เมื่อเหตุการณ์ยุ่งเหยิงผ่านพ้นไปแล้ว กรรณิการ์อดไม่ได้ที่จะหวลกลับมาคิดถึงอีก แล้วก็ชอบตั้งปัญหาถามตนเองว่า เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะผลของความบังเอิญหลายด้านผสมผสานกัน หรือว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นผลทางธรรมชาติ ซึ่งย่อมเกิดขึ้นแล้วก็ผ่านพ้นไป

เริ่มต้น (ที่จริงเหตุการณ์เริ่มต้นย่อมมีมานานก่อนนี้แล้ว แต่กรรณิการ์ชอบถือเอาว่าเป็นเริ่มต้นตรงนี้) ก็คือ สุธิราเกิดมีโชคดี เมื่อท่านเจ้าคุณทำพินัยกรรมนั้นท่านถือว่า ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ใดที่ให้ดอกออกผลแล้วนั้น ท่านให้แก่คุณหญิงมารดาเลี้ยงของสุธิรา เพื่อว่าคุณหญิงจะได้ไม่ต้องใช้ปัญญาวิ่งเต้นหารายได้ให้เหนื่อยยาก ภรรยาน้อยคนหลังที่สุดของท่านมีบุตรที่ยังอยู่ในวัยเล่าเรียน ท่านจึงให้ที่ดินที่นำมาซึ่งรายได้พอสมควรสำหรับเลี้ยงดูกัน และให้บุตรได้รับการศึกษา ส่วนสุธิรานั้นมีทรัพย์สมบัติของมารดาของหล่อนอยู่แล้ว ดังนั้นท่านเจ้าคุณบิดาจึงให้ที่ดินแก่สุธิราที่เป็นที่ดินที่อยู่ชานเมือง และยังไม่ได้ให้ดอกออกผลอย่างใด แต่เมื่อสงครามผ่านพ้นไป ๒-๓ ปี ที่ดินของสุธิราได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นที่ดินที่ให้รายได้สูง คือคุณจิตได้พานักการค้ามาหาผลประโยชน์ในที่ดิน และในเวลาต่อมาได้พานักการค้ามาซื้อที่ดินส่วนหนึ่งในอีกแห่งหนึ่งด้วย เป็นผลให้สุธิราได้รับเงินก้อนใหญ่ และสามารถปลูกบ้านให้ชาวต่างประเทศเช่าในที่ดินแปลงอื่น เมื่อสุธิร กลายเป็นผู้มีรายได้เข้าเรือนหมื่นต่อเดือนเช่นนี้ หล่อนก็คิดไปเที่ยวต่างประเทศเหมือนเพื่อนฝูงและญาติมิตรบางคนได้ทำไปแล้ว และจะพาน้องชายคนเล็กไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศด้วย น้องชายคนเล็กนี้ชื่อจริงว่า ไพสาลี มีชื่อเรียกเล่นเป็นสองชื่อ ญาติผู้ใหญ่บางคนเรียกว่า โต่ง เพราะเป็นลูกชายคนสุดท้าย “ปลายโต่ง” ส่วนคนใช้ในบ้านและญาติบางคนเรียกว่าคุณน้อย ไพสาลีเป็นน้องชายที่สุธิราได้เลี้ยงดูอบรมมา มีลักษณะนิสัยเป็นที่พอใจของหล่อน และมีสมองสูงพอสมควร แต่เพราะเหตุที่ท่านเจ้าคุณบิดามีบุตรหลายคน และเมื่อไพสาลีเกิดมาท่านก็เข้าวัยสูงอายุแล้ว ท่านจึงไม่สามารถส่งให้ไปต่างประเทศได้เหมือนบุตรชายใหญ่

ไพสาลีได้เคยแสดงความสนใจชอบพอบุตรีคนที่สองของคุณจิต ชื่อพวงพลอย ซึ่งคุณนายถมยาพอใจยิ่ง เมื่อสุธิรากลายเป็นผู้มั่งคั่งขึ้นมา ดังนี้ คุณนายถมยายิ่งมีความมั่นหมายมากขึ้น และได้บอกแก่ตนเองว่า ถ้าหากไพสาลีกับพวงพลอยได้แต่งงานกัน ก็หมายความว่าคุณจิตสามีของคุณนายเป็นผู้ได้ชัยชนะเหนือท่านเจ้าคุณอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ท่านลืมไปถึงว่า หากภรรยาคนแรกของคุณจิต มิได้ล่วงลับไป ตัวคุณนายถมยาก็จะมิได้มีส่วนสัมพันธ์อะไรกับท่านเจ้าคุณหรือคุณจิตเลย

การที่ไพสาลีจะได้ไปต่างประเทศนั้น มีผลเกี่ยวเนื่องมาถึงชีวิตจิตใจของญาติมิตรในกลุ่มหลายคน โดยเหตุสองประการ ประการที่หนึ่งทำให้คุณนายถมยาเกิดความห่วงใยว่าไพสาลีจะห่างเหินบุตรสาว และอาจไปสมรสกับหญิงชาวต่างประเทศก็ได้ โดยเฉพาะประดู่น้องชายคนเล็กของกรรณิการ์ ซึ่งคุณจิตได้เอามาอุปถัมภ์ให้เรียนงานการค้าขายจากท่าน ก็สนิทสนมกับพวงพลอยและท่านก็ไม่กล้าแสดงกีดกัน สภาพเช่นนี้ทำให้คุณนายถมยาไม่ค่อยชอบใจ ในญาติของสามีทั้งหลาย และเลยมีความชื่นใจเกี่ยวกับที่วงศ์ญาติไม่แสดงความรังเกียจแอนน์ให้เห็นชัดลงไป ประการที่ไพสาลีจะไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ และสุธิราจะไปด้วย สุธิราก็จัดให้มีการเลี้ยงส่งน้องชาย แล้วญาติอื่น ๆ ก็เลยผสมมีงานใหญ่เพื่อส่งสุธิราด้วย ในงานเลี้ยงนี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ทำให้มีผลกระทบไปถึงญาติและมิตรหลายคนด้วยกัน และกรรณิการ์ถือว่าหล่อนโดนกระทบมากที่สุดคนหนึ่ง

