ลักษณะคำประพันธ์

คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง ประกอบด้วยคำประพันธ์ประเภทฉันท์และกาพย์ ๗ ชนิด ได้แก่ วสันตดิลก ฉันท์ ๑๔ ฉบัง กาพย์ ๑๖ อินทรวิเชียร ฉันท์ ๑๑ สุรางคนางค์ กาพย์ ๒๘ โตฎก ฉันท์ ๑๒ มาลินี ฉันท์ ๑๕ และ สัทธรา ฉันท์ ๒๑ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ประพันธ์ใช้ฉบังกาพย์ ๑๖ เป็นหลักในการดำเนินเนื้อความส่วนใหญ่ จะใช้ฉันท์เมื่อเป็นตอนสำคัญ ๆ เท่านั้น เช่นใช้วสันตดิลก ฉันท์ ๑๔ ในบทประณามพจน์กับตอนสมเด็จพระเจ้าปราสาททองพระราชดำริพระสุบิน ใช้มาลินี ฉันท์ ๑๕ เมื่อพรรณนาสิ่งที่เป็นหมู่เป็นเหล่าตอนที่เทพยดาและสัตว์หิมพานต์ต่างยินดีที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงลบศักราช ใช้โตฎก ฉันท์ ๑๒ เมื่อพราหมณ์ทำพิธีโหมกูณฑ์ ใช้สัทธรา ฉันท์ ๒๑ เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จพระราชพิธีออกสนาม เป็นต้น

การเลือกใช้คำประพันธ์โดยเฉพาะชนิดของฉันท์ให้เหมาะกับเนื้อหาเรื่องราวนั้นมีมาก่อนแล้วในคำฉันท์ภาษาสันสกฤตซึ่งนักปราชญ์ครั้งโบราณของอินเดียเป็นผู้คิดไว้ ต่อมา วิทยาการแขนงนี้เผยแผ่เข้ามาในภูมิภาคอุษาคเนย์ พร้อมกับลัทธิศาสนา ดังจะเห็นได้จากศิลาจารึกต่างๆ ที่จารึกเป็นโศลกหรือบทฉันท์ภาษาสันสกฤต เช่นจารึกปราสาทพระขรรค์ บริเวณเมืองพระนคร ซึ่งจารึกขึ้นในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชอาณาจักรเขมรโบราณ ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จารึกปราสาทพระขรรค์เป็นภาษาสันสกฤต ประกอบด้วยคำประพันธ์ประเภทฉันท์หลายชนิด เช่น อินทรวิเชียร อุปชาติ วสันตดิลก มาลินี และศารทูลวิกรีฑิตา เป็นต้น กวีผู้ประพันธ์บทฉันท์ในจารึกดังกล่าวเลือกใช้ชนิดฉันท์ในเนื้อหาที่ต่างกัน ดังนั้น การใช้บทประพันธ์ฉันท์ต่างชนิดให้เหมาะกับเนื้อหาในวรรณคดีคำฉันท์ของไทยน่าจะได้แบบจากเขมรและอินเดียโบราณซึ่งมีมาก่อน

ฉันท์และกาพย์ทั้ง ๗ ชนิดที่พระมหาราชครูเลือกมาใช้ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ มีลักษณะบางประการที่แตกต่างไปจากฉันท์และกาพย์ที่แต่งกันในปัจจุบันหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ต่างจากฉันท์ไทยที่นิยมแต่งตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวลงมา ดังนี้

๑. ครุ ลหุ หนังสือหลักภาษาไทยของพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ซึ่งเรียบเรียงขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๑ อธิบายว่า

“ครุ หมายถึงพยางค์ที่ผสมสระยาว เช่น กา แพ แซ โต ฯลฯ และคำที่มีเสียงสะกด เช่น จัก กาก คิด ฉุน ฯลฯ และคำสระ อำ ไอ ใอ เอา ก็นับว่าเป็นครุ เพราะมีเสียงสะกด

ลหุ คือคำเบา หมายถึง พยางค์ที่ผสมสระสั้นไม่มีเสียงสะกด เช่น ก็ ติ เถอะ เผียะ เป็นต้น

อักษร (พยางค์) ตำแหน่งที่กำหนดให้เป็น “ลหุ” ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯมิได้เป็นไปตามข้อกำหนดของพระยาอุปกิตศิลปสาร กล่าวคือ อาจใช้รูปคำในลักษณะที่เป็น ครุ ก็ได้ เช่นในโตฎก ฉันท์ ๑๒

ครั้นแลไดศุภกร วรฤกษไชยา
สฤษดิเสร็จวรทวา ทศเทวศดนัย
จึ่งจะให้วรวา จริเยนทรมไห
สิทธิอวยพรใน ทวาทศกราศี

โตฎก ฉันท์ ๑๒ ในตำราฉันท์วรรณพฤติ ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส กำหนดคณะ

ุ ุ ั ุ ุ ั ุ ุ ั ุ ุ ั

จะเห็นว่าอักษรที่กำหนดให้เป็น ลหุ ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ ซึ่งตามหลักนั้นจะต้องประสมสระเสียงสั้น ไม่มีตัวสะกด แต่ท่านใช้รูปตัวเขียนเป็น ครุ ทั้งนี้อาจสันนิษฐานได้ว่า ฉันท์ไทยสมัยนั้นถือเอาการเปล่งเสียงจริงเป็นสำคัญ จุดใดที่ต้องการให้เป็น ลหุ เมื่ออ่านต้องออกเสียงให้เบากว่าปกติ จุดใดที่ต้องการให้เป็น ครุ เวลาอ่านต้องเน้นให้เสียงหนัก ดังนั้น คำ หรือ พยางค์ ที่เขียนด้วยรูปอักษรเดียวกันจึงอาจเป็นได้ทั้ง ครุ และ ลหุ และหากรูปคำมีเสียงมากกว่าหรือเกินกว่าที่คณะฉันท์นั้นกำหนดก็ต้องอ่านรวบให้สั้น ลักษณะดังกล่าวปรากฏในหนังสือคำฉันท์รุ่นเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

