ต่อจากนั้นมาประมาณหนึ่งเดือน ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในวงศ์ญาติมิตรของกรรณิการ์อย่างที่ไม่มีการคาดหมายล่วงหน้าไว้ ยังความพิศวงสนเท่ห์ให้แก่ญาติมิตรส่วนมาก และความพิศวงสนเท่ห์ก็ย่อมเป็นเชื้อทำให้เกิดความตื่นเต้นเร่าร้อนทั่วไป

น้องสาวของสุธิรา ชื่อจริงว่าสุภัทรา ชื่อเรียกกันในหมู่ญาติมิตรว่า คุณเต่า ซึ่งมีอายุย่างเข้า ๓๕ ปี ได้แถลงแจ้งความจำนงของหล่อนว่าจะแต่งงานกับชายพ่อหม้ายเมียร้าง มีลูกติดสามคน ชื่อปรีชา พรรณเกตุ มีอาชีพเป็นครูสอนวิชาคำนวณในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง

กรรณิการ์ทราบเรื่องจากสุธิราก่อนคนอื่น แต่ไม่ได้เล่าต่อไปให้ญาติผู้ใดฟัง จึงต้องเป็นผู้รับฟังข่าวจากญาติอื่น ๆ หลายคน

“พี่กรรณ รู้แล้วหรือยัง?” นิสามากระซิบส่งข่าวในคืนวันอังคารวันหนึ่ง ที่กรรณิการ์ไปพบหล่อนที่งานศพ เพราะในคืนวันอังคารย่อมมีญาติมิตรของตระกูลของท่านเจ้าคุณมาประกอบการกุศลเป็นทักษิณานุปทานอยู่เสมอ เพราะท่านผู้ตายสิ้นชีวิตในวันพุธ และกรรณิการ์ก็ไปที่บ้านที่ไว้ศพเกือบทุกวันอังคาร ถ้าไม่มีธุระสำคัญมาขัดขวาง

“รู้อะไร?” กรรณิการ์ถามที่เดาได้ว่าจะเป็นเรื่องอะไรจากน้ำเสียงและอาการกิริยาของนิสา

“เรื่องของเต่าน่ะ จะแต่งงานกับอีตาอาจารย์ปรีชา โธ่ ทุเรศจะตาย”

เมื่อญาติผู้มีอาวุโสกว่านิ่งเสีย นิสาก็ชักเคือง “พี่กรรณว่าดีหรือ?”

“พี่ไม่รู้หรอก” กรรณิการ์ตอบ “คุณเต่าเธอเป็นผู้ใหญ่กว่าพี่เป็นกอง”

“คุณยายหญิงบอกว่าเป็นตายไม่ยอม” นิสาเล่าต่อไป คุณยายหญิงคือมารดาของสุภัทรา กรรณิการ์นิ่งอีก นิสาขัดใจจึงไม่ต่อการสนทนาแล้ว ก็หาโอกาสลุกไปจากกรรณิการ์

อีกไม่ถึงครึ่งชั่วโมงต่อมา วิภาก็มากระซิบกับกรรณิการ์อีก

“พี่กรรณรู้แล้วใช่ไหม คุณเต่าจะแต่งงานกับอาจารย์ปรีชา”

“รู้แล้ว” กรรณิการ์ตอบสั้น ๆ

“คุณน้ากลางว่าอย่างไรบ้าง เขาว่าคุณยายหญิงไม่ยอม” วิภาถาม ‘คุณน้ากลาง’ คือสุธิรา

สุธิราได้บอกทรรศนะของตนแก่กรรณิการ์อย่างแจ่มแจ้งพอสมควร แต่กรรณิการ์ไม่เห็นว่าหล่อนมีหน้าที่อะไร จะประกาศทรรศนะของสุธิรา จึงว่า “ไม่เห็นว่าอย่างไรกี่มากน้อย”

“คุณน้ากลางจะช่วยคุณเต่าไหม?” วิภาถามต่อไป

“คุณน้ากลางไม่ได้บอกพี่ว่าจะช่วยหรือไม่ช่วย” กรรณิการ์ตอบ

วิภาผิดหวังที่ไม่ได้รับการสนเทศจากกรรณิการ์จึงเลี่ยงไปอีกรายหนึ่ง

ที่บ้านวิทิตก็มีการอภิปรายกันเรื่องนี้อีก คุณนายถมยาภรรยาคุณจิตได้มาหาคุณสังเวียน และชวนกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่นาน ซึ่งวิภาได้เล่าให้วิทิตฟัง

เมื่อแอนน์พบกรรณิการ์ที่เรือนของหล่อน วันหนึ่งในระยะใกล้ ๆ กันนั้น หล่อนก็ถาม

“กรรณิการ์ ช่วยอธิบายให้ฉันฟังหน่อยได้ไหม ทำไมทุกคนจึงตื่นเต้นกับเรื่องนี้นัก?”

กรรณิการ์อึกอัก เพราะถ้าพูดไทย แอนน์ก็คงไม่เข้าใจตลอดได้ง่าย ครั้นจะพูดอังกฤษหล่อนก็ไม่แน่ใจในความสามารถทางภาษาของหล่อน

“ทำไมไม่ถามวิทิต?” กรรณิการ์ว่า

“ถามแล้ว เขาบอกว่า ผู้หญิงเป็นบ้าเหมือนกันทุกประเทศ” แอนน์ตอบ “แต่ฉันไม่อยากฟังคำตอบอย่างนั้น ฉันอยากเข้าใจจริง ๆ มีอะไรเกี่ยวกับธรรมเนียมไทยใช่ไหม?”

กรรณิการ์ชำเลืองดูวิภาซึ่งนั่งร่วมอยู่ด้วย และยังไม่ทันที่กรรณิการ์จะตอบว่าอย่างไร วิภาก็ชิงพูดว่า

“คุณสุภัทราอายุ ๓๕ แล้ว”

“แล้วอย่างไร?” แอนน์ซัก

“ก็ไม่ควรจะแต่งงาน” วิภาตอบ

“เพราะอายุ ๓๕ หรือเพราะผู้ชายไม่เหมาะสม?” แอนน์ถามต่อไป

“ทั้งสองอย่าง” วิภาตอบ

“เขาไม่เหมาะสมอย่างไร?” แอนน์ตั้งกระทู้ต่อไป

“เขาเป็นใครมาก็ไม่รู้ ไม่เห็นจะมีฐานะอะไรน่าอายจะตาย” วิภาว่า

“เขาเป็นครูโรงเรียนไม่ใช่รึ? ครูโรงเรียนมัธยม” แอนน์ถามต่อไปอีก

“ก็ไม่เห็นจะดีอย่างไร ลูกก็ตั้ง ๓ คน” วิภาอธิบายต่ออีก

“ถ้าเผื่อเขารักกัน” แอนน์ยังไม่ยอมจำนน

“รักอะไรกัน” วิภาเถียงเสียงแข็งขึ้น “คุณเต่าอายุ ๓๕ แล้ว แล้วก็ทึ่ม ๆ ไม่เคยสวยหรืออะไรเลย”

