เมื่อจันทิรากับวิทิตจากกันทั้งรักนั้น จันทิราอายุ ๑๗ ปี กว่า ๆ และวิทิตเกือบ ๒๐ ปั ทั้งสองแน่ใจอย่างยิ่งว่า ความรักของเขาจะไม่มีวันเสื่อมสลายคลายจาง จันทิราร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ประมาณเกือบชั่วโมงนับจากได้กลับถึงบ้าน หลังจากที่ได้ไปส่งวิทิตบนรถไฟไปลงเรือเดินสมุทรที่ปีนัง ต่อจากนั้นก็นั่งนับวันคอยจดหมาย แล้วก็เขียนจดหมายรับจดหมายแต่พอวิทิตจากไปไม่ถึง ๑ ปี สงครามยุโรปก็เกิดขึ้น

เมื่อเกิดสงครามแล้ว จดหมายของวิทิตก็เริ่มห่างไป แต่ก็ยังมีมาเป็นระยะ ๆ วิทิตเป็นคนไม่ช่างเล่าเรื่องราวละเอียดเกี่ยวกับสงคราม แต่ถ้ามีผู้ใดถามไปเป็นเรื่องเฉพาะ ๆ เขาก็จะตอบมาอย่างแจ่มแจ้งเฉพาะเรื่องที่ถามไป

กรรณิการ์เป็นลูกเรียงพี่เรียงน้องกับวิทิต กรรณิการ์ไม่ค่อยจะมีความสัมพันธ์สนิทชิดชมกับลูกพี่ลูกน้องของหล่อนก่อนที่เขาจะจากไป เพราะเมื่อเป็นเด็กอยู่ด้วยกัน วิทิตเป็นคนเจ้าความคิด เป็นผู้ใหญ่เกินอายุ ส่วนกรรณิการ์เป็นเด็กผู้หญิงที่ชอบเล่นซนอย่างเด็กผู้ชาย ครั้นเติบโตเข้าวัยรุ่น วิทิตกับจันทิราก็เริ่มรักกัน ไม่มีเวลาให้วิทิตได้สนใจกับญาติผู้หญิงคนใดกี่มากน้อยนอกจากจันทิรา แต่กรรณิการ์ก็พูดคุยเล่นกับวิทิตฐานญาติอย่างสุภาพด้วยกัน แต่ครั้นเกิดสงครามยุโรปขึ้น ความอยากรู้และความสนใจในโชคชาตาของบ้านเมือง ทำให้กรรณิการ์อดใจไว้ไม่ได้ จึงได้เขียนจดหมายถามเหตุการณ์ไปยังวิทิตหลายครั้ง

จันทิราประหลาดใจมากเมื่อเห็นจดหมายที่วิทิตเขียนถึงกรรณิการ์ “เอ จดหมายพี่ติ๊ดถึงกรรณนี่ ยาวกว่าที่เขียนถึงฉันนี่”

“ยังงั้นเรอะ” กรรณิการ์ก็แปลกใจเหมือนกัน “แต่ข้อความคงเอามาเทียบกันไม่ได้กระมัง” หล่อนเสริม มีน้ำเสียงล้อเลียนอย่างดีใจระคนไปด้วย

“ไม่รู้” จันทิราตอบ “ชักจะไม่มีเรื่องเขียนเข้าทุกทีแล้ว เราเล่าไปทุกอย่างที่จะนึกได้ แต่ไม่เห็นเขาค่อยเล่าอะไร มักจะบอกว่าสบายดี อย่าห่วงเท่านั้น” แล้วจันทิราก็พลิกจดหมายของกรรณิการ์ไปมา

“อ่านดูซี” กรรณิการ์บอก “ฉันก็แปลกใจเหมือนกัน แต่ว่าจดหมายของฉันนั้นไม่ได้เขียนทุก ๆ วันเหมือนของเธอ จะเป็นเพราะอย่างนั้นถึงดูยาวกระมัง”

จันทิราสีหน้าดีขึ้นเล็กน้อย หล่อนอ่านจดหมายจากคู่รักถึงเพื่อนอย่างตั้งอกตั้งใจ

“เห็นจะเป็นเพราะเธอช่างถามช่างซักกระมัง” ในที่สุดหล่อนว่า “เธอถามเขาไปเหรอ ที่เขาเล่ามานี่น่ะ”

“ถามเขาไปทั้งนั้นละ ฉันอยากรู้เรื่องสงครามมันเป็นยังไง” กรรณิการ์ตอบ “ศิริมากับฉันนัดกัน เขามีพี่ชายอยู่เยอรมัน เขาถามของเขาไป เราก็ถามของเรา แล้วก็เอามาแลกเปลี่ยนความรู้กัน”

“แล้วยังไง ใครจะแพ้ชนะ” จันทิราเกิดสนใจบ้าง “อาจารย์เติมของเราคนหนึ่ง แกช่างสนใจเรื่องสงครามเสียจริง ในเวลาสอน คุยเรื่องสงครามเสียเรื่อย”

“ดูเขาต่างคนต่างก็จะชนะนี่” กรรณิการ์ตอบ “อย่างน้อยคุณติ๊ดเขาก็ว่าอังกฤษจะไม่แพ้”

“ที่บ้านฉันแบ่งออกเป็นสองค่าย” จันทิราว่า “ค่ายคุณแม่กับคุณลุงเป็นพวกเยอรมัน ค่ายคุณพ่อเป็นพวกอังกฤษ คุณพ่อว่าอเมริกันจะต้องเข้าช่วยอังกฤษในที่สุด แล้วอังกฤษก็จะชนะเหมือนสงครามครั้งก่อน”

“บ้านฉันตรงกันข้าม” กรรณิการ์ว่า “คุณแม่เป็นอังกฤษ เกลียดเยอรมัน หาว่ารุกรานบ้านเล็กเมืองน้อย ข้างคุณพ่อโปรดเยอรมัน เกลียดอังกฤษ”

“ถ้าไม่มีพี่ติ๊ดอยู่อังกฤษ ใครมันจะแพ้จะชนะก็ช่างหัวมัน” จันทิราว่า “แหม เธอนี่ก็ช่างถามจริงนะจนกระทั่งมีอาหารอะไรกินบ้างก็ถาม”

“ก็เธอไม่เห็นเหรอะ ฝ่ายแอกซิสเขาว่าอังกฤษจะอดอาหารตายทั้งเกาะ”

“แหม แล้วพิติ๊ดก็ขยันตอบนะ อธิบายวิธีแบ่งอาหาร เขาเรียกว่าอะไรนะ อ่านว่าอย่างไร เรเชิ่นหรือแรเชิ่น หรือราเชิ่น แต่ไม่รู้ละ ฉันอยู่เมืองอังกฤษต้องอัดใจตาย ต้องมีบัตรไปซื้อน้ำตาล ซื้อขนม”

“ฉันฟังวิทยุ มันอ่านว่า แรเชิ่น” กรรณิการ์ตอบ “เยอรมันก็มีเหมือนกันน่า อาจารย์ทอมส์แกว่า มีมาตั้งแต่ก่อนสงครามเสียอีก แต่ไม่เรียกว่า แรเชิ่น เท่านั้น”

