ภูมิหลังสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ หรือสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯขานพระนามว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง คำว่าพระพุทธเจ้าหลวงนั้นเป็นคำขานพระนามพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตแล้ว มีตัวอย่างในนิราศภูเขาทองซึ่งสุนทรภู่ แต่งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขานพระนามพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า “พระพุทธเจ้าหลวง” เช่นกัน

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง ทรงครองราชสมบัติระหว่างปีพุทธศักราช ๒๑๗๓-๒๑๙๘ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาที่กอปรด้วยบุญญาภินิหารอันน่าอัศจรรย์พระองค์หนึ่ง พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามิได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชประวัติก่อนเสวยราชย์ของพระองค์ไว้มากนัก กล่าวเพียงว่า รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็นพระมหาอำมาตย์ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ในรัชกาลเดียวกัน

ในจดหมายเหตุวัน วลิต ซึ่ง Jeremais Van Vliet ชาวฮอลันดา พนักงานบริษัทอินเดียตะวันออกซึ่งได้มาประจำอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาระหว่างปี พุทธศักราช ๒๑๓๖-๒๑๘๕ และเขียนจดหมายเหตุ ดังกล่าวไว้เมื่อปีพุทธศักราช ๒๑๘๓ บันทึกเหตุการณ์ตั้งแต่ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง วัน วลิตเขียนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรสยามครั้งนั้นจากประสบการณ์ตรงของตน จดหมายเหตุวัน วลิตทำให้เราได้ทราบพระประวัติของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ชัดเจนยิ่งขึ้น

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีพระนามเดิมว่า พระองค์ไล เป็นบุตรของออกญาศรีธรรมาธิราชซึ่งเป็นภาดาของพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ไลรับราชการในกรมมหาดเล็ก มีบรรดาศักดิ์เป็นที่จมื่นศรีสรรักษ์ (Pramonsy Saropha) ต่อมาเป็นที่จมื่นสรรเพธภักดี (Sompan Meon) แล้วเลื่อนเป็นออกญาศรีวรวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ครั้นสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตแล้วได้เลื่อนเป็นออกญากลาโหม

ขณะที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มคะนองมีบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นศรีสรรักษ์นั้น จดหมายเหตุวัน วลิต กล่าวว่า ทรงมีอุปนิสัยห้าวหาญ ไม่ยอมแพ้ใคร ครั้งหนึ่งในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงแต่งตั้งให้ “ออกญาข้าว” เป็นพระยาแรกนา จมื่นศรีสรรักษ์ได้ก่อคดีอุกฉกรรจ์ขึ้น

“...พระองค์ได้พระราชทานพระภูษาใหม่อันเป็นฉลองพระองค์ของกษัตริย์ และให้ใส่มงกุฎรูปกรวยแหลมลงบนศีรษะ ออกญาข้าวต้องนั่งในบุษบกเล็กๆ ทรงปิรามิด มีคน ๘ คนหามออกเดินจากพระราชวังไปตามถนน มีบริวารล้นหลาม พร้อมด้วยเครื่องดีดสีตีเป่าติดตามไปยังชนบท ทุกๆ คนแม้แต่เสวกามาตย์และชาววังคนอื่น ๆ ถวายเกียรติยศทำนองเดียวกับที่ถวายพระเกียรติแก่พระเจ้าแผ่นดิน ทั้งนี้เพราะเขาได้ถูกสมมุติให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ออกญาข้าวไม่ได้รับค่าตอบแทนอื่นใด นอกจากเงินที่เก็บจากค่าปรับไหมจากคนที่พบกลางทาง...พระยาแรกนาเมื่อมาถึงโรงพิธี ก็อนุญาตให้ทุก ๆ คนเข้าโจมตีต่อสู้กับพรรคพวกและบริวารผู้ติดตาม มีกฎอยู่ว่าผู้ที่เข้าโจมตีจะแตะต้องตัวหรือองครักษ์ของพระยาแรกนาไม่ได้ และถ้าหากพระยาแรกนาได้ชัยชนะในการต่อสู้กับฝูงชนแล้ว จะเป็นสัญลักษณ์ว่าปีนั้นข้าวอุดมสมบูรณ์ และถ้าการณ์กลับตรงกันข้าม พระยาแรกนาต้องหนีกระเจิงก็ทำนายว่าเป็นลางร้ายและเกรงว่าภูตผีจะทำลายพืชผลของแผ่นดิน... ขณะนั้นออกญากลาโหมเพิ่งมียศเป็นจมื่นศรีสรรักษ์และมีอายุประมาณ ๑๘ ปี วันหนึ่งเมื่อมีการทำพิธีนี้ เขาได้อยู่ที่ชนบทนั้นด้วย โดยมากับน้องชาย ...ทั้ง ๒ คนขี่ช้างมีบ่าวไพร่ติดตามมาหลายคนและได้เข้าโจมตีพระยาแรกนาอย่างดุเดือด ดูเหมือนว่ามีเจตนาจะฆ่าพระยาแรกนาและกลุ่มผู้ติดตามทั้งหมดด้วย ...จมื่นศรีสรรักษ์ก็ถอดดาบและโถมเข้าสู้อย่างดุเดือด จนพระยาแรกนาและองครักษ์จำต้องถอยหนี...”

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองยังทรงพระเยาว์ วัน วลิตยังมิได้เข้ามาในราชอาณาจักรสยามแต่คงได้ทราบเรื่องราวจากคำบอกเล่าของคนไทย หรือพนักงานของบริษัทอินเดียตะวันออกซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาก่อนหน้านั้นแล้ว และเรื่องที่เกิดต้องเป็นข่าวใหญ่ร่ำลือกันทั่วพระนคร สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงพระพิโรธยิ่งนัก รับสั่งให้ติดตามจับกุมจมื่นศรีสรรักษ์เป็นการด่วน ทั้งคาดโทษออกญาศรีธรรมาธิราช ผู้เป็นบิดาว่าหากไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้จะประหารชีวิตออกญาศรีธรรมาธิราชด้วย จมื่นศรีสรรักษ์นั้นหนีไปหลบซ่อนอยู่กับพระสงฆ์ในวัดแห่งหนึ่งเมื่อทราบว่าบิดากำลังได้รับความเดือดร้อนเช่นนั้นจึงออกจากที่หลบซ่อนมาเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว

“...พระองค์จับเขาโยนเข้าไปในคุกใต้ดินรับสั่งให้พันธนาการไว้ด้วยโซ่ตรวนที่ส่วนทั้ง ๕ ของร่างกาย จมื่นศรีสรรักษ์ถูกจำขังอยู่ในคุกมืดเป็นเวลา ๕ เดือน จนกระทั่งเจ้าขรัวมณีจันทร์ชายาม่ายของพระเจ้าอยู่หัวในพระโกศ คือ พระ Marit หรือ พระองค์ดำ ได้ทูลขอจึงได้กลับเป็นที่โปรดปรานอีก...”

เจ้าขรัวมณีจันทร์ที่วัน วลิตระบุว่าเป็นพระชายาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เอกสารต่างชาติหลายฉบับขานพระนามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า พระนเรศ พระนริศ หรือ พระองค์ดำ การที่เจ้าขรัวมณีจันทร์ได้กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษจมื่นศรีสรรักษ์นั้น น่าจะแสดงถึงความสัมพันธ์ในฐานะพระญาติสนิทของบุคคลทั้ง ๒ และเจ้าขรัวมณีจันทร์ผู้นี้คือพระชนนีของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ประเด็นดังกล่าวนี้สนับสนุนว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมีความจำเป็นทางการเมืองบังคับให้ต้องทรงผนวชในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ

เนื้อความที่ว่าจมื่นศรีสรรักษ์เป็นพระญาติฝ่ายพระชนนีของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และนับเนื่องเป็นเจ้าหลานเธอในพระเจ้าแผ่นดิน นอกจากจะปรากฏในเอกสารของวัน วลิตแล้ว ในคำให้การขุนหลวงหาวัด เอกสารของพม่าซึ่งสอบถามเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา จากสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ภายหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ แล้ว มีข้อความตอนหนึ่งที่ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

“...พระราชนัดดาองค์หนึ่งเป็นหน่อเนื้อข้างฝ่ายพระมารดา พระองค์จึงเอาพระราชนัดดาที่ชื่อสุริยวงศ์กุมารนั้นมาเลี้ยงไว้ในพระราชฐานจึงประทานชื่อให้เรียกว่าเจ้าพระยาสุริยวงศ์ ว่าที่จักรีกลาโหม กรมท่า แล้วประทานเครื่องสูงต่างๆ มีพานทองสองชั้น กระโถนทองทั้งพระแสงก็ประทาน นั่งแคร่จมูกสิงห์...”

