พระราชนิพนธ์ คำนำ

เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม, พ. ศ. ๒๔๖๕, ฃ้าพเจ้าได้จัดให้เล่นระบำแบบหลวง เรื่อง “ศุภลักษณ์วาดรูป” ที่นาฏะศาลาสวนศิวาลัย ในพระบรมมหาราชวัง. ในระบำนั้นมีตอน ๑ ซึ่งพระนารายน์แสดงอวตารปางต่าง ๆ แปดปางให้นางศุภลักษณ์ดู. สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ได้เอาใจใส่ในเรื่องอวตารต่าง ๆ นั้นเปนอันมาก, อยากจะใคร่ทราบเรื่องโดยพิสดารกว่าที่ได้แสดงในระบำที่กล่าวนั้น. ฃ้าพเจ้าได้รับปากแก่เธอไว้ตั้งแต่ในคืนวันนั้นว่าจะตรวจสอบค้นหาเรื่องนารายน์สิบปางแล้วและแต่งขึ้นให้เธออ่าน.

ใคร ๆ ที่ได้เคยเฃ้าไป ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามคงจะได้เคยเห็นภาพนารายน์สิบปางที่เขียนไว้ในนั้นแล้ว, ฃ้าพเจ้าได้สอบถามดูว่าได้เรื่องมาจากตำหรับใดก็หาได้ความชัดไม่, เปนแต่ฃ้าพเจ้าจำได้ว่า ได้เคยอ่านเรื่องนารายน์สิบปางในสมุดเล่มหนึ่ง ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๓ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ได้ทรงจัดพิมพ์ขึ้นตั้งแต่เมื่อพระองค์ท่านทรงดำรงตำแหน่งผู้กำกับราชการกรมอักษรพิมพการ. ในหนังสือนั้นมีเรื่องนารายน์สิบปางกล่าวไว้แต่ย่อ ๆ, และไม่ปรากฎว่าได้มาจากตำหรับใด, อีกทั้งในจำนวนสิบปางนั้นก็เรียงลำดับไม่ตรงกับตำหรับฃ้างศาสนาพราหมณ์, และมีปางย่อยเช่นเรื่องปราบนนทุกเฃ้าไปปนอยู่ด้วย, ฃ้าพเจ้าจึงตกลงใจว่า ในการที่จะแต่งเรื่องนารายน์สิบปางขึ้นใหม่ จะไม่ดำเนินความตามหนังสือที่กล่าวฃ้างบนนี้.

ฃ้าพเจ้ามีหนังสือภาษาอังกฤษอยู่เล่ม ๑ เรียกว่า “ฮินดูมิทอลอจี”, โดย เจ. ดับลยู, วินกินส๎ (“Hindu Mythology”, by J. W. Wilkins. ). ซึ่งมีเรื่องนารายน์สิบปางอันผู้แต่งได้เก็บข้อความโดยสังเขปจากคัมภีร์ต่าง ๆ ในไสยศาสตร์. ฃ้าพเจ้าตกลงใจใช้หนังสือเล่มนี้เป็นหลัก สำหรับแต่งเรื่องนารายน์สิบปางของฃ้าพเจ้าต่อไป โดยเฃ้าใจว่าคงจะได้ความใกล้ฃ้างถูกตามของเดิมพอประมาณ. แต่ผู้ที่เปนปริญญารอบรู้ในทางวรรณคดีย่อมทราบอยู่ว่า คำแปลหนังสือแห่งมัธยมประเทศตามที่นักปราชญ์ชาติยุโรปได้กระทำไว้ มักมีความสันนิษฐานตามอัตตะโนมัติของเฃาระคนอยู่ด้วย. และฃ้าพเจ้าเองหรือก็ไม่รู้ภาษาสันสกฤต, จำใจต้องอ่านคำแปล, ฉนั้นก็อาจจะได้ข้อความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง, จึงขอออกตัวไว้ในที่นี้.

ก่อนที่จะกล่าวถึงนารายน์สิบปาง, ฃ้าพเจ้าขอกล่าวถึงข้อความอื่น ๆ บางอย่าง, มีลักษณะแบ่งยุคเปนต้น, เพื่อช่วยความเฃ้าใจของผู้อ่านโดยสังเขป.

ยุค มี ๔, ซึ่งรวมกันเปนเวลาหมื่นสองพันปีสวรรค์. ๑ ปีมนุษเท่า ๑ วันสวรรค์, และปี ๑ คิดเปน ๓๖๐ วัน (ตามตำหรับ), ฉนั้น กำหนดแห่งยุคต่าง ๆ จึงมีดังต่อไปนี้ :-

กฤตะยุค = ๔,๘๐๐ ปีสวรรค์ = ๑,๗๒๘,๐๐๐ ปีมนุษ.

ไตรดายุค = ๓,๖๐๐ ปีสวรรค์ = ๑,๒๙๖,๐๐๐ ปีมนุษ.

ทวาบรยุค = ๒,๔๐๐ ปีสวรรค์ = ๘๖๔,๐๐๐ ปีมนุษ.

กลียุค = ๑,๒๐๐ ปีสวรรค์ = ๔๓๒,๐๐๐ ปีมนุษ

สี่ยุคที่กล่าวนี้ รวมกันเปน ๑ มหายุค, คือ ๑๒,๐๐๐ ปีสวรรค์, หรือคิดเปนปีมนุษ ๔,๓๒๐, ๐๐๐ ปี, ๑,๐๐๐ มหายุคเปน ๑ วันของพระพรหมา, และคืนของพระพรหมาก็ยาวเท่ากัน. วันของพระพรหมาเรียกว่า “กัลป.”

ในกัลป ๑ มีพระมนูบังเกิด ๑๔ องค์, และสมัยของพระมนู เรียกว่า “มานวันตร.” ในกัลปของเรานี้ ได้มีพระมนูบังเกิดมาแล้ว ๗ องค์; ในกาลบัดนี้เรายังอยู่ในมานวันตรของพระมนูองค์ที่ ๗ ทรงนามว่าไววัสวัต (ลูกพระวิวัสวัต = พระอาทิตย์). ข้อนี้ปรากฎอยู่ในโองการแช่งน้ำ, ซึ่งพระมหาราชครูอ่านอยู่ในเวลาถือน้ำพระพิพัฒนสัจจา, ความว่า:

“สมมติแกล้วอาทิตย์ เดอมกาล”
“สายท่านทรงธรณี เรื่อยหล้า.”

