วันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ น

บ้านปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๗๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๖ ตรัสปรึกษาความเห็นเรื่องบทเห่เรือเก่า ได้ตริตรองแล้ว

นึึกถึงคำบุราณที่ว่า “ร้องรำทำเพลง” เป็นคำรวบยอดแห่งกิริยาแสดงความรื่นเริงของมนุษย์ (หรือทั้งเดียรฉานด้วย) ตามปกติเมื่อมนุษย์ยังเป็นป่าเถื่อน ก็ประพฤติเหมือนเดียรฉาน คือแย่งกันกินด้วยอาการสู้รบกัน เมื่อใครชนะก็เริงใจร้องรำทำเพลง

อันว่าการร้องนั้น ชั้นแรกไม่มีภาษาในนั้น เสียงพลุ่งออกมาเองด้วยอำนาจความดีใจ มีเฮฮาอาโอโห่ฮิ้วเป็นต้น แต่ล้วนเป็นสระทั้งนั้น เสียงซึ่งเกิดขึ้นเองแต่ใจเช่นนั้นก็มีความประหลาดอยู่มาก ที่ลางเสียงแสดงให้รู้น้ำใจได้ เช่น “อ้าว” แสดงให้รู้ได้ว่าไม่พอใจ “เออ” รู้ได้ว่าพอใจ “เอ๊ะ” สงสัย “อ้อ” เข้าใจ ฉะนี้เป็นต้น ต่อมาอีกชั้นหนึ่งประกอบเข้ากับพยัญชนะด้วย เช่นสาละพาเฮโล แต่ก็คงไม่มีความอยู่นั่นเอง ต่อมาอีกชั้นหนึ่ง มีภาษาประกอบเข้าบ้าง ตัวอย่างเช่น “เห่แลเรือ เหละเห่เห” คำว่าเรือเท่านั้นที่เป็นภาษา ต่อมาภายหลังดัดเป็นทำนองขึ้นด้วย ประกอบคำที่เป็นภาษามากขึ้น แต่ล้วนเป็นคำด้นเหลวไหลแล้วแต่จะนึกได้ทั้งนั้น ตัวอย่างเช่นร้องเชิดชิ่งว่า “เห่เอยระเนระนง หงส์คาบเอาใบโพธิ์ คาบสาวที่นมโต วิ่งโร่มาโรงเราเอย” บทร้องนี้ย่อมเกิดขึ้นแต่ไปเล่นหนังตามวัด เห็นเสาหงส์เป็นนิมิตต์ แล้วหันไปหยอกสาว ๆ หน้าโรง ต่อมาพวกกวีรำคาญใจ แต่งคำให้ร้อง จึ่งสำเร็จเรียบร้อยเป็นร้องอย่างทุกวันนี้

อันว่าการรำนั้น ชั้นแรกก็เป็นแต่เต้นแร้งเต้นแฉ่งไปตามธรรมชาต อันความดีใจบันดานให้เป็นไป ต่อมาเมื่อมีความฉลาดขึ้น ก็จัดเต้นรำนั้นให้มีจังหวะพร้อม ๆ กัน แล้วดัดท่าให้งดงาม แล้วประกอบให้เป็นเรื่องเป็นราวตามที่กวีคิดแต่งให้ จึ่งสำเร็จเรียบร้อยเป็นระบำ เป็นโขนละคอนอย่างทุกวันนี้

อันว่าทำเพลงนั้น ชั้นแรกก็คือตบมือตีตีนตีเกลาะเคาะไม้ไปตามบุญตามกรรมก่อน ทีหลังฉลาดขึ้นก็จัดกันตบตีให้เป็นจังหวะ ไว้ระยะให้เสมอกัน ให้สลับกัน ให้เสียงต่างกันด้วยของที่ตีต่างชนิดกัน ภายหลังเอาเครื่องเป่าลมเครื่องดีดสีเข้าประกอบ ทำเสียงสูงต่ำให้เป็นเพลง จึ่งสำเร็จรูปเป็นดุริยางคดนตรีอย่างทุกวันนี้