ข้อมูลพระราชประวัติตามเอกสารของวัน วลิต กล่าวต่อไปอีกว่า จมื่นศรีสรรักษ์หลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ จากการทูลขอของเจ้าขรัวมณีจันทร์ แทนที่จมื่นศรีสรรักษ์จะเข็ดขยาดต่อราชทัณฑ์ที่เคยได้รับในคราวโจมตีพระยาแรกนา กลับคิดการร้ายยิ่งขึ้นไปอีกถึงขั้นวางแผนลอบปลงพระชนม์พระองค์ทองกับพระศรีศิลป์ พระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่ยังไม่ทันได้ลงมือทำการ ความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัวเสียก่อน ครั้งนี้จมื่นศรีสรรักษ์ต้องได้รับโทษถูกจำอยู่ในคุกมืดถึง ๓ ปี จนคราวหนึ่งเขมรตั้งแข็งเมืองสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระราชดำริจะกรีธาทัพไปปราบด้วยพระองค์เอง จมื่นศรีสรรักษ์ซึ่งอยู่ในที่คุมขังจึงทูลอาสาไปในการศึกครั้งนั้น แม้ว่ากองทัพไทยจะไม่สามารถตีเขมรได้สำเร็จ แต่จมื่นศรีสรรักษ์ได้แสดงความองอาจในการรบให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เมื่อกองทัพกลับถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วจมื่นศรีสรรักษ์จึงได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งในตำแหน่งจมื่นสรรเพธภักดี อย่างไรก็ตามเอกสารของวัน วลิตยังคงเรียกนามเดิมคือจมื่นศรีสรรักษ์

“...แม้กระนั้นจมื่นศรีสรรักษ์ก็ไม่เปลี่ยนแปลงอุปนิสัยสันดาน เพราะมาเป็นชู้กับชายาและสนมของเจ้าชายพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน พระอนุชาได้กราบทูลร้องทุกข์อย่างขมขื่นในเรื่องนี้ พระเจ้าแผ่นดินทรงกริ้วมากถึงกับให้ตัดสินลงโทษประหารชีวิต และด้วยเห็นแก่คำอ้อนวอนของพระราชมารดาและออกญาศรีธรรมาธิราชบิดาของเขา จึงทรงลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต...”

จมื่นศรีสรรักษ์ติดคุกอยู่อีก ๓ ปี ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และกลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่งการได้รับพระราชทานอภัยโทษครั้งหลังสุดนี้จดหมายเหตุวัน วลิตมิได้ระบุสาเหตุ แต่อาจสันนิษฐานได้ว่าเจ้าขรัวมณีจันทร์พระชนนีของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมคงทูลขอพระราชทานอภัยโทษเช่นเดียวกับคราวก่อนๆ

หลังจากพ้นโทษแล้วจมื่นศรีสรรักษ์ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ความกล้าได้กล้าเสีย กล้าตัดสินใจ ผนวกกับความสามารถในราชการจึงเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกญาศรีวรวงศ์

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ออกญาศรีวรวงศ์ก้าวขึ้นสู่ราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาได้แก่เหตุการณ์ตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ที่ได้ทรงแสดงเจตน์จำนงมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสอันเป็นการขัดต่อกฎมนเทียรบาลที่ระบุไว้ว่า ผู้ที่สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตคือสมเด็จพระอนุชาธิราชซึ่งทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชหรือเป็นวังหน้าอยู่ก่อน วัน วลิตแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

“...ในอาณาจักรสยามมีกฎหมายสำคัญบทหนึ่ง ซึ่งบ่งว่าพระอนุชาธิราชของพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตต้องได้ครองราชบัลลังก์และให้ตัดสิทธิ์พระโอรสออกไป การฝ่าฝืนกฎหมายนี้ได้เกิดขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ทรงธรรมเจ้าช้างเผือก พระเจ้าแผ่นดินอาณาจักรสยาม ได้ทรงแต่งตั้งพระราชโอรสของพระองค์ให้สืบสันตติวงศ์ครองอาณาจักรแทนพระอนุชาซึ่งควรจะได้รับมงกุฎต่อไป...”

เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต ข้าราชการทั้งปวงมีออกญาศรีวรวงศ์เป็นหัวแรงสำคัญได้อัญเชิญพระราชโอรสองค์โต ซึ่งมีพระชนม์เพียง ๑๕ พรรษาขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเชษฐาธิราช ทั้งนี้ต้องกำจัดพระศรีศิลป์ พระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมซึ่งดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชอยู่ รวมทั้งต้องกำจัดข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเชษฐาธิราช เช่นออกญาพระคลัง ออกญากลาโหม และออกญาเสนาภิมุขหัวหน้ากองอาสาญี่ปุ่น ครั้นกำจัดออกญากลาโหมผู้คุมกำลังสำคัญของราชอาณาจักรลงได้สำเร็จ ออกญาศรีวรวงศ์ก็ขึ้นเป็นออกญากลาโหมแทน มีนามตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่าเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์

สมเด็จพระเชษฐาธิราชครองราชสมบัติได้ ๑ ปี ๗ เดือน เจ้าพระยากลาโหมจัดการปลงศพมารดาเป็นงานใหญ่ ความในพระราชพงศาวดารมีว่า

“...เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ออกไปตั้งการปลงศพ ณ วัดกุฏิข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนผู้ใหญ่ผู้น้อยออกไปช่วยนอนค้างอยู่เป็นอันมาก ฝ่ายข้าหลวงเดิมพระเจ้าอยู่หัวกราบทูลยุยงเป็นความลับว่า เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ทำการครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก หากเอาการศพเข้ามาบังไว้ เห็นจะคิดประทุษร้ายต่อพระองค์เป็นมั่นคง...”

เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชออกว่าราชการในวันรุ่งขึ้น ขุนนางส่วนใหญ่ยังอยู่ในงานของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ มิได้มาเฝ้าแหนดังปกติ จึงรับสั่งให้กองทหารขึ้นประจำหน้าที่รักษาพระราชวัง และเรียกตัวเจ้าพระยากลาโหมเข้าเฝ้าเป็นการด่วน เจ้าพระยากลาโหมตระหนักดีว่าภัยกำลังจะเกิดกับตน จึงหารือกับข้าราชการที่ร่วมอยู่ในที่นั้น ในที่สุดก็ยกกำลังเข้ามายังพระราชวังหลวง จับสมเด็จพระเชษฐาธิราชปลงพระชนม์ แล้วยกพระอาทิตยวงศ์ พระชนม์ ๙ พรรษา พระราชโอรสอีกองค์หนึ่งของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นการดำเนินแผนก้าวขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ เนื่องจากสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ยังทรงพระเยาว์นัก มิได้รู้ที่จะว่าราชการบ้านเมือง อยู่มาได้ ๖ เดือน ข้าราชการทั้งหลายซึ่งเวลานี้ล้วนอยู่ในอาณัติของเจ้าพระยากลาโหมทั้งหมด เห็นชอบร่วมกันถอดพระอาทิตยวงศ์ออกจากราชสมบัติ และเชิญเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ขึ้นครองราชสมบัติ เริ่มรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อปีพุทธศักราช ๒๑๗๓ มีพระนามปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕

พระนามที่ขานกันว่า “พระเจ้าปราสาททอง” นั้น ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ตอนพระเจ้ากรุงอังวะส่งราชทูตมาจำทูลพระราชสาส์น เมื่อจุลศักราช ๑๐๐๒ ว่า

“...ขอจำเริญทางพระราชไมตรีมายังสมเด็จพระเจ้ากรุงทวาราวดีศรีอยุธยา ด้วยแจ้งกิติศัพท์ไปว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้นทิวงคตแล้ว พระองค์เสด็จขึ้นผ่านพิภพตามราชประเพณี มีพระเกียรติยศเกียรติคุณใหญ่ยิ่งกว่ากษัตราธิราชแต่ก่อน กอปรด้วยปราสาททอง และโคบุตรกุญชรชาติตัวประเสริฐ...”

