พระมหากษัตริย์ไทยกับพระราชพิธีคชกรรม
ช้างเป็นยุทธพาหนะที่สำคัญในกองทัพไทยมาแต่โบราณ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ ต้องทรงศึกษาวิชาคชกรรม ทั้งการบังคับช้าง การใช้อาวุธบนหลังช้าง รวมถึงรู้วิธีที่จะคล้องช้างเถื่อนมาฝึกให้เชื่องเพื่อใช้ในราชการ
ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชซึ่งเป็นหลักฐานทางลายลักษณ์อักษรไทยที่เก่าที่สุด กล่าวถึงพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า ทรงมีความชำนาญในการรบบนหลังช้าง หรือยุทธหัตถี ความในศิลาจารึกมีดังนี้
“...เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าข้าว ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่เมือง ตากพ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า ไพร่ฟ้าหน้าใส พ่อกูหนีญญ่ายพายจแจ้ (น กู) บ่ หนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน...”[๑]
นอกจากนี้ศิลาจารึกหลักดังกล่าวยังระบุว่า สมัยนั้นมีการล้อมช้างเถื่อนมาฝึกใช้ในกิจการต่างๆ อีกด้วย “กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู” วังช้างที่กล่าวในศิลาจารึกหมายถึง “การล้อมช้าง” เพื่อคล้องช้างป่ามาฝึกให้เป็นช้างบ้าน และในการจับช้างเถื่อนแต่ละครั้งนั้นจำเป็นต้องรู้จักลักษณะช้าง คัดเลือกเอาเฉพาะช้างที่มีลักษณะดี หลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวว่า ในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมี “ช้างเผือก” เป็น ราชพาหนะด้วย คือ
“...วันเดือนดับเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือกกระพัดลยาง เที้ยรย่อมทองงา (ซ้าย) ขวาชื่อรูจาครี พ่อขุนรามคำแหงขึ้นขี่ไปนบพระ... อรัญญิก แล้วเข้ามา”[๒]
ช้างเผือกเป็นมงคลของพระมหากษัตริย์และแผ่นดิน การจะตัดสินใจว่าช้างใดเป็นช้างเผือกหรือเป็นช้างศุภลักษณ์ต้องมีหลักเกณฑ์วิธีพิจารณา จากหลักฐานที่ว่าพ่อขุนรามคำแหงทรงมี “ช้างเผือก” เป็นพระคชาธารนั้น แสดงว่า ไทยเรารู้จัก “ตำราคชลักษณ์” มาแต่ครั้งนั้นแล้ว
ช้างเป็นยุทธพาหนะที่สำคัญในกองทัพไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช้างที่มีลักษณะดีโดยเฉพาะ “ช้างเผือก” ถือเป็นเครื่องแสดงบุญญาธิการของพระมหากษัตริย์ หากพระมหากษัตริย์พระองค์ใดมีช้างเผือกมาสู่พระบารมีพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นก็จะได้รับการถวายพระนามอีกอย่างหนึ่งว่า “พระเจ้าช้างเผือก” อันแสดงว่า พระองค์ทรงมีพระเกียรติยศและพระบารมีเหนือพระเจ้าแผ่นดินองค์อื่น ๆ ดังนั้นพระองค์จึงต้อง “เสด็จวังช้าง” เพื่อเสาะหาเลือกเฟ้นช้างศุภลักษณ์มาเป็นราชพาหนะคู่พระบารมี
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุว่า ในรัชกาลสมเด็จบรมไตรโลกนาถ มีการ “เสด็จวังช้าง” ๒ ครั้ง คือ
“ศักราช ๘๔๕ เถาะศก (พ.ศ. ๒๐๒๖) สมเด็จพระบรมราชาเจ้า เสด็จไปวังช้าง ตำบลไทรย้อย”
“ศักราช ๘๔๘ มะเมียศก (พ.ศ. ๒๐๒๙) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เสด็จไปวังช้างตำบลสัมฤทธิ์บูรณ์”[๓]
ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงพระกรุณา โปรดฯ ให้ประกอบ “พระราชพิธีปฐมกรรม”
“ศักราช ๘๕๙ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๐๔๐) ท่านให้ทำการปฐมกรรม”[๔]
“การปฐมกรรม” ที่กล่าวนี้สันนิษฐานว่า เป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวกับช้าง ทั้งนี้พิจารณาจากรายละเอียดของพระราชพิธี “ปฐมกรรม” ซึ่งต่อมามีการจัดขึ้นอีกครั้งในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ คือ
“ศักราช ๙๑๒ จอศก (พ.ศ. ๒๐๙๓) เดือน ๘ ขึ้น ๒ ค่ำ ทำการพระราชพิธีปฐมกรรม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้า ตำบลท่าแดง พระกรรมวาจาเปนพฤฒิบาศ พระพิเชษฐเปนอัษฎาจารย์ พระอินโทรเปนกรมการ”[๕]
พระราชพิธีปฐมกรรมในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จัดขึ้นหลังจากครั้งแรกในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เป็นเวลา ๕๐ ปี และ พระราชพิธีดังกล่าวพระราชพงศาวดารระบุว่ามี “พฤฒิบาศ” ซึ่งได้แก่ พราหมณ์ที่ทำพิธีเกี่ยวกับการปัดเสนียดจัญไรช้าง เป็นผู้ทำพิธีเกี่ยวกับช้าง ด้วยเหตุนี้จึงอาจสรุปได้ว่าพระราชพิธีปฐมกรรมต้องเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับช้าง
อนึ่ง ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งตราขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นมีข้อความตอนหนึ่งว่าด้วยพระราชพิธีต่าง ๆ ระบุถึง “พระราชพิธีปฐมกรรม” ด้วย คือ
“พระราชพิธีแต่มีสนาม คือ เบาะพก เผด็จศก ลดแจด สํพรรษฉินท พัทรบท เฉวียนพระโค ดุลาพาน บุษยาภิเศก คชกรรม ปรมาภิเศก ประถมกรรม มัทธยมกรรม อุดมกรรม อาจาริยาภิเษก อุปราคา ปราบดาภิเศก ๑๗ การพิทธีนี้ ย่อมสนามสำหรับเหมบัตร ท่อสวัศดิ สหัศธารา น้ำอบ ๑๖ คนโท น้ำดอกไม้ ๑๖ คนโท พนักงานขุนสยมพรขึ้นหล่อนํ้าในเหม สมุหประธารแบกพานสนานวงงหน้าช้างพระบาท...”[๖]
พระราชพิธีปฐมกรรม มัธยมกรรมและอุดมกรรมนั้น พิจารณาจากความหมายของชื่อพระราชพิธีแล้ว น่าจะมีความหมายว่า ปฐมกรรม คือ พิธีอย่างต้น มัธยมกรรม คือ พิธีอย่างกลาง อุดมกรรม คือ พิธีที่สมบูรณ์เต็มรูปแบบ และทั้ง ๓ พระราชพิธีน่าจะเกี่ยวกับเรื่องเดียวกัน
ในคำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า มีข้อความกล่าวถึงพระราชพิธี “อุดมกรรม” ว่า
๏ เมื่อเสร็จการอุดมกรรม์ | ได้ช้างเผือกอัน |
วิสุทธิสารบวร ฯ |
คำประพันธ์ดังกล่าวแสดงว่า “การอุดมกรรม์” เป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวกับช้างเช่นเดียวกับพระราชพิธีปฐมกรรม รายละเอียดของประเด็นดังกล่าวจะอธิบายต่อไปข้างหน้า
ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจัดให้มีพระราชพิธีมัธยมกรรมขึ้นเป็นครั้งแรก พระราชพงศาวดารมิได้บอกรายละเอียดของพระราชพิธีในครั้งนั้น แต่กล่าวว่าพระราชพิธีนั้นไม่ได้จัดขึ้นภายในพระนคร
“ศักราช ๙๑๕ ฉลูศก (พ.ศ. ๒๐๙๖) เดือน ๗ นั้น แรกทำการพระราชพิธีมัธยมกรรม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ตำบลชัยนาทบุรี”[๗]