“ไปเชื่ิออะไรแก อาจารย์ทอมส์ ก็แกเป็นอังกฤษนี่นะ” จันทิราตัดบท “ฉันจะต้องกลับไปเขียนหนังสือต่อว่าพี่ติ๊ด ให้เขียนหนังสือถึงฉันให้ยาว ๆ บ้าง” หล่อนต่อ

กรรณิการ์จ้องดูจันทิราเดินออกจากบ้านไป ร่างระหง ผิวขาวนวลเป็นใย ดูสวยทั้งข้างหลัง ผมของจันทิราดำเป็นมันเงา หยักโศกสลวย มีลูกผมเป็นวงเล็ก ๆ ระกะอยู่ตามต้นคอและข้างหู พลางความคิดอันหนึ่งก็แล่นเข้ามาในสมองโดยไม่รู้ตัว “จะเป็นไปได้ไหม ที่จันทิรากับวิทิตจะไม่ได้แต่งงานกัน จะเป็นเพราะสงครามหรือเหตุหรืออื่นก็ตามที”

ครั้นฤดูร้อนของซีกโลกเหนือกรายใกล้เข้ามา เหตุการณ์ของโลกก็เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีผู้ใดคาดฝัน และภายในฤดูร้อนนั้น ก็ปรากฏว่าเยอรมันเป็นฝ่ายมีชัยทางการยุทธอย่างไม่น่าเชื่อ สงครามฟ้าแลบของฮิตเลอร์ได้ลุล่วงไป ทิ้งให้โลกพิศวงงงงุน แนวมาจิโนต์ของฝรั่งเศสแตกพินาศ กองรถรบของเยอรมันเข้ายึดประเทศเบลเยียมและฮอลันดา เข้ายึดเอาประเทศฝรั่งเศสไว้ได้เกือบทั้งหมด รัฐบาลฝรั่งเศสก็พ่ายแพ้ และมีคณะรัฐบาลฝรั่งเศสของท่านจอมพลเปแตงเป็นผู้รับเข้าทำสัญญาร่วมมือกับเยอรมัน และเยอรมันได้อนุญาตให้ครอบครองประเทศส่วนหนึ่ง

กองทัพอังกฤษถอยไปหมดสิ้นจากภาคพื้นทวีปยุโรป ถอยไปอย่างเอาตัวเกือบไม่รอด เหลือไปแต่ชีวิตและมือเปล่า ๆ ไปตั้งมั่นอยู่บนเกาะโดยเกือบไม่มีอาวุธ

ประเทศไทยยังติดต่อกับประเทศคู่รบในยุโรปได้ทั้งสองค่าย ฝ่ายญาติทางเมืองไทยก็มีความห่วงใยในญาติที่อยู่ในประเทศอังกฤษอย่างเหลือเกิน จันทิราได้เขียนจดหมายไปอ้อนวอนวิทิต ขอให้ร้องเรียนมายังกระทรวงเจ้าของทุนการศึกษาที่ให้แก่วิทิต ขอให้อนุญาตให้ย้ายไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา วิทิตตอบมายังบิดามารดา พี่น้อง และคู่รักว่า ไม่ต้องเป็นห่วง

หลายครั้งกรรณิการ์ต้องเป็นผู้รับฟังคำปรับทุกข์ของจันทิรา “ฉันชักไม่เข้าใจพี่ติ๊ดเข้าทุกทีแล้ว ทำไมเขาจึงใจเย็นอย่างนั้น ทำไมถึงดื้อ แล้วก็ไม่เห็นให้เหตุผลอะไร”

“ฉันก็ไม่ได้เขียนถึงเขานานแล้ว” กรรณิการ์ว่า

“เธอลองเขียนไปถึงเขาบ้างซิ เธอช่างถามดี บางทีเขาจะตอบมาให้สว่างบ้าง” จันทิราแนะ

เมื่อกรรณิการ์ถามไป ก็ได้รับคำตอบจากวิทิตว่า “คิดดูเถอะ ประวัติของโลกกำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เรายืนอยู่ตรงริมประตูละครโรงใหญ่ แล้วจะทิ้งที่ไปเสียอย่างไร ไม่น่าเสียดายหรือ? และเหตุผลอื่นก็ยังมีอีก”

กรรณิการ์ใจหายวาบ ไม่รู้ว่าจะให้จันทิราเห็นจดหมายฉบับนี้หรือไม่ วิทิตรักใครอยู่ในอังกฤษหรือ? เหตุผลอะไรของเขาอีกนอกจากความอยากเห็นเหตุการณ์ การที่ชายหนุ่มจะเสี่ยงอันตรายอย่างน่ากลัว จะมีอะไรเป็นเหตุ นอกไปจากผู้หญิงที่รักอยู่ในที่มีอันตรายนั้น

วันคืนล่วงไปอีก แต่ความวิตกกังวลของโลกมิได้ผ่านพ้นไปด้วย ทั้งโลกจ้องมองด้วยใจหิ้วแขวน พวกที่สนใจกับประชาธิปไตยมีความห่วงใยอย่างยิ่ง เพราะถ้าอังกฤษแพ้ ก็ไม่มีปัญหาเลยว่าประชาธิปไตยจะไม่สูญสิ้นไปจากโลก โดยเฉพาะจากประเทศไทย ซึ่งเพิ่งจะฟักฟูมขึ้นมาอย่างช้า ๆ และอย่างลำบากยากเย็น แต่โดยมากคนไทยไม่ห่วงใยนักในเรื่องนี้ คนจำนวนน้อยที่ห่วงมีความหนักอกเป็นทวีคูณ เพราะรู้แจ้งว่าสมบัติอันล้ำค่ากำลังจะสลายไป แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของร่วมไม่ค่อยไยดีเหลียวแลเลย