“โอ้” แอนน์อุทาน “ถ้าเช่นนั้นทุกคนก็โง่มาก”

วิภาสะบัดหน้า “พี่แอนน์ไม่รู้ธรรมเนียมไทย” หล่อนว่า

“ไม่รู้จริง ๆ” แอนน์ตอบ “ทำไมติ๊ดกับกรรณิการ์ไม่ช่วยอธิบาย” หล่อนพ้อ

วิทิตหัวเราะหึ ๆ อย่างไม่แยแส แต่กรรณิการ์อัดใจมาก โดยเฉพาะหล่อนรู้ว่าวิภาไม่พอใจ และคงจะเล่าถึงการสนทนานี้ต่อไปให้ญาติทั้งหลายฟัง หล่อนตอบอย่างอึกอักว่าหล่อนอธิบายไม่ถูก และกรรณิการ์ยินดีมากที่แอนน์รอจนวิภาออกไปจากที่สนทนา แล้วจึงถามว่า

“สุธิราว่าอย่างไร เขาจะสนับสนุนน้องเขาไหม?”

กรรณิการ์สั่นศีรษะ “สุธิราไม่เห็นด้วย”

หล่อนบอกเป็นภาษาอังกฤษ

“เพราะสุภัทราอายุ ๓๕ หรือเพราะผู้ชายไม่ดีพอ?” แอนน์ซักอีก

“ถ้าผู้ชายดีกว่านี้ คือมีตระกูลดีกว่านี้ หรือพวกเราเคยรู้จักมา อายุ ๓๕ อาจไม่เป็นไร แต่ต้องดีมาก ๆ” กรรณิการ์พูดทั้งภาษาอังกฤษภาษาไทย โดยวิทิตช่วยต่อศัพท์และสำนวนบางคำให้

“ฉันผิดหวังสุธิรามาก ถ้าเช่นนั้น” แอนน์ว่า ทำเสียงละห้อย

วิทิตว่า “ฉันว่าแล้ว พวกผู้หญิงเป็นบ้าทั้งนั้น ทั้งอังกฤษและไทย”

แอนน์ถามกรรณิการ์ว่า ตัวหล่อนเองมีความคิดอย่างไร กรรณิการ์ตอบว่ายังไม่รู้ แท้ที่จริงหล่อนไม่มีเวลาจะคิดเรื่องการสมรสของสุภัทรา เพราะหล่อนกำลังกังวลในเรื่องที่วิทิตกับคุณสังเวียนจะต้องผิดใจกันเรื่องสมบัติของบิดาของเขามากกว่า

พอคุณจิตกลับมาจากต่างจังหวัด ก็ได้รับทราบเรื่องทั้งหลายจากภรรยา รวมทั้งเรื่องที่วิทิตมีความสนใจในทรัพย์สมบัติของครอบครัวด้วย ดังนั้นเมื่อวิทิตไปหาเพื่อปรึกษา ท่านก็เตรียมคำตอบไว้พร้อมแล้ว

“อาว่าให้อดใจเอาก่อนเถิด หลานเอ๋ย” ท่านว่า “เรื่องอย่างนี้ พูดกับคุณแม่ ดีไม่ดีจะทำให้ท่านเสียใจมากไป อาจะค่อย ๆ ถามให้รู้เรื่อง แต่ต้องรอจังหวะดี ๆ”

ส่วนแอนน์ยังสนใจกับเรื่องของสุภัทรามาก จึงนำไปสนทนาซักถามบรรโลมเมื่อมีโอกาส

“บรรโลมคิดอย่างไรในเรื่องนี้?” แอนน์ถาม

“ไม่คิดอะไรทั้งนั้น” บรรโลมตอบ “เพราะไม่ใช่ธุระของฉัน”

“ฉันหมายถึงว่า มีประเพณีอะไร มีตาบูอะไรหรือ ฉันอยากเข้าใจ” แอนน์อธิบายความรู้สึกของหล่อน “ทำไมวิภาจึงว่าน่าอาย อะไรที่น่าอาย?”

บรรโลมหัวเราะ “ทำไม แอนน์ แปลกใจอะไร สำหรับวิภา คนอายุ ๓๕ เปรียบเหมือนคนจวนจะตายแล้ว”

“หมายความว่า วิภาเห็นสุภัทราแก่เกินที่จะมีความรักแล้วใช่ไหม?”

“ก็คงอย่างนั้น” บรรโลมตอบ

“แต่เขาไม่บอกอย่างนั้น” แอนน์ว่า “เขาบอกว่าผู้ชายฐานะไม่ดี”

“อ๋อ สำหรับสุภัทราเป็นคนมีตระกูลสูงในสายตาของคนไทย เหมือนกับลูกสาวท่านเอิร์ลในประเทศอังกฤษ จะไปแต่งงานกับครูโรงเรียนมัธยมคนหนึ่ง”

“ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ใช่ปัญหาเรื่องอายุ” แอนน์ยังคงสงสัย “ถ้าเช่นนั้นก็เป็นปัญหาเรื่องตระกูล”

“สองปัญหารวมกัน” บรรโลมว่า “ถ้าเป็นคนอายุน้อย ๆ เขายอมอภัยให้ในความอ่อนต่อโลก”

“ตรงกันข้าม เมื่ออายุมากแล้วเขารู้จักตัวเองแล้ว เขารักษาตัวของเขาได้” แอนน์ออกความเห็น “นอกจากนั้น ฉันแปลกใจที่สุธิรา ซึ่งฉันคิดว่าเป็นคนได้รับการศึกษาดีคนหนึ่ง ก็ไม่พอใจ”

“คนอย่างเราเข้าใจคนที่เกิดมาอย่างสุธิรายาก แอนน์” บรรโลมว่า “สุธิราเป็นคนตระกูลสูง”

แอนน์ไม่ได้เล่าให้บรรโลมฟังว่า มารดาหล่อนเป็นลูกสาวคนมีตระกูลในอังกฤษ และได้ทำการสมรสกับบิดาของหล่อนซึ่งเป็นคนชั้นกลาง และได้รับความสุขตลอดมา แต่หล่อนกล่าวว่า

“ฉันพอเห็นอะไรราง ๆ แล้วละ แต่อยากรู้ว่าเมืองไทยจะเปลี่ยนไหม เพราะเมืองอังกฤษเปลี่ยนมากภายในยี่สิบปีที่แล้วมา”