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ (ยกเว้นฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์) ระบุว่า ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อทรงตีเมืองละแวกได้แล้ว โปรดฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีปฐมกรรมขึ้นที่นั่น ซึ่งพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เป็นการประหารชีวิตนักพระสัตถากษัตริย์เขมร แล้วนำโลหิตมาล้างพระบาท แต่จากหลักฐานเอกสารต่างๆ ที่พบในปัจจุบัน “พระราชพิธีปฐมกรรม” ซึ่งจัดขี้นที่เมืองละแวกในครั้งนั้น มิได้เป็นดังที่พระราชพงศาวดารบางฉบับระบุ
ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจกรพรรดิ มีการ “เสด็จวังช้าง” หลายครั้ง บางครั้งได้ช้างสำคัญมาสู่พระบารมี บางครั้งแม้ไม่ได้ช้างสำคัญ แต่ได้ช้างพัง ช้างพลายมาฝึกปรือไว้ใช้ในกิจการบ้านเมืองเป็นจำนวนมาก กล่าวคือ
พุทธศักราช ๒๐๗๙ |
เสด็จวังช้าง ตำบลบางละมุง ได้ช้างพัง ช้างพลาย ๖๐ ช้าง |
พุทธศักราช ๒๑๐๐ |
เสด็จวังช้าง ตำบลโกรกพระ ได้ช้างพัง ช้างพลาย ๖๐ ช้าง |
พุทธศักราช ๒๑๐๒ |
เสด็จวังช้าง ตำบลแสนตอ ได้ช้างพัง ช้างพลาย ๔๐ ช้าง |
พุทธศักราช ๒๑๐๓ |
เสด็จวังช้าง ตำบลวัดไก่ ได้ช้างพัง ช้างพลาย ๕๐ ช้าง และครั้งนี้ได้ช้างเผือกเชือกหนึ่งด้วย |
พุทธศักราช ๒๑๐๕ |
เสด็จวังช้าง ตำบลไทรย้อย ได้ช้างพัง ช้างพลาย ๗๐ ช้าง |
การเสด็จวังช้างทุกครั้งต้องใช้วิชาคชศาสตร์ ทั้งส่วนที่เป็น “คชกรรม” และ “คชลักษณ์” ในส่วนของคชกรรม ได้แก่บทมนตร์และบทบวงสรวงต่างๆ ในการประกอบพิธีกรรม ส่วนคชลักษณ์หรือตำราดูลักษณะช้างนั้นจำเป็นต้องใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกช้าง ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่ารัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องมีตำราคชศาสตร์ใช้ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นหลักฐานมั่นคงแล้ว
เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จวังช้างและคล้องช้างด้วยพระองค์เอง ในกฎมณเฑียรบาลจึงตราข้อกำหนดสำหรับข้าราชการที่โดยเสด็จล้อมช้างเถื่อนหลายข้อ เช่น
“ถ้าพระธินั่งเข้าต่อเถื่อนคล้องกลางแปลง แลช้างคํ้า ช้างค่าย เขื่อน ทวน หอก ช้างติดสองช้างพระธินั่งแลติดเถื่อนเติบ แลช้างทวนหอกมิเข้าช่วยทันโทษถึงตาย ...แลช้างหอกช้างทวนซึ่งองครักษนารายบันดาแซงอยู่โดยกระบวนนั้น แลเถื่อนเข้าจวนพระธินั่งเปนอันตรายไส้ ผู้ขี่ข้างทังปวงนั้นโทษถึงตาย...”
“อนึ่ง เสดจ์วังช้าง ให้ตั้งเขื่อนตั้งค่ายพราง แลช้างอยู่ในเล้าไซ้ ให้ตั้งอาชญาคอว่า ห้ามปี่ขลุ่ยทับโทนฆ้องกลอง เซลาะเบาะ เถียงกัน ตีด่าข้าคนบ่าวไพร่ แลโห่ร้องนี่นั่นแล ให้เจาะปากเอาดํ้าหอกร้อยขาแลทเวนรอบค่ายทังบ่าวทังนาย อนึ่ง ทำค่ายแล้วมั่นคง แลช้างออกหน้าที่ ใครให้ทเวนเสียบเสีย ถ้าช้างสำคัญฆ่าเสียทังโคต”[๘]