ตำนานที่มาของพระนาม “ปราสาททอง” ปรากฏในคำให้การขุนหลวงหาวัดว่า

“ทรงพระสุบินนิมิตว่าอันจอมปลวกที่เล่นเมื่อยังย่อมอยู่นั้น มีปราสาททองอันวิจิตรอยู่ในใต้จอมปลวกนั้น ครั้นเช้าพระองค์จึงเสด็จไปแล้วพิจารณาดูที่ตำบลอันนั้น จึงให้ขุดลงที่จอมปลวกนั้น จึงเป็นมหัศจรรย์อยู่หนักหนา เสียงนั้นดังครื้นเครงไปทั้งสิ้น ครั้นขุดลงไป จึ่งได้เห็นปราสาททองเป็นจตุรมุข อันทองนั้นสุกแล้วมีลายอันงามประเสริฐแต่ต้นจนยอดปราสาทนั้นสูงประมาณได้ศอกเศษ พระองค์จึงเอาปราสาททองนั้นไว้ จึงสมมุติเรียกว่าเจ้าปราสาททองมาแต่ครั้งนั้น...”

จอมปลวกที่อ้างในคำให้การขุนหลวงหาวัดว่าขุดพบปราสาททองนี้ มีเรื่องราวพิสดารในคำให้การชาวกรุงเก่าสอดคล้องกันดังนี้

“...พระราชนัดดาองค์หนึ่งทรงพระนามว่าสุริยกุมาร เป็นเชื้อพระวงศ์ ฝ่ายพระราชมารดาของพระเจ้าติโลกนาถ (สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) พระสุริยกุมารนี้มีอัธยาศัยผิดกว่าคนธรรมดามาแต่ยังเยาว์ เวลาที่เล่นกับเพื่อนทารกด้วยกันนั้น พระสุริยกุมารให้เอาเครื่องลาดๆ บนจอมปลวก แล้วเสด็จขึ้นนั่ง แต่งตั้งพวกทารกให้เป็นเสนาบดี และข้าราชการแล้ว ก็เล่นว่าราชการ...”

นอกจากนี้แล้วยังมีตำนานอื่นๆ ที่เล่าถึงพระอภินิหารในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองอีกหลายเรื่องซึ่งจะไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้

พระนาม “ปราสาททอง” ที่ราษฎรถวายพระราชสมัญญาแด่พระมหากษัตริย์พระองค์นี้แท้จริงแล้วมีที่มาจากพระที่นั่งมังคลาภิเษก ซึ่งโปรดฯให้สร้างเป็นปราสาทปิดทองทั้งองค์ ต่อมาพระที่นั่งดังกล่าวถูกฟ้าผ่าเกิดเพลิงไหม้ได้รับความเสียหาย ครั้นปฏิสังขรณ์แล้ว พระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งวิหารสมเด็จ ลักษณะเป็นปราสาทยอดปรางค์ ปิดทองทั้งองค์ เรียกกันว่า “พระที่นั่งปราสาททอง” และขานพระนามพระมหากษัตริย์ผู้สถาปนาพระที่นั่งดังกล่าวว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง” ตามลักษณะของพระที่นั่งองค์นั้น

พระราชกรณียกิจสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

แม้ว่าพระองค์ไลซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจะนับเนื่องอยู่ในพระราชวงศ์เป็นพระญาติกับพระชนนีในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่พระองค์มิใช่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่จะได้สืบราชสมบัติ ดังนั้นเมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พระองค์จะต้องแสดงพระบรมเดชานุภาพและพระราชกฤษฎาภินิหารให้เป็นที่ประจักษ์ การขยายราชอาณาเขตตลอดจนการก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆในรัชสมัยของพระองค์ ล้วนเป็นสิ่งยืนยันถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของกรุงศรีอยุธยา

หลังจากพระราชพิธีปราบดาภิเษกในปีพุทธศักราช ๒๑๗๓ แล้ว ในปีนั้นทรงพระราชอุทิศนิวาสสถานเดิมของพระชนนี สถาปนาวัดไชยวัฒนารามขึ้น ความในพระราชพงศาวดารว่า

“...ที่บ้านสมเด็จพระพันปีหลวงนั้น พระเจ้าอยู่หัวให้สถาปนาพระมหาธาตุเจดีย์ มีพระระเบียงรอบ แลพระระเบียงนั้นกระทำเป็นเมรุทิศเมรุรายอันรจนา กอปรด้วยพระอุโบสถ พระวิหาร การเปรียญ แลสร้างกุฎีถวายพระสงฆ์เป็นอันมาก เสร็จแล้วให้นามชื่อวัดไชยวัฒนาราม เจ้าอธิการนั้นถวายนามชื่อพระอชิตเถร ราชาคณะฝ่ายอรัญวาสี ทรงพระราโชทิศถวายนิตยภัตพระกัลปนาเป็นนิรันดรมิได้ขาด...”

ปีพุทธศักราช ๒๑๗๔ โปรดฯให้ช่างไปถ่ายแบบปราสาทพระนครหลวง ประเทศกัมพูชามาสร้างเป็นพระราชวัง ที่ตำบลวัดเทพจันทร์ สำหรับประทับร้อนในการเสด็จพระราชดำเนินนมัสการพระพุทธบาท และโปรดฯให้สถาปนาวัดใหม่ประชุมพลขึ้นบริเวณใกล้ๆ กับพระราชวังประทับร้อนนั้นด้วย พระราชวังดังกล่าวปัจจุบันได้แก่ ปราสาทนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ปีพุทธศักราช ๒๑๗๕ โปรดฯให้สถาปนาพระที่นั่งศรียโศธรมหาพิมานบรรยงก์ พระที่นั่งองค์นี้ในพระราชพงศาวดารเรียกว่าพระที่นั่ง “ศิริยศโสธรมหาพิมานบรรยงก์” ที่มาของนามนี้มาจาก “ศรียโศธรปุระ” ซึ่งได้แก่พระนครหลวงหรือนครธม ราชธานีของกัมพูชาในครั้งนั้น เมื่อปราบเขมรได้ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จึงนำชื่อราชธานีเขมรมาตั้งเป็นนามพระที่นั่งเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ต่อมาโปรดฯให้เปลี่ยนนามเป็น “พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท” มูลเหตุที่จะเปลี่ยนนามพระที่นั่งดังกล่าวปรากฏในพระราชพงศาวดารดังนี้

“...ในเพลากลางคืนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุบินนิมิตว่า สมเด็จอมรินทราธิราชลงมานั่งแทบพระองค์ไสยาสน์ ตรัสบอกให้ตั้งจักรพยุห แล้วสมเด็จอมรินทราธิราชหายไป เพลาเช้าเสด็จออกขุนนาง ทรงพระกรุณาตรัสเล่าพระสุบินให้โหราพฤฒาจารย์ทั้งปวงฟัง พระมหาราชครูปโรหิตโหราพฤฒาจารย์ถวายพยากรณ์ทำนายว่า เพลาวานนี้ ทรงพระกรุณาให้ชื่อพระมหาปราสาทว่า ศิริยศโสธรมหาพิมานบรรยงก์นั้น เห็นไม่ต้องนามสมเด็จอมรินทราธิราช ซึ่งลงมาบอกให้ตั้งจักรพยุห อันจักรพยุหนี้เป็นที่ตั้งใหญ่ในมหาพิชัยสงคราม อาจจะข่มเสียได้ซึ่งปัจจามิตรทั้งหลาย ขอพระราชทานเอานามจักรนี้ ให้ชื่อพระมหาปราสาทว่า จักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท...”