เมื่อสิ้นกัลป, หรือที่เรียกว่าเวลาบรรลัยกัลป์ โลกทุกโลกจะแตกสลาย, และทั่วไปจะมืดมลอนธะกาล, เปนคืนของพระพรหมา, อันเปนเวลานานเท่าวันของพระพรหมา. และในระหว่างเวลานี้โลกทั้งหลายจะกลายเปนมหาสมุทใหญ่, และพระพรหมาจะบรรทมหลับอยู่เหมือนพญาเศษนาค. เมื่อหมดคืนของพระพรหมานี้แล้ว พระพรหมาจะตื่นบรรทมและทรงสร้างโลกใหม่.

ปี ๑ ของพระพรหมามีจำนวนวันและคืนอย่างปีมนุษ (คือ ๓๖๐ วันและคืน), และพระชนมายุของพระพรหมามี ๑๐๐ ปี. พระชนมายุของพระพรหมาเรียกว่า “ปะระ”, และกึ่งพระชนมายุเรียกว่า “ปะราร๎ทธะ.” บัดนี้ประราร๎ทธะ ๑ ได้ล่วงไปแล้วเมื่อสิ้นปัทมะกัลป. ส่วนกัลปอันเปนสมัยของเราบัดนี้เรียกว่า “วราหะกัลป” เปนกัลปที่ ๑ ในประราร๎ทธะที่ ๒ ของพระพรหมา.

ยุคทั้ง ๔ ที่กล่าวแล้วฃ้างบนนี้ มีลักษณะต่างกัน, ดังปรากฎในคัมภีร์มหาภารตะ, เช่นนี้ :-

กฤตะยุค - เปนยุคซึ่งมีสัตยธรรมมั่นคง, จึ่งมีนามเรียกด้วยว่า “สัตยยุค” ในยุคนั้นกรณียะทั้งปวงได้กระทำไปสำเร็จเสร็จสิ้น (กฤตะ), ไม่มีสิ่งใดบกพร่อง. ในยุคนั้นมิได้มีเทวดาต่าง ๆ (คือมีแต่พระปรพรหมองค์เดียวเปนที่เคารพบูชาของนรชน), ไม่มีทานพ, คนธรรพ, ยักษ์, รากษส, หรือปันนาค (งูร้าย); ไม่มีการค้าขาย และซื้อกันในระหว่างนรชน; ผลทั้งปวงแห่งพิภพย่อมได้โดยความปราถนาเท่านั้น; กุศลกรรมบถและความไม่เห็นแก่โลกย่อมมีอยู่ทั่วไป. โรคาพาธและความคร่ำคร่าแห่งอวัยวะทั้งปวงอันบังเกิดแต่ชราภาพหามีไม่ ชนย่อมปราศจากโทร์มนัส, โศก, โมหะ, หรือทุจริต; ปราศจากวิวาท, เกลียดชัง, โกรธ, ภัย, พยาธิ, ฤศยาและพยาบาท. พระปรพรหมเปนที่พึ่งแห่งโยคีทั้งหลาย. ในยุคนั้นพระนารายน์, อันเปนวิญญาณแห่งสิ่งทั้งปวง, มีพระกายสีขาวบริสุทธิ์. ในยุคนั้นมีกำเนิดแต่ชนผู้ตั้งมั่นในกรณียะ, และเหมือนกันทั้งหมดในทางสัตยธรรม, ในความปฏิบัติ, และในความรอบรู้. ในยุคนั้นชนทุกชาติมีน่าที่เหมือนกัน, ประกอบกรณียะ, ไม่ลดละในความเลื่อมใสในองค์พระปรพรหม (พระนารายน์) องค์เดียว, ใช้มนตร์อย่างเดียว, วินัยอย่างเดียว, พิธีอย่างเดียว. เฃามีพระเวทแต่เพียง ๑ เท่านั้น (คือ “ฤคเวท”).

ไตรดายุค (เต๎รตายุค) - ในยุคนี้เริ่มมีพลีกรรม, สัตยธรรมได้เสื่อมถอยลง ๑ ส่วนใน ๔, พระกายแห่งพระนารายน์กลายเปนสีแดง; และนรชนดำรงสุจริตธรรม, และเอาใจใส่ในทางธรรมะวิธี, ในยุคนั้นมีพลีกรรมต่าง ๆ, พร้อมด้วยธรรมศาสตร์และพิธีการต่าง ๆ. ในไตรดายุคชนย่อมปฏิบัติด้วยความมุ่งแสวงผล, หวังผลานิสงส์จากพลีกรรมและบำเพ็ญทาน, มิได้พอใจในการบำเพ็ญตะบะหรืออวยทานโดยมุ่งต่อกรณียะอย่างเดียวเช่นในกฤตะยุค. แต่ในไตรดายุคนั้นนรชนก็ยังมุ่งอยู่ที่จะประกอบกรณียะของตนและอุสาหะมากในยัญญะกรรม.

ทวาบรยุค - สัตยธรรมเสื่อมถอยลงไป ๒ ส่วนใน ๔, พระกายแห่งพระนารายน์กลายเปนสีเหลือง, และพระเวทเกิดมีขึ้นเปน ๔ คัมภีร์ (คือฤคเวท ๑ ยัชุร๎เวท ๑ สามะเวท ๑ อถรรพเวท ๑). นรชนบ้างก็ศึกษา ๔ พระเวท, บ้างก็ศึกษาเพียง ๓, บ้างก็ศึกษาเพียง ๒, และบ้างก็ไม่ศึกษาเลย. เมื่อพระเวทได้แบ่งออกมากเช่นนี้, พิธีการต่าง ๆ ก็ได้กระทำกันต่าง ๆ นานา. โดยเหตุที่มิได้รู้จริงในพระเวท ๑ (คือพระเวทเดิม) นั้นเอง, จึ่งได้เกิดมีพระเวทมากขึ้น ดังนั้น. โดยเหตุที่สัตยธรรมเสื่อมถอยลง จึ่งมีนรชนดำรงสุจริตธรรมน้อยลง. เมื่อชนเสื่อมถอยลงในทางสัตยธรรมเช่นนั้น, พยาธิหลายประการ, ตัณหาทั้ง ๓ (คือกามะตัณหา, ภวตัณหา, วิภวตัณหา) และภัยนานา, ซึ่งล้วนเปนผลกรรม, ก็ได้บังเกิดเบียดเบียฬนรชน, ทำให้เฃาทั้งหลายต้องเสวยทุกข์, และแนะให้เฃาบำเพ็ญตะบะ บางคนที่ประสงค์สุขในภพนี้และภพน่าก็ทำพลีกรรมต่าง ๆ. ดังนี้เมื่อถึงทวาบรยุคชนจึ่งได้เสื่อมถอยลงในทางสัตยธรรม.

