ๒๒๙๑)”

นามบรรดาศักดิ์ “ราชวังเมือง” นั้น ปรากฏในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ว่า “หลวงราชวังเมือง สุริยชาติ สมุหะพระคชบาลซ้าย นา ๓๐๐๐” ตำแหน่งหลวงราชวังเมือง เป็นข้าราชการในกรมพระคชบาลย่อมต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญในวิชาคชศาสตร์ทั้งคชกรรมและคชลักษณ์ และจากเนื้อความที่กล่าวในคำฉันท์ แสดงว่า หลวงราชวังเมืองผู้นี้เป็นศิษย์ที่เคยได้เรียนวิชาคชกรรมมาจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

เนื้อหาในคำฉันท์คชกรรมประยูรแบ่งออกเป็น ๒ ตอน ตอนแรกว่าด้วยเรื่องช้างศุภลักษณ์ ตอนปลายกล่าวถึงช้างทุรลักษณ์

ตำราคชลักษณ์ของไทยมีมาก่อนรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ดังปรากฏเค้าอยู่ในลิลิตยวนพ่าย ซึ่งแต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โคลงหลายบทในลิลิตยวนพ่าย กล่าวถึงช้างศุภลักษณ์ในกองทัพไทยครั้งนั้น เช่น

๏ พังพลายในนอกล้อม เลือนไพร พรยกแฮ
โจมพิมานไตรตรึงษ เลิศแล้ว
เรวฤทธิแกว่นกลไกร ษรราช ไส้แฮ
กเกรอกธาตรีแกล้ว แกว่นรณ ฯ
๏ ครวีอากาศเกื้อ อากยรณ ชื่นแฮ
เทพยนตยลยนต ดุจได้
เมอลมนตรศักดิขยน ขามแข่ง ไส้แฮ
รยงรยบเหง้าไท้ท้ยร ดาษดิน ฯ

และในเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ มีเนื้อความกล่าวถึงตอนพระสมุทรโฆษเสด็จวังช้าง บรรยายช้างป่าชนิดต่างๆ ทั้งที่เป็นช้างศุภลักษณ์ และช้างทุรลักษณ์

ช้างศุภลักษณ์

๏ ย่อมช้างชอบลักษณตระการ ใช่ช้างสามานย
คืออัษฎมงคลศรี  
๏ ลางล้วนเผือกผ่องคือคิรี ไกรลาสรูจี
แลพรายคือจันทรกลา  
๏ ลางช้างชมลบโสภา หูปรบไปมา
คคว้างแลคอบรอบรัน  
๏ ลางคือโคบุตรพรายพรรณ ลางสารสำคัญ
คือสีหชงฆาควร  
๏ ลางงางอนขวาแน่งนวล ลางเล็บบริบวร
ณควรชำนิพระองค์ ฯ  

ช้างทุรลักษณ์

๏ แต่ช้างทุรลักษณนิกร พากันซรนซรอน
ในป่า บ มาแปมปน  
๏ ทุยทำพำลาพาหน ศฤงคาลคณชน
กันโลนรลุมสังไก  
๏ พลุกแบกบังกินจัญไร ทมพลุกทิพาไสย
กำพษกำโบลโยนยัศ  
๏ ประพลุกสุครีพแลคัด ธรณีบังบัด
ทั้งนาคพันธพินาย  
๏ ลันดาษยุรยักษบรรลาย ซรุกซรอนพรัดพราย
บิเดาะกันเอาะพลุกหนี  
๏ รัตทันต์ทรหุนหัสดี ตระดกกันทุยชี-
พศฤงสวามิพธ  
๏ โชรชรไลแลกันแอกกุมกด ย่อมเที้ยรทุรคช
เฆรคณาคลาคลาศ  
๏ แลตระดุ้งนาคนครฆาฏ ขดวรสรุกโดยศาส
ตรเที้ยร ธ ให้ห้ามปราม  
๏ ไตรตรึงษดิราษฎรทั้งสาม สิบสามตับตาม
ก็นำคณากันจร ฯ  

ช้างศุภลักษณ์และทุรลักษณ์ในสมุทรโฆษคำฉันท์ เรียกชื่อตรงกับคำฉันท์คชกรรมประยูร บางชื่ออาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้าง ทั้งนี้อาจเนื่องจากอักขรวิธีในการเขียน

นอกจาก “คำฉันท์คชกรรมประยูร” แล้ว ยังมีตำราคชลักษณ์อื่นๆ อีกหลายฉบับทั้งที่เป็นความเรียงร้อยแก้วและประพันธ์เป็นกวีนิพนธ์ เช่น ตำรานารายน์ประทมสินธุ์ ตำราช้างคำฉันท์ ตำราช้างคำโคลง และตำราช้างคำกลอน ฯลฯ แม้ตำราเหล่านี้จะเขียนขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ใจความสำคัญก็ไม่ต่างไปจากคำฉันท์คชกรรมประยูร

อนึ่ง ก่อนที่หลวงราชวังเมืองจะประพันธ์คำฉันท์คชกรรมประยูรนั้น ต้องมีตำราช้างความเรียงร้อยแก้วอยู่ก่อน ดังนั้นตำราคชลักษณ์ของไทยทุกฉบับที่กล่าวมาแล้วนั้นจึงอยู่ในลักษณะของการสืบทอดภูมิปัญญาจากยุคสมัยหนึ่งไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