คำชี้แจง

ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีสมัยสุโขทัย มีอายุกว่า ๖๐๐ ปี คำศัพท์และสำนวนภาษาโวหารเมื่อพิจารณาดูแล้วเชื่อว่าข้อความทุกตอนของหนังสือนี้ เป็นขององค์ผู้ทรงนิพนธ์โดยตลอด นับตั้งแต่บานแพนกอันเริ่มแต่คาถานมัสการเป็นต้นไป เพราะในบานแพนกนั้น ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการแต่งเรื่องนี้ไว้ด้วย “เจฺพือมีอตฺถพระอภิธมฺมแลจใคร่เทสนาแก่พระมาดาท่าน” และตอนสรุปท้ายเรื่องว่า “จใคฺรเทสหฺนาเฉฺพาะแกแม” ซึ่งคำว่า “พระมาดาท่าน หรือ เฉพาะแก่แม่” นี้ น่าจะเป็นคำที่พระองค์ผู้ทรงนิพนธ์ทรงเรียกพระราชมารดาของพระองค์ ด้วยความเคารพ และที่น่าถือเป็นข้อสำคัญก็คือได้บอกชื่อคัมภีร์ที่ใช้เป็นหลักในการแต่งกำกับไว้ด้วย หากเป็นของผู้อื่นแต่งเติมทีหลัง ก็ไม่น่าจะอยู่ในวิสัยที่จะทราบชื่อคัมภีร์ที่นำมาเป็นหลักนั้นได้ เพราะมิได้ระบุไว้ในเนื้อเรื่อง นอกจากนี้แล้ว สำนวนและโวหารก็ยังกลมกลืนกันทุกตอน แต่เนื่องจากหนังสือนี้เป็นของเก่าและมีการคัดลอกกันมาหลายชั้นหลายสมัย มีส่วนวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่มาก ทำให้ของเดิมของแท้มัวหมองและขาดตกไป การตรวจชำระจึงเป็นงานหนัก การวินิจฉัยคำบางคำต้องหาหลักฐานมาประกอบการวินิจฉัย ทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี แต่เพื่อให้หนังสือไตรภูมิกถานี้มีประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาในรูปแบบอักษรโบราณ จึงได้ดำเนินการตามหลักและวิธีการดังต่อไปนี้

๑. การปริวรรตถ่ายถอด ได้ปริวรรตถ่ายถอดตามหลักวิชาการ โดยคงตัวอักษรไว้ไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ผู้ศึกษาสอบทานด้านอักษรกับต้นฉบับคัมภีร์ใบลานได้ง่าย ได้จัดทำวรรคตอนกำหนดหน้าลานของคัมภีร์โดยทำเครื่องหมาย “อังกา” เช่นหน้า ๑ ของใบลานที่ ๑ จะบอกว่าหน้าลานว่า “ก” ใบลานที่ ๒ จะบอกหน้าลานว่า “กา” เรียงตามลำดับผสมสระ อ อา อิ อี อุ อู เอ ไอ โอ เอา อํ อะ (ก กา กิ กี กุ กู เก ไก โก เกา กํ กะ) เมื่อจบหมวดอักษร ก ก็ขึ้นหมวดอักษร ข เช่น ข ขา ขิ ขี ขุ ขู เข ไข โข เขา ขํ ขะ รวมหมวดอักษร ก และ ข เป็น ๒๔ ลาน รวม ๔๘ หน้าลาน กำหนดเป็น ๑ ผูก เป็นต้น

๒. ต้นฉบับ ต้นฉบับที่นำมาปริวรรตถ่ายถอดและตรวจสอบชำระนั้น เป็นฉบับใบลาน อักษรขอม ภาษาไทยสุโขทัย ของพระมหาช่วย วัดปากนํ้า เลขที่ ๖๐๕๗ ซึ่งจารขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๑ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน ดุสิต กรุงเทพฯ มีจำนวน ๑๐ ผูก โดยแยกตามผูกและอังกา ดังนี้

ผูกที่ ๑ อังกา ก และ ข มีจำนวน ๒๔ ใบลาน ๔๗ หน้าลาน

ผูกที่ ๒ อังกา ค และ ฆ มีจำนวน ๒๓ ใบลาน ๔๕ หน้าลาน (ขาดใบลาน ๑ ใบในอังกา คู)

ผูกที่ ๓ อังกา ง และ จ มีจำนวน ๒๔ ใบลาน ๔๗ หน้าลาน

ผูกที่ ๔ อังกา ฉ และ ช มีจำนวน ๒๔ ใบลาน ๔๗ หน้าลาน

ผูกที่ ๕ อังกา ฌ และ ญ มีจำนวน ๒๔ ใบลาน ๔๗ หน้าลาน

ผูกที่ ๖ อังกา ฏ และ ฐ มีจำนวน ๒๔ ใบลาน ๔๗ หน้าลาน

ผูกที่ ๗ อังกา ฑ และ ฒ มีจำนวน ๒๓ ใบลาน ๔๕ หน้าลาน (ไม่มีอังกา ฒะ)

