วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๒

บันทึก

ในกรม

ได้ทูลสมเด็จกรมพระนริศ ฯ ว่าในหนังสือครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อกล่าวถึงการบำเพ็ญพระราชกุศลที่เปนงานใหญ่ เช่นงานพระเมรุกลางเมืองกล่าวว่า “นิมนต์พระสงฆ์สบสังวาสหมื่นหนึ่ง” ดังนี้

คำว่า สบสังวาส นั้น มาคิดเห็นว่ามิใช่ สบ ซึ่งหมายความว่า พบ เช่นเรียกว่า วัดสบสวรรค์ น่าจะเปน สพ หรือ สรพ ซึ่งหมายความว่า พระสงฆ์ทั้งวัดหรือทุกนิกาย ได้ทูลหารือสมเด็จกรมพระนริศ ฯ ดังนี้ จึงมีลายพระหัตถ์ตอบมา

สมบุญ จด

๑๖/๗/๗๒

เนื่องกับคำนี้ วัดสบสวรรค์ที่พระนครศรีอยุธยา แต่ก่อนมาก็เขียนว่า “ศพสวรรค์” อ้างว่าเพราะเปนที่ทำพระเมรุพระศพสมเด็จพระราชินีศรีสุริโยทัยครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่มีคำแย้งอยู่ในหนังสือพงศาวดารเหนือ ว่าพระยาโคตรบองสร้างวัดสบสวรรค์นั้น ต่อเมื่อพระยาโบราณไปพิจารณาท้องที่จึงได้ความว่าที่ตรงนั้นมีวัด ๒ วัดต่อกัน ข้างเหนือเปนวัดเล็ก ๆ เรียกว่าวัดสบสวรรค์ ข้างใต้มีวัดอีกวัด ๑ ซึ่งมีพระมหาเจดีย์สร้างไว้ เรียกว่าวัดสวนหลวงศพสวรรค์ อยู่ปลายเขตที่วังหลังครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้หลักดังนี้จึงได้วินิจฉัยว่า วัดสบสวรรค์นั้น (พระยาโคตรบองสร้างก็ตาม หรือใครสร้างก็ตาม) มีมาก่อนแล้ว จะใช้ศพทรากผีเปนชื่อวัดไม่ได้ ต้องเป็นคำ สบ คือประสบพบสวรรค์ ส่วนเรื่องทำพระเมรุสมเด็จพระสุริโยทัยนั้น ในหนังสือพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระสุริโยทัยถูกข้าศึกฟันสิ้นพระชนม์บนคอช้างเชิญพระศพมาไว้ที่สวนหลวง จึงสันนิษฐานว่าคงทำพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพที่ในบริเวณสวนหลวงตอนต่อกับวัดสบสวรรค์ แล้วจึงสร้างวัดขึ้น ตรงที่พระราชทานเพลิงนั้นและสร้างพระมหาธาตุเปนที่บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัย ซึ่งยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ จึงเรียกกันว่าวัดสวนหลวง

  1. ๑. พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