เหตุการณ์นั้น อันหนึ่งก็เป็นผลจากการที่ธัชได้รับจดหมายฉบับที่ได้กล่าวถึงครั้งสุดท้ายจากกรรณิการ์ หลังจากที่ได้รับจดหมายนั้น ธัชก็เกิดมุมานะที่จะปรับฐานะขึ้นมาอีก เขาจึงเที่ยวหางานตามบริษัทการค้าเพื่อให้มีรายได้สูง และได้มารับความสนใจที่บริษัทแอนน์ทำงานอยู่ แอนน์ได้เป็นผู้สัมภาษณ์ธัช เพื่อจะพิจารณาบุคลิกลักษณะว่าเขาควรทำงานในบริษัทนั้นหรือไม่

แอนน์มองดูหน้าธัชแล้วก็เกิดมีความรู้สึกว่าเขาเป็นคนซื่อ หล่อนจึงคิดอยากถามถึงเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเขา หล่อนถามเขาว่า เหตุใดเขาจึงมาสมัครทำงานที่บริษัท เหตุใดจึงไม่ทำราชการ ธัชก็บอกตามตรงว่า เขาอยากได้เงินเดือนสูงกว่าที่ได้รับจากราชการ แอนน์ถามว่าเพราะเหตุใดจึงต้องการได้เงินสูง เพราะว่าการทำราชการถึงแม้จะได้เงินเดือนต่ำ แต่ก็มีเสถียรภาพดีมาก ธัชเล่าว่าเขารักผู้หญิงซึ่งมีฐานะดี เขาจึงอยากสร้างฐานะให้ดีโดยเร็ว พอที่จะแต่งงาานกับหญิงนั้น

เย็นวันนั้น เมื่อแอนน์กลับมาบ้าน หล่อนนำความข้องใจนั้นกลับมาด้วย หล่อนปรารภกับวิทิต และถามเขาว่า การที่ชายหนุ่มไทยจะทำการสมรสนั้น ฝ่ายหญิงถือว่าเขาจะต้องมีรายได้สักเพียงใด

“ก็ต้องแล้วแต่ว่าเขาเคยกินอยู่กันมาอย่างไร” วิทิตตอบ “แต่สมัยนี้โดยมากทั้งผู้หญิงและผู้ชายต้องช่วยกันหา จึงจะพออยู่ได้อย่างที่อยากอยู่ ถ้าเมียใครช่วยหาไม่ได้ก็ต้องหนักใจหน่อย”

“ถ้าทั้งสองคนทำราชการ ก็อยู่กินด้วยกันได้ใช่ไหม?”

“ที่จริงถ้ารักกันแล้ว มันก็อยู่กินกันไปได้ ถึงจะรวยหรือจนก็พอทนกันได้” วิทิตตอบ

“ผู้หญิงไทยส่วนมาก เขาต้องการให้ผู้ชายเป็นอย่างไร?” แอนน์ซัก

“ก็เหมือนกับผู้หญิงทั้งโลกละ” วิทิตตอบ “ถ้ามีเงินหน่อยผู้หญิงก็รักง่ายขึ้นหน่อย”

“ทำไม ติ๊ดเคยบอกฉันว่าคนไทยไม่เหมือนคนในประเทศอื่น” แอนน์ถามอีก “ติ๊ดเคยบอกว่าคนไทยไม่เห็นแก่เงิน”

“ฉันเชื่อเช่นนั้นจริงๆ” วิทิตว่า “แต่ไม่จริงเสียแล้วสำหรับสมัยนี้”

ส่วนธัชนั้น เมื่อมีหวังว่าอาจได้ทำงานในบริษัทที่ให้เงินเดือนสูง ก็รีบมาแจ้งข่าวแก่กรรณิการ์

กรรณิการ์ยิ้มรับข่าวอย่างนุ่มนวล ไม่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องมากนัก “ดีซี” หล่อนกล่าวเรียบ ๆ “ธัชจะได้สบายใจขึ้น”

“คุณกรรณ คุณรู้แล้วว่าผมจะสบายใจขึ้นก็ต่อเมื่อคุณให้ความหวังอะไรผมเท่านั้น” ธัชพ้อ

“โธ่ ธัช” กรรณิการ์ทำเสียงอ่อน ๆ “ทำไมต้องอย่างนั้นเล่า”

“แปลว่า...ถึงจะอย่างไร ๆ ผมก็ไม่ดีพอสำหรับคุณใช่ไหม?”

