กรรณิการ์จำความรู้สึกและสภาพต่าง ๆ ของคืนวันที่ ๒๒ เดือนตุลาคมได้ตลอดชีวิตของหล่อนนับแต่นั้นมา ประเทศไทยกำลังประสบอุทกภัย การรบระหว่างเยอรมันกับรัสเซียก็กำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด ความหวังของเยอรมันที่จะเอาชนะรัสเซียได้ง่ายนั้นก็เลิกล้มไปแล้ว ยิ่งกองทัพเยอรมันรุกลึกเข้าไปในแดนรัสเซีย ทหารก็ยิ่งได้รับความยากเข็ญนานัปการ อาวุธต่าง ๆ ก็ยังลำเลียงไปสู่รัสเซียทางมหาสมุทรอาร์คติกไม่ขาดระยะ ส่วนญี่ปุ่นก็ตรึงอยู่ที่พรมแดนพม่า อินเดียและนิวกินี ยังรุกต่อไปถึงอินเดียและออสเตรเลียไม่ได้

ในบ้านของกรรณิการ์น้ำนองเจิ่งอยู่ทั่วไป ไส้เดือนตัวยาวขาวกองอยู่ตามบันไดขั้นบนหน้าเรือน กรรณิการ์และคุณแม่นอนฟังวิทยุอยู่ในห้องนอน คุณพ่อไม่ชอบให้แอบฟังวิทยุ บี.บี.ซี เพราะรัฐบาลห้าม แต่ในบ้านของท่านมีพลเมืองดีผู้เดียวคือตัวท่าน นอกนั้นเป็นฝ่ายอยากรู้อยากฟังทุกสถานี เวลานั้นเวลา ๒๒ นาฬิกา ไม่มีข่าวภาษาไทยจะฟังแล้ว กรรณิการ์จึงหมุนเข็มไปฟังข่าว บี.บี.ซี. ภาษาอังกฤษ

เสียงผู้ประกาศข่าววิทยุ บี.บี.ซี. ชัดเจนแจ่มใส มีน้ำหนักและกังวานแปลกกว่าทุก ๆ คราวไป

“เมื่อคืนนี้ กองทัพที่แปดเป็นฝ่ายเข้าโจมตีที่ตำบลเอลอาลาเมน” กรรณิการ์ร้อง “อ๊าว” คุณแม่ถามว่าอะไร กรรณิการ์หันมา ดวงตาเป็นประกาย หล่อนบอกพลางยิ้มละไมทั้งที่ยังไม่มีสิทธิจะยิ้มเพราะเหตุผลที่สมควรยินดีอย่างไร

“กองทัพที่แปดของอังกฤษเป็นฝ่ายเข้าโจมตีเยอรมันคะ” แล้วก็ฟังข่าวต่อไปด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่ เมื่อทราบข่าวต่อไปแล้วก็หันมาเล่าให้มารดาฟัง “เขาว่าได้ผลดีด้วยซิคะ เอ ชักจะมีหวังแล้ว”

เสียงน้อง ๆ ของกรรณิการ์กระซิบว่า คุณพ่อยังไม่หลับ กรรณิการ์จึงต้องกระซิบเล่าให้คุณแม่ฟัง

ตั้งแต่วันนั้นมา โชคชาตาของฝ่ายประชาธิปไตยก็เริ่มเปลี่ยนจากผู้ถอยและรับ กลายมาเป็นฝ่ายรุก และกองทัพที่แปดของอังกฤษก็เป็นฝ่ายรุกต่อไป ๆ ความเชื่อมั่นในกำลังของอักษะประเทศก็คลอนแคลน ฝ่ายที่เคยแต่หวังอยู่ในใจว่า ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องมีชัยชนะในขั้นสุดท้ายกกลายเป็นฝ่ายให้ข่าวอันน่ายินดีของตน ฝ่ายที่เคยทำนายถึงความหายนะของอังกฤษและฝรั่งเศสก็เปลี่ยนฐานะไปเป็นผู้ฟัง

เมื่อน้ำลดแล้ว มหาวิทยาลัยได้เปิดทำการสอนอีกในสภาพเกือบปกติ แต่พอเข้าฤดูหนาว การทิ้งระเบิดจากเครื่องบินก็มีมาบ้างประปรายยังไม่รุนแรงนัก แต่ก็พอที่จะทำให้ชาวกรุงเทพ ฯ มีความเคลื่อนไหวในทางที่จะอพยพไปหาที่ปลอดภัย โดยเฉพาะสำหรับเด็กและคนชรา

มาถึงระยะนี้ กรรณิการ์สังเกตว่า ความรู้สึกของจันทิราเริ่มจะเปลี่ยนแปลงไป กรรณิการ์นั้นมีความยินดีที่ฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งต่อมาเรียกฝ่ายตนเองว่าพวกสหประชาชาติ เริ่มแสดงว่ามีหวังจะชนะสงครามบ้าง เพราะทำให้หล่อนมีความหวังว่าจันทิรากับวิทิตจะได้ไม่หมดโอกาศที่จะกลับมาหากัน ยิ่งสงครามสุดสิ้นเร็วเท่าใดก็ยิ่งดี และหล่อนก็มีหวังว่าประเทศไทยคงจะไม่สูญเสียอิสรภาพ เพราะประเทศสหรัฐอเมริกาก็รับรองฐานะของพวกเสรีไทย และคุณพ่อของจันทิราซึ่งได้กลายมาเป็นพันธมิตรของกรรณิการ์ไปอย่างสนิทสนมก็มีความเชื่อมั่นว่า อเมริกาจะต้องช่วยเหลือประเทศไทยแน่นอน แต่สำหรับจันทิรานั้นได้เริ่มกล่าวว่า ไม่มีความยินดียินร้ายในโชคชาตาของสงคราม

“ทำไม เธอไม่ดีใจรึ ว่าเธอกับวิทิตจะได้พบกัน?”

“พบกันเพื่ออะไร?” จันทิราย้อนถาม “เธอนึกรึ ว่าเขาจะซื่อสัตย์อยู่กับฉันตลอดไป”

“อ้าว ก็เรื่องนั้นเราจะรู้ได้อย่างไร” กรรณิการ์แย้ง “แต่ถ้าญี่ปุ่นชนะ ถึงเขาจะซื่อสัตย์ต่อเธอ เขาก็กลับมาเมืองไทยไม่ได้เพราะอยู่ในฐานะขบถ”

“ถ้าเขาอยากมาหาเรา” จันทิราว่า “เขาก็ต้องรีบกลับมาซิ”

“เอ ก็เขาจะช่วยกู้ชาตินี่นา” กรรณิการ์แย้งอีก “ถ้าไม่มีใครเสียสละให้ชาติ ถ้าฝรั่งชนะเราก็เป็นขี้ข้าฝรั่งซิ”

“เธออย่ามาเป็นทนายแก้ต่างเลย” จันทิราตัดบท “ฉันแค้นใจจนไม่อยากนึกแล้ว ฉันกำลังจะลืม ๆ เธอก็มาเตือน”

กรรณิการ์รู้ว่าจันทิรากำลังมีความหวั่นไหวในอารมณ์เกินที่จะพูดอะไรด้วยความไตร่ตรองที่สุขุม และหล่อนก็ยังคิดหาคำพูดเพื่อปลอบหรือเตือนสติให้เหมาะสมไม่ได้ หล่อนจึงต้องยุติการสนทนาเรื่องวิทิต แต่ในเวลาต่อมาอีก ๒-๓ เดือน นิสาน้องคนรองของจันทิราพบกับกรรณิการ์ที่บ้านเมื่อหล่อนไปเยี่ยมคุณน้าหลวง คือบิดาของจันทิรานั่นเอง เพราะกรรณิการ์ไปเยียมท่านเท่าที่จะมีเวลาไปได้ ด้วยเหตุที่ท่านไม่มีเพื่อนอื่นฟังคุยเรื่องความเลวร้ายของรัฐบาลไทยและฝ่ายอักษะตามความนึกคิดของท่าน

นิสาเข้ามาหากรรณิการ์ระหว่างที่คุณพ่อของนิสาไปค้นหนังสือเล่มหนึ่งให้หล่อน กรรณิการ์ผู้ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับท่านทางสายโลหิต ได้กลายมาเป็นหลานรักของท่านไปในระยะนี้

นิสาเอ่ยขึ้นเบา ๆ อย่างที่ไม่ต้องการให้คนอื่นได้ยินนอกจากผู้ฟังเฉพาะของหล่อน

“พี่กรรณ พี่รู้เรื่องของพี่จันไหม เรียงคุณอดิศัยน่ะ?”