บรรโลมไม่ติดใจตอบ เพราะหล่อนกำลังรอเหตุการณ์อีกอันหนึ่งอยู่ นั่นคือลูกพี่ลูกน้องของหล่อนคนหนึ่ง ได้มาขอร้องให้หล่อนช่วยจัดการให้เขาได้สมรสกับน้องสาวคนสุดท้องของสุธิรา ชื่อ ไพจิตรา หล่อนกำลังรอให้งานศพผ่านพ้นไป แล้วจึงจะพูดกับสุธิรา ก็เผอิญมาเกิดเรื่องตื่นเต้นเกี่ยวกับสุภัทรา

เมื่องานพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณบิดาสุธิราผ่านไปแล้ว สุภัทราก็แต่งงานกับนายปรีชา โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของผู้ใด ซึ่งทำให้คุณแม่ผู้ซึ่งได้รับทรัพย์สมบัติจากท่านสามีในนามของท่านผู้เดียว ได้ตัดขาดมิให้สุภัทรารับส่วนแบ่งจากมรดกเลย สุธิรานั้นเป็นลูกของภรรยาเก่า มิได้ร่วมมารดาเดียวกันกับสุภัทรา จึงมีทรัพย์สมบัติของตนเองต่างหาก แต่ไพจิตรานั้นเป็นลูกของภรรยาน้อยอีกคนหนึ่ง ครั้นบรรโลมมาทาบทามจะขอให้ลูกพี่ลูกน้องของหล่อนชื่อสุรชาติ ผู้ปกครองคือคุณหญิงมารดาของสุภัทราก็ตกลงโดยดี

“ทำไม?” แอนน์ถามบรรโลม “สุรชาติก็ไม่มีตระกูลเหมือนกัน และเป็นคนค้าขายด้วยซ้ำไป”

“อ้า” บรรโลมยิ้มเรื่อยๆ “แต่เขามีเงิน” หล่อนว่า

“ถ้าเช่นนั้น คนมีตระกูลของเมืองไทยก็เห็นเงินสำคัญกว่าการศึกษา” แอนน์ซ้อมความเข้าใจ

“ก็ไม่เชิง” บรรโลมตอบ “เพราะสุรชาติเคยไปศึกษาต่างประเทศ และบังเอิญเขาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่มาก”

“โอ ฉันยิ่งฟังยิ่งไม่เข้าใจ” แอนน์แสดงว่าอ่อนใจ “ทำไมใคร ๆ บอกฉันว่าคนไทยยกย่องครู ทำไมปรีชาเป็นครูโรงเรียนมัธยม เขาต้องมีการศึกษาดี ทำไมคุณสุภัทราโกรธมาก” บรรโลมพูดแก่กรรณิการ์ว่า “สะใภ้แหม่มของเธอน่ะน่าสงสาร แกอยากเข้าใจคนไทยจริง ๆ แต่เราก็ไม่ สามารถทำให้แกเข้าใจได้ ดิฉันว่าแกตั้งใจจะอยู่เมืองไทยจริง ๆ”

กรรณิการ์ไม่ทันคิดถึงเรื่องที่บรรเลงเป็นน้องชายของบรรโลม และเป็นสามีของคู่รักเก่าของวิทิต ด้วยความห่วงใยในความราบรื่นของครอบครัว หล่อนก็ออกปากขอให้บรรโลมพยายามหางานให้แอนน์ทำ ผลก็คือภายในเวลาไม่ถึงเดือน แอนน์ก็ได้เข้าทำงานกับบริษัทการค้าที่มีฐานะดีแห่งหนึ่ง

กรรณิการ์แลเห็นว่าแอนน์มีความตั้งใจที่จะอยู่ร่วมชีวิตกับวิทิตจริง ๆ แต่นอกจากได้ช่วยขอร้องบรรโลมให้หางานให้แอนน์ และบรรโลมก็ได้ช่วยเหลือแล้ว หล่อนก็ช่วยเหลืออะไรมากขึ้นไม่ค่อยถนัด หล่อนสังเกตว่า วิทิตหงุดหงิดเรื่องเงิน ซึ่งหล่อนก็ช่วยเหลืออะไรไม่ได้ เมื่อแอนน์หางานได้และได้เงินเดือนอย่างฝรั่ง หล่อนก็จำต้องจ้างลูกจ้างด้วยราคาสูง ทำให้เกิดความอลหม่านในครอบครัวของคุณสังเวียนมาก ทำให้คนใช้ของคุณสังเวียนเกิดความไม่พอใจในค่าจ้างของตัว เมื่อจ้างหาคนใช้มาช่วยแบ่งเบาแรงให้นางบุญเลี้ยง คนใช้ไทยก็จะ ลาออกภายในเวลา ๒-๓ เดือน แล้วนางบุญเลี้ยงก็หาทางทำให้ลูกจ้างของแอนน์รู้ว่าตนไม่เป็นที่พึงปรารถนาของสมาชิกในครอบครัว ลูกจ้างของแอนน์ก็ลาออกไป ผลัดกันจ้างผลัดกันลาออก เป็นเหตุการณ์วุ่นวายในครอบครัวอยู่เสมอ ๆ แต่วิทิตจะแยกย้ายไปอยู่ที่อื่นก็ไม่ได้ เพราะราคาที่ดินแพงขึ้นทุกวัน ทำให้เขาหงุดหงิดมากขึ้น

นอกจากนั้นแอนน์กมลักษณะนิสัยแปลกจากสะใภ้แหม่มของครอบครัวอื่น ๆ กรรณิการ์ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนฝูงที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมีสะใภ้ชาวต่างประเทศอยู่หลายคน แต่ละคนก็มีปัญาไม่เหมือนกัน แต่ก็ยังมีความคล้ายคลึงกันมากกว่าแอนน์ โดยมากสะใภ้แหม่มอื่นมีปัญหาเกี่ยวกับความสะดวกสบาย ความมีอิสระ ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับพี่น้องอื่น ๆ เช่นสะใภ้ของศิริมา ภรรยาของพี่ชายที่ไปศึกษาที่เยอรมัน เป็นหญิงชาติออสเตรียน เป็นคนใจดี ใจคอกว้างขวาง ชอบเลี้ยงดูเพื่อนฝูงและพี่น้อง แต่ถ้ามีคนใช้ของเพื่อนบ้านไปฝากให้คนครัวของหล่อนซื้อสิ่งของจากตลาดมาเพื่อช่วยแบ่งเบาแรง สะใภ้นั้นก็จะไม่พอใจ และสั่งห้ามคนครัวไม่ให้รับฝาก ส่วนสะใภ้ของเพื่อนอีกคนหนึ่ง เป็นชาติอเมริกัน ไม่ยอมให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าไปในครอบครัวของหล่อน ซึ่งหล่อนดูแลรักษาความสะอาดเอง และไม่ยินยอมให้เด็กลูกหลานของเพื่อนบ้านใกล้เคียงเข้าไปวิ่งเล่นในบริเวณบ้านของตน แต่หญิงนั้นจะมีความอารีไปช่วยเหลือคนเจ็บไข้ที่โรงพยาบาลทุกครั้งที่มีเพื่อนหญิงชาวต่างประเทศมาขอร้องให้ไปช่วย หรืออาจช่วยพานักเรียนกำพร้าจากโรงเรียนของคณะสอนศาสนาไปเที่ยวเล่นชายทะเล พร้อมกับที่หล่อนพาลูก ๆ ของหล่อนไปตากอากาศ ซึ่งกรรณิการ์ที่เข้าใจว่าเป็นเพราะหญิงชาวต่างประเทศเหล่านี้เคยชินกับระเบียบในชีวิตแตกต่างกับคนไทย จึงวางระเบียบแตกต่างกันไป