๒. การส่งสัมผัสระหว่างบท ฉันท์ชนิดต่าง ๆ ในตำราฉันท์สันสกฤตและบาลีนั้นกำหนดเพียงคณะ ครุ ลหุ มิได้กำหนดสัมผัสแต่อย่างใด ครั้นมีการพัฒนามาแต่งด้วยภาษาไทย เป็นฉันท์แบบไทยจึงมีการใส่สัมผัสทั้งสัมผัสนอก หรือสัมผัสบังคบลงไป เข้าใจว่าเมื่อนำฉันท์มาแต่งด้วยภาษาไทยระยะแรก ๆ นั้นคงไม่เคร่งครัดในเรื่องการส่งและรับสัมผัสมากนัก ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ จึงใช้คำเดียวกัน รับสัมผัสหลายแห่ง เช่น

สิ่งใดจะเป็นพำ- นักแก่อาดมอาดมา
สิงใดจะเป็นกา- รกธรรมธำรงทรง
เดิมเมื่อกฤตาทวา- บรยุคคคงตรง
สบสัตว์ธำรงทรง ทศพิธธรรมา

หรือ

ปางนั้นนเรนทร์สูร- สุรินทรธำรง
สดับอาจริโยวงศ์ บุรุษโสษฏทูลแถลง
ทูลถวายยุบลกล- นิพนธแจกแจง

กราบเกล้าบังคมแถลง

กิจการยโดยกรรม

ดังกล่าวแล้วว่าการส่งสัมผัสระหว่างบทซ้ำคำเดียวกันและความหมายเดียวกันนั้นน่าจะเกิดขึ้นในระยะแรกๆ ที่นำเอาฉันท์มาประพันธ์เป็นเรื่องยาวโดยใช้ภาษาไทย กวีไทยในสมัยต่อมาอาจพิจารณาเห็นว่าลักษณะดังกล่าวเป็นจุดบกพร่อง คำฉันท์ที่เกิดขึ้นในยุคต่อมาจึงหลีกเลี่ยงการส่ง รับสัมผัสด้วยคำเดียวกัน รวมถึงผลงานของพระมหาราชครู เช่น เสือโคคำฉันท์ และสมุทรโฆษคำฉันท์

๓. จำนวนคำในแต่ละคณะ ฉันท์ที่แต่งกันอยู่ในสมัยปัจจุบัน นิยมให้จำนวนอักษร (พยางค์) ลงตัว ตรงตามบังคับของคณะฉันท์ เช่น วสันตติลก ฉันท์ ๑๔ กำหนดบาทหนึ่ง ๑๔ อักษร

ั ั ุ ั ุ ุ ุ ั ุ ุ ั ุ ั ั
เรืองรองพระมนทิรพิจิตร กลพิศพิมานบน
ก่องแก้วและกาญจนระคน รุจิเรขอลงกรณ์

(สามัคคีเภทคำฉันท์)

วสันตดิลก ฉันท์ ๑๔ ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ มีจำนวนอักษร (พยางค์) แตกต่างออกไป เช่น

นบพระขิณาสยพอันทรง คุณคามภิร์เลิศไกร
นฤโศกนฤทุกขแลไภ ยพิโรธพาธา

บาทที่ ๒ ของตัวอย่างที่ยกมานี้เวลาอ่านต้องรวบเสียงให้ได้ ๑๔ อักษร คือ

นรึ-โสก-นะ-รึ-ทุก-ขะ-แล-ไพ ยะ-พิ-โรด-ทะ-พา-ทา

อักษรที่ขีดเส้นใต้นั้นเป็น ครุ ต้องลงเสียงหนัก

บางครั้งใช้เสียงต่อเนื่องระหว่างท้ายวรรคกับต้นวรรคต่อไป

ผินั้น บ มีบรมสังข์ หริสฤษดิสังหรณ์
ทรงสังขจักรคทแลธร- ธนูธำรงทรง

ในบาทที่ ๒ ต้องอ่านออกเสียงเนื่องระหว่างวรรคหน้ากับวรรคหลัง

ซง-สัง-ขะ-จัก-คะ-ทะ-แล-ทอน ระ-ทะ-นู-ธำ-รง-ซง

ผู้ที่จะอ่านฉันท์แบบเก่าต้องเข้าใจลักษณะบังคับของคณะฉันท์แต่ละชนิด โดยรวบเสียงในจุดที่ควรจะรวบ และเน้นเสียงในจุดที่ควรจะเน้น ตัวอย่างโตฎก ฉันท์ ๑๒ ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ

บ มินานก็ให้ตั้ง กรกุณฑพิธี
พุทธรูปแลตรี ปิฎกกฎอุตตโม

เมื่ออ่านควรเป็นดังนี้

ุ ุ ั ุ ุ ั ุ ุ ั ุ ุ ั
บอ-มิ-นาน-ก้อ-ให้-ตั้ง เกาะ-ระ-กุน-ทะ-พิ-ที
พุด-ทะ-รูบ-ปะ-แล-ตรี ปิ-ดก-กด-อุด-ตะ-โม

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