“เอ๊ะ เรื่องอะไรกัน?”

“โธ่ อยู่มหาวิทยาลัยด้วยกัน มัวแต่ไปทำอะไรเสียน่ะ” นิสาพ้อ “เขาลือกันทั้งจุฬาฯ”

“เอ พี่ก็เห็นจันทิราเขามีเพื่อนฝูงติดตามเป็นขบวนมาแต่ไหนแต่ไร อดิศัยนี่เขาก็ชอบกับจันทิรามาตั้งนาน เขาลือกันว่าอย่างไร?”

“ก็พี่จันเขาไปเที่ยวกันออกบ่อย ๆ” นิสาว่า “เขาออกจากมหาวิทยาแล้วเขาค่อยจะกลับบ้านเสียเมื่อไร คุณแม่ถามเขาก็มีคำอธิบายไปต่าง ๆ แต่นิสารู้ เขาไปเที่ยวกับอดิศัย”

กรรณิการ์อึ้งไป แล้วหล่อนก็ปลอบใจนิสาว่า “โธ่ เขากลุ้มใจเขา รู้ไหมเล่า ถ้าเราเป็นเขาบ้าง เราจะเป็นอย่างไร”

นิสาสะบัดหน้า “พี่กรรณไม่ช่วยเตือนเถอะ จะต้องอายพี่วิทิตเขา เดี๋ยวเขากลับมาดี เขาซื่อสัตย์ แล้วเขาก็จะเป็นคนกู้ชาติกลับมา ของเราเสียไปละก็แย่”

ตั้งแต่นั้นกรรณิการ์ก็เริ่มให้ความสนใจแก่กิริยาอาการของจันจิราเพิ่มขึ้น และคอยสังเกตฟังความคิดเห็นของมิตรสหายในมหาวิทยาลัยว่าจะแสดง ปฏิกิริยาบ้างหรือไม่ แต่ไม่สามารถจะทราบความจริงได้กี่มากน้อย จันทิราเคยเป็นนิสิตหญิงที่ได้รับความสนใจของนิสิตชายจำนวนมากตลอดมา ไม่ว่าจะย่างกรายไปทางใดก็มีเพื่อนหนุ่มอยู่ด้วยคนหนึ่งหรือสองคนหรือมากกว่านั้น สำหรับอดิศัยซึ่งเป็นนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ปีที่ 4 ก็มาร่วมในวงสนทนาหรือสังสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่กับจันทิราอย่างที่เคยกระทำมาเป็นเวลานาน นับแต่จันทิราเข้ามหาวิทยาลัย มีที่กรรณิการ์เห็นเป็นสิ่งน่าสังเกตอยู่อย่างเดียวก็คือ ในระยะนั้นเมื่อหล่อนไปหาคุณหลวงบิดาของจันทิรา หล่อนมักไม่ได้พบจันทิรา มักจะได้รับคำบอกเล่าว่าจันทิราไปไหนต่อไหนแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่เสมอ ส่วนญาติผู้ใหญ่นั้นก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยสนใจกับความรู้สึกหรือพฤติกรรมของจันทิรามากนัก

กรรณิการ์ต้องเอาใจใส่กับการศึกษาของหล่อน เพราะยิ่งสงครามแสดงความเคลื่อนไหวไปในทางที่ฝรั่งประชาธิปไตยจะชนะ โอกาสที่สถานศึกษาในประเทศไทยจะได้ทำการสอนเป็นปกติก็ย่อมจะน้อยลง เมื่อจันทิราแสดงตนว่ามีความชื่นบานไม่ทุกข์โศกนัก กรรณิการ์ก็ยินดี ไม่ต้องห่วงใยและให้ความสนใจกับการเรียนดีขึ้น

ปลายปีการศึกษานั้น อดิศัยก็ได้รับบริญญาแล้วออกไปทำราชการต่างจังหวัด

ญาติของกรรณิการ์หลายคนกำลังเปลี่ยนฐานะ บางคนเปลี่ยนจากผู้อัตคัดไปเป็นผู้มีอันจะกิน เพราะเป็นคนโชคดี ขายและซื้อทองคำถูกจังหวะตลอดมา บางคนก็เปลี่ยนไปทางตรงกันข้าม เพราะการครองชีพฝืดเคือง สินค้าแพงขึ้น รายได้คงเดิม ได้แต่ขายของเก่าของบรรพบุรุษไปเพื่อเอามาจับจ่ายเลี้ยงครอบครัว บางคนก็โชคดี ที่ดินที่ไม่เคยมีราคาก็กลายเป็นมีราคาไป บางคนทรัพย์สมบัติเก่าที่กองทิ้งไว้ในบ้าน เช่นเศษเหล็กเศษโลหะก็กลายเป็นของมีราคา มีผู้มาซื้อด้วยราคาแพง

ครอบครัวของจันทิรามีฐานะร่ำรวยขึ้น ส่วนของกรรณิการ์เริ่มจะฝืดเคือง เพราะคุณพ่อเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ มีอาการทางประสาท คือตกใจง่ายและกลัวเสียงดังทุกชนิด จนแพทย์แนะนำว่าไม่ควรจะอยู่ในพระนคร ควรไปหาที่อยู่ที่สงบไกลจากที่ที่อาจเป็นจุดยุทธศาสตร์ ครอบครัวของกรรณิการ์จึงเริ่มตระเตรียมที่จะไปอยู่บ้านเก่าของคุณตาคุณยายของกรรณิการ์ในสวนริมคลองภาษีเจริญ ระยะทางเดินทางจากสวนผ่านกลางพระนครประมาณ ๔๕ นาที โดยทางเรือยนต์ที่รับส่งคนโดยสารอยู่ทั่วไป

ครอบครัวของสุธิราอพยพไปอยู่ที่บ้านเดิมของตระกูล ที่พระนครศรีอยุธยา เพราะท่านเจ้าคุณบิดาอยู่ในสภาพชราแล้ว ถึงแม้ว่ายังชอบบำเพ็ญตนเป็นคนคล่องแคล่ว สนใจกับกิจการของบ้านเมืองและโลก