“โธยิ่งไปใหญ่แล้ว” กรรณิการ์ยิ่งเสียงอ่อนลงอีก “ขออย่าได้มีความอะไรให้มันมากไปเลย ธัช ขอให้เห็นใจกันบ้างเถอะ”

“แล้วทำไมคุณไม่เห็นแก่ผมบ้าง” ธัชว่า “คุณไม่ให้ความหวังอะไรกับผมเลย”

“ฉันไม่ต้องการผูกมัดเธอ และไม่อยากมัดตัวเอง” กรรณิการ์ว่า “ฉันพูดกับเธอตามความจริงอย่างนี้เธอกลับไม่เห็นใจ” กรรณิการ์อยากจะกล่าวว่า หล่อนไม่อยากฟังอะไรที่เพิ่มภาระทางใจให้หล่อนอีกแล้ว หล่อนต้องการคนที่จะช่วยแบกภาระบ้าง ภาระที่หล่อนต้องหอบกลับมาจากโรงเรียน ภาระที่ต้องช่วยคุณแม่ดูแลคุณพ่อ และภาระที่พี่น้องเอามายกให้

“ผมขอไปไหนกับคุณบ้าง คุณก็ไม่ยอม” ธัชต่อว่าอีก “ถ้าคุณไม่รังเกียจผมแล้ว คุณก็น่าจะแสดงความเป็นมิตรได้มากกว่านี้”

“ฉันเป็นคนมีพี่น้องมาก และล้วนแต่คนช่างพูดกันทั้งนั้น” กรรณิการ์อธิบาย “ฉันรำคาญเวลาใครมาพูดเรื่องฉันไปไหนกับใคร เป็นอะไรกับใคร”

“แล้วถ้าเขาว่าคุณไปไหนกับผม จะเสียหายอย่างไร?” ธัชรุกเอากับผู้หญิงคนรักของเขา

“ฉันรำคาญ” กรรณิการ์ว่า “ข้อนี้ผู้ชายไม่เข้าใจหรอก”

“คุณจะทนรำคาญให้ผมก็ไม่ได้เชียวรึ?” ธัชถามอีก

กรรณิการ์ก้มหน้าด้วยความเบื่อหน่าย แต่เมื่อหล่อนก้มหน้านิ่งไปนานแล้วช้อนตาขึ้นดูหน้าของธัชในอึดใจต่อมา ก็พบสายตาของเขาจับจ้องอยู่ที่หล่อนด้วยความผูกพันรักใคร่ ใจของหล่อนก็อ่อน ไม่สามารถจะตัดสัมพันธ์กับเขาได้

“เอ้า ไปบ้านคุณน้ากลางกันไหมล่ะ” กรรณิการ์ชวน “คุณน้ากลางจะเลี้ยงส่งคุณน้อย ถ้าจะไปด้วยกัน ฉันจะไปบอกให้เธอชวนเธอด้วย”

ธัชพยักหน้าและยิ้มออกมาด้วยความยินดี กรรณิการ์รู้สึกสงสารเขา เหมือนหล่อนสงสารเด็ก ๆ และแล้วก็ไปจัดการให้เขาได้รับเชิญสมประสงค์ หล่อนบอกกับตัวเองว่าหล่อนจะต้องทนรำคาญเพื่อเห็นแก่มิตรภาพ เพราะถ้าหล่อนตัดขาดกับธัชไม่ได้เพราะความสงสารหรือความอาลัย หล่อนก็ต้องเสียสละอะไรเป็นการทดแทน

ก่อนวันงานของสุธิราสองวัน กรรณิการ์ได้ไปพบกับวิทิตที่ร้านขายอาหารตามนัด เพื่อรับเงินผ่อนหนี้จากเขาตามที่ตกลงกัน ระหว่างที่หล่อนกำลังรับประทานอาหาร และคุยกับวิทิตอย่างออก รส แอนน์ได้เข้ามาในร้านนั้นโดยวิทิตและกรรณิการ์ไม่รู้ตัว ชาวอังกฤษคนหนึ่งพยายามจะแสดงตัวว่าเป็นคนมีความชำนาญในความรู้จักกรุงเทพ ฯ ได้ชวนหล่อนไปรับประทานเป็ดย่างที่ร้านมีชื่อที่นางเลิ้ง เผอิญในวันนั้น มีคนเข้าไปนั่งรับประทานอยู่ก่อนเต็มร้าน แอนน์เป็นคนไม่ชอบเข้าร้านที่มีคนแน่น หล่อนบอกว่าไม่ยินดีกับเป็ดย่างมากนัก แล้วก็ชวนเพื่อนคนนั้นกลับขึ้นรถเลียบไปตามคลองผดุงกรุงเกษม จนไปถึงร้านที่วิทิตกับกรรณิการ์ชอบมารับประทานอาหารนั้น

พอหล่อนก้าวเท้าจะเดินเข้าไปในร้าน หล่อนก็แลเห็นสามีนั่งอยู่กับกรรณิการ์ ทั้งสองกำลังสนทนากันอย่างเอาใจใส่ในกันและกัน สีหน้าของกรรณิการ์นั้นอ่อนหวาน จ้องดูหน้าลูกพี่ลูกน้องของหล่อนอย่างยิ่งกับคำพูดของเขา ส่วนวิทิตกกำลังยิ้มน้อย ๆ พูดพลางก็พยักหน้าและทำท่าประกอบนิดหน่อย แอนน์เกิดความรู้สึกแปลกมาก ไม่อยากเข้าไปทำลายความสนใจในกันและกันระหว่างเขาสองคน หล่อนจึงถอยเท้าออกไปนอกร้าน รีบกลับไปบอกเพื่อนซึ่งกำลังจอดรถให้เรียบร้อยว่าหล่อนจะไปที่อื่นต่อไป

และในงานเลี้ยงของสุธิราวันนั้น แอนน์ก็อดที่จะเฝ้ามองดูวิทิตกับกรรณิการ์ไม่ได้ ผลก็คือ เมื่อเสร็จงานแล้ว ธัชกลับมาที่บ้านกรรณิการ์ และน้องชายของหล่อนสองคน ก่อนจะกลับธัชก็พูดกับกรรณิการ์อย่างไม่ได้ระวังเสียงว่า “คุณกรรณ คุณลูกพี่ของคุณน่ะรักคุณ และพี่สะใภ้แหม่มน่ะเขาหึงคุณ”

ทั้งอุทุมพรและประดู่น้องชายของกรรณิการ์หันขวับมาฟังแทนที่จะรีบไปให้พ้น กรรณิการ์ค้านขึ้นอย่างรำคาญใจ “อุ๊ย พูดเซี้ยว ๆ อะไรก็ไม่รู้”

“อ้าว คุณไม่ระวังให้ดี คุณไม่เชื่อผม คุณจะร้อนใจ” ธัชว่าแล้วกระซิบต่อ “ผมก็หึงเป็นคุณรู้ไหม?”

