พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๒

เมืองหลังสวน

วันที่ ๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร ๓๑ศก ๑๑๗

ถึง ท่านกลางและกรมหลวงเทวะวงศ์

ด้วยตั้งแต่ที่ได้จดหมายเข้าไปครั้งก่อนจากปากอ่าวเมืองนครศรีธรรมราชแล้วนั้น ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๓ กรกฎาคม ได้ลงเรือกระเชียงไปเข้าทางปากกะพูน ปากนี้อยู่เหนือปากพญา เรือเข้าทอดได้ใกล้กว่าและไปในลำคลองซึ่งมีน้ำลึก ไม่ไกลเหมือนทางปากพญา ขึ้นที่บ้านกะพูนเดิรไปโดยถนนซึ่งพระยาสุขุมนัยวินิตตัดใหม่ไปบรรจบถนนสายโทรเลข ซึ่งได้ตกแต่งขึ้นกว้างขวางเรียบร้อย ถ้าไปขึ้นท่าแพในเข้าไป ตรงทางสายโทรเลขทางสั้นเข้าไปอีก ๔๐ เส้น ฉันได้ขึ้นที่บ้านปากกะพูนทาง ๒๗๐ เส้น ถึงที่พักต้นประดู่น่าเมือง ตั้งแต่ขึ้นบกไปก็ได้เห็นแปลกไปกว่าแต่ก่อน ถนนหนทางและเรือนร้านริมถนนซึ่งได้รื้อร่นเข้าไปบางแห่ง ตลาดท่าวังก็ดูสนุกสนานขึ้น ตพานข้ามคลองเปนตพานทำใหม่ของถาวร ได้พักอยู่ที่ใต้ต้นประดู่ซึ่งตกแต่งเปนพลับพลา เวลาบ่ายได้เข้าไปนมัสการพระมหาธาตุ มีการเวียนเทียนสมโภชถวายพุ่มและถวายเทียนร้อยถวายไตรพระครูฐานานุกรม ๓๐ รูป แล้วสวดมนต์มีละคอนของราษฎรเรี่ยรายกัน จุดดอกไม้เพลิง รุ่งขึ้นวันที่ ๔ มีโนราห์ที่พลับพลาและฟังพระสงฆ์สวดภาณยักษ์ซึ่งเปนพิธีสำหรับเมือง สวดทำนองเดียวกันกับที่กรุงเทพ ฯ แปลกกันแต่ที่ขึ้นที่ลงเล็กน้อยน่าฟังดี ฉันสั่งให้ห่มผ้าพระมหาธาตุ พวกราษฎรพากันมีใจยินดีด้วย ตั้งกระบวรแห่แต่ตลาดท่าวังผ่านน่าพลับพลา ผ้าที่ห่มนั้นเปนผ้าแดง ๗๐ พับเพลาะต่อกัน และทำเปนหัวมังกรตอช้างต้นผ้า ผืนผ้านั้นคลี่ยาว ผู้ที่ช่วยแห่ถือคลี่ไปบนศีร์ษะ เปนธรรมเนียมเขาต้องแห่เช่นนี้ทุกปี เวลาบ่ายฉันเข้าไปในเมืองฟังชำระความ ศาลเมืองซึ่งตั้งอยู่ที่โรงพิธีเก่าในจวน (ฤๅในวัง) และนมัสการพระพุทธสิหิงค์ แล้วไปวัด ตั้งพระมหาม่วงเปรียญ ๔ ประโยคซึ่งแปลงเปนธรรมยุติกา เปนพระศิริธรรมมุนีราชาคณะ พระครูเทพมุนีน่าที่รักษาพระมหาธาตุเปนพระครูเทพมุนีศรีสุวรรณถูปาภิบาล นิตยภัตร ๖ บาท พระ ๒ รูปนี้ มีคุณวุฒิต่างกัน พระศิริธรรมมุนี เปนผู้รู้ยิ่งกว่าผู้อื่น เปนที่ปฤกษาหารือของพระรัตนมุนีเจ้าคณะมณฑล และพระสงฆ์กรมการราษฎรทั้งสิ้น ได้ตั้งโรงเรียนฃึ้นที่วัดท่าโพธิ์ มีนักเรียนมากร้องขับสรภัญญซึ่งเธอแต่งขึ้นเอง มีอัธยาศรัยเรียบร้อยดีมาก