แต่แอนน์นั้น หล่อนยินดีปรับตนให้เข้ากับภาวะในครอบครัวในความสะดวกและสบายมากที่สุด เช่นในเรื่องค่าแรงลูกจ้าง เมื่อเกิดความอลหม่านด้วยลูกจ้างของคุณสังเวียนและของหล่อนผลัดกันลาออกสองสามครั้งเข้า แอนน์ก็ถามเหตุผลจากวิทิต หล่อนเดาว่าคงมีอะไรอยู่เบื้องหลัง ซึ่งวิทิตไม่ตอบ อ้างว่าไม่รู้ไม่เข้าใจ และแนะนำให้แอนน์จ้างคนต่อไปตามที่ตนเห็นสมควร แต่แอนน์ไม่ยอมจำนน หล่อนซักเอากรรณิการ์บ้าง จากบรรโลมบ้าง จากสุธิราบ้าง จนได้ความจริง แล้วหล่อนก็เปลี่ยนวิธีการเสีย ให้ค่าจ้างลูกจ้างตามราคาของคุณสังเวียน ความไม่เรียบร้อยไม่สะอาดในบ้านหล่อนก็ทนได้ และอาหารหล่อนก็ค่อย ๆ หัดรับประทานอาหารเช่นเดียวกับที่สมาชิกอื่นในครอบครัวรับประทานกันได้

แต่มีบางเรื่องที่กรรณิการ์คิดว่าไม่ใช่ธุระของแอนน์ แต่แอนน์เอาเป็นธุระ เช่นเรื่องของสุภัทรา เมื่อก่อนสุภัทราแต่งงาน แอนน์ก็ไม่ได้สนิทสนมกับสุภัทรา เพราะสุภัทราเป็นคนเงียบ ๆ ไม่ค่อยออกทำหน้าที่รับแขกเหมือนสุธิราหรือสุพรรณี หรือพี่น้องคนอื่น ๆ แต่ครั้นสุภัทราแต่งงานไปกับนายปรีชา ครูโรงเรียนมัธยม แอนน์ก็ไปติดตามให้สุภัทรามารับประทานอาหารกับหล่อนที่บ้านจนได้ โดยมีเพื่อนชาวต่างประเทศของแอนน์มาร่วมด้วย เพื่อว่าพี่ ๆ น้อง ๆ อื่น ๆ จะได้รับประทานอาหารกันเสียก่อนต่างหาก เวลาแอนน์มีแขกมาที่บ้าน หล่อนก็จัดอาหารเฉพาะโอกาสของหล่อนเอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรรณิการ์ได้เคยทำหน้าที่ซึ่งสุธิราเรียกล้อว่า “วิเทศสัมพันธ์” มาแล้ว ครั้งแรก ๆ ที่แอนน์ทำดังนั้น วิภามีความไม่พอใจมาก เพราะแอนน์ไม่ได้เชิญหล่อนด้วย วิภาแสดงความโกรธเคืองออกนอกหน้าให้วิทิตทราบ วิทิตจึงอุทธรณ์ไปยังกรรณิการ์

“ติ๋งเขาโกรธว่าแอนน์ไม่เชิญเขามากินข้าวด้วยกัน วันนี้แอนน์เขาเชิญเจ้าคริสตี้กับเมีย และนายแว่วกับเมียอเมริกันเขามากินข้าวที่บ้าน” วิทิตบอก “ช่วยพูดให้เขาเข้าใจทีซิ”

“พูดให้เขาเข้าใจอย่างไรคะ?” กรรณิการ์ถาม รู้สึกตัวเองว่าโง่มาก เพราะเดาไม่ออกจริง ๆ ว่าวิทิตจะให้พูดว่าอย่างไร ตามความจริงนั้นกรรณิการ์ทราบอยู่แล้ว ว่าวิภาโกรธแอนน์ในเรื่องนี้ เพราะวิภาได้เล่าให้กรรณิการ์ฟังแล้ว

“แหม เราไปช่วยเขาทำกับข้าวเสียด้วยนะพี่กรรณ” วิภาเล่าอย่างโกรธเคือง “พอเขาตั้งที่ตั้งจานที่โต๊ะนะ เปล๊า เขาไม่ได้นับเราด้วยหรอก เรางี้โกยกลับบ้านแทบไม่ทัน พอรุ่งเช้าอดไว้ไม่ได้เลยต้องให้พี่ติ๊ดรู้เสียบ้าง ติ๋งยอมเป็นบ่าวพี่ติ๊ดมานานแล้ว เพราะเห็นแก่ความสุขของคุณแม่หรอก” ตอนท้ายนี้วิภาหมายรวมไปถึงการที่หล่อนเคยไปรีดเสื้อให้วิทิตระหว่างที่แอนน์ไม่มีคนรับใช้

“แล้วพี่ติ๊ดเขาว่าอย่างไรบ้าง?” กรรณิการ์ถามวิภา

“เขามองหน้าเฉย ไม่เห็นเขาว่าอะไร” วิภาตอบ

ดังนั้นเมื่อกรรณิการ์ได้รับอุทธรณ์หล่อนจึงรู้สึกโง่มากดังกล่าวแล้ว

“ก็พูดไม่ให้โกรธ” วิทิตตอบง่าย ๆ

“วิภาพูดอย่างไรที่คุณติ๊ดว่าเขาโกรธ” กรรณิการ์ถามเยี่ยมตุลาการที่ดีพึงซักถามข้อความไว้ให้มากที่สุดก่อนที่จะวินิจฉัย

“เขาว่า แอนน์ไม่ชวนเขากินข้าว เห็นเขาเป็นอย่างไร” วิทิตตอบ “ก็ไม่ได้เห็นเป็นอย่างไร เพียงแต่ไม่ได้ชวนเท่านั้น”

“ก็แล้วเขาโกรธว่าไม่ชวนเขา แล้วจะให้พูดให้หายโกรธอย่างไร?” กรรณิการ์ถามต่อไปอย่างโง่ ๆ อีก

“ก็พูดให้เข้าใจว่า ไม่เป็นการดูถูกดูหมิ่นอย่างไร” วิทิตว่า “ไม่ได้ตั้งใจว่าอะไร เป็นแต่ไม่ได้ชวน”

“แปลว่าคุณติ๊ดไม่เห็นว่าควรโกรธใช่ไหม?” กรรณิการ์ถาม พยายามซ่อนความแปลกใจของหล่อนไว้ได้

“ทำไม?” วิทิตแสดงความแปลกใจเต็มที่ “เธอว่าควรโกรธหรือ?”

