พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๒

เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ ทอดปากอ่าวเมืองสงขลา

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘

ถึงท่านกลางและกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ

ด้วยแต่ก่อนได้บอกข่าวคราวเข้ามาเพียงวันที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม จะขอบอกข่าวต่อไปตามลำดับ

วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ได้รับหนังสือกรุงเทพฯ เขียนหนังสืออยู่ในเรือ จนบ่าย ๓ โมงจึงได้ขึ้นบก ฝนตกมาแต่เที่ยงเปนคราว ๆ เมื่อเวลาขึ้นบกฝนสงบ แต่ครั้นเมื่อตีกระเชียงไปถึงกลางทางฝนกลับตกอีก พร่ำเพรื่อไปไม่หยุด ขึ้นพักอยู่บนพลับพลารับพวกกรมการและภรรยากับทั้งราษฎรชาวร้านมาหา จนพลบกลับลงเรือ ตำบลที่หมายว่าจะไปเที่ยวแห่งใดไม่ได้ไป ป่วยการทั้งวัน

วันที่ ๒๒ เกือบโมงเช้าจึงได้ออกเรือ เพราะต้องกาหลกันในการที่จะพ่วงเรือไป เรือกลไฟน้ำตื้นที่จะไปในทเลสาปได้มีสามลำ คือเรือทอนิครอฟต์ลากเรือที่นั่งทรงที่นั่งรองผ้านุ่งห่มรวม ๔ ลำ เรือเซนต์ยอชลากเรือเจ้านายและเรือผ้านุ่งห่ม เรือครัวรวม ๕ ลำ เรือยาโรลากจูงเรือเครื่องเปนเรือหัวเมืองลำใหญ่ ๆ ๓ ลำ ต้องเดิรตามร่องน้ำลึกไปจนถึงน่ามะระหุ่ม จึงเลี้ยวกลับเข้าปากช่องแหลมทรายเสียเวลาชั่วโมงหนึ่ง ได้เห็นป้อมเขาแดงและป้อมค่ายม่วงที่เขาแหลมสน ซึ่งเขาถางไว้ทั้งสองตำบล ป้อมเขาแดงเปนป้อมสี่เหลี่ยมเล็กๆ แต่ป้อมค่ายม่วงเปนป้อมยาวตามริมฝั่งน้ำ เรือมาออกช่องเขาเขียวกับเกาะยอ แลเห็นแนวเขาและทิวไม้รอบ ไปค่อนข้างฝั่งเหนือแลเห็นต้นไม้สนัด มีต้นตาลมาก ตาลเหล่านี้ที่ทำ “ผึ้งฮบ” ลงมาขายตลาด มีต้นไม้อื่นๆ บ้างไม่หนานัก แลเห็นทุ่งหลังหมู่ไม้เปนที่แผ่นดินราบ ๆ ตลอดไป บ้านเรือนมีรายเปนหมู่ๆ ไม่สู้เปลี่ยวนัก ตั้งแต่น่าบ้านป่าจากไปน้ำน้อย จักรเรือคุ้ยดินขึ้นมาสีแดง ๆ จนเกือบจะถึงคลองปากรอ ซึ่งเปนที่กิ่วแห่งหนึ่งในทเลสาปน้ำจึงได้ลึก แต่คลองปากรอนั้นมิใช่เล็ก ถ้าจะเรียกว่าแม่น้ำก็ได้ กว้างกว่าคลองเกร็จมาก พักร้อนที่หว่างบ้านปากบางกับบ้านแหลมจากต่อกัน