ความจากพระราชพงศาวดารระบุว่า พระราชทานนามพระมหาปราสาทว่าศรียโศธรฯแล้วเปลี่ยนเป็นจักรวรรดิไพชยนต์ในวันรุ่งขึ้น ตามพระสุบินนิมิตในคืนที่ล่วงมา แต่ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯกล่าวว่า เปลี่ยนนามพระที่นั่งเมื่อพุทธศักราช ๒๑๘๑ (จุลศักราช ๑๐๐๐) หลังจากสถาปนาแล้ว ๓ ปี และเปลี่ยนคราวเดียวกับการประกอบพระราชพิธีอินทราภิเษกและพระราชพิธีลบศักราช ดังจะกล่าวรายละเอียดต่อไปข้างหน้า

มูลเหตุที่จะสร้างพระราชวังที่ตำบลวัดเทพจันทร์ และพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์นั้นสืบเนื่องมาจากรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เขมรตั้งแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนน้อมต่อกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายไทยจึงยกกองทัพไปปราบแต่ไม่สำเร็จ คราวนั้นสมเด็จพระเจ้าปราสาททองต้องราชทัณฑ์อยู่ได้อาสาศึก พ้นจากการถูกจองจำดังได้กล่าวมาแล้ว ครั้นได้เสวยราชสมบัติ มีพระราชโองการให้ยกทัพไปตีเขมรได้สำเร็จ แสดงถึงพระราชกฤษฎาภินิหารยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน จึงทรงให้ถ่ายแบบปราสาทจากเมืองพระนครมาสร้างที่ตำบลวัดเทพจันทร์ และขนานนามพระที่นั่งองค์ใหม่ ว่าศรียโศธรมหาพิมานบรรยงก์ เป็นการเฉลิมพระเกียรติยศ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานพระวินิจฉัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนนามพระที่นั่งองค์นี้ว่า “เชื่อได้ว่า มิใช่เพราะทรงพระสุบินว่าพระอินทร์มาบอกจักรพยุหถวาย เหตุที่เปลี่ยนชื่อคงเนื่องกับทำพิธีอินทราภิเษก จะให้ชื่อปราสาทสมกับพระเกียรติพระเจ้าจักรพรรดินั่นเอง”

อนึ่ง ในปีพุทธศักราช ๒๑๗๕ นี้ โปรดฯ ให้สถาปนาพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพอาสน์ พระราชนิเวศที่เกาะบางปะอินและวัดชุมพลนิกายาราม ในคราวเดียวกัน

ปีพุทธศักราช ๒๑๗๖ โปรดฯให้ปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดมหาธาตุ สถาปนาพระตำหนักท่าเจ้าสนุกและพระราชนิเวศบริเวณพระพุทธบาท รับสั่งให้ขุดบ่อน้ำระหว่างทางจากท่าเรือไปยังพระพุทธบาทที่บางโขมดและบ่อโศก ไว้สำหรับผู้แสวงบุญที่จะเดินทางไปนมัสการพระพุทธบาท

ปีพุทธศักราช ๒๑๗๙ โปรดฯ ให้สถาปนาพระที่นั่งมังคลาภิเษก หรือพระที่นั่งปราสาททอง พระที่นั่งองค์นี้ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๑๘๖ เกิดเพลิงไหม้ใหญ่ในพระราชวัง พระที่นั่งฯถูกเพลิงไหม้เสียหาย รับสั่งให้ปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งวิหารสมเด็จ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จว่า “พระเจ้าปราสาททองทรงพระดำริสร้างปราสาทยอดปรางค์ปิดทองขึ้นในเมืองไทยเป็นที่แรก เห็นกันว่าเป็นของงามแปลกตาไม่เคยมีมาก่อน จึงถือเป็นนิมิตเรียกพระนามว่า พระเจ้าปราสาททองแต่องค์เดียว เพราะสร้างปราสาทวิหารสมเด็จนั้น”

ปีพุทธศักราช ๒๑๘๑ โปรดให้ตั้งการพระราชพิธีลบศักราช ความในพระราชพงศาวดารว่า

“...ลุศักราช ๑๐๐๐ ปีขาล สัมฤทธิศก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสปรึกษาแก่เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตทั้งหลายว่า บัดนี้ จุลศักราชถ้วน ๑๐๐๐ ปี กาลกลียุคจะบังเกิดไปภายหน้าทั่วประเทศธานีน้อยใหญ่เป็นอันมาก เราคิดจะเสี่ยงบารมีลบศักราช บัดนี้ขาลสัมฤทธิศก จะเอากุนเป็นสัมฤทธิศก ขึ้นดิถีวารจันทร์เถลิงศก ให้กรุงประเทศธานีนิคมชนบททั้งปวงเป็นสุขไพศาลสมบูรณ์...”

พระราชพิธีลบศักราชนี้ จะกล่าวรายละเอียดต่อไปข้างหน้า

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองสวรรคตเมื่อปีพุทธศักราช ๒๑๙๘ ณ พระที่นั่งเบญจรัตน เสด็จอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี ตลอดรัชสมัยของพระองค์

“...เรืองพระเดชานุภาพ พระบรมโพธิสมภาร สมณพราหมณาจารย์แลไพร่ฟ้า ข้าขัณฑเสมาเป็นสุขสมบูรณ์ทั่วหน้า...”

ความเป็นมาของหนังสือและข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประพันธ์

ต้นฉบับคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันพบเพียงฉบับเดียวเท่านั้น ลักษณะเป็นสมุดไทยดำ เขียนตัวอักษรด้วยเส้นหรดาล เก็บรักษาไว้ที่ส่วนภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์เคยนำมาพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือวรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม ๓

ต้นฉบับสมุดไทยดังกล่าวมีความบอกประวัติของหนังสือนี้ไว้บนปกนอกด้านหน้าว่า

“พระสมุดสรรเสริญพระเกียรติ ครั้งสมเด็จ์พระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง พระมหาราชครู มเหธรแต่งเป็นคำฉันท์ ครั้งสมเด็จพระนารายณ์เปนเจ้าลพบุรีย์เป็นพระมหาราชครู พระบอโรหิต ๑ ฯ”

และในบานแพนกมีข้อความว่า

“ครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง พระมหาราชครู พระบอโรหิตแต่ง คนนี้ที่แต่งเสือโค คารมอันเดียวกัน เหนจะแต่งสรรเสอรพระเกียรติสมุดนี้ก่อนเสือโค เสือโคแต่งทีหลังเพราะกว่านี้

วัน ๖ ๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๐๙ ปีเถาะนพศก คัดสำเนาออกจากฉบับ เจ้ากรมเทพพิพิธเอามาแต่หีบพระสาษตราคม”