“กรรณว่าแกก็น่าจะน้อยใจ แกคงไปช่วยเหลือด้วยใช่ไหม? เพราะยายติ๋งแกเป็นคนช่างช่วยเหลือ ไม่มีนิสัยดูดาย”

“เราก็ขอบใจติ๋งมากที่ช่วยเหลือเรา” วิทิตพยายามพูดอย่างสงบ “แต่ติ๋งไม่ควรโกรธในเรื่องนี้ คราวต่อไปถ้าเราเชิญเพื่อนมากินข้าวหรือขนมปัง หรือสลัด อะไรก็ตามที เราก็อาจเชิญตุ๋งติ๋ง โดยตุ๋งติ๋งไม่ช่วยทำอะไรก็ได้”

กรรณิการ์อึ้งไป หล่อนรู้แล้ว หล่อนกำลังเผชิญปัญหาระหว่างวัฒนธรรมตะวันออก และโดยเหตุที่กรรณิการ์มีความกระดากอย่างไรอย่างหนึ่งต่อวิทิตเสมอ หล่อนจึงไม่ได้โต้ตอบกับเขา และพยายามหาโอกาสเจรจากับแอนน์โดย

“แอนน์ ตามธรรมเนียมอังกฤษ เวลาพี่น้องอยู่ด้วยกัน แล้วมีงานปาร์ตี้อะไรที่บ้านของคนหนึ่ง เขาบอกกับพี่น้องเขาอย่างไร?” กรรณิการ์ถามหล่อนพูดไทยก่อน แล้วก็พูดเป็นภาษาอังกฤษ เพราะถ้าหากว่าแอนน์จะมีความรู้สึกไม่พอใจต่อคำถาม หล่อนจะแสร้งอ้างว่าหล่อนถามไม่ถูกตรงตามที่ตั้งใจถาม และเพื่อว่าจะค่อย ๆ ล้วงเอาความจริงว่าวิทิตได้พูดกับภรรยาในเรื่องที่หล่อนกำลังถามอยู่แล้วหรือยังด้วย

แอนน์มีสีหน้าผิดปกติ แสดงว่าไม่แลเห็นจุดอันแท้จริงที่กรรณิการ์ตั้งใจถาม และตอบว่า “เวลาคนหนึ่งมีแขกก็บอกกับอีกคนหนึ่งว่าวันนี้จะมีแขก เพื่อว่าเขาจะได้มีโอกาสเตรียมตัว เขาอาจไปดูภาพยนต์เสีย หรือเตรียมหาหนังสืออ่านไว้อ่านเงียบ ๆ ในห้องของเขา หรือเขาอาจนัดเพื่อนของเขาเองไปไหนให้ตรงกันเสียในวันนั้นจะได้ไม่รบกวนกัน”

“แล้วถ้าเขาอยากให้พี่น้องอยู่ด้วยละ เขาจะพูดอย่างไร?” กรรณิการ์แกล้งถามต่อไป

“ก็ต้องบอกเชิญเขาล่วงหน้าเผื่อเขาจะมีนัดอะไรกับเพื่อนของเขา เขาอาจบอกเลิกเสียก็ได้ หรือเขาไม่บอกเลิกก็ได้” แอนน์ตอบ

กรรณิการ์นึกในใจ ‘ผู้หญิงฝรั่งคนนี้ มันซื่อโง่อย่างนี้จริง ๆ หรือมันแกล้งทำ’ แล้วหล่อนนึกได้ถึงสำนวน และสีหน้าของวิทิตเวลาที่ขอร้องให้หล่อนเจรจากับน้องสาวของตนเอง ก็เข้าใจว่าแอนน์คงรู้เท่าไม่ถึงการณ์จริง ๆ เพราะแม้แต่วิทิตซึ่งเป็นคนไทยที่จากบ้านเมืองไปนาน ยังลืมธรรมเนียมของตัวได้ แอนน์ซึ่งเป็นคนต่างชาติจริง ๆ ก็อาจคิดไปไม่ถึงว่าหล่อนควรประพฤติอย่างไรให้เหมาะสมกับฐานะสะใภ้ได้ หล่อนจึงกลับมาเจรจากับลูกพี่ลูกน้องของหล่อนเอง คราวนี้หล่อนพูดกับวิทิตตรง ๆ

“คุณติ๊ด เรื่องที่ตุ๋งติ๋งแกโกรธว่าแอนน์ไม่เชิญแกกินข้าวด้วยวันนั้น คุณติ๋ดเห็นว่าแกไม่ควรโกรธจริง ๆ หรือ? ขอโทษนะ ที่กลับมาถามอย่างนี้ เพราะคุณติ๊ดขอร้องให้กรรณพูดกับแก กรรณไม่ได้เข้ามายุ่งเองนะ”

วิทิตยิ้ม “ไม่ต้องเตือนหรอก คุณครู” เขาว่าล้อ ๆ

“คุณกรรณน่า ฉันรู้ดี ไม่ใช่นิสัยชอบยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของใคร เพราะฉะนั้นถึงได้ถูกใคร ๆ รบกวนให้มายุ่งกับเรื่องของใคร ๆ”

“เอาละ” กรรณิการ์ตัดบท “อยากทราบว่าคุณติ๊ดคิดอย่างไร?”

“ชักจะคิดออกแล้วละ” วิทิตว่า “ทีแรกไหวไปไม่ถึงเลย เป็นความจริงตุ๋งติ๋งควรโกรธ เพราะคนไทยเราไม่ว่าจะมีงานเลี้ยงงานเชิญ งานศพต้องบอกกันหมด ฉันเผลอไปเอง แต่นี่แนะ กรรณ ถ้าฉันจะขอร้องไม่ให้พี่น้องถือสาในเรื่องนี้ จะได้ไหม?”

“ลองอธิบายให้กรรณฟังให้เข้าใจซิว่า ขอนั้นอย่างไร แปลว่าต่อ ๆ ไปก็จะไม่เชิญอย่างนั้นหรือ?”