ปักเตนต์ใหญ่ของพระยาสุนทรา พระยาจางวาง (เมืองพัทลุง) ยกรบัตรและหม่อมราชวงศ์หรั่ง เมืองพัทลุงมารับ ออกจากที่พักร้อนมาตามทาง เห็นบ้านปากจ่า มีบ้านเรือนมากเปนสามหมู่ไปในระหว่างฝั่งกับเกาะญวน เรียกว่าคลองหลวง น้ำตื้นบ้างลึกบ้างจนถึงบ้านปากพยูนซึ่งเปนช่องจะออกที่กว้าง มีบ้านเรือนหลายสิบหลังต้นไม้และภูมที่งามนัก ฝั่งขวาเปนเกาะหมากฝั่งซ้ายเปนแหลมเขาปากพยูน ตั้งแต่เมืองสงขลาขึ้นมาจนถึงปากพยูน มีเสารั้วโพงพางและยกยอตลอดระทางไปไม่ได้ขาดเลย เพราะในตอนนี้ปลาชุม พอขึ้นไปถึงกลางเกาะปราบบ่ายหัวเรือขึ้นเหนือจะไปตามน่าเกาะรังนก ลมพัดโต้น่าจัดน้ำก็ตื้น เรือไปได้เพียงน่าเกาะยิโสซึ่งเปนเกาะที่สองหมู่เกาะสี่เกาะห้า ต้องปล่อยเรือกลไฟตีกระเชียงไปจนถึงพลับพลาซึ่งปลูกไว้ที่เกาะมวย เข้าทางช่องหว่างเกาะมวยกับเกาะพระต่อกัน เวลาค่ำจึงได้ถึง หลวงอุดมภักดีเจ้าภาษีรังนกมาคอยรับตั้งเลี้ยงอยู่ในที่นี้ ที่ซึ่งปลูกพลับพลานี้เรียกว่า น่าเทวดา คือเปนศาลสำหรับพวกรังนกไหว้เจ้าก่อนที่จะลงมือทำรังนก พระมหาอรรคนิกรเปนผู้มาปลูก มีท้องพระโรงหลังหนึ่งที่อยู่หลังหนึ่ง ที่เจ้านายข้าราชการอยู่อาศรัยโรงของเจ้าภาษีรังนกสองหลัง พื้นที่ที่ทำพลับพลาเปนที่เลนขึ้นตัดหญ้าถมทรายโรย เมื่อมาตามทางไม่ถูกฝน แต่ที่พลับพลาฝนตกอยู่ข้างจะเปรอะเปื้อนมีกลิ่นเหม็นตมเหม็นหญ้า เคยอยู่ในทเลกว้างๆ ขึ้นมาอยู่บนบกออกร้อนและฝนยังตกประปรายอยู่เปนคราวๆ มาเกือบสิบสองชั่วโมงออกเหนื่อย แต่ก่อนๆ ที่มากันเขาพักปากพยูนเปนเวลาพอดีอยู่ในสี่โมงเย็น แต่คำสั่งให้มาปลูกพลับพลาที่เกาะเขาก็ทำตามคำสั่ง ก็นับว่าดีอย่างหนึ่งที่เที่ยวได้สดวกไม่ต้องไปทางไกล

วันที่ ๒๓ ฝนตกแต่เช้ามืดพร่ำเพรื่อไปจนเกือบ ๕ โมงจึงหายสนิท ไปเที่ยวที่ตรงน่าพลับพลาซึ่งเปนศาลเจ้านั้น เปนเพิงเข้าไปตามเชิงเขา เพดานราบก่อแท่นไว้เปนที่ตั้งเครื่องสังเวยกว้างขวาง ในนั้นเปนที่ตำรวจและกรมวังอาศรัย ต่อไปข้างซ้ายเขาก่อสอบศิลาก้อนสูงขึ้นไปเปนที่ก่อพระเจดีย์ทรายเมื่อเวลาเลิกทำรังนกแล้ว มีชาตรีประชันกันเปนการฉลองทุกปี ในซอกเขากับที่ก่อพระทรายต่อกันปลูกร้านมุงกระแชงฝากระแชงเปนที่ผึ่งรังนก