ตำราคชกรรม ( ตำนานครูประกรรมทั้ง ๔ )

[๑]ในไตรดายุคหนึ่ง พระอิศวรเป็นเจ้าสถิต ณ เขาไกรลาส ในวันเมื่อพระเป็นเจ้าทั้งสามมาประชุมพร้อมกัน ยังมีพรหมจำพวกหนึ่ง เห็นพรหมธาดาทรงหงส์เป็นพาหนะ พรหมจำพวกนั้นมีความริษยาแก่พระพรหมธาดาเป็นกันมาก กรรมอันนั้นจึงได้จุติลงมาบังเกิดเป็นช้างชื่อเอกทันต์ งาเดียวงอกกลางเพดาน มีอำนาจมาก จะแทงเงาแลรอยเท้ามนุษย์แลสัตว์ทั้งหลายก็ถึงแก่มรณภาพสิ้น ช้างนั้นหยาบช้านัก เที่ยวกระทำยำยีตรีโลกย์ทั้งหลายได้ความเดือดร้อนนัก

จึ่งพระสิทธิทั้งหลาย มีฤๅษีจุฬามหาพรหมเป็นต้น ปรึกษาพร้อมกันแล้ว จึงขึ้นไปเฝ้าพระอิศวรเป็นเจ้า กราบทูลพฤติเหตุทั้งปวง พระอิศวรเป็นเจ้าจึงมีเทวโองการให้เทพยดาทั้งสองกันมีนามปรากฏชื่อว่าจัตุบท จัตุบาท ไปเชิญเสด็จพระเป็นเจ้าในเกษียรสมุทรมา ณ เขาไกรลาส จึ่งพระอิศวรเป็นเจ้ามีเทวโองการประสาทพรให้พระนารายณ์ลงมาปราบอสูรเอกทันต์ พระนารายณ์เป็นเจ้ารับเทวโองการแล้วจึ่งกระทำด้วยเทวฤทธิ์ ประดิษฐานให้กรเป็น ๖ กร ทรงเทพอาวุธ ๖ อย่าง อย่างหนึ่งเอากำลังพระอาทิตย์พระจันทร์มากระทำเป็นเทพอาวุธอันชื่อว่า เสมา อย่างหนึ่งเอากำลังพระเพลิงพระคงคากระทำเป็นอาวุธชื่อว่า โสภา อย่างหนึ่งเอากำลังพระยามงคลสุบรรณมากระทำเป็นเทพอาวุธชื่อว่า ชาลัก อย่างหนึ่งเอากำลังเขาพระเมรุมากระทำเป็นเทพอาวุธชื่อว่า ตรี อย่างหนึ่งเอากำลังพระยานกอินทรีอันชื่อว่าท้าวศรีพิลาไลยมาเป็นเทพอาวุธชื่อว่า พระเฆอ อย่างหนึ่งเอาพระยาอนันตนาคราชมากระทำเป็นบ่วงบาศ แล้วพระนารายณ์เป็นเจ้าเสด็จลงมามนุษยโลกย์เที่ยวไปในทิศทั้ง ๔ เพื่อจะแสวงหาซึ่งช้างเอกทันต์อันเที่ยวกระทำยำยีตรีโลกย์ทั้งหลาย