กลียุค - สัตยธรรมคงเหลืออยู่เพียง ๑ ส่วนใน ๔ เท่านั้น, พระกายแห่งพระนารายน์กลายเปนสีดำ บรรดาปฏิบัติทั้งปวงอันมีในพระเวท, อีกทั้งกุศลกรรมและยัญญะกรรมเสื่อมถอยลงไป. อุปัทวะ, พยาธิ, ความระอา, และโทษะ, ทุกข์, ทุรนทุราย, อดอยาก, และภัยต่าง ๆ ได้มีขึ้นเปนลำดับ, นรชนเสื่อมลงเปนลำดับ.

ผู้อ่านคงจะสังเกตแล้วว่า ในข้อความที่กล่าวถึงยุคทั้ง ๔ ฃ้างบนนี้ พระนารายน์เปนพระเปนเจ้าอันใหญ่ยิ่ง, ที่ควรนับถือยิ่งของคนทั้งหลาย, ซึ่งไม่น่าประหลาดอะไรเมื่อคำนึงว่า ผู้ที่แต่งมหาภารตะเปนพวกไพษณพ, คือผู้นับถือพระพิษณุเปนเจ้า. ตำหรับต่าง ๆ แห่งไสยศาสตร์ที่ยังคงมีผู้นิยมอ่านอยู่มากที่สุดในอินเดียโดยมากเปนหนังสือของพวกไพษณพแต่ง, และชนในอินเดียนับถือพระนารายน์มากกว่าพระเปนเจ้าใด ๆ. พวกไพษณพเฃาสอนว่า เดิมทีมีพระเปนเจ้าแต่องค์เดียว, เรียกว่า “ปรพรหม,” พระผู้สร้างสิ่งทั้งปวง. ได้ความตามคัมภีร์ “วราหะปราณะ,” ว่า พระนารายน์ผู้เปนพระปรพรหม เมื่อได้ทรงรำพึงถึงการที่จะสร้างสกลโลกขึ้นแล้ว, จึงได้ทรงคำนึงด้วยว่าจำเปนที่จะต้องบำรุงรักษาโลกไว้ต่อไปด้วย. แต่พระปรพรหมนั้นเปนอะรูปะกะเทพ, คือหาตัวตนมิได้. จึ่งไม่สามารถที่จะกระทำกิจนั้นได้, จึ่งทรงแบ่งภาคของพระองค์เองสร้างขึ้นเปนรูปะกะเทพ, เปนเทวราชอันมิได้มีกำเนิดอย่างเทวดาหรือมนุษทั้งหลาย, แล้วพระนารายน์องค์เดิมจึงประทานพรแด่พระนารายน์องค์ใหม่นี้ว่า : - “ดูกรวิษณุ, ท่านจงเปนผู้สร้างสิ่งทั้งปวง, (คือให้เปน “พรหมา” หรือ “หิรัณยครรภ”), ท่านจงเปนผู้บริหารโลกทั้งสาม (“หริ”), และเปนที่นับถือแห่งชนทั้งปวง, ท่านจงเปนผู้รอบรู้ทุกสิ่งสรรพ์ และมีอานุภาพใหญ่ยิ่ง และท่านจงปฏิบัติตามปราถนาแห่งพระพรหม และเทวดาทั้งปวงเปนนิตย์เทอญ. แล้วพระปรพรหมก็คืนเฃ้าสู่ความเปนธรรมดาแห่งพระองค์. ฝ่ายพระวิษณุ, เมื่อทรงรำพึงถึงการที่ได้ทรงกำเนิดมา, จึงบรรทมหลับไป, และในเวลาบรรทมหลับอยู่นี้ได้ทรงพระสุบินถึงการสร้างสิ่งต่าง ๆ, และได้บังเกิดมีดอกบัวหลวงผุดขึ้นจากพระนาภี. ในกลางดอกบัวหลวงนี้พระพรหมา (ธาดา) ได้บังเกิดขึ้น, และพระพรหมาองค์นี้เปนผู้สร้างมนุษ, อมนุษ, และสัตว์ทั้งปวงในโลกทั้งสาม. เรื่องกำเนิดของพระพรหมธาดานี้ มีปรากฎในต้นหนังสือรามเกียรติ์ของเราด้วย.

ในคัมภีร์ “ปัทมะปุราณะ” กล่าวไว้ว่า :- “เมื่อแรกเริ่มการสร้างสกลโลก, พระวิษณุเปนเจ้ามีพระประสงค์ที่จะสร้างโลก, จึงทรงแบ่งภาคเป็นสามส่วน: เปนพระผู้สร้าง ๑, พระผู้บริหาร ๑, พระผู้สังหาร ๑. เพื่อสร้างโลกนี้ พระมหาสวายัมภูวได้ทรงสร้างพระพรหมาจากพระปรรศวะ (สีฃ้าง) เบื้องขวา; แล้ว, เพื่อบริหารโลก, ได้ทรงสร้างพระวิษณุจากพระปรรศวะเบื้องซ้าย; และ, เพื่อล้างโลก, ได้ทรงสร้างพระศีวะมหากาลจากบั้นกลางแห่งพระองค์. บางคนย่อมบูชาพระพรหมา, บ้างก็บูชาพระวิษณุ, บ้างก็บูชาพระศีวะ, แต่พระวิษณุเปนเจ้านั้นเอง, เปนองค์หนึ่งแบ่งสามภาค, ทรงสร้าง, ทรงบริหาร, ทรงล้าง: ฉนั้นสาธุชนจงอย่าได้ถือว่าสามองค์นั้นต่างกันเลย.

ในคัมภีร์ “วิษณุปุราณะ” มีคำสอนไว้ว่า :- “โลกนี้กำเนิดจากพระวิษณุ; คงอยู่ในพระวิษณุ; พระองค์เปนเหตุแห่งความคงอยู่และความสูญแห่งโลก; พระองค์เทียวคือโลก.” ในคัมภีร์เดียวกันนี้มีคำสอนว่าผู้นับถือพระนารายน์อาจที่จะรอดพ้นอำนาจแห่งมฤตยู (พระยม) คือไม่ตกนรก.