กรรณิการ์สะบัดหน้า “ถ้าเธอจะมาแบบนี้ ฉันเห็นจะโกรธกับเธอดีกว่า” หล่อนพูดอย่างฉุน

“อย่าโกรธเลยน่า ไหวละ” ธัชทำอารมณ์ดีเข้าใส่ “ไม่ใช่อะไรหรอก ผมเตือนน่ะ ผู้ชายมักรู้กัน”

กรรณิการ์รีบลาเข้าไปในเรือน ทิ้งให้น้องชายเป็นคนไปส่งธัชที่ประตูบ้าน ธัชเดินก้มหน้าตรึกตรองออกไปจานบ้าน โดยไม่ได้เล่าให้ใครฟังว่าเขาได้สนทนากับแอนน์ว่าอย่างไรบ้างในคืนนั้น

แท้ที่จริงนั้น วิทิตเกือบมองไม่เห็นใครเลยในงานเลี้ยงของสุธิรา เพราะคนที่เขาเห็นและไม่อาจถอนสายตาไปจากได้นั้น คือจันทิรา จันทิราสวมชุดสีเขียวมรกต เป็นผ้ายกทองลายไทย หน้าอกเปิดกว้างทำให้เห็นผิวขาวผ่อง คอกลมยาวงาม ลูกผมน้อย ๆ ระอยู่ตามคอตามเคยของหล่อน เป็นลักษณะที่วิทิตเคยเห็นว่าน่ารักหนักหนา ทรวงของหล่อนอวบอิ่ม แขนเสื้อสั้นทำให้เห็นแขนเรียวกลม มีผิวขาวเป็นนวล อาภรณ์ที่ใบหูและที่รอบคอ ขับนัยน์ตาของจันทิราให้รุ่งโรจนแข่งกับแสงเพชร เมื่อจันทิราไปถึง วิทิตนั่งอยู่แล้วที่โต๊ะกับเพื่อนชาวต่างประเทศสองสามคน กรรณิการ์กับบรรโลมนั่งอยู่ที่โต๊ะเดียวกัน จันทิราเดินเฉียดวิทิตไปข้างหลัง กลิ่นน้ำหอมราคาสูงส่งระรื่นชื่นใจ ทำให้มือของวิทิตเย็นเฉียบ

ตั้งเเต่คืนที่ได้อยู่กับจันทิราสองต่อสองที่บ้านพักของบรรโลมที่หัวหิน ได้จับตาจ้องมองดูขาอ่อนของจันทิราเป็นนวลใยตัดอยู่กับกางเกงขาสั้นสีน้ำทะเลที่หล่อนสวม ได้เห็นร่างอันระหงอยู่ในชุดชายทะเลชุดนั้น วิทิตไม่เคยหลับลงไปโดยภาพนั้นไม่ได้มาลอยอยู่ตรงหน้าเลย ไม่ว่าจะเป็นในเวลาทำงาน ในเวลาประชุม ในเวลานั่งพักผ่อนอยู่คนเดียว และแม้ในเวลาที่นั่งสนทนากับแอนน์ จันทิราก็เข้ามาอยู่ในมโนภาพของเขา วิทิตรู้สึกรำคาญตนเองจนบางทีอยากจะร้องออกมาดัง ๆ แต่เขารู้ดีว่าการทำเช่นนั้น จะไม่ช่วยอะไรเขาได้ เขาดุตัวเอง ด่าตัวเอง โกรธเคืองตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะตัวเองได้

ในคืนวันนั้น จันทิราไปนั่งที่โต๊ะอีกโต๊ะหนึ่ง เก้าอี้ติดกับกรรณิการ์ แต่หันหลังให้กรรณิการ์ซึ่งนั่งตรงหน้าวิทิต วิทิตจ้องดูคอส่วนหลังของจันทิราตลอดเวลา จึงดูเหมือนว่าเขามองดูกรรณิการ์ เมื่อรับประทานอาหารกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีการแสดงเล็กน้อย โดยลูกหลานในสกุลของสุธิรานึกสนุกสนาน อยากรำอยากร้องบ้าง ซึ่งกำลังเริ่มจะเป็นความนิยมในวงผู้มีฐานะในกรุงเทพ ฯ พวกแขกจึงออกจากโต๊ะรับประทานอาหารไปรวมกลุ่มกันอยู่หน้าตึกใหญ่ เจ้าของงานได้สร้างเวทีกลางแจ้งเล็ก ๆ ขึ้น ประดับด้วยพันธุ์ไม้และโคมสีงดงาม และพวกแขกก็เตรียมตัวที่จะดูการแสดงของ ผู้สมัครเล่นเหล่านั้น

พอกลุ่มแรกเริ่มขยับขยายเปลี่ยนสถานที่ จันทิราก็ลุกจากโต๊ะเดินผ่านมาทางวิทิต สายตาของหล่อนสบกับของเขา มีอะไรในดวงตาทำให้วิทิตอ่านว่าหล่อนเชิญชวนเขา หล่อนเดินเข้าไปทางหลังตึกใหญ่ แทนที่จะไปหน้าเหมือนแขกอื่น ๆ วิทิตรู้ว่าหล่อนจะไปที่ใด

