อีกครั้งหนึ่งกรรณิการ์ต้องตกอยู่ในความลำบากใจ จดหมายของวิทิตที่มีมาถึงหล่อนนั้น หล่อนจะให้ใครดูได้หรือไม่ คุณสังเวียนทราบว่าหล่อนจะเขียนจดหมายไปถามวิทิต เพื่อให้รู้ว่าเขามีความคิดเห็นเป็นอย่างไร ในการที่จะพาภรรยาต่างชาติมาบ้าน แต่หล่อนผมบอกวิทิตไปว่าให้เขียนจดหมายชนิดที่หล่อนจะให้คุณสังเวียนอ่านได้ ครั้นจะเขียนกลับไปบอกให้เขียนมาใหม่อีกฉบับหนึ่ง ก็ดูเป็นการจุกจิกเกินไป

ระหว่างที่หล่อนยังตัดสินใจไม่ได้วิทิตก็ช่วยขบปัญหาให้ จะเป็นโดยเขาเกิดจำได้ขึ้นมาว่าธรรมเนียมพี่น้องในเมืองไทยไม่ถือว่าใครมีสิทธิ์เก็บอะไรไว้เป็นเรื่องเฉพาะตัว หรือเขาจะคิดถึงมารดาขึ้นมาเอง วิทิตได้มีจดหมายมาถึงคุณสังเวียน แจ้งว่าเขาได้รับจดหมายจากกรรณิการ์ แสดงความห่วงใยที่บ้านไม่เรียบร้อย อาจทำให้ภรรยาชาวอังกฤษไม่พอใจ และย้ำมาว่ามิให้เป็นกังวล ตัวเขาและภรรยาพร้อมที่จะสู้หน้ากับความอัตคัดและความไม่สะดวกสบายทั้งหลาย ขอเพียงให้มีห้องอยู่ด้วยกันสองคน อย่าให้ถึงแก่ต้องอยู่กับบุคคลที่สามก็เพียงพอแล้ว เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยแล้วคงจะคิดขยับขยายได้ทีหลัง และในจดหมายนั้นวิทิตถามมาว่าพี่น้องคนใดจะต้องการให้ซื้อหาอะไรมาฝากบ้าง สั่งกับข้าวที่อยากกินตรงกับที่สั่งมาในจดหมายกรรณิการ์ และแสดงความห่วงใยมาถึงสุรัตน์และจุลรัตน์ด้วย ทำให้คุณสังเวียนและพี่ ๆ น้อง ๆ พากันชื่นชมจนเกือบจะลืมว่าควรจะจัดบ้านให้วิทิตกับภรรยาอยู่ร่วมกับสมาชิกอื่นในครอบครัวอย่างไร

สุธิรารีบเตือนกรรณิการ์ให้เตือนคุณสังเวียนอีกต่อหนึ่ง “ถึงเขาจะพูดมาอย่างไรก็ต้องตระเตรียมให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้นะ นึกถึงว่าถ้าเรามีสะใภ้คนไทย เราก็ต้องเตรียมอะไรต่ออะไรเหมือนกัน”

กรรณิการ์ไปขอความร่วมมือจากคุณลุงจิตให้ท่านมาใช้วาทศิลปช่วยหล่อนเกลี้ยกล่อมคุณสังเวียนและน้อง ๆ ของวิทิตในการที่จะจัดที่อยู่เสียให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น เพราะคุณพ่อของหล่อนก็กำลังมีอาการไม่สบายเพิ่มขึ้น และคุณแม่ก็ต้องห่วงใยกับคุณพ่อ พี่สาวของกรรณิการ์ที่แต่งงานไปแล้วก็ไปอยู่ต่างจังหวัด ตัวหล่อนก็ไม่มีอาวุโสพอที่จะให้คุณป้าสังเวียนและน้อง ๆ เชื่อฟังมากนัก

วิธานน้องชายวิทิตเป็นคนสนใจในความสุขสำราญ ไม่ค่อยมีความห่วงใยในชีวิตมากนัก ส่วนวิภาเป็นคนหัวอ่อน อยู่ใกล้ผู้ใดก็มักจะเอออวยตามไปกับผู้นั้น ตรงกันข้ามกับสุรัตน์และจุลรัตน์ซึ่งเป็นเด็กค่อนข้างหัวแข็งและมีอุปนิสัยติดจะดื้อดึง เคราะห์ดีอีกครั้งหนึ่งที่ในวันที่คุณจิตมาหาคุณสังเวียน บรรโลมก็มาเยี่ยมท่านสุภาพสตรีชรานั้นอีก