กรรณิการ์ต้องตกเป็นผู้รับฟังการปรับทุกข์ของญาติและมิตรหลายคน เหตุผลก็คือ หล่อนเป็นนักฟัง กรรณิการ์เป็นนักฟังและนักถาม บางทีคนที่ถูกหล่อนถามก็โกรธ ว่าหล่อนช่างซักจุกจิก เขาเหล่านั้นก็เลิกมาบ่นอะไร หรือเล่า หรือปรารภอะไรชั่วคราว แต่ไม่ช้าเขาจะกลับมาใหม่อีก เพราะนักฟังหายาก คนโดยมากมักจะชอบเล่าชอบแสดงความคิดเห็นของตัว และไม่ค่อยชอบให้ใครแสดงความคิดขัดแย้ง การที่จะปรับทุกข์เรื่องที่เปนทุกข์ของตนแต่ผู้เดียว โดยผู้ฟังไม่มีส่วนในทุกข์นั้นด้วย ผู้ฟังมักฟังเพราะไม่อยากเสียกิริยา แต่จะฟังอยู่ไม่ได้นานจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ย่อมจะมีวิธีตัดบทผู้เล่าเสียง่าย ๆ โดยทำให้ปัญหาเป็นปัญหาง่ายจนใคร ๆ ก็จะขบได้ในทันที บ้างทำให้ผู้เล่ารู้ตัวว่าเป็นคนจู้จี้เกินไป หรือเป็นคนไม่รู้จักปรับตนเข้ากับสิ่งแวดล้อม หรือให้รู้สึกตัวว่าเป็นผู้ขาดตกบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจใช้วิธีสุภาพฟังพลางก็รับปากไปพลางโดยแท้จริงมิได้ฟัง จนผู้เล่ารู้สึกตัวแล้วก็หยุดเล่าไปเอง แต่กรรณิการ์เป็นคนฟังจริง ๆ ฟังเรื่องราวของคนทั้งปวงด้วยความสนใจ ฟังพลางก็มักคิดถาม คิดหาสาเหตุและมูลเหตุของทุกข์ของผู้เล่าไปพลาง และชักเอาทั้งกะพี้และแก่นของเรื่องที่กำลังได้รับฟังเล่า หล่อนจึงกลายเป็นที่รับฟังเรื่องทุกข์ของญาติและมิตรจำนวนมาก โดยทั้งหล่อนและเขาเหล่านั้นก็มิได้รู้ว่าหล่อนได้รับหน้าที่อันนั้น

ระหว่างที่สงครามยุโรปกำลังอยู่ในขั้นที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่งของฝ่ายผู้ที่ใฝ่ประชาธิปไตย และกำลังสร้างนิมิตอันรุงโรจน์ให้แก่ฝ่ายตรงกันข้าม กรรณิการ์จึงได้รับฟังความทุกข์ของคนหลายคนที่ไม่รู้จะปรับทุกข์ให้ใครฟัง เพราะในตระกูลหนึ่งหรือกลุ่มญาติมิตรกลุ่มหนึ่ง ๆ คนโดยมากไม่แลเห็นว่าอะไรจะเป็นทุกข์ หรืออะไรจะไม่เป็นสุขแน่ ต่างคนต่างก็อยากออกความคิดเห็น แต่เมื่อออกมาแล้วได้รับการขัดแย้ง ก็เกิดความขุ่นเคือง โดยเฉพาะญาติผู้ใหญ่ของกรรณิการ์และญาติผู้ใหญ่ของมิตรของหล่อน เพราะกับผู้ใหญ่ด้วยกันก็ปรับทุกข์ให้กันฟังไม่ได้เสียแล้ว เพราะความเห็นไม่ตรงกัน จะปรับทุกข์กับญาติที่เป็นเด็กกว่า ก็หาผู้ที่เต็มใจฟังไม่ค่อยได้ เมื่อมีผู้ที่ยินยอมฟังโดยไม่ขัดแย้งจึงต้องยึดไว้เป็นที่ระบายความอัดอั้นตันใจ

เป็นต้นว่า คุณลุงของกรรณิการ์ ซึ่งเป็นอาเขยของจันทิรา และเป็นอาของวิทิต เมื่อพบกรรณิการ์ก็จะพูดกับหล่อนว่า “รำคาญพี่สังเวียนจริง ๆ เป็นทุกข์เป็นร้อนเรื่องเจ้าติ๊ดจะเป็นจะตาย เจ้านั่นเขาก็จะอยู่ของเขาที่อังกฤษ ทำไมมันช่างไม่คิดกลัวตายบ้างเลย”

พี่สังเวียนคือพี่สะใภ้ของท่าน และเป็นมารดาของวิทิต สามีของท่านคือบิดาของวิทิต ได้ล่วงลับไปหลายปีแล้วก่อนที่วิทิตจะจากไปศึกษาต่างประเทศ คนโดยมากเรียกท่านว่าคุณสังเวียน เพราะบิดาของท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕

คุณลุงของกรรณิการ์ชื่อ จิต คนโดยมากเรียกท่านว่าคุณจิตเหมือนกัน เพราะท่านเป็นคนมีทรัพย์และมีเชื้อสายขุนนาง อาชีพของท่านคือ ซื้อขายที่ดิน และติดต่อเดินตลาดรู้จักฝรั่งหลายบริษัท ท่านมีความภาคภูมิใจมากว่า ท่านเกือบเป็นคนไทยคนเดียวที่ไม่ต้องพึ่งราชการในบรรดาญาติมิตรของท่าน แต่ญาติมิตรทั้งหลายกระซิบบอกกันว่า ท่านต้องจำเป็นหันไปประกอบอาชีพเช่นนี้ เพราะเมื่อท่านเป็นหนุ่มอยู่ ท่านได้บังอาจไปลักพาธิดาของท่านขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งมา คุณตาของกรรณิการ์จึงรีบเอาตัวท่านไปฝากกับเพื่อนคนจีนที่มีอิทธิพลคนหนึ่ง เพราะธิดาของท่านพ่อค้าจีนผู้นั้นเพิ่งจะได้สมรสกับพระราชวงศ์ผู้ทรงอำนาจพระองค์หนึ่ง มิตรจีนผู้นั้นได้รับคุณจิตไว้เป็นบุตรบุญธรรม คุณจิตจึงมิได้รับราชการ คุณจิตมีกิริยาอาการแปลกจากญาติของท่านบางประการ ท่านชอบพูดอังกฤษ สำเนียงเหมือนจีนในสิงคโปร์ เพราะท่านไปเรียนหนังสือที่นั่น หลังจากที่ต้องเนรเทศตนเองไปให้พ้นความพยาบาทของท่านพ่อตา ท่านพูดภาษามลายูได้ พูดภาษาฮกเกี้ยนได้ และอ่านหนังสือจีนได้บ้าง ท่านไม่ชอบนั่งบนพื้น และไม่ชอบให้ใครแสดงกิริยานอบน้อมต่อท่าน

ท่านไปอยู่สิงคโปร์ ๒-๓ ปี แล้วก็กลับมา พอดีภรรยาท่านก็เสียชีวิตไป เลยเป็นเหตุให้ท่านพ่อตาสงสารและอนุญาตให้เขาติดต่อกับญาติข้างภรรยาได้ ความผิดที่ได้ทำไว้เกิดเป็นประโยชน์แก่การค้าของบิดามารดาเลี้ยง และมิตรสหายเพื่อนพ่อค้าจีนได้อาศัยคุณจิตมาก ท่านจึงรุ่งเรืองในการค้าได้โดยสะดวก หลังจากที่ท่านได้เสียภรรยาคนแรกไปหลายปี ท่านจึงได้สมรสกับอาผู้หญิงของจันทิรา กรรณิการ์กับจันทิราจึงอยู่ในลักษณะเกี่ยวดองกัน เช่นเดียวกับวิทิตที่มีความเกี่ยวดองกับจันทิรา โดยทางคุณจิตผู้เป็นอาของเขา

กรรณิการ์กำลังขบปัญหาเกี่ยวกับจดหมายของวิทิตอยู่ เมื่อได้พบคุณลุงจิตผู้เคยชอบคุยชอบเล่าอะไรต่ออะไรให้หล่อนฟังมาตั้งแต่ก่อนสงครามแล้ว ก็คิดว่าได้โอกาสดีที่จะให้ท่านเป็นที่ปรึกษาของหล่อนบ้าง

“คุณลุงคะ” กรรณิการ์เริ่ม “กรรณถามอะไรหน่อยเถิดค่ะ ผู้ชายนี่เขารักผู้หญิงได้นานๆ ซื่อสัตย์ไปได้นาน ๆ โดยไม่ต้องพบกันเลยได้ไหมคะ?”