เนื่องจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ หมดเนื้อความลงเพียงรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในที่นี้จึงใช้ข้อมูลจากพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ประกอบการอธิบายต่อไป
พระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาคชกรรมเป็นอย่างยิ่งคือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงมีพระบรมราชโองการให้หล่อรูปพระพิฆเนศวร พระเทากรรม และพระอิศวร สำหรับทรงบูชาในพระราชพิธีคชกรรมซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในรัชกาลของพระองค์
“แลในปีวอก อัฐศกนั้น ตรัสให้หล่อรูปพระเทวกรรม สูงประมาณศอกมีเศษ พระองค์หนึ่ง สวมทองเครื่องประดับถมราชาวดี”
“ครั้นปีระกา นพศก พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการตรัสสั่งพระยาจักรีให้แต่งพระราชพิธีบัญชีพรหม แลชมรมสำหรับการพระราชพิธีทั้งปวงในทะเลหญ้า ตำบลเพนียด แลทรงพระกรุณาตรัสให้หล่อพระเทวกรรมทอง ยืนสูงศอกหนึ่ง หุ้มด้วยทองเนื้อเจ็ดแล้ว แลเครื่องอาภรณ์นั้นถมราชาวดี ประดับด้วยแหวนไว้สำหรับการพระราชพิธีคชกรรม ให้พระมหาราชครู พระราชครู แลพฤฒิบาศ แลปลัดพระราชครูประพฤติการพระราชพิธีบัญชีพรหม ในวันศุกร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ จึ่งพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จยังการพระราชพิธีมหาปรายาจิตร แลพระราชพิธีบัญชีพรหมทะเลหญ้า ก็ประพฤติการพระราชพิธีตามสารตำรับ อันมีในคชกรรมนั้นทุกประการ ครั้นถึงวันศุกร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จยังการพระราชพิธีคชกรรมโดยยถาศาสตร์ ถวายสมโภชอาเศียรพาทครบสามวันเสร็จ ก็เสด็จประเวศพระราชมณเฑียร”[๙]
“พระราชพิธีตามสารตำรับ อันมีในคชกรรมนั้นทุกประการ” น่าจะหมายถึง “พระราชพิธีอุดมกรรม” หรือ “การอุดมกรรม์” ที่กล่าวถึงใน “คำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า” ว่า
๏ ฝ่ายข้างไสยศาสตร์นี้ใคร | ฤๅจะเปรียบปูนใน |
พระองคไท้ทรงธรรม์ | |
๏ เมื่อเสร็จการอุดมกรรม์ | ได้ช้างเผือกอัน |
วิสุทธิสารบวร ฯ |
“ไสยศาสตร์” ที่กล่าวถึงในคำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า กับ “สารตำรับ” ในพระราชพงศาวดารน่าจะหมายถึง ศาสตร์ที่เกี่ยวกับช้างหรือตำราที่เกี่ยวกับช้าง ซึ่งได้แก่ “วิชาคชศาสตร์” นั่นเอง
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดฯ ให้จัดพระราชพิธีดังกล่าวขึ้นในปีจุลศักราช ๑๐๑๙ (พุทธศักราช ๒๒๐๐) และในปีต่อมา คือจุลศักราช ๑๐๒๐ (พุทธศักราช ๒๒๐๑) ได้ “นางช้างเผือก สูงสามศอกมีเศษ หูหางสรรพรูปงาม” จากเมืองกาญจนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นระหว่างสมโภช พระราชทานว่า “พระอินทรไอยราวรรณ วิสุทธิราชกริณี”
ในโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราชของพระศรีมโหสถว่า
พระยศปางให้ข่าว | มาถวาย |
ได้เผือกพังพรรณราย | ผ่องแผ้ว |
ในเมืองกาญจนบุรีหมาย | พนเวศ |
เมืองมิ่งมีช้างแก้ว | ทั่วให้ชมบุญฯ |