ข้อความดังกล่าวระบุชัดเจนว่า ต้นฉบับเดิมของหนังสือนี้เก็บอยู่ในหีบที่หอศาสตราคมอันเป็นหอหนังสือหลวงในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา และเจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธให้คัดลอกสำเนาออกจากต้นฉบับ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๕ จุลศักราช ๑๑๐๙ (พุทธศักราช ๒๒๙๐) ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่ว่าเจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธนั้น น่าจะมิใช่เจ้ากรมของกรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นเพียงหมื่น เพราะตำแหน่งข้าราชการชั้นผู้น้อยเช่นนี้ย่อมไม่มีอำนาจพอที่จะนำหนังสือออกมาจากหอหลวงได้ ตำแหน่งหมื่นนั้นไม่มีสิทธิแม้กระทั่งจะเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ในเวลาเสด็จออกว่าราชการ เจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธ น่าจะหมายถึงกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งทรงเป็นเจ้า มิใช่สามัญชน และเป็นพระราชโอรสองค์หนึ่งในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงสามารถนำต้นฉบับที่เก็บรักษาไว้ในหอหนังสือหลวงไปคัดลอกได้

หนังสือเล่มนี้บอกนามผู้แต่งที่แน่นอนคือ พระมหาราชครู ตำแหน่งพระมหาราชครูนั้น ปรากฏในทำเนียบศักดินาพลเรือนสมัยอยุธยาซึ่งตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตำแหน่งพระมหาราชครูพราหมณ์มี ๒ ตำแหน่งด้วยกัน คือ พระมหาราชครูมหิธร ธรรมราชสุภาวดี ศรีวิสุทธิคุณ วิบูลธรรมวิสุทธิพรมจาริยาธิบดี ศรีพุทธาจารย ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ และอีกตำแหน่งหนึ่งคือ พระมหาราชครูประโรหิตาจารย์ ราชสุภาวดี ศรีบรมหงษ องคปุริโสดม พรหมญานวิบุล สิลสุจริต วิวิทธเวทพรหมพุทธาจารย์ ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ เท่ากับตำแหน่งแรก ตามหลักฐานที่ปรากฏในกฎมนเทียรบาล กล่าวถึงตำแหน่งพระมหาราชครูทั้ง ๒ ตำแหน่งนี้ว่า เป็นผู้ถวายน้ำเทพมนตร์ในพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งมีการถวายเป็น ๒ ลักษณะ คือ น้ำเทพมนตร์จากพระมหาสังข์ (น้ำสังข์) และน้ำเทพมนตร์ที่บรรจุในพระกลศหรือพระเต้า (หม้อน้ำ) ดังมีกล่าวถึงในพระราชพิธี “สนานตรียำพวาย” และ “พระราชพิธีงานเลี้ยงดอกไม้มงคล” ว่า “พระราชครูบโรหิต พระครูอภิรามถวายน้ำสังข์ พระมเหธร พระพิเชตถวายน้ำกลด...”

ข้อความในกฎมนเทียรบาลหลายแห่งมีเค้าว่าตำแหน่งพระมหาราชครูปโรหิตน่าจะเป็นตำแหน่งสูงหรือได้รับการยกย่องกว่าตำแหน่งพระมหาราชครูมเหธร เพราะเมื่อกล่าวถึงตำแหน่งทั้ง ๒ นี้ จะกล่าวนามพระมหาราชครูปโรหิตก่อนพระมหาราชครูมเหธรเสมอ

ตำแหน่งพระมหาราชครูปโรหิตและพระมหาราชครูมหิธรมีสืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏความในประกาศให้เลือกพระราชครูลูกขุน พระมหาราชครูปโรหิต พระมหาราชครูมหิธร ความตอนหนึ่งว่า

“...รับพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ให้ประกาศแก่พระราชวงศานุวงศ์ที่ตั้งกรมแล้วแลยังมิได้ตั้งกรม ข้าราชการเจ้าพระยาและพระยา พระ หลวง ในพระบรมมหาราชวัง แลในพระบวรราชวัง จงทั่วกันว่า พระมหาราชครูปโรหิตาจารย์ (ทองดี) พระมหาราชครูมหิธร (อู่) ถึงแก่กรรมแล้ว ที่พระราชครูทั้ง ๒ จะต้องตั้งขึ้นใหม่ เมื่อว่าจะทรงปรึกษากับพระราชวงศานุวงศ์องค์หนึ่งสององค์แลท่านเสนาบดีสามคนสี่คน เลือกสรรข้าราชการผู้ใดผู้หนึ่งเป็นก็จะได้ แลทรงพระราชดำริเห็นว่า ที่พระมหาราชครูปโรหิตาจารย์ พระมหาราชครูมหิธร พระครูพิเชต พระครูพิราม ๔ ตำแหน่งนี้ เป็นผู้พิพากษาตัดสินผิดแลชอบ สุขทุกข์ความของท่านทั้งหลายทั่วกัน ต่อออกไปจนราษฎรซึ่งเป็นบ่าวไพร่ ในสังกัด...”

จะเห็นว่าหน้าที่ของพระมหาราชครูและพระราชครูพราหมณ์ มิได้จำกัดอยู่เพียงเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เท่านั้นหากยังเป็นผู้พิจารณาตัดสินคดีความต่างๆ อีกด้วย

จากข้อความในบานแพนกของหนังสือคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองบ่งชี้ชัดเจนว่า พระมหาราชครูมเหธรในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้เป็นที่พระมหาราชครูบอโรทิตในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและท่านผู้นี้คือพระมหาราชครูผู้แต่งเรื่องเสือโคคำฉันท์ด้วย

สำนวนภาษาของพระมหาราชครูที่ปรากฏในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯเมื่อเปรียบเทียบกับวรรณคดีคำฉันท์สมัยอยุธยาบางเรื่อง มีข้อน่าสังเกตหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนิรุทธคำฉันท์ที่กล่าวกันว่าศรีปราชญ์แต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่นบทพรรณนาบ้านเมืองที่ใช้ฉากกรุงศรีอยุธยาเป็นตัวตั้งบรรยาย ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ ว่า

ปราการแกมแก้วสูรกาญจน์ คือเทวนฤมาณ
แลแมนมารังรจนา  
สูงส่งเทิดทัดพรหมา บังแสงสุริยา
บ ไขทิพาราตรี  
เทพาสูรชนเปรมปรีดิ์ เยินยอสดุดี
มกุฎเกล้าภพไตร  
เรืองบนปราการแก้วใส ตั้งเหนือบูรไร
จปิ้มจแป่มป้านลม  
สูงกว่าโสฬสเมืองพรหม ฟ้าหล้าชื่นชม
คืออินทรบุรินทรพิมาน  

ในเรื่องอนิรุทธคำฉันท์กล่าวถึงเมืองทวารกาของพระกฤษณะ ฉากที่บรรยายนำไปจากความประทับใจในความงดงามของกรุงศรีอยุธยา ความเปรียบ การวางจังหวะคำและเนื้อหาสาระใกล้เคียงกับคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯเป็นอย่างยิ่ง

ปราการแกมแก้วสูรกาญจน์ มณีรัตนชัชวาล
ยโชติอับแสงสูรย์  
เรืองรอบฟ้าหล้าเพ็ญพูล เทียมทิพยจำรูญ
จำรัสทิพาราตรี  
เทพาสุรคณาเปรมปรีดิ์ เยินยอสดุดี
ดิลกโลกยสมเด็จ  
เรืองเหนือปราการแก้วเพ็ชร์ บราลีขบวนขเบ็จ
ระริบจรปาดป่ายลม  
สูงส่งทัดเทียมเมืองพรหม ฟ้าหล้าชื่นชม
คืออินทรบุรีฤๅปาน  

ความใกล้เคียงของสำนวนโวหารระหว่างคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯกับอนิรุทธคำฉันท์ เป็นประเด็นปัญหานำไปสู่การเปรียบเทียบวรรณคดีคำฉันท์ยุคเดียวกันเรื่องอื่นๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหาราชครูผู้ประพันธ์คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ กระจ่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ตัวอย่างสำนวนในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯอีกตอนหนึ่ง กล่าวถึงพระลานหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ที่เรียกกันว่าสนามหน้าจักรวรรดิ ภายในพระนครศรีอยุธยา