พระครูเทพมุนี (ปาน) เปนพระธรรมยุติกาชั้นเก่าในเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งธรรมยุติกาทุกวันนี้ไม่รับเข้าพวก แต่มีคุณวิเศษในการที่ตั้งใจปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุ มีความสามารถเปนอัศจรรย์ เปิดเรี่ยรายตลอดทุกหัวเมืองในแหลมมลายูจนเมืองแขกและเมืองสิงคโปร์ ปินัง ทำการมา ๔ ปี ได้เงินกว่า ๔๐๐๐๐ บาท ราษฎรที่ไม่มีเงินก็มาทำด้วยกำลังแรง มีคนที่มาทำการอยู่เสมอถึงพันเศษ ตั้งแต่รับเลื่อยไม้โขลกปูนทำการเบ็ดเสร็จไม่ได้เสียค่าจ้างเลย มีแต่ได้กินอาหาร ๓ เวลา อาหารนั้นก็ไม่ได้ลงทุนซื้อ คนที่มาทำงารฤๅที่มีใจศรัทธาเข้าเรี่ยรายหาของส่งตามแต่จะมีอันใด พระครูนั้นตั้งกงษีไว้สำหรับรับ และมีผู้มารับช่วยทำครัวเลี้ยงคนได้ถึงวันละพันเศษทั้งพระสงฆ์ตามแต่ผู้ใดจะมากิน งารที่ในเขตรพระมหาธาตุได้ปฏิสังขรณ์แล้วไปเปนอันมาก คือกำแพงชั้นนอกพระระเบียงพาไลรอบพระเจดีย์ที่เรียกว่าทับกระเษตร วิหารธรรมศาลา วิหารพระม้า วิหารเขียน ปิดทองพระพุทธรูปแล้วไปเปนอันมาก พื้นลานวัดแผ้วถางเตียนโล่งตลอด เมื่อรู้ว่าฉันจะมานี้ ทำพลับพลารับเปนตรีมุขเครื่องไม้จริงมุงกระเบื้อง ช่อฟ้าน่าบรรณ์ประดับกระจก เมื่อได้เห็นการที่ทำและได้เห็นคนที่มีใจเลื่อมใสมาทำงาร และความนับถือเชื่อฟังพระครูเทพมุนี ก็เปนที่น่าพิศวงไม่มีพระรูปใดรูปหนึ่งจะทำได้เหมือนในกรุงเทพ ฯ แต่ไม่มีอาการที่อวดคุณวิเศษในทางเวทมนต์อย่างหนึ่งอย่างใดเลย ผู้ที่มาทำการก็ทำด้วยความตั้งใจจะเอาบุญและด้วยความพอใจในความคิดกะการงาร และบังคับบัญชาของพระครู ที่เปนข้อสำคัญนั้น ไม่ปรากฎว่าพระครูนั้นคิดเพื่อประโยชน์ตนเลยเปนคนแขงงารอย่างยิ่ง เมื่อตั้งตำแหน่งแล้วได้ยกเครื่องบนทับกระเษตรด้านตวันตก ซึ่งทำด้วยเงินที่พระราชินีส่งออกมาให้ทำการในพระมหาธาตุแต่ก่อนนั้น แล้วไปดูที่เก็บเสบียงอาหารและครัวที่เลี้ยงคนมีโรงถึง ๗-๘ โรง เต็มไปด้วยเข้าปลาพริกกะปิและผลไม้ ของซึ่งจะใช้ในการครัว บรรดาเครื่องบริโภคซึ่งจะหาได้ในเมืองนครย่อมมีอยู่ในนั้นทั้งสิ้น มีเข้าที่ประจำอยู่ถึงร้อยเกวียน เวลาค่ำกลับมาพลับพลาดูละคอนซึ่งเล่นอย่างละคอนกรุงเทพ ฯ แต่ร้องก็ดีพิณพาทย์ก็ดีดังกร่อย ๆ ทั้งสิ้น เขาเรียกกันว่าละคอนวิก เล่น ๒ โรงออกแข่ง ๆ กันเหมือนอย่างที่ในกรุงเทพ ฯ เพราะเจ้าของเปนภรรยาพระศิริธรรมบริรักษ์ทั้ง ๒ คน