“เจ้าติ๊ดกับจันละซี” คุณลุงดักคอ “ลุงเคยว่าไว้แล้ว แต่ไม่รู้จะมีวิธีจัดการอย่างไร จะห้ามไม่ให้รู้กันก็ไม่ได้ พ่อแม่เขาก็เห็นดีด้วยกันทั้งนั้น เจ้าติ๊ดก็เด็กดี ได้ไปเมืองนอกเมืองนา กลับมาก็คงจะเป็นใหญ่เป็นโต แต่ไอ้เรื่องสงครามนี่เราก็รู้ ๆ กันอยู่ แต่ก็ต้องเสี่ยงให้ไป แต่ไอ้เรื่องที่เขาไม่ยอมไปอเมริกา เขาจะอยู่ของเขาที่อังกฤษนี่ เราอยู่ไกลก็ไม่รู้ว่าเขาจะมีเหตุผลอะไรของเขา”

“กรรณได้รับจดหมายจากพี่วิทิตเมื่อ ๒-๓ วันนี้เอง” กรรณิการ์บอก “เขาบอกว่า เขาเวลานี้เปรียบเหมือนคนอยู่หน้าเวที แล้วจะทิ้งที่นั่งเสียได้อย่างไร แปลว่าเขาอยากดูเหตุการณ์ของสงครามอย่างใกล้ชิดค่ะ แปลกไหมคะ”

“สำหรับผู้ชายก็ไม่แปลกดอกหลาน” คุณลุงตอบ “แต่เจ้าติ๊ดเขาว่าอังกฤษมีทางสู้หรือ?”

“เขาบอกว่าในอังกฤษไม่มีใครพูดเรื่องแพ้สักคนเดียวค่ะ” กรรณิการ์ตอบ “เขาว่ายิ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่นี่เข้ามารับตำแหน่ง คนอังกฤษยิ่งมั่นใจขึ้นอีก”

“ไอ้แก้วมันหัวเห็ด” คุณลุงว่า “แต่คราวนี้มันจะไม่รอดเสียกระมัง” แล้วท่านก็ถอนใจ ซึ่งกรรณิการ์รู้ดีว่าไม่ใช่เพราะวิตกเรื่องหลานชาย

อีก ๒-๓ วันต่อมา กรรณิการ์ก็พบกับน้องสาวของภรรยาเก่าของคุณลุงจิต ญาติผู้นี้เป็นอาจารย์เก่าของกรรณิการ์ตั้งแต่หล่อนอยู่โรงเรียนมัธยม และมีความคุ้นเคยสนิทสนมกันยิ่งกว่าญาติ หรือมิตรคนใดของกรรณิการ์

กรรณิการ์เรียกว่า คุณน้า ทั้งที่มิได้มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต

สุธิรามีความสัมพันธ์กับกรรณิการ์แปลกจากญาติมิตรอื่นใด เพราะหล่อนเป็นคนรับฟังเรื่องข้อสงสัยสนเท่ห์ของกรรณิการ์อีกต่อหนึ่ง

“แหม ดีใจจัง ได้พบคุณน้า” กรรณิการ์ทำความเคารพพลางรีบกล่าว “กำลังมีเรื่องข้องใจอยากปรึกษา” แล้วหล่อนก็เล่าเรื่องข้องใจของหล่อน

“เออ ถามเรื่องที่น้าตอบไม่ได้ ไม่เคยเป็นผู้ชาย” สุธิราตอบ “แต่ว่าเธอจะวิตกกังวลล่วงหน้าไปกระมัง”

“อดเป็นทุกข์ไปกับจันทิราไม่ได้ค่ะ” กรรณิการ์ตอบ “ทำไมผู้ชายช่างไม่เห็นใจผู้หญิงบ้างเลย”

“วิทิตเขาเล่าอะไรมาอีก?” สุธิราถาม “อังกฤษจะคิดสู้หรือ?”

“เขาบอกว่า” กรรณิการ์หัวเราะหึ ๆ พลางตอบ “เขาบอกว่า ถ้าใครถามคำถามนี้ให้ช่วยตอบด้วยว่า คนอังกฤษอาจจะแพ้ แต่ไม่เคยคิดจะไม่สู้เลย”

“พี่น้องน้าเขาว่ากันหลายคนว่าจะสู้ไปไม่ได้นาน” สุธิรากล่าว “วิทิตเขาคงรู้ เขาจึงไม่เห็นจำเป็นว่าจะหนีไปไหนกระมัง”

“สุ้มเสียงเขาไม่เป็นอย่างนั้นนี่คะ” กรรณิการ์ว่า “เขาไม่แสดงว่าสงครามจะเสร็จสิ้นเร็ว เขาว่าอีกประมาณ ๒ ปี อังกฤษก็จะตั้งตัวได้”

“ตายแล้ว” สุธิราอุทาน “๒ ปี จะอดตายเสียหมดก่อนกระมัง”

“คุณติ๊ดเขาว่าไม่อดค่ะ” กรรณิการ์ตอบไปอีก “เขาว่าอย่าฟังคำโฆษณาชวนเชื่อของแอกซิสนัก แล้วข้างฝ่ายศิริมา เขามีพี่ชายอยู่เยอรมัน พี่เขาก็ว่าเยอรมันต้องชนะเด็ดขาด และโดยเร็ว”

“น้าว่า เรื่องวิทิตเป็นเรื่องไม่น่าห่วง” สุธิราว่า “สำหรับเรานะ ไม่ใช่สำหรับจันทิรา คนเราจะตายอยู่ที่ไหนก็ตาย แต่ว่าเรื่องสงครามนี่ซิ ถ้าเยอรมันชนะ เราจะเป็นอย่างไร” แล้วสุธิราอีกผู้หนึ่งก็ทอดถอนใด.........

