คำนำ

มหาชาติคำหลวง เป็นหนังสือคำหลวงเล่มแรกที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้กวีนักปราชญ์ราชบัณฑิตหลายคนช่วยกันแต่งแปลคาถาภาษาบาลีเป็นคำประพันธ์ไทยหลายอย่างมีทั้งโคลง ร่าย กาพย์ และฉันท์ นอกจากจะมีสำนวนโวหารและถ้อยคำไพเราะเต็มไปด้วยรสวรรณคดีเช่นความโศก ความงามตามธรรมชาติ เป็นต้นแล้ว ยังให้ความรู้ด้านภาษาเกี่ยวกับคำโบราณ คำแผลง และคำเขมร อีกด้วย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ อธิบายไว้ในฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๐ ว่า

“หนังสือเรื่องมหาชาติคำหลวงนี้ กรรมการหอพระสมุดฯ มีปรารถนาจะใคร่พิมพ์มาช้านาน ถึงผู้ที่เป็นนักเรียนชั้นสูงก็อยากได้ พากันมาถามกรรมการหอพระสมุดฯ อยู่ไม่ขาด ว่าเมื่อไรจะพิมพ์หนังสือมหาชาติคำหลวง ที่ยังพิมพ์ไม่ได้ เพราะยังหาฉบับไม่ได้ครบ ๑๓ กัณฑ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ได้ทรงพยายามรวบรวมฉบับมหาชาติคำหลวง ด้วยมีพระประสงค์จะให้หนังสือเรื่องนี้ได้ขึ้นสู่พิมพ์ ทรงพยายามรวบรวมอยู่กว่า ๑๐ ปี ที่สุดได้ฉบับกัณฑ์อื่นๆ หมด ยังขาดแต่สักรบรรพกัณฑ์เดียว จึงต้องรอมาจนตลอดพระชนมายุของกรมพระสมมตอมรพันธุ์ เมื่อจัดตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร หาหนังสือมหาชาติคำหลวงได้อีกหลายฉบับ บางกัณฑ์มีถึง ๒ ความ ๓ ความ ต่างกัน แต่กัณฑ์สักรบรรพยังหาไม่ได้ จนหม่อมเจ้าปิยภักดีนารถ กรรมการหอพระสมุดฯ ไปเสาะหาฉบับกัณฑ์สักรบรรพมาให้หอพระสมุดฯ ได้เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ นี้ จึงเป็นโอกาสที่จะพิมพ์หนังสือมหาชาติคำหลวงได้บริบูรณ์

หนังสือมหาชาติมีหลายอย่างหลายสำนวนด้วยกัน อย่างอื่นเช่น กาพย์มหาชาติ มหาชาติกลอนเทศน์ หอพระสมุดฯ ได้ให้พิมพ์บ้างแล้ว ข้าพเจ้าเคยได้แสดงเรื่องตำนานและประวัติของหนังสือมหาชาติไว้ที่อื่นหลายแห่ง เห็นควรจะรวมเรื่องตำนานมหาชาติมากล่าวไว้ในคำนำมหาชาติคำหลวงนี้ด้วย ด้วยหนังสือมหาชาติคำหลวงนี้ นับว่าเป็นหลักหนังสือมหาชาติอย่างอื่น จะว่าด้วยตำนานเทศน์มหาชาติก่อน

ตำนานเทศน์มหาชาติ

พุทธศาสนิกชนในสยามประเทศนี้ ตลอดจนประเทศที่ใกล้เคียงนับถือกันมาแต่โบราณว่า เรื่องมหาเวสสันดรชาดกสำคัญกว่าชาดกเรื่องอื่นๆ ด้วยปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์ ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๐ อย่าง จึงเรียกกันว่า มหาชาติ แลถือว่าถ้าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้ว ก็ได้ผลานิสงส์มาก จึงเกิดเป็นประเพณีมีการประชุมกันฟังเทศน์มหาชาติทุกๆ ปี ทำเป็นการพิธีอย่างหนึ่ง ด้วยหนังสือมหาเวสสันดรชาดก แม้ตัวคาถาที่แต่งในภาษามคธยาวถึง ๑๓ กัณฑ์ ต้องเทศน์หลายชั่วโมงจึงจบ ถือกันว่าต้องฟังให้จบในวันเดียวจึงจะมีอานิสงส์กล้า ถ้าได้ทำพิธีเทศน์มหาชาติสำเร็จนิยมกันว่าเป็นสิริมงคล นํ้าที่ตั้งไว้ในมณฑลก็เป็นน้ำมนต์ อาจจะบำบัดเสนียดจัญไรได้ ประเพณีอันนี้เห็นจะมีมาในเมืองไทย ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงครองพระนครสุโขทัยเป็นปฐม แล้วมีต่อติดมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ตำนานหนังสือมหาชาติ