ระหว่างปิดภาคเรียนปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๖ กรรณิการ์และจันทิราจึงมีธุระเดินทางไปมาหลายแห่ง เป็นการกระทำของคนไทยที่มีฐานะพอสมควรทั่วไป สงครามทำให้กลัวไปว่าญาติจะจากกันโดยไม่ได้เห็นกันอีก เมื่อมีโอกาสอย่างใดเมื่อใดก็ให้รีบฉวยโอกาสไปเยี่ยมเยือน นอกจากนั้นการอพยพไปจากบ้านที่เป็นที่พำนักโดยปกติก็ก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่นลืมของใช้บางอย่างไว้ หรือทิ้งไว้โดยไม่เห็นแก่ความสำคัญ หรือเกิดนึกห่วงใยโดยไม่จำเป็น หรือเหตุอะไรอื่น ญาติและมิตรของกรรณิการ์และจันทิราที่ต้องเดินทางไปมาเพื่อธุรกิจการค้าอันไม่เคยทำมาก่อนสงครามก็มาก และทุกคนก็พลอยนึกอยากไปไหนมาไหน ซึ่งในยามปกติอาจไม่นึก

ระหว่างเปิดภาคเรียนนี้ คุณพ่อคุณแม่ของกรรณิการ์และน้องเล็ก ๆ ก็อพยพไปอยู่บ้านสวน กรรณิการ์อาสาอยู่เฝ้าบ้านกับน้องชาย ๒ คน อายุอยู่ในระหว่างเรียนชั้นมัธยมคนหนึ่ง และเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์อีกคนหนึ่ง การที่กรรณิการ์รับอาสาก็เพราะน้องสองคนไม่อยากไปอยู่สวน เห็นโอกาสว่าจะได้เสรีภาพเป็นเจ้าบ้านสักที แต่คุณแม่กลับเป็นห่วง กลัวว่าจะมัวสนุกคะนองไม่ห่วงบ้าน ครั้นแล้วคุณน้าหลวงอนุมัติ ฯ บิดาจันทิราก็แนะว่ากรรณิการ์ควรอยู่กำกับน้อง ทั้งนี้ก็เพราะท่านไม่อยากอพยพไปไหนให้ไกลที่ที่จะมีเหตุการณ์ตื่นเต้นที่สุด คือพระมหานคร และอยากให้กรรณิการ์อยู่ใกล้เพื่อเป็นเพื่อนคุยของท่าน คุณแม่และพี่น้องของจันทิราจึงยังไม่เตรียมการอพยพไปไหน แต่ได้ไปมาหาสู่ญาติและมิตรที่อพยพไปบ่อย ๆ ช่วยเหลือซื้อข้าวของที่ญาติมิตรฝากซื้อ และทำหน้าที่เป็นนักเผยแพรข่าวด้วย

โดยบังเอิญ บ้านเดิมของอดิศัยอยู่ใกล้บ้านที่ครอบครัวของกรรณิการ์ไปพักอยู่ และเมื่ออดิศัยมาเยี่ยมบิดามารดาซึ่งเป็นคหบดีอยู่ประจำ ณ ตำบลนั้น อดิศัยก็ได้พบกับกรรณิการ์ และได้ถามถึงจันทิรา และในเวลาสัปดาห์หนึ่งต่อจากอดิศัยได้พบกับกรรณิการ์ จันทิราก็แสดงความประสงค์ว่าอยากจะไปเยี่ยมครอบครัวของกรรณิการ์

นิสาไปกับจันทิราด้วย พอทราบว่าบ้านของบิดามารดาอดิศัยอยู่ใกล้ที่พักของกรรณิการ์ และตัวอดิศัยก็ได้มาพักผ่อนอยู่ที่นั่น นิสาก็อุทาน

“อพิโธ่ นึกว่าอะไร มินาเล่า นิสคิดแล้วเทียวว่าต้องมีอะไร ไม่เห็นพี่จันเคยจะเป็นห่วงเป็นใยคุณลุงคุณป้าหรือใคร ๆ เลย นี่ทำไมเกิดจะต้องมาเยี่ยมให้ได้” แล้วหล่อนถามต่อไปว่า “พี่กรรณเป็นคนช่วยนัดให้เขาเหรอ?”

“เปล่าเลย เป็นความสัตย์” กรรณิการ์เองก็แปลกใจเหมือนกันที่จันทิรามีแก่ใจมาเยี่ยมคุณพ่อของหล่อน แต่มัวไปคิดยินดีว่า ที่จริงจันทิราคงอยากมาเยี่ยมตัวกรรณิการ์เอง และอยากเปลี่ยนสถานที่เพื่อหย่อนใจ แต่ยังมีน้ำใจอ้างว่ามาเยี่ยมคุณพ่อเพื่อให้คนวัยสูงดีใจ

ตลอดเวลาเช้า บ่าย และค่ำที่กรรณิการ์รับรองจันทิราอยู่ที่บ้าน อดิศัยก็มาอยู่ที่นั่นด้วย เขาทำตนเป็นเจ้าของถิ่นที่เต็มใจรับรองแขก นำผลไม้ ปลา กุ้ง ผักสด มาเป็นของกำนัล จันทิราก็เข้าครัว ทำกับข้าวเลี้ยงญาติทั้งคณะที่พักอยู่ก่อนและที่สมทบมาพร้อมกับหล่อนอย่างสนุกสนาน แล้วก็เล่นกีฬาในร่ม และลงไปว่ายน้ำในคลอง หรือพายเรือแล้วแต่โอกาสจะอำนวย ทุกคนรื่นเริงบันเทิงใจ

“แล้วมาอีกบ่อย ๆ นะ แม่จัน” คุณแม่กรรณิการ์สั่งเมื่อจันทิราลากลับ จันทิราก็รับปาก นิสาแอบค้อนพี่สาวโดยให้กรรณิการ์เห็นคนเดียว

“คราวหน้าคุณมา ถ้าบังเอิญผมมาบ้านได้” อดิศัยกล่าวแก่จันทิรา “คุณต้องไปเที่ยวบ้านผมนะ” จันทิราก็รับปากอีก

จันทิราได้มาเยี่ยมครอบครัวของกรรณิการ์ที่บ้านสวนอีกครั้งหนึ่งโดยมิได้พบอดิศัย แล่วต่อมาอีกครั้งหนึ่งก็ประจวบเวลาเขามาเยี่ยมบิดามารดาของเขา

คราวนี้นิสาไม่ได้มาด้วย จันทิรามากับน้องผู้ชายอายุประมาณ ๑๔ ปี และพร้อมกับกรรณิการ์ผู้ซึ่งเดินทางมาจากพระนครตามกำหนดปกติ พอเรือแล่นเข้ามาใกล้บ้าน คนที่นั่งมาในเรือก็แลเห็นอดิศัยยืนอยู่ที่ท่าน้ำ

“อ้อ คุณอดิศัยก็มา” กรรณิการ์ร้องขึ้น แล้วหล่อนชำเลืองดูจันทิรา เห็นผิวหน้าของจันทิราแดงขึ้นอย่างผิดสังเกต เป็นครั้งแรกที่กรรณิการ์เห็นว่าจันทิรามีความรู้สึกต่ออดิศัยผิดไปจากที่มีต่อเพื่อนชายอื่น ๆ

อดิศัยยืนยิ้มแป้น เมื่อเรือเข้าเทียบท่า เขาก็รีบเข้าช่วยจับเรือให้เรียบร้อย จันทิราขึ้นจากเรือก่อนแล้วกรรณิการ์จึงตามขึ้นไป จึงไม่สามารถสังเกตอะไรเพิ่มเติม

ตลอดวันนัน กรรณิการ์ก็ครุ่นคิดว่า หล่อนมีหน้าที่อะไรหรือไม่ที่จะเตือนจันทิราหรือออกความเห็น หรือแม้แต่มีความคิดอะไรเกี่ยวกับเรื่องของจันทิรากับวิทิตนอกเหนือไปจากความหวังดี ความปรารถนาอยากให้เพื่อนเป็นสุข แต่บังเอิญจันทิราเปิดโอกาสให้หล่อนออกความเห็นเอง

