พระราชพิธีออกสนาม
หลังจากพระราชพิธีลบศักราชและพระราชพิธีอินทราภิเษก ซึ่งกระทำเสร็จสิ้นในวัน “ปถมาเจตร...ดิถีวารจันทา” คือวันจันทร์ขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ จุลศักราช ๑๐๐๐ (พุทธศักราช ๒๑๘๑) แล้ว สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีพระราชดำริ “พุทธประเวณี” กระทำตามอย่างพระโพธิสัตว์ในอดีต ด้วยการบริจาค “สัตตสดกมหาทาน” อันเป็นการบริจาคทาน ๗ สิ่ง สิ่งละ ๑๐๐ (มิใช่สิ่งละ ๗๐๐ อย่างที่กล่าวในเรื่องมหาเวสสันดรชาดก)
ช้างร้อยข้อยทาสทารก | สัตรัตนกนก |
ทานแก่พณิพก | อันโทหล |
ผ้าผ่อนท่อนพัสดุโจษจน | อย่าคิดจิตจะขวน- |
ขวายจะเอาตน | ให้พ้นภพ |
การพระราชทานสัตตสดกมหาทานในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจัดให้มีขึ้นคราวเดียวกับพระราชพิธีออกสนาม สันนิษฐานว่าพระราชพิธีดังกล่าวจะจัดขึ้นในปีจุลศักราช ๑๐๐๒ (พุทธศักราช ๒๑๘๓) เนื่องจากท้ายพระราชพิธีออกสนามที่กล่าวไว้ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯระบุว่า มีการเบิกราชทูตพม่าและราชทูตลาวเข้าเฝ้าด้วย
เสร็จบอกแขกเมืองเข้ามา | อางวะหงสา |
สระพรั่งแลนั่งอึงอุด | |
เมืองศรีสัตตนาคนหุต | เนาสถานเดียวสุด |
พหูกถาปราศัย |
ความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า “...ครันศักราช ๑๐๐๒ ปีมะโรง โทศก พระเจ้ากรุงอังวะแต่งทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์นมา...” คณะราชฑูตดังกล่าวนำพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงอังวะตอบพระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งทรงชักชวนให้พม่าใช้ศักราชใหม่ที่พระองค์ทรงลบเมื่อพุทธศักราช ๒๑๘๑
พระราชพิธีออกสนามถือเป็นพระราชพิธีใหญ่ ในกฎมนเทียรบาลเรียกว่า “ออกสนามใหญ่” กำหนดทำในเดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ “...ตั้งพลพยู่ห ดาบดั้ง เขนเสโลห์ หอก ทวน ปืนไฟ น่าไม้ ธนู...” ในพระราชพิธีประกอบด้วยการละเล่นต่าง ๆ เช่น ฟันดาบ ไม้สูง หม่งครุ่ม ฯลฯ หน้าพระที่นั่ง
“...เมื่อแรกเสดจ์ออก ฬ่อช้าง รันแทะวัวชน กระบือชน ชุมพาชน ช้างชน คนชน ปรบไก่ คลีชงโคน ปล้ำมวย ตีดั้งฟันแย้งเชีง แวงเล่นกลคลีม้า...เรียกม้าฬ่อช้าง ระเบงซ้ายขวา รำดาบซ้ายขวาระบำออกหม่งครุ่ม พันพานนำหม่งครุ่มหน้ากลองตีไม้พุ่งหอก เล่นแพนยิงธนูปลายไม้ลอดบ่วงไต่เชือกหนัง ตีหรทึกเก้าลา ยกช้างเลี้ยงหม่งครุ่ม ชแม่แล้วคลีชงโคน ถ้ามีแขกเมืองเฝ้าแลเสดจ์ทรงคลีม้าไซ้...”
พระราชพิธีออกสนามใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาคงมิได้จัดบ่อยครั้งนัก ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯจึงกล่าวว่า
เมื่อนั้นเอิกเกริกวุ่นวาย | เลื่องฦๅทุกภาย |
ประเทศสบสีมา | |
ว่าปิ่นเกล้าเจ้าอยุธยา | กอปรการมหา |
พิธีพิธานออกสนาม | |
บุญเรามีมาเหลือหลาม | เห็นการออกสนาม |
ก็เกิดเป็นภัพตาหู |
สุจิตต์ วงษ์เทศ ให้ความเห็นเกี่ยวกับพระราชพิธีออกสนามไว้ในหนังสือ “ร้องรำทำเพลง : ดนตรีและนาฏศิลป์ชาวสยาม” ว่า
“...นับเป็นพระราชพิธีสำคัญที่สุดของแคว้นหรืออาณาจักร เพราะเป็นพิธีกรรมเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวพืชผลไร่นาในปีที่ผ่านมา และขอสิ่งสิริมงคลให้ผืนแผ่นดินท้องไร่ท้องนาที่จะต้องทำใหม่ในเดือนต่อ ๆ ไป อันจะส่งผลให้เกิดความมั่งคั่งและความมั่นคงแก่บ้านเมือง...”
