แอนน์ ภรรยาวิทิตเป็นหญิงสาวมีอายุแก่กว่าจันทิราเล็กน้อย พี่น้องทั้งหลายพยายามหนักหนาที่จะเอาความจริงว่า หล่อนมีอายุมากกว่าตัววิทิตเองหรือเปล่า แต่คนที่อาจสบความจริงนั้นได้ก็คือกรรณิการ์ สุจิรา และบรรโลม แต่ทั้งสามคนไม่ร่วมมือ จึงไม่มีผู้ใดรู้อายุที่แท้จริงของแอนน์ เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าพิศวงสำหรับญาติทั่วไป ต่างกระซิบกระซาบโจษจันกันไปว่า “แหม่มนี้มันแปลกค่ะ มันปิดอายุกัน”

แอนน์เป็นหญิงชนิดที่ทำให้คนถกเถียงกันได้มาก หล่อนมีผมสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งบางคนก็ว่าสวย บางคนก็ว่าไม่สวย นัยน์ตาของหล่อนเป็นสีที่มองดูจากด้านหนึ่งในแสงสว่างอย่างหนึ่งเป็นสีน้ำเงิน ในแสงสว่างที่ผิดกันไป ละผู้ดูดูจากด้านที่ผิดกันไป นัยนตานั้นก็เป็นสีเทาแกมม่วง รูปร่างของหล่อนไม่เตี้ยไม่สูงสำหรับผู้หญิงอังกฤษ และเมื่อเดินคู่กับวิทิตก็มองดูไล่เลี่ยกัน ผิวของหล่อนไม่ดูละเอียดหรือหยาบ ไม่ดูขาวไม่ดูชมพู บางเวลาก็ดูซีดไปบ้าง บางเวลาที่มีสีโลหิตตามปกติของคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์

วันที่เรือเข้าเทียบท่า ญาติใหญ่และเด็กที่สามารถไปได้ก็ไปรับความอยากรู้อยากเห็นประสมกับความยินดีที่จะได้พบกับวิทิต ซึ่งเป็นคนที่ญาติส่วนมากเคยรักใคร่ มีความภาคภูมิใจว่าเป็นคนมีความสำเร็จคนหนึ่ง วิทิตได้พาแอนน์เข้าไปแสดงคารวะต่อมารดาก่อนคนอื่น ทุกคนเห็นได้ว่าแอนน์ได้ฝึกซ้อมกิริยาสำหรับโอกาสนี้มานาน จึงเข้าไปน้อมไหว้ใกล้ตัวคุณสังเวียนด้วยกิริยาที่แนบเนียนพอสมควร แต่ก็ไม่แนบเนียนพอที่จะห้ามไม่ให้ญาติรุ่นเด็กแอบหัวเราะคิกคักได้โดยเด็ดขาด

ต่อจากนั้นญาติทั้งหลายก็วิจารณ์กันไปมาว่าแอนน์เป็นคนสวยหรือไม่สวย อย่างไรก็ดี ความเห็นส่วนมากสอดคล้องกันว่า “ถ้าเปรียบกับพี่จัน (หรือแม่จัน หรือน้องจัน) สู้กันไม่ได้เด็ด” แล้วญาติทั้งหลายก็มีความพอใจ คล้ายกับว่าชาติไทยทั้งชาติได้ชัยชนะเหนือชาติอังกฤษทั้งชาติ เพราะเหตุว่าจันทิราสวยกว่าแอนน์

การพบกันระหว่างวิทิตกับจันทิราเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ญาติทั้งหลายคาดหมาย โดยมากมีความห่วงใยอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทั้งสองมีญาติมิตรรวมกันอยู่หลายทาง ไม่มีวันใดก็วันหนึ่งจะต้องพบกับจังหน้า แต่เหตุการณ์รุกเร็วกว่าที่คาดหมายไว้ คือท่านเจ้าคุณบิดาของสุธิราได้ถึงแก่อสัญกรรม และวิทิตกับจันทิราก็ได้พบกันที่งานศพ

กรรณิการ์ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นหล่อนจึงมิได้เชื่อสนิท แต่หล่อนก็อดจะหวั่นไหวและหวาดเกรงความยุ่งยากไม่ได้

