คุณค่าทางประวัติศาสตร์

จาก คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง

วรรณกรรมที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ หรือสดุดีบุคคลสำคัญผู้ใดผู้หนึ่งนั้นย่อมต้องมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประวัติและผลงานของผู้ที่ได้รับการสดุดี รวมถึงเรื่องราวหรือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นๆ

ในวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติที่มีลักษณะเป็นร้อยกรองหรือกวีนิพนธ์ ผู้แต่งย่อมต้องสอดแทรกความคิดและจินตนาการของตนเองไว้ในรูปของโวหารแบบต่างๆ ซึ่งอาจมีทั้งการเปรียบเทียบ การอ้างในสิ่งที่เหนือความเป็นจริง และการใช้สัญลักษณ์ ดังนั้นผู้ที่จะศึกษาวรรณกรรมประเภทนี้จึงควรพิจารณาใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบว่าส่วนใดเป็นกวีโวหาร ส่วนใดเป็นความจริง

คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง นับเป็นเอกสารชั้นต้นที่นำความกระจ่างมาสู่การศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีในสมัยนั้นได้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะเกี่ยวกับพระราชประวัติ ซึ่งในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯระบุว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อว่า พระองค์คือพระโพธิสัตว์ และจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๐ ในอนาคต ตามเรื่องราวในคัมภีร์อนาคตวงศ์ ประเด็นดังกล่าวนี้ไม่เคยปรากฏในเอกสารใดมาก่อน พระราชกรณียกิจหลายประการ เช่นพระราชพิธีอินทราภิเษก พระราชพิธีลบศักราช พระราชพิธีออกสนาม ฯลฯ ล้วนปรากฏรายละเอียดอยู่ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ

เนื้อหาคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ เริ่มต้นด้วยบทนมัสการพระรัตนตรัย แล้วกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าปราสาททองว่า ทรงเป็นพระโพธิสัตว์อยู่บนสรวงสวรรค์ ครั้นล่วงเข้าสู่กลียุค พระพุทธศาสนาถูกเบียดเบียนเศร้าหมอง พระอินทร์ และทวยเทพทั้งหลาย จึงประชุมพร้อมกันอัญเชิญให้เสด็จจุติลงมาเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อรักษาพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองคงอยู่ตราบ ๕,๐๐๐ ปี

เชิญเจ้ากูเสด็จไปเนียร- ทุกข์ศาสน์จงเสถียร-
ภาพห้าพันปี  
วรสยมภูวญาณโมลี รับคำโกสีย์
บดินทรเสด็จลีลา  
เจียรจากไอศวรรย์ลงมา ครอบครองอยุธยา
บุรินทรอินทรพิศาล  

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองกับเรื่องราวในคัมภีร์อนาคตวงศ์ เนื้อหาในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ ตอนที่กล่าวถึงมูลเหตุที่จะตั้งพระราชพิธีลบศักราชเมื่อจุลศักราช ๑๐๐๐ นั้นอ้างว่าเป็นไปตามพุทธทำนายว่า พระโพธิสัตว์ (คือสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) จะจุติลงมาเป็นพระมหากษัตริย์และลบศักราช เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของมวลมนุษย์ ทั้งยังระบุว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเคยเสวยพระชาติเป็นช้างปาลิไลยก์ในครั้งพุทธกาลซึ่งได้รับพุทธพยากรณ์ จากพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันว่า ช้างปาลิไลยก์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๐ ในกาลภายหน้า

วรพุทธพยาเทศธรรม์ แกล้งกล่าวโดยบรรพ์
นิยมพระคาถา  
ว่าปิ่นเกล้าเจ้าทวารา สรรเพชญลัภยา
อนาคโตทศพุทธ  
เป็นอาทิพระเมตไตยอุด ดมอวสานสุด
กุญชรป่าลีไลยก์  
ล้ำทศวรพุทธพิสัย วรโพธิเมตไตย
ก็จากพิมานแมนผจง  
อุบัติในขัตติโยวงศ์ เป็นราชายง
พระยศเลื่องฦๅปรา-  
กฎในพระนครทวารา ล้ำจักรพรรดา
ธิราชเรืองฤทธิไกร  