“กรรณิการ์ ถ้าหากฉันจะแต่งงานก่อนคุณติ๊ดกลับ เธอจะว่าอย่างไร?” จันทิราพูดขึ้นเมื่อมีโอกาสอยู่ด้วยกันสองต่อสองก่อนเข้านอน

“คำว่า ว่า น่ะ เธอหมายความว่า ว่าเธอว่าไม่ดีหรืออย่างไร?” กรรณิการ์ถามเพื่อให้เวลาแก่ตนเองได้คิด และเพื่อป้องกันมิให้จันทิราตำหนิในภายหลังด้วย

“ว่าอย่างไร ๆ ทั้งนั้นละ” จันทิราตอบ

“เออ เมื่อตอนเธอจะรักกับคุณติ๊ดกันก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไร” กรรณิการ์ว่า “ถ้าเธอจะไม่รักกับเขา ก็เห็นจะไม่ใช่ธุระอะไรกระมัง”

“เอ กรรณนี่เป็นคนแปลก” จันจิรารำพึงดังๆ “ฉันสังเกตหลายหนแล้ว เวลาฉันคะเนไว้ว่าเธอจะพูดอย่าง เธอก็ไปเสียอีกอย่าง อาจารย์ทอมส์แกเคยว่าจำได้ไหม ว่าเธอน่ะแปลกจากนักเรียนทั่วไป”

“อาจารย์ทอมส์น่ะแกเป็นครูที่ชอบฉัน” กรรณิการ์ว่า “ที่แกว่าแปลกน่ะ แกหมายไปทางดี แต่ครูที่ไม่ชอบเขาก็ว่าแปลก แต่ความหมายไปในทางไม่ดี แต่ว่่าเรื่องเธอนี่นะ มันจะอะไรไปทางไหนกัน?”

“เธอคงสังเกตเรื่องฉันกับอดิศัยแล้ว เธอไม่ใช่คนโง่” จันทิราว่า

“สังเกตว่ายังไง?”

“เออ ก็สังเกตว่าเขารักฉันนะซิ เขารักมาตั้งนานแล้ว เขาบอกว่าฉันไม่ควรจะคอยวิทิต”

“แล้วเธอว่ายังไง?”

“ฉันอยากรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ คุณป้าสังเวียนแล้วก็คุณป้าบ้านนี้ แล้วก็พี่ ๆ น้อง ๆ เขาจะว่ายังไงกัน”

“ไม่ใช่” กรรณิการ์ชักจะละล่ำละลัก “แล้วเธอละ เธอว่าอย่างไร?”

“แล้วฉันก็อยากรู้ไงละ ว่าใคร ๆ จะว่ายังไง”

“ใจเธอว่าเขาควรจะว่าอย่างไรล่ะ?” กรรณิการ์ย้อนถามอีก

“เอ ฉันถามเธอ ทำไมเธอกลับมาย้อนถามฉันล่ะ”

กรรณิการ์นิ่งตรึกตรอง “แปลว่าเธออยากให้ฉันเดารึ หรือจะให้ฉันสืบดู?”

“อยากให้เดาถ้าตอบไม่ได้ เธอเป็นคนพูดคุยกับพี่ ๆ น้อง ๆ ทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็ก”

“เอ ถ้าจะเดาก็เห็นจะเดาว่า คุณลุงจิตนะคงไม่ว่าอะไร” กรรณิการ์ตอบภายหลังที่ได้ตรึกตรองเล็กน้อย “คุณป้าสังเวียนคงอาจถึงร้องไห้ร้องห่ม เห็นเป็นว่าแช่งลูกท่านไม่ให้กลับมาก็เป็นได้ แล้วคุณพ่อคุณแม่ของเธอเองล่ะ?”

“คุณพ่อฉันน่ะเรอะ คุณติ๊ดเป็นคนวิเศษ เป็นคนกู้ชาติ เธอก็รู้อยู่แล้ว” จันทิราว่า “คุณแม่...ฉันเดาไม่ถูก ที่จริงเราไม่ได้หมั้นกัน เป็นแต่เข้าใจกันเท่านั้นทั้งผู้ใหญ่และตัวเรา”

“ก็แล้วตัวเธอเล่า?” กรรณิการ์อดใจไว้ไม่ได้ เกิดอยากรู้จนบังคับตัวไม่อยู่ “เธอหายรักคุณติ๊ดแล้วเหรอ?”

“มีหรือเธอ หายรัก” จันทิราตอบพลางน้ำตาก็ไหลพรากออกมาจากดวงตาโดยไม่ทันบังคับตัว “ฉันแค้นใจเหลือเกิน ฉันจะมาคอยอยู่ทำไม”

“เอ ทำไมเธอไม่คิดว่าเขารักชาติจริง ๆ บ้างเล่า”

“มันเกี่ยวอย่างไรกัน รักชาติ” จันทิราค้าน “รักชาติจะกลับมารักที่เมืองไทยไม่ได้รึ เธอไม่รู้เดี๋ยวนี้เขาก็มีคนคิดต่อต้านญี่ปุ่นในเมืองไทยจ้ะ”

กรรณิการ์ไม่สามารถโต้ตอบกับจันทิราได้ หล่อนครุ่นคิดจนสติลอย จนจันทิรากล่าวขึ้น “พี่น้องของเธอ เธอก็ว่าดีซี ทีฉันเธอก็ไม่เห็นใจ ถ้าคุณติ๊ดมีเมียกลับมา ฉันจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน”

กรรณิการ์ยิ่งงงมากขึ้น หล่อนอยากถามปัญหาอีกหลายข้อ แต่กลัวจะเกิดโกรธเคืองกันมากไป จึงหาถ้อยคำหลีกเลี่ยงแล้วก็ชวนเข้านอน

แต่กรรณิการ์ประหลาดใจเป็นอันมาก เมื่อหล่อนไปเยี่ยมคุณน้าหลวงอนุมัติฯ คุณน้าจำเนียรมารดาของจันทิราได้เรียกหล่อนเข้าไปสนทนากันตามลำพัง

“แม่กรรณ แม่นิสเขาบอกว่า แม่จันเขาไปรักกับใครที่อยู่ใกล้บ้านแม่กรรณที่ภาษีเจริญ แล้วแม่กรรณก็รู้เห็นเป็นใจเรอะ?”

“ตายแล้ว” กรรณิการ์อุทาน “ทำไมยายนิสจึงพูดอย่างนั้นคะ?”

“พ่อคนนี้เป็นใคร เป็นคนอย่างไร แม่กรรณรู้อะไรบ้าง?”

กรรณิการ์ชักมีโมโหและระงับไม่ค่อยได้ดี ที่จริงสำหรับคุณนายจำเนียร กรรณิการ์มักจะมีความรู้สึกไม่มีสันถวไมตรีดีงามมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว หล่อนไม่ค่อยชอบฟังความคิดความเห็นหรือวาจาของท่าน

“คุณน้าถามเอาเองไม่ดีกว่ารึคะ มาถามหลานทำไม”

“เขาว่าพ่อแม่เป็นชาวสวน” สำเนียงของคุณนายแสดงความไม่พอใจกับอาชีพนั้น

กรรณิการ์ยิ่งระงับอารมณ์ได้ยากขึ้นอีก “แล้วยังไงล่ะคะ?” น้ำเสียงของหล่อนชักไม่นุ่มนวล

“ฉันน่ะ เห็นว่าแม่กรรณน่ะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ฉันเคยไว้ใจ นึกว่าจะเตือนกันบ้าง”

กรรณิการ์เกือบจะสะบัดหน้า แต่ยังมีสติพอจะควบคุมมารยาทได้ จึงนิ่งฟังด้วยสีหน้าเฉย ๆ “แม่กรรณรู้จักดีใช่ไหม เป็นเพื่อนของแม่กรรณใช่ไหม?”