“แหม พี่กรรณ” วิภาเล่า “พอพี่จันเดินเข้ามา หน้าพี่วิทิตแดง” หล่อนเน้นคำ “แดง” จนเสียงวรรณยุกต์ เปลี่ยนไปเป็นเสียงที่ครึ่งตรีครึ่งโท เขียนลงเป็นตัวอักษรไม่ได้ “หน้าพี่วิทิตแดงขึ้นจนเห็นชัด นัยน์ตาก็วาวเชียว พี่จันเมื่อคืนนี้ก็สวยเหลือเกิน”

กรรณิการ์เห็นภาพจันทิราในชุดไว้ทุกข์เมื่อคืนที่กล่าวถึงได้ดี จันทิรากำลังตั้งครรภ์อ่อน ๆ หล่อนกำลังอวบอ้วน กำลังพอเหมาะ ผิวขาวเป็นนวลใย เครื่องแต่งกายสีดำขับผมของจันทิราให้ดำเป็นมันขลับ และนัยน์ตาคมวาวให้ดำซึ้งยิ่งขึ้นกว่าปกติ

“พี่กรรณ” นิสาเล่าในคืนต่อมาเมื่อพบกับกรรณิการ์ในงานศพอีกคนหนึ่ง “ฉุกใจได้คิดสการแล้ว เหมือนดวงแก้วตกต้องแผ่นผา” แล้วนิสาก็หัวเราะน้อย ๆ

กรรณิการ์สงบสติไว้ได้ ท่านที่ไม่เห็นว่าเรื่องของวิทิตกับจันทิราคล้ายกับเรื่องของอิเหนากับบุษบาตรงไหน พอที่นิสาจะหยิบยกกวีนิพนธ์ตอนที่หล่อนกล่าวขึ้นมาใช้อ้างอิงได้ นิสาว่าต่อไป “จริง ๆ พี่กรรณ คุณติ๊ดหน้าเปลี่ยนสีจริง ๆ พอเห็นพี่จันเข้าประตูมา เขานั่งอยู่ทางซ้ายของโกศ พี่จันเข้าประตูกลาง”

“แล้วเขาได้พูดกันไหม?” กรรณิการ์ถาม โดยกลัวว่าถ้าหล่อนไม่ถามอะไรเลย นิสาจะสรุปเอาว่าหล่อนไม่พอใจเรื่องที่นิสาเล่า

“ไม่ได้สังเกต เพราะบังเอิญคุณแม่มาเรียกให้ไปช่วยจดบุหรี่ถวายพระ” นิสาตอบ “แต่ตอนก่อนจะเลี้ยงข้าวต้ม เห็นพี่ติ๊ดเขาพูดกับคุณบรรเลง”

ถ้าพี่น้องทั้งหลายได้ทราบเรื่องราวในคืนนั้นระหว่างบรรเลง จันทิรา วิทิตกับแอนน์โดยละเอียด คงจะได้มีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอาหารปาก อาหารหู รวมทั้งได้รับความพิศวงงงวยไปด้วยอย่างขนานใหญ่