การละเล่นต่างๆ ในพระราชพิธีออกสนามซึ่งกฎมนเทียรบาล เรียกว่า “สรรพยุทธ สรรพคิลา” อันได้แก่ โขน หม่งครุ่ม ฟ้อนรำ ระเบ็ง ระบำ และ ฟันดาบ ขี่ม้าล่อแพน ฯลฯ ความในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯมีว่า
โรงโขนโรงรำซ้ายขวา | โมงครุ่มผาลา |
ระเบ็งระบำรำขยัน | |
ลอดบ่วงหน่วงตาวยืนยัน | ปลายไม้ผัดผัน |
ธนุคหาเกรียงไกร | |
เลือกล้วนดาบด้างวาดไว | กุมจรีแกว่งไกว |
เลวงลวอนฟ้อนฟัน | |
รุกล้นต่อตาวผัดผัน | ดาบด้างฟัดกัน |
ฉะฉัดฉะฉาดผาดผาย |
ฯลฯ
ลางม้าได้หางโมรมาศ | อรออกยูรยาตร |
ระเหิดระหงไปมา | |
แสนสารชำนิงวงงา | ผาดเห็นอาชา |
กระหม่าวกระเหม่นตรับตัว | |
สองแก้มกินมันเมามัว | ผุดไล่ บ มิกลัว |
ตระบัดตระโบมโจมแทง |
จะเห็นว่าการละเล่นเหล่านี้เป็น“สรรพยุทธ สรรพคิลา” ที่เกิดจากการฝึกฝนและความชำนาญในการใช้อาวุธ ช้าง ม้า อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กองทหารเข้มแข็ง พร้อมรบอยู่เสมอ “ทุกตระทรวงการทหารพ่อเรือนพลไพร่” เพื่อแสนยานุภาพของกองทัพและพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นองค์พระประมุขแห่งราชอาณาจักร นอกจากสรรพยุทธ สรรพคิลา (กีฬา) แล้วยังมีการรวมพลหมู่ต่างๆ คล้ายกับการสวนสนามของทหารในสมัยปัจจุบัน
แล้วเทียบเรียบแสนยากร | แพนด้างโดมร |
กุทัณฑศรศรศิลป์ | |
คชรถหัยหัสดีอัสดินทร์ | กลาดกลางธรณินทร์ |
บ่ รู้กี่โกฎิเหลือแสน | |
หนึ่งเทียบเรียบพลแห่แหน | หอกตาวหลาวแหลน |
คทาธนูศรแสลง | |
ด้างทองแพนทองดูแสดง | เลื่อมลายพรายแสง |
จำหลุจำหลักลาวัณย์ | |
แล่งทองธนูทองเกาทัณฑ์ | เกราะกรายพรายพรรณ |
รจิตดาษมุกดา | |
ขนัดปืนแห่แหนซ้ายขวา | คล่ำเคลือบพสุธา |
บ่ รู้กี่ส่ำสามารถ |
พระราชพิธีออกสนามในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลังจากรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้ว น่าจะได้จัดขึ้นอีกในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศอีกด้วย ดังมีกล่าวไว้ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ว่า
เดือนห้าอ่าโฉมงาม | การออกสนามตามพี่ไคล |
สงกรานต์การบุญไป | ไหว้พระเจ้าข้าวบิณฑ์ถวาย |
เดือนห้าอ่ารูปล้ำ | โฉมฉาย |
การออกสนามเหลือหลาย | หลากเหล้น |
สงกรานต์การบุญผาย | ตามพี่ |
พระพุทธรูปฤาเว้น | แต่งข้าวบิณฑ์ถวาย |
คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง หมดเนื้อความลงในตอนที่พระโหราธิบดี ถวายพระฤกษ์เพื่อเสด็จฯพระราชพิธีออกสนาม
กษณะนั้นบั้นพระโหรา | ธิบดินทรมหา |
นุวงศพงศศุลี | |
ควณหาฤกษ์พารนาที | ศุภวารดิถี |
ประกอบแลชอบลัคนา |
พระโหราธิบดีผู้นี้นำจะเป็นคนเดียวกับ พระโหราที่กล่าวในพระราชพงศาวดาร รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในคราวที่จะเกิดเพลิงไหม้ “พระที่นั่งมังคลาภิเษกที่ชื่อปราสาททอง” ว่า
“...พระโหราถวายฎีกาว่า ในสามวันจะเกิดเพลิงในพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังตกพระทัย ด้วยพระโหราคนนี้แม่นยำนัก ครั้งหนึ่งเสด็จอยู่ในพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท มุสิกตกลงมา ทรงพระกรุณาเอาขันทองครอบไว้ ให้หาพระโหรามาทาย พระโหราคำนวณแล้วทูลว่าสัตว์สี่เท้า ทรงพระกรุณาตรัสว่ากี่ตัว พระโหราขับคำนวณแล้วทูลว่า สี่ตัว ทรงพระกรุณาตรัสว่าสัตว์สี่เท้านั้นถูกอยู่ แต่ที่สี่ตัวนั้นผิดแล้ว ครั้นเปิดขันทองขึ้นเห็นลูกมุสิกคลานอยู่สามตัวกับแม่ตัวหนึ่งเป็นสี่ตัวทรงพระกรุณาตรัสสรรเสริญพระโหราธิบดีว่า ดูแม่นกว่าตาเห็นเสียอีก...”
ความในคำฉันท์ตอนต่อจากพระโหราธิบดีถวายพระฤกษ์น่าจะดำเนินไปอีก มิใช่ขาดค้างอยู่เพียงเท่านี้แต่หากหมดหน้าสมุดในเล่มนี้เสียก่อนและต้นฉบับของคำฉันท์เรื่องนี้มีเพียงเล่มเดียวเท่านั้นหาต้นฉบับตอนต่อไปอีกไม่ได้ เนื้อความในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองตอนต่อจากนี้น่าจะสูญแล้ว