ที่จริงในมนตร์ต้นโองการแช่งน้ำของเราออกจะเก็บความสรรเสริญพระนารายน์ไว้ได้ดีพอใช้. มนตร์นี้ว่า :-

“โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเปนแท่น แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน”, แล้วจึ่งกล่าวถึงพาหนะและสิ่งที่ถือในพระหัตถ์ต่อไปว่า: “ปิ่นเอาครุฑมาขี่ สี่มือถือสังข์ จักร์คทาธรณี”, ตรงตามตำหรับฃ้างไสยศาสตร์.

สวรรค์ที่พระนารายน์สถิตเรียกว่า “ไวกุณฐ์”, ปรากฎลักษณะตามที่มีในมหาภารตะว่า แผ่นดินเปนทองทั้งแผ่น, วัดโดยรอบได้สองหมื่นโยชน์. วิมานทั้งปวงล้วนแล้วไปด้วยแก้วมณี. เสาและเครื่องประดับในวิมานนั้น ๆ ทำด้วยพลอยต่าง ๆ. น้ำใสแห่งคงคามหานทีตกจากสวรรค์ชั้นสูงมายังศีร์ษะแห่งธรุวะ (ดาวเหนือ); จากนั่นไหลลงไปสู่เกศาแห่งพระสัปตะฤษี (ฤษีเจ็ดตน, คือดาวเจ็ดดวงที่รวมเรียกทั้งหมู่ว่า “ดาวจรเข้” ในภาษาไทยเรา); และจากที่นั้นน้ำไหลลงมาเปนมหานที. ในสวรรค์นี้มีสระ ๕ สระ, เต็มไปด้วยดอกบัวสีน้ำเงิน, แดง, และขาว. บนบัลลังก์อันโอภาสราวพระอาทิตย์เวลาเที่ยง, พระวิษณุประทับอยู่บนอาสนะบัวฃาว; ฃ้างขวาพระองค์ คือ พระลักษมี, ซึ่งมีพระรัสมีเปล่งปลั่งราวแสงฟ้าแลบอันไม่เสื่อมถอย และจากพระองค์แห่งเทวีนั้นมีกลิ่นหอมเหมือนดอกบัวฟุ้งขจรไปถึงสองร้อยโยชน์.

เมื่อใดบังเกิดมีเหตุภัยใหญ่หลวงขึ้นในโลก, หรือเมื่อมีความชั่วร้ายของผู้ใดผู้ ๑ ทำให้โลกเดือดร้อน, พระนารายน์, ในน่าที่ผู้บริหาร (หริ) ต้องอวตารลงมาเพื่อดับเข็ญ, และเมื่อสำเร็จกิจแล้ว ก็เสด็จกลับคืนขึ้นสู่ไวกูณฐ์. จำนวนแห่งอวตารมีกล่าวไว้ต่าง ๆ กัน, มีสิบปางบ้าง, ญี่สิบสี่ปางบ้าง, และบางทีก็ว่ามากจนเหลือคณนา. ตามความนิยมโดยมากว่ามีสิบปาง, เปนปางที่สำคัญ ๆ ที่สุด. ในสิบปางนี้ได้มีมาแล้วเก้า, ยังคงเหลืออีกปาง ๑ ซึ่งจะมีมาในอนาคต, สิบปางนี้ลำดับดังต่อไปนี้ :-

ในกฤตะยุค : ๑. มัตสยาวตาร, เปนปลา.
  ๒. กูรมาวตาร, เปนเต่า.
  ๓. วราหาวตาร, เปนหมู.
  ๔. นรสิงหาวตาร, เปนนรสิงห์ (ครึ่งคนครึ่งสิงห์)
ในไตรดายุค : ๕. วามนาวตาร, เปนพราหมณ์เตี้ย.
  ๖. ปรศุรามาวตาร, เปนพราหมณ์ถือขวาน (ปรศุ = ขวาน)
ในทวาบรยุค : ๗. รามจันทราวตาร, เปนพระรามจันทร, กษัตร์สุริยวงศ์.
  ๘. กฤษณาวตาร, เปนท้าวกฤษณะ, กษัตร์จันทรวงศ์.
ในกลียุค : ๙. พุทธาวตาร, เปนพระสมณโคคมพุทธเจ้า.
  ๑๐. กัลกยาวตาร, เปนพระกัลกิ (ซึ่งจะมาในปลายกลียุค)