“บางที่ก็เชิญ บางทีก็ไม่เชิญ ขอให้เป็นเสรีภาพของเรา” วิทิตตอบ

“ทำไม ถ้าเชิญแล้วจะเสียหายสักแค่ไหน จะหมดเปลืองอย่างนั้น?” กรรณิการ์ซัก

“ไม่ได้เกี่ยวกับความหมดเปลือง” วิทิตตอบ “ถ้าเกี่ยวกับหมดเปลือง เราก็ออกไปซื้ออะไรกินกันที่ไหนกับเพื่อนของเรา แล้วกลับมาคุยกันที่บ้านก็ได้ บางทีเราก็ทำอย่างนั้น แต่ถ้าเรือนที่เราอยู่เป็น ‘บ้าน’ ของเรา” วิทิตใช้ภาษาอังกฤษว่า home เมื่อกล่าวถึงบ้าน “เราขอเสรีภาพเชิญเพื่อนของเราตามที่เราพอใจ”

“ขอโทษเถอะ ขอซักอีกนิด” กรรณิการ์กล่าวด้วยความรู้สึกเกรงใจอย่างแท้จริง “ถ้าเชิญพี่น้องด้วย เขากลัวกันว่าจะคุยไม่ถูกคอกัน หรือต้องระวังมารยาทอะไรอย่างไร?”

“เฮอ” วิทิตถอนใจ “มันเป็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพของบ้านของเรา ไม่เกี่ยวกับอะไรทั้งนั้น”

“เอาละ กรรณเข้าใจละ” กรรณิการ์กล่าวทั้งที่ไม่เข้าใจ “แต่ถ้ากรรณไปบอกกับยายติ๋งแกอย่างที่คุณติ๊ดว่านี้ แกคงไม่เข้าใจเลย จะอนุญาตให้ใช้ถ้อยคำอย่างอื่นได้ไหม?”

“จะใช้ถ้อยคำอย่างใดก็ได้ ขอแต่อย่าให้ความคิดผิดไป” วิทิตว่า เขาใช้คำ idea สำหรับ ‘ความคิด

กรรณิการ์ถอนใจอยู่คนเดียว แต่ในที่สุดหล่อนได้ทำให้น้อง ๆ ของวิทิตและมารดาวิทิตเข้าใจราง ๆ ว่า คนอังกฤษเขาไม่เชิญพี่น้องร่วมในเวลาเขาเชิญแขกของเขาทั้งนี้เขาถือกันว่าเป็นการรบกวนกัน แทนที่จะถือกันว่าเป็นการเอื้อเฟื้อกันเหมือนคนไทย

“บ้า” วิภาว่า “ยังจะมีหน้ามาอธิบายอีก”

“นี่ ติ๋ง” กรรณิการ์พูดอย่างราบรื่น แต่น้ำเสียงหนักแน่น ในเวลาที่พูดกันนั้น วิธานอยู่ในที่นั้นด้วย กรรณิการ์จึงมองเขาอย่างวิงวอนให้เป็นฝ่ายหล่อน “ถ้าจะพูดไปแล้ว พี่สะใภ้เขาก็อดทนอะไร ๆ หลายอย่างนะ เวลาที่ไม่มีคนใช้ เขาไม่ได้บ่นอะไรเลย เขาก้มหน้าก้มตาทำงานบ้าน แล้วเรื่องมีเรื่องจน เรื่องลำบากอะไรก็ไม่ได้เป็นอะไรเลย เทียบกับคนอื่น ๆ ที่เขาเล่าให้พี่ฟัง ดูแกก็ดีกว่าหลายอย่าง ในเรื่องนี้พี่ชายเขาขอก็ให้เขาเถอะ นึกเสียว่ามีอะไรบางอย่าง ไม่สามารถจะเข้าใจกันก็แล้วกัน”

ในการเชิญแขกของตัวครั้งต่อมา แอนน์ได้เชิญวิภาด้วย วิภาแสดงความโกรธไม่รับเชิญ ครั้งต่อมาแอนน์ไม่เชิญ ครั้งต่อไปแอนน์เชิญอีกวิภาก็ไม่ไปอีก ครั้งถัดไปแอนน์ไม่เชิญ แล้วครั้งถัดไปอีกก็เชิญอีก ในที่สุดวิภาต้องยอมรับว่า พี่ชายและพี่สะใภ้ไม่ยอมเข้าใจว่าหล่อนโกรธ ฉะนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะแสดงความโกรธ ต่อจากนั้น ถ้าแอนน์เชิญให้ไปร่วมรับประทานอาหารที่เรือนของหล่อน วิภาก็ไป และถ้าไม่เชิญวิภาก็รับภาวะได้โดยดุษณี

ในคราวที่แอนน์เชิญสุภัทราและสามีให้มารับประทานอาหารที่บ้านหล่อนนั้น หล่อนไม่ได้เชิญพี่น้องคนใดของวิทิต กรรณิการ์จึงไม่ทราบว่ามีการสนทนาโต้ตอบกันอย่างไร แต่ในระยะต่อมาแอนน์ได้ปรารภกับหล่อนอย่างเสียใจและห่วงใยว่า

“คุณปรีชา สามีคุณสุภัทรา” แอนน์พยายามเรียกคนที่หล่อนรู้จักตามธรรมเนียมไทยเป็นบางคราว เวลาที่หล่อนสนทนากับกรรณิการ์เรียกชื่อเฉย ๆ เป็นบางคราว แต่ถ้าสนทนากับคนอื่น หล่อนก็พยายามเรียกให้ถูกกับประเพณีไทย “ฉันมีความรู้สึกว่าเขาไม่มีการศึกษาเลย” แน่ละ แอนน์ใช้คำว่า education ซึ่งมีความหมายผิดไปจากคำ “การศึกษา” ในภาษาไทยบ้าง

“เขาพูดอังกฤษไม่ค่อยได้ เพราะเขาเป็นครูคำนวณ” กรรณิการ์อธิบาย

“ไม่ใช่ ฉันไม่ได้จะให้เขาพูดอังกฤษ” แอนน์ชี้แจง “วิทิตพูดกับเขาเป็นภาษาไทย เขาไม่ค่อยตอบอะไรเลย” ครั้นกรรณิการ์ไม่ว่าอะไรต่อไป แอนน์ก็เสริมว่า “ดูเขามีการศึกษาน้อยกว่าสุภัทราอีก”

กรรณิการ์ไม่แลเห็นเหตุของความกังวลของแอนน์จึงนิ่งอยู่ ไม่กล่าวอย่างไร

ในการสนทนากันวันหนึ่ง แอนน์เอ่ยขึ้น “กรรณิการ์ ทำไมวิภาและนิดาจึงดูมีการศึกษาไม่เท่าเธอ”

“เป็นอย่างไร?” กรรณิการ์ซัก

“เขาไม่พอใจอะไรที่ไม่สำคัญ และไม่สนใจในสิ่งที่สำคัญ” แอนน์อธิบาย

กรรณิการ์สังเกตเห็นว่าวิทิตจ้องดูภรรยาอย่างสนใจ และหัวเราะน้อย ๆ “เช่นอะไร” กรรณิการ์ซัก

