อีกไม่กี่วันต่อมา ญาติทั้งกลุ่มก็ไปส่งสุธิราเดินทางไปต่างประเทศที่สนามบินดอนเมือง วิทิตและภรรยา บรรเลงและจันทิรา กรรณิการ์ บรรโลม และญาติอื่น ๆ ก็ไปพร้อมหน้ากัน สายตาทุกคู่คอยชำเลืองดูอาการของแอนน์ วิทิต และกรรณิการ์ วิทิตเมื่อได้พบจันทิราทีไรก็มีความเร่าร้อนในใจ ในวันนั้นเขาจึงอยากหาเรื่องทำอะไรที่จะชวนให้เขาเบาอก ทุกคราวที่วิทิดได้มีโอกาสคุยกับกรรณิการ์สองคน เขามีความรู้สึกเบาโล่งในระบบประสาท ไม่มีความตึงเครียดเหมือนเวลาที่พบกับคนอื่น ในวันที่ไปส่งสุธิรา ขากลับเขาจึงชวนให้กรรณิการ์กลับรถเดียวกับเขา ซึ่งเขาได้ยืมเพื่อนชาวต่างประเทศคนหนึ่งมา

วิทิตไปส่งแอนน์ที่ที่ทำงานของหล่อน แล้วก็บอกกับแอนน์ว่าจะไปส่งกรรณิการ์ที่โรงเรียน

กรรณิการ์รับชวนของวิทิตกลับจากดอนเมือง ในรถคันเดียวกับเขาด้วยความจงใจที่จะให้พี่น้องทั้งหลายแลเห็นว่าหล่อนไม่เอาใจใส่ต่อความคิดเห็นอันไม่เป็นแก่นสารของผู้ใด แต่ครั้นวิทิตไปส่งแอนน์แล้วก็ชวนให้ไปรับประทานอาหารที่ร้านที่เคยไปด้วยกัน และแจ้งว่าเขามีเงินที่ใคร่จะส่งให้หล่อนอีกจำนวนหนึ่ง กรรณิการ์ก็อึกอักแต่แลวหล่อนคิดว่า ถึงอย่างไรหล่อนก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งการซุบซิบนินทาของญาติได้ และถึงอย่างไรหล่อนจะต้องจัดการเกี่ยวกับเรื่องเงินจำนวนนี้ให้เสร็จสิ้นไป หล่อนจึงตกลงด้วย เพราะถ้าหล่อนไม่ตกลงไป วิทิตอาจเกิดระแวงว่าหล่อนมีความรู้สึกแปลกไปหรืออย่างไร และถ้าบังเอิญเขาไปทราบเรื่องซุบซิบนินทานี้ในตอนหลัง และหวนกลับมาระลึกได้ว่าหล่อนมีความขยาดขลาดกลัวต่อสิ่งที่ไม่เป็นสาระเช่นนั้น เขาก็คงดูหมิ่นหล่อนไม่น้อย กรรณิการ์มีความนับถือวิทิตมาก พอที่จะต้องระวังไม่ให้เขามีโอกาสดูหมิ่นหล่อนในเรื่องที่เกี่ยวกับความคิดเห็นและความประพฤติ หล่อนจึงตัดใจทำเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ในการที่พบกับวิทิตและได้มีเวลาสนทนากับเขานานพอสมควรสองครั้งที่แล้วมานี้ กรรณิการ์เริ่มจะเข้าใจอะไรในตัววิทิตหลายอย่าง รวมทั้งที่บรรโลมคุยให้ฟังบ้าง ที่สุธิราอธิบายบ้าง กรรณิการ์แลเห็นว่า คนที่จากบ้านเมืองไปนาน ห่างไปจากพี่น้องและญาติผู้ใหญ่ ไปอยู่ในหมู่คนที่เขานับถือที่มีแนวความคิดเห็น แล้วมีความเคยชินในชีวิตอีกอย่าง ย่อมจะมีทรรศนะและปรัชญาแตกต่างไปจากผู้ที่อยู่ร่วมชีวิตรวมความรู้สึกกับหมู่ญาติ หล่อนมาคิดได้ว่า แม้เพียงที่หล่อนได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย หล่อนยังมีความรู้สึกนึกคิดแปลกไปจากคนที่ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย หล่อนจึงตั้งอกตั้งใจที่จะฟังวิทิต และพยายามเข้าใจเขาให้มากขึ้น เพื่อความรู้ของหล่อนเองและเพื่อเห็นอกเห็นใจเขาด้วย

เมื่ออยู่กันตามลำพังไม่มีผู้อื่นอยู่ หล่อนก็กล้าที่จะถามเขาในเรื่องที่หล่อนไม่กล้าถามเมื่อมีคนอื่นอยู่ด้วย

เป็นต้นว่า หล่อนกล้าถามเขาว่า เมื่อแรกรักใคร่กับแอนน์นั้น ได้เคยตรึกตรองบ้างหรือเปล่า ถ้าหากพาภรรยามาบ้าน จะได้ประสบปัญหาอะไรบ้าง เขาก็ตอบว่า ในระหว่างสงคราม คนทั้งหลายในประเทศอังกฤษคิดกันแต่ว่า วันนี้เป็นสำคัญที่สุด วันพรุ่งนี้จะได้มีชีวิตอยู่ต่อไปหรือไม่ก็รู้ เมื่อมีความรักใคร่กัน สิ่งสำคัญก็คือ ให้ได้สมความปรารถนาเสียก่อน อย่างน้อยถ้าฝ่ายหนึ่งตายลง อีกฝ่ายหนึ่งก็จะไม่ต้องเสียใจว่าได้ละทิ้งโอกาสที่จะให้ความสุขแก่อีกฝ่ายหนึ่งไปเสีย อันเป็นโอกาสที่จะไม่ได้ย้อนกลับมาอีกแล้ว เมื่อหล่อนซักต่อไปว่า เมื่อสงครามเลิกแล้ว เขาได้คิดตระเตรียมอะไรบ้าง เขาก็ตอบว่า เมื่อเสร็จสงครามแล้ว ก็มีปัญหาอยู่แต่ว่าตัวเขาจะคงอยู่ในอังกฤษต่อไปอีกหรือจะกลับเมืองไทย และถ้ากลับมาจะให้แอนน์มาด้วยหรือมิให้มา หรือตัวจะมาก่อน และให้แอนน์ตามมาทีหลัง ในเรื่องนี้แอนน์เป็นคนตัดสินโดยไม่รั้งรอ แอนน์มีเหตุผลว่า วิทิตได้ไปอังกฤษโดยทุนของประชาชน ซึ่งมีหน้าที่กลับมารับใช้ประชาชนชาวไทย และส่วนตัวหล่อน การที่จะรออยู่ที่อังกฤษจนกว่าวิทิตจะหาเงินทองส่งไปให้ได้ หรือให้วิทิตตั้งตัวก่อนจึงบอกให้หล่อนมานั้น หล่อนถือว่าเป็นปัญหาที่ไม่ควรตั้งขึ้นขบเลยปัญหานี้ขบได้ทันที คนที่ไม่กลัวในเรื่องทำงานย่อมจะหากินได้ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด หล่อนตัดสินว่าหล่อนกับวิทิตจะยังไม่มีบุตรจนกว่าจะมีฐานะดีพอสมควร แต่สำหรับตัวหล่อนกับวิทิตนั้น ทั้งสองก็เติบโตพอที่จะมีวิจารณญาณแล้ว จึงควรตัดสินได้เลยว่า สภาพอะไรก็ตามที่มีคนจำนวนล้านทนได้ คือคนไทยจำนวนล้านเขาอยู่ในเมืองไทยกันได้ แอนน์กับวิทิตก็ต้องทนอยู่ได้ สิ่งที่วิทิตไม่ได้คาดไว้ว่าจะต้องประสบก็คือ การที่แอนน์จะมีรายได้มากกว่าเขาตั้งสามเท่า และการที่ไม่สามารถจะพูดกับมารดาได้เรื่องทรัพย์สมบัติของบิดา

“ถ้าคุณแม่จะบอกว่า ทรัพย์สมบัติของคุณพ่อมีอยู่อย่างนี้ ๆ หรือไม่มีอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ หรือจะพูดว่าแม่ต้องการเท่านั้นเท่านี้ ฉันก็จะเข้าใจ แต่การที่คุณแม่โกรธ และทุก ๆ คนก็บอกว่าไม่ให้พูดอะไร เพราะมิฉะนั้นคุณแม่จะเสียใจ อันนี้ฉันไม่เข้าใจ เรื่องสิทธิของคนนั้นไม่เกี่ยวกับการศึกษา เป็นเรื่องของศีลธรรม ถ้าคนไม่ยอมฟังเรื่องสิทธิ เขาต้องแกล้งทำเป็นไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับสิทธิเท่านั้น และฉันจะต้องเข้าใจว่าแม่ของฉันเป็นเช่นนั้นหรือ?”

กรรณิการ์พยายามปลอบเขาเท่าที่ความสามารถของหล่อนจะทำได้ “กรรณเห็นใจทั้งคุณป้าและคุณติ๊ดสำหรับเรื่องนี้ แต่ยังอธิบายให้แจ่มแจ้งไม่ถูก หรือจะพูดว่าหาถ้อยคำที่เหมาะยังไม่ได้จะดีกว่า มันเป็นความรู้สึกของแม่ ซ่อนเร้นอยู่อย่างไรพิกล จะว่าไม่มีเหตุผลก็ได้ แต่ไม่ใช่คุณป้าเห็นตัวแก่ หรือไม่ยอมรับสิทธิของคุณติ๊ดหรอก ชีวิตของคุณป้าก็ให้แก่คุณติ๊ดได้ ถ้าการขอร้องมาถูกจังหวะ ถูกกับความเข้าใจของท่าน”

“เอาละ ขอรับข้อประนีประนอมของคุณครูไว้พลาง” วิทิตว่า เพราะไม่รู้จะทำอะไรดีกว่านั้น “แต่ถ้าใครจะทำให้ฉันเข้าใจแง่ความคิดอันนี้ได้จะชอบใจเหลือเกิน”

“เอาเถิด เมื่อคิดได้เมื่อไรจะพูดให้ฟัง” กรรณิการ์รับรอง ที่จริงหล่อนพูดตามจริงเมื่อหล่อนกล่าว ตัวหล่อนอธิบายไม่ถูก เพราะหล่อนเพียงแต่รู้ว่า คุณสังเวียนไม่ใช่เป็นคนเห็นแก่ตัว หรือเห็นแก่อำนาจที่จะยึดทรัพย์สมบัติของบุตรทั้งหลายไว้ แต่ในหัวใจของท่านที่ทำให้ท่านไม่ยินยอมเจรจาเรื่องนี้กับบุตรชาย หล่อนได้แต่เดาเอาว่าเป็นเพราะบุตรชายคนใหญ่นำสะใภ้มาให้ท่านโดยมิได้ปรึกษาหารือขอความยินยอม หรืออีกอย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะท่านไม่มีสมบัติจะหยิบยื่นให้ จึงเลยปฏิเสธไม่ยอมเจรจา และเพราะต้องปฏิเสธการเจรจา ก็แปลว่าไม่อาจทำสิ่งที่บุตรพอใจ เมื่อไม่สามารถจะทำให้บุตรพึงพอใจก็เลยน้อยใจว่า บุตรมาทำให้ท่านตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากใจ ซึ่งเมื่อดูจากสายตาของชายที่มีภรรยาก็เรียกได้ว่ามีเหตุผลไม่สมควร แต่ดูจากสายตาของมารดาก็คงเป็นเหตุควรแก่ความเห็นใจอย่างยิ่ง

เรื่องที่กรรณิการ์ยังไม่กล้าถามวิทิตทั้งที่หล่อนมีความอยากรู้มากก็คือ เมื่อจะตัดสินใจแต่งงานกับแอนน์นั้น เขาได้คิดถึงจันทิราบ้างหรือเปล่า ได้คิดบ้างหรือเปล่าว่าจันทิราอาจรออยู่ และถ้าเมื่อเขากลับมาแล้วพบว่าจันทิรายังตัวเปล่าอยู่ เขาจะทำอย่างไร

วิทิตเล่าให้กรรณิการ์ฟังถึงงานของเขาที่กระทรวง วิทิตมีความกลัดกลุ้มมากในเรื่องงาน เพราะหน้าที่ของเขาทำให้แลเห็นความทุจริตของเพื่อนข้าราชการหลายคนและในเรื่องนี้แอนน์ไม่ยอมเข้าใจเมื่อเขาเล่าเรื่องปรับทุกข์ให้ฟัง หล่อนเห็นว่าเขามีหน้าที่ช่วยปราบการทุจริตเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง แต่วิทิตก็อธิบายให้ฟังว่าเขาไม่อยู่ในฐานะที่จะทำได้ ซึ่งแอนน์ไม่ค่อยเชื่อสนิท หล่อนเริ่มระแวงว่าเขาจะเห็นแก่ความนิยมเล็ก ๆ น้อย ๆ จากผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงาน แทนที่จะเห็นแก่ประชาชนทั้งประเทศ และวิทิตไม่สามารถจะทำให้แอนน์เข้าใจว่าความทุจริตได้แผ่ไปกว้างขวางอย่างไร ถึงขนาดที่ถ้าผู้ใดจะคิดปราบปรามก็ต้องไม่ติดอยู่ในราชการ ซึ่งเขาจะเล่าให้แอนน์ฟังก็รู้สึกอับอายมาก จึงได้แต่คิดวนเวียนอยู่ นอกจากนั้นวิทิตยังได้เล่าให้กรรณิการ์ฟังถึงเรื่องที่เขาทำให้แอนน์ผิดหวัง โดยได้ไปอวดอ้างว่าคนไทยไม่ค่อยนิยมเงิน แต่บัดนี้แอนน์มีความระแวงสงสัยว่า โดยทั่วไปคนไทยนิยมเงินยิ่งกว่าวิชาความรู้หรือตระกูลหรือคุณวุฒิอื่นใด