“เป็นเพื่อนกันทั้งนั้นคะ” กรรณิการ์ตอบห้วน ๆ แล้วเพื่อจะให้การสนทนาจบลงโดยเร็ว หล่อนรีบกล่าวว่า “เรื่องนี้คุณน้าพูดกับจันทิราดีกว่าค่ะ พูดกับดิฉันไม่ได้ประโยชน์อะไรหรอกค่ะ” พูดจบก็รีบบังคับสีหน้าให้ยิ้มแย้ม หันเข้าไปทักทายน้องคนเล็กคนหนึ่งของจันทิราซึ่งวิ่งเข้ามาหามารดา แล้วก็รีบลาไป

กรรณิการ์ไม่ได้ไปที่บ้านจันทิราอีกเป็นเวลานาน จนคุณหลวงอนุมัติ ฯ มาเยี่ยมหล่อนที่บ้านของหล่อนเอง พอเสร็จการทักทายตามธรรมเนียมแล้ว ท่านก็กล่าวขึ้น

“หลาน ทำไมไม่ไปหาน้าเลย น้ามีเรื่องจะบอก คุณพ่อหลานน่ะอยู่ที่ภาษีเจริญอีกนานไม่ได้หรอกนะ บอมบ์มันจะหนักเข้าทุกที ในเรือกในสวนก็ไว้ใจไม่ได้”

กรรณิการ์อึกอัก ไม่ทราบว่าจะตอบอย่างไร “คุณน้าว่าจะไปไหนดีล่ะคะ?”

“น้าว่าเราต้องทำใจอย่างนี้ คนจะตายอยู่ที่ไหนก็ตาย แต่ว่าสำหรับคุณพ่อของหลานท่านเจ็บ ๆ ป่วย ๆ น้าว่าท่านควรจะคิดลาออกจากราชการเสียเถอะ แล้วไปอยู่บางไทร น้ามีบ้านญาติ เขามีอันจะกิน เขาคงช่วยเหลือได้ น้าพบท่านเมื่อ ๒-๓ วันนี้ ท่านบอกว่าดูออกจะไม่ไหวเข้าทุกที”

“หมอเขาบอกว่ายาไม่มีค่ะ ถ้ามียาก็ไม่ใช่โรคร้ายอะไร” กรรณิการ์ตอบ “แต่เรื่องออกจากราชการนี้เป็นเรื่องใหญ่ กรรณพูดไม่ได้หรอกค่ะ”

“น้าว่าเสาร์ อาทิตย์นี้ น้าจะไปค้างที่บ้านหลานที่ภาษีเจริญ” คุณหลวงว่า “จันทิราเขาก็ว่าจะไปด้วย หลานไปเหมือนกันใช่ไหมละ?”

พอถึงวันเสาร์ คุณหลวงอนุมัติ ฯ ก็ไปที่บ้านในคลองภาษีเจริญตามที่ท่านพูดไว้ มีจันทิราและนิสาติดตามไปด้วย คุณพระบิดาของกรรณิการ์ต้อนรับด้วยความยินดี และรับรองอย่างดีเท่าที่ภาวะสงครามจะให้ความสะดวกสบายได้

“คุณหลวงอยากรับประทานอะไรแปลก ๆ บ้าง” คุณพระถาม “อยู่ในนี้ได้กินผักสด ๆ อร่อยดีกว่าในกรุง”

จันทิราเอ่ยขึ้น “คุณพ่อคะ คุณพ่อรับประทานแกงยอดมะพร้าวไหมคะ? จันจะไปหามาให้”

“จันจะไปหามาจากไหนล่ะ พ่อไปช่วยหาด้วย” แล้วสองพ่อลูกก็ลุกขึ้นเหมือนกับนัดกันไว้แล้ว ยังไม่ทันที่ฝ่ายเจ้าของบ้านจะกล่าวโต้แย้งหรือส่งเสริม คุณหลวงกับจันทิราก็ออกมาที่ท่าน้ำ คุณหลวงพยักหน้าเรียกกรรณิการ์ให้ออกมากับท่านด้วย แล้วท่านก็เรียกเรือจ้างลำหนึ่ง พอกรรณิการ์ลงตามท่านไปเรียบร้อยแล้ว จันทิราก็ออกคำสั่งให้แจวเข้าคลองเล็กใกล้ ๆ นั้น

เมื่อเรือแจวเข้าคลองเล็กมาได้ไม่ถึงสิบนาทีก็ถึงบ้านบ้านหนึ่งมีเขื่อนทำด้วยไม้มะพร้าวอย่างสวยงามสำหรับท้องที่เช่นนี้ มีท่าน้ำเล็กๆ มีต้นเฟื่องฟ้าปลูกบนหลังคาท่าน้ำ กำลังออกดอกสีชมพูสล้าง ใกล้ท่าน้ำมีเรือนไม้สักเป็นเรือนไทยแฝด มีชานกว้างแล่นกลางระหว่างเรือนสองหลัง ลักษณะบอกความมีอันจะกินของเจ้าของบ้าน

จันทิราบอกให้เรือเทียบเข้าไปที่ท่าน้ำ แล้วตนเองก็ขึ้นจากเรือ คุณหลวงยังนั่งอยู่ในเรือ จันทิราเดินขึ้นไปในบ้าน สักประเดี๋ยวก็มีชายกลางคนลงจากเรือนเดินมาที่ท่าน้ำ

“คุณพ่อคะ” นี่คุณลุงเดชค่ะ จันทิราแนะนำ “คุณลุงเดชบอกว่า ถ้าต้องการอะไรในสวนให้มาหาค่ะ”

ชายที่จันทิราเรียกว่าคุณลุงเดชร้องชวนเชิญให้คุณหลวงอนุมัติขึ้นจากเรือ คุณหลวงก็ขึ้นไปทักทายปราศรัย และเรียกกรรณิการ์ให้ขึ้นไปด้วย

กรรณิการ์ทราบได้ทันทีว่านายเดชคือบิดาของอดิศัย และมีความใคร่รู้เป็นอย่างยิ่งว่า จันทิรามีแผนการอย่างไร แต่ระหว่างที่คุณหลวงอนุมัติและจันทิรากับตัวหล่อนเดินชมบริเวณสวนของนายเดชอยู่นั้น ก็ไม่มีคำพูดหรือกิริยาอาการเป็นที่ผิดสังเกต หรือชวนให้คิดว่าเป็นการเยี่ยมเยือนผิดจากธรรมดาอย่างไร เมื่อเวลาล่วงไปประมาณหนึ่งชั่วโมงแขกทั้งสามก็ลาเจ้าของบ้าน โดยจันทิราได้ยอดมะพร้าวมาแกงสมความปรารถนา

“คุณรับแขกแบบนี้เสมอรึ?” คุณหลวงถามเจ้าของบ้าน “ถ้ารับแขกด้วยการโค่นต้นมะพร้าวให้ต้นหนึ่งทุกทีไปเห็นจะแย่”

นายเดชไม่อธิบายว่าอย่างไร เขาเดินนำแขกขึ้นไปบนเรือนพลางเรียกภรรยาให้ออกมาช่วยรับรอง แต่ไม่ได้ผล มีแต่เด็กอายุประมาณ ๑๒ ขวบออกมาบอกว่า คุณแม่ว่ายังไม่ได้ผลัดผ้าออกมาไม่ได้ ในที่สุดคุณหลวงก็ลากลับโดยไม่ได้พบภรรยานายเดช

คืนวันนั้นในห้องที่กรรณิการ์นอนร่วมกันกับจันทิรา พอปลอดคนไม่มีน้อง ๆ ของกรรณิการ์ อยู่ในระยะที่จะได้ยิน จันทิราก็กล่าวขึ้น

“ว่าไง พอจะเป็นญาติกับเธอได้ไหม? เจ้าของสวนมะพร้าว”

กรรณิการ์กลืนน้ำลายหลายอึดใจกว่าจะรวบรวมสติได้ “เธอจะเอายังไงกันนี่ จันทิรา?”