“เขาไม่สนใจเรื่องความทุจริตในประเทศ” แอนน์ตอบอย่างละห้อย

“ถ้าเขาสนใจ เขาควรทำอย่างไร?” กรรณิการ์ซักต่อไป

“ฉันไม่ได้คิดจะให้เขาทำอะไร แต่อย่างน้อยเขาควรแสดงความห่วงใย” แอนน์ว่า

กรรณิการ์นิ่งเสีย ไม่ต่อเรื่อง เพราะกลัวว่าจะไม่สามารถจะอธิบายให้แอนน์พอใจได้ แต่แอนน์มีความห่วงใยในเรื่องนี้มาก ถึงกับไปปรารภกับบรรโลมอีก บรรโลมว่า “นิสากับวิภาเป็นเด็กกว่ากรรณิการ์”

แอนน์ทำดวงตากลมจ้องดูบรรโลม “โอ เขาเป็นเด็กรึ?” ซึ่งบรรโลมขบขันมาก และได้นำมาเล่าให้กรรณิการ์ฟัง

วันคืนล่วงไปอีกหลายเดือน กรรณิการ์มีงานทางโรงเรียนทำมากขึ้น คุณพ่อก็มีความไม่สบายขึ้น กรรณิการ์ห่างเหินพี่น้องไปบ้าง หล่อนได้พบกับวิทิตเป็นครั้งคราว ทุกคราวหล่อนอยากจะเตือนเรื่องค่าจ้างช่างทำเรือนที่หล่อนรู้ว่าบรรโลมได้ออกไปให้ แต่ก็ไม่กล้าบอก เพราะหล่อนมีความรู้สึกโดยญาณอันใดอันหนึ่งว่า วิทิตมีความกังวลเรื่องเงินไม่เสื่อมคลายลงไป ทั้งที่แอนน์หางานทำได้ และมีรายได้ดี กรรณิการ์จึงใช้วิธีหลอกตัวเอง คือถือว่าการเจรจาเรื่องค่าปลูกเรือนนั้นเป็นหน้าที่ของคุณสังเวียน ท่านอาจจะได้ชำระให้แก่ช่างไปแล้วโดยหล่อนไม่ได้รับรู้ก็ได้ และถึงหากท่านไม่ได้ชำระ บรรโลมก็ไม่เดือดร้อนโดยขาดเงินจำนวนนั้น ซึ่งเป็นจำนวนเล็กน้อยมากสำหรับบรรโลม เพราะกรรณิการ์ เคยเห็นบรรโลมซื้อเครื่องเพชรในราคาที่กรรณิการ์ต้องเอาหยาดเหงื่อและวิชาความรู้แลกเอามาโดยใช้เวลาเกือบเต็มปี และถ้าหากบังเอิญบรรโลมจะทวงเอาในวันหนึ่ง หล่อนก็จะทำเสมือนว่าหล่อนเข้าใจผิด คิดว่าคุณสังเวียนได้ชำระแล้ว

แต่ในระหว่างกรรณิการ์ห่างเหินจากครอบครัวของวิทิตไปนั้น ก็มีเหตุการณ์ยุ่งเหยิงเกิดขึ้น เมื่อกรรณิการ์มาทราบภายหลังหล่อนรู้สึกหนักใจอย่างยิ่ง

เหตุการณ์นั้นก็คือ จันทิรากับวิทิตได้ไปร่วมตากอากาศชายทะเลด้วยกัน โดยแอนน์ไม่ได้ไปด้วย และบรรเลงก็ไม่ได้ไปด้วย

สาเหตุก็คือเรื่องเงิน บรรโลมมีความห่วงใยในแอนน์และวิทิต เมื่อได้ทราบจากสามีภรรยาว่ากรรณิการ์มีภาระมาก ไม่ค่อยได้มีเวลามาเยี่ยมเยือนให้คำปรึกษาหารือได้เหมือนเมื่อแรกที่แอนน์มาถึง บรรโลมก็มาเยี่ยมบ่อยขึ้น

“จะทำอย่างไรดี บรรโลม” แอนน์ปรารภขึ้น “ฉันมีปัญหาที่เห็นจะต้องปรึกษาใครสักคน ฉันไม่อยากรบกวนคุณเลย แต่ก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร”

เมื่อบรรโลมอนุญาตให้แอนน์ปรับทุกข์ให้ฟังได้แอนน์ก็เล่า “วิทิตเขามีความอึดอัดเรื่องที่เขาได้เงินเดือนน้อยกว่าฉันมาก เขาไม่ยอมใช้จ่ายหาความสะดวกสบายเลย เขาพยายามจะใช้เงินภายในเงินเดือนของเขาให้ได้ และบอกให้ฉันเก็บเงินของฉันไว้เพื่อจะได้ไปเยี่ยมบ้านที่อังกฤษ คุณว่าเหตุผลของเขาถูกต้องหรือ?”

บรรโลมนิ่งคิดไปนาน หล่อนไม่เคยผจญปัญหาเรื่องเงินเลย จึงต้องตรึกตรองมากก่อนที่จะตอบ

“แล้วการใช้เงินภายในวงเงินเดือนของวิทิตทำให้มีความเดือดร้อนไหม?” หล่อนถามแอนน์

“ก็มีซิ วิทิตชอบรับประทานอาหารบางอย่าง แต่เขาพยายามจะไม่รับประทาน เวลาฉันชวนไปกินอาหารกลางวันตามร้านขายอาหารดี ๆ เขาไม่ค่อยยอมไป เขาแก้ตัวว่ามีธุระในกระทรวงบ้าง อะไรบ้าง ที่แท้จริงฉันรู้ว่าเขาพยายามประหยัดรายจ่าย” แอนน์นิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วพูดต่ออย่างไม่ค่อยอยากพูดนัก “เขามีกิริยาเหม่อ ๆ มอง ๆ อะไร ฉันรู้ว่าวิทิตมีความทุกข์อะไรที่เขาไม่บอกฉัน ถ้าเราอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ฉันก็จะพยายามศึกษาหาสาเหตุนั้นให้ได้ แต่ในเมืองไทย ฉันไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ฉันไม่สามารถเข้าใจ เช่นเขาอาจมีความกังวลเกี่ยวกับแม่ของเขา หรือน้อง ๆ ของเขา ซึ่งฉันไม่รู้ว่าเขาจะอยากให้ฉันรู้หรือไม่ และในฐานะสะใภ้ของคนไทย ฉันควรถามหรือไม่?”