กรรณิการ์อยากรู้ว่า ในความเห็นของสุธิรานั้น คิดว่าเมืองไทยจะเป็นอย่างไรและทำไมจะต้องวิตก แต่หล่อนยังข้องใจเกี่ยวกับวิทิตไปอีกด้านหนึ่ง จึงพูดต่อไป

“เรื่องตายเป็นนั่นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ว่าเรื่องความรักนี่ซิคะ กรรณว่าจันทิราเขาเริ่มห่วงว่าติ๊ดยังรักเขาเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า กรรณเดานะคะ เขายังไม่ได้พูดออกมาอย่างนี้”

“เรื่องผู้ชายจะรักผู้หญิงเหมือนเดิมเรื่อยไปหรือเปล่า เป็นเรื่องที่ไม่ขึ้นกับสงครามหรือกับอะไร” สุธิราว่า “ถึงนั่งอยู่ในบ้านเดียวกันก็ห่วงเรื่องนี้อยู่เรื่อยไป”

เมื่อคุณแม่วิทิตพบกรรณิการ์ ท่านก็ปรารภด้วยควาหนักอกอย่างยิ่ง “แม่กรรณ เห็นพวกพี่ๆ น้องๆ เขาว่า พ่อติ๊ดเขียนจดหมายถึงแม่กรรณทีไรก็มักจะอธิบายอะไร ๆ ละเอียดดี เขาอธิบายเรื่องสงครามอย่างไรบ้าง เขาจะดื้ออยู่อังกฤษไปทำไม ช่างไม่เห็นใจแม่บ้างเลย”

กรรณิการ์ไม่กล้าเล่าสำนวนของวิทิตให้คุณป้าฟังยิ่งกว่าจันทิราเสียอีก ท่านคงยิ่งพิศวงกว่าใครหมดที่วิทิตจะอยากดูเหตุการณ์ที่ใกล้ต่อภัยอันตรายถึงเพียงนั้น แต่เคราะห์ดีที่ในขณะนั้นเกิดมีเชาวน์ไวพอที่จะกล่าวปลอบท่านว่า “คุณป้าคะ คนอังกฤษเขาอยู่กันได้ตั้งหลายล้านเขาก็ไม่ตาย และอเมริกันอยู่ในอเมริกาก็ตายเหมือนกัน แล้วก็ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไป ถ้าไปเรือแตกตายก็แย่เหมือนกัน พี่วิทิตคงคิดอย่างนั้นกระมังคะ”

คุณป้าจำนนต่อข้อแย้งของกรรณิการ์ก็นิ่งเงียบไปชั่วครู่ แล้วกรรณิการ์ก็เลยตัดสินใจว่า หล่อนจะไม่ให้ใครดูจดหมายที่วิทิตเขียนถึงหล่อน

เยอรมันมิได้โจมตีอังกฤษดังที่คนไทยโดยมากคาดไว้ จนล่วงเข้าฤดูหนาว เป็นอันเข้าใจกันว่าการรุกรานขึ้นเกาะอังกฤษจะยังไม่กระทำในปีเดียวกันนั้น คนโดยมากสันนิษฐานว่า คงจะเป็นเพราะเยอรมันต้องการจะเตรียมกำลังให้พรั่งพร้อม

ส่วนทางประเทศไทยเองก็มีการเคลื่อนไหว ในทางการเมืองระหว่างประเทศใหญ่โต คือการขอดินแดนคืนจากประเทศฝรั่งเศส ความสนใจของคนส่วนใหญ่มาจดจ่ออยู่ที่ข้อพิพาทใหญ่นี้ และก็อีกนั่นแหละ คนจำพวกเดียวกันกับที่ห่วงใยกลัวว่าฝ่ายประเทศแอกซิสหรือฝ่ายเผด็จการจะชนะ ก็ห่วงใยเพิ่มขึ้น และรู้สึกอลักเอลือเพิ่มขึ้น เพราะถ้าฝ่ายแอกซิสชนะ ประชาธิปไตยก็จะสูญสิ้นไป แต่ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยชนะ ประเทศไทยก็จะตกอยู่ในฐานะลำบากหนักหนา เพราะฝรั่งเศสคงจะพยาบาทประเทศไทย ในการปฏิบัติต่อฝรั่งเศสระหว่างที่กำลังอยู่ในฐานะคนล้ม เช่นที่ประเทศไทยกำลังปฏิบัติอยู่

คุณแม่ของกรรณิการ์ไม่พิจารณาเรื่องใดจากแง่ใด นอกไปจากแง่ธัมมะ ท่านปรารภว่า

“ถึงฝรั่งเศสอังกฤษจะแพ้แน่ แม่ก็ว่าไม่ดี เพราะถ้าเขามีอำนาจอยู่ เราก็ไม่กล้าอย่างนี้ แล้วนี้ก็ยังไม่แน่นอนด้วยซ้ำไป เผื่อเขาเกิดไม่แพ้ เขากลายเป็นฝ่ายชนะ หรือเขาตกลงกันได้ ไม่มีใครแพ้ชนะ เขาจะเห็นว่าเราดีหรือ”

คุณพ่อว่า “เป็นผู้หญิงยิงเรือ อย่าไปยุ่งกับการบ้านการเมืองเลย ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเราหรอก”

“เวลาบ้านเมืองลำบากน่ะ ไม่ใช่ผู้ชายลำบากแต่คนเดียวนี่” คุณแม่แย้ง “ผู้หญิงลำบากยิ่งกว่าอีก เพราะต้องอุ้มลูกจูงหลาน จะไม่ให้ห่วงอย่างไร”

“เยอรมันต้องชนะแน่” คุณพ่อมั่นใจ “แล้วไอ้ฝรั่งเศสนะ อย่าเผยออีกเลย”

พอคุณป้าสังเวียนได้ยินคุณพ่อพูดอย่างนี้ ท่านก็ยิ่งเป็นทุกข์ถึงวิทิตมากขึ้น แต่ก็ไม่มีใครมีอำนาจจะทำให้วิทิตเบลี่ยนความคิดได้ คุณพ่อได้พยายามช่วยวิ่งเต้นให้ทางราชการสั่งย้ายวิทิต แต่ได้รับคำตอบว่าในขณะนี้การอพยพจากอังกฤษทำได้ยากยิ่ง เพราะไม่มีใครประกันความปลอดภัยจากเรือใต้น้ำ และภัยอันตรายอย่างอื่น โดยเฉพาะเมื่อเจ้าตัวคนที่อยู่อังกฤษไม่ร่วมมือ ทางฝ่ายกระทรวงการเดินเรืออังกฤษจะสนใจให้ความปลอดภัยแก่ผู้ที่เขาจำเป็นต้องอพยพ และอนุญาตให้คนเดินทางโดยเรือไปจากอังกฤษเฉพาะที่จำเป็นอย่างยิ่งก่อนเท่านั้น

จันทิรามีความทุกข์เป็นสองเท่าคนอื่นที่มีความเอาใจใส่ในโชคชาตาของวิทิต นอกจากจะเป็นห่วงถึงเขาว่าเขาจะปลอดภัยหรือไม่แล้ว หล่อนยังเริ่มหวั่นไหวในเรื่องความมั่นคงต่อความรักด้วย

“เดี๋ยวนี้ฉันเขียนจดหมายถึงเขา ๓ ฉบับ เขาถึงจะตอบสักฉบับหนึ่ง” จันทิราปรับทุกข์แก่กรรณิการ์ “เขาเขียนถึงเธอบ้างไหม?”