หลังตึกใหญ่นั้นมอุทยานน้อย ๆ คนในบ้านเรียกว่าสวนญี่ปุ่น มีสระบัวขุดเป็นรูปคล้ายตัวเอส อักษรโรมัน ลดเลี้ยวไปตามสนามหญ้าเรียบและนุ่มหนา มีสะพานเล็กข้ามสระ และที่ริมสระมีต้นไม้ใหญ่น้อย เป็นที่สำราญของคนในบ้านนั้น

เมื่อวิทิตลุกขึ้นจากโต๊ะพร้อมด้วยภรรยา และบรรโลมและกรรณิการ์ หญิงทั้งสามก็ออกเดินนำหน้าเขาไปพลางก็คุยกันอย่างเพลิดเพลิน พอเดินไปถึงมุมตึกใหญ่ แทนที่วิทิตจะเลี้ยวไปทางหมู่เก้าอี้หน้าเวทีเหมือนกับคนอื่น ๆ เขาก็เลี่ยงไปทางด้านหลังตึก

วิทิตรู้ว่าจันทิราจะไปที่สระ เพราะเป็นที่ที่หล่อนชอบมานานตั้งแต่เปนเด็กอยู่ด้วยกันกับเขา และหล่อนก็เคยไปนั่งเล่นยืนเล่นอยู่ด้วยกันหลายครั้ง ถ้าบังเอิญมาเยี่ยมสุธิราหรือมาแสดงความเคารพต่อท่านเจ้าคุณในวาระเดียวกัน ในคืนนั้น ทางด้านนี้ของบ้านไม่มีไฟสว่างจ้าเหมือนด้านอื่น วิทิตเดินไปหยุดที่ข้างพุ่มไม้พุ่มหนึ่งใกล้สระ หัวใจของเขาเต้นแรงถี่จนเขาเกือบไม่ได้ยินอะไรเลย “จะมีประ โยชน์อะไร” ในใจของเขาว่า แต่ขาของเขาก็พาเขาเดินต่อไปเหมือนถูกมนต์สะกด

เขาเห็นจันทิราไปยืนอยู่บนสะพานที่สำราญของหล่อน ใกล้สะพานมีต้นไม้ใหญ่ เขาจำได้ว่าเป็นต้นแก้ว กลิ่นดอกไม้กลางคืนอะไรชนิดหนึ่งส่งกลิ่นมารวย ๆ วิทิตยืนจ้องมองร่างของจันทิราซึ่งกำลังหันข้างให้เขา แล้วก็สาวเท้าใกล้เข้าไป

“จันทิรา” เขาเรียกชื่อหล่อน แต่พอหล่อนหันมา ใครคนหนึ่งก็เปิดไฟสว่างจ้าขึ้นบนระเบียงตึกใหญ่ แสงไฟฉายกราดมายังบริเวณสวน จันทิราจึงหลบเข้าเงาไม้ เขาเดินเข้าไปใกล้หล่อน แต่หล่อนทำเหมือนไม่ได้ยินเสียงเขา หล่อนเดินเลี่ยงห่างออกไปจากบริเวณสวน แล้วก็เดินตัดสนามหญ้าใหญ่ทางอีกด้านหนึ่งของตึก แล้วเลี้ยวกลับไปทางหน้าตึก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการแสดงร้องรำ

วิทิตยืนอยู่นานที่ริมสระน้ำ ใจของเขาเต้นไม่เป็นจังหวะ เมื่อสงบสติอารมณ์ได้พอสมควรแล้วจึงกลับไปตามทางเก่าที่เขาเดินมา เขาไม่ได้พยายามเข้าไปหาที่นั่งดูการร้องใกล้แอนน์ เขาไม่อยากเข้าใกล้แอนน์ ไม่อยากให้หล่อนเห็นหน้าเขาเลยในคืนนั้น แต่เมื่องานเลิกนั้นเขาได้อาศัยรถยนต์ของเพื่อนชาวต่างประเทศกลับบ้าน ในรถเขาสามารถพูดจากับเพื่อนได้อย่างปกติ

จันทิรารู้ดีว่าวิทิตได้ตามหล่อนไปยังริมสระ แต่เมื่อมีใครคนหนึ่งเปิดไฟขึ้น หล่อนกลัวอันตรายจะเกิด จึงเลี่ยงกลับไปทางด้านหน้าตึก หล่อนพบเก้าอี้ว่างตัวหนึ่ง ตั้งอยู่ห่างจากแขกอื่นพอสมควร หล่อนก็ลงนั่งดูการแสดง แต่ในอึดใจต่อมา น้องสาวของหล่อน นิสา ก็ลากเก้าอี้มานั่งอยู่ข้าง ๆ

“เมื่อตะกี้นิสขึ้นไปบนตึก” นิสกล่าวแก่พี่สาวของหล่อน “จะไปห้องน้ำ แหม...ไม่มีใครบนตึกเลย ไฟก็มืด คลำแทบแย่ ถึงได้พบสวิตช์ไฟทางระเบียงข้างหลัง”

จันทิราคิดใคร่จะตบหน้าน้องสาวสักฉากหนึ่ง ถ้าหากจะทำได้ แต่หล่อนนิ่งไม่โต้ตอบว่าอย่างไร