เล็งถนนท่งทางรัถยา รันราบรจนา
คือแมนมาสรรคสำรับ  
ฉบับสีหสุบรรณประดับ ตรีมุขประกับ
ประกอบด้วยแก้วแกมกล  
ฝูงราษฎรประชาโจษจน จรัลจรอกจบถนน
สำรวลสำราญบานใจ  
เล็งพระพลานแก้วแพร้วใส ดาษรัตนอำไพ-
รูวาลุกาพรายพรรณ  
เป็นที่ลองศิลปลองสรรพ์ ช้างม้าคั่งคัล
แลคชรถกรรกง  

ความบรรยายเรื่องราวลักษณะเดียวกันโดยใช้สถานที่เดียวกันเป็นฉาก ปรากฏในเรื่อง อนิรุทธคำฉันท์ว่า

เล็งจรอกจรัลทางถลา รันราชรัถยา
บรรสานทังหญิงชายชม  

ฯลฯ

พระลานเลือนแก้วแกมกล ใสสุทธินฤมล
คือแมนมารังสรรคสรรพ  
ตรีมุขมานสิงหประดับ ไว้แต่เขี้ยวขับ
คเชนทรหัยแล่นลอง  
ลองอัศวลองศิลปลอง ลองพลเนืองนอง
จงชาญชำนาญในรณ  

ในคำฉันท์ทั้ง ๒ เรื่องกล่าวถึงพระที่นั่งองค์หนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นตรีมุข พิจารณาจากคำฉันท์พระที่นั่งองค์นี้น่าจะเป็นพระที่นั่งโถงสำหรับทอดพระเนตรการฝึกทหารเหล่าต่างๆ และพระที่นั่งองค์นี้น่าจะได้แก่พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์นั่นเอง เพราะคำที่เรียกพระลานบริเวณนั้นว่า “สนามหน้าจักรวรรดิ” บ่งชี้เช่นนั้น และพระที่นั่งดังกล่าวเป็นต้นเค้าของพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ปราสาท ที่ตั้งอยู่หน้าสนามไชย กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพระที่นั่งโถงมีสนามอยู่ด้านหน้าเช่นเดียวกับพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ที่พระนครศรีอยุธยา

อนึ่ง ลีลาการประพันธ์ตลอดจนความนิยมในการใช้ถ้อยคำของกวีแต่ละคนนั้นเป็นลักษณะเฉพาะตัว ดังนั้นผลงานที่ต่างเรื่องกัน แม้จะแต่งโดยกวีคนเดียวกันจึงย่อมแสดงออกซึ่งลักษณะเฉพาะตัวในผลงานนั้นๆ หากมีการศึกษาเปรียบเทียบอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว แม้ในคำประพันธ์เพียงไม่กี่บทก็อาจบอกให้ทราบได้ว่าสำนวนนั้นเป็นของกวีผู้ใด ยิ่งถ้ามีผลงานที่ใช้คำประพันธ์แบบเดียวกันให้เทียบเคียงหลายเรื่อง การพิจารณาวินิจฉัยย่อมมีความเด่นชัดยิ่งขึ้น วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์บางเรื่องเคยมีปัญหาคลุมเครือเกี่ยวกับผู้แต่ง เช่น นิราศเดือน นิราศพระแท่นดงรัง ทั้ง ๒ เรื่องนี้สมัยหนึ่งเคยเชื่อกันว่าเป็นฝีปากของสุนทรภู่ภายหลังเมื่อมีการศึกษาเปรียบเทียบสำนวนอย่างรอบคอบ จึงได้ข้อสรุปว่า ทั้งนิราศเดือนและนิราศพระแท่นดงรังเป็นสำนวนของหมื่นพรหมสมภัตสร หรือเสมียนมี

ผลงานชิ้นเอกของพระมหาราชครู คือสมุทรโฆษคำฉันท์ตอนต้นซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าท่านแต่งเรื่องนี้ขึ้นตามพระราชปรารภของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และแต่งยังไม่ทันจบพระมหาราชครูก็ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน

พระมหาราชครูผู้นี้นำจะเป็นพราหมณ์อาวุโสมาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ครั้นมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชท่านคงมีอายุมากและถึงแก่อนิจกรรมในช่วงต้นแผ่นดินนั้นเอง เรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์จึงยังค้างอยู่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระราชนิพนธ์ต่อก็ยังไม่จบอีก จนกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงพระนิพนธ์ต่อจนจบในสมัยรัชกาลที่ ๓ และทรงพระนิพนธ์ถึงประวัติของคำฉันท์เล่มนี้ไว้ว่า

แรกเรื่องมหาราชภิปราย ไปจบจนนารายณ์
นเรนทรสืบสรรสาร  
สองโอษฐ์ฦๅสุรตำนาน เปนสามโวหาร
ทั้งข้อยก็ต้อยติดเติม  
พอเสร็จสิ้นเรื่องเรืองเฉลิม ภพภูมิเผดิม
ผดุงพระเกียรติกษัตรีย์  

สมุทรโฆษคำฉันท์ส่วนที่เป็นสำนวนของพระมหาราชครู ตอนพระโพธิ์เทพารักษ์อุ้มพระสมุทรโฆษไปสมนางพินทุมดี มีความตอนหนึ่งอ้างถึงเรื่องอนิรุทธว่า

โอบอุ้มเอาพระภูธร เห็จขึ้นเขจร
เพรี้ยวในห้องหาวผยอง  
ดุจศรีพรหมรักษ์ตระกอง อนิรุทธเปรียบปอง

ไปสมอุษาเทพี

 

ความข้างบนนี้ส่อให้เห็นว่าเรื่องอนิรุทธคำฉันท์น่าจะแต่งก่อนสมุทรโฆษคำฉันท์ และหากเชื่อตามตำนานศรีปราชญ์ที่ว่า ศรีปราชญ์เป็นผู้ต่อโคลงพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งพระราชทานให้บิดาของศรีปราชญ์นำไปแต่งต่อ

พระราชนิพนธ์

อันใดย้ำแก้มแม่ หมองหมาย
ยุงเหลือบฤาริ้นพราย ลอบกล้ำ

ศรีปราชญ์

ผิวชนแต่จะกราย ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ ชอกเนื้อเรียมสงวน

กล่าวกันว่าศรีปราชญ์ต่อโคลงพระราชนิพนธ์บทดังกล่าวเมื่อยังอยู่ในวัยเด็ก แล้วเหตุไฉนพระมหาราชครูซึ่งเป็นพราหมณ์อาวุโสในราชสำนักจึงอ้างในสมุทรโฆษคำฉันท์ว่าเรื่องอนิรุทธมีมาก่อนแล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่หากศรีปราชญ์มีตัวจนจริงจะแต่งเรื่องอนิรุทธเป็นคำฉันท์ได้ตั้งแต่ยังเป็นทารก และเป็นไปไม่ได้ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชผู้ทรงเป็นกวีราช มีพระปรีชาญาณยิ่งจะทรงโคลงง่ายๆ อย่างนี้ไม่ได้ด้วยพระองค์เอง ถึงกับต้องให้ผู้อื่นช่วยแต่งต่อ

ความในเรื่องอนิรุทธคำฉันท์ ตอนพระไทรอุ้มสมกล่าวถึงพระไทรเทพารักษ์เมื่อเห็นรูปของพระอนิรุทธเกิดความสงสัยว่าบุรุษรูปงามผู้นี้เป็นใคร

ฤาพระศุลีตรี บ มีสูรยืนฉงัน
ฉงนใจคำนึงพรรณ มิใช่พักตรนฤมล
ฤาจักรปาณี บ มีจักรยืนฉงน
ฤาพรหมใช่พรหมกล พรหมพักตรหลากหลาย
ฤาเพชรปาณี บ มีเพชรเสมือนหมาย
ฤๅนาคกลับกลาย มาเปนองคราชา