กรรณิการ์ได้คุยกับลูกพี่ลูกน้องของหล่อนในทำนองนี้สองครั้ง หล่อนจึงรู้สึกเห็นอกเห็นใจขึ้นอย่างมากและนึกว่าถ้าหล่อนสามารถจะช่วยให้เขามีความสุขขึ้นได้ทางใด หล่อนก็จะช่วย ดังนั้นในวันไปส่งสุธิรา และเขาชวนไปรับประทานอาหาร กรรณิการ์จึงตัดสินว่า ถ้าหล่อนปฏิเสธเพราะเหตุกลัวคำกระซิบอันไร้สาระ ก็เป็นการไม่ยุติธรรมแก่เขา และผิดหลักของหล่อนเอง

การตัดสินใจของหล่อนนั้น เกิดผลดีต่อหล่อนหนึ่งอย่าง แต่เป็นผลร้ายต่อแอนน์ไปนาน

แอนน์นั้น พอสามีส่งตัวให้เข้าที่ทำงานไปแล้วออกรถไปกับกรรณิการ์ ทีแรกก็เดินเข้าไปในห้องทำงานด้วยความหิว ตั้งใจจะรับประทานแซนด์วิชที่นำมาด้วยจากบ้าน และรับประทานเป็นอาหารกลางวันเป็นประจำ แต่พอกินแซนด์วิชเข้าไปยังไม่ถึงครึ่งชิ้น ความระแวงสงสัยก็ผุดขึ้นอย่างแรงจนไม่สามารถกดบังคับไว้ได้ หล่อนรีบรับประทานหมดหนึ่งชิ้น แล้วก็ออกมาที่หน้าสำนักงาน พบแท็กซี่คันหนึ่งก็บอกให้ขับไปทางสะพานเทวกรรม ให้แล่นผ่านร้านอาหารที่หล่อนได้เคยพบกรรณิการ์กับวิทิตรับประทานอาหารอยู่ด้วยกัน

หล่อนก็ได้เห็นเขาทั้งสองตามที่ระแวงคาดหมายไว้ หล่อนไม่มีโอกาสเข้าไปยืนดูสีหน้าของคนทั้งสองระหว่างสนทนากัน แต่ให้รถขับเลยไปลงที่ถนนราชดำเนินตอนหนึ่ง แล้วหล่อนก็ขึ้นอีกคนหนึ่งกลับไปสำนักงาน

ความรู้สึกของแอนน์นั้น แม้แต่ตัวเองหล่อนก็อธิบายให้แจ่มแจ้งไม่ได้ แน่นอน หล่อนมีความรู้สึกหม่นหมองน้อยใจ แต่ก็มีความหวังในใจอย่างไรก็ไม่สามารถจะอธิบายได้ จนกระทั่งความยุ่งเหยิงผ่านพ้นไป หล่อนจึงอธิบายแก่ตนเองได้ แต่ความหม่นหมองน้อยใจในโชคชาตาของตัวนั้น ทับท่วมหัวใจหล่อนอยู่นาน ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อแอนน์พยายามจะสืบหาความเบาใจจากธัช เขาก็ยิ่งทำให้หล่อนเศร้าหมองยิ่งขึ้น

ธัชได้มาทำงานที่บริษัทที่แอนน์ทำอยู่ หล่อนพยายามจะพบเขาและถามถึงกรรณิการ์ เผื่อว่าเขาจะทำให้หล่อนคลายใจโดยแท้จริงความสัมพันธ์อันดีระหว่างเขากับหญิงที่รักของเขา แต่หล่อนสังเกตว่าธัชพยายามจะหลบหน้าหล่อน แต่ด้วยความพยายาม ในวันที่สี่หล่อนก็ตรึงตัวเขาไว้ที่โต๊ะ ทำงานของเขา ไม่ให้รีบหนีไปก่อนได้

หล่อนรีบเดินออกมาจากห้องทำงานเฉพาะตัวของหล่อน ทันที่ที่ได้ยินเสียงเก้าอี้เคลื่อนหลาย ๆ ตัวพร้อมกัน เป็นสัญญาณว่าคนทางานในห้องใหญ่ข้างหน้าห้องเฉพาะตัวของหล่อนกำลังจะเลิกงานตอนเช้า เพื่อไปรับประทานอาหารกลางวัน หล่อนรีบออกมาจากห้องของหล่อน โดยธัชยังหลบไปไม่ทัน หล่อนก็เดินตรงไปที่โต๊ะทำงานของเขา ยิ้มพลางถามเขาว่า “มาทำงานแล้วเป็นไงบ้าง คุณธัช?”

หล่อนสังเกตเห็นมือของธัชเที่ยวไขว่คว้าหาอะไรบนโต๊ะอย่างไม่เป็นระเบียบ เห็นได้ว่าเขาข่มสติของเขายังไม่ได้ หล่อนถามอีกครั้งเขาจึงจำใจเงยหน้าขึ้นสบตาหล่อน

“ก็ไม่เป็นไงครับ” เขาตอบ ซึ่งผิดไปจากลักษณะของธัชตามที่หล่อนได้เคยพบเขา ถ้ามีอะไรที่จะเล่า เขาคงยิ้มแย้มรีบเล่าให้หล่อนฟัง

“ไปรับประทานอาหารกันข้างนอกไหม” แอนน์ชวน

“โอ วันนี้เสียใจครับ” ธัชรีบปฏิเสธ “วันนี้ผมต้องไปที่อื่น”

“เป็นยังไง?” แอนน์ถาม “เรื่องนางในหัวใจของเธอ” คราวนี้แอนน์พูดเป็นภาษาอังกฤษ เพราะกลัวว่าจะหาคำพูดที่ถูกต้องในภาษาไทยไม่ได้ หล่อนใช้คำภาษาอังกฤษว่า your lady love

ธัชอึดอัดไม่เข้าใจคำถามของแอนน์ว่าเป็นคำที่หนักเบาแค่ไหน และเขาควรตอบหรือไม่อย่างไร แต่แอนน์เห็นเขาอึกอัก หล่อนก็ถามเป็นภาษาไทยว่า “เพื่อนผู้หญิงที่รักของคุณกับคุณดีขึ้นไหม?”

