พระราชพิธีอินทราภิเษก

พระราชพิธีอินทราภิเษกจัดเป็นพระราชพิธีใหญ่ที่พระมหากษัตริย์ประกาศพระองค์ว่าเป็นราชาธิราช พระราชพิธีนี้เคยทำแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยรัตนโกสินทร์ยังไม่เคยทำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาพระนครขึ้นใหม่นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระมหาปราสาทองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า พระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท เข้าใจว่าคงจะมีพระราชดำริให้ประกอบการพระราชพิธีอินทราภิเษกเหมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาจึงพระราชทานนามพระมหาปราสาทให้พ้องกับชื่อพระราชพิธี แต่พระมหาปราสาทองค์ดังกล่าวถูกเพลิงไหม้เสียก่อน จึงโปรดฯให้สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นแทน

ความในพระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ตอนหนึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ว่า “ศักราช ๘๕๘ ปีมะโรง (พุทธศักราช ๒๐๓๙) ท่านประพฤติการเบญจาพิธพระองค์ท่าน แลให้เล่นการดึกดำบรรพ์”

“การเบญจาพิธ” ที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โปรดฯให้กระทำในครั้งนั้นหมายถึง ปัญจราชาภิเษก อันได้แก่การราชาภิเษก ๕ อย่างของพระมหากษัตริย์ ซึ่งประกอบด้วย

๑. มงคลอินทราภิเษก

๒. มงคลโภคาภิเษก

๓. มงคลปราบดาภิเษก

๔. มงคลราชาภิเษก

๕. มงคลอุภิเษก

อภิเษก มีความหมายว่าการรดน้ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชาธิบายคำจำกัดความของ“อินทราภิเษก” ไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องปัญจราชาภิเษกว่า “อันว่าลักษณะอินทราภิเษกคือสมเด็จอมรินทราธิราชเอาเครื่องปัญจกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ ถวาย”

อินทราภิเษกมิได้มีความหมายว่าอภิเษกให้เป็นเสมือนพระอินทร์แต่เป็นการที่พระอินทร์ถวายพระยศให้พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นเป็นราชาธิราช ได้รับเครื่องราชกกุธภัณฑ์จากพระอินทร์ ดังนั้นเมื่อตั้งการพระราชพิธีนี้จึงต้อง “...กระทำรูปสมเด็จอมรินทราธิราชสถิตบนยอดเขาพระสุเมรุราชเป็นประธาน...” และ “...ตกแต่งพระที่นั่งบัลลังก์อาสน์อันวิจิตรไว้เบญจราชกกุธภัณฑ์...” ที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารตอนสมเด็จพระเจ้าปราสาททองประกอบพระราชพิธีลบศักราชและอินทราภิเษก พระราชพิธีอินทราภิเษกนั้นที่เคยมีมาในรัชกาลก่อน ๆ กระทำเป็นพระราชพิธีเอกเทศ แต่ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ พระราชพิธีเสร็จสิ้นพร้อมกับพระราชพิธีลบศักราช ดังในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ มีว่า

ครั้นเสร็จพระราชพิธี การโดยในตรี
บัญจกพระคาถา  
เถลิงศกขึ้นวารจันทา เสร็จการอินทรา-
ภิเษกเจ้าจอมกระษัตริย์  
แล้วเป่าสังข์ทักขิณาวัฏ ถ้วนถึงสามนัด
แลคีตดุริยดนตรี  
จึ่งฆาตวรอินทเภรี ดุจไกรสรสี-
หนาทร้องแข่งขาน  
แล้วลั่นฆ้องชัยในสถาน เสียงศัพทบันดาล
ดุริยะก้องกาหล  