“ฉันยังไม่รู้จะเอายังไง” จันทิราตอบ “ถ้าไม่ใช้ไม้นี้ก็ไม่สามารถให้คุณพ่อมาได้ ตัวฉันเองก็ไม่แน่ใจแม่ผัวชนิดที่ไม่ยอมผลัดผ้าออกมารับแขกว่าเราจะทนได้ไหม”

“เธอรักอดิศัยหรือเปล่า? ข้อสำคัญน่ะ” กรรณิการ์ว่า

“ฉันยังรักวิทิตหรือเปล่า นั่นซีปัญหาใหญ่”

“แล้วเธอให้อดิศัยเขาหวังอะไรจากเธอ?” กรรณิการ์มีความรู้สึกเหมือนอยากจะร้องไห้ ราวกับตัวหล่อนเป็นน้องหรือเพื่อนสนิทของอดิศัย

“ทำไม จะต้องบอกว่าอะไร ก็พาคุณพ่อมาให้รู้จักกับคุณพ่อของเขา มันผิดร้ายตรงไหน” แล้วพูดต่อไป

“เธอรู้ไหม เวลานี้น่ะ มีคนไทยติดต่อกันกับฝรั่งได้ คนไทยบางคนก็อยู่แต่อินเดียนี่เอง ถ้าวิทิตรู้ว่าฉันจะไม่คอย เขาอาจเปลี่ยนใจก็ได้”

“เปลี่ยนเป็นอะไรกัน” เสียงของกรรณิการ์เหมือนเสียงคนกำลังจะร้องไห้ “เธออย่าเล่นกับชีวิตนะจันทิรา ถ้าเธอรักอดิศัยฉันไม่ว่าเลย”

“เธออย่าเพ่อตกอกตกใจเลย” จันทิรากลับเป็นฝ่ายปลอบ “ยังมีเวลาหรอก อดิศัยเขาก็ต้องไปปักษ์ใต้ ยังไม่กลับมา ฉันทำทางเอาไว้ ดูซิคุณพ่อคุณแม่จะว่าอย่างไร”

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจันทิรากับอดิศัยได้สิ้นสุดลงอย่างเร็วโดยไม่มีผู้ใดคาด กล่าวคือ แทนที่จะเป็นฝ่ายครอบครัวของจันทิราจะเป็นผู้วินิจฉัย และพิพากษาว่าจะสนับสนุนความสัมพันธ์นั้นต่อไปหรือไม่ กลับกลายเป็นฝ่ายมารดาของอดิศัยเป็นผู้ยื่นคำขาด นายเดชและภรรยาเป็นคนกว้างขวางในละแวกบ้านนั้น เสียงลือเล่าเรื่องนี้ก็ได้มาเข้าหูของกรรณิการ์และกรรณิการ์ก็ได้ยินมาอีกต่อหนึ่ง

“แม่เขาบอกนายศัย” ญาติของกรรณิการ์เล่า “หนอย จะหาลูกสะใภ้มาให้ทั้งที ให้มาดูตัวแม่ผัว ยังจะด้านหน้าไปรักเขาได้ เขาดูถูกแม่ตัวถึงเพียงนั้นอ่านดูก็ออกหมด อย่าเห็นว่าเป็นชาวสวนละก็ไม่ได้กินข้าวนะ ไม่ใช่ชาวสวนกินแกลบนะ”

ญาติผู้นั้นเล่าต่อไปว่า นายเดชได้เป็นทนายฝ่ายลูกชาย พยายามเกลี้ยกล่อมให้ภรรยาโอนอ่อนตามลูกชายแต่ไม่ได้ผล “พี่เจือแกไม่เหมือนคนอื่น ๆ หรอกค่ะ” ญาติผู้นั้นกล่าวต่อไป “ลงแกว่าไม่ละก็อินทร์พรหมอะไรก็ไม่มีประโยชน์ทั้งนั้น เรือกสวนก็ของแก ของพี่เดชไม่เท่าไหร่หรอกค่ะ”

ประมาณอีกสักเดือนหนึ่งต่อมา ทั้งคลองภาษีเจริญก็ได้ข่าวว่านายเดชและภรรยาได้ไปหมั้นลูกสาวของคหบดีในตำบลนั้นให้แก่ลูกชาย คหบดีนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงหมอนบิดาจันทิรา แต่ว่าเป็นคุณหลวงที่ไม่เคยทิ้งอาชีพทำสวน และไม่เคยทิ้งถิ่นไปอยู่ในพระนคร

กรรณิการ์เกือบจะกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่วันที่หล่อนรู้ข่าวหมั้นของอดิศัย หล่อนก็เกือบแน่ใจว่าสายสัมพันธ์ระหว่างจันทิรากับวิทิตจะไม่เป็นไปตามความฝันใฝ่ของวงศ์ญาติ จันทิราจะต้องพยายามหาคู่ให้ได้ และจันทิราจะรอคอยจนสิ้นสงครามไม่ได้ เพราะถ้าหากวิทิตไม่ซื่อตรงต่อหล่อน และพาภรรยามาจากต่างประเทศ หรือจากที่ใดก็ตาม จันทิราจะต้องถือว่าเป็นความอัปยศอดสูอย่างยิ่งยวด

เหตุการณ์สงครามและบ้านเมืองที่ช่วยให้ความคาดคำนึงของกรรณิการ์เป็นความจริงขึ้นมา คือพอย่างเข้าฤดูฝน ระหว่างที่ครอบครัวที่อพยพไปอยู่ในย่านตามชานพระนครเตรียมพาบุตรหลานกลับมาเข้าโรงเรียนตามที่กำหนดไว้ว่าจะเปิด ก็มีการทิ้งระเบิดเวลากลางวันในพระนคร โรงเรียนหลายโรงได้รับความเสียหายหนักจากลูกระเบิด รัฐบาลจึงสั่งให้ปิดโรงเรียนในพระนคร คนที่มีฐานะพอจะไปอยู่ต่างจังหวัดได้ก็พากันอพยพไป

ญาติและมิตรที่เคยสนิทสนมกันที่ใกล้ชิดกับกรรณิการ์ต่างก็มาปรึกษากันว่า ควรจะทำอย่างไรดี จะไปอยู่ที่ไหนที่ลูกหลานจะได้เล่าเรียนพอสมควร ไม่เสียเวลาไปเปล่า ๆ จะอยู่ที่ไหนที่จะมีอาหารสมบูรณ์พอสมควร อยู่ที่ไหนที่จะมีแพทย์เยียวยาเมื่อป่วยไข้ เมื่ออยู่ที่ไหนจึงจะไม่เดือดร้อน จากความรบกวนทางประสาท และปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย

ในที่สุด สุธิราเป็นผู้ตัดสิน คือท่านเจ้าคุณบิดาของหล่อนได้ไปที่หมู่บ้านที่เป็นที่อาศัยของญาติซึ่งยังมีอาชีพทำนาไกลจากจังหวัดอยุธยาประมาณสองชั่วโมงทางเรือแจว ท่านได้ลงทุนปลูกสร้างบ้านไม้มุงจาก ทำเป็นโรงเรียนสองห้องเรียน สุธิรารับเป็นครูใหญ่ ท่านเกณฑ์ให้กรรณิการ์และจันทิราเป็นครูผู้ช่วย และเชิญแกมบังคับให้ครอบครัวของหญิงทั้งสองอพยพไปอยู่ที่ตำบลนี้ และอนุญาตให้ชักชวนครอบครัวคนอื่น ๆ ที่ประสงค์จะให้ลูกหลานได้เรียนอพยพไปอยู่ที่ตำบลนี้ด้วยกัน โดยท่านเป็นผู้ติดต่อขอให้ชาวบ้านนั้นยอมให้เช่าบ้านบ้าง ท่านช่วยในการก่อสร้างบ้าง โดยเฉพาะคุณพระชรินทร์ บิดากรรณิการ์ ทั้งญาติและมิตรมีความเห็นว่าท่านควรลาออกจากราชการและไปรักษาตัวเพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์ดีกว่าที่จะทนอยู่ใกล้พระนคร เพื่อจะได้ไปทำราชการบ้างเป็นบางวัน เวลาที่มีความรู้สึกสบายพอสมควร เพราะถึงแม้จะไม่รวยแต่ก็พอมีทรัพย์สมบัติเลี้ยงตัวได้ และบุตรธิดาก็จวนจะจบการศึกษาพอจะหารายได้บ้างแล้ว คุณแม่ของกรรณิการ์อ้อนวอนอย่างจริงใจ คุณพระจึงตัดสินใจทำตาม แล้วครอบครัวของจันทิราของกรรณิการ์และคุณสังเวียนมารดาของวิทิตและบุตรที่ไม่ได้รับราชการก็อพยพไปอยู่ยังตาบลที่ท่านบิดาของสุธิราแนะนำ

ที่ตำบลซึ่งญาติและมิตรกลุ่มนี้อพยพไปอาศัยไม่มีไฟฟ้า อันทำให้คุณหลวงอนุมัติฯ อึดอัดมาก เพราะท่านต้องการฟังวิทยุ ท่านจึงลงมาอยุธยาบ่อยที่สุด เป็นผลให้จันทิราทิ้งการสอนตามท่านมาด้วยบ่อย ๆ ที่จริงคุณหลวงอนุมัติ ฯ พอใจที่จะให้กรรณิการ์เป็นเพื่อนเดินทางกับท่านมากกว่าบุตรีของท่านเอง เพราะอย่างที่หนึ่งท่านต้องการคุยกับกรรณิการ์ถึงชัยชนะที่ฝ่ายประชาธิปไตยมีอยู่เรื่อย ๆ และกรรณิการ์มีกำลังกายสมบูรณ์ เพราะเป็นเด็กซนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ย่อมจะช่วยท่านพายหัวได้ดีกว่าจันทิรา ตัวท่านกับเด็กผู้ชายชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งท่านจ้างมาเป็นคนใช้ส่วนตัวของท่าน เป็นผู้ผลัดกันแจว ทั้งนี้เพื่อท่านจะได้เข้ามาที่จังหวัดบ่อย ๆ คนใช้จะบ่นว่าเหนื่อยมากก็ไม่ได้ แต่กรรณิการ์ก็ไม่ค่อยยอมทิ้งลูกศิษย์ และผลของการที่ท่านเข้ามาที่จังหวัดบ่อยๆ พร้อมด้วยจันทิรานี้เอง ความคาดหมายของกรรณิการ์เกี่ยวกับจันทิราก็กลายเป็นความจริงขึ้น

จันทิรามีโอกาสได้พบกับเศรษฐีหนุ่มคนหนึ่ง นายบรรเลง ตีรสกล และนางสาวบรรโลม พี่สาวไม่มีบิดามารดา มีทรัพย์สมบัติพอที่จะไม่ต้องทำราชการและไม่ต้องห่วงกิจการในกรุงเทพ ฯ สองพี่น้องมาซื้อที่ดินและปลูกบ้านอยู่ที่จังหวัดอยุธยา และนายบรรเลงมีความสามารถโดยวิธีใดวิธีหนึ่งที่จะหาน้ำมันสำหรับใส่เรือยนต์วิ่งมาหาจันทิราที่ตำบลที่ไปพักอยู่ได้ไม่ขาด

ญาติมิตรทุกคนก็ทำใจรับสถานการณ์นั้น แม้แต่คุณสังเวียนก็ตัดใจกล่าวว่า “มันไม่ใช่เนื้อคู่กันแล้วละกับพ่อติ๊ด พ่อติ๊ดก็ไม่มีข่าวคราวมาเลย จะมาให้เขารอคอยไป ๆ อย่างไรได้”

ในกรณีนายบรรเลงนี้ คุณนายจำเนียรเป็นทนายฝ่ายลูกสาวเต็มที่ “ใครจะว่าอะไรก็ช่างเถอะลูก แม่ว่าจะมานั่งคอยลมคอยแล้งอย่างไร ข่าวคราวอะไรก็ไม่มี สงครามเมื่อไรจะเลิก เดี๋ยวตายเสียก่อนจะว่าอย่างไร”

“อยากได้ลูกเขยเศรษฐีก็พูดออกมาเสียเถิดน่า” คุณหลวงอนุมัติฯ ว่า “สงครามน่ะมันไม่ไปอีกกี่มากน้อยหรอก ถ้าอยากคอยเจ้าติ๊ด อีกไม่กี่เดือนก็จะรู้ข่าว”

“ฉันอยากให้ตำรวจเขาจับไปเสียเหลือเกินคุณนี่” คุณนายจำเนียรว่า “พูดราวกับเป็นแนวที่ห้า”

“พวกนี้มันมีความคิดกันแต่เรื่องผัว ๆ เมีย ๆ เท่านั้นหลาน” คุณหลวงว่าแก่กรรณิการ์ “น้าน่ะไม่ว่าอะไรหรอก สำหรับยายหนู จะคอยเจ้าติ๊ดหรือไม่คอย เมื่อรักกันมันก็เพิ่งรุ่นหนุ่มรุ่นสาว ป่านนี้เจ้าติ๊ดจะมีเมียแหม่มไปแล้วก็ไม่รู้ น้าเป็นห่วงแต่บ้านเมืองจะเป็นขี้ข้าเขา เสียแรงรักษามาได้เจ็ดแปดร้อยปี แต่นี่ก็เบาใจแล้ว หลานเห็นเมฆทูตแล้วไม่ใช่รึ”

เมฆทูต” คือหนังสือข่าวที่ฝ่ายสหประชาชาติทิ้งลงมาทางเครื่องบินลาดตระเวน มีข้อความว่ามีไมตรีจิตต่อประชาชนไทย จะถือว่าแต่รัฐบาลเท่านั้นที่เป็นศัตรูแก่เขา

“มันจะเลวจะร้ายอย่างไรก็ตาม” คุณหลวงว่า “อังกฤษไม่เคยโกหกกันอย่างด้าน ๆ จะทำอะไรก็เป็นผู้ดี คนอย่างนี้พอพูดกันได้นะหลาน จำไว้เถอะน้าเคยเห็นโลกมามาก คนเราอย่าไปคิดให้เขาเป็นพระอริยเจ้า เอากันแต่เพียงเป็นเย็นเติลแมนก็พออยู่กันได้ อย่าให้มันดื้อ ๆ ด้าน ๆ บ้า ๆ บอ ๆ ก็แล้วกัน”