ธัชคอตกโดยไม่ทันแสร้งทำกิริยาอย่างอื่น เพราะธัชแสร้งทำอะไรไม่ค่อยเป็นทั้งสิ้น “อย่าเพิ่งพูดเรื่องนั้นเลยครับ” เขาตอบโพล่งออกไป

“โอ เสียใจ” แอนน์กล่าว แล้วตัวหล่อนเองก็แสร้งทำต่อไปไม่ได้ รีบกล่าวคำอำลาพอไม่เสียกิริยาแล้วก็ผละจากเขาไป

สิ่งที่ทำให้แอนน์กลัดกลุ้มมากเกี่ยวกับความสงสัยของหล่อนว่า วิทิตรักกับกรรณิการ์ นี้ก็คือ หล่อนไม่รู้ว่าหล่อนควรทำอย่างไร ควรคาดคั้นเอาให้รู้ความจริงแน่ลงไป หรือควรรั้งรอให้เหตุการณ์พาหล่อนไปถึงจุดหนึ่งที่จะช่วยหล่อนตัดสิน หล่อนไม่มีใครจะปรับทุกข์ด้วย ไม่มีญาติพี่น้องใกล้ชิดสนิท บรรโลมก็เป็นเพื่อนของกรรณิการ์มาก่อนหล่อน สุธิราก็ไปต่างประเทศแล้ว หรือถึงสุธิราอยู่หล่อนก็ไม่กล้าไปปรึกษา เพื่อนชาวต่างประเทศของหล่อนก็ไม่มีความรู้พอที่จะแนะนำสิ่งที่ถูกต้อง เขาคงแนะนำให้ทำตามหลักความประพฤติของเขา ซึ่งแอนน์ก็ไม่รู้ว่าจะทำให้หล่อนได้รับความชอกช้ำมากขึ้นเพียงใด หล่อนรู้แต่ว่าสามีของหล่อนมีอาการเหม่ออาการสะดุ้งมากขึ้นทุกวัน จนหล่อนเกือบทนอยู่ไม่ไหว ต้องหลบหน้าและหาโอกาสทำอะไรร่วมกับ เพื่อนฝูงอื่น ๆ ไม่หาโอกาสอยู่กับเขาสองต่อสองให้นานนัก

แอนน์หาทางหลบอยู่กับงานของหล่อนได้อย่างหนึ่ง งานที่บริษัทกำลังเพิ่มอยู่เรื่อย ๆ เพราะกิจการกำลังเจริญขยายตัวอยู่ตลอดเวลา หล่อนกลับมาบ้านในเวลาค่ำ ๆ หาโอกาสบอกว่าเหนื่อย แล้วก็เข้านอน หรือมิฉะนั้นก็ชวนเพื่อนมารับประทานอาหาร หรือออกไปรับประทานอาหารกับเพื่อน หรือไปดูภาพยนตร์ ประพฤติอยู่อย่างนี้เป็นเวลานาน

ส่วนทางกรรณิการ์นั้น ที่ว่าการไปรับประทานอาหารกับวิทิตเป็นประโยชน์แก่หล่อนก็คือ กรรณิการ์ได้สัมพันธมิตรเก่าของหล่อน คือคุณหลวงอนุมัติ ฯ คืนมา คือตั้งแต่เลิกสงคราม คุณหลวงได้เปิดสำนักทนายความของท่านขึ้นอีก และท่านก็หมกมุ่นกับกิจการของท่านมาก และกรรณิการ์ก็หมกมุ่นกับงานของหล่อน จนกระทั่งคุณหลวงไม่ได้สนใจในกรรณิการ์นัก แต่ในการที่กรรณิการ์รับชวนของวิทิต โดยกลับจากดอนเมืองด้วยรถของวิทิต และต่อมาวิภายังได้ทราบว่ากรรณิการ์ได้ไปรับประทานอาหารกับวิทิต ญาติทั้งหลายก็เปลี่ยนจากการซุบซิบตำหนิแอนน์ ว่ามีความหึงหวงเกินขนาด กลายเป็นมาตำหนิกรรณิการ์ ว่าประพฤติผิดจากธรรมเนียมของกุลสตรี โดยที่ไม่พยายามหลีกเลี่ยงคำครหา เมื่อความเห็นเหล่านี้ไปถึงหูนิสาก็มิได้ปกปิดมารดาเหมือนเรื่องอื่น ๆ ถึงแม้ว่านิสาจะรู้ความจริงเกี่ยวกับวิทิตดี หล่อนก็เห็นว่าการซุบซิบตำหนิกรรณิการ์ อาจเป็นเครื่องช่วยการรักษาผลประโยชน์ของหล่อนอย่างดี จึงได้เล่าให้มารดาฟังถึงเหตุการณ์ในวันส่งสุธิรา เรื่องที่กล่าวถึงนี้ก็ได้เป็นอาหารปากของคุณจำเนียรไปหลายมื้ออาหาร จนกระทั่งคุณหลวงอนุมัติ ฯ ผู้ซึ่งมีโอกาสร่วมการรับประทานกับบุตรภรรยาน้อยก็ได้ยินเข้าจนได้

“นี่ แม่จำเนียร” คุณหลวงจัดขึ้นขณะที่ภรรยากล่าวแสดงความคิดเห็นหลายแง่หลายมุม เกี่ยวกับความประพฤติของกรรณิการ์ ผู้ที่ท่านไม่ค่อยชอบนักมานานแล้ว เหตุที่ชอบรับฟังความคิดเห็นของใครที่ขัดแย้งกับท่าน แต่ท่านหาเรื่องจะตำหนิกรรณิการ์ไม่ถนัด

“แม่จำเนียร ฉันขอเตือนว่าแม่จำเนียรเป็นผู้ใหญ่แล้ว และลูกหลานเดี๋ยวนี้เขาก็โตขึ้นเป็นหลักเป็นฐานไปตาม ๆ กันแล้ว จะพูดจะจาเรื่องอะไร ขอให้ระวังถ้อยคำให้มาก ๆ”

“ดิฉันว่าอะไร?” คุณนายจำเนียรย้อนถาม “ก็พูดไปตามที่พี่น้องของเขาเองเล่ากันมา”

“ก็เขาเล่ากัน เราก็อย่าเล่าต่อซี” คุณหลวงว่า “มันได้ประโยชน์อะไร”

“แล้วมันเป็นยังไง เราเล่าของเราอยู่ตรงนี้ ฉันก็เล่าให้คุณฟัง มันจะเป็นยังไง?”

“ฉันว่ามันจะไม่พูดกันเพียงตรงนี้น่ะซี” คุณหลวงพูดต่อไปอีก “ธรรมเนียมของญาติผู้ใหญ่น่ะ ถ้าเห็นเด็กทำอะไรไม่ดี ก็ต้องหาโอกาสตักเตือนเขา ไม่ใช่พูดลับหลังเขา เด็กมันรู้เข้ามันจะดูถูกเอา”

“อ๋อ ดูถูกน่ะแน่ละ” คุณนายย้อนตอบ “ถ้าไม่ดูถูกญาติพี่น้อง เขาจะทำอย่างนั้นหรือ แต่แม่ของเขายังไม่เชื่อ หรือจะตั้งใจแย่งแหม่มมันก็ไม่รู้”

คุณหลวงอนุมัติฯ ยอมแพ้ เพราะท่านไม่เคยสามารถโต้ตอบกับภรรยา แล้วทำให้เหตุผลของภรรยาเปลี่ยนได้เลย ทั้งนี้ก็เพราะท่านไม่สามารถเข้าถึงหรือลงไม่ถึงวิธีการคิดนึกแบบของภรรยาท่านได้ ท่านรู้แต่ว่า ท่านมีกติกาของท่านในเรื่องความซื่อตรงต่อมิตร และกรรณิการ์นั้นเป็น “มิตร” ของท่านคนหนึ่ง ท่านจึงพยายามปลีกตัวจากกิจการไปเยี่ยมกรรณิการ์