กฎมนเทียรบาล กล่าวถึงพระราชพิธีอินทราภิเษกไว้ว่า

“การพระราชพิทธีอินทราภิเษกตั้งพระสุเมรุ์สูงเส้น ๕ วา ในกลางสนามนั้น พระอินโทรนั่งบนพระสุเมรุ์ อิสินธรยุคุนธรสูงเส้นหนึ่งกรวิกสูง ๑๕ วา เขาไกรลาศสูง ๑๐ วา ฉัตรทองชั้นในฉัตรนาคชั้นกลาง ฉัตรเงีนชั้นนอก แลนอกนั้นราชวัตฉัตรเบญจรง ใต้ฉัตรรูปเทพดายืน นอกฉัตรราชวัตรรั้วไก่ ฉัตรกระดาดรูปยักษคนธรรภ รากษษยยืนตีนพระสุเมรุ์ รูปคชสีหราชสีห สิงโต กิเลน เยียงผา ช้าง โค กระบือ แล เสือหมี มีรูปเทพดานั่งทุกเขาไกรลาศ รูปพระอิศวรเปนเจ้าแลนางอุมาภควดี ยอดพระสุเมรูรูปพระอินทรรูปอสูรอยู่กลางพระสุเมรุ์ รูปพระนารายณ์บันทมสิน ในตีนพระสุเมรุ์ นาค ๑ ศีศะเกี้ยวพระสุเมรุ์นอกสนามอสูรยืนนอกกำแพง โรงรำระทาดอกไม้มหาดไทบำเรอห์ สนองพระโอษฐดำรวจเลกเปนรูปอสูร ๑๐๐ มหาดเลก เปนเทพดา ๑๐๐ เปนพาลี สุครีพ มหาชมภูแลบริวารพานร ๑๐๓ ชักนาคดึกดำบรร อสูรชักหัวเทพดาชักหาง พานรอยู่ปลายหาง พระสุเมรุ์เหลี่ยมหนึ่งทอง เหลี่ยมหนึ่งนาค เหลี่ยมหนึ่งแก้ว เหลี่ยมหนึ่งเงีน เขายุคุนธรทอง อิสินธรนาค กรวิกเงีน ไกรลาศเงีน รอบสนามข้างนอกตั้งช้างม้าจัตุรงพล นา ๑๐,๐๐๐ ใส่ศิรเพศห่มเสื้อนุ่งแพรเคารพ นา ๕,๐๐๐ ใส่หมวกทองห่มเสื้อนุ่งแพรจำรวจ นา ๓,๐๐๐ หมวกแพร เทศ ห่มเสื้อนุ่งแพร นา ๒,๔๐๐ ลงมาถึง นา ๑,๒๐๐ ถือดอกไม้เงีนดอกไม้ทองตามตำแหน่ง เข้าตอกดอกไม้ถวายบังคมพราหมณาจารย โยคีโภคีอาดาลตบศิวนั่งในราชวัต วันแรกการอธิภาศในวัน ๒ ราบอันก่อวัน ๓ สรางอันก่อวัน ๔ จบสมิทวัน ๕ ชักดึกดำบรรวัน ๖ ตั้งน้ำสุรามฤตย ๓ ตุ่ม ตั้งช้าง ๓ ศิศ ม้าเผือก อุศุภราช ครุทธราชนางดาราหน้าฉาน ตั้งเครื่องสรรพยุทธเครื่องช้างแลเชือกบาศ หอกไชย ตั้งโตมรของ้าว ชุบน้ำสุรามฤตย เทพดาผู้ดึกดำบรรร้อยรูป พระอิศวรพระนารายน์ พระอินทพระพิศวกรรม์ถือเครื่องสำรับตามทำเนียมเข้ามาถวายพระพรวันคำรพ ๗ พราหมณาจารยถวายพระพรวันคำรพ ๘ ท้าวพญาถวาย วันคำรพ ๙ ถวายช้างม้าจัตุรงค วันคำรพ ๑๐ ถวาย ๑๒ พระคลังวัน ๑๑ ถวายส่วยสัตพัทยากรวัน ๑๒ ถวายเมือง ๑๓ ถือน้ำสุรามฤตยวัน ๑๔ ยกบำนานเทพดาวัน ๑๕ ยกรางวันท้าวพญา วัน ๑๖ ยกรางวันลูกขุนหมื่นวัน ๑๗ พระราชทานแก่พราหมณาจารยวัน ๑๘ ซัดกรรมพฤกษวัน ๑๙ วัน ๒๐ วัน ๒๑ สามวัน ปรายเงีนทองสามวัน เล่นการมโหรสพเดือนหนึ่ง ตั้งรูปกุมภกรรณท์ตรงฉานสูงเส้นหนึ่ง มหาดเลกเปนพานร ลอดออกแต่ใน หู ตา จมูก ปาก } ครั้นเสรจ์การเสดจ์ด้วยพระราชรถให้ทานรอบเมือง จบการอินทราภิเษก”

จะเห็นว่า พระราชพิธีอินทราภิเษกตามที่ปรากฏในกฎมนเทียรบาลนั้นเป็นพระราชพิธีใหญ่ยิ่ง ใช้เวลาเป็นแรมเดือน พระราชพงศาวดารรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองระบุว่า มีพิธีทางพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย “...แล้วเชิญพระพุทธปฏิมากร แลพระไตรปิฎกมาตั้งเป็นประธาน นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะคามวาสีอรัญวาสี มาสวดพุทธปริตมหามงคลสูตรอันประเสริฐ...” เนื้อความตอนนี้ตรงกับในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ

จึ่งจะตั้งพุทธมง- คลสูตรปริต
วรสงฆประสิทธิ์ ชยมนตรมุนี
แล้วก็ชุมวรวา- จริเยนทรธิบดี
คุณคามวิธี อธิภาศก็โหม

นอกจากนี้ความในพระราชพงศาวดารยังบอกรายละเอียดของการจัดพิธีมณฑลซึ่งสอดคล้องกับในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ เช่นการตั้งรูปช้างอัฐคชในทิศทั้ง ๘ กล่าวคือ ทิศบูรพาไว้รูปเศวตกุญชรสีขาวบริสุทธิ์ ทิศอาคเนย์ไว้รูปโรมหัสดินทร์ สีพระเพลิง ทิศทักษิณไว้รูปรัตนหัสดินทร์ สีแก้วมุกดา ทิศหรดีไว้รูปอัญชันคเชนทร สีนิลุบล ทิศประจิมไว้รูปโกมุทกุญชร สีแก้วไพฑูรย์ ทิศพายัพไว้รูปนิลคเชนทร สีแก้วอินทนิล ทิศอุดรไว้รูปดามพกุญชร สีทองแดง ทิศอีสานไว้รูปเศวตคชาธาร สีขาวผ่อง (ในพระราชพงศาวดารกล่าวต่างออกไปว่า ไว้รูปสารโภมหัสดินทร์ สีเขียว)

สถานภาพของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงปกครองแผ่นดินโดย “อเนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” นั้นยังมิได้อยู่ในฐานะเทวราชา ดังนั้น จึงต้องประกอบพระราชพิธีอินทราภิเษกเป็น “อเนกเทพนิกรสโมสรสมมุติ”อันมีพระอินทร์เป็นประธานถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เพื่อความเป็นเทวราชาที่สมบูรณ์แบบ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งพระราชพิธีอินทราภิเษกกระทำขึ้นเพื่อให้พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นอยู่ในฐานะสมมุติเทวราชานั่นเอง การที่พระอินทร์จะแต่งตั้งพระมหากษัตริย์ให้เป็นพระจักรพรรดิราชาธิราช หรือพระสมมุติเทวราชนั้นต้องทำพิธีที่เขาพระสุเมรุอันเป็นหลักของจักรวาล จึงต้องมีการจำลองจักรวาล มีเขาพระสุเมรุ เขาไกรลาส เขาสัตตบริภัณฑ์ อสูร เทวดา ทานพ วิทยาธร คนธรรพ์ ฯลฯ ดังในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ

  ตั้งเมรุไกลาส
ศิขรวรอาสน์ พิมลฉายฉัน
ไว้ฤาษีสิทธิ์ วิทยาธรธรรพ์
ทานพสุบรรณ ยักษานาคินทร์

ฯลฯ

  ไว้เบญจกกุธ
พิไชยอาวุธ ในสูรพิมาน
เกาปิลดำถมอ มาลัยสังวาล
สรรพภูษากาญจน์ สร้อยสอดกุณฑล

รายละเอียดการตั้งมณฑลพระราชพิธีอินทราภิเษกดูได้จากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ตอนตั้งพระราชพิธีลบศักราชในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่พ้องกับคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ

เมื่อพระราชครูพราหมณ์ทำพิธีดังกล่าว คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ กล่าวสดุดีสมเด็จพระเจ้าปราสาททองว่า

เทพาอารักษ์เหลือหลาย ชุมชอมกันถวาย
ประนมบังคมกราบกราน  
บ้างเด็ดดอกดวงพวงมาลย์ กรองเป็นสร้อยสาร
กนกนาภรณ์พรรณ  
บ้างปรายรายลงแต่สวรรค์ ก้มเกล้าโอนอัญ
ชลิตเหนือศิรสาร  
บ้างร้องส้องสาธุการ สรรเสริญสมภาร
มกุฎเกล้าอยุธยา  

การที่เทพยดา “ก้มเกล้าโอนอัญชลิต” สมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้นเป็นลิ่งที่แสดงว่า เมื่อเสร็จการพระราชพิธีแล้ว พระองค์คือเทวราชา ขณะเดียวกันพระองค์ก็อยู่ในสถานะของพระโพธิสัตว์ด้วย ดังจะเห็นได้จากความที่ทรงอธิษฐานเมื่อพระราชทานทานรอบพระนคร

  ทานอันเราให้
จงเป็นปัจจัย แก่มารคนฤพาน
จงคงได้ตรัส เป็นพระวรญาณ
โปรดสัตว์สงสาร พิภพมณฑล

ฯลฯ

  เสด็จออกนอกทวาร
ไพชยนต์ปราการ หยุดสารยืนยัน
เรียกเอาพานทอง จำหลักลายวรรณ
ทอดพระกรพลัน หยิบปรายโปรยลง

ฯลฯ

  เสด็จรอบพระนคร
หยุดยังกุญชร ทุกพฤกษาสนธ์
ทานแก่พณิพก ยาจกโจษจน
รอบทังมณฑล พิภพเขตขัณฑ์

การพระราชทานทานรอบพระนครครั้งนี้ โปรดฯให้ตั้งต้นกำมพฤกษ์รอบกำแพงพระนคร ห่างกัน ๑๐ วา ต่อ ๑ ต้น นับเป็นการเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา

  แล้วตั้งราชวัติ
ลวดลายธงฉัตร เสร็จสรรพนับพัน
ไว้ต้นกำมพฤกษ์ สิบวาต่อกัน
รายรอบขอบขัณฑ์ สีมาปราการ

รายละเอียดของพระราชพิธีอินทราภิเษก ปรากฎที่ฉากลายรดน้ำในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งบัดนี้เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ฉากลายรดน้ำดังกล่าวเขียนเป็นเรื่องพระราชพิธีอินทราภิเษก ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จ พระราชพิธี พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงสันนิษฐานว่าฉากบานกลางน่าจะเขียนขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๑ พร้อมกับการสถาปนาพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท ส่วนฉากบานริมซ้ายและริมขวาเป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๔

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