เรื่องที่แท้จริงนั้น พอจันทิราเหลือบเห็นวิทิตนั่งอยู่ในแถวเก้าอี้ด้านของโกศ มีภรรยาชาวต่างประเทศนั่งอยู่ข้าง ๆ หล่อนก็หลบออกไปจากห้องไว้ศพอย่างว่องไว แต่พยักหน้าให้บรรเลงเข้าไปคนเดียว เพราะตามปกติญาติหรือแขกผู้หญิงในงานนั้นก็ไม่ค่อยนิยมนั่งบนเก้าอี้ มักจะเลี่ยงกันไปนั่งบนพื้นปูเสื้อที่ระเบียง ปล่อยไว้ให้แขกและญาติผู้ชายนั่งบนเก้าอี้ บรรเลงนั้นได้ทราบก่อนที่จะแต่งงานกับจันทิราว่า หล่อนได้รักอยู่กับชายที่ไปศึกษาต่างประเทศคนหนึ่ง ซึ่งไปติดสงครามไม่กลับมา แต่ไม่เคยทราบว่าเป็นผู้ใด เวลาที่เขารักจันทิรา เขามุ่งแต่จะให้ได้แต่งงานกับหล่อน เขามิได้สนใจถามซักประวัติอะไรของหล่อนละเอียดลออ ระหว่างที่เขาติดต่อกับจันทิราก็เป็นสมัยสงคราม เขาก็ไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังการสนทนาเรื่องของบุรุษสตรีในสังคมมากนัก คนที่อยุธยาก็ไม่ได้ติดใจเล่าให้เขาฟัง เพราะบรรเลงไม่ได้รู้จักสนิทสนมกับผู้ใด เป็นคนเข้าไปในถิ่นใหม่ ส่วนที่ตำบลที่จันทิราอพยพไปอยู่พร้อมกับญาติมิตรในกลุ่มของหล่อน ก็ย่อมไม่มีใครทักท้วงอะไรเป็นธรรมดา บรรโลมก็สนิทสนมอยู่แต่เฉพาะกับกรรณิการ์และสุธิรา ทั้งสองคนก็ไม่เห็นว่าเป็นธุระอะไรของตนที่จะเล่าเรื่องที่ไม่ใช่ของตนให้ใครฟัง ครั้นสิ้นสุดสงครามแล้ว บรรเลงขะมักเขม้นอยู่กับบริษัทการค้าของเขา และเพลิดเพลินเจริญสุขอยู่กับภรรยาที่รักระหว่างที่ญาติของวิทิตเตรียมบ้านและมีความกังวลในการที่จะมีสะใภ้ต่างชาติ บรรเลงก็ไม่ได้รับฟังเรื่องราวเหล่านั้น เพราะคนที่จะเล่าได้ก็คือจันทิรา และจันทิราก็มิได้เล่าให้สามีฟังทั้งที่หล่อนทราบเหตุการณ์ทุกระยะจากมารดาและน้องสาว

ดังนั้นในคืนนั้น เมื่อเห็นมีชายหนุ่มนั่งอยู่กับภรรยาชาวต่างประเทศในแถวเก้าอี้แถวที่สอง ซึ่งเป็นแถวที่บรรเลงก็เหมาะที่จะนั่งตามวัยและลำดับของความเป็นญาติมิตรของสกุลเจ้าของศพ บรรเลงก็เข้าไปนั่งใกล้ ๆ วิทิตและแอนน์

สุพรรณี น้องของสุธิราคนหนึ่งกำลังนั่งทำหน้าที่เจ้าของบ้านอยู่ ตามมารยาทผู้ดี สุพรรณีก็ถามว่า “คุณบรรเลงกับคุณวิทิตนี่รู้จักกันแล้วหรือยัง” แล้วก็แนะนำให้บรรเลงรู้จักกับแอนน์ต่อไป เสร็จการแนะนำแล้วสุพรรณี ซึ่งเป็นคนขี้ขลาดต่อเหตุการณ์ไม่ปกติ ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด แทนที่จะนั่งดูต่อไปว่า บรรเลงกับวิทิตจะสนทนาปราศรัยกันอย่างไร ดังเช่นคนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จะปฏิบัติ ก็เลยเลี่ยงออกจากที่นั่น ไปสนทนากับพระภิกษุที่หล่อนคุ้นเคยรูปหนึ่งเสีย

บรรเลงปราศรัยตามปกติ “เป็นอย่างไรบ้าง มาอยู่เมืองไทยเห็นว่าพอจะอยู่ได้ไหม?”

แอนน์ก็ตอบตามปกติว่า “อยู่ได้แน่คะ ดิฉันรักเมืองไทยมาก”

วิทิตปล่อยให้ภรรยาสนทนากับบรรเลง เขาถามถึง ทุกข์สุข “ยุงรบกวนมากไหม?”

แอนน์ตอบ “เป็นแผลไปหมดค่ะ”

“สุนัขล่ะ แถวบ้านคุณมีสุนัขเห่ามากไหม?”