บรรโลมยังไม่สามารถช่วยแอนน์ได้ เพราะหล่อนไม่เคยมีครอบครัวแบบเดียวกับวิทิต หล่อนกล่าวว่า

“ครอบครัวของฉันก็ไม่ใช่ครอบครัวคนไทยที่แท้นัก และเราไม่ค่อยถืออะไรกันมาก เราไม่ค่อยมีธรรมเนียมอะไร เรามักจัดการอะไรเสียโดยหาเงินมาขบปัญหา เขาอาจมีเรื่องเกี่ยวกับพี่น้องของเขาก็ได้ ถ้าเป็นครอบครัวจีนเช่นเรา สะใภ้มีหน้าที่ทำตามแม่ผัวเท่านั้น”

“ฉันเคยรู้สึกขอบใจแม่ของวิทิตมาก” แอนน์ว่า “เขาไม่ค่อยมายุ่งเกี่ยวกับเราเลย ฉันเคยนึกกลัวว่า ถ้าฉันมีแม่ผัวยุ่งมาก ฉันอาจทนอยู่กับวิทิตไม่ได้”

“ฉันขอบคุณพ่อของฉันตลอดมา ที่เขาเป็นไทยพอที่จะหยิบยกทรัพย์สมบัติให้เป็นสิทธิแก่ฉัน และฉันจะไม่แต่งงานกับคนที่ยังถือประเพณีจีนเรื่องแม่ผัวกับลูกสะใภ้ แต่สำหรับสะใภ้อย่างแอนน์ ฉันก็ไม่รู้จะให้คำปรึกษาอย่างไร เพราะฉันได้ยินเขาว่ากันว่า ทำอะไรกับผู้ดีที่มีเงินก็ง่าย ทำอะไรกับคนไม่มีตระกูลและยากจนก็ง่าย แต่ทำอะไรกับคนที่มีตระกูลและจนเป็นยากที่สุด”

“ฉันก็กลัวเหมือนกัน กลัวจะกระทบกระเทือนใจวิทิต หรือใจของพี่น้องของเขา” แอนน์ว่า เวลาหล่อนสนทนากับบรรโลม หล่อนมีความสะดวกใจเพราะใช้ภาษาอังกฤษด้วยกันอย่างคล่องแคล่ว และบรรโลมเป็นคนได้เรียนมาก ได้เห็นโลกมาก แอนน์รู้สึกว่าไม่ค่อยต้องระวังตัวเหมือนเวลาที่หล่อนสนทนากับคนไทยคนอื่น ๆ

บรรโลมนึกอะไรขึ้นได้ หล่อนแนะว่า “นี่แน่ะ แอนน์ ฉันว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน วิทิตกับแอนน์ไปอยู่ที่บ้านหัวหินกับฉันสักอาทิตย์หนึ่ง เราจะได้หาโอกาสศึกษาสาเหตุนี้ได้”

“โอ ฉันดีใจมาก ฉันอยากไปชายทะเลมานานแล้ว และเคยชวนวิทิต เขาก็บอกว่าเขาไม่อยากเสียค่าโฮเต็ล และไม่อยากให้ฉันเป็นคนเสียให้เขา”

แต่พอแอนน์ไปอยู่หัวหินได้ ๒ วัน บริษัทของแอนน์ก็โทรเลขขอให้กลับไปกรุงเทพ ฯ ด่วน เพราะผู้จัดการมีธุระจะต้องรีบไปดูกิจการที่สิงคโปร์

บรรโลมกลัวว่าวิทิตจะจะเหงา ถ้าอยู่กับหล่อน ๒ คน แต่หล่อนก็ยังไม่อยากให้วิทิตกลับ เพราะแลเห็นเป็นโอกาสดีที่หล่อนจะค้นหาเหตุที่ทำให้แอนน์หนักใจจากวิทิตได้ ถ้าได้มีโอกาสพูดกับเขาต่อไป จึงขอร้องให้เขาคงอยู่ที่หัวหิน และขอให้แอนน์พยายามกลับไปหัวหินในตอนปลายสัปดาห์ ซึ่งในเวลานั้นผู้จัดการของแอนน์ก็จะได้กลับจากสิงคโปร์แล้ว ขณะเดียวกัน เมื่อหล่อนให้รถยนต์ของหล่อนมาส่งแอนน์ที่กรุงเทพ ฯ หล่อนก็ฝากจดหมายถึงน้องชายและน้องสะใภ้ ชวนให้ออกไปตากอากาศที่หัวหินด้วยกัน

บรรเลงได้รับจดหมายของบรรโลมที่ที่ทำงานบ่ายวันนั้น พอกลับบ้านเขาก็ยื่นจดหมายให้ภรรยาดู

“เธอไปซิ ฮอลิเดย์จากลูกเสียบ้างเถอะ” เขาว่าอย่างไรดี “เบ๊บไปไม่ได้หรอก เพราะกำลังจะเซ็นสัญญากับบริษัทก่อสร้างโรงงานใหม่”

“ใครเอาจดหมายนี้มา” จันทิราถาม หล่อนทราบดีว่าวิทิตกับแอนน์ได้ไปเป็นแขกของบรรโลม

“แอนน์เอามา แอนน์ต้องกลับมา เพราะผู้จัดการจะต้องบินไปสิงคโปร์ บรรโลมคงต้องการแชเปอรอนคงไม่อยากอยู่กับวิทิตคนเดียว และแอนน์ไม่ยอมให้วิตกลับมา”

จันทิราขนลุกซู่ทั้งตัว นี่จะเป็นไปได้รึ โอกาสที่หล่อนคอยด้วย กลัวด้วย กำลังรออยู่ตรงหน้า หล่อนจะได้มีโอกาสอยู่กับวิทิตสองต่อสองเป็นเวลานาน โดยไม่มีผู้ที่รู้เรื่องเดิมรู้เห็นและคอยจับจ้องตาดู และโดยสามีของหล่อนเองเป็นผู้เปิดทางให้

“แล้วเบ๊บรีบไปตามนะ” หล่อนกำชับสามี ‘เบ๊บ’ เป็นชื่อเรียกเล่นของบรรเลง

บรรเลงพยักหน้า แล้วก็รีบไปอาบน้ำ และออกจากบ้านไปธุระอื่นต่อไป

จันทิรานั่งตัวเย็น ๆ ร้อน ๆ ไปตลอดทางจากกรุงเทพ ฯ ถึงหัวหิน ‘เขาจะพูดอย่างไรกับเรานะ? เขาจะทำอย่างไรกับเรานะ?’ หล่อนรำพึงเรื่อยไป ‘เขาจะจับได้ไหมว่า เรามาทั้งที่รู้ว่าเมียของเขาไม่อยู่และตัวเขาอยู่

  1. ๑. ข้อห้ามของชุมชน เป็นภาษาของชาวเกาะภาคใต้มหาสมุทรปาซิฟิก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