เมื่อถามถึงทุกข์สุขตามปกติ และให้โอกาสแก่กรรณิการ์ให้เป็นฝ่ายปรับทุกข์แก่ท่าน แต่กรรณิการ์ก็ไม่ยกเรื่องขึ้นปรับทุกข์ ท่านจึงต้องพูดตรง ๆ

“หลาน...หลานน่ะเป็นคนที่น่ารักมาก เวลานี้น้าได้ยินว่าหลานมีเรื่องรำคาญใจไม่ใช่รึ”

กรรณิการ์ถอนใจใหญ่ “เรื่องไม่เป็นสาระน่ะค่ะ” หล่อนตอบ

“เขาว่าเมียเจ้าติ๊ดเขาหึงหลานไม่ใช่รึ?”

“เขายังไม่ได้ทำอะไรเลยค่ะ” กรรณิการ์ตอบ “ทำไมใคร ๆ ถึงใจเบากันอย่างนี้ก็ไม่ทราบ แอนน์ยังไม่ได้ทำอะไรเลย”

“อ้าว แล้วมันเป็นยังไงกัน เขาว่าคุณแม่หลานกับหลานถึงกับขัดใจกัน น้าเป็นห่วงหลานน่ะเห็นเหน็ดเหนื่อยออกจะตายแล้วจะมามีเรื่องร้อนใจ เดี๋ยวก็เจ็บไข้ไปเท่านั้น”

“คุณแม่ก็เกิดหูเบาขึ้นมาค่ะ แล้วกรรณขัดใจว่าทำไมท่านถึงใจเบาไปกับคนอื่น ๆ ท่านก็เลยเคืองกรรณค่ะ”

“คุณแม่ของหลานเคยเป็นคนมีเหตุผลนี่” คุณหลวงอนุมัติ ฯ ว่า เกือบจะเติมเข้าไปด้วยว่า “ไม่เหมือนเมียน้า”

“คราวนี้ท่านเอาแต่เป็นห่วง แล้วก็อยากให้กรรณไม่ต้องไปช่วยคุณป้าสังเวียนเรื่องนั้นเรื่องนี้บ่อย ๆ ด้วย ก็จะห้ามไม่ให้กรรณไปติดต่อกับคุณติ๊ดกับแอนน์ กรรณเห็นมันไม่ยุติธรรม แล้วกรรณก็โตแล้ว กรรณต้องการตัดสินอะไรของกรรณเอง ไม่อยากให้ใครมาช่วยตัดสินเรื่องส่วนตัว ก็เลยขึ้นเสียงกับคุณแม่ เท่านั้นแหละค่ะ”

คุณหลวงอนุมัติ ฯ ตรึกตรองอยู่ครู่หนึ่ง ท่านเคยเป็นผู้พิพากษาและเป็นทนายมีชื่อ จึงมองเห็นความนึกคิดได้หลายแง่หลายมุมพอสมควร ท่านเข้าใจแง่ของกรรณิการ์ จึงได้แต่เตือนว่า “บางทีความยุติธรรมมันก็ทำให้คนที่รักกันเดือดร้อนไม่ใช่เล่น” ท่านปรารภ “แต่น้าก็เข้าใจ น้าจะพยายามระงับเรื่องให้เท่าที่จะทำได้ เพราะถ้าเรื่องไม่มีมูล แอนน์เขารู้เอาทีหลัง เขาก็อาจจะดูถูกญาติเจ้าติ๊ดได้ ว่าช่างหาคนมีความคิดไม่ค่อยได้เลย”

กรรณิการ์เกือบจะเข้าไปกอดรัดคุณหลวงผู้ซึ่งมิได้มีความเกี่ยวข้องทางสายโลหิตกับหล่อนด้วยความขอบคุณเป็นล้นพ้น “กรรณรำคาญเรื่องที่ทำให้คุณแม่เสียใจเท่านั้นแหละค่ะ ถ้าไม่มีคุณแม่พลอยเชื่อไปด้วย กรรณก็ไม่ค่อยแคร์นักสำหรับคนอื่น ๆ” ซึ่งเป็นความไม่จริง เพราะกรรณิการ์รักญาติเกือบทุกคน และญาติผู้ใดทำการสิ่งใดที่ไม่เหมาะสม กรรณิการ์มีความร้อนใจมาก

“เอาเถอะ แล้วพอว่างเมื่อไหร่น้าจะมาอีก” คุณหลวงสัญญา “น้าจะช่วยให้มันเงียบกันเสียที เรื่องอย่างนี้ขืนปล่อยให้พูดกันไปมันจะยุ่งใหญ่”

กรรณิการ์มีญาติผู้ใหญ่ที่นับถือก็ช่วยให้เบาใจ แต่ไม่มีใครช่วยธัชได้เลย ธัชมีความกระวนกระวาย จะทำงานหรืออยู่เฉย ๆ หรือเที่ยวเตร่ก็ไม่เป็นสุข ธัชแน่ใจว่าความเข้าใจนั้นไม่ผิด การที่แอนน์สนใจคอยชักชวนไต่ถามถึงกรรณิการ์ เป็นเครื่องสนับสนุนความเชื่อของเขา เขามีญาณของคนที่มีความรัก แต่น่าน้อยใจนัก เพียงแต่พูดโดยไม่ระวังเสียงทำให้ประดู่และอุทุมพรได้ยินเท่านั้น กรรณิการ์ลงโทษเขารุนแรง ถึงกับโกรธเคืองตัดรอนถึงเพียงนี้ ทั้งนี้ก็เพราะหล่อนไม่รักเขาเท่านั้นเอง และใครเล่าที่หล่อนรัก ก็อาจเป็นลูกพี่ของหล่อนซึ่งหล่อนห่วงใยนักหนานั่นเอง

วิทิตก็ไม่มีใครช่วยทำให้เบาใจ เขาต้องอยู่กับความรำคาญ ความหงุดหงิดกับตัวเอง เขายังข้องใจเรื่องการเงิน ขัดใจในความไม่เข้าใจของมารดา เกลียดและกลัวความรู้สึกของตนเองเกี่ยวกับจันทิรา ดังนี้วิทิตก็เป็นผู้รับความทุกข์ทรมานอีกผู้หนึ่ง

จันทิราในระหว่างนี้ไม่มีความกังวลอะไรมาก หล่อนนอนกระหยิ่มในชัยชนะของหล่อนเมื่อหล่อนอยู่คนเดียว แต่มักจะเห็นหน้าสามหน้ารอยไปมาปะปนกันในมโนภาพของหล่อน หน้าของลูกชาย ของวิทิต และนาน ๆ ทีมีหน้าของบรรเลง