ตามความเห็นของนักปราชญ์ยุโรปที่ได้ศึกษาและพิจารณาเรื่องเหล่านี้ อวตารบางปางเปนปะกรณเปรียบเทียบแถลงด้วยความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ, และบางเรื่องมีเค้าความจริงในประวัตติการ เรื่องแห่งมัตสยาวตาร (ปางที่ ๑) ซึ่งแสดงถึงท้าวสัตยพรต, หรือพระมนูไววัสวัต, รอดพ้นจากอุทกภัยได้โดยอาศัยพระมัตสยาวตารเปนที่พึ่งนั้น, นัยว่ากล่าวถึงมหาอุทกภัยที่ได้บังเกิดมีขึ้นครั้ง ๑ ในโลกนี้. ข้อควรสังเกตมีอยู่คือ ในคัมภีร์ศาสนาต่าง ๆ หลายศาสนามีกล่าวถึงน้ำท่วม, และมีผู้รอดจากอุทกภัยนั้น ได้อยู่เปนมหาชนกของชนต่อมาดังนี้, คล้าย ๆ กัน; เช่นในคัมภีร์ใบเบลของยิวและคริสเตียน มีเรื่องโนอาห์รอดจากอุทกภัย, และในคัมภีร์โก้หร่านก็กล่าวถึงโนเฮเช่นเดียวกัน; ในโบราณสมัยแห่งกรีซมีเรื่องน้ำท่วมใหญ่และมหาทวีปอัตลันติํสจมหายไปในมหาสมุท, มีคนรอคตายมาคนเดียวชื่อ เดอู คาลิโอน, ซึ่งได้ลงเรือของพระเปนเจ้าลอยจากแผ่นดินนั้นเมื่อเวลาน้ำท่วม, ส่วนเรื่องพระมัตสยาวตารรบและสังหารอสูร, ตามที่ปรากฎในตำหรับของไทยเรานั้น, ได้ความว่าได้มาจาก “ภาควัตปุราณะ”, ซึ่งมีข้อความแถลงไว้แห่ง ๑ ว่า:- “เมื่อปลายกัลปก่อนนี้ได้บังเกิดมีมหาประลัย, อันบังเกิดขึ้นเพราะพระพรหมาเปนเจ้าบรรทมหลับ, บรรดาสัตว์ทั้งหลายในโลกจึงได้จมตายอยู่ในมหาสมุทอันกว้างใหญ่. โดยเหตุที่พระพรหมาเปนเจ้ามีความง่วงบรรทม, ทรงปราถนาที่จะพักผ่อนพระกายเมื่อยุคทั้งหลายได้ล่วงไปแล้ว, อสูรผู้แรงฤทธิ์ชื่อหัยครีพจึ่งได้มาใกล้พระองค์, และลักเอาพระเวทซึ่งหลั่งไหลจากพระโอษฐของพระเปนเจ้านั้นไป.” ต่อนี้จึ่งเล่าถึงพระหริเทวราช, ว่าเมื่อพระองค์ได้ทรงทราบกิจการของพญาทานพตนนั้นแล้ว, จึงได้ทรงจำแลงพระองค์เปนปลาตัวเล็ก, เรียกว่า “ศะผะริ.” มหากษัตร์ผู้ทรงนามว่า สัตยพรต, เปนโอรสของพระสุริยาทิตย์ จึ่งปรากฎพระนามด้วยว่า “ไววัสวัต” (“วิวัสวัต” คือพระอาทิตย์), เปนพระเจ้าทรงธรรมเสวยราชย์อยู่ในแคว้นทระวิระ, เปนพระมนู (มหาชนกของชนทั้งหลาย) ในกัลปนี้, ช้อนได้ปลานี้ไป, แล้วและนำไปปล่อยในมหาสมุท. เมื่อน้ำท่วมโลก, ท้าวสัตยพรตได้ลงสู่เรือลำใหญ่, เอาทามล่ามเรือนั้นผูกกับเฃาแห่งปลา, ซึ่งบัดนั้นได้เติบโตขึ้นแล้ว, และปลาพาไปพ้นอันตราย. ครั้นน้ำลดลงแล้ว, พระนารายน์กับพระพรหมาก็ผุดขึ้นพร้อมกันจากมหรรณพ, พระนารายน์ปราบหัยครีพและแย่งพระเวทกลับคืนได้. ในปุราณะนี้เรียกนามอสูรผู้ลักพระเวทว่า “หัยครีพ”, แต่ในตำหรับของไทยเราเรียกว่า “สังขะอสูร”, ซึ่งได้ความว่าเปนนามอีกนาม ๑ ของหัยครีพนั้นเอง, ดังนี้นับว่าฃ้างฝ่ายไทยเราได้เรื่องมัสยาวตารมาดีพอใช้.

เรื่องกูรมาวตารในฉบับไทยมีเรื่องน้อย, และดูไม่เปนปางสำคัญเลย. เรื่องวราหาวตารฃ้างฝ่ายเรามีอยู่ไม่สู้พิสดารนัก, แต่ก็นับว่าไม่เลว. เรื่องนรสิงหาวตารฃ้างไทยเราได้มาไว้ออกจะเลอียดลออดี, เปนแต่นามแห่งอสูรผู้ถูกปราบนั้นผิดเพี้ยนอยู่. ในเรื่องวราหาวตารอสูรที่แย่งแผ่นดินกับพระนารายน์ ฝ่ายเราเรียกว่าหิรันตยักษ์, แต่ที่ถูกควรเปน “หิรัณยากษะ” (สันสกฤต, หิรณฺย = ทอง + อกฺษ = ตา); และอสูรที่รบกับพระนรสิงหาวตาร ฝ่ายเราเรียกว่าหิรันตปะกาสูร, แต่ที่ถูกควรเปน “หิรัณยกศิปุ.” เรื่องวามนาวตาร, ซึ่งฃ้างไทยเราเรียกว่า “ทวิชาวตาร”, ตำหรับของเราได้เรื่องมาไม่พิสดารพอ จึ่งทำให้ผู้อ่านแลไม่ใคร่เห็นประโยชน์ของปางนี้, แต่ในลิลิตของฃ้าพเจ้าต่อไปนี้จะได้แถลงเรื่องตามที่มีมาในปุราณะ, คงจะทำให้ผู้อานได้ทราบเรื่องดีขึ้น. ปรศุรามาวตาร, ที่จัดเปนปางที่ ๖ ในที่นี้, ในหนังสือนารายน์สิบปางของเราไม่มีทีเดียว. ไทยเราพบปะพระปรศุรามาวตารแต่ในเรื่องรามเกียรติ์, ซึ่งว่าเปนยักษ์มีนามว่ารามสูร, และได้พบกล่าวถึง ๒ แห่ง; แห่ง ๑ คือเมื่อไปพยายามชิงแก้วของนางเมขลา แล้วและไปรบฆ่าพระอรชุนตาย, กับอีกแห่ง ๑ เมื่อไปลองฤทธิ์กับพระรามและแพ้พระราม. เรื่องของรามสูรทั้ง ๒ ตอนนี้ มีมาจริงในทางคัมภีร์ไสยศาสตร์, แต่ไม่ตรงกับที่มีอยู่ในรามเกียรติ์; ฃ้าพเจ้าจะได้แถลงเรื่องตามที่ถูกไว้ในลิลิตฃ้างน่าต่อไป. ปรศุรามนั้นที่จริงเปนพราหมณ์, และนักปราชญ์สันนิษฐานว่า อวตารปางนี้แท้จริงคงเปนปะกรณแสดงถึงการแก่งแย่งแข่งอำนาจกันระหว่างชาติพราหมณ์กับชาติกษัตริย์ในยุคโบราณแห่งมัธยมประเทศ, และในยุคนั้นกษัตริย์คงได้แพ้พราหมณ์.