แอนน์ตอบ “โอ่ มีสักร้อยตัวค่ะ ดิฉันบอกวิทิตว่า เขามาร้องเพลงต้อนรับเรา” แล้วทั้งสามคนก็หัวเราะกันอย่างขบขัน โดยเฉพาะเมื่อแอนน์เล่าว่า เวลาที่หล่อนเดินเข้าออกในซอย จะมีเด็ก ๆ คราวละ ๗-๘ คนวิ่งตามดูอย่างเอาใจใส่เป็นนิจ บางที่บรรเลงก็ถามวิทิตว่า แอนน์หมายความว่าอย่างไร ในเมื่อหล่อนใช้สำนวนอังกฤษบางสำนวนที่บรรเลงซึ่งเป็นนักเรียนอเมริกันไม่ชินหู และไม่เข้าใจ แล้วการสนทนาก็มาถึงวิชาชีพของแอนน์ บรรเลงตื่นเต้นมากเมื่อได้ทราบว่าแอนน์เคยทำงานในโรงงานใหญ่แห่งหนึ่งระหว่างสงคราม เขากำลังหาคนทำงานในหน้าที่ติดต่อกับธนาคารและบริษัทการค้าในยุโรป ถ้าเขาสามารถจะหางานให้หล่อนทำในบริษัทของเขาได้โดยไม่ให้เงินเดือนเท่าฝรั่งที่จ้างมาจากต่างประเทศ แต่ก็สูงพอสมควร หล่อนจะสนใจไหม

แอนน์กับบรรเลงสนทนากันอย่างออกรส เพราะเป็นคนรู้เรื่องธุรกิจการค้าใกล้เคียงกัน ต่างคนต่างให้ความเห็นแก่กันเกี่ยวกับภาวะการค้าหลังสงคราม และคาดคะเนเหตุการณ์เท่าที่จะคาดคะเนได้ วิทิตเป็นคนฟัง

ระหว่างที่นั่งอยู่ในรถเวลากลับบ้าน บรรเลงก็เล่าให้จันทิราฟังถึงการสนทนากับภรรยาของวิทิต “ถ้าจะได้ลาภเสียแล้ว อาจจะได้จ้างฝรั่งโดยไม่ต้องให้เงินเดือนเท่าฝรั่ง”

จันทิราฟังโดยดุษณี หล่อนไม่กล้าพูดว่าอย่างไร เพราะยังคิดไม่ออกว่าควรมีความเห็นอย่างไร ใจหนึ่งก็นึกอยากจะลองดูว่า ให้ภรรยาของวิทิตมาเป็นลูกจ้างสามีของหล่อน ดูทีรึ ว่าเขาจะยอมหรือไม่ แลจะรู้สึกอย่างไร

แต่ในระหว่างการศพของท่านเจ้าคุณนี้ ญาติมิตรทั้งหลายได้พบกันบ่อยกว่าปกติ กรรณิการ์จึงได้รับรู้เรื่องที่บรรเลงใคร่จะจ้างแอนน์จากบรรโลมภายในสองสามวัน

หล่อนรีบฉวยตัวสุธิราไปนั่งปรึกษากันสองคน “คุณน้าจะว่าอย่างไร เมื่อมันเป็นขึ้นมาจริง ๆ เราจะทำไม่รู้ไม่ชี้ หรือจะจัดการอย่างไร?”

“ทำไมไม่ให้วิทิตเขาเป็นคนตัดสิน” สุธิราแนะนำ “เขาก็รู้ดีรู้ชั่วคนหนึ่งเหมือนกัน”

“คุณติ๊ดนี่เขามีอะไรของเขาแปลกค่ะ” กรรณิการ์ว่า “กรรณไม่เข้าใจเขาหลายอย่าง แล้ว...”

“แล้วก็ยังรักจันทิราอยู่” สุธิราช่วยต่อให้ “พอเห็นศรอนงค์วันนั้น ก็แล่นทะลุตรุตรึงหรืออะไรของแก ยายนิสาน่ะ”

“ยายนิสนี่กรรณก็ไม่ค่อยเข้าใจแกเหมือนกัน” กรรณิการ์ว่า “แกจะแข่งขันกับใครเรื่องอะไรก็ไม่ทราบ ทั้งคุณติ๊ดและจันทิราต่างคนต่างก็ไม่คอยกัน จะว่าใครผิดใครถูกอย่างไร” แล้วกรรณิการ์ก็เสริมว่า “ที่จริงกรรณเป็นห่วงพวกพี่ ๆ น้อง ๆ ของเราน่ะค่ะ มากด้วยกันประเดี๋ยวพูดกันไปพูดกันมาเลยทำให้ผัวเมียเขาแตกกันทั้งสองคู่”

แต่แอนน์ในตอนนั้นก็มิได้ไปทำงานในบริษัทของบรรเลง ด้วยบรรเลงอ้างว่า การค้าบางอย่างขาดทุน จึงไม่สามารถขยายงานดังที่คาดไว้ ซึ่งแอนน์แสดงความผิดหวังมาก ทำให้บรรโลมเห็นใจ และรับว่าจะพยายามหาทางให้แอนน์ได้มีงานทำ