หนังสือมหาชาติเดิมแต่งในภาษามคธ ใครแต่งหาปรากฏไม่ น่าจะได้แปลเป็นภาษาไทยตั้งแต่ครั้งพระนครสุโขทัย แต่หากฉบับสูญไปเสีย หนังสือมหาชาติแปลเป็นภาษาไทยเก่าที่สุดที่มีอยู่ในเวลานี้ คือมหาชาติคำหลวงที่พิมพ์ในเล่มนี้ มีจดหมายเหตุปรากฏว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีรับสั่งให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตในกรุงศรีอยุธยาแปลแต่เมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๔๔ พ.ศ. ๒๐๒๕ คือว่า ตั้งแต่แต่งนับได้ ๔๓๕ ปี มาจนบัดนี้ (พ.ศ. ๒๔๖๐) เรียกชื่อว่ามหาชาติคำหลวง เข้าใจว่าหมายความในครั้งนั้น อย่างเราเรียกกันในชั้นหลังว่าพระราชนิพนธ์มหาชาติ วิธีแต่งเอาภาษามคธเดิมตั้งบาท ๑ แปลแต่งเป็นกาพย์ภาษาไทยวรรค ๑ สลับกันไป บางแห่งภาษาไทยแต่งเป็นฉันท์บ้างเป็นโคลงบ้าง ตามความถนัดของนักปราชญ์ผู้แต่งคงจะเป็นการแต่งประกวดกันให้ไพเราะแลให้ความใกล้กับภาษามคธเดิมอย่างที่สุดที่จะเป็นได้ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ จึงเป็นหนังสือซึ่งนับถือว่าแต่งดีอย่างเอกมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า แม้หนังสือจินดามณี ซึ่งพระโหราแต่งเป็นแบบเรียน แต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ยกเอากลอนในหนังสือมหาชาติคำหลวงนี้มาเป็นตัวอย่างในตำราเรียนเช่นว่า

ครั้นเช้าก็หิ้วเช้า ชายป่าเต้าไปตามชาย
ลูกไม้บทันงาย จำงายราชอดยืน
เป็นใดจึงมาคํ่า อยู่จรหลํ่าต่อกลางคืน
เห็นกูนี้โหดหืน มาดูแคลนนี้เพื่อใด

กลอนนี้ยกมาจากกัณฑ์มัทรีคำหลวง

หนังสือมหาชาติคำหลวง ไม่ได้แต่งสำหรับพระเทศน์ แต่งสำหรับนักสวด สวดให้อุบาสกอุบาสิกาฟังเวลาไปอยู่บำเพ็ญการกุศลที่ในวัด ประเพณีอันนี้ยังมีมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ เวลานักขัตฤกษ์ เช่น เข้าพรรษา ยังเป็นหน้าที่ขุนทินบรรณาการ ขุนธารกำนัน กับผู้ช่วยอีก ๒ คน ขึ้นนั่งเตียงสวดในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สวดมหาชาติคำหลวงโดยทำนองอย่างเก่าถวายเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปบำเพ็ญพระราชกุศล