ต่อนั้นไปเปนโรงครัวหลวงอุดมซึ่งมาตั้งเลี้ยง ข้างขวามือเปนเพิงเขาคล้ายกันกับที่ศาลเทวดาแต่กว้างกว่า เปนที่อาศรัยของพวกทำรังนก เดิมกั้นมาแต่เดี๋ยวนี้เปิดไว้ให้เปนที่ข้าราชการอาศรัย เพดานเพิงนั้นเปนควันดำรอยหุงเข้าตลอดไป ที่ตรงน่าเพิงมาข้างมุมพลับพลา หรือจะเรียกว่าค่ายหลวงอย่างย่อ ๆ เพราะกั้นด้วยหญ้าและผ้าฉนวนทั้งนั้น มีบ่อน้ำร้อนแห่งหนึ่งก่อขอบไว้แล้วมีเปนธารสั้นๆ ออกไปหน่อยหนึ่ง น้ำนั้นถ้าจะร้อนก็คงเปนด้วยหินปูนอย่างที่ท้องช้าง แต่เมื่อไปลองดูก็ไม่เห็นร้อน เปนแต่ไม่เย็นตามที่ควรจะเย็นเท่านั้น เดิรเลียบไปตามข้างเขาหนทางกว้าง แต่อยู่ข้างจะเปื้อนเปรอะด้วยน้ำฝน มีศิลาที่ท่วงทีงามๆ เปนช่องเหมือนปากถ้ำบ้าง เปนหลืบเปนโพรงพรุนไปทั้งนั้น มีต้นไม้ใหญ่เล็กและกล้วยไม้ประดับงดงาม ถ้าช่างก่อเขาเห็นก็จะไม่สู้ติว่า “ไม่เปน” นัก ไปทางประมาณห้าเส้นถึงที่จะขึ้นถ้ำ เรียกว่าถ้ำใหญ่ ต้องขึ้นเขาอยู่ข้างจะชัน ต้องมีบันไดสองตอน ถึงปากถ้ำแล้วลงไปตามศิลาชัน ๆ ต้องผูกเชือกเปนราวไต่ลงไปถึงพื้นถ้ำ ในถ้ำกว้างกว่าสิบห้าวาสูงมาก ที่พื้นเปนมอสูง ๆ ต่ำ ๆ มีหลืบซอกไปได้บ้างอยู่ข้างจะมืด แต่ไม่ถึงต้องอาศรัยแสงเทียนมากนัก นกทำรังอยู่เสียในโพรงในซอกศิลาบนเพดานถ้ำมาก ไม่ใคร่แลเห็นรัง ต่อจุดไต้ผูกปลายไม้ขึ้นไปส่องจึงได้เห็น การทำรังนกที่นี่ไม่ใช่ลงตะแกรงเหมือนอย่างที่ชุมพร ใช้พะองไม้ลำเดียวพาดขึ้นไปสอย ที่สูงนักก็มีขาทรายรับ ไม้ถ่อที่สอยก็ใช้ลำเดียวไม่ต่อได้เปนท่อนๆ เหล็กปลายถ่อไม่ใช้เปนวงเดือน ทำเปนแบนๆ เหมือนปากสิ่ว เมื่อสอย หรือเรียกว่าแทงตามคำเขาเรียก ตกลงมาแล้วไม่ร้อง “ออย” อยู่ข้างจะถือลัทธิสุปัสติเชียสต่างๆ มีพิธีรีตองกันมาก แต่ดีอย่างหนึ่งที่เก็บรังนกแต่ปีละสองครั้งเท่านั้น แต่เดิมมาก็ว่าเก็บสามครั้ง แต่นกน้อยไปทุกๆ ปี จึงได้เปลี่ยนเปนเก็บสองครั้ง แต่นั้นมานกก็มากขึ้น รังก็หนากว่ารังนกที่ชุมพร ฉันเห็นว่ารังนกที่ชุมพรควรจะบังคับให้เก็บแต่สองครั้งได้เหมือนกันจึงจะดี ถ้าคงเก็บอยู่สามคราวเช่นนี้ นกคงจะหมดลงไปเสมอ ที่สงขลามีนกน้อยจึงได้รู้สึกได้เร็ว ที่ชุมพรมีนกมากก็ไม่รู้สึกแลเปนภาษีผูกขาดแท้ เจ้าภาษีคิดแต่จะหาประโยชน์ชั่วเวลาที่ตัวทำ ไม่ได้คิดบำรุงรักษาเผื่อกาลภายน่า ถ้าไม่จัดการตรวจตรามีข้อบังคับเสียให้ดี รังนกคงจะตกลงไปทุกปี ครั้นจะพูดให้ละเอียดในที่นี้ ก็จะยืดยาวนักไป ขอตัดไปตามเรื่องระยะทาง กลับจากถ้ำใหญ่ลงเรือข้ามไปถ้ำยู่หลีที่หัวเกาะพระตรงเกาะมวยข้าม เดิรเลียบเขาไป ศิลาตามเชิงเขาเปนโพรงพรุนรอยน้ำกัดไปทั้งนั้น ที่มีรังนกนั้นเปนโพรงลึกเข้าไปหน่อยหนึ่ง มีรังนกบ้างเล็กน้อย อกจากถ้ำยู่หลีไปถ้ำแรงวัวที่เกาะดำถัดเกาะพระไป ก็คล้ายคลึงกันกับถ้ำยู่หลี กลับจากถ้ำแรงวัวมาขึ้นถ้ำลูซิมที่ในเกาะดำนั้นเอง ถ้ำนี้ปากช่องแคบเพราะมีเงื้อมศิลาบัง เมื่อเข้าไปถึงปากถ้ำลอดศีร์ษะเข้าในที่บังแล้วจึงปีนศิลาขึ้นไปหน่อยหนึ่งก็ถึงในถ้ำ เปนถ้ำใหญ่เหมือนฉนวนตรงลิ่วเข้าไปยาว แล้วจึงถึงที่กว้างแยกเปนขาไปอีกขาหนึ่ง เพดานถ้ำสูงกว่าถ้ำใหญ่ มีรังนกที่แลเห็นมาก แต่ยังไม่แน่นเต็มไปเหมือนถ้ำน้ำที่เกาะลังกาจิ๋ว ในถ้ำนี้มืดต้องจุดไฟ มีปล่องแต่สูงนักแสงสว่างลงมาไม่พอถึงพื้น มีปล่องที่เปนช่องน่าต่างแลเห็นอยู่ภายนอก ไม่สู้สูงนัก แต่ครั้นเมื่อเข้าไปในถ้ำเห็นปล่องนั้นสูงมาก พื้นถ้ำคงจะต่ำลงไปกว่าหลังน้ำบ้าง กลับจากถ้ำลูซิม ผ่านน่าพลับพลาลงไปถ้ำเสือที่ท้ายเกาะมวยนี้เอง ขึ้นบกไปหน่อยหนึ่งถึงถ้ำแรดย่อมกว่าถ้ำหลัง ออกเดิรจากถ้ำแรดนี้ไปนี้ไปไม่มากก็ถึงถ้ำใหญ่ ถ้ำทั้งสองนี้เปนโพรงเดิรได้ตลอดทั่วทั้งถ้ำ เหมือนกับเอาก้อนศิลาตั้งไว้บนเสาหลาย ๆ สิบเสา ไม่มีผนังโปร่งปรุเดิรลัดรอดไปได้ทั่วทั้งถ้ำ เขาในเกาะรังนกเช่นนี้เปนศิลาปูนเหมือนกันกับเขาข้างแควแม่น้ำน้อยไทรโยค และแควป่าสัก มักจะโปร่งปรุไปตามเชิงเขาแลมีถ้ำมากๆ เวลาน้ำท่วมท่วมได้ถึงในถ้ำ พื้นถ้ำเปนรอยดินน้ำท่วมคล้าย ๆ กันทั้งนั้น ศิลาที่น้ำท่วมจึงเปนสีนวล ๆ มีคราบน้ำจับเขียว ๆ น้อย ๆ พอสังเกตได้ ที่พ้นน้ำท่วมขึ้นไปก็เปนสีเทาแห้ง ๆ เหมือนปูนผนังโบราณ เกาะรังนกแถบนี้ทรวดทรงสัณฐานก็ทำนองเดียวกันกับที่น่าเมืองชุมพร แต่มีท่วงทีงาม ๆ กว่า ไม่เปนเข้าไปเที่ยวในกรุงเก่าเหมือนเกาะอ่างทอง มีต้นไม้ใหญ่ๆ และต้นกล้วยไม้ใบเขียวสด ช่วยประดับประดาให้หายร้างขึ้นได้มาก นกพวกนี้อยู่ข้างชอบที่ชื้นๆ สังเกตดูที่ตรงไหนมีคราบน้ำเปนทาง นกมักทำรังตรงนั้นมาก ศิลาปูนเช่นนี้มักเปนซอกเปนแซกเปนแอ่งที่ขังน้ำ ฝนตกเวลาวานนี้แลวันนี้ทำให้มีน้ำหยัดน้ำซึมได้หลายแห่ง กลับจากถ้ำเสืออ้อมเข้าไปดูเกาะเข็มข้างใน เกาะนี้เห็นข้างนอกเปนก้อนศิลาโตๆ รูปรีๆ ตั้งเกะกะอยู่สามก้อน แต่ครั้นเมื่อไปข้างในเห็นเปนรูปเขามอเช่นก่อลงไว้ในกระถาง ประดับด้วยต้นไม้ใหญ่เล็ก และมีหญ้าดาดลงไปจนถึงริมน้ำน่าดูอยู่ ในท้องทเลนี้น้ำยังกร่อยแต่มีบัวสายมีสันตะวาสาหร่ายตามริมๆ เกาะ ถ้าหันหน้าเข้ามาข้างเกาะแลดูคล้ายๆ ทุ่งที่น้ำท่วม ต่อเมื่อแลออกไปข้างฝั่งไม่แลเห็นฝั่งจึงเห็นเปนทเล เวลาบ่ายกลับมา วันนี้ฝนตกแต่เช้า บ่ายมีแดดพื้นแห้งดูค่อยสบายขึ้น เวลาเย็นก็มีลมพัดจนตลอดค่ำ

วันที่ ๒๔ เดิมคิดว่าจะไปเมืองพัทลุงในวันนี้ แต่ครั้นเมื่อเวลาวานซืนนี้ได้ความว่า ที่เมืองพัทลุงทำไว้แต่พลับพลาประทับร้อน เมื่อวานนี้จึงได้ให้พระมหาอรรคนิกรคุมเตนต์ขึ้นไปตั้ง จึงพักอยู่ที่นี่พอได้ทำการเวลาหนึ่ง ครั้นเวลาสายพระยาพัทลุงลงมาแจ้งว่าได้ทำพลับพลาไว้ใหญ่โตพร้อมแล้วเปนแต่ยังสงสัยเล็กน้อยนำแผนที่มาให้แก้ไข.

ได้จารึกอักษร จ. ป. ร. และศักราช ๑๐๘ ไว้ที่น่าเพิงศาลเทวดาแห่งหนึ่งเปนศิลาปูนเราะง่าย แล้วลงเรือไปที่เขาชันเปนเกาะใหญ่ของเมืองพัทลุง อยู่หลังเกาะสี่เกาะห้า ระยะทางชั่วโมงหนึ่ง ตั้งข่ายไล่กระจง ในที่ที่ไล่นั้นเปนป่าคอแหลมกว้างสักสี่สิบวาเท่านั้น ขึงข่ายสกัดได้เกือบตลอด ข้างหนึ่งเปนทุ่ง ข้างหนึ่งเปนทเล ใช้คนประมาณ ๕๐ คน เข้าไปต้อนตีป่าใกล้ๆ ในป่านี้ไม่มีสัตว์อื่นเลยนอกจากกระจงเพราะเปนป่าโปร่งเดิรง่าย และกระจงที่นี่ตัวเล็ก ๆ เล็กกว่ากระจงที่เคยเห็น ๆ กันอยู่สักครึ่งหนึ่ง สีตัวเหลืองท้องขาวไม่โตกว่ากระต่าย ดูน่ารักมาก ต้อนมาเข้าข่ายแล้วก็ตะครุบจับเอาได้ง่ายๆ กิริยาที่จะมาไม่เหมือนเนื้อ ไม่หนีคนไกล วิ่งวิ่งหยุด ๆ ไม่ใคร่จะเข้าที่รก วิ่งก็ช้าไม่เหมือนกระต่าย กิริยาที่วิ่งคล้ายหนูมากกว่าอย่างอื่น แต่ที่มาได้เห็นหลายสิบตัว วิ่งหักหลังไปเสียมาก ไล่สี่เที่ยวจับได้สิบสี่ตัว คราวหนึ่งคงจะได้เห็นอยู่ในสิบตัวขึ้นไปหาสิบห้าตัว