ส่วนแอนน์ในคืนนั้นมีความครุ่นคิดเต็มสมอง คืนนั้นเสียงกระซิบกระซาบในหมู่ญาติรุ่นเด็กให้ดู “แฟนของพี่กรรณ” ก็แพร่ไปทั่ว เสียงนั้นได้มาเข้าหูบรรโลม แล้วบรรโลมก็ได้บอกแก่แอนน์ด้วย แอนน์มองดูกรรณิการ์กับธัชด้วยความฉงน หล่อนเหลือบตาดูกรรณิการ์ทีหนึ่ง ดูหน้าสามีของหล่อนที่หนึ่ง แล้วก็ดูธัชทีหนึ่ง วนเวียนกันไปเรื่อย แล้วหล่อนก็หาโอกาสคุยกับธัช

หล่อนพูดอังกฤษกับไทยปนกัน สุดแต่ว่าธัชจะเข้าใจอะไรดีกว่ากันในเวลาไหน หล่อนหาโอกาสถามเขาวา “คนรักของคุณเขามาในงานนี้ด้วยหรือเปล่า?”

ธัชยิ้มอย่างกระดาก ๆ ทำให้แอนน์รู้สึกเอ็นดูเขามาก “เขามาด้วยครับ แต่เขาเป็นคนแปลก เขาบอกใคร ๆ ว่าผมเป็นเพื่อนของน้องชายเขา ที่จริงผมก็เป็นจริง ๆ”

“คุณมีหวังขึ้นแล้วใช่ไหม?” แอนน์ถาม “มีหวังขึ้นเพราะจะได้ทำงานที่บริษัทหรือเปล่า?”

“ก็เป็นด้วย” ธัชตอบ “แต่ไม่ใช่เพราะเขาเห็นอะไรแก่ผมดอก การที่จะได้ทำงาน ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวมีความสำคัญขึ้น”

“เขาเป็นคนทำให้คุณลาออกจากราชการรึ?” แอนน์ซัก

“ก็ไม่เชิง” ธัชตอบ “ผมรู้สึกว่าความจนของผม เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เขารักผมไม่ได้”

“ทำไม เขาบอกคุณรึ หรือคุณคาดคะเนเอาเอง?”

“ผมไม่แน่” ธัชว่า “เขาเคยบอกแต่ว่า เขาไม่แน่ใจอะไรทั้งนั้น เขาชอบผมฐานเพื่อน”

แอนน์นิ่งตรึกตรองไปนาน หล่อนเห็นว่าหล่อนไม่ควรซักมากกว่านี้ จึงเปลี่ยนเรื่องสนทนาไป ภายใน ๒-๓ วัน ต่อจากนั้นแอนน์พยายามจนได้พบกับกรรณิการ์ที่บ้านสุธิรา หล่อนซักเรื่องมาจนได้มีโอกาสสนทนาถึงธัช

“ธัชได้เข้าทำงานที่บริษัทของฉันละกรรณิการ์” แอนน์บอก “เธอยินดีไหม”

“ก็ดี” กรรณิการ์ตอบเรียบ ๆ แล้วหล่อนคิดว่าแอนน์คงได้ยินจากพี่ ๆ น้อง ๆ แล้วว่าธัชมีความสนใจในตัวกรรณิการ์เพียงใด จึงต่อเพื่อให้เรื่องจบเร็ว ๆ “ธัชกับฉันไม่มีผูกมัดอะไรกัน เรายังคงชอบกันเป็นเพื่อน”

“ฉันขอเรียนประเพณีไทยหน่อยได้ไหม?” แอนน์และเลียมถาม “ในเรื่องอย่างนี้ คุณพ่อคุณแม่ของเธอมีความรู้สึกอย่างไร?”

“เมื่อแรกเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ๆ คุณแม่กลุ้มใจมากเรื่องเพื่อนผู้ชาย แต่คุณลุงจิตทำให้ท่านเข้าใจว่า เมื่อได้ให้ลูกเข้าวิทยาลัยแล้ว การมีเพื่อนผู้ชายก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่านก็ค่อย ๆ ชินไป”

“แล้วการที่ธัชอยากแต่งงานกับเธอ ท่านมีความเห็นอย่างไร ท่านสนับสนุนหรือไม่พอใจเขาหรือเฉย?”

“คุณแม่เป็นคนขี้สงสาร ท่านว่าท่านสงสารที่เขาไม่ละทิ้งความพยายาม” กรรณิการ์ตอบโดยซื่อ

แอนน์ใคร่จะถามว่า ถ้าธัชมีเงินเท่าบรรเลง กรรณิการ์จะรักเขาได้ไหม แต่เห็นว่าจะเป็นการละลาบละล้วงเกินไป จึงถามเลยบเคียงว่า “เธอละ เธอคิดว่า เธอจะอาจเปลี่ยนความรู้สึกได้ไหม?”

“ฉันไม่รู้จักตัวเองเลย อยากรู้จักอยู่เหมือนกัน” กรรณิการ์ตอบ

แอนน์สงสัยคำตอบนั้นอย่างยิ่ง หล่อนอยากรู้เหลือเกินว่า จะเป็นได้ไหมที่กรรณิการ์ไม่สามารถรักธัชได้ เพราะหล่อนรักวิทิต เมื่อไรหนอหล่อนจะได้รู้ แอนน์รำพึงแก่ตนเอง สำหรับตัวของหล่อนนั้น หล่อนแน่ใจว่าสามีของหล่อนมีความหมกมุ่นอะไรอย่างหนึ่ง และญาณของอิตถีเพศบอกแอนน์ว่า ความรักของหล่อนกำลังอยู่ในอันตราย แต่แอนน์ไม่รู้ว่าอันตรายกำลังมาจากทิศใด หล่อนเคยมีความรักใคร่ในตัวกรรณิการ์มาก จึงต้องระมัดระวังไม่ให้มีการกระทบกระเทือนโดยไม่จำเป็น