แต่แอนน์นั้นไม่มีที่พึงพิงเลย หล่อนรู้สึกเปล่าเปลี่ยวอย่างยิ่ง แต่หล่อนบอกกับตัวเองว่า หล่อนจะต้องไม่ยอมแพ้ต่อชีวิตและต่อตัวเองง่าย ๆ หล่อนจะต้องหาทางออกได้วันหนึ่ง และโดยนิสัยอย่างที่บรรโลมเคยกล่าวว่าเป็นนิสัยอังกฤษ แอนน์ก็รอโอกาสที่ทางออกนั้นจะมาปรากฎแก่หล่อน

แอนน์มีนิสัยแก้ความขัดข้องส่วนตัวด้วยความเอาใจใส่ต่อผู้อื่น พอดีในระยะนั้นหล่อนทราบว่าสุภัทราคลอดบุตร จึงคิดว่าควรไปเยี่ยมสุภัทรา เพื่อทำให้สุภัทรารื่นเริงบ้าง เพราะหล่อนรู้ว่าไม่มีคนเอาใจใส่ในสุภัทรานัก คงจะทำให้หล่อนหายเปล่าเปลี่ยวได้ไม่มากก็น้อย วันหนึ่งเมื่อหล่อนไม่มีงานหนักทางบริษัท หล่อนจึงไปเยี่ยมสุภัทราที่บ้าน

แอนน์เคยไปหาสุภัทราที่บ้านแล้วสองครั้ง ทั้งสองครั้ง หล่อนมีความรู้สึกหนัก ๆ เมื่อนั่งอยู่ในบ้านนั้น แอนน์มองดูโดยรอบแล้วพยายามพิจารณาตนเองว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงเกิดความรู้สึกเช่นนั้น บ้านของสุภัทราเป็นเรือนไม้เหมือนบ้านของแอนน์และไม่ได้ทาสีเหมือนกัน แต่บ้านของแอนน์นั้น หล่อนได้พยายามตกแต่งจนเป็นบ้านที่สบายพอสมควร เครื่องเรือนทุกชิ้นอยู่ในที่ที่ไม่กินเนื้อที่ของห้องไปมาก และใช้เฉพาะธุระที่จะทำให้เกิดความสะดวก ไม่ต้องเดินไปมาจากที่โน่นไปที่นี่ให้ต้องเสียแรงหรือเวลามาก แอนน์มีห้องนอนห้องเดียว มีห้องส้วมซึ่งแบ่งส่วนแต่เฉพาะที่จำเป็นไปจากห้องน้ำซึ่งเล็กมาก เมื่อมาอยู่ในเมืองไทยใหม่ ๆ แอนน์ต้องหัดตัวให้เคยชินกับห้องน้ำแบบนั้น ต้องหัดตักน้ำในโอ่งเล็กราดตัวเองอย่างบรรจงเพื่อไม่ให้น้ำซึ่งหายาก เพราะน้ำประปาไม่ไหลตามปกติ ให้สาดเลยร่างกายของหล่อนไป ต้องหัดหันเหียนเวียนตนไม่ให้ชนกับฝาหรือก๊อกน้ำ หรือโอ่ง หัดหยิบสบู่ให้ดีไม่ให้หลุดมือกระเด็นไปตกลงยังพื้น แล้วมิหนำตัวหล่อนเองยังเหยียบลงไปบนสบู่เกือบจะล้มลงไปทั้งยืน แต่บังเอิญฉวยก๊อกน้ำเหนี่ยวตัวไว้ได้ ออกจากห้องน้ำแล้ว ก็มีระเบียงเล็ก ๆ ซึ่งเวลาแดดร่มและฝนไม่ตกแอนน์ก็ใช้เป็นที่รับแขก หล่อนใช้เป็นห้องรับประทานอาหารด้วยและนั่งเล่นคุยกันหรือฟังดนตรี แอนน์มีความอึดอัดเกี่ยวกับบ้าน ซึ่งยังไม่สามารถปลดปลิดได้อยู่อย่างเดียว คือไม่มีที่เก็บหนังสือ จึงต้องฝากหนังสือของวิทิตและของหล่อนเองไว้ที่บนเรือนใหญ่ แอนน์คิดทำแผนการว่าจะต้องสร้างเรือนเล็ก ๆ ต่างหากอีกเรือนหนึ่ง สำหรับเป็นที่เก็บหนังสือ แต่ยังไม่กล้าออกปากมารดาของสามี เพราะได้ยินแต่เรื่องความยากจน หล่อนกลัวว่าจะต้องใช้ที่ดินอันอาจมีราคาสำหรับท่าน จึงยังรอโอกาสเรื่อยมา แต่มาบัดนี้เมื่อมีความสงสัยในสามี จึงไม่แน่ใจว่าหล่อนจะอยู่เมืองไทยไปอีกนานหรือไม่ ก็เลยเลิกล้มความคิดเกี่ยวกับเรื่อนเก็บหนังสือเสียชั่วคราว

บ้านของสุภัทรามีเนื้อที่บนเรือนกว้างขวางกว่าของแอนน์ แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้วก็จะเห็นว่าสุภัทราไม่ได้พยายามจัดหาเครื่องเรือนเครื่องใช้ที่จะชวนให้น่าอยู่เพิ่มขึ้นเลย เก้าอี้และโต๊ะที่ตั้งอยู่ในห้องนั่งเล่น ซึ่งเป็นที่รับแขกไม่เข้าชุดกัน ในห้องเดียวกันนั้นมีตู้ใส่หนังสือสามตู้ ซึ่งจัดอย่างไม่มีระเบียบที่จะช่วยให้ดูสวยงาม และยังมีภาชนะทำด้วยเครื่องเคลือบและทำด้วยแก้ว เก็บปะปนอยู่กับหนังสือ แถมวัตถุประเภทอื่น เช่นหัวกวางเล็ก ๆ เก่า ๆ และดอกไม้แห้งทำด้วยกระดาษใส่ในแจกันก็มีอยู่ในตู้นั้นอีกด้วย ม่านที่หน้าต่างเป็นสีเขียวอ่อน เบาะที่รองเก้าอี้เป็นสีชมพู และสีที่ใช้ในห้องนั้นมีรวมด้วยกันเกือบสิบสี

ในตอนแรกแอนน์เข้าใจว่า ในเมื่อสุภัทราแต่งงานไม่ได้รับความเห็นชอบของมารดาและญาติ สุภัทราก็คงขาดเงินที่จะปรับปรุงบ้าน แต่ในงานมงคลและงานศพที่แอนน์เคยได้ไปร่วมกับสุภัทรา ๒-๓ ครั้ง แอนน์ได้เห็นสุภัทราประดับอาภรณ์ที่ทำด้วยเพชรแท้ ๆ ซึ่งมีราคาสูงพอสมควรอยู่หลายชั้น หล่อนก็พิศวงงงอยู่เป็นอันมาก อย่างไรก็ตาม แอนน์รู้ว่าสุภัทรามีความเปล่าเปลี่ยว หล่อนจึงถือว่าสุภัทราคงยินดีพบกับใครที่หวังที่จะเป็นมิตรด้วย คงไม่รังเกียจที่หล่อนจะไปเยี่ยมในการคลอดบุตร