เรื่องรามจันทราวตารกับกฤษณาวตาร มีข้อควรสันนิษฐานได้ทั้ง ๒ เรื่องว่าเปนส่วน ๑ แห่งตำนานของภารตะวรรษ (อินเดีย). เรื่องรามจันทราวตารมีอยู่พิสดารในคัมภีร์ “รามายณะ”, ซึ่งไทยเราคงได้มาจากพราหมณ์ในโบราณสมัย แล้วและมาแต่งขึ้นใหม่เรียกว่า “รามเกียรติ์”. เรื่องสงครามระหว่างพระรามจันทร์กับพลวานรฝ่าย ๑ ราพณาสูรกับรากษสฝ่าย ๑ นั้น สันนิษฐานว่าเปนเรื่องแถลงการสงครามที่ได้กระทำแก่กันจริง ๆ ระหว่างคนจริง ๆ; พระรามและชาวอโยธยาเปนต้น, ที่เรียกว่า “มนุษ”, คงเปนเชื้อสายชนผิวขาวที่เรียกว่า “อารยะ”; “วานร” สันนิษฐานว่าเปนชนที่อยู่ในดินแดนริมเทือกเฃาวินธยะ, ซึ่งจนกาลบัดนี้ก็ยังมีเหลืออยู่, เปนชนผิวดำ, ผมหยิกและริมฝีปากหนา, ใกล้ฃ้างเงาะป่าของเรา. และชนเหล่านี้มิได้ถือศาสนาพราหมณ์เลย แต่ก็มีตำนานเล่าต่อ ๆ กันมาหลายชั่วคนในพวกนั้นเนื่องด้วยประวัตติการของพระรามจันทร, ซึ่งทำให้น่าสันนิษฐานว่าคงได้เคยเกี่ยวข้องกันมาในสมัยโบราณสมัยจริง; ส่วน “รากษส” นั้นก็คือชนชาวเกาะลังกา, ซึ่งเปนชนผิวดำ, ผมหยิก, และร่างใหญ่อย่างคนดำในทวีปอาฟริกาในกาลบัดนี้, พวกอารยะชนเกลียดชังจึ่งตั้งชื่อว่ารากษสหรือยักษ์.

เรื่องกฤษณาวตารมีอยู่ในมหาภารตะและปุราณะหลายคัมภีร์, แต่น่าประหลาดที่ไม่ได้มีใครแปลหรือเก็บมาแต่งขึ้นเปนภาษาไทยอย่างเช่นรามเกียรติ์นั้นเลย. ที่ได้เอามาแต่งขึ้นเปนเรื่องลครก็มีอยู่แต่เรื่อง “พระอุณรุท”, คือ อนิรุทธ ผู้เปนโอรสของพระปรัทยุมน์, โอรสของท้าวกฤษณะผู้ทรงราชย์ในนครทวารกา (หรือทวาราวดี). ในลิลิตต่อไปนี้ฃ้าพเจ้าจะได้แถลงประวัติของพระกฤษณาวตาร โดยสังเขป, เพราะถ้าจะแถลงโดยพิสดารจะต้องแต่งเปนหนังสืออีกเล่ม ๑ ต่างหากทีเดียว. พระกฤษณะนั้น กำเนิดในสกุลกษัตริย์ยาทพ, อันเปนสาฃา ๑ แห่งจันทรวงศ์. จันทรวงศ์นั้น, ตาม “วิษณุปุราณะ” กล่าวว่า ต้นวงศ์คือพระอัตริพรหมฤษี, โอรสของพระพรหมา. พระอัตริมีโอรสคือพระจันทร, โอรสพระจันทรคือพระพุธ, โอรสพระพุธคือปุรูระวัส, โอรสปุรูระวัสคืออายุส, โอรสของอายุสคือนะหุษ, และโอรสของนะหุษคือยะยาตี. ยะยาตีมีโอรสสององค์ที่ได้เปนกษัตร์, คือยะทุ, ผู้เปนต้นสกุลยาทพ, กับปุรุผู้เปนต้นสกุลโปรพ. สกุลยาทพครองนครต่าง ๆ, มีทวาระกาเปนที่สุด; สกุลโปรพครองนครประดิษฐานและหัสตินาปุระตลอดมา. ยังมีจันทรวงศ์อีกสาขา ๑ ซึ่งครองแคว้นกาศี (พาราณสี), สืบสกุลลงทางท้าวกษัตระพฤทธะ, โอรสของท้าอายุส. ในสกุลโปรพมีกษัตริย์อันบรรฦๅเกียรติอยู่หลายองค์, เช่นท้าวทุษยันต์ผู้เปนพระสามีของนางศกุนตลาเปนต้น, และมหาภารตะก็กล่าวถึงเรื่องสงครามซึ่งท้าวยุธิษเฐียรได้มีชัย. ในสกุลยาทพมีกษัตร์อันบรรฦๅเกียรติอยู่มากที่สุดก็คือท้าวกฤษณะ ซึ่งเรียกว่าพระกฤษณาวตาร, เปนมหากษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งสกุลนี้. นอกจากนี้มีพระพลราม, หรือพลเทพ, ผู้เปนเชษฐาของท้าวกฤษณะ, ซึ่งบางตำหรับก็จัดเอาเปนพระนารายน์อวตารปางที่ ๘ แทนท้าวกฤษณะ ซึ่งจัดเอาเปนองค์พระนารายน์แบ่งภาคทีเดียว. ด้วยเหตุนี้เองบางทีพราหมณ์จึ่งออกพระนามพระนารายน์ว่า “กฤษณะ” ซึ่งเปนเหตุทำให้ชาวเราผู้มิได้รู้ต้นสายปลายเหตุพลอยหลงตามไปด้วยดังปรากฎอยู่ในกวีนิพนธ์ของไทยเราหลายแห่ง.

ส่วนการที่พวกพราหมณ์จัดเอาพระสมณโคดมพุทธเจ้าเปนอวตารของพระนารายน์นั้น ก็เพราะรู้สึกว่าได้บังเกิดมีผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากขึ้น, จนเหลือที่จะคิดกำจัดได้แล้ว, จึ่งเลยผสมผเสรับเอาพระพุทธเจ้าเปนอวตารของพระนารายน์เสียทีเดียว. แต่ครั้นว่าจะรับรองว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเปนของที่ถูกต้องก็ไม่ได้, เพราะจะต้องสารภาพว่าคำสั่งสอนของพวกพราหมณ์เองผิด, จึงต้องกล่าวแก้ไปว่าพระนารายน์อวตารมาเปนพระพุทธเจ้าเพื่อหลอกลวงชนที่ชั่วร้าย, อีกทั้งอสูร, แทตย์, ทานพ, ฯลฯ เพื่อให้หลงเชื่อในสิ่งที่ผิด แล้วจะได้ต้องรับผลร้ายแห่งมิจฉาทิฏฐิกรรมนั้น ๆ.