หลังจากนั้นอีกสองปี คือ ปีพุทธศักราช ๒๒๐๓ ได้ช้างเผือกพลายจากเมืองนครสวรรค์มาสู่พระบารมีอีกเชือกหนึ่ง โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “เจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์”
การได้ช้างเผือกสำคัญมาสู่พระบารมีหลังจากประกอบพระราชพิธีคชกรรมในปีพุทธศักราช ๒๒๐๐ แล้วนั้น สอดคล้องกับในคำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า ที่ว่า
๏ เมื่อเสร็จการอุดมกรรม์ | ได้ช้างเผือกอัน |
วิสุทธิสารบวร ฯ |
จากข้อมูลดังกล่าวเป็นสมมติฐานว่า “คำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า” น่าจะแต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
หลังจากได้ช้างเผือกพระอินทรไอยราวรรณมาสู่พระบารมีแล้ว ในปีนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดฯ ให้ “หล่อรูปพระบรมกรรมองค์หนึ่ง สูงสี่ศอกทั้งฐาน แล้วอภิเษกก็ให้รับไปประดิษฐานไว้ในพระอารามศรีรุทรนาถตำบลชีกุน แลตรัสให้หล่อรูปพระเทวกรรมองค์หนึ่ง สูงประมาณสี่ศอกไว้ในหอพระเทวกรรม ในขณะนั้นก็ลือชาปรากฏพระยศพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าช้างเผือก ทรงพระเดชาบุญญานุภาพอันยิ่งไปทั่วนานาประเทศทั้งปวง”
อนึ่ง ในโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราชของพระศรีมโหสถ กล่างถึงการเสด็จ “วังช้าง” และการประกอบพระราชพิธีคชกรรมไว้อย่างค่อนข้างละเอียด คือ
จอมภพภูวนาถเกล้า | สากล |
เสด็จดำเนิรยังพน | เวศนั้น |
ทำการเบิกไพรทนน | ไชยบาศ |
โดยศาสตร์พระกรรมบั้น | บอกไว้เปนเฉลิม ฯ |
หัสดาจารย์ตั้งต่อ | อาพาห์ |
พฤฒิบาศบวงสรวงสา | มารถแล้ว |
สมมุขบ่ายบูชา | ชปโยค |
นิรนิรารมณ์แผ้ว | ผ่องนํ้าใจกสานติ์ ฯ |
เสร็จสรงอภิเษกด้วย | ชลรัตน |
ถวายสิ่งอาภรณพัสตร | อาสน์แก้ว |
เพยียสองพิดานฉัตร | ธุชมาศ |
อวยสังเวยภัตแล้ว | นอบน้อมสดุดี ฯ |
ทอดพรักสิทธิแล้วเลิก | ดาลเถลิง |
ชูชำโรมภาวเพลิง | เถือกถ้า |
อวยบายบ่ำบวงเถกิง | เทเวศร์ |
ฝูงญะราญท่วนหน้า | ปู่เจ้าจอมพนม ฯ |
สรวมพรพระผู้ก่อ | การคช |
เจริญมิ่งมงคลยศ | เลิศแล้ว |
ถวายสรรพคันธจรด | ศิรพาท |
เสด็จอยู่เกยเก้าแก้ว | ลั่นฆ้องไชยศรี ฯ |
ทรงสารสวัสดิ์ล้ำ | ไกรสร |
ยูรยาตรแสนยากร | แซ่ซ้อง |
พลคชเชือกชนสลอน | เร็วรวด |
หมอบัญชีชาญคล้อง | พรั่งพร้อมตรูตาม ฯ |
เบิกโขลนทวารเข้าป่า | ปือพฤกษ์ |
พพวกพาลคชคึก | คล่ำคล้าย |
รวมร้าแผกฟูมทึก | พูพ่น |
มีกำกวมแกมร้าย | ร่ายกั้นกันฝูง ฯ |
หมอพรักสิทธิเสื้องบาศ | เฉวียงฉวาง |
ขับด่ำเรียเร็ววาง | ไล่ล้อม |
ฉัตรรั้งรวดรึงนาง | แนมลูก |
พังและพลายเพรียวด้อม | เค่าคล้องคอตาม ฯ |
พระคุณบุญเปลื้องไปล่ | ไตรภพ |
ข้ามข่ายมารอรรณพ | น่านกว้าง |
พระทัยโปรดปรารภ | เมตรภาพ |
ให้ปล่อยพังนางช้าง | ลูกน้อยแนมไป ฯ |
เสร็จเสด็จดลด้าวด่าน | ดงดอน |
ชลชะเลวุธสร | เหล่าช้าง |
คชสารบั่นสมสลอน | กริณิศ |
ชมทรหึงเคียงข้าง | จรวดร้องเรียงรมย์ ฯ |
พระสุรสีหนาทเอื้อน | โองการ |
ให้เร่งพิริยพลหาญ | แวดล้อม |