คุณจิตยื่นคำขาด “สะใภ้ชาวสวนชาวนาอะไรมาก็ต้องพยายามหาที่ให้เขาอยู่เป็นที่เป็นทาง อย่าว่าแต่สะใภ้อังกฤษเลย ไอ้แบบพี่ ๆ น้อง ๆ มันต้องมากันทีหลัง พี่สังเวียนปลูกบ้านเรือนให้เจ้าติ๊ดมันสักหลังเถอะ ตรงมุมบ้านตรงนั้นแหละ ไม่ต้องมีอะไรหรอก มีห้องนอนห้องน้ำเท่านั้นก็พอ แต่จะให้เขามาอยู่กับเจ้าตั้นข้างขวา เจ้าโป๋ข้างซ้ายนะ เป็นไปไม่ได้หรอก แล้วเจ้าโป๋ก็โตแล้ว ออกทำราชการงานเมือง ควรจะอยู่เป็นที่เป็นทางสักที”

“ดิฉันจะหาช่างมาให้ค่ะ ที่รู้จักกัน ที่เขาคิดแต่พอทุนเท่านั้น” บรรโลมรีบบอก

“แล้วก็ห้องยายบุญเลี้ยงน่ะ ย้ายกันเสียได้ไหม?” คุณจิตให้ความเห็นต่อไป “หาฉากหรือะไรกั้นเสียหน่อย แล้วก็ให้ยายตึง (หมายถึงวิภา) กับยายแต๋งอยู่กันสองคน จัดให้มันดี แล้วตาโป๋ขึ้นมาอยู่บนเรือน ให้ยายบุญเลี้ยงลงไปอยู่ข้างล่าง แล้วที่ระเบียงนี่แขกไปใครมาพอรับเขาได้ เจ้าติ๊ดเขากลับมา เขาก็ต้องมีแขกเหรื่อมาเป็นแน่ละ”

ที่ประชุมรับข้อเสนอทั้งหมดโดยดุษณี เพราะการเถียงคุณจิตเป็นงานที่ต้องใช้พลังงานทางใจแรงพอสมควร แต่คุณจิตกลับไปแล้ว คุณสังเวียนก็ร้องไห้

“เกิดมาเป็นฉันนี่มันตกที่นั่งมีนาย” ท่านรำพัน “ทีแรกก็มีคุณพระ แล้วก็มามีลูกคุณพระ นี่มาถึงถูกสะใภ้คุณพระ”

บรรโลมรีบรับรองว่าจะไม่ให้ท่านเดือดร้อนในเรื่องเงิน โดยจะให้ช่างมาทำเรือนให้ แล้วเมื่อวิทิตกลับมา เขาก็คงจะเป็นคนช่วยท่านในเรื่องชดใช้ได้ แล้วก็รีบลาไป

กรรณิการ์รู้ว่าหล่อนจะยังไปไม่ได้ จะต้องนั่งฟังคุณป้ารำพันพอให้ท่านได้ระบายอารมณ์เสียก่อน พอบรรโลมไปแล้วท่านก็ปรึกษากับวิภาในเรื่องที่จะปรับปรุงบ้านไปพลาง และรำพันถึงความยากจนของท่านไปพลาง วิธานและสุรัตน์เลี่ยงไป แล้วในที่สุดกรรณิการ์จึงกลับไปได้

๒ วันต่อมา บรรโลมก็ไปหากรรณิการ์ พาช่างไม้ไปให้รู้จัก และมอบหมายให้ช่างฟังคำสั่งของกรรณิการ์พร้อมกับชี้แจงว่า ในเรื่องค่าจ้างไม่ต้องห่วงในระหว่างนี้ สำหรับค่าไม้และวัสดุอื่น ๆ ที่จำเป็น คุณจิตเป็นผู้จัดการหาเงินให้ กรรณิการ์จึงพาไปหาคุณป้า ช่างจัดการวัดที่และคำนวณไม้และทำอะไรที่จำเป็นแล้วก็ลาไป กรรณิการ์ขอร้องให้วิธานเป็นผู้ช่วยดูแลควบคุมการสร้าง เพราะหล่อนคิดว่าเขาคงทำได้เหมาะกว่าผู้อื่น

คุณป้าปรับทุกข์ให้กรรณิการ์ฟังเพิ่มเติมว่า “นางเลี้ยงมันร้องห่มร้องไห้ใหญ่ มันว่ามันกำลังอยู่สบาย ๆ พอรู้สึกว่าได้กลับบ้านกลับช่อง ไม่ต้องไปเที่ยวพักต่างบ้านต่างเมือง ก็เกิดจะต้องขนย้ายอีกแล้ว”

