พระราชพิธีลบศักราช

การลบศักราช คือ การยกเลิกหรือเปลี่ยนปีศักราชที่ใช้อยู่แต่เดิมแล้วกำหนดให้ใช้ศักราชที่ตั้งขึ้นใหม่ลักษณะดังกล่าวเป็นการประกาศพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทำพิธีลบศักราชว่าทรงมีพระราชกฤษฎาภินิหารเหนือว่ากษัตริย์พระองค์อื่น

มูลเหตุของการลบศักราชในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้น บอกไว้ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ ว่า ทรงมีพระราชประสงค์จะให้พระเกียรติยศปรากฏอยู่ในโลก โดยแต่เดิมเมื่อครั้งกฤตยุคและทวาบรยุคนั้น สัตว์ทั้งหลายตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ครั้นถึงกลียุค คือยุคปัจจุบัน ปราศจากพระอรหันต์ขีณาสพที่จะสืบทอดหลักธรรมของพระพุทธเจ้า บัดนี้ (จุล) ศักราชล่วงมาได้ถึง ๑๐๐๐ แล้ว

ตรัสถามเป็นปริศนา คือสุธามาโสรจสรง
สิ่งใดจะคงตรง ยศไว้ในโลกา
สิ่งใดจะเป็นพำ- นักแก่อาดมอาดมา
สิ่งใดจะเป็นกา- รกธรรมธำรงทรง
เดิมเมื่อกฤดาทวา- บรยุคคคงตรง
สบสัตวธำรง ทศพิธธรรมา
บัดนี้ก็มาถึง กลียุคคกัลปา
สิ้นสุดขิณาอา- สยพที่จะสืบธรรม
บัดนี้มาลบศัก- กราชจบคำรบพัน
เราคิดจะทำฉัน ใดจะชอบประเวณี

จะเห็นว่าข้อความนี้อ้างถึงทวาบรยุคอันเป็นยุคที่พระนารายณ์อวตารเป็นพระกฤษณะ นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่มวลมนุษย์ตามที่กล่าวในคัมภีร์ปุราณะซึ่งเป็นที่มาของเรื่องพระอนิรุทธในอนิรุทธคำฉันท์ และการที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงลบศักราชก็เพื่อแก้กลียุคให้กลับเป็นทวาบรยุคอีกครั้งหนึ่ง ประเด็นนี้จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า พระมหาราชครูแต่งเรื่องอนิรุทธคำฉันท์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าปราสาททองมีน้ำหนักยิ่งขึ้น

หนังสือพงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) กล่าวถึงการลบศักราชในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองว่า

“...ในสมัยกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา จุลศักราชครบ ๑๐๐๐ ในปีขาลเป็นสัมฤทธิศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททองตั้งพระราชพิธีลบศักราชขาลสัมฤทธิศกเสีย เพราะปีขาลเป็นปีต้นของศักราชกาลียุคจึงเปลี่ยนเอาปีกุนเป็นสัมฤทธิศกคือถอยหลังขึ้นไปอีก ๒ ปี เอาปี ๙๙๘ เป็น ๑๐๐๐ ถ้วน เพื่อแก้กาลียุคให้เป็นทวาปรายุค...”

ศักราชกลียุค หรือที่ในพงศาวดารโยนกเรียกว่าศักราชกาลียุคนั้น ตั้งขึ้นก่อนพุทธกาล ๒๕๕๙ ปี ใช้สำหรับการคำนวณ วัน เดือน ปี และเวลาโดยถือเอาการโคจรของ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวต่างๆ และโลกเป็นเกณฑ์ ตามคัมภีร์พราหมณ์แบ่งยุคต่างๆ ออกเป็น ๔ ยุค คือ

๑. กฤตยุค ประกอบด้วยคุณความดี ๔ ส่วน

๒. ไตรดายุค ประกอบด้วยความดี ๓ ส่วน ความไม่ดี ๑ ส่วน

๓. ทวาบรยุค ประกอบด้วยความดีและความไม่ดีอย่างละ ๒ ส่วนเท่ากัน

๔. กลียุค ประกอบด้วยความดี ๑ ส่วน ความไม่ดี ๓ ส่วน

“...ถ้าจะรู้อายุกาลียุค ท่านให้ตั้ง ๗๒๐๐ ปีคือ องศา ๑ เอา ๖๐ คูณ เป็นอายุกลียุค ๔๓๒,๐๐๐ ปี...ในจำนวนปีแห่งยุคมีเกณฑ์แบ่งเป็นปริวรรตละ ๕,๐๐๐ ปี เกณฑ์จักร ๕,๐๐๐ ปีนี้จึงเกี่ยวเอามาใช้เป็นกำหนดในพุทธศาสนายุกาล ๕,๐๐๐ พระวัสสา นับแต่ปีพุทธปรินิพพานเป็นต้นมา...”

คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯอ้างพุทธพยากรณ์ตามคัมภีร์ตรีบัญจก ว่า พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาจะเป็นผู้ประกอบพระราชพิธีลบศักราช เปลี่ยนปีขาลสัมฤทธิศกเป็นปีกุนเอกศก และวันเถลิงศกหรือวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันจันทร์ขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕

ยังมีบรมวงศ์ สูรกระษัตริย์กระษัตรา
จักได้ประกอบทวา- ทศมาสราศี
โดยนัยบัญจก สัมเรทเสร็จธิศกปี
ขลาศกสำเร็จมี ก็จะสฤษดิเป็นกุน
จะตกจะแต่งมง- คลการยมากมุล
ขลาสฤษดิเป็นกุน แลจะขึ้นเป็นเอกศก
ตั้งปถมาเจตร โดยพยาเทศบัญจก
วันขึ้นเป็นเอกศก ดิถีวารจันทา

ความในพระราชพงศาวดาร กล่าวว่า มีพระบรมราชโองการให้ตั้งมณฑลพระราชพิธีบริเวณสนามหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ แต่ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ ว่าให้ตั้งพระราชพิธีที่สนามหน้าพระที่นั่งศรียโศธรมหาพิมานบรรยงก์ และมีการเปลี่ยนนามพระที่นั่งเป็นจักรวรรดิไพชยนต์ ตามที่ทรงอ้างถึงพระสุบินและประกอบการพระราชพิธีอินทราภิเษกพร้อมกับพระราชพิธีลบศักราชพร้อมกันในคราวเดียว

  ว่าให้ตั้งจักร
พยู่หโดยลักษณ์ โดยเลศอันมี
คือสูรปราสาท ในหน้าฉานคลี
โดยคิดผิดมี แต่ก่อนห่อนหลง
  ด้วยได้พระนาม-
มกรมาตาม กัมพุชประสงค์
ให้ชื่อศรียศ- โสธรบรรยงก์
จึ่งเทพาลง บอกเป็นปริศนา
  บัณหาว่านั้น
เราคิดเป็นมั่น เป็นแม่นนักหนา
นั้นคือจักรวรรดิ ไพชยนต์มหา
ซึ่งเทวปริศนา บอกเราเข้าใจ

เมื่อเปลี่ยนนามพระที่นั่งแล้วจึงประกอบพระราชพิธีลบศักราช ทำเป็นเขาพระสุเมรุ ประดิษฐานรูปพระอินทร์เป็นประธานมีเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อมรอบ พร้อมด้วยรูปทวยเทพ อสูร ทานพ นักสิทธิ์วิทยาธร ครุฑ นาค ฯลฯ “...จึงเอาแผ่นสุวรรณชาติลิขิตด้วยชาดหรคุณเป็นศักราชใหม่บรรทัดหนึ่ง เป็นศักราชเดิมบรรทัดหนึ่ง ใส่พานทองจำหลักสรรพางค์ วางไว้หน้าสมเด็จอมรินทราธิราช ใต้พระมหาเศวตฉัตร ณ เขาพระสุเมรุราช ...พระองค์ก็ถวายอภิวาทพระบรมรัตนัตยาธิคุณ... แล้วยกพระกรขวาลบศักราชเดิมนั้นสิ้นเสร็จ...”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