ฐานะของครอบครัววิทิตอยู่ในความลำบากพอควรอยู่ วิทิตได้เข้ารับราชการทันทีก็จริง แต่ตามปกติทางราชการ คนเข้าใหม่ก็ย่อมไม่ได้รับเงินเดือนอยู่หลายเดือน แอนน์มีเงินติดตัวมาบ้าง แต่ต้องปรับปรุงที่อยู่และซื้อเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับตัวและสามีหลายอย่างไม่ช้าก็ร่อยหรอไป และความไม่เคยชินต่อกันระหว่างคนในครอบครัวก็เริ่มสร้างปัญหาดังที่มีผู้คาดเอาไว้

หญิงรับใช้ที่วิภาได้จัดหามาให้แอนน์และวิทิต พอเวลาให้หลังไปได้ประมาณหนึ่งเดือนก็มาขอลาออก เมื่อวิภาซักไซ้เอาเหตุผล คนรับใช้ก็บอกว่าแหม่มจู้จี้

“ดิฉันล้างอ่างล้างหน้าตั้งสามหน แหม่มบอกว่าไม่สะอาด ให้ล้างอีก”

วิภาไม่รู้จะไปซักไซ้เอาความจริงจากพี่สะใภ้ได้อย่างไร เพราะวิภาพูดไทยด้วย แอนน์เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง และเวลาพูดอังกฤษด้วยแอนน์เข้าใจน้อยที่สุด วิภาก็รู้สึกโกรธ เพราะหล่อนไม่รู้เหตุผลของความไม่เข้าใจของแอนน์

ส่วนแอนน์นั้น ถ้าดูจากสายตายของกรรณิการ์เป็นคนเห็นอะไรเป็นของขันไปหมด แอนน์รู้สึกขบขันที่ตัวคนเดียวเป็นตุ่มเป็นแผลจากพิษยุง และคนอื่น ๆ ไม่มีอาการอย่างแอนน์ ทั้งที่ใช้ความพยายามป้องกันยุงกัดน้อยกว่า ส่วนเรื่องหมาเห่าเกรียวกราวเวลากลางคืน ก็มีแอนน์ได้ยินคนเดียว พี่น้องอื่น ๆ ก็บอกว่าไม่ได้ยิน และเวลาแอนน์ไม่เข้าใจภาษาไทย แอนน์ก็ขบขันตนเองมาก

“แยะ แปลว่าอะไร กรรณิการ์” แอนน์ถาม เมื่อหล่อนมาอยู่บ้านได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ หล่อนมิได้ออกเสียงชัด ต้องอธิบายกันนาน จนในที่สุดวิทิตเป็นคนเข้าใจ และบอกแอนน์ว่า แปลว่า มาก

“ทำไมติ๊ดมาสอนว่ามาก ทำไมไม่สอนว่าแยะ เสียตั้งแต่แรก”

“ฉันไม่ใช่อาชีพเป็นครูสอนภาษานี่นา ใครจะคิดไปถึง”

“แต่ทุกคนในบ้านพูดแยะ ไม่มีใครพูดว่ามาก” แอนน์เถียง

อีกวันหนึ่งแอนน์ถามว่า “แป๊บ” แปลว่าอย่างไร คราวนี้ยิ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจว่าแอนน์หมายถึงคำไหน กรรณิการ์บอกว่าแปลว่า ท่อน้ำ ซึ่งแอนน์คัดค้านแข็งแรงว่าเป็นไปไม่ได้ ส่งภาษากันอยู่นาน กรรณิการ์จึงเข้าใจและอธิบายให้ฟังว่า แปลว่าประเดี๋ยว แอนน์ก็ตัดพ้อถามอีกว่า ทำไมไม่สอนคำที่คนเขาพูดกัน

“อยู่ไป ๆ ก็ค่อย ๆ รู้ไปเองแหละ” วิทิตว่า “เอะอะก็จะให้สอนคำที่เขาพูดกัน ๆ ก็เขาพูดคำแปลก ๆ กันตั่งหลายร้อยคำ ใครจะไปนึกออก”