เวลาที่กรรณิการ์ได้ฟังคำปรับทุกข์ชนิดนี้ วิธีของหล่อนคือนิ่ง

ในที่สุดเรือนสำหรับที่จะให้วิทิตอาศัยอยู่กับภรรยาอังกฤษก็เสร็จ ในสายตาของกรรณิการ์เรือนนั้นก็เป็นสถานที่ที่น่าอยู่อาศัยพอสมควร แต่พอเรือนเป็นรูปร่างขึ้นมาพอเห็นทรวดทรงท่าที ญาติและมิตรก็ช่วยกันมาเสนอแนะว่า มีสิ่งควรตัดและสิ่งควรเติมหลายอย่าง และความเห็นนั้นก็ไม่ค่อยตรงกัน

เริ่มด้วยวิธานมีความเห็นว่า ในเมื่อได้ลงทุนปลูกเรือนทั้งทีควรจะทาสี ไม่ควรจะทาน้ำมันตามที่คุณจิตกับคุณสังเวียนตกลงว่าจะทำ คุณสังเวียนก็นำความเห็นนั้นไปเสนอน้องชายของสามี

คุณจิตเกาศีรษะและซ้ำขยี้ผมตามท้ายทอยด้วย “เจ้าตั้นนี่เมื่อไรมันจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่เสียทีนะ พวกขุนนางละมันเป็นอย่างนี้ละ” แล้วท่านก็พูดกับกรรณิการ์เป็นภาษาอังกฤษว่า “พวกนี้ไม่มีที่จะรู้เรื่องธุรกิจการค้าเสียเลย”

คุณสังเวียนพูดขึ้นทันที “คุณจิตจะด่าว่าอะไรก็ไม่ต้องส่งภาษาดอก ไว้หลานสะใภ้เขามาถึงค่อยมาส่งกันได้ถึงใจ นี่ฉันมาปรึกษา จะมีความเห็นอย่างไรพูดกันให้เข้าใจหน่อย ฉันมันคนไม่ได้ร่ำได้เรียน”

คุณจิตอธิบายว่า “สีทาบ้านกำลังขึ้นราคาทุกวัน ทีแรกว่าไม่มีเงินจะปลูกเรือน พอปลูกเข้าก็จะถึงกับทาสีทาสนกันทีเดียว”

“ก็ไม่ทาก็ไม่ทาซี ทำไมจะต้องด่าว่ากันไปถึงปู่ย่าตายาย เวลานี้พวกผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน ใคร ๆ ก็รู้”

ต่อมาโดยบังเอิญ สุธิราเห็นบริเวณบ้านก็หลุดปากออกมา “เออ เขาว่าคนอังกฤษนี้เขาระวังรักษาสนามราวกับห้องนอน บริเวณเรือนวิทิตนี่ ทำสนามหญ้าเล็ก ๆ จะได้ไหม?”

“คุณสุธิรา” คุณสังเวียนขึ้นเสียงแหลม “คุณจิตเขาว่าอยู่เมื่อสองสามวันนี้ว่า พวกขุนนางนี่ไม่มีความคิดกันเลย ไม่เหมือนพวกคนค้าขาย”

สุธิรารู้ตัวว่าผิดไปถนัด แต่ยังมีทิฐิพูดต่อไปว่า “ไม่ได้หมดเปลืองอะไรกี่มากน้อยนี่คะ ดิฉันจะให้คนทำสวนที่บ้านมาช่วยก็ได้ค่ะ”

“เออ กว่าแม่ลูกสะใภ้จะมาให้เห็นหน้าเห็นตา ฉันก็คงเป็นลูกหนี้เขาทั่วเมือง” คุณสังเวียนว่า

“โธ่ คุณพี่ก็ พูดอะไรอย่างนั้นล่ะคะ” สุธิราพ้อ “ดิฉันเป็นคนอื่นคนไกลที่ไหนเมื่อไร”

คุณสังเวียนเรียกกรรณิการ์ไปปรับทุกข์อีก “คุณสุธิราว่าอย่างนี้ แม่กรรณเป็นหลานรักสนิทสนมกันจะจัดการอย่างไร?”