อนาคโตทศพุทธ” อันหมายถึงพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๐ ซึ่งเชื่อว่าจะอุบัติขึ้นในกาลอนาคตนั้น มีรายละเอียดอยู่ใน “คัมภีร์อนาคตวงศ์” เนื้อหาของคัมภีร์นี้กล่าวถึง “ทสโพธิสัตตุปปัตติกถา” หรือการอุบัติของพระโพธิสัตว์ทั้ง ๑๐ องค์ ซึ่งจะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระพุทธเจ้าต่อจากพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน โดยมีพระศรีอาริยเมตไตรยเป็นลำดับที่ ๑ คัมภีร์นี้กล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอนาคตทั้ง ๑๐ องค์เรียงตามลำดับ และบอกต้นไม้อันเป็นที่ตรัสรู้ด้วย คือ

๑. พระเมตไตยพุทธเจ้า หรือพระศรีอาริยเมตไตรย ต้นบุนนาคเป็นไม้ตรัสรู้

๒. พระรามพุทธเจ้า ต้นจันทน์เป็นไม้ตรัสรู้

๓. พระธรรมราชพุทธเจ้า ต้นกากะทิงเป็นไม้ตรัสรู้

๔. พระธรรมสามีพุทธเจ้า ต้นสาละเป็นไม้ตรัสรู้

๕. พระนารทพุทธเจ้า ต้นจันทน์เป็นไม้ตรัสรู้

๖. พระรังสีมุนีพุทธเจ้า ต้นจัมปาเป็นไม้ตรัสรู้

๗. พระเทวาเทวพุทธเจ้า ต้นจัมปาเป็นไม้ตรัสรู้

๘. พระนรสีหพุทธเจ้า ต้นแคฝอยเป็นไม้ตรัสรู้

๙. พระติสสพุทธเจ้า ต้นไทรเป็นไม้ตรัสรู้

๑๐. พระสุมังคลพุทธเจ้า ต้นบุนนาคเป็นไม้ตรัสรู้ (บางแห่งว่าต้นกากะทิง)

บุคคลที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือเป็นพระโพธิสัตว์นั้น จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ ประการได้แก่

๑. เกิดเป็นมนุษย์

๒. เป็นเพศบุรุษ

๓. ประกอบด้วยติกเหตุกเหตุ คือไม่โลภไม่โกรธไม่หลง

๔. ได้พบพระพุทธเจ้า

๕. ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา

๖. ได้อภิญญา ๖ และสมาบัติ ๘

๗. ได้สละชีวิตเป็นทาน

๘. แน่วแน่ต่อการปฏิบัติธรรม

คัมภีร์อนาคตวงศ์กล่าวถึงปฐมเหตุที่พระพุทธเจ้า(องค์ปัจจุบัน) จะแสดงเรื่องราวของพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ องค์ในอนาคตไว้ดังนี้

“...ในวันหนึ่งพระสารีบุตรเถระ กราบทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ พระอชิตจะได้เป็นพระอริยเมตไตรยพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐในภัททกัปป์นี้หรือในกัปป์อื่น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร...ในอนาคตพระพุทธเจ้า ๑๐ องค์จักเสด็จอุบัติ...”

คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ อ้างถึงเรื่องราวในครั้งพุทธกาลสอดคล้องกับอนาคตวงศ์ว่า ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่พร้อมหมู่สงฆ์สาวกนั้น ได้ทรงตอบคำถาม (เรื่องพระพุทธเจ้าในอนาคต) ตามรายละเอียดที่มีอยู่ในคัมภีร์ตรีบัญจก ทั้งยังทรงมีพุทธทำนายว่ากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา (พระโพธิสัตว์) จักได้ประกอบพระราชพิธีลบศักราช

เสนาบดีรับ พระโองการจักรี
ทูลแถลงคดีมี นยนีตดิเบาราณ
ปางพระบรมสรร- เพชญพุทธยอดญาณ
นิพนธภาคยพาร โดยสังเขปคาถา
เมื่อแต่งพระชาดก ศราพกเหลือตรา
สังวรรณนากา- รกธรรมมากมี
พระองคเป็นสัก- กวาบรวาที
ถามอรรถคามภีร์ อุปไมยปมาไฉน
พระองคเป็นบ- รวาทีจำเลยไป
โดยอรรถบรรไย ตรีบัญจกคาถา
ยังมีบรมวงศ์ สูรกระษัตริย์กระษัตรา
จักได้ประกอบทวา ทศมาสราศี

ความในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯอีกตอนหนึ่งว่า

จักได้ลบจุลศักราช ตามพุทโธวาท
สุคตเสด็จบัณฑูร  
องค์สรรเพชญพุทธางกูร เสด็จมาค้ำหนูน
บรมพุทธศาสนา  
ปางนั้นปิ่นเกล้าอยุธยา ได้สดับสารา
นุสารแย้มยิ้มสวร  
โดยท่านกล่าวมานี้ควร บ มิได้แผกผวน
ในตรีบัญจกคาถา  

คัมภีร์ตรีบัญจกที่กล่าวถึงในที่นี้อาจหมายถึง “อรรถกถาอนาคตวงศ์” ซึ่งเป็นคัมภีร์อธิบายขยายความเนื้อหาในคัมภีรอนาคตวงศ์อีกชั้นหนึ่ง และหากเป็นเช่นนี้คัมภีร์อนาคตวงศ์น่าจะมีในประเทศไทยมาก่อนรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และนับเป็นคัมภีร์สำคัญคัมภีร์หนึ่งที่รู้จักกันแพร่หลาย

ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปรากฏชื่อคัมภีร์อนาคตวงศ์ในศุภอักษรอัครมหาเสนาบดีไทยมีไปถึงอัครมหาเสนาบดีลังกา ในคราวประดิษฐานสงฆ์สยามวงศ์ ณ ลังกาทวีปเมื่อพุทธศักราช ๒๒๙๙ ศุภอักษรดังกล่าวระบุชื่อคัมภีร์ต่าง ๆ ที่ราชสำนักสยามส่งไปยังลังกาพร้อมกับสมณทูต มีคัมภีร์พุทธศาสนา ๙๓ คัมภีร์ และในจำนวนนั้น มีคัมภีร์อนาคตวงศ์และอรรถกถาอนาคตวงศ์ รวมอยู่ด้วย

คัมภีร์อนาคตวงศ์ กัณฑ์ที่ ๕ มีข้อความกล่าวถึงพระพุทธเจ้าที่จะอุบัติเป็นองค์ที่ ๑๐ ว่า

“...ในลำดับนั้น อันว่าช้างปาลิไลยหัตถีตัวนั้น ก็เป็นพระโพธิสัตว์ สร้างบารมีมาเป็นอันมาก จักได้ตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า ทรงพระนามชื่อว่าพระสุมงคลในอนาคต พระสุมงคลทศพลญาณเจ้านั้น มีพระองค์สูงได้ ๖๐ ศอก พระชนมายุยืนประมาณแสนปี กำหนดไม้กากะทิงเป็นพระศรีมหาโพธิ ประดับด้วยพระพุทธรัศมีรุ่งเรือง...”