ส่วนกัลกยาวตาร, ปางที่ ๑๐ ของพระนารายน์, อันกล่าวว่าจะได้มีมาในปลายกลียุคนั้น, ตามคำทำนายว่าจะมีรูปเปนคนขาวขี่ม้าขาว, และจะเปนผู้บำราบปราบปรามคนชั่วร้ายทั้งหลายและจะบันดาลให้มีสัตยธรรมขึ้นใหม่โดยบริบูรณเหมือนเช่นในกฤตะยุค. สรูปความก็คือ กัลกยาวตารนี้เปนปะกรณแสดงความหวังในอนาคต, เช่นเดียวกับพุทธศาสนิกชนบางหมู่บางเหล่าหวังได้พบพระศรีอารยะเมไตรย, และพวกถือศาสนายิวหวังได้พบเมสไสยาห์, นับว่าเปนส่วน ๑ แห่งธรรมดามนุษที่จำจะต้องหวังได้พบเห็นความสุขยิ่งไปกว่าที่คนได้รับอยู่แล้ว.

ตามตำหรับต่าง ๆ กล่าวไว้ว่า พระวิษณุนั้นมีพระนามพัน ๑, ซึ่งถ้าผู้ใดท่องได้นับว่าได้บุญ. นามที่มักใช้บ่อย ๆ ในพันนามนี้คือ:- อัจยุต (ไม่มีตกหรือเสื่อม); อนันต์ (ไม่มีที่สุด); อนันตะศัยนะ (นอนบนหลังอนันตะนาคราช); จัตุรภุช (สี่แขน); ทาโมทร (ผู้ถูกคาดด้วยเชือก, คือกฤษณะ); โควินท์ หรือ โคบาล (ผู้เลี้ยงโค คือกฤษณะ); หริ (ผู้บริหาร); หฤษิเกศ (เจ้าแห่งสิ่งซึ่งทำให้รู้สึกรูป, เสียง, ฯลฯ); ชลไศยิน (นอนบนน้ำ); ชนาร์ททะนะ (ผู้ที่ชนนับถือ); เกศวะ (ผมงาม); กิรีติน (ผู้ทรงเครื่องแต่งหัว); ลักษมีบดี (ผัวของลักษมี); มธุสูทน์ (ผู้ฆ่ามธุ, อสุรที่พยายามทำร้ายพระพรหมา ซึ่งเกิดขึ้นในดอกบัวอันผุดจากพระนาภีของพระนารายน์); มาธพ (เกิดแต่มธุหรือหวานเหมือนนำผึ้ง; มุกุนทะ (ผู้ช่วย); นร (คน); นารายน์ (ผู้กระดิกในน้ำ); ปัญจายุธ (มีอาวุธห้าอย่าง); ปัทมะนาภะ (สดือดอกบัว); ปิตามพร (นุ่งเหลือง); บุรุษ (ผู้ชาย); บุรุโษดม (ชายสูงสุด เทวราช); วาสุเทพ (ลูกวสุเทพ, คือกฤษณะ); ไวกูณฐะนาถ (จอมไวกูณฐ์); ยัญเญศ หรือ ยัญเญศวร (เจ้าแห่งยัญญะกรรม).

อาวุธของพระนารายน์ คือ (๑) สังข์ ชื่อปัญจชันยะ; (๒) จักร ชื่อสุทรรศนะ หรือวัชระนาภะ; (๓) คทา ชื่อเกาโมทะกี; (๔) ธนู ชื่อสารณคะ; (๕) ดาพ ชื่อนันทะกะ. เทวรูปพระวิษณุเปนเจ้าโดยมากมักถือสังข์ ๑ จักร ๑ คทา ๑ ดอกบัว ๑.

พระลักษมี, หรืออิกนัย ๑ เรียกว่าพระศรี, ซึ่งเปนพระมเหษีของพระนารายน์นั้น, ได้อวตารตามเสด็จสามีลงมาหลายปาง. พระลักษมีได้กำเนิดขึ้นมาจากเกษียรสมุทเมื่อเทวดากวนทเลนั้นทำอมฤต, จึงได้นามว่า “กษีราพธิตะนยา”, คือลูกสาวแห่งเกษียรสมุท. เมื่อพระนารายน์อวตารเปนพระวามนาวตาร, พระลักษมีได้ลงมากำเนิดในดอกบัว, จึงมีนามว่า “ปัทมา” และ “กมะลา”. เมื่อพระนารายน์เปนพระปรศุรามาวตาร, พระลักษมีเปนนางธรณี. เมื่อพระนารายน์เปนพระรามจันทราวตาร, พระลักษมีเปนนางสีดา. เมื่อพระนารายน์เปนกฤษณาวตาร, พระลักษมีเปนนางรุกมิณี. นอกจากนี้พระลักษมียังมีนามเรียกกันอีกด้วยว่าอินทิรา; ชลธิชา (เกิดแต่ชลธี); จัญจลา หรือ โลลา (ไม่แน่นอน, เปนนามใช้ในน่าที่ผู้เปนเจ้าแห่งโชค); โลกะมาตา (แม่ของโลก).