วันที่ ๕ เวลาเช้าขึ้นช้างไปสวนมังคุด ทางประมาณ ๒๘๐ เส้น ที่สวนนั้นน่าที่จะเรียกว่า ป่ามังคุด เพราะการที่ทำนั้นถางที่แล้วปลูกมังคุดทิ้งไว้ เมื่อถึงรดูก็ไปเก็บ ไม่ได้รักษา สวนเช่นนี้มีมากจนตลอดถึงชายเขา มีทางเฉพาะช้างเดิร ต้นไม้ร่มชิดล้วนแล้วแต่มังคุดทั้งสิ้น สูง $\left. \begin{array}{}\mbox{๗ } \\\mbox{๘ }\end{array} \right\}$ วาก็มี แต่เปนเวลาที่มีผลอ่อน เวลาบ่ายกลับมีละคอนวิกอีกโรงหนึ่ง

รุ่งขึ้นวันที่ ๖ เวลาบ่ายเช้าไปดูตรางซึ่งตั้งไว้ในป้อมมุมเมืองตวันออกเฉียงเหนือ แล้วไปตามถนนในกำแพง ซึ่งฉายเชิงเทินลงมา กำแพงด้านนี้ชำรุดรื้อลงมาเหลือไว้แต่ต่ำๆ ทางยาวตามกำแพงเมือง ๕๐ เส้น เปนถนนกว้างใหญ่และแขงพอใช้ได้ แล้วไปแวะลาพระมหาธาตุแลดูการซึ่งได้คิดว่าจะปฏิสังขรณ์ แล้วกลับมาแวะที่ป่าเลมาะนอกเมือง ซึ่งเปนที่งามดีโดยธรรมดาเอง ได้ให้ชื่อตำบลนั้นไว้ว่า สวนราชฤๅดี สำหรับเปนที่ประพาสต่อไปภายน่า กลับมาลงเรือที่ท่าแพ ออกมาถึงเรือมหาจักรีเวลา ๒ ทุ่ม ฉันได้คิดจะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แลวิหารสามจอม แลพระเจดีย์รายรอบพระมหาธาตุ ซึ่งเปนของเก่า ๑๒๖ องค์ เปน ๓ ขนาดฤๅ ๓ องค์เถา เจ้านายข้างน่าข้างในได้รับปฏิสังขรณ์คนละเถา พระราชินีได้สร้างศาลาแลบ่อน้ำที่ดงรักแห่ง ๑

เมืองนครศรีธรรมราช เปนไชยภูมดีมาก พิเคราะห์ดูน่าที่จะจัดการอิริเกชั่นได้ ไม่เหมือนกันแท้แลไม่เท่าถึง แต่ทำนองเมืองอิยิปต์ ถ้ามีอินเยอเนียออกมาจัดการเห็นจะได้ประโยชน์มากขึ้น เวลา ๘ ทุ่มออกเรือ เวลาเช้าถึงเกาะพงัน ขึ้นไปสลักศักราชเติมที่ จ, ป, ร, ที่ ๑ แล้วออกเรือมาถึงเมืองหลังสวน เวลาทุ่มครึ่ง

วันที่ ๗ เวลาเช้าออกเรือไปทอดที่เกาะลังกาจิ๋ว ขึ้นดูรังนกที่ถ้ำน้ำปีนี้ล่าไปกว่าทุกปี ลูกนกยังอ่อนอยู่ ได้สลัก จ, ป, ร, ไว้แห่งหนึ่ง มีศักราชสองแถวคือ ๑๐๘ แล ๑๑๗ แล้วออกเรือมาถึงเมืองหลังสวน เวลาบ่ายลงเรือกระเชียงเรือไฟลาก มาขึ้นที่บางยี่โรขึ้นช้างมาที่บ้านพระยาจรูญพักอยู่ในที่นี้ น้ำเหนือพึ่งจะหลากลงมาผลไม้ยังอ่อนอยู่ทั้งสิ้น แม่เล็กหน้าบวมที่ใต้ตาลงมา แต่ไม่เปนอะไรมาก คนทั้งปวงเปนปรกติเรียบร้อยทั้งสิ้น

  1. ๑. ต่อมาได้เลื่อนที่เปนพระเทพกวี พระธรรมโกษาจารย์ เดี๋ยวนี้เปนพระรัตนธัชมุนี

  2. ๒. ชื่อพิณคน ๑ ชื่อทรัพย์คน ๑ พระศิริธรรมบริรักษ์ (ถัด ณนคร) สามีถึงแก่กรรมแล้วในเวลานั้น

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