ข้อความลักษณะเดียวกันนี้ปรากฏ ในสมุทรโฆษคำฉันท์ ตอนพระโพธิ์เทพารักษ์อุ้มสมใช้ความเปรียบทำนองเดียวกัน ต่างกันที่ใช้คำประพันธ์ไม่เหมือนกันเท่านั้น

ฤาเทพนิกรยักษา ฤาพระกามา
ธิราชฤาจักรี  
ผู้ทรงคทาธริษตรี ฤๅพระศุลี
แลเอกอุมาแมนผจง  
ฤาพระไพศรพณ์เสด็จลง เหนือบุษบกหงส์
พาหนพิมานมาศผยอง  
ฤาราชาครุฑรังรอง ฤๅนาคตระกอง
ขษีรแปรรูปา  

เทพยดาทั้ง ๒ องค์ คือพระไทรในอนิรุทธคำฉันท์ กับพระโพธิ์ในสมุทรโฆษคำฉันท์ ต่างมีพฤติการใกล้เคียงกัน ทั้งถ้อยคำที่ปรากฏในตอนเดียวกันก็มีความละม้ายเหมือนยิ่งนัก กระบวนการลำดับความคิดในลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็นฝีปากของกวีคนเดียวกัน เช่น ตอนที่พระไทรอุ้มพระอนิรุทธไปยังปราสาทนางอุษามีข้อความว่า

มองสงัดดูริยดำแคง ไป่เซียบชูแฝง
ในพรหมพักตร์ประเอียง  
มองสงัดสาวสวรรค์จำเรียง ไป่เซียบชูเคียง
มณีมกุฎพิมาน  
มองสงัดเสียงฆ้องแข่งขาน เภรียพรึงพราน
เสียงสรหนั่นครืนเครง  
มองสงัดพิณพาทย์บรรเลง แน่งนางโถงเถง
แลจับระบำรำถวาย  
มองสงัดเสียงพลเรียบราย ไป่เซียบเลียบชาย
ระวังระไวไพรี  

เนื้อความตอนพระโพธิ์เทพารักษ์อุ้มสมพระสมุทรโฆษไปยังปราสาทนางพินทุมดี ดำเนินเรื่องแบบเดียวกัน แต่สมุทรโฆษคำฉันท์มีความกระชับและละเมียดละไมกว่า

ด้อมสงัดดูริยคั่งคม ด้อมสงัดสาวสนม
อันจาวจำเรียงเสียงฉันท์  
ด้อมสงัดเสียงพลโห่หรรษ์ สงัดทวยเทียวจรัล
อันจำระวังพระบุรี  

พระไทรเทพารักษ์นำพระอนิรุทธเข้าไปในปราสาทด้วยวิธีถอดบัทม์ยอดปราสาทเข้าไป

ถอดปัทมกรลับเบื้องบน เอาองค์สอดสน
ในปรางคสุสุทธมณี  

พระโพธิ์เทพารักษ์ก็นำพระสมุทรโฆษเข้าไปในปราสาทของนางอุษาด้วยวิธีเดียวกันคือ

เบิกบัทม์กรลับออกอา- รักษ์เอาราชา
ก็เข้าในปรางค์สุภิรมย์  

พระไทรเทพารักษ์เมื่อปลุกให้พระอนิรุทธและนางอุษาตื่นขึ้นแล้ว ตนเองก็เหาะกลับไปยังที่อยู่

แล้วปลุกสองสมเสมอจัน- ทราภาคยพรายพรรณ
ภาคยรัศมีรูจี  
แล้วเหิรจากรัตนมณี ผาดผังยังศรี
สำนักนิเหล่าแหล่งไทร  

สมุทรโฆษคำฉันท์พรรณนาความตอนนี้ว่า

จึงพระปลุกพระภูธร ปลุกพนิดาสมร
ก็ตื่นตรบัด บ มินาน  
แล้วเทพยก็เหาะเห็จทะยาน ยังทิพยวิมาน
ลำเนาไม้แมนผจง  

บทอัศจรรย์ในวรรณคดีคำฉันท์ทั้ง ๒ เรื่องใช้ความเปรียบที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งในที่นี้จะไม่กล่าวถึง เมื่อใกล้รุ่งเหลือเวลาอีกเพียงยามเดียวฟ้าจะสว่าง พระไทรจึงอุ้มพระอนิรุทธซึ่งกำลังบรรทมหลับกลับไปยังที่ประทับแรมเหมือนเมื่อตอนหัวค่ำ

ปิ้มยังยามหนึ่งยามปลาย เสียงนกเพรียกพราย
ประลองสำเนียงเสียงขาน  

สมุทรโฆษคำฉันท์ก็ดำเนินความในลักษณะเดียวกันอีก คือ

ยังยามเดียวเลยราษตรี จักสิ้นแสงสี
รังเรียงจำคล้อยเวหา  
นกหกร้องก้องพฤกษา เนื้อเบื้อตื่นตา
แลเสียงไก่แก้วขันขาน  

นอกจากตอนเทพารักษ์อุ้มสมที่ยกมาเป็นตัวอย่างสังเขปนี้แล้ว เนื้อหาต่อ ๆไปของทั้ง ๒ เรื่อง เช่นตอนพระพี่เลี้ยงของนางอุษาและพระพี่เลี้ยงของนางพินทุมดีวาดรูปก็ใช้ความเปรียบในลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งความเปรียบและการดำเนินเรื่องในลักษณะดังกล่าวไม่ปรากฏในต้นเรื่องดั้งเดิมคือสมุทรโฆษชาดกและเรื่องพระอนิรุทธในคัมภีร์วิษณุปุราณะ แต่ปรากฏในอนิรุทธคำฉันท์กับสมุทรโฆษคำฉันท์

ความนิยมในการเลือกใช้คำเป็นลักษณะเฉพาะตัวของกวีไม่น่าจะเป็นสิ่งที่สามารถเลียนแบบกันได้สนิทสนมแนบเนียนถึงเพียงนี้ ความตอนหนึ่งในเรื่องอนิรุทธคำฉันท์กล่าวถึงความหยิ่งทนงของทหารหมู่หนึ่งว่า

  กูขุนธนู
กูผลาญศัตรู ด้วยกำซราบรอน
เลือนลาวลานปาน กราบกรานซรอกซรอน
ตายคือลูกมรณ์ ข้อนไร่สนุนสนับ

ฯลฯ

  กูนี้ขุนพราน
พพวกพลหาญ

พนอมดอมไพร

หน้าไม้ชาญชิด ปืนพิษปืนไฟ
ใครเหวยชิงชัย จักได้แหงนหงาย

ลีลาสำนวนโวหารการวางจังหวะคำแบบเดียวกันนี้มีอยู่ในสมุทรโฆษคำฉันท์ ตอนเบิกโรงเล่นไทยลาวฟันดาบ ว่า

  กูนี้เนื้อลาว
แต่ยังพยาว บ มีผู้ปาน
เขาขึ้นชื่อกู ชื่อเสียงไกรหาญ
ปานปล้นเมืองมาร ขุนมารหักหัน

ฯลฯ

  กูนี้ไทยแท้
ท่านฦๅกูแล ในสุโขไทย
ไปลาดไปลอง ทุกที่มีไชย
หาญจริงเจ้าไท ธให้อาสา

อนิรุทธคำฉันท์กล่าวถึงไพร่พลในกองทัพว่ามีลักษณะแปลกๆ เช่นพลขี่อูฐ พลขี่เสือ และสัตว์อื่น ๆ เช่น

