วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ น

บ้านปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัดถลงวันที่ ๒๓ ได้รับแล้ว ขอรับรองพระดำริ ที่ว่าคำ วาน วอน ออน นั้นเป็นคำเดียวกัน ได้คิดสอบสวนนึกสำนวนเก่าได้เช่น “วานอย่าถือใจ” เห็นได้ว่าคือวอนนั้นเอง แต่ข้อที่ทำไมจึงแตกต่างกันไปเป็น ๓ อย่างนั้น ไม่เห็นว่าจะผิดไปด้วยหลงเขียนลากข้างเป็นตัว อ หรือเขียนตัว ว เป็นตัว อ นั้นเลย มีความเห็นไปอย่างหนึ่ง ดังจะทูลถวายต่อไปนี้

ภาษาของเรามีมาก่อน หนังสือมีทีหลัง มีความเสียใจที่หนังสือของเราหาได้ปรุงขึ้นจากภาษาของเราไม่ เอาแบบหนังสือสันสกฤตแท้ๆ มาใช้ เห็นจะเป็นครู (พระหรือพราหมณ์ก็ตามที) ผู้ที่นำศาสนาทางมหายานเข้ามาสั่งสอนจัดการให้เห็นได้จากคำประณามเบื้องต้นว่า “นโมพุทธายสิทธํ” หนังสือสันสกฤตนั้นไม่เหมาะกับภาษาของเราเลย เพราะภาษาของเรามีสระกล้ำมาก ภาษาสันสกฤตมีสระกล้ำแต่สอง คือไอกับเอาเท่านั้น เมื่อเอามาใช้ในภาษาไทยก็ต้องเติมสระเข้าอีกมากมาย เห็นได้ว่าชั้นแรกเติมแต่สระ อึ อื กับ แอ สามอย่างก่อน ซึ่งปรากฎอยู่ในแม่ กกา ภายหลังเติม ออ อัว เอีย เอือ เออ ขึ้นใน แม่ กน กง กก กด กบ กม อีก เพราะไม่พอใช้แล้วยังต้องเติมแม่เกยอีกทั้งแม่ เห็นได้ว่าเติมขึ้นเป็นคราว ๆ ระเบียบสระจึงไม่รวมอยู่เป็นหมวดเดียวกัน แม้ได้เติมเป็นหลายคราวแล้วเช่นนั้น เกล้ากระหม่อมก็อยากจะหาความว่า ยังไม่พอที่จะเขียนภาษาไทยได้ทุกคำอยู่นั่นเอง

คำ วาน วอน ออน นั้น เสียงเดิมชะรอยจะเป็นสระ อุ กล้ำกับ ออ (คือ uon) ซึ่งจะเขียนลงเป็นหนังสือแม้ได้เติมสระเข้าเป็นกองแล้วก็ยังเขียนไม่ได้ ผู้เขียนก็หาทางที่จะเขียนให้ใกล้ที่สุด ครูหนึ่งเห็นว่า วาน เป็นใกล้ ครูหนึ่งเห็นว่า วอน เป็นใกล้ อีกครูหนึ่งเห็นว่า ออน เป็นใกล้ ต่างคนต่างเขียนไปตามใจรัก หนังสือกระจายไปเป็นต่าง ๆ กัน นักเรียนเห็นเขียนอย่างโน้นบ้างอย่างนี้บ้างก็เลยเขียนตามไปเสียทุกอย่าง จึ่งเลยเลอะมาจนถึงทุกวันนี้

จะฟังได้หรือไม่แล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