“ที่จริงถ้าฉันเขียนไปถึงเขาทีไร เขาก็ตอบทุกที” กรรณิการ์ตอบโดยซื่อ “แต่ฉันรู้ดีว่า ถ้าฉันเขียนไปถึงเขาอีก เขาคงไม่ตอบ”

“เพราะเหตุใด?” จันทิราซัก

“เพราะเขาคงไม่มีเวลามานั่งตอบจดหมายพี่ๆ น้องๆ ทุกคน ญาติมากจะตาย ราวกับวงศ์ทศกรรฐ์”

“คุณป้าท่านว่า เขาเขียนจดหมายถึงท่านสั้นกะจิ๊ดเดียว” จันทิราเล่า “เหมือนไม่เต็มใจเขียน”

“นั่นน่ะซิ เขาไม่มีเวลา” กรรณิการ์ว่า

“อยากรู้นัก” จันทิราปรับทุกข์ต่อไป “เขาไม่คิดว่าเราเป็นห่วงจะตายหรือไรนา ฉันชักจะเบื่อเสียแล้วมานั่งห่วง ห่วง ห่วง”

กรรณิการ์ไม่รู้จะแนะนำอย่างไร เพราะหล่อนไม่เคยได้ประสบความทุกข์อย่างจันทิรา

วันคืนล่วงไป ครั้นแล้วมหาภัยอันร้ายยิ่งก็มาสู่ประเทศไทย คือสงครามมหาเอเซียบูรพา ชีวิตของคนโดยทั้งหลายก็ประสบความเปลี่ยนแปลงเกินความคาดฝัน หมู่ญาติมิตรของวิทิตก็ได้รับความกระทบกระเทือนเยี่ยงคนไทยทั่วไป

เริ่มด้วยคุณจิต พอกองทัพญี่ปุ่นเข้าประเทศไทย คุณจิตก็หายไปจากหมู่ญาติมิตรเป็นเวลาหลายเดือน ในที่สุดก็กลับมา แต่คุณจิตจำเป็นต้องเลิกกิจการค้าทั้งสิ้น เพราะคุณจิตมีอาชีพเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกับฝรั่ง เมื่อฝรั่งหมดไปจากประเทศไทยคุณจิตก็หมดอาชีพ แต่ในเวลาต่อมาภายหลังคุณจิตก็กลับร่ำรวยขึ้นอีก โดยทางการซื้อขายที่ดิน

กรรณิการ์และจันทิราทั้งสองคนก็ไม่มีอะไรจะทำ เพราะมหาวิทยาลัยปิด จันทิราเพิ่มความกลุ้มใจเป็นทวีคูณ เพราะไม่มีอะไรจะทำนอกจากเป็นห่วงวิทิต และมีความอาลัยยิ่งขึ้น เพราะแม้การติดต่อทางจดหมายก็ตัดไปหมด จันทิรานอนอ่านจดหมายฉบับสุดท้ายของวิทิตอยู่หลายวัน เผอิญเป็นจดหมายฉบับต้นที่สุด ใจความมีว่า เขากำลังขะมักเขมันกับการเรียน เพราะไม่รู้ว่าการสอนจะดำเนินไปได้อีกสักกี่มากน้อย และขออย่าให้จันทิราเป็นห่วงเขาในเรื่องใด และขอให้บอกญาติมิตรทุกคนว่าอย่าเป็นห่วง

กรรณิการ์ได้เอาจดหมายฉบับสุดท้ายของวิทิตออกมาอ่านเหมือนกัน ภายหลังจากที่เหตุการณ์อลเวงในระยะแรกของสงครามยุโรปค่อยสงบลงแล้ว เมื่อเป็นที่แน่ว่าเยอรมันจะยังไม่บุกเกาะอังกฤษในปีเดียวกับที่บุกประเทศในภาคพื้นทวีปยุโรป กรรณิการ์ได้มีจดหมายไปยังลูกผู้พี่ของหล่อนอีกครั้งหนึ่ง และประมาณเดือนพฤศจิกายนก็ได้รับตอบ ในจดหมายนั้นวิทิตเขียนมาว่า

“ฉันพูดจนเบื่อพูดแล้วว่า ขออย่าห่วงกันไปนักเลย ถ้าไปอเมริกาจะไม่มีวันตายหรืออย่างไร และที่เธอเลียบเคียงถามมาว่า ฉันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างหรือเปล่า ฉันเข้าใจว่าเธอหมายถึงเรื่องฉันกับคุณจันใช่ไหม ขอเธออย่าวิตกเลยในเรื่องนั้น ทำไม เขาแสดงความไม่ไว้วางใจหรือ ฉันไม่เข้าใจเลย ดูเหมือนจะเป็นกีฬาอย่างหนึ่งของผู้หญิงไทย เรื่องคอยถามอยู่เรื่อยไปว่า ‘ยังรักฉันอยู่หรือเปล่า ๆ’ ถ้าฉันจะถามไปบ้าง เขาจะโกรธไหม บางทีฉันอยากถามไปว่า คุณจันคงกำลังอยากเปลี่ยนใจกระมัง จึงได้คอยถามฉันอยู่เรื่อย แต่ฉันคิดว่าฉันไม่ควรถามฉันจึงไม่ถามไป แล้วเธอก็เลียบเคียงมาอีก ถ้าผู้หญิงอยากได้เสรีภาพฉันไม่ผูกมัดเขาดอก คนอังกฤษเขาไม่ทำกันอย่างนั้น เสรีภาพเป็นสมบัติล้ำค่า ต้องสู้รบสละเลือดเนื้อหามา และต้องสละเลือดเนื้อรักษาไว้ ในอังกฤษเวลานี้คนพูดอยู่คำเดียว ต้องยอมสละทุกอย่างเพื่อรักษาเสรีภาพไว้ให้แก่โลก ถ้าคุณจันเขาอยากให้ฉันให้เสรีภาพแก่เขา ถึงแม้ว่าเราเพียงแต่ให้วาจาสัตย์แก่กัน ฉันก็จะปลดปล่อยเขาจากพันธะนั้นทันที

เรื่องสงครามนั้น เธอก็อย่าห่วงเหมือนกัน เรื่องตายนั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง ชาติที่ชนะไม่ตายอย่างนั้นหรือ ในอังกฤษนี้คนตายด้วยอุบัติเหตุเกือบทุกวัน ไม่เกี่ยวกับสงครามเลย ที่ถูกบอมบ์ตายก็มี แต่ก็ไม่ใช่ตายไปหมด ถ้าเธอมาอยู่ที่นี่ เธอจะได้เห็นความทรหดอดทนของเขา ความมีระเบียบวินัยและSense of humour ซึ่งฉันเรียกไม่ถูกเป็นภาษาไทย ขอโทษด้วย ฉันจำได้ว่าเธอเคยหมั่นไส้คนไม่รู้ภาษาไทย เวลาเขียนจดหมายถึงเธอ ฉันพยายามอย่างยิ่งที่จะเขียนให้ดี และขอบใจที่เธอไม่เอาจดหมายที่ฉันเขียนถึงเธอไปให้พี่ ๆ น้อง ๆ อ่าน ฉันเกือบลืมไปแล้วว่า การไม่เก็บรักษาอะไรไว้เป็นเรื่องเฉพาะตัว เป็นนิสัยประจำชาติเรา เฉพาะฉบับนี้ฉันตั้งใจจะตอบเธอเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นถ้าเธอคงรักษาไว้เป็นเรื่องเฉพาะได้ก็ดี อย่าเกิดเปลี่ยนหลักการเสียตอนนี้เลย ความลำบากทั้งหลายของเกาะอังกฤษนั้น ฉันถือเสียว่าเป็นเรื่องธรรมดาของประเทศที่มีสงคราม ฉันมองดูคนอังกฤษแล้ว ก็รู้สึกว่าอยากทำอะไรให้เขาบ้างจริง เรายังโชคดีเหลือเกินที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ได้ ผู้ชายหนุ่มของเขาก็เป็นทหารกันเกือบหมด”