แต่คำพูดของธัชในคืนที่กลับจากงานเลี้ยงได้ก่อความเดือดร้อนให้กรรณิการ์ไม่น้อย ประดู่โกรธธัชมาก และสำหรับประดู่อะไรที่เขาอาจทำให้คุณนายถมยาพอใจได้ เขาก็พยายามทำ ประดู่ไม่หยั่งรู้ถึงเหตุที่คุณนายถมยาไม่พอใจแอนน์ ว่าไม่มีอะไรเกี่ยวเนื่องไปในทางที่จะทำประโยชน์ให้ประดู่เลย เมื่อมีโอกาสดีเช่นนี้ เขาก็จะประจบท่าน โดยนำคำพูดของธัชไปเล่าให้พวงพลอยฟัง และเมื่อเขาเล่าคำพูดนั้น มิได้แสดงความโกรธธัช แต่แสดงความโกรธวิทิตกับแอนน์

“มันอกตัญญู” ประดู่ว่า “พี่กรรณแสนจะช่วยเหลือทุกอย่าง มันยังทำได้ นายธัชก็บ้า หึงไม่เป็นเรื่อง ยังไม่ทันจะเป็นอะไรกับพี่กรรณ เพียงแต่พี่กรรณสงสารเท่านั้น”

พวงพลอยก็รีบเล่าให้มารดาฟัง เพราะแน่ใจว่า ท่านต้องชอบได้ยินเรื่องราวประเภทนี้

คุณนายถมยาใคร่จะได้ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตน โดยให้สุธิราเห็นภัยของการมีสะใภ้แหม่ม แต่คุณนายมีความเกรงกลัวสุธิราเป็นอันมาก จึงต้องเดินทางอ้อม คือไปบอกแก่มารดาของกรรณิการ์ เมื่อคุณนายสารภีมารดาของกรรณิการ์ทราบ ท่านก็มีความร้อนใจมาก

“อย่าไปยุ่งไปเกี่ยวกับเขาอีกเลย ลูกกรรณ” ท่านสั่ง

กรรณิการ์ไม่เคยแสดงความขัดใจต่อมารดาเลย แต่ในคราวนี้หล่อนสะบัดหน้าอย่างแรง “ทำไมเป็นไปกับเขาด้วยละคะ คุณแม่” หล่อนขึ้นเสียง “กรรณไม่ใช่เด็ก ๆ แล้ว อีกไม่กี่ปีจะสามสิบแล้ว”

“เอ๊ะ ไม่เคยเห็นลูกเป็นอย่างนี้เลย” คุณแม่ว่า “ทำไม แม่จะห่วงจะใยบ้างไม่ได้เทียวรี?”

“ก็มันเรื่องไม่เป็นสาระนี่คะ คุณแม่ทำไมพลอยไปด้วย”

“มันเรื่องเป็นได้นะ ลูกกรรณ” คุณแม่ท้วง “พ่อติ๊ดแกกลุ่มใจว่ามีเมียแหม่ม มันทำให้ไม่สะดวกสบายกับพี่น้อง แกเคยพึ่งลูกได้ แกก็หันมาเกาะลูก ทำไมจะไร้สาระ”

กรรณิการ์ขัดเคืองจนพูดไม่ออก เป็นครั้งแรกในชีวิตที่หล่อนลุกสะบัดขึ้นไปจากที่ ระหว่างที่คุณแม่ยังติดใจพูดอยู่ ทั้งนี้หล่อนรู้ดีว่าเป็นเพราะเรื่องนี้ก่อขึ้นโดยธัช หล่อนจึงโกรธมากขนาดบังคับตัวไม่ได้

เมื่อลูกสาวเกิดไม่ประนอมพร้อมใจกับท่าน คุณนายสารภีก็จำต้องหาสัมพันธมิตร ดังนั้นเมื่อคุณนายถมยามาเยี่ยมอีก เพราะตามปกติก็ไปมาหาสู่กันอยู่เรื่อย ๆ ท่านก็ปรับทุกข์กับพี่สะใภ้ แสดงความห่วงใยในลูกสาว

การณ์ที่เป็นไปตามที่คุณนายถมยาคาดหมาย และเมื่อคุณนายไปเยี่ยมคุณสังเวียนในวันต่อมา ก็พูดได้เต็มปากว่า คุณนายสารภีโกรธสะใภ้แหม่ม “แม่สารภีเขาว่าไม่รู้จักบุญรู้จักคุณกันบ้างเลย” โดยแก้คำพูดจากที่เป็นจริงไปเล็กน้อย เพราะคุณนายสารที่ใช้คำว่า “ไม่เห็นความดีของลูกกรรณบ้าง ก็แย่ละ”

คุณสังเวียนก็มีความปริวิตกมาก เพราะคุณนายถมยายังแถมว่า “ทีนี้คุณจะพึ่งพาแม่กรรณก็คงลำบากละ” และเมื่อได้ปรับทุกข์กับลูกสาว วิภาก็แสดงความโกรธเคืองอย่างเดียวกัน และให้ความเห็นอย่างเดียวกับคุณนายถมยาว่า “ทีนี้ละพี่กรรณเขาคงจะไม่เหยียบบ้านเราละ” คุณสังเวียนก็ยิ่งวิตกมาก และแผนการณ์ก็เป็นไปตามความปรารถนาของคุณนายถมยาโดยง่าย คือคุณสังเวียนก็นำคดีไปสู่ศาลสูง คือสุธิรา