ผูกที่ ๘ อังกา ณ และ ต มีจำนวน ๒๔ ใบลาน ๔๗ หน้าลาน

ผูกที่ ๙ อังกา ถ และ ท มีจำนวน ๒๔ ใบลาน ๔๖ หน้าลาน

ผูกที่ ๑๐ อังกา ธ และ น มีจำนวน ๒๒ ใบลาน ๔๓ หน้าลาน (ไม่มีอังกา นํ และ นะ)

เนื้อความไตรภูมิกถาจะจบลงที่ อังกา เนา รวมจำนวนทั้งสิ้น ๒๓๖ ใบลาน ๔๖๑ หน้าลาน

๓. คำศัพท์และภาษา คำศัพท์และสำนวนภาษาที่ปรากฏในหนังสือไตรภูมิกถานี้ คณะผู้ถ่ายถอดได้พยายามถ่ายถอดโดยรักษารูปอักษร ภาษา วรรณยุกต์ ให้คงเดิมเหมือนต้นฉบับทุกประการ ไม่มีการแก้ไข อย่างเช่นคำว่า “แกเถ้า” ปัจจุบันใช้ “แก่เฒ่า” หรือ “เกัานเท่า” ปัจจุบันใช้ “ก้อนเถ้า” หรือคำว่า “ข้า” พิจารณาถึงสำนวนได้แก่ “ฆ่า” ทำให้ตาย ดังนี้เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษโบราณาจารย์ได้เขียนไว้ คนรุ่นหลังเมื่อได้อ่านได้ศึกษา ก็จะพบว่าในแต่ละยุคแต่ละสมัยท่านใช้อย่างไร จะเทียบปัจจุบันอย่างไร เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ คำศัพท์ที่เป็นภาษาบาลีและภาษาไทย ท่านจะใช้ตามหลักอักษรขอม

เช่น ภาษาบาลี สระ โอ ท่านจะเขียนเป็น สระ เอา ดังนี้

คำว่า

ธมฺมธโร

ท่านใช้ว่า

ธมฺมธเรา

คำว่า

ธมฺโม

ท่านใช้ว่า

ธมฺเมา

คำว่า

สาวโก

ท่านใช้ว่า

สาวเกา

คำว่า

สญฺชีโว

ท่านใช้ว่า

สญฺชีเวา

ภาษาไทย เช่น

คำว่า

อนึ่ง

ท่านใช้ว่า

อันนึง

คำว่า

สอดรู้

ท่านใช้ว่า

เสาดรู

คำว่า

เทียรย่อม

ท่านใช้ว่า

เทิยรเยาม

คำว่า

หนอน

ท่านใช้ว่า

เหฺนาน

คำว่า

คน

ท่านใช้ว่า

ขน ก็มี

คำว่า

ทั้งหลาย

ท่านใช้ว่า

ทังหฺลาย

คำว่า

เกิด

ท่านใช้ว่า

เกฺอด

คำว่า

บ่หอน

ท่านใช้ว่า

บเหาน

คำว่า

ก่อน

ท่านใช้ว่า

เกาน

คำว่า

ทอง

ท่านใช้ว่า

เทาง

คำว่า

เท่านี้

ท่านใช้ว่า

เทานี

คำว่า

นั้น

ท่านใช้ว่า

นัน

คำว่า

ชั้น

ท่านใช้ว่า

ชัน

คำว่า

รอด

ท่านใช้ว่า

เราด

คำว่า

หยาด

ท่านใช้ว่า

ยาด

คำว่า

ขึ้น

ท่านใช้ว่า

ขิน

คำว่า

ภายตํ่า (ใต้)

ท่านใช้ว่า

พายตำ (ใต้)

คำว่า

ปาริสชฺชา

ท่านใช้ว่า

ปาริสชฺชนา

คำว่า

เมล็ด

ท่านใช้ว่า

เมฺลด

คำว่า

อสงไขย

ท่านใช้ว่า

อสงฺเขยฺย

คำว่า

น้อย

ท่านใช้ว่า

เนๅย

คำว่า

ป้อม

ท่านใช้ว่า

เปาม

คำว่า

เรือน

ท่านใช้ว่า

เริอน

คำว่า

ไป

ท่านใช้ว่า

ใป

คำว่า

ได้

ท่านใช้ว่า

ใดั

คำว่า

ไหม้

ท่านใช้ว่า

ใหฺม

คำว่า

ใหญ่

ท่านใช้ว่า

ใหฺญ หรือ ใหฺย

คำว่า

ยมพบาล

ท่านใช้ว่า

ยมภบาล

คำว่า

และ

ท่านใช้ว่า

แล เป็นต้น

บางทีตัวเลขใช้สลับกับตัวหนังสือ ดังนี้

คำว่า

ท่านใช้ว่า

หนึ่ง

คำว่า

ท่านใช้ว่า

เสาง

เพื่อให้คำที่ปรากฏในหนังสือไตรภูมิกถานี้เป็นที่กระจ่างแก่บุคคลทั่วไป ทั้งจะเป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าต่อไปในอนาคต จึงได้จัดทำคำศัพท์โบราณ ภาษา สำนวนและโวหารที่ใช้กันในสมัยสุโขทัย และที่ยังพอมีหลงเหลืออยู่บ้างในสมัยปัจจุบันนี้ไว้เป็นตัวอย่างเทียบเคียงในตอนท้ายเล่ม

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