อนิจจา จันทิรา อนิจจาลูกผู้หญิง กรรณิการ์ปรารภอยู่กับตัวเองคนเดียว ความรักของวิทิตกับจันทิราจะยั่งยืนแข็งต่อมหาภัย ต่อความพลัดพราก ต่อความเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อมได้ตลอดไปหรือไม่หนอ แล้วก็อดหวนนึกไปไม่ได้ถึงบ้านเมือง อนิจจา ประเทศไทย เวลานี้ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะอะไรหนอ “มีเกลือกินเกลือ” ท่านนายกรัฐมนตรีท่านได้กล่าวในคำปราศรัยแก่ประชาชนในคืนวันที่ไทยได้ยินยอมให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจะต้องชนะส่งครามแน่ ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องพ่ายแพ้แน่แล้ว ไม่มีอะไรจะสงสัยต่อไป นาวิกาภาพของอังกฤษซึ่งเป็นความหวังชิ้นสุดท้ายก็ยับเยินพินาศไปแล้ว ภายในเวลาไม่ถึงเดือนที่ญี่ปุ่นเริ่มแสดงแสนยานุภาพของอาทิตย์อุทัย

“ไอ้ฉิบหายตายโหง” คุณหลวงอนุมัติ ฯ บิดาของจันทิรากระซิบกับกรรณิการ์ เมื่อหล่อนไปเยี่ยมท่านที่บ้านของท่าน หลังจากที่เหตุการณ์สงบเรียบร้อยลงพอสมควรที่ญาติพี่น้องจะแสดงมารยาทของผู้ดีต่อกันได้ต่อไป “ไอ้พวกฉิบหายอย่าพูดให้ใครฟังนะหลานนะ ที่บ้านนี้มีน้าเป็นคนนอกคอกอยู่คนเดียว หาคนมีความคิดไม่ได้สักคน ยายหนูก็ดีแต่ห่วงพ่อวิทิตเท่านั้น ถ้าพ่อวิทิตไปเยอรมันไม่ไปอังกฤษ ป่านนี้เขาคงลิงโลดกันทั้งบ้าน”

“คุณน้าว่า ต่อไปจะเป็นอย่างไรกันคะนี่” กรรณิการ์กระซิบถามท่านบ้าง ท่านกับหล่อนนั่งอยู่ที่ระเบียงไกลจากหมู่ญาติอื่น

“น้าว่ามันจะฉิบหายกันใหญ่” คุณหลวงตอบ ไอ้ญี่ปุ่นใครจะไปไว้ใจมันได้ ถ้ามันชนะเราก็ต้องเป็นขี้ข้ามันไม่มีปัญหา มันพวกเดียวกันทั้งนั้น ไอ้พวกจอมบงการ ไอ้พวกจิตใจรักอำนาจ ไอ้พวกใช้ภาษาคนไม่เป็น ใช้ได้แต่มีดอีโต้

“คุณน้าว่ามีหวังที่อังกฤษจะกลับชนะไหมคะ?” กรรณิการ์ถามอีก

“ไอ้พวกเวรมันไปแหย่รังแตน หลานนึกหรือว่าอเมริกาจะยอมแพ้” คุณหลวงตอบ “แล้วถ้าอเมริกาไม่แพ้อังกฤษก็กลับต้องชนะ แล้วก็รัสเซียอีก เยอรมันยังเอาชนะรัสเซียไม่ได้ ญี่ปุ่นจะรบอเมริกาคนเดียวจะไหวหรือ ไอ้พวกเรามันพาเราไปฉิบหายวันยังค่ำ”

วันคืนล่วงไป ๆ เหตุการณ์ไม่ได้ช่วยทำให้ฝ่ายที่เอาใจช่วยฝ่ายประชาธิปไตยมีหวังขึ้นเลย สิงคโปร์แตกแล้ว ย่างกุ้งก็แตกแล้ว ญี่ปุ่นครอบครองฟิลิบปินส์ได้เกือบหมด เข้าครอบครองพม่าได้ อังกฤษถอยไปพ้นพม่า อเมริกันก็ถอยไปจากฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่นเป็นเจ้าแปซิฟิค และเป็นเจ้าอาเซียอาคเนย์

ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา แต่ขณะเดียวกันก็มีข่าวมาว่า คนไทยในอเมริกาได้รวบรวมกันตั้งเป็นคณะต่อต้านญี่ปุ่นในนามของประชาชนไทยและเรียกคณะของตนว่า คณะเสรีไทย

ประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา กับอังกฤษได้ตกลงแลกเชลยพลเรือนกัน พอมีข่าวมาถึงกลุ่มญาติมิตรของกรรณิการ์ ทุกคนก็ตั้งตาคอยว่าวิทิตจะกลับมาสู่บ้านเกิดเมืองนอน มาให้มารดาหม้ายหายวิตกกังกล และมาให้เป็นที่ชื่นใจของคู่รัก

แต่ทุกคนผิดหวัง เพราะวิทิตไม่กลับมา ญาติคนหนึ่งที่ไปศึกษาที่อังกฤษพร้อม ๆ กันกลับมา และได้รับฝากจดหมายมาจากวิทิต ซึ่งเขาเล่าว่า ได้อุตส่าห์แอบซ่อนเอามาอย่างลำบาก จดหมายของวิทิตมีมาถึงคุณสังเวียนคนเดียว ไม่มีถึงจันทิรา แต่เขาสั่งมาถึงหล่อนในจดหมายนั้น

วิทิตกราบมายังมารดา วิงวอนขอให้ท่านอภัยให้เขาในการที่ไม่ห่วงท่าน แต่ทั้งนี้เขาก็ได้พิจารณาแล้วว่าเขาไม่ใช่ลูกคนเดียวของท่าน เขาขอโทษจันทิราที่ไม่สามารถเขียนจดหมายถึงหล่อน เพราะไม่แน่ใจว่าจะถึงมือหล่อนหรือไม่ และเขาไม่ต้องการให้จดหมายของเขาถึงหล่อนตกไปอยู่ในมือผู้ใด เขาขออยู่ทำหน้าที่ลูกผู้ชายให้แก่บ้านเมือง เวลานี้ฝ่ายประชาธิปไตยหมดความสงสัยแล้ว ในเรื่องชัยชนะ เพราะสหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมสงครามแล้ว ทรัพยากรและแสนยานุภาพของอเมริกากลายมาเป็นกำลังมหึมาของฝ่ายประชาธิปไตยแล้ว