วิทิตเองก็จากเมืองไทยไปนาน สำนวนใหม่ ๆ บางสำนวนวิทิตก็ไม่เข้าใจ เช่น คำว่า “ลูกไม้” ที่แปลว่า กลอุบาย และสำนวน “ไม่ได้ความ” ที่แปลว่า “ใช้ไม่ได้

แอนน์ถามกรรณิการ์ถึงความหมายของคำหลายคำ ซึ่งกว่าจะเดากันถูกกินเวลานาน เพราะตัวคนไทยไม่เคยสำนึกว่าตัวออกเสียงอย่างไร เช่นแอนน์ถามว่า “กะได” แปลว่าอะไร ก็ต้องเสียเวลานานกว่าจะเข้าใจ แอนน์หมายถึง “ก็ได้” และ ยีบ ซึ่งกินเวลานานกว่าจะเข้าใจความหมายถึงยี่สิบ นอกจากนั้นวิภาเวลาที่พูดกับคนที่ไม่สนิทก็มักออกเสียงเรียกตนเองว่า “เดี๋ยน” แทนที่จะว่า “ดิฉัน”

ส่วนแอนน์เองเวลาพูดภาษาอังกฤษ ก็พูดตามสบาย ไม่ได้คำนึงว่าพูดกับคนต่างชาติ กว่าแอนน์จะรู้ตัวว่าจะต้องพูดช้า ๆ ให้คนไทยเข้าใจ ก็เสียเวลาฝึกหัดอยู่นาน และต้องเสียเวลาฝึกหัดนานที่จะเข้าใจสำเนียงไทยที่คนไทยใช้ขณะที่พูดภาษาอังกฤษ

แอนน์ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างมากจากบรรโลม บรรโลมแสดงความหวังดีต่อแอนน์พยายามมาเยี่ยมเยือนบ่อย ๆ ทำให้กรรณิการ์เบาใจไปหลายเรื่อง

แต่ข้อสำคัญนั้น เมื่อแอนน์ไม่เข้าใจภาษาไทย หล่อนก็ขบขันตัวเอง แต่เวลาที่พี่น้องคนใดพูดภาษาอังกฤษด้วย แล้วแอนน์ไม่เข้าใจ เขาเหล่านั้นมีความรู้สึกไม่พอใจแอนน์ ซึ่งเคราะห์ดีที่แอนน์ไม่อาจทราบเรื่องนี้ได้

การจับจ่ายใช้สอยเริ่มเป็นปัญหาอย่างจริงจัง เพราะวิทิตไม่สามารถทนให้ภรรยากินข้าวต้มกับปลาเค็มได้ ต้องซื้อขนมปัง ไข่ดาว หมูแฮม ให้ภรรยากิน เงินเดือนของวิทิตก็ไม่มาก และยิ่งเมื่อวิทิตทราบว่าน้อง ๆ ทุกคน แม้แต่สุรัตน์ก็ได้สละเงินให้แก่มารดาเป็นค่ากินอยู่ วิทิตก็อัดใจ จึงเริ่มถามถึงสมบัติของบิดา แต่พอวิทิตปรารภกับมารดาถามถึงทรัพย์สมบัติ คุณสังเวียนก็น้อยใจและเริ่มรำพันกับลูกคนอื่น ๆ

“มาถึงไม่ทันไร เขาก็ทวงสมบัติพ่อของเขาแล้ว เพราะต้องบำรุงบำเรอเมียเขา”

วิทิตไม่เข้าใจว่าเหตุใดมารดาจึงน้อยใจ เขาปรารภกับวิธาน “พอพี่ถามถึงสมบัติคุณพ่อ คุณแม่ก็ไม่พอใจ เป็นเพราะเหตุใด?”

วิธานไม่ชอบต่อล้อเถียงกับใครในเรื่องใด เขาตัดบท “ผมไม่รู้”

วิทิตจะถามวิภา ก็มีความรู้สึกว่าเขากับหล่อนห่างวัยกันมาก ในที่สุดก็ถามกรรณิการ์ “ทำไม” เขาว่า “เรื่องอะไร ๆ จะพูดกันตรงไปตรงมาไม่ได้?”