พลคชขนัดขนันขนาน | รายเรียบ |
กองก่อเพลิงพลามอ้อม | รอบแว้งวังสาร ฯ |
เสนาเนืองไพร่พร้อม | อึดอึง |
ส้าวแซ่เสียงปืนผึง | ป่าก้อง |
แจจรรโจษพลหึง | แหนรอบ |
ตีจรขาบขับร้อง | โห่เร้ารุกราญ ฯ |
จอมธรรมิกราชเกล้า | กรุงอยุทธ |
องเอกทศรถรุทร์ | เลิศล้น |
สฤษฎิรักษ์สังหารสุด | สามโลก |
ทรงวิไชยช้างต้น | เช่นช้างอมรินทร์ ฯ |
คชลักษณ์เลงเลิศเชื้อ | ชาญสนาม |
ยงยิ่งในสงคราม | แกว่นกล้า |
คชพาลชำนินาม | คิริราช |
เคยไล่สารไพรร้า | รวบเร้งรุกราน ฯ |
คชสารสามารถแม้น | คชสีห์ |
บุกป่าปองราวี | ไล่ช้าง |
สลอนสารส่ำตัวดี | โดยราช |
กรูกั่นกั้นคันข้าง | คอกแคว้นในวง ฯ |
สารทรงจงจวบช้าง | ไพรหาญ |
ทันเถื่อนตัวเพรียวพาล | แกว่นกล้า |
คชสงธำรงสาร | สุวภาพ |
หมอเชือกช้างชาญร้า | ร่ายเข้าคอยหลัง ฯ |
ปืนหลังพังเข้าคู่ | เคียงสาร |
ขุนขี่มีไชยชาญ | เร่งเร้า |
หลบหลีกฝึกแฝงธาร | คชพยู่ห์ |
ลัดลอดสอดแนมเข้า | ช่วยช้างชนยิง ฯ |
หมื่นผจงจงจับจ้วง | จงซัด |
ถูกบาศรั้งรึงรัด | รวดเท้า |
ตรวจร้องจ่ำนองอัด | โยนแยก |
โยงแย่งพันไม้เข้า | ผูกพร้อมพามา ฯ |
ขุนกองรันเร่งช้าง | ผันผาย |
ลุยไล่หลังพังพลาย | พวกพ้อง |
เฉวียนพรูพราดถูกพาย | ลิวแล่น |
ได้ใหญ่เพรียวคล้องต้อง | บาศสิ้นฤๅเลว ฯ |
และในโคลงบทที่ ๖๘ ว่า
ขอพรพามบาทไท้ | ทรงธาร |
พระเริ่มรังคชการ | ก่อเกล้า |
ขอจงแผ่นภูวบาล | บดิราช |
สิทธิคชาศิลปเร้า | รวดเพี้ยงพระกรรม์ ฯ |
“พระเริ่มรังคชการ ก่อเกล้า” ในที่นี้น่าจะหมายถึง “พระราชพิธีอุดมกรรม” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลนี้ และข้อความดังกล่าวสอดคล้องกับในคำฉันท์กล่อมช้างครั้งกรุงเก่า ดังได้อธิบายแล้ว
เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว สมเด็จพระเพทราชาได้ครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาต่อมา ก่อนได้ราชสมบัตินั้นสมเด็จพระเพทราชารับราชการในตำแหน่งจางวางกรมช้าง “ชำนิชำนาญในศิลปศาสตร์ ขี่ช้างแกล้วกล้ายิ่งนัก” แต่เมื่อได้ราชสมบัติแล้วไม่มีหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่า “เสด็จวังช้าง” หรือประกอบ “พระราชพิธีคชกรรม” แต่อย่างใด
จนถึงรัชกาลสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ ในปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๐๖๕(พุทธศักราช ๒๒๔๕) มีการเสด็จวังช้างที่ป่ายางกองทอง แขวงเมืองนครสวรรค์ ครั้งนั้นจับช้างเถื่อนได้ประมาณร้อยเศษ
ครั้นสิ้นรัชกาลสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือแล้ว พระราชโอรสคือเจ้าฟ้าพร ได้เสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จเจ้าอยู่หัวท้ายสระ มีการเสด็จพระราชดำเนินโพนช้างป่า ที่แขวงเมืองนครนายก เมื่อปีพุทธศักราช ๒๒๖๖ ครั้งนั้นสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วย
“พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินประพาสโพนช้างป่าหัวเมืองนครนายกฝ่ายตะวันออก ในเพลาราตรีนั้นเดือนหงาย เสด็จไปไล่ช้างเถื่อน พระจันทร์เข้าเมฆ ช้างพระอนุชาธิราชขับแล่นตามไปทันช้างพระที่นั่งทรงไม่ทันจะรอรั้ง ช้างพระที่นั่งกรมพระราชวังโถมแทงเอาช้างพระที่นั่ง ควาญท้ายช้างนั่นกระเด็นตกจากช้างนั้นลง ช้างทรงเจ็บป่วยมาก...”[๑๐]
การเสด็จวังช้างที่แขวงเมืองนครนายกครั้งนั้น พระราชพงศาวดารมิได้ระบุว่าล้อมจับช้างเถื่อนได้จำนวนเท่าใด
ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีการเสด็จพระราชดำเนิน ไปล้อมช้างเถื่อนที่ป่าแขวงเมืองลพบุรี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๒๗๗
“สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินไป่สู่ที่ล้อม เสด็จขึ้นสู่พลับพลาชัยทอดพระเนตรดูช้าง พลางดำรัสสั่งให้กรมช้างเอาเชือกวงล้อมเข้า คล้องจับช้างเถื่อนซึ่งขังอยู่ในค่ายนั้น แลเสด็จไปทอดพระเนตรสองเวลา จับได้ช้างเถื่อนพลายพังร้อยแปดสิบช้าง แล้วโปรดให้เปิดปล่อยช้างเถื่อนที่เหลืออยู่ประมาณสามร้อยเศษไปป่า”[๑๑]
นอกจากมีการเสด็จพระราชดำเนินวังช้างเพื่อล้อมช้างเถื่อนแล้ว หัวเมืองต่างๆ ยังมีการโพนช้างไว้ในราชการ และหากได้ช้างสำคัญก็จะมีใบบอกเข้ามายังกรุง เช่นในปีจอ จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๐๔ (พุทธศักราช ๒๒๘๕) กรมการเมืองนครศรีธรรมราชคล้องช้างสำคัญได้จึงส่งเข้ามากวาย โปรดฯ พระราชทานนามว่า “พระบรมนาเคนทรวเรนทรเลิศฟ้า” และในปีเดียวกันนั้น เมืองไชยาส่งช้างสำคัญเข้ามาถวายอีกช้างหนึ่ง โปรดฯ พระราชทานนามว่า “พระบรมกุญชร” ถัดมาในพุทธศักราช ๒๒๘๖ เมืองนครศรีธรรมราชส่งเข้ามาถวายอีกช้างหนึ่ง โปรดฯ พระราชทานนามว่า “พระบรมจักรพาฬหัตถี” และในปีพุทธศักราช ๒๒๘๙ เมืองนครศรีธรรมราชคล้องได้ช้างสำคัญอีกช้างหนึ่ง ส่งเข้ามาถวาย โปรดฯ พระราชทานนามว่า “พระบรมคชลักษณ อัครคเชนทร วเรนทรสุประดิษฐ สิทธิสนธยา มหามงคลเลิศฟ้า”
การได้ช้างสำคัญหลายช้างมาสู่พระบารมีตามที่กล่าวมาแล้วนั้น คงเป็นมูลเหตุอย่างหนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศรับสั่งให้หลวงราชวังเมืองประพันธ์คำฉันท์ “คชกรรมประยูร” ไว้สำหรับเป็นตำราพิจารณาลักษณะช้างเพื่อใช้เป็นแบบแผนในราชสำนักอีกฉบับหนึ่ง เมื่อจุลศักราช ๑๑๑๐ (พุทธศกราช ๒๒๙๑)
ต่อมาในจุลศักราช ๑๑๑๖ (พุทธศักราช ๒๒๙๗) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ “เสด็จวังช้าง” ในแขวงเมืองลพบุรีอีกครั้งหนึ่ง
“เพลาเช้าเสด็จทรงช้างพระที่นั่งไปช่วยค้นช้างเถื่อนถึงเขาเชิงนํ้าทรง แล้วให้ช้างดั้งเข้าช่วยช้างเชือก ไล่ล้อมกันฝูงช้างเถื่อนเข้ามาถึงค่ายมั่นแล้วให้ปิดค่าย ครั้นรุ่งขึ้นเพลาเช้า เสด็จขึ้นพระตำหนักห้าง ทอดพระเนตร ให้กันช้างออกมา จับได้ช้างพลายพังสามร้อยช้าง ยังไม่ได้จับสามร้อยเศษ ดำรัสสั่งให้เปิดค่ายปล่อยไปสิ้น”[๑๒]
การเสด็จวังช้างของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศในปีพุทธศักราช ๒๒๙๗ นี้ นับเป็นครั้งสุดท้ายของพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยา ในรัชกาลต่อมาคือ รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและสมเด็จพระเจ้าเอกทัศบ้านเมืองไม่ปกติ มีศึกกับพม่าอยู่เนืองๆ ไม่ได้เสด็จวังช้างอีก กระทั่งพุทธศักราช ๒๓๑๐ จึงเสียพระนครแก่พม่าในที่สุด