ญาติหนุ่มผู้นั้นได้มาหาจันทิรา และบอกกับหล่อนด้วยวาจาว่าวิทิตมีความห่วงใยในหล่อนมาก และวิทิตได้สั่งมาถึงจันทิราและกรรณิการ์ด้วยว่า เขาหวังว่าคู่รักและญาติที่รักจะเข้าใจดีในการที่เขาตัดสินใจไม่กลับมา

จันทิราไม่สนใจในปัญหาชัยชนะหรือแพ้ของฝ่ายประชาธิปไตยหรือของใคร หล่อนซบหน้าลงสะอื้นถี่แทบจะหมดลมหายใจ หล่อนร้องไห้ด้วยความผิดหวัง ด้วยความเคืองแค้น ด้วยความอาลัยใฝ่ถึง

“จะต้องมาพูดทำไม จะต้องสั่งมาทำไม” หล่อนกล่าวแก่กรรณิการ์ เมื่อญาติหนุ่มนั้นลาไปแล้ว “จะต้องมาสั่งว่าอย่างไรอีกเมื่อตัวไม่กลับบ้าน ฉันเป็นคนบ้ารึ ฉันเป็นคนไม่มีความรู้สึกรึ ฉันเป็นพระอรหันต์รึ จะได้มานั่งคอยสงครามเลิก คอยเป็นปีๆ คอยชะเง้อว่าพ่อเจ้าประคุณเมื่อไหร่จะกลับมา แล้วถ้าญี่ปุ่นชนะ ก็แปลว่าไม่ต้องพบกันอีกละชาตินี้ อย่างนี้รึเรียกว่ารักกัน”

“เธอทำใจเย็น ๆ ไม่ได้รึ” กรรณิการ์ปลอบ “ใครจะรู้ ก็คุณพ่อของเธอเองก็แน่ใจว่าฝ่ายอังกฤษจะเป็นฝ่ายชนะ” กรรณิการ์ลืมเก็บความลับด้วยความที่ตั้งใจจะปลอบเพื่อน

“เอ๊อ ไปฟังอะไรกับคุณพ่อ คุณพ่อเกลียดรัฐบาลในเมืองไทยนี่ และท่านก็เลยเกลียดพวกเยอรมัน พวกญี่ปุ่นไปด้วย” แล้วจันทิราก็เริ่มร้องไห้อีก

กรรณิการ์พยายามที่สุดที่จะหาทางปลอบเพื่อน แต่ไม่สามารถทำให้จันทิราใจชื้นขึ้นได้ จนกระทั่งจันทิราเหนื่อยและเบื่อกับการปริเทวนาของตนเองก็ละไปจากกรรณิการ์

กรรณิการ์ออกจากบ้านจันทิรา ในวันนั้นก็ตรงไปหาสุธิรา ครูและญาติผู้ใหญ่และมิตรร่วมใจของหล่อน บังเอิญในวันนั้นคุณลุงจิตก็ไปเยี่ยมสุธิราด้วย เมื่อกระทำความเคารพและทักทายตามประเพณีแล้ว หล่อนก็เริ่มขึ้นว่า

“คุณลุงกับคุณน้าทราบว่าคุณติ๊ดเขาไม่กลับมาแล้วใช่ไหมคะ แหม จันทิราเขาร้องไห้เสียหลานแทบร้องไปด้วย”

เมื่อญาติผู้ใหญ่ไม่ออกความเห็นว่าอย่างไร หล่อนก็กล่าวต่อไป “คุณลุงคะ คุณลุงเป็นผู้ชาย ผู้ชายนี่เขารักผู้หญิงโดยเขาไม่คิดถึง ไม่ต้องพบได้นาน ๆ ไหมคะ พี่วิทิตไม่กลับมา เพราะเขาเห็นแก่บ้านเมือง เขามีหวังจะกู้ชาติจริง หรือว่าเขาไม่อยากกลับมาหาจันทิรา เขาไม่รักพอที่จะกลับมา”

“แหม ผู้หญิงนี่บ้าแท้ ๆ” คุณลุงจิตว่า “เรื่องอะไรขี้ปะติ๋ว บ้านเมืองจะเป็นขี้ข้าเขาไม่ห่วง มาห่วงเรื่องเจ้าวิทิตรักจริง ไม่รักจริง”

“ไม่ใช่ค่ะ คุณลุง กรรณอยากรู้ธรรมชาติผู้ชายน่ะค่ะ” กรรณิการ์แก้ “เรื่องบ้านเมืองก็ห่วงค่ะ แต่ตอนนี้มันก็ทำอะไรไม่ได้นี่คะ”

“เรื่องผู้ชายจะรักจริงหรือไม่จริงไม่มีใครรู้ได้หรอกหนู” คุณจิตตอบ “ตัวเจ้าติ๊ดเองมันก็บอกไม่ได้ ผู้ชายมันรักจริงเวลามันอยู่ตรงหน้าผู้หญิงนั่นแหละ เวลานั้นมันรักแน่นอนเหลือเกิน”

“แหม คุณลุงพูดอย่างนี้ใจฝ่อหมดนะคะคุณน้า” กรรณิการ์หันไปเอาสุธิราเป็นพรรคพวก “แล้วนี่จะทำอย่างไรกัน จันทิราแกจะทำยังไง”

“เกิดมาเป็นผู้หญิง มันก็ขาดทุนวันยังค่ำ” สุธิราตอบ “ไม่คอยเขาก็ว่าเป็นคนไม่ดี คอยไป ๆ ก็อาจเก้อก็ได้ น้าก็สงสารแก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร”

“โธ่ อยากให้ใครรับรองสักคน ว่าผู้ชายที่ซื่อสัตย์ก็มี” กรรณิการ์รำพึงดังๆ

“คนรับรองมันก็คนบ้านั่นแหละ” คุณจิตตอบ “แต่สำหรับเรื่องรักชาติน่ะ ลุงรับรองได้ว่าผู้ชายรักชาติจริง ๆ มี และไม่เกี่ยวกับเรื่องผู้หญิง”

จันทิราซูบผอมไปจากเดิมมาก นับตั้งแต่วิทิตไม่ได้กลับมาพร้อมกับเชลยพลเรือนไทย แล้วเหตุการณ์ทางสงครามก็ค่อยคลายไป ระหว่างที่ประเทศไทยดำเนินกิจการอันน่าพิศวงสงสัย เช่นมีการเปลี่ยนแปลงประเพณีแต่งตัวผู้หญิง ประเพณีสมรส มีการห้ามไม่ให้กินหมากและมีธรรมเนียมอื่น ๆ เกิดขึ้นตามรัฐนิยม งานต่อต้านแสนยานุภาพของฝ่ายอักษะประเทศก็ดำเนินไป ในเดือนตุลาคม ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ นั้น วิถีทางของสงครามก็ขึ้นถึงจุดยอดอันเป็นหัวเลี้ยว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