ในบรรดาญาติมีคุณจิตคนหนึ่งที่แสดงความไม่พอใจในนายบรรเลง

“คุณหลวง” ท่านกล่าวแก่บิดาของจันทิรา “คุณหลวงลองคิดดูเสียให้ดี ๆ นะ เจ้าบรรเลงนี่มันไปเอาเงินมาจากไหน มันไปเอาน้ำมันมาวิ่งเรือยนต์ไปมาเดือนหนึ่งตั้งหลายเที่ยวนี้ได้อย่างไร”

“ผมว่าคนที่จะสืบรู้ได้ก็มีแต่คุณจิตแหละ ถ้าข้องใจก็รีบสืบให้ผมเร็ว ๆ เพราะทางฝ่ายผู้หญิงดูเขาอยากได้กันแทบจะตายอยู่แล้ว”

คุณนายถมยาภรรยาคุณจิตก็เป็นทนายแก้ต่างนายบรรเลงด้วย เมื่อทราบจากสามีว่าคุณหลวงอนุมัติ ฯ วานให้ไปสืบประวัติของนายบรรเลง คุณนายก็ว่า

“คุณละอย่าไปยุ่งกับเขามากนักนะ แม่จำเนียรเขาจะว่าเราช่วยหวงแม่จันไว้ให้หลานชายเรา”

“เอ้อ เหตุไม่สมผลเลยเธอเอ๋ย” คุณจิตกล่าวพลางถอนใจ “ฉันจะไปหวงแม่จันไว้ให้เจ้าติ๊ดทำไม”

“แม่จันแกชอบของแกมากนะนายคนนี้นะ ดูหน้าตาแกยิ้มย่องผ่องใสเวลานายบรรเลงมา แล้วก็ที่ไปชอบพอกันมาก ก็เพราะคุณพ่อพาไปอยุธยาบ่อย ๆ ไม่ใช่รึ?”

“เธอก็อยากได้หลานเศรษฐีเหมือนกันใช่ไหมล่ะ?” คุณจิตดักคอ

“เป็นเสียอย่างนี้ละ คุณน่ะ” ภรรยาท่านพ้อ

มีการกล่าวขวัญกันถึงนายบรรเลงต่อไป คุณแม่ของกรรณิการ์ซึ่งเป็นคนที่ไม่ค่อยพูดถึงใครในทางร้าย กล่าวว่า “ฉันดูเขาก็เรียบร้อยดี แต่แกมีอะไรฉันบอกไม่ถูก มันเรี่ยม ๆ ลื่น ๆ ไม่เหมือนพวกเราอย่างไรก็ไม่รู้ ส่วนแม่บรรโลมพี่สาวน่ะ เรียบร้อยเป็นผู้ดี๊ผู้ดี”

“ไม่แปลกดอกคะ” สุธิราเป็นคนอธิบายเพราะเห็นโลกมามากกว่าญาติมิตรในกลุ่มนี้ “พวกตระกูลจีนนี่เป็นอย่างนั้น พอเป็นไทยสักแค่ชั้นหลานพวกผู้หญิงก็เรียบร้อย กิริยามารยาทงดงามเป็นผู้ดีไทยทีเดียว แต่ผู้ชายละก็มันยังมีอะไรแปลก ๆ อยู่บ้าง เห็นจะเป็นเพราะไปเรียนหนังสือเมืองฝรั่ง หรือเมืองจีนฮ่องกงหรืออะไรอย่างไรนั้น ดิฉันมีเพื่อนมีฝูงแบบนี้หลายคน”

จันทิรามิได้มาขอความเห็นหรือแสดงความรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับนายบรรเลง กรรณิการ์ก็มิได้แสวงโอกาสจะถามหรือฟังความจากจันทิรา เวลาที่จันทิราบังเอิญได้อยู่กับกรรณิการ์สองต่อสอง บางทีจันทิราก็รีบหนีไปหรือรีบหาผู้อื่นมาร่วมวงสนทนาให้เป็นสามเป็นสี่ หรือบางทีเมื่อไม่มีโอกาสจะทำเช่นนั้น หล่อนก็มีทีท่าท้าทายให้กรรณิการเริ่มก่อน แต่กรรณิการ์ก็ไม่ถามและไม่เริ่มเรื่องอย่างใด ที่จะทำให้ต้องต่อไปถึงเรื่องส่วนตัวของจันทิรา ทั้งที่ตลอดเวลากรรณิการ์มีความพะวงสงสัยอย่างหนักที่สุด แต่หล่อนรู้ว่าจันทิราจะไม่สามารถตอบปัญหาหล่อนได้.

ปัญหาของกรรณิการ์หล่อนได้นำไปถามสุธิรา “คุณน้าคะ ความรักนี่มันอะไรกันคะ?”

“โอ เรื่องความรัก เอามาถามโอลด์เมดได้รึ” สุธิราว่า

“แหม กรรณเกลียดคำนี้จริง ทำไมคุณน้าต้องพูดอย่างนี้ด้วย”

“อ้าว ก็สมัยนี้พวกเธอนี่เรียกพวกน้าอย่างนี้นี่” สุธิราว่า “เธออย่าหลีกเลี่ยงชีวิตนะกรรณิการ์ คำเหล่านี้คารมเหล่านี้ มันมีความสำคัญแก่ชีวิตมากทีเดียว”

“มากพอที่จะให้จันทิรารีบฉวยผู้ชายให้ได้คนหนึ่ง” กรรณิการ์ว่าความในใจออกมาโดยเผลอสติ

“สำหรับจันทิราน้าไม่รู้” สุธิราว่า “การที่แกจะแต่งงานกับนายบรรเลงคงมีเหตุผลหลายอย่าง แต่คงไม่ใช่เพราะกลัวเป็นโอลด์เมดกระมัง เพราะแกเป็นคนสวย และจะสวยไปอีกนาน”

“มันแปลกนะคะ คุณน้า” กรรณิการ์ปรารภ “กรรณว่ามันน่าจะเป็นอย่างคุณน้าว่า แต่แท้จริงในบรรดาเพื่อน ๆ ของกรรณยิ่งเป็นคนสวย ดูเขาต้องแข่งกันว่าใครจะเร็วกว่ากันคะ ส่วนไอ้คนไม่สวยก็ยอมแพ้ไปเลย ก้มหน้าก้มตาเรียนหนังสือ แต่กรรณไม่ได้สนใจอย่างนั้นดอกค่ะ ที่กรรณถามน่ะ ถามว่าคนรักกันนี่ไม่ใช่สำหรับเห็นอกเห็นใจ สำหรับถนอมน้ำใจ สำหรับอภัยกัน หรืออะไร ๆ อย่างนี้หรือคะ อย่างกรรณรักคุณลุงจิตมาตั้งแต่เด็ก ๆ คุณลุงจิตทำอะไรที่ใคร ๆ เขาว่าน่ารำคาญหรือว่าไม่สมควรอย่างไร กรรณก็เห็นละว่าน่ารำคาญสำหรับเขาจริง แต่กรรณไม่รำคาญ และถึงรำคาญกรรณิก็ทนได้ บางทีก็น่าเอ็นดู เช่นท่านพูดอังกฤษเสียงแปลก ๆ ของท่าน กรรณก็ว่ามันขันดี”

“สำหรับน้า น้าก็ว่าเหมือนกรรณน่ะแหละ” สุธิราตอบ “แต่คงผิดไปกระมัง มันคงไม่ใช่ความรักของผู้หญิงผู้ชาย มันจะเป็นความรักของญาติกระมัง เช่น น้าก็มีความรู้สึกอย่างที่กรรณว่าต่อคุณพ่อ ท่านมีอะไรไม่ดี เราก็ลืมหมด หลับหูหลับตาหมด จำได้แต่อีตรงที่เราอยากจำ”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