แต่แอนน์ได้รับความประหลาดใจเพิ่มขึ้นอีกมาก เมื่อไปถึงบ้านสุภัทราคราวนี้ เวลานั้นเป็นเวลาเกือบ ๑๘.๐๐ นาฬิกาแล้ว อากาศก็ขมุกขมัว บ้านสุภัทราอยู่ในพื้นที่ลุ่ม มีน้ำแฉะอยู่ตามบริเวณบ้าน เมื่อแอนน์เปิดประตูเล็กซึ่งเจาะอยู่ในประตูใหญ่แล้วเข้าไปในบ้าน และเดินขึ้นไปบนเรือน เพราะบ้านนั้นไม่มีกระดิ่งที่ประตู จึงไม่มีทางทำอย่างอื่นนอกจากจะเดินเข้าไป แอนน์สังเกตว่ามีความเงียบประหลาด และเป็นความเงียบเหงา ไม่ใช่เงียบสงบ

หล่อนมองทะลุเข้าไปทางหลังบ้าน หลังห้องนอนมีเฉลียงแคบ ๆ เลยเฉลียงเข้าไปอีกก็มีห้องครัว ทางซ้ายมือมีบันไดขึ้นไปชั้นบน แอนน์กระแอมกระไอทำเสียงต่าง ๆ เพื่อให้คนในบ้านรู้ว่ามีแขกมาเยือน แต่ไม่ได้ผล หล่อนจึงเข้าไปยืนที่เชิงบันไดแล้วเรียกชื่อ “คุณสุภัทรา คุณสุภัทรา”

“ใครน่ะ?” เสียงสุภัทราขานตอบลงมา “ขึ้นมาเถอะ”

แอนน์จึงเดินขึ้นบันไดไปชั้นบน ข้างบนมีห้องอยู่สองห้อง พอพ้นบันไดก็ถึงห้องที่สุภัทรานอนอยู่กับลูกน้อยของหล่อน พอแอนน์โผล่เข้าไป สุภัทราอุทานด้วยความตกใจ “โอ๊ย แหม่ม ไม่รู้เลยว่าแหม่ม”

“โอ ขอโทษ” แอนน์ว่า “คุณอยากให้ลงไปหรือคะ?” เพราะไม่รู้ว่าจะพูดอะไรดีกว่านั้น

“เชิญเถิดค่ะ เชิญเถิด” สุภัทรารีบกลบเกลื่อน “นั่งเก้าอี้นั่นแน่ะค่ะ”

ในห้องนอนนั้นสะอาดพอสมควร มุ้งขาว พื้นถูลื่น มีตู้ปิดสนิทอยู่ใบหนึ่ง มองไม่เห็นอะไรในตู้ ทำให้แอนน์สบายใจ สุภัทรานอนอยู่บนเตียง มีเตียงเล็กสำหรับเด็กอ่อนตั้งอยู่ข้าง ๆ

แอนน์เข้าไปดูเด็กแล้วกกล่าวชมตามธรรมเนียมว่า “น่ารักมาก”

สุภัทรายิ้มอย่างอ่อนใจ ไม่พูดว่าอย่างไร เห็นนิ่งกันไปนาน แอนน์ก็ถามขึ้น “คุณปรีชาไปไหนคะ?”

“ไม่ทราบ” สุภัทราตอบเกือบเป็นเสียงกระซิบ

แอนน์มีความรู้สึกว่าหล่อนทำให้สุภัทราลำบากใจอย่างไรอย่างหนึ่ง นิ่งกันไปสักครู่ สุภัทราก็ถามขึ้น

“คุณขึ้นมา ไม่มีใครอยู่ข้างล่างเลยใช่ไหม?”

“ไม่เห็นมีใครค่ะ” แอนน์ว่า “คุณต้องการอะไรหรือคะ ดิฉันไปหยิบให้”

สุภัทราตอบว่าหล่อนไม่ต้องการอะไร นอกจากจะให้แอนน์ได้รับประทานน้ำ แอนน์ก็บอกว่าไม่ต้องกังวล หล่อนเพิ่งรับประทานน้ำชามาจากที่ทำงาน

นิ่งเงียบกันไปอีก แอนน์จึงชวนคุยขึ้นอีก “คุณสบายดีแล้วใช่ไหมคะ คุณกลับมาจากโรงพยาบาลได้กี่วันแล้ว?”

“หมู่นี้ไม่ค่อยสบายค่ะ” สุภัทราตอบ “รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวนิดหน่อย”

แอนน์ดีใจที่จะมีเรื่องคุย หล่อนรีบอาความรู้ทางภาษาไทย พยายามเรียนสำนวน “ครั่นเนื้อครั่นตัว” แล้วก็ถามว่า สุภัทราอ่านหนังสืออ่านเล่นภาษาอังกฤษบ้างไหม และแอนน์จะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง

สุภัทรากล่าวขอบใจ บอกว่าไม่ต้องการอะไร แอนน์ถามว่า สุธิราเขียนหนังสือมาถึงหรือเปล่า สุภัทราตอบว่าเขียนมาแสดงความยินดี โดยสุพรรณีเป็นคนบอกไปถึงการคลอดของหล่อน แล้วแอนน์ก็พยายามถามพยายามหาเรื่องคุยเป็นภาษาอังกฤษปนไทย ไทยปนอังกฤษอยู่ประมาณอีก ๒๐ นาที มีความหนักใจอยู่ตลอดเวลา คือสงสัยว่าสุภัทรายินดีในการที่หล่อนมาเยี่ยมหรือเปล่า จนกระทั่งคิดว่าไม่น่าเกลียดที่จะลากลับแล้ว ก็กล่าวคำอำลาไป

อีก ๒ - ๓ วันต่อมา แอนน์ได้มีโอกาสเล่าให้วิภาฟังถึงการที่หล่อนไปเยี่ยมสุราทรา วิภาก็ซักถามตามปกติ แต่พอแอนน์เอ่ยถึงว่าหล่อนไม่ได้พบปรีชา วิภาก็หัวเราะเยาะออกมาที่หนึ่งแล้วก็นิ่งไป

“ทำไม วิภา?” แอนน์รีบซัก มีอะไรสะกิดใจหล่อน และบังคับให้หล่อนระงับความอยากรู้ไว้ไม่ได้ “ปรีชา เป็นสามีที่ไม่ดีหรือ?”