เวลานั้นสุธิราก็กำลังยุ่งกับธุระของหล่อนมาก คือเตรียมตัวไปต่างประเทศ และในการไปต่างประเทศนี้ สุธิราก็ต้องพึ่งแอนน์อยู่มาก เพราะหลังจากไปส่งไพสาลีที่สหรัฐอเมริกาแล้ว สุธิราตั้งใจจะไปอยู่ที่อังกฤษนานกว่าประเทศอื่น เพราะได้เคยอ่านหนังสือทราบประวัติของประเทศนั้นดีกว่าประเทศอื่น จึงมีความสนใจใคร่จะได้เห็นภูมิประเทศ และสถานที่ที่หล่อนได้ยินได้อ่านถึงมา แอนน์ได้เขียนหนังสือถึงญาติและมิตรของหล่อน ขอให้เป็นธุระช่วยเหลือสุธิราให้มากที่สุดที่จะทำได้ ในยามปกติ สุธิราอาจจะค่อย ๆ สืบหาความจริงแล้วค่อย ๆ ประนีประนอมไกล่เกลี่ยไป แต่ในยามยุ่งเช่นนั้น สุธิราก็เลยใช้วิธีลัด คือขอให้กรรณิการ์ไปพบ

“เรื่องราวมันมากันอย่างไรกันน่ะ กรรณ?” สุธิราถาม “เล่าไปให้น้าฟังซิ”

กรรณิการ์ไม่ได้คิดว่าสุธิราจะเอาเป็นจริงเป็นจังถึงกับ ขอให้หล่อนไปพบด้วยเรื่องนั้น หล่อนจึงโกรธมากพูดอย่างน้ำเสียงขัดเคืองว่า “เรื่องไร้สาระทั้งนั้น กรรณเบื่อพวกพี่ป้าน้าอาจนไม่อยากพูดอะไรแล้ว”

“กรรณหมู่นี้ดูหงุดหงิดอย่างไรก็ไม่รู้” สุธิราว่า ทำให้กรรณิการ์เดือดมากขึ้นอีก “น้าเห็นคุณสังเวียนเป็นทุกข์เป็นร้อนก็อยากรู้เรื่อง ทำไมจะต้องโกรธด้วย”

“ไม่ได้โกรธคุณน้าหรอกคะ” กรรณิการ์เสียงอ่อนลง “คนที่เป็นต้นเรื่องคือธัช พูดอะไรไม่เป็นแก่นสารและไม่ระวัง ทำให้เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ไม่มีมูลความจริงอะไรเลย”

“แล้วคุณแม่กรรณว่าอย่างไรบ้าง?” สุธิราถาม

“คุณแม่ก็เกิดห่วงไม่เป็นเรื่อง” กรรณิการ์ตอบ “แต่ก็ดีแล้ว ทีหลังอย่ามาขอความช่วยเหลืออะไรเลย กรรณไม่ยุ่งกับใครอีกแล้ว”

“แล้วน้าจะช่วยอย่างไรได้บ้างล่ะ?” สุธิราถามต่อไป

“ช่วยอะไรไม่ได้หรอกคะ ความสงสัยนี่มันเหมือนยาพิษ ลงเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีใครทำอะไรได้ กรรณว่าแล้ว ผัวเมียเขาจะแตกกันก็เพราะคนพูดพล่อย ๆ นี่แหละ”

สุธิราจึงไม่ได้ช่วยเหลืออะไรต่อไป แต่ได้ทำสิ่งที่คุณนายถมยาหวังไว้ คือกล่าวสั่งสอนไพสาลีว่า “นี่โต่ง ถ้าไม่พาเมียแหม่มมาเสียได้ก็จะเป็นการดีนะ” ซึ่งแน่ละ ไพสาลีก็ได้เล่าให้พวงพลอยฟัง และได้ทำให้คุณนายถมยาพอใจมาก

แต่ผู้ที่ได้รับการลงโทษรุนแรงก็คือธัช ระหว่างที่ญาติผู้ใหญ่ผู้น้อยของกรรณิการ์ว้าวุ่นอยู่กับเรื่องนี้ ธัชก็มาหากรรณิการ์ พอเห็นหน้าเขากรรณิการ์ก็รุกเอาทันที

“ธัชรู้ไหม ว่าเธอก่อความเดือดร้อนให้ฉันเท่าไหร่ ฉันไม่เคยโกรธกับคุณแม่เลย แต่เวลานี้ก็ขัดลูกหูลูกตากัน”

“ผมเสียใจ แต่ที่จริงผมต้องการให้คุณระมัดระวังตัวเท่านั้น” เขาว่า “ก็คุณห่าง ๆ ลูกพี่ลูกน้องของคุณเสียพักหนึ่งซี”

“พูดเอาแต่ได้” กรรณิการ์ว่า “ทำไมฉันจะต้องทำตัวไปตามความคิดเห็นบ้า ๆ บอ ๆ ของใคร ๆ”

“ทำไมคุณคิดว่าความเห็นของใครเขาบ้า ๆ บอ ๆ” ธัชแย้ง “ใคร ๆ เขาอาจถูกก็ได้”

“อย่าพูดกันอีกดีกว่า ถ้าอยากพูดอย่างนี้” กรรณิการ์พูดอย่างมะนาวไม่มีน้ำ “อย่างนี้รึ จะเป็นคู่ชีวิตกันได้ พูดจาราวกับเด็กสามขวบ”

ธัชนิ่งอึ้งไป เขานั่งรออยู่ครู่ใหญ่ไม่เห็นกรรณิการ์ทำทีท่าว่าจะขอโทษคำกล่าวสบประมาทนั้น เขารู้สึกขัดเคืองขึ้นมาบ้างก็ลาไป

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