กรรณิการ์ทายใจของท่านได้ดีว่า ท่านใคร่จะฉวยโอกาสได้คนงานของสุธิรามาทำความสะอาดบ้านเหมือนกัน จึงสนับสนุนให้รับข้อเสนอของสุธิรา แล้วหล่อนก็ต้องรับหน้าที่ไปเจรจาอีกต่อหนึ่ง

เมื่อกรรณิการ์มาช่วยดูแลกิจการทางบ้านคุณป้าสังเวียนบ่อยเข้า คุณแม่ของหล่อนก็พ้อ

“ลูกกรรณ เวลาลูกอยู่ แม่จะห้ามปรามแนะนำอะไรคุณพ่อท่านก็ค่อยฟังหน่อย มันเป็นสองเสียง ถ้าแม่พูดคนเดียว ท่านก็ไม่ค่อยฟัง พ่อเดื่อ (น้องชายรองลงไปจากกรรณิการ์ มีชื่อจริงว่าอุทุมพร) หรือพ่อประดู่น่ะ อย่าไปเอาอะไรกับเขาเลย เดี๋ยวเขาก็มีธุระโน่น เพื่อนคนนั้นเพื่อนคนนี้ แม่ก็มีลูกผู้หญิงคนเดียว เวลานี้แม่วัลย์ก็ต้องจากกันไปอยู่หัวบ้านหัวเมือง”

ไม่มีผู้ใดรู้ว่า ระหว่างที่หล่อนต้องไปทำหน้าที่ตุลาการระหว่างญาติอยู่นั้น หล่อนได้รับจดหมายฉบับหนึ่ง

คุณกรรณ

ผมไปหาคุณที่บ้านที่ไร ไม่ได้พบเลย สองสามหนแล้ว ผมนี่มันคงโชควาสนาแค่นี้เอง ผมอยากคุยอะไรกับคุณ แต่ว่าผมไม่อยากพบคุณพ่อหรือคุณแม่คุณบ่อย ๆ ให้เป็นที่ผิดสังเกต ผมรู้ตัวว่าผมมันยากจน แต่ก็พยายามจะสร้างตัวเองเต็มที่ ผมดูคุณก็ไม่ค่อยออก ดูคุณก็ชอบผมสงสารผม แต่คุณมีกังวลอื่นของคุณมากมายเหลือเกิน แล้วก็เจ้าระเบียบประเพณีเหลือเกิน ชวนไปกินข้าวกลางวันด้วยกันก็ว่าไปไม่ได้ ผมเห็นคนอื่น ๆ เขาก็ทำกันได้ บางทีผมก็ว่าคุณคงรังเกียจไอ้ความยากจนของผมนั่นเอง ผมคิดกลับไปกลับมาจนจะเป็นบ้าอยู่แล้ว คุณช่วยทำให้ผมสว่างสักหน่อยจะดีไหม ผมควรพูดให้หวานกว่านี้ แต่พูดไม่เป็น คุณก็รู้อยู่แล้ว

ธัช

กรรณิการ์อ่านจดหมายนั่นแล้วก็ทอดถอนใจอยู่คนเดียว ธัชเป็นเพื่อนนิสิตรุ่นก่อนหล่อนหนึ่งรุ่นในมหาวิทยาลัย เขาเป็นคนที่หล่อนนิยมไม่น้อย เพราะความเปิดเผยและสุภาพ แต่ก็เป็นความจริงว่า พอหล่อนทราบว่าความรู้สึกของเขาต่อหล่อนเปลี่ยนจากความชอบพอฉันมิตรกลายไปเป็นความปรารถนาที่จะให้หล่อนเป็นคู่ชีวิต หล่อนก็เริ่มหวาดกลัว และความยากจนของเขาเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้หล่อนหยุดยั้งไม่กล้าสนับสนุนความสัมพันธ์ให้เจริญเกินไป ซึ่งสำหรับในทรรศนะของกรรณิการ์หล่อนก็ว่าหล่อนมีเหตุผลสมควร แต่แน่ละ ในทรรศนะของธัช เขาย่อมมีความน้อยใจมาก

กรรณิการ์ได้ตอบจดหมายฉบับนั้นไปอย่างสั้น ๆ และตรงกับใจจริงของหล่อนว่า ขออย่าให้ธัชเพิ่งตัดสินอะไรในเรื่องเขากับหล่อนให้เด็ดขาดเลย เพราะหล่อนเองก็ตัดสินอะไรก็ไม่ได้ และเป็นความจริงว่าหล่อนกำลังมีกังวลเกี่ยวกับเรื่องของคนอื่นมากกว่าเรื่องตัวหล่อน เพราะฉะนั้น ถ้าเขายังอยากจะรักษามิตรภาพไว้ก็ขอให้สงบใจไว้ก่อน

พอใกล้วันที่วิทิตจะกลับมาถึงกรุงเทพ ฯ ปฏิกิริยาในบ้านของคุณสังเวียนก็เริ่มขึ้นอีก

