วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ดร

วังวรดิศ

วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ได้รับลายพระหัดถ์ฉบับวันที่ ๓ พฤษภาคม ประทานกระแสพระดำริในเรื่องหนังสือราชประเพณีกรุงศรีอยุธยามาเปนหลายประการนั้น หม่อมฉันยินดีขอบพระทัยมาก

เมื่ออยู่หัวหินนึกความออกข้อ ๑ หมายจะจดหมายทูลก็พอจวนวันจะกลับ จึงรอมาทูลที่กรุงเทพฯ คือพิธีเดือน ๑๒ ที่เรียกในกฎมณเทียรบาลว่า “ลอยโคมลงน้ำ” นี้ ในพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ทรงลำบากพระราชหฤทัยอยู่ด้วยคำว่า “ลอยโคมลงน้ำ” หม่อมฉันมานึกขึ้นว่าเห็นจะเปนด้วยเขียนหนังสือขาด ที่ถูกนั้นจะเปน “ลอยโคมส่งน้ำ” คือว่าเดือน ๑๒ เปนเวลาน้ำลดไหลลงทะเล จึงจุดชุดลอยโคมไปกับน้ำ เปนการส่งน้ำลงมหาสมุทร พิธีอิกพิธีหนึ่งเรียกว่า “พิธีไล่เรือ” มิใช่ “ไล่น้ำ” เพราะทำต่อเดือนอ้าย หม่อมฉันสันนิษฐานว่าจะเปนการประลองยุทธ หรือสวนสนามกระบวรเรือ คู่กับพิธีสนานใหญ่ฝ่ายบก ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่งน้ำ

พระดำริเรื่องอภิเษกนั้น พิจารณาดูเค้าเงื่อนเห็นว่าเข้าทีอยู่แล้ว คือพิธีอภิเษกนั้น ใจความหมายว่า กิจการอันสำเร็จด้วยมีผู้รดน้ำให้บนศีรษะ ใช้ใด้ในบุคคลทุกจำพวก ไม่ฉะเพาะแต่เปนกษัตริย์ คิดต่อไปว่าเปนกิจการอย่างใด ว่าโดยย่อเห็นจะเปนให้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง ยกอุทาหรณเช่นรดน้ำแต่งงานคือให้สิทธิมีครอบครัวต่างหากจากอกผู้ปกครองเปนต้น ในบรรดาอภิเษกจึงต้องได้สิทธิอันใดอันหนึ่งแก่ผู้รับอภิเษก โภคาภิเษกนั้น ก็คือ สิทธิในโภคสมบัติ เช่นเฉลิมพระราชมณเทียรเปนต้น

หนังสือที่เรียกว่าโลกบัญญัตินั้นชอบกลอยู่ ด้วยอ้างถึงชื่อคัมภีร์โลกบัญญัติในหนังสือไตรภูมิพระร่วง ข้อนี้เปนหลักฐานว่าเปนหนังสือเก่ามีมาแล้วช้านาน แต่สมเด็จพระวันรัตวัดพระเชตุพนท่านจะได้ฉบับมาจากไหน สืบไม่ได้ความ ด้วยหนังสือคัมภีร์นั้น ไม่มีฉบับเหลืออยู่ในประเทศนี้ เซเดส์สืบได้ความว่าในเมืองพม่า หอพระสมุดฯส่งไปขอคัด ได้สำเนามาให้อ่านดูก็กลายเปนเรื่องโลกวินิจฉัยคล้าย ๆ กับหนังสือไตรภูมิ เรื่องราชาภิเษกที่แปลหามีไม่หรือจะอยู่ในคัมภีร์ฎีกาทิปปนี จะให้พระพินิจค้นดูต่อไป

เรื่อง ยติ ที่ว่าเปนนักบวชของพวกเชนนั้น ขอทูลว่าเมื่อแต่งอธิบายคำให้การพราหมณ์อจุตนานำซึ่งทำโดยรีบ หม่อมฉันเผลอ ควรจะเฉลียวใจตาพราหมณ์ศาสตรีแกเปนชาวอินเดียข้างฝ่ายใต้ ไม่เคยขึ้นไปถึงเมืองพาราณสีแต่หม่อมฉันเคยไป แต่ว่าเมื่อเวลาไปก็ไม่ได้เอาใจใส่ศึกษาเท่าใดนัก ถึงกระนั้นควรระลึกได้ ต่อมายังได้อ่านหนังสือซึ่งพรรณนาถึงเมืองพาราณสีในชั้นหลังว่ามีวัดพวกเชน ๒ หรือ ๓ วัดไม่แน่ ตรงกับที่ตาพราหมณ์อจุตนานำ...ในวัดเชนก็มีรูปศาสดาของเขาซึ่งทำเหมือนพระพุทธรูปทุกอย่าง ผิดกันแต่เปลือยกาย ตาพราหมณ์อจุตนานำอาจเข้าใจเอาว่า วัดเชนที่เมืองพาราณสีเปนอย่างเดียวกันกับวัดพระพุทธศาสนาที่ในกรุงเทพฯนี้ก็เปนได้.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