/**/“ฮื้อ ติ๋งว่าตั้งนานแล้ว” วิภาว่า “พี่แอนน์ไม่เข้าใจ ติ๋งว่าแล้ว คนอย่างนั้นไปแต่งงานด้วยทำไม”

“แล้วเขาทำอะไรบ้าง?” แอนน์ซักอีก เกิดความตึงเครียดในประสาทของหล่อนอย่างไรพิกล

“เดี๋ยวนี้เขากลับไปหาเมียเก่าของเขาซี” วิภาว่า “ก็เขาไม่ได้ทิ้งกันจริงจังอะไร ตอนนี้คุณน้าสุธิราไม่อยู่ แกก็ไม่กลัวใคร แกไปหาเมียแกเรื่อย ติ๋งสงสัยแล้วว่าแกมาแต่งงานกับคุณเต่าทำไม”

“ทำไมเขาทำได้อย่างนั้น สุภัทราจะทำอย่างไร?” แอนน์ถามด้วยความอยากรู้อย่างจริงใจ

“จะทำยังไง มีลูกแล้ว จะกลับบ้านก็ไม่ได้แล้ว ก็ต้องทนไปซี อยู่ดี ๆ ไม่ว่าดี” วิภาว่า

ในคืนนั้นแอนน์เก็บความพิศวงงงงุนไว้ไม่ไหว หล่อนต้องถามความเห็นของสามี “ติ๊ดมีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ทั้งเรื่อง?”

“ไม่เห็นจะใช่ธุระอะไรของเรา” วิทิตตอบ

“โอ ไม่ใช่ ฉันไม่ได้ถามติ๊ดเป็นเรื่องเฉพาะตัว ฉันถามถึงหลักการ” แอนน์อธิบายน้ำเสียงเอาจริงเอาจัง

วิทิตยิ้มออกมานิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอาการที่แอนน์เคยเห็นว่าน่ารักมาก และบัดนี้ก็ยังเห็นอย่างเดิม

“หลักการมีหรือ สำหรับความรักของผู้หญิงกับผู้ชาย”

“อ้า” แอนน์ถอนใจใหญ่ “สำหรับความรักอาจไม่มี ติ๊ด แต่สำหรับผัวเมียต้องมี ไม่เช่นนั้นสังคมจะอยู่อย่างไรกัน”

วิทิตตอบตามที่หล่อนกับเขาเคยโต้ตอบกัน ในเมื่อคุยถึงเรื่องชีวิต คือความยั่วเย้าให้เกิดปัญหาให้มากขึ้นที่สุดที่จะทำได้ แต่เขาเหลือบเห็นดวงตาของแอนน์จับจ้องอยู่ที่หน้าเขาราวกับความได้ความเสียของหล่อนขึ้นกับคำตอบของเขาทั้งหมด เขาได้สติคิดถึงความลับในใจของเขาขึ้นมา จะเป็นได้ไหมที่แอนน์สงสัยว่าเขารักผู้หญิงอื่นนอกจากหล่อน พอได้สติเขาจึงตอบที่เล่นที่จริงว่า

“ความเห็นของฉันคือ ปล่อยให้คนเขาขบปัญหา ชีวิตของเขาเอง พยายามเข้าใจเขาให้มากที่สุด ยกโทษ ให้เขาถ้าเขาไม่รักษามาตรฐานที่ตัวเราสามารถรักษาได้”

“แล้วคนที่ได้รับทุกข์ล่ะ?” แอนน์ถาม “ใครควรทำอะไรกับสุภัทรา และสุภัทราควรทำอะไร ถ้าเขามีความหยิ่งถือตัว”

“ถ้าจะให้ฉันเดา สุภัทราคงไม่อยากให้ใครไปยุ่งเกี่ยวกับชีวิตของเขา เขาคงต้องการขบปัญหาของเขาเอง ส่วนคนอื่น ควรจะช่วยให้ความสะดวกสบายอะไรก็น่าจะช่วย อย่างเธอสามารถไปเยี่ยมได้บ้าง ก็ควรไป สุภัทราคงดีใจ” วิทิตตอบ

แอนน์ครุ่นคิดเรื่องนี้ไปหลายวัน หล่อนยังไม่ได้รับคำตอบที่หล่อนต้องการ อีกครั้งหนึ่งหล่อนได้ยกปัญหาของสุภัทราขึ้นมาถามสามี

“ติ๊ด ฉันยังข้องใจปัญหาของสุภัทรา ทำไมคุณปรีชาจึงไม่มีความรู้สึกรับผิดชอบ ทำไมเขาจึงหย่าจากเมียคนหนึ่ง แล้วมาแต่งงานกับผู้หญิงอีกคนหนึ่ง แล้วประเดี๋ยวก็กลับไปหาภรรยาเก่าอีก เขาหมายความว่าอย่างไร”

“ฉันตอบแทนนายปรีชาไม่ได้หรอก แอนน์” วิทิต ตอบ “เหตุผลของผู้ชายคนหนึ่ง ๆ ไม่เหมือนกัน”

“ฉันอยากรู้ว่า เธอถือว่าคุณปรีชาเป็นคนมีความรับผิดชอบไหม และสังคมจะจัดการอย่างไรกับคนอย่างนั้น?” แอนน์ถามอีก

วิทิตรู้สึกไม่สบายเลย ขณะที่เขาพยายามตอบอย่างที่จะไม่ให้เป็นการแก้ตัวสำหรับตัวเอง “แอนน์ทำไมเธอคิดว่าสังคมมีหน้าที่ทำอะไรกับผู้ชายที่ไม่รับผิดชอบ ควรจะลงโทษเขาหรือ การลงโทษจะทำให้เขาดีขึ้นหรือ?”

“ฉันว่าไม่ยุติธรรมเลย ไม่ยุติธรรมเลย” แอนน์ร้อง “ทำไมสุภัทราจะต้องได้รับทุกข์อย่างนั้น”

“ใครจะรู้ แอนน์ สุภัทราอาจเลือกเอาการแต่งงานกับปรีชามากกว่าที่จะอยู่กับมารดาที่ไม่เห็นความสำคัญของเขาเลย และใครจะรู้ว่าปรีชามีความทุกข์หรือสุข เขาอาจเป็นทุกข์กว่าสุภัทราอีก”

แอนน์นิ่งไปอีก หล่อนไม่อยากให้วิทิตตอบเช่นนั้นเลย ทำให้หล่อนมีความวิตกกังวลอย่างไรพิกล หล่อนตกเข้ามาในกลุ่มคนผิดหรืออย่างไร คนไทยเป็นอย่างนี้กันหมดหรือ หรือเป็นแต่เฉพาะกลุ่มที่หล่อนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกลุ่มนี้ ทำไมวิทิตจึงไม่บอกหล่อนว่าเขาเคยรักกับกรรณิการ์ เป็นเพราะทันทีที่เขากลับมาถึงบ้าน เขากติดต่อกัน ใหม่ฉันท์ชู้รัก หรือเป็นเพราะเหตุใด และทำไมกรรณิการ์ จึงหาตนเป็นมิตรต่อหล่อน เขาทำเพื่อให้วิทิตเห็นความดี เพื่อฉกชิงเอาวิทิตกลับคืนไปหรืออย่างไร เป็นธรรมเนียม ไทยหรือ ที่จะเปลี่ยนใจไปมาได้โดยไม่เกิดผลอะไรเลย ต่างคนต่างก็ถือว่าไม่มีใครต้องรับผิดชอบในเรื่องอะไร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