“พี่กรรณ” วิภานำเรื่องมาให้กรรณิการ์ฟัง “แม่บุญเลี้ยงเขาว่า เมียแหม่มของพี่ติ๊ดจะมาใช้สอยเขาเหมือนคนใช้ละก็ เขาไม่ยอมนะ เขายอมเป็นบ่าวแต่คุณแม่แล้วก็ลูกหลานของคุณแม่เท่านั้น ยายแต๋งเขาก็สนับสนุนเขาว่า ชั่ว ๆ ดี ๆ ก็เป็นน้าของเขา แล้วเดี๋ยวนี้หาคนใช้ยากจะตาย จะไปจ้างใครมาแปลกหน้า ถ้าไม่ถูกกับแม่บุญเลี้ยง ก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน”

กรรณิการ์ถอนใจเฮือกใหญ่ “ไปจ้างมาคนหนึ่งเถอะ” หล่อนตัดสิน “อยู่ไม่ได้ก็ไป แล้วก็จ้างใหม่ มันก็เหมือน ๆ กันทุกบ้านละ สมัยนี้”

“ตาโป๋ก็ชักจะไม่ค่อยลงกับพี่ตั๋น” วิภาเล่าต่อไป “เขาว่าพี่ตั๋นน่ะ เอาแต่เที่ยวเอาแต่สนุก ไม่เห็นให้เงินให้ทองคุณป้าบ้างเลย เขาเสียอีกยังนึกถึงบุญคุณท่าน ทั้งที่ท่านเลี้ยงเขาเพราะว่าใจแท้ ๆ ไม่ได้รักใคร่อะไรเขาเหมือนยายแต๋ง แล้วเงินที่เขาให้คุณแม่ คุณแม่ก็บำเรอยายแต๋งกับพี่ตั๋น จะกินจะอยู่อย่างไรก็ตามใจ อย่างนี้เขาไม่ให้อะไรเลยดีกว่า เขาเสียเปรียบ”

“แล้วติ๋งล่ะ?” กรรณิการ์ย้อนถามถึงตัววิภาเอง “ติ๋งตั้งแต่ได้เงินเดือน ให้คุณแม่บ้างหรือเปล่า?”

“ของติ๋ง คุณแม่เกือบจะริบไปหมดเลย” วิภาเล่า “พอเงินเดือนออก คุณแม่ก็ว่า เอาเงินมาให้แม่เก็บไว้ให้ติ๋ง เก็บไว้แต่สำหรับกินข้าวกลางวันกับซื้ออะไรเบ็ดเตล็ด ติ๋งไม่ว่าอะไรหรอก แต่อดนึกไม่ได้ว่า พี่ติ๊ดแทนที่จะได้มาช่วยพี่ ๆ น้อง ๆ มีเมียแหม่มมายังงี้ ที่ไหนจะได้ช่วย แหม่มก็ต้องกินขนมปังหมูแฮมหมด จะมากินข้าวต้มกับปลาเค็มเหมือนเราได้เหรอ”

กรรณิการ์ก็เป็นผู้ฟังตามเคย

แล้วในที่สุดก็ถึงวันที่ญาติและที่เกี่ยวดองเป็นญาติ กำหนดการจะไปรับวิทิตกับภรรยาที่ท่าเรือ ปฏิกิริยาในเรื่องนี้ก็มีขึ้นในบ้านของคุณหลวงอนุมัติ ฯ บิดาของจันทิรา คุณนายจำเนียรเห็นท่านเตรียมตัวจะไปรับวิทิตด้วยก็ท้วงขึ้น

“นี่จะไปรับเขาด้วยเหมือนกันรึคุณ คุณจะวางหน้าอย่างไร?”

“ทำไมฉันถึงจะต้องมีหน้าอะไรจะไปวางพิเศษกว่าคนอื่น ๆ” คุณหลวงตอบ “ฉันจะไปรับเจ้าติ๊ดเพราะเขากู้ชาติไว้ไม่ให้เป็นขี้ข้าเขา”

“คุณคิดอะไรแปลก ๆ ไม่เห็นจะมาเกี่ยวอะไรกับคุณ”

“หล่อนแหละคิดอะไรแปลก ๆ” คุณหลวงย้อน “เราทำผิดคิดร้ายอะไรกับเขาหรือ?”

“ไม่รู้ละ” คุณนายตอบไปอีกทางหนึ่ง “อย่ามาว่า....ที่มีเมียแหม่มนี่เพราะแม่จันไปแต่งงานเสียก็แล้วกัน”

“เออ” คุณพระถอนใจ “เหตุผลของหล่อนฉันตามไม่ทันเสียเลย ไม่เห็นมันเข้ากันตรงไหนเลย”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