วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น

บ้านปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๗๒

กราบทูล กรมพระดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัดถ์สองฉบับ ฉบับหนึ่งนำสำเนาหนังสือเรื่องราชประเพณีกรุงเก่าประทานไป อีกฉบับหนึ่งตรัสบอกว่าหนังสือนั้นไม่ต้องทำให้ทันงานพระศพสมเด็จพระราชปิตุลา มีความยินดีเป็นอันมาก ไม่ใช่ยินดีที่ไม่ต้องทำเพราะขี้เกียจ ยินดีเพราะรักหนังสือนั้น อยากจะทำให้ดี แต่เมื่อเวลามีอยู่น้อย จะทำได้ก็แต่ลวกๆ หนังสือซึ่งควรจะดีจะเสียเสียเปล่า ๆ เมื่อทอดเวลาไปได้ดั่งนี้ เป็นช่องที่จะทำให้ดีสมใจได้จึ่งยินดี

เกล้ากระหม่อมก็ผูกใจอยู่มาก ในการไปถวายน้ำเจ้านายและเผาศพ ได้หนังสือนพมาศกับคำให้การพราหมณ์อจุตนานำมา เป็นเรื่องที่เกี่ยวด้วยประเพณีโบราณ ได้อ่านตรวจและสอบกับกฎมนเทียรบาล มีความเห็นเกิดขึ้นหลายประการ คิดจะเขียนความเห็นมาถวายแต่ไม่มีเวลาเขียน

เห็นได้ว่ากฎมนเทียรบาลนั้น ท่านก็ตั้งใจจะทำเป็นพระตำราอย่างที่ฝ่าพระบาททรงพระดำริจะทำอยู่นี้เหมือนกัน เที่ยวเก็บเอาอะไร ๆ มาใส่ลง แต่โดยมากผู้เขียนก็ไม่รู้ว่าอะไรแปลไม่ออกเท่ากับเราเดี๋ยวนี้เหมือนกันเช่นพระราชพิธี ๑๒ เดือนเก็บได้รายชื่อพระราชพิธีมาแต่ไหน ๆ จดใส่ลงกระนั้นก็ยังหาไม่ได้ครบ ดังที่จดไว้ว่า “เดือน ๘ ขาด” ถึงอธิบายรายละเอียดเอาพิธีที่ทำอยู่ในปัจจุบันนั้นเข้าไขไถลไปคนละทางก็มี ตัวอย่างดั่งเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำ พรรณารายการละเอียดกลายเป็นพิธีไล่น้ำหรือไล่เรือไป ผู้แต่งเรื่องนางนพมาศตั้งใจจะไขชื่อพิธีต่าง ๆ ประมูลให้ดีกว่า และก็ไขดีกว่าในกฎมนเทียรบาลจริง ๆ ด้วย ในที่สุดเห็นอจุตนานำไขดีกว่ากฎมนเทียรบาลและนพมาศทั้งหมด เพราะพิธีพราหมณ์นั้นนำมาจากประเทศของเขาเขารู้จริง ชาวเราตั้งแต่ชั้นกฎมนเทียรบาลมาแล้วไม่รู้ว่าเขาทำอย่างไรกัน น่าเสียดายคำให้การอจุตนานำ ถ้าถามเอาความเป็นไปในบ้านเมืองเขาเวลานั้น จะได้ความรู้อะไรดีๆ ทีเดียว นี่ถามด้วยความสำคัญผิด คงเป็นพอได้ยินว่ามีพราหมณ์มาแต่เมืองพาราณสีก็จับเอาใจเพราะเห็นว่าเมืองพาราณสีเป็นที่พระเจ้าตรัสรู้ เป็นที่เกิดแห่งพระพุทธศาสนาควรจะซักไซ้ตาพราหมณ์เอาดีเตลทางพระพุทธศาสนามาเพิ่มภูลความรู้ จึ่งได้แต่งผู้รู้เลิศในทางพระพุทธศาสนาให้ไปเป็นผู้ไต่ถาม ก็ไปตั้งกระทู้ถามแต่ในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่เป็นทางที่ตาพราหมณ์คนนั้นแกรู้ และยังซ้ำร้ายพระพุทธศาสนาในเวลานั้นก็ไม่มีในพาราณสีด้วย ตาพราหมณ์แกเห็นอะไรพอจะเอามาปรับกับกะทู้ถามได้ แกก็เอามาปรับให้ตามบุญตามกรรม “ยติ” ที่ว่าเป็นพระสงฆ์นั้น พระสาธุศีลสังวรรู้จัก ว่าเป็นนักบวชในลัทธิเซน เมื่อถามไม่ได้ความตอบพอใจก็ถามต้อน ล่ามก็แปลเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ในที่สุดตาพราหมณ์แกเบื่อเข้าก็พะยักพะเยิดพอให้แล้ว ๆ ไป จึ่งได้ไถลมาเป็นทางข้างไทย ๆ เรานี้