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองไม่ทรงปฏิเสธว่า พระองค์คือพระโพธิสัตว์ ดังความในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ ตอนทรงบริจาคทานหลังพระราชพิธีลบศักราช

  เมื่อนั้นพระบาท
ธรธรรมมิกราช ปิ่นภพไอศูรย์
ลบจุลศักราช โดยธรรมบัณฑูร
หน่อพุทธางกูร รำพึงไปมา
  ว่าหน่อสรรเพชญ์
แต่ก่อนย่อมเสด็จ ยังทานศาลา
ทานแก่พณิพก ยาจกอันมา
ทั่วทศทิศา พิภพเขตขัณฑ์

คำว่า “หน่อพุทธางกูร” และ “หน่อสรรเพชญ์” นั้นมีความหมายว่า หน่อเนื้อพระพุทธเจ้าผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งคือพระโพธิสัตว์นั่นเอง ความอีกตอนหนึ่งกล่าวถึง “พุทธประเวณี แลการออกสนาม” ระบุอย่างชัดเจนว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงพระราชดำริถึงกรณียกิจของพระโพธิสัตว์แต่ปางก่อนว่ามุ่งสร้างบารมีอุทิศร่างกาย เลือดเนื้อและชีวิตเพื่อหวังอานิสงส์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

เมื่อนั้นเกล้าเจ้าอยุธยา ศุภจิตรนวรา-
เมศวจินดา รำพึงขวน
ว่าหน่อสมโพธิแต่ก่อนกล บพิตรบรมขวน
ขวายยะวนสร้าง พระสมภาร
บ มิได้คิดขันธสันดาน หฤทยนยก็ผลาญ
กายทำทาน บ รู้สุด
ขวักเนตรเฉทฉินท์ศิโรอุด- ดมเศียร ณ วิสุทธิ์
สดคือดวงบุษ- ปมาลัย

ฯลฯ

บัดนี้กูล่วงบวรใน พุทธวงศ ณ พิสัย
โพธิบำเพ็ญไฉน บุราณมา
กูจักทำตามพุทโธวา ศิกอุดมวรา
สุดศิโวงกา- รยเสถียรสถิต
เป็นปัจฉิมาวาจภาษิต ติภววิภวสถิต
เป็นจิรังนิต ยเบารา
กูจักจ่ายทรัพยนานา สตสดก ณ มหา
ทานแก่ทวิชา แลยาจก

การที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงกระทำให้ภาพของพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์นั้นนับเป็นกุศโสบายอันชาญฉลาด มีผลทางการเมืองการปกครองของพระองค์ด้วยการตอกย้ำความศรัทธาในหมู่อาณาประชาราษฎร์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงในสถานภาพของพระองค์และราชบัลลังก์นั่นเอง

คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ กล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงมีความรู้แตกฉานในพระเวทและศาสตร์ต่างๆ อย่างยิ่ง การที่จะให้ราษฎรศรัทธาในพระองค์นั้น พระองค์จะต้องทรงมีศรัทธาเป็นตัวอย่างก่อน ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงสร้างวัดวาอาราม พระพุทธรูป รวมถึงการที่ได้ทรงสร้างพระวิหารหลังหนึ่งในวัดพระศรีสรรเพชญ์

พระองค์ทรงเวทเวทางค์ สารศาสตร์คุณางค์
คุโณตโมรสธรรม  
ทรงโหราพยากรณำ รู้เวทศิวำ
ศิวายศิวาอาคม  
เป็นที่พำนักแก่สรมณ์ ด้วยเดชบรม
บพิตรโปรดปรานี  
เสร็จสร้างวรคันธกุฎี ชินรูปรังสี
สุพรรณพรายฉายฉาน  
แล้วสร้างวรพุทธวิหาร ในอาวาสสถาน
บรมศรีสรรเพชญ์  

นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชบริพารทั้งปวงสร้างพระพุทธรูป และพระวิหารถวายเป็นพุทธบูชา บนพื้นฐานของความเชื่อความศรัทธาของราษฎรว่า พระองค์คือพระโพธิสัตว์ที่อุบัติมาเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

มีโองการแก่เสนี จงทังหลายมี
มโนหฤทัยใสศานต์  
จักให้ทังหลายประดิษฐาน วรพุทธวิหาร
ละคนละคนทุกคน  

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