หนังสือมหาชาติคำหลวง ที่แต่งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ฉบับจะหายเสียเมื่อครั้งกรุงเก่าแลจะได้แต่งขึ้นแทนในชั้นกรุงเก่ากี่กัณฑ์ ข้อนี้ทราบไม่ได้ มีจดหมายเหตุปรากฏแต่ว่า เมื่อกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึกนั้น ต้นฉบับหนังสือมหาชาติคำหลวงสูญหายเสีย ๖ กัณฑ์ คือ กัณฑ์หิมพานต์ ๑ ทานกัณฑ์ ๑ จุลพน ๑ มัทรี ๑ สักรบรรพ ๑ ฉกษัตริย์ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตในกรุงรัตนโกสินทร์แต่งกัณฑ์ที่ขาดขึ้นใหม่ เมื่อปีจอ จุลศักราช ๑๑๗๖ พ.ศ. ๒๓๕๘ จึงมีฉบับบริบูรณ์มาจนทุกวันนี้[๑] แต่ที่หอพระสมุดสำหรับพระนครหาฉบับมาได้ มีบางกัณฑ์ที่ได้มาหลายความ เข้าใจว่าฉบับความครั้งกรุงเก่าที่ว่าสูญเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ดูเหมือนจะมาปรากฏอยู่อีกบ้าง ยกตัวอย่าง ดังกัณฑ์มัทรี ที่หอพระสมุดฯ มีอยู่ถึง ๓ ความ เลือกเอาความซึ่งเห็นว่าเก่าที่สุดพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ เสียดายที่ขาดอยู่หน่อยหนึ่ง แต่เห็นว่าดีกว่าเอาฉบับความใหม่ ด้วยผู้ที่อ่านหนังสือมหาชาติคำหลวงนี้ คงจะอ่านหาความในทางภาษามากกว่าที่จะอ่านเพื่อให้รู้เรื่อง

นอกจากมหาชาติคำหลวง ยังมีกาพย์มหาชาติอีกอย่าง ๑ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าแต่งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเสวยราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยา เมื่อ ปีขาล จุลศักราช ๙๖๔ พ.ศ. ๒๑๔๕ ด้วยมีเนื้อความปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต แต่งมหาชาติคำหลวงแลมีหนังสือกาพย์มหาชาติสำนวนเก่าถึงชั้นนั้น ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้บางกัณฑ์ กาพย์มหาชาติมีศัพท์มคธน้อย เป็นกาพย์ภาษาไทยมาก สันนิษฐานว่า จะแต่งสำหรับพระเทศน์ให้สัปบุรุษเข้าใจเรื่องง่ายขึ้นกว่ามหาชาติคำหลวง การที่พระเทศน์มหาชาติเป็นทำนองต่างๆ ก็เห็นจะมาจากเทศน์กาพย์มหาชาตินี้ด้วยอนุโลมจากลักษณะสวดมหาชาติคำหลวง แต่สังเกตดูเรื่องยาวคงจะเทศน์ไม่จบได้ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ในวันเดียว จึงเป็นปัจจัยให้เกิดมหาชาติกลอนเทศน์

หนังสือมหาชาติกลอนเทศน์นั้น คือว่าคาถาภาษามคธแหล่ ๑ แล้วเอาความแปลภาษาไทยแต่งเป็นกาพย์เข้าต่อไปทุกๆ ตอน แต่งภาษาไทยให้สั้นกว่ากาพย์มหาชาติ ที่กล่าวมาแล้วสำหรับพระเทศน์ด้วย ประสงค์จะให้มีทั้งภาษามคธทั้งภาษาไทยแลให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ได้ในวันเดียว เพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่การพิธี ด้วยเหตุนี้จึงใช้หนังสือมหาชาติกลอนเทศน์กันแพร่หลายไปในพื้นเมืองยิ่งกว่าอย่างอื่น

นอกจากมหาชาติกลอนเทศน์ ยังมีกวีได้เอาเรื่องมหาชาติมาแต่งเป็นฉันท์ เป็นลิลิตอีกก็หลายอย่าง เรื่องมหาชาติ จึงเป็นเรื่องที่มีหนังสือแต่งกระบวนต่างๆ มากยิ่งกว่าเรื่องอื่นๆ ทั้งสิ้น”

อนึ่ง ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ ได้ตีพิมพ์รูปภาพแทรกไว้ในเรื่องด้วย รูปภาพเหล่านี้เป็นภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังจากภาพเขียนเรื่องเวสสันดรชาดก และได้ทำการตรวจสอบชำระต้นฉบับกับสมุดไทย ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติโดยยึดถืออักขรวิธีตามแบบเดิม

[๑] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกอธิบายไว้ในหนังสือ บันทึกสมาคมวรรณคดี พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่า “หนังสือมหาชาติคำหลวงสำนวนเดิม (ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) สูญหายเสียแล้วหลายกัณฑ์ ฉบับที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่อได้ว่าเป็นสำนวนเดิมแต่กัณฑ์ทศพร”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