ราชาภิเษก ๗ อย่างที่ทรงคัดออกจากกฎมนเทียรบาลนั้นก็เหมือนกัน ผู้แต่งเก็บได้แต่ชื่อมา ไม่รู้รอบไปว่าชื่อเหล่านั้นทำกันอย่างไร คัมภีร์โลกบัญญัติยิ่งเหลวไหลใหญ่ แต่งเข้ารกเข้าพงไปโดยไม่รู้ ภาษาบาลีก็เตมที เป็นบาลีตาโหร เห็นจะไม่ใช่ลังกา คงเป็นแต่งในแถวบ้านเรานี้เอง

ความเห็นเกล้ากระหม่อมในเรื่องอภิเษก เห็นว่าอภิเษก แปลว่า รดน้ำเท่านั้นเอง ใครจะรดก็ได้ ไม่ต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสมอไป รดเพื่อการอะไรย่อมมีคำปรากฏต่อไว้ข้างหน้า อภิเษก ๗ อย่างในกฎมนเทียรบาลนั้น คิดว่า ปฐมาภิเษก แปลว่า รดน้ำแรก จะเป็นพิธีโกนผมไฟก็ได้ หรือพิธีลงท่าก็ได้ ราชาภิเษก รดน้ำตั้งเป็นพระราชา อินทราภิเษก แปลว่ารดน้ำเป็นพระอินทร์ ไม่ใช่พระอินทร์เขียว ๆ เป็นพระอินทร์เจ้าใหญ่คือราเชนทร์ ราชาธิราช อย่างทรงพระดำริถูกแล้ว สังครามาภิเษก รดน้ำออกสงคราม อาจารยาภิเษก รดน้ำตั้งเป็นอาจารย์ น่าจะเกี่ยวกับคชกรรมเสียมาก ถ้าเช่นนั้นคือตั้งหมอเถ้า บุษยาภิเษก บุษย ว่าดอกไม้ นัยหนึ่งเป็นชื่อดาวฤกษ์ ยังคิดไม่เห็นว่ารดทำไมกัน ปราบดาภิเษก ปราปตว่าได้ว่าถึงว่าชนะ คือรดน้ำเมื่อได้ชัยชนะ ถึงที่สุดแห่งชัยชนะ ในโลกบัญญัติกล่าวด้วยอภิเษก ๕ อย่าง แปลกออกไปแต่ ๒ อย่าง คือ โภคาภิเษก คงเป็นรดน้ำให้ครองโภคสมบัติ โดยบิดาตกแต่งให้เมื่อบุตรมีอายุเป็นผู้ใหญ่ควรครองเรือน เช่นนิทานเรื่องพระเจ้าทรมานพระนนท์ กับ อุภิเษก คำนี้ไม่เป็นภาษา ถ้าเป็น อภิเษก ก็แปลว่ารดน้ำ เท่านั้นเอง ไม่ได้เรื่องเห็นว่าเขลาเท่านั้น

คิดโดยปัจจุบันได้ดั่งนี้ ทูลถวายพอเป็นเลา ตั้งใจว่าเรื่องที่จะอธิบายประเพณีเก่านี้ พบอะไรก็จะคัดและออกความเห็นส่งมาถวายทีละอย่างตามแต่จะเก็บได้ แล้วทรงรวบรวมไว้จัดเข้าเป็นหมวดหมู่ต่อไปภายหน้า จะเป็นทางดีกว่าทำอย่างอื่น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