หมู่หนึ่งขี่อูฐคณา พลแซงซ้ายขวา
กำลังรยังยงยุทธ  

ฯลฯ

หมู่หนึ่งขี่เสือเหลือแสน พวกพล บ มิแกลน
สรดิ้นสรดักตักตน  

สมุทรโฆษคำฉันท์ว่า

ลางขุนขี่อูฐยรรยง โยนศัสดรธำรง
พิเศษศิลปลอง  

ฯลฯ

ลางขุนขี่เสือตัวแรง ขี่สิงหสำแดง
มหาศัสดรหลากหลาย  

ในส่วนของเรื่องเสือโคคำฉันท์ซึ่งระบุในบานแพนกของคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง กล่าวถึงพระมหาราชครูว่า “คนนี้ที่แต่งเสือโค” ข้อนี้ทำให้ความเชื่อที่ว่าพระมหาราชครูเป็นผู้แต่งเสือโคคำฉันท์ ตามที่อ้างในหนังสือประวัติวรรณคดีไทยมีน้ำหนักยิ่งขึ้น

เสือโคคำฉันท์หลายตอนมีลักษณะของการใช้คำ และสำนวนโวหารใกล้เคียงกับคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ เช่นตอนที่คาวีกับพหลวิไชยสรรเสริญคุณของพระฤาษีที่เมตตาชุบทั้ง ๒ ให้เป็นมนุษย์

สรรเสริญเจริญคุณมหิมา เหลือไตรคณนา
บ รู้กี่โกฎิสรมุทร  
เบื้องใต้ต่ำเต็มถึงสุด กาลาคนิรุทร
อโธทิศาโดยหมาย  
เบื้องบนพ้นพรหมเหลือหลาย ถึงสูญศิวาย
ศิโวตโมไกวัล  

คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯมีเนื้อหาสรรเสริญสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในลักษณะเดียวกัน

สรรเสริญพระคุณภูธร เจ็ดสีทันดร
สรมุทร บ เปรียบเทียบแทน  
คณนากี่หมื่นกี่แสน กี่โกฏิดินแดน
อธิกไป่ปูนปาน  
เบื้องต่ำล้ำภูดาธาร เท้าสุดถึงกาล
นิรุทรนาคมหา

 

เบื้องบนพ้นอากาสา สุดสูญศิวา
ศิโวตโมไกวัล  

จากการเปรียบเทียบคำประพันธ์บางส่วนที่นำมาตั้งเป็นสมมุติฐานดังกล่าวน่าจะสรุปได้ว่า พระมหาราชครูเป็นผู้แต่งเรื่องอนิรุทธคำฉันท์ ปัจจัยสนับสนุนข้อสรุปนี้อีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องอนิรุทธมีที่มาจากคัมภีร์ปุราณะของพราหมณ์ พระมหาราชครูเป็นพราหมณ์ในราชสำนักจึงย่อมมีความรู้เรื่องดังกล่าวดีกว่าผู้ที่มิใช่พราหมณ์ ทั้งเชื่อว่าพระมหาราชครูต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโศลกบทฉันท์ต่างๆ ที่มีในคัมภีร์พระเวทเป็นอย่างดี หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า พราหมณ์ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยานั้นสืบสกุลมาจากพราหมณ์แท้ๆ จึงเป็นพราหมณ์โดยวรรณะ แต่เมื่อเข้ามารับราชการในราชสำนักไทยอันมีพระมหากษัตริย์กอปรด้วยพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น พราหมณ์ในราชสำนักย่อมต้องปรับทั้งวิถีความเชื่อและพิธีกรรมให้สอดคล้องกับพระพุทธศาสนา ดังนั้น แม้พระมหาราชครูจะเป็นพราหมณ์โดยวรรณะแต่ท่านก็นับถือพระพุทธศาสนาด้วย ดังจะเห็นได้จากบทนมัสการพระรัตนตรัยตอนต้นเรื่องคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ เสือโคคำฉันท์และสมุทรโฆษคำฉันท์ เนื้อหาในคำฉันท์เฉลิมพระเกียรติฯกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเป็นพระโพธิสัตว์และจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๐ ในอนาคต ขณะเดียวกันคำฉันท์เรื่องนี้ก็กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเป็นประหนึ่งพระนารายณ์อวตาร และขานพระนามของพระองค์ว่า “พระจักรี” คือ

เสนาบดีรับ พระโองการจักรี

อีกตอนหนึ่งกล่าวว่าพระองค์คือพระนารายณ์

ปางนั้นก็จะถึงทำนาย องค์พระนารายณ์
นรินทรเสด็จไคลคลา  

นอกจากนี้ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯยังอ้างถึงทวาบรยุค อันเป็นยุคที่พระนารายณ์อวตารเป็นพระกฤษณะ

เดิมเมื่อกฤดาทวา- บรยุคคคงตรง
สบสัตวธำรง ทศพิธธรรมา

ดังนั้นเมื่อจุลศักราชครบ ๑๐๐๐ ซึ่งในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า “...กาลกลียุคจะบังเกิดไปภายหน้าทั่วประเทศธานีใหญ่น้อยเป็นอันมาก เราคิดว่าจะเสี่ยงบารมีลบศักราช...” ให้อาณาประชาราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุขเหมือนครั้งพระกฤษณะในทวาบรยุค และในอนิรุทธคำฉันท์เริ่มเรื่องด้วยการกล่าวถึงพระนารายณ์อวตารเป็นพระกฤษณะว่า

ปางพระจักรีแปรเป็น กฤษณะราญรอนเข็ญ
อรินทรเสี้ยนสยบนา  
เสด็จแสดงเนาในเมืองทวา รพดีสมญา
คือวิษณุโลก บ ปาน  
ปราการแกมแก้วสูรกาญจน์ มณีรัตนชัชวาล
ยโชติอับแสงสูรย์  

คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในทำนองเดียวกันว่า

เจียรจากไอศวรรย์ลงมา ครอบครองอยุธยา
บุรินทรอินทรพิศาล  
ปราการแกมแก้วสูรกาญจน์ คือเทวนฤมาณ
แลแมนมารังรจนา  

จากเหตุผลที่อ้างมาข้างบนนี้จึงอาจสรุปได้ว่า พระมหาราชครูแต่งเรื่องอนิรุทธคำฉันท์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และคำฉันท์เรื่องนี้ต้องแต่งในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หลังจากประกอบพระราชพิธีลบศักราชในปีพุทธศักราช ๒๑๘๑ (จุลศักราช ๑๐๐๐)

ประเพณีนิยมในการประพันธ์คำฉันท์อันถือเป็นกวีนิพนธ์ชั้นสูงเท่าที่ปรากฏในวรรณคดีไทยนั้นจะต้องขึ้นต้นด้วยบทประณามพจน์ หรือบทนมัสการพระรัตนตรัยเสียก่อนจากนั้นจึงดำเนินเนื้อเรื่องต่อไป แต่ลักษณะดังกล่าวไม่ปรากฏในอนิรุทธคำฉันท์ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากพระมหาราชครูเป็นพราหมณ์ต้องการนำเรื่องราวทางลัทธิพราหมณ์มา “ผูกฉันท์สนององค์ คุณท่านอันสุนทร”ตามที่ท่านกล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการแต่งไว้ในตอนท้ายของคำฉันท์ การที่พระเป็นเจ้าอวตารลงมาเป็นองค์พระมหากษัตริย์นั้นถือว่าสูงสุดแล้ว ดังนั้นอนิรุทธคำฉันท์จึงไม่มีบทนมัสการพระรัตนตรัย ต่างจากคำฉันท์เรื่องอื่นๆ ที่พระมหาราชครูเป็นผู้แต่งได้แก่คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯเสือโคคำฉันท์และสมุทรโฆษคำฉันท์ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนา จึงต้องมีบทนมัสการพระรัตนตรัย

ประเด็นที่ว่าศรีปราชญ์แต่งอนิรุทธคำฉันท์ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น เป็นเพียงตำนานเล่าขานกันสืบ ๆ มา ไม่มีหตุผลอันสมควรมาเป็นข้อสนับสนุน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