พญาครุฑ, ผู้เปนพาหนะของพระนารายน์, ก็มีกล่าวถึงบ่อย ๆ ในประวัตติการของพระเปนเจ้าองค์นั้น, จึ่งควรกล่าวถึงในที่นี้ด้วยโดยสังเขป. พญาครุฑเปนโอรสของพระกัศยปประชาบดีกับนางวินะตา. ที่เปนอริกับงูทั้งหลายก็เพราะนางวินะตาได้มีสาเหตุวิวาทกับนางกัทรุ, มเหษีขวาของพระกัศยป และมารดาแห่งนาคทั้งหลาย. เรื่องที่วิวาทกันเนื่องด้วยสีม้าที่เทียมรถพระอาทิตย์, นางกัทรุชนะได้โดยกลอุบาย, นางวินะตาจึ่งต้องยอมเปนทาสาของนางกัทรุ. พวกนาคผู้เปนลูกนางกัทรุเรียกเอาน้ำอมฤตเปนค่าตัวนางวินะตา, พญาครุฑจึ่งไปลักเอาน้ำอมฤตจากเทวดาได้. พระอินทร์ติดตามแย่งน้ำอมฤต, รบกับพญาครุฑก็พ่ายแพ้และวัชระแตก, ต้องร้อนถึงพระวิษณุเปนเจ้าเสด็จมารบ. แต่แม้พระวิษณุก็รบกับพญาครุฑให้แพ้ไม่ได้, จึงตกลงทำสัญญาสัมพันธไมตรีต่อกัน, คือในเวลานั่งพระนารายน์ยอมให้พญาครุฑนั่งสูงกว่า, แต่เวลาจะเดินทางต้องให้พระนารายน์ขี่. พญาครุฑนี้มีหัว, ปีก, และเล็บเหมือนนกอินทรีย์, แต่ตัวเหมือนมนุษ. หน้าสีขาว, ปีกแดง, ตัวเปนทอง. มีเมียชื่อ อุนนะตี หรือวินายะกา, มีบุตรชื่อสัมปาตี (ที่เรียกในรามเกียรติ์ของเราว่า “สัมพาที”). พญาครุฑมีฉายาต่าง ๆ, เก็บมากล่าวถึงในที่นี้แต่บางนามดังต่อไปนี้ :- กาศยะปี (ลูกกัศยป); ไวนะเตยะ หรือ เวนไตย (ลูกวินะตา); สิตานน (หน้าฃาว); รักตะปักษ์ (ปีกแดง); เศวตะโรหิต (ฃาวแดง); สุวรรณกาย (ตัวทอง); สุบรรณ (มีปีกงาม); คะรุตมาน (เจ้าแห่งนกทั้งหลาย); นาคานตะกะ และปันนคะนาศนะ (ผู้บำราบงู); สรรปาระตี (ฃ้าศึกแห่งงู); ตะรัสวิน (รวดเร็ว); รสายน (แล่นเหมือนปรอท); กามะจาริน (ไปตามใจตนเอง); กามายุส (อยู่สบาย); จิราท (กินนาน); วิษณุรถ (รถของพระวิษณุ); อมฤตาหรณ และ สุธาหร (ผู้ลักอมฤต); สุเรนทรชิต (ผู้ชำนะพระอินทร); วัชระชิต (ผู้ชำนะวัชระ).

อนันตะนาคราช, หรือที่ในปุราณะโดยมากเรียกว่า เศษะนาคราช, ก็ได้ตามเสด็จพระนารายน์มาบังเกิดในมนุษโลก, เช่นเปนพระลักษมณ์ในปางที่ ๗ และพระพลเทพในปางที่ ๘ เปนต้น. อนันตะนาคราชนี้มีพันหัว, เปนบัลลังก์ที่พระนารายน์บรรทมในระหว่างกัลป. โลกของเรานี้วางอยู่บนหัวอนันตะนาคราช, ฉนั้นเมื่อใดนาคนี้กระดิกแผ่นดินจึ่งไหว. (ฃ้าพเจ้าจำได้ว่าเมื่อเด็กๆ เคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า แผ่นดินของโลกเรานี้วางอยู่บนหลังปลาตัวใหญ่, เรียกว่า “ปลาอนนต์.” ทำไมนาคจึ่งกลายเปนปลาไปก็ไม่ทราบ.) นาคตัวนี้เปนเชือกที่เทวดาใช้เมื่อกวนเกษียรสมุท, ดังจะได้แถลงต่อไปในเรื่องกูรมาวตาร. ไฟที่นาคนี้พ่นออกมาเปนไฟบรรลัยกัลปที่ล้างโลกเมื่อสิ้นกัลป. พญานาคตนนี้ อีกนัย ๑ ว่าเปนตนเดียวกับพญาวาสุกี, ผู้เปนใหญ่เหนือนาคทั้งหลายในบาดาล, ปุราณะบางคัมภีร์ว่าอนันตะนาคราชนี้เปนโอรสใหญ่ของพระกัศยปประชาบดีกับนากัทรุ, ฉนั้นเปนพี่น้องร่วมบิดากับพญาครุฑ. การที่พระวิษณุเอาผู้เปนอริแก่กันมาใช้ได้ทั้ง ๒ ตนนับเปนพยานแห่งอานุภาพของพระเปนเจ้าองค์นั้น.

ข้อความทั้งปวงที่ได้กล่าวมาแล้วเนื่องด้วยพระนารายน์และบริวารของพระองค์นั้น, ฃ้าพเจ้าได้พยายามที่จะตัดทอนลงมากที่สุดที่จะทำได้อยู่แล้ว แต่กระนั้นยังยืดยาวถึงปานนี้. ฃ้าพเจ้าจึงต้องขออภัยแก่ท่านผู้อ่าน, แต่ยังมีความหวังใจอยู่ว่าการอ่านคำนำอันยาวนี้ท่านจะไม่รู้สึกว่าเป็นการเปลืองเวลาเปล่า

ในที่นี้ฃ้าพเจ้าขอขอบพระหฤทัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ในการที่ได้ทรงช่วยค้นหาเรื่องและภาพที่มีอยู่ณหอพระสมุดวชิรญาณเพื่อประกอบเรื่องนี้.

อนึ่งภาพต่าง ๆ ที่แซกอยู่ในหนังสือนี้, ที่เปนภาพเทวรูปอินเดีย ได้จำลองมาจากหนังสือตำรับเทวรูปชื่อ “Elements of Hindu Iconography, by T. A. Gopinatha Rao”; รูปพระนารายน์กำแพงเพ็ชรโดยห้องฉายานรสิงห์; รูปพระพุทธชินราชฃ้าพเจ้าได้ฉายเองที่พิษณุโลก. ส่วนภาพที่เขียนขึ้นใหม่สำหรับหนังสือเรื่องนี้ เปนฝีมือจางวางตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จัน จิตรกร), และฃ้าพเจ้าขอขอบใจฃ้าราชการผู้ที่ได้ช่วยประดับหนังสือนี้ด้วยฝีมือ.

ในที่สุดฃ้าพเจ้าขอขอบใจจางวางตรี พระยาราชสาสนโสภณ (สอาด ชูโต) ที่ได้เอาใจใส่ตรวจทานหนังสือนี้เมื่อจัดการพิมพ์ขึ้น.

รามวชิราวุธ

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท, ในพระบรมมหาราชวัง.

วันที่ ๗ มกราคม, พระพุทธศักราช ๒๔๖๕.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