จึ่งมาถึงทุ่งนาอันหนึ่งพบคนชาวนาทั้ง ๔ ในที่ตำบลนั้น คนผู้เป็นพี่ใหญ่ชื่อว่า โภควันดี พี่หญิงที่ ๒ ชื่อว่า ศรีระวัง น้องทั้ง ๒ ชื่อว่า คชศาสตร ๑ ศาสตรกรรม ๑ ทำนาเลี้ยงชีวิตอยู่ในที่อันนั้น จึ่งพระนารายณ์เป็นเจ้ามีเทวโองการตรัสถามคนทั้ง ๔ ว่า ท่านเห็นช้างเอกทันต์มาทางนี้บ้างฤๅไม่ คนทั้ง ๔ เห็นพระเป็นเจ้า ๖ กร ทรงเทพอาวุธต่างๆ ก็ตกใจ ลงคำนับโดยเบญจางคประณต แล้วทูลว่าช้างเอกทันต์อยู่ฝั่งนทีฟากโน้น ช้างนั้นร้ายกาจนักกระทำย่ำยีโลกย์ทั้งหลายให้ได้ความเดือดร้อนนัก ซึ่งท่านมาถามนี้จะประโยชน์อันใด พระเป็นเจ้ามีเทวโองการตรัสตอบคนทั้ง ๔ ว่า ถึงกำหนดไตรดายุค ตัวเราคือนารายณ์ จะมาปราบเหล่าสัตว์บาป ให้โลกย์ทั้งหลายเป็นสุข คนทั้ง ๔ ได้ฟังดังนั้น มีความยินดีเป็นอันมาก กราบถวายบังคมพระเป็นเจ้าแล้วทูลว่าข้าพระบาททั้ง ๔ ขอโดยเสด็จพระเป็นเจ้าด้วย จะขอเป็นสานุศิษย์ทำการคชกรรมด้วยพระองค์พระเป็นเจ้าทรงอนุญาต คนทั้ง ๔ ก็นำพระเป็นเจ้าไปยังฝั่งนทีอันใหญ่ แล้วกราบทูลพระเป็นเจ้าว่า มหานทีกว้างใหญ่นักข้าพระองค์หาสิ่งใดซึ่งจะข้ามไปมิได้ พระนารายณ์เป็นเจ้าจึ่งกระทำด้วยเทวฤทธิ์ เหยียดหัตถ์ซ้ายไปหยิบเอาใบไม้แถลงสาร คือโลกย์ทั้งหลายเรียกใบแสมสารมาใบหนึ่งโยนลงในมหานทีบัดเดี๋ยวใจก็กลับเป็นนาวาอันใหญ่ พระเป็นเจ้ากับคนทั้ง ๔ ลงนาวานั้นข้ามมหานทีไปถึงฝั่งฟากโน้น แล้วขึ้นจากนาวาอันนั้นเสด็จไปในราวป่า คนทั้ง ๔ ก็โดยเสด็จพระเป็นเจ้าไปด้วย

ครั้นถึงเชิงภูเขาอันหนึ่ง มีเหมืองน้ำใหญ่แห่งหนึ่งเป็นป่า ไม้คูนไม้ยอมีโดยมาก เป็นที่ช้างเอกทันต์อาศัยอยู่ที่นั้น คนทั้ง ๔ จึ่งกราบทูลว่า ช้างเอกทันต์อันร้ายนั้นเคยอยู่ที่อันนี้ ข้าพระบาทกลัวนักขอพระเป็นเจ้าช่วยป้องกันอันตรายข้าพระองค์ทั้ง ๔ ด้วย พระนารายณ์เป็นเจ้าจึ่งกระทำเทวฤทธิ์ ร่ายวิษณุมนตร์ ๓ คาบแล้วกระทำประทักษิณเป็นทักษิณาวรรต ถ้วน ๓ รอบ แล้วเอาพระเฆอปักลง ณ พื้นพระธรณี แล้วเอาพระรัศมีพระเพลิงมาประดิษฐานไว้ทั้งเฉวียง สดำ พระเป็นเจ้ามีเทวโองการเรียกพระมหาวิฆเนศให้มาประจำพระเพลิงฝ่ายขวา แล้วพระองค์ก็ถอดเอาสายธุรำของพระองค์อธิษฐานให้เป็นพระเทวกรรม นั่งประจำพระเพลิงฝ่ายซ้าย แล้วให้คนทั้ง ๔ สังวัธยายมนตร์พฤฒิบาศนั่งรักษาตัวอยู่ในที่นั้น