“แหม” กรรณิการ์ถอนใจ “เรื่องทรัพย์สมบัตินี่ไม่รู้จะช่วยอธิบายอย่างไร รู้แต่ว่าคุณป้าท่านบ่นว่าท่านจนมานานแล้ว” กรรณิการ์เลยยังไม่กล้าบอกวิทิตว่า มารดาของเขากำลังรอจะให้เขาใช้หนี้ค่าปลูกเรือนคุณจิต และคุณจิตนั้นก็ยังไม่รู้ว่าคุณสังเวียนยังมิได้ใช้หนี้ให้ช่างไม้ที่บรรโลมพามาให้ปลูกเรือนนั้น แต่หล่อนมีเชาวน์เกิดขึ้น จึงแนะว่า “คนที่คุณติ๊ดควรปรึกษาคือคุณลุงจิต”

“คุณอาจิตไม่อยู่ ไปหัวเมือง” วิทิตบอก “เมื่อวานซืนฉันไปเยี่ยมท่านที่บ้าน พบแต่คุณอาถมยา”

“ฉันมีความรู้สึกว่า คุณอาถมยาไม่ชอบฉัน” แอนน์กล่าวขึ้น เมื่อหล่อนจับเค้าเรื่องได้ “ไม่ใช่ไม่ชอบคนอังกฤษหรือผู้หญิงอังกฤษที่แต่งงานกับคนไทย แต่ไม่ชอบฉัน”

“ไม่เข้าเรื่อง เหลวไหล” วิทิตดุ เธออย่าเชื่อไอ้ความรู้สึกของเธอมากไปนัก

“ไม่ใช่ ฉันไม่ได้ว่าอะไร” แอนน์อธิบาย “ฉันไม่โกรธเคืองอะไร แต่ฉันมีความรู้สึกจริง ๆ”

“นั่นแหละ รู้สึกเหลวไหล” วิทิตว่า

“เขามองฉันไปมาหลายหน” แอนน์ว่า “จริง ๆ สายตาเขาแปลกมาก ฉันสังเกตจริง ๆ”

“คนไทยที่มีลูกสาว เขาไม่ชอบผู้หญิงอังกฤษที่มาแต่งงานกับคนไทยทั้งนั้นแหละ” วิทิตว่าครึ่งเล่นครึ่งจริง “ลูกสาวเขาเสียโอกาสไปคนหนึ่ง”

ระหว่างที่คอยคุณจิต แอนน์กับวิทิตก็ไม่มีคนรับใช้ แอนน์ไม่ได้แสดงความตกใจมากนัก หล่อนจัดการทำความสะอาดบ้านเรือนเอง ซักรีดเสื้อผ้าของตนเองและของวิทิต ส่วนอาหารเย็น สองสามีภรรยาก็มารับประทานร่วมมารดาและน้อง ๆ

แต่เหตุการณ์ไม่สงบอยู่ดังที่คาดหมาย วิภาไปหากรรณิการ์ที่บ้าน บ่นว่า “ติ๋งกลุ้มจัง พี่กรรณหมู่นี้ทำไมพี่กรรณหายไป”

กรรณิการ์นับวันที่หล่อนไม่ได้พบพี่น้องในครอบครัววิทิต นับเป็นเวลาสามวัน เพราะทุกวันอังคาร กรรณิการ์ก็ต้องไปงานศพท่านเจ้าคุณ

“พี่สะใภ้เขาไม่มีคนใช้ ติ๋งให้แม่บุญเลี้ยงเขาไปช่วย เขาก็ไม่ไป คุณแม่เห็นกวาดเรือนเอง ถูเรือนเองก็ไม่พอใจ ใช้ยายแต๋งให้ไปช่วย ยายแต๋งแกก็ว่าแกเรียนหนังสือ แกไม่มีเวลา เลยติ๋งกลายเป็นบ่าวพี่สะใภ้ เพราะทนฟังคุณแม่บ่นไม่ไหว”

กรรณิการ์ก็เดาไม่ถูกว่าในฐานะของแอนน์นั้น การไม่มีคนใช้เป็นการเดือดร้อนอย่างไรเพียงไหน ก็จำเป็นต้องไปดูเหตุการณ์ พอหล่อนกำลังจะเดินออกจากบ้านไปกับวิภา ธัชก็เข้าบ้านมา พอเขาได้ยินว่าหล่อนกำลังจะไปบ้านญาติ เขาก็ลากลับด้วยสีหน้าแสดงความน้อยใจอย่างยิ่ง

กรรณิการ์ไปเรือนของแอนน์ พบวิทิตกลับมาจากทำงานแล้ว แอนน์กำลังหาของหวานเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้รับประทานอยู่ และสิ่งที่แอนน์และวิทิตขาดไม่ได้ก็คือน้ำชา