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่ามีการ “เสด็จวังช้าง” แต่มีพระราชพิธี “ทอดเชือก ดามเชือก” ซึ่งเป็นพระราชพิธีอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับ “คชกรรม” ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวถึงพระราชพิธีทอดเชือก ดามเชือก มีความตอนหนึ่งว่า
“การในโรงพิธีนั้นตั้งเตียงเทวรูปและตั้งกลศสังข์เป็นบันไดสามขั้น ตามแบบพิธีพราหมณ์ทั้งปวงเช่นกล่าวมาแล้ว เตียงเพดานชั้นต้นตั้งรูปพระอิศวร พระนารายณ์ พระมหาวิฆเนศวร เตียงลดลงมาตั้งกลศสังข์เบญจคัพย์ ที่หน้าเทวรูปตั้งเตียงวางเชือกบาศที่ปิดทองสามเตียง เชือกบาศปิดเงินเตียงหนึ่ง มีเครื่องกระยาบวชที่หน้าเตียงนั้นทั้งสี่นี้ออกมา มีเตียงวางเครื่องชนักขอเชือกรำพัดชาตรง หน้าเตียงเชือกมีบายศรีแว่นเวียนเทียน เวลาค่ำโหรต้องหาฤกษ์เวลาที่จะลงมือทำพิธีทุกครั้ง เริ่มแต่กระสูทธิ์ อัตมสูทธิ์ บูชาเบญจคัพย์ บูชากลศ บูชาสังข์ตามแบบแล้ว จนถึงสรงน้ำพระประโคมพิณพาทย์ เชิญพระขึ้นภัทรบิฐ จุดแว่นเทียนสมโภช เจิมพระเทวรูปแล้วจึงได้รดน้ำสังข์บรรดาผู้ซึ่งไปประชุมอยู่ในโรงพิธีนั้น แล้วอ่านเวทย์พรมน้ำเชือกบาศ เวลานั้นประโคมพิณพาทย์สาธุการถึงเจ็ดลา... จึงให้พราหมณ์พฤฒิบาศสองคนอ่านดุษฎีสังเวยอย่างเก่า ที่ขึ้นว่า อัญขยมบังคมภูวสวะ... ”[๑๓]
บทที่ใช้อ่านในพระราชพิธี คือ คำฉันท์ดุษฎีสังเวย ของขุนเทพกระวี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชาธิบายถึงขั้นตอนบางอย่างใน “พระราชพิธีทอดเชือก ดามเชือก” ว่ามีมาแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดังนั้นพระราชพิธีดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของ “พระราชพิธีคชกรรม” นั่นเอง
[๑] ประชุมจารึก ภาคที่ ๑. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๒๑.
[๒] ประชุมจารึก ภาคที่ ๑. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๒๑
[๓] ศิลปากร, กรม. คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, พิมพ์ครั้งที่ ๒, พระนคร : คลังวิทยา, ๒๕๑๕
[๔] ศิลปากร, กรม. คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, พิมพ์ครั้งที่ ๒, พระนคร : คลังวิทยา, ๒๕๑๕
[๕] เล่มเดียวกัน.
[๖] กฎหมายตราสามดวง. กรุงเทพฯ : องค์การคุรุสภา, ๒๕๑๔
[๗] ศิลปากร, กรม. คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, พระนคร : คลังวิทยา, ๒๕๑๕
[๘] กฎหมายตราสามดวง. กรุงเทพฯ : องค์การคุรุสภา, ๒๕๑๔
[๙] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๕
[๑๐] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๕
[๑๑] เล่มเดียวกัน
[๑๒] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๕
[๑๓] พระราชพิธีสิบสองเดือน. พระนคร : คลังวิทยา, ๒๕๒๔