จึ่งพระเป็นเจ้ากระทำเทวฤทธิ์หักรุกข์ ๗ ประการ มากวัดแกว่ง เรียกเทพยดาอันชื่อว่ามหาเมสอ ให้ต้อนหมู่ช้างทั้งหลายมายังที่อันนั้น พระมหาเมสอได้ทราบวิษณุโองการ ก็ไล่หมู่ช้างเถื่อนทั้งหลายมายังที่นั้นทั้งสิ้น แต่ช้างเอกทันต์นั้นเป็นพรหมมาบังเกิด เป็นชาติอิศรพงศ์ มิได้มาโดยวิษณุโองการ พระเป็นเจ้าทรงพระพิโรธนัก จึ่งเอารุกขทั้ง ๗ ประการมาร่ายวิษณุมนตร์ ๓ คาบ ฟาดลงไปที่รอยบทวลัญชแห่งคชเอกทันต์ ถ้วนวาระ ๓ หน เดชะอำนาจวิษณุมนตร์ บันดาลให้ช้างเอกทันต์ปวดศีรษะดังจะแตกออกเป็น ๗ ภาค มิอาจที่จะทนอยู่ได้ ก็วิ่งมาด้วยกำลังโกรธเข้ายุทธนาด้วยพระเป็นเจ้า พระนารายณ์เป็นเจ้าทรงเทพอาวุธทั้ง ๕ เข้าต่อยุทธด้วยคชเอกทันต์เป็นสามารถ คชเอกทันต์สิ้นกำลังเห็นจะต้านทานพระเป็นเจ้ามิได้ก็บ่ายหน้าจะหนีพระเป็นเจ้าจึ่งทรงบาศอุรเคนทร์ซัดถูกเท้าของอสุรเอกทันต์ แล้วพระเป็นเจ้าเอาตรีปักลงบนพื้นพระธรณี อธิษฐานให้เป็นต้นไม้มะตูม แล้วเอาหางอุรเคนทร์กระหวัดไว้กับต้นไม้มะตูม แล้วเอาพระหัตถ์ขวาทึ้งเอาวลีวัลย์มาอธิษฐานให้เป็นทาม เป็นภัพเฌอคล้องคอคชเอกทันต์เข้าไว้กับไม้คูน แล้วพระเป็นเจ้าจึ่งเสด็จมาอยู่ใต้ร่มไม้ยอ แล้วตรัสเรียกคนทั้ง ๔ ให้มาจากที่ซุ้มร่มอันนั้น พระเป็นเจ้าจึ่งเอาตำรับพฤฒิบาศประสิทธิ์ให้คนทั้ง ๔ เป็นประกรรมสำหรับได้ปราบหมู่ช้างทั้งหลาย แลสอนกุลบุตรให้กระทำการคชกรรมต่อไป

แล้วพระนารายณ์เป็นเจ้าจึ่งมีเทวโองการสั่งเทพคชนาคให้เอาช้างเอกทันต์ไปไว้เป็นพาหนะของสมเด็จอมรินทราซิราช แต่ให้รักษาไว้ที่ป่าพ้นมนุษย์ทั้งหลาย แล้วพระนารายณ์เป็นเจ้าเสด็จกลับไปประทมสินธุ์ในเกษียรสมุทร

ฝ่ายประกรรมทั้ง ๔ กลับมาที่อยู่ได้สอนกุลบุตรซึ่งเป็นหมอช้าง ให้ทำการคชกรรมทั้งหลายแต่นั้นมา จึ่งมีนามปรากฏว่า พระโภควันดี ได้ประสิทธิศิษย์ด้วยเหล็กซองเป็นที่ ๑ นางศรีระวังได้ประสิทธิศิษย์ด้วยบ่วงบาศเป็นที่ ๒ พระคชศาสตร์ได้ประสิทธิศิษย์ด้วยขอเป็นที่ ๓ พระศาสตรกรรมได้ประสิทธิศิษย์ด้วยตะลุงแลชนักแลปลอกเป็นที่ ๔ หมอเฒ่าทั้งหลายจึ่งเรียกว่า ครูประกรรมทั้ง ๔ จึงได้ห้ามไม้มะตูม ไม้ยอ ไม้คูน มิให้หมอช้างทั้งปวงหักกิ่ง ถากเปลือก เด็ดใบ เพราะเหตุพระเป็นเจ้าประสิทธิครูประกรรม มาแต่ก่อนในที่นั้นด้วยเหตุดังนี้ ฯ



[๑] คัดจาก “ตำราคชกรรม” เอกสารโบราณ สมุดไทยดำเส้นดินสอ เลขที่ ๑๐๘ ส่วนภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