แอนน์ปรารภว่า “ฉันดื่มชาจีนได้ดี แต่วิทิตบ่นทุกที ทำอย่างไรจะได้ชาที่วิทิตชอบมาให้เขาได้ ฉันไปซื้อตามร้านก็ไม่เห็นมีชาดี ๆ อะไร และก็แพงมาก”

“เธอไม่อนุญาตให้ฉันบ่นอะไรเลยรึ?” วิทิตถาม

“ฉันให้เสรีภาพในการบ่นเต็มที่ ฉันเป็นคนอังกฤษ วัฒนธรรมอังกฤษคือบ่น” แอนน์ตอบ

กรรณิการ์ไม่เข้าใจเลยว่าแอนน์หมายความว่าอะไร หล่อนถามถึงเรื่องที่แอนน์ยังหาคนใช้ไม่ได้ ว่าทำให้หล่อนเดือดร้อนแค่ไหน

“เวลาติ๊ดไม่อยู่ ฉันไม่เดือดร้อนเลย” แอนน์ตอบ “แต่เวลาเขาอยู่ฉันเดือดร้อน ถ้าเขานั่งเฉย ๆ ไม่ช่วยอะไรฉัน”

“ผู้ชายไทยไม่ช่วยเมียทำงานในบ้าน” วิทิตตอบ

“อ้า แต่เธอมีเมียเป็นคนอังกฤษ” แอนน์ว่า

“ไม่เป็นไร” วิทิตตอบ “ฉันยังเป็นผู้ชายไทยอยู่ดี” แล้วเขาก็บิดขี้เกียจอย่างยืดยาวลงนอนบนเก้าอี้ยาวแล้วหลับตา

กรรณิการ์จ้องดูสองสามีภรรยาอย่างงุนงง แล้ววิทิตก็ปล่อยหัวเราะก๊ากออกมา แล้วแอนน์ก็หัวเราะด้วย

ผลของการสืบสวนของกรรณิการ์ในวันนั้นก็คือ วิภาได้นำเรื่องไปเล่าให้ญาติทุกคนที่หล่อนพบฟังว่า “พี่กรรณเขาเป็นพระอรหันต์ ถูกหัวเราะเยาะก็นิ่งเฉย ติ๋งเผ่นเลย ทนฟังไมไหว”

กรรณิการ์ไม่รู้จะพิพากษาว่าอย่างไร และไม่กล้าไปถามสุธิราและบรรโลม เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องจุกจิก แต่วิภาขัดเคืองมาก เพราะหล่อนต้องไปช่วยพี่สะใก้รีดเสื้อผ้าของพี่ชายตามที่คุณแม่สั่งน้องเล็กให้ทำ แต่น้องเล็กไม่ทำ

ส่วนกรรณิการ์นั้น สองวันให้หลังหล่อนก็ได้รับจดหมายจากธัช

คุณกรรณ

ที่จริงผมไม่ควรเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงคุณ แต่ผมทำทั้งที่รู้ว่าไม่ควรทำ เพราะต่อจากนี้ผมจะไม่พยายามเป็นคนดีอีกแล้ว เงินที่ผมเก็บออมไว้ได้ ผมจะกินเหล้าสำมะเลเทเมาให้หมด เพราะอย่างไรชีวิตผมมันก็แค่นี้ ไม่มีราคาค่างวดอะไรกับใคร

ธัช

กรรณิการ์อ่านจดหมายแล้วก็พับเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะหนังสือของหล่อน หล่อนไม่มีเวลาจะคิดเรื่องนี้นานเท่าไร เพราะคุณแม่มาเรียกให้ไปช่วยดูว่าวิทยุของคุณพ่อเป็นอย่างไรจึงไม่มีเสียงอย่างที่เคยมี พอเสร็จจากไปช่วยคุณพ่อเรื่องวิทยุ อุทุมพรน้องชาย ซึ่งมีชื่อเรียกเล่นว่ามะเดื่อก็เข้ามาขอยืมเงิน เพราะได้ใช้เงินเดือนของตนเองหมดไปเสียแล้วตั้งแต่ค่อนเดือน และบัดนี้จำเป็นจะต้องซื้อของขวัญให้เพื่อนที่จะทำการสมรส

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