จะกลับกล่าวถึงการเห่เรือ ในชั้นแรกก็คงเป็นแต่ออกเสียงเอะอะด้วยความรื่นเริงไม่เป็นภาษา เช่น “เยอวพ่อเยอว เย่อวพ่อ” สำหรับพายช้า หรือว่า “ปะอีเยอวเยอว” สำหรับพายจ้ำ หรือที่พวกแขกมลายูร้อง “ฮ่าวู้วู้” นั้นก็อย่างเดียวกัน ถัดลงมาก็คงมีคำเป็นภาษาเข้าปน และมีทำนองโหยหวลขึ้น แต่อย่างไรก็ดี คงไม่เป็นคำกวีอย่างประณีต เช่นที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงแต่ง ยังเห็นอยู่ได้ที่บท “เห่แลเรือ” แน่นอนว่าเป็นบทเก่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรแต่งใหม่ไม่ลง เพราะเป็นลำนำไม่มีระเบียบที่จะบรรจุกาพย์กลอนโคลงลงได้ ขอประทานพักถวายไว้ในที่นี้ด้วย ในบท “เห่แลเรือ” นั้น คำที่ว่า “โอเห่เจ้าข้า มาราไชโย” เห็นจะผิด ที่แท้จะเป็น “ปราไชโย” รับกับ “โอ้เห่มารา ------ปราไชโย” คิดว่าเห่บทนี้เป็นบทจ้ำพาย ไล่ตามปรปักษเมื่อแพ้ฝีมือ ลงท้ายมีคำ “โอวโอว” นั้น เป็นพยานอยู่ให้เห็นว่าเป็นเสียงขู่ไล่ เป็นเห่บทที่สุดเลยกลายเป็นใช้เมื่อเสด็จถึงท่า คือที่สุดแห่งการเห่

กระบวรเห่นั้นมิใช่มีแต่เรือ ละคอนก็มีเห่ มีทั้งเพลงช้าเพลงเร็วแต่ถ้อยคำก็เป็นด้นทั้งนั้น เช่น “ชะป่อยแม่นางป่อย ใครใช้ใครสอย ให้ไปทำกงพัด” หนังก็มีเห่ในเชิดฉิ่ง เช่น “เห่เอยระเนระนง” ดั่งเขียนมาแล้วข้างต้น กล่อมเด็กก็มีเห่ เช่น “โอละเห่ โอละหึก ลุกขึ้นแต่ดึก ทำขนมแชงม้า” แม่จนกระทั่งลากไม้ก็มีเห่ คือ “ซาละพา เฮโล” ร้องกันเป็นเสียงตรงๆ ก็มี ร้องเป็นทำนองโหยหวลก็มี ประกอบคำสดเข้าด้วยก็มี ดังเคยได้ยินมาเมื่อเขาลากไม้มาทำพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ผเอิญมีคนลากคนหนึ่งสีสะล้าน ต้นบทร้องชัก “สาละพา เฮโล เหโล เห่ล่า หัวล้านก็มา” ดังนี้ คนลากสนุกสนานทั่วกัน เว้นแต่คนสีสะล้านนั้นคนเดียว หน้าเง้าไม่สนุกอย่างเอก ตกเป็นอันไม่ว่าการสิ่งใด เมื่อจะส่งเสิมให้มีความรื่นเริง เพื่อความพร้อมเพรียงกัน หรือเพื่อการครึกครื้น เพื่อความวังเวง ก็มีเห่ทั้งนั้น

ข้อที่ทรงพระปรารภว่า เห่เพลงช้าละคอนจะตอนมาแต่เห่เรือได้หรือไม่นั้น เป็นการยากที่จะชี้ขาด อาจตอนมาก็ได้ หรือจะกลับเป็นเรือตอนเอาเห่ละคอนไปเห่เรือบ้างก็ได้ ถ้าจะเดาให้ใกล้แก่ที่จะเป็นได้ เห่ทั้งหลายน่าจะร้องปะปนกัน แล้วแต่จะจำอะไรได้ติดใจอยู่ก็ร้องกันไป เห็นได้เช่นเห่ลากไม้ “ซาละพา เฮโล” นั้น การพายเรือก็เอามาร้องอยู่เหมือนกันทั้งไทยและมลายู

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