คำนำ

คำฉันท์เป็นรูปแบบอย่างหนึ่งของกวีนิพนธ์ไทยที่ถือเป็นประณีตวรรณศิลป์ชั้นสูง โดยทั่วไปนำมาใช้เพื่อการประพันธ์ที่เป็นพิธีการ งานประพันธ์คำฉันท์มักเป็นเรื่องมีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาหรือพระมหากษัตริย์ หรืออาจประพันธ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม เช่นคำฉันท์ดุษฎีสังเวยต่างๆ เป็นต้น

คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง เป็นวรรณคดีสมัยอยุธยาที่มีความสำคัญเรื่องหนึ่ง เนื้อหาโดยรวมเป็นการสดุดีพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น นอกจากสุนทรียภาพในเชิงภาษาแล้ว สาระสำคัญอีกประการหนึ่งที่ได้จากวรรณคดีคำฉันท์เรื่องนี้คือ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งหลายประเด็นไม่เคยปรากฏในเอกสารอื่น เช่น การที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อว่าพระองค์คือพระโพธิสัตว์ ซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๐ ตามที่ระบุในคัมภีร์อนาคตวงศ์

อนึ่ง รูปแบบของวรรณคดีคำฉันท์นั้น ปรากฏในประวัติวรรณคดีไทยว่าหนังสือเสือโคคำฉันท์ ของพระมหาราชครูเป็นคำฉันท์เรื่องแรก แต่ในบานแพนกของคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง แสดงความเห็นไว้ว่าเรื่องเสือโคคำฉันท์แต่งภายหลังเรื่องนี้ ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯน่าจะเป็นคำฉันท์เรื่องแรกและเป็นประดิษฐการทางวรรณศิลป์ที่เกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มิใช่เกิดในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตามที่เชื่อกัน

กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เคยตีพิมพ์คำฉันท์เรื่องนี้เผยแพร่แล้วในหนังสือ วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม ๓ การพิมพ์ครั้งนั้นคงอักขรวิธีเดิมตามต้นฉบับสมุดไทย จึงทำให้ผู้ศึกษาที่ไม่คุ้นเคยกับอักขรวิธีแบบเก่าประสบปัญหายุ่งยากในการพิจารณาเนื้อความ

ในการพิมพ์ครั้งนี้ กรมศิลปากรได้มอบให้ นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ข้าราชการกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบเพื่อนำเสนอข้อสรุปประเด็นต่างๆ นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบชำระปรับปรุงต้นฉบับใหม่ทั้งหมด โดยใช้หลักวิชาการทางอักษรศาสตร์ ภาษาศาสตร์ นิรุกติศาสตร์และประวัติศาสตร์ เรียบเรียงคำอธิบายเนื้อหา บทวิเคราะห์รวมทั้งปรับอักขรวิธีให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน ทั้งนี้ได้วิเคราะห์ศัพท์ยาก และจัดทำเป็นศัพทานุกรมท้ายเล่ม เพื่อให้สะดวกแก่การศึกษาค้นคว้าต่อไป

ด้วยเหตุที่วรรณคดีเรื่องนี้เป็นภาษาเก่าสมัยอยุธยาตอนกลาง คำศัพท์หลายคำไม่มีใช้ในปัจจุบัน บางคำเปลี่ยนรูปไปจากเดิมซึ่งอาจรวมถึงการเปลี่ยนเสียงด้วย ทำให้การจัดทำต้นฉบับเป็นไปด้วยความยากลำบากต้องใช้วรรณคดีสมัยอยุธยาเรื่องอื่นๆ เป็นหลักในการเปรียบเทียบสอบทาน

กรมศิลปากรหวังว่า หนังสือคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง นี้จะอำนวยประโยชน์แก่ผู้สนใจศึกษาวรรณคดีและประวัติศาสตร์โดยทั่วกัน

นาวาอากาศเอก (อาวุธ เงินชูกลิ่น)

อธิบดีกรมศิลปากร

กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๓

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