การที่ไล่ได้น้อยเปนเพราะคนเราไปนั่งน่าข่ายมาก ล้วนแต่เสื้อสีสรรพ์ต่าง ๆ เกือบจะเปนหีบน้ำยาเครื่องเขียน ถ้ากระจงไม่ไล่ง่าย ที่สุดเกือบมานั่งตักได้ก็เห็นจะไม่ได้ตัว แต่เท่านี้ก็นับว่าเปนได้มากอยู่แล้ว คิดว่าจะพาเข้าไปเลี้ยงในกรุงเทพ ฯ ให้ได้ กระจงใหญ่มีบ้างแต่น้อย แต่ดูอยู่ข้างจะเขื่องกว่าที่เคยเห็นไปเสียสักหน่อยอีก เวลาเย็นกลับมาพลับพลา

วันที่ ๒๕ เวลาเช้าโมงหนึ่งออกเรือไปพัทลุง น้ำลงขอดเรือไฟ ต้องเข็นออกจากช่องเกาะ พอพ้นแล้วไปได้สดวก น้ำในทเลตอนเมืองพัทลุงลึกกว่าข้างนี้ พอพ้นแหลมจองถนนออกไปแลเห็นแต่ฝั่งข้างใต้และฝั่งตวันตก ตรงเมืองพัทลุงข้างเหนือไม่แลเห็นฝั่ง ในทเลนอกนี้ไม่มีเกาะ ถ้าแล่นตัดตรงไปได้ก็จะไม่ช้าเลย แต่ต้องอ้อมหาร่อง ๕ ชั่วโมงเต็มจึงได้ถึง พลับพลาตั้งอยู่ที่แหลมหากทรายปากคลองลำปำข้างเหนือ ต้องทำตพานยาวประมาณ ๓๐ วา ลงมาจนถึงที่น้ำลึกแล้วเดิรไปตามหาดจนพ้นที่น้ำกัดเปนชะวากจึงถึงพลับพลา พลับพลานั้นทำเปนตรีมุขหลังเดียว แต่มีเรือนที่ข้าราชการอาศรัยตามสมควร เมืองนี้ใช้ปูนจัดเต็มที อัฒจันท์โครงไม้ก็ถือปูน แต่ของเขาทำพออยู่ได้สบาย เวลาที่ทำนั้นก็น้อยอย่างยิ่ง นับว่าเปนความอุตสาหมาก แต่ต้องอยู่ที่แจ้ง กลางวันอายแดดร้อยจัด เวลาบ่ายลงไปดูจรเข้ที่เขาวางตะกางได้ในท้องทเล เปนจรเข้ย่อม ๆ ยาวเจ็ดสอกแต่ยังทำฤทธิเดชได้บ้างหง่อยๆ ลากขึ้นมาดูบนหาดได้ แล้วเข้าไปดูเมืองพัทลุงตามทางบก เปนทางตัดใหม่ไปตามท้องทุ่งข้างวัดอนุราชธาราม ซึ่งเปนของพระยาจางวางสร้าง แล้วไปร่วมทางเดิรถึงที่ตลาด ตลาดมีของขายกร่อยๆ มีร้านผ้าอยู่สักสองสามร้าน นอกนั้นก็ขายของสด คนสักสี่สิบห้าสิบคน มีของคนละกระจาดบ้างไม่ถึงคนละกระจาดบ้าง แต่ปลาสดแล้วเปนที่น่าสังเวชอย่างยิ่ง อย่างโตอยู่ขนาดปลากระดี่อย่างเล็กจนถึงปลาซิว ร้อยเปนพวงๆ ขาย เพราะปลาในทเลตอนนี้ไม่มี ที่มาขายนี้เปนปลาในลำคลอง ที่ได้เห็นต่อไปอีกสองเวลา ได้ยินฉันบ่นถึงปลาอุส่าห์สู้ไปหาได้ปลาตะเพียนมาตัวหนึ่งฤๅสองตัววางขาย กุ้งก็มีแต่กุ้งต้มปลาย่างแห้งมาแต่ปากพยูนทั้งนั้น ผลไม้มีมม่วงมปริง แต่ผักอยู่ข้างจะมีมากหน่อยหนึ่ง ไปแวะที่บ้านพระยาจางวางแล้วไปวัดวังซึ่งเปนวัดถือน้ำ กลับจากวัดวังสั่งให้เอาเรือมารับที่บ้านพระยาจางวางเพราะอยากดูทางลำน้ำ (ลำปำ) เรือสิบสองกระเชียงล่องลงมาก็ไม่ขัดข้องอันใด ชั่วแต่ท้องเรือครือทรายครั้งหนึ่งเท่านั้น ลำน้ำตอนล่างนี้กว้างประมาณ ๘ – ๙ วาถึง ๑๐ วา แต่ที่ปากช่องออกทเลมีทรายตื้นต้องเข็น น้ำในคลองจืดสนิทเพราะเปนลำธารมาแต่เขา แต่ตอนล่างมีสาหร่ายในทเลเข้ามาลอยรุงรังอยู่มาก น้ำในทเลก็จืดพอไพร่ ๆ กินไม่รู้สึก จืดกว่าน้ำกร่อยในกรุงเทพฯ ตามริมคลองบ้านเรือนกรมการและคนที่พอมีอันจะกิน ตั้งอยู่ฝั่งข้างเหนือตลอดไป แต่เปนเรือนอย่างฝากระดานตามธรรมเนียม ขัดแตะถือปูนทั้งนั้น ไม่มีฝากระดานเลยนอกจากบ้านพระยาจางวาง ลดจากขัดแตะถือปูนก็เปนฝาสานทีเดียว ข้างทางบกที่มาก็มีบ้านเรือนมาก แต่เปนบ้านตีรั้วรอบ ไม่มีที่เปนโรงติดๆ กันเลย ถึงตลาดก็เปนร้านชำเท่านั้น จีนน้อยไม่ใคร่จะแลเห็นเลย เปนแปลกกว่าที่อื่นหมด เพราะไม่มีท่าค้าขาย มาขึ้นที่ข้างค่ายหลวง เวลาเย็นร้อนเพราะดาดปะรำกันร้อนแดดไว้มาก เลยบังลมเสียไม่ใคร่เข้าไปได้ ต้องลงไปนั่งเล่นริมชายทเลสบายดี

วันที่ ๒๖ เกือบโมงเช้า ออกจากพลับพลาไปทางบกเหมือนวานนี้ เดิรทางไปข้างวัดวังผ่านวัดเบิกไปอีกวัดหนึ่ง แล้วต้องข้ามคลองเรียกว่าคลอง “พานสะล้า” ดูหน้าตาเปนพานหมากเต็มที ต่อไล่เลียงจึงได้ความว่าเดิมตะพานนั้นมีศาลาคร่อมอยู่กลางน้ำจึงเรียกว่าตะพานศาลา แต่ชำรุดหนัก เขารื้อลงเสียทำตะพานให้กว้างออก ตะพานเดิมกว้างเพียงสามแผ่นกระดานเล็กๆ ศาลานั้นจึงใช้ไม่ได้ เมื่อมาในทเลแลเห็นเขาบนฝั่งเปนสามหย่อม คือข้างเหนือเขาแดงกลางเขาเมืองกับเขาอกทลุเห็นติดกันเปนหมู่เดียว ข้างใต้เห็นเขาหัวแตก เขาสามหย่อมนี้เปนที่หมายเมืองพัทลุงอยู่ตรงตวันตก เยื้องลงไปข้างใต้มีเขาไชยสนอีกเขาหนึ่ง แต่ครั้นเมื่อออกเดิรบกมาวันนี้ ตอนแรกแลเห็นแต่เขาแดงเขาเมืองกับเขาอกทลุแยกออกไปเปนสองเขา ไม่แลเห็นเขาหัวแตก ต่อเกือบไปถึงหัวเขาอกทลุจึงเห็นเขาหัวแตก เขาเมืองนั้นนัยหนึ่งเรียกว่าชัยบุรี มีเขาคอกอยู่ในนั้นแห่งหนึ่ง ก่อกำแพงสกัดหน้ายาวประมาณสามสิบวา ว่าเปนเมืองเก่าตั้งอยู่ในที่นั้น เปนความคิดเดียวกันกับเขาคอกไม่แปลกเลย กำแพงนั้นก็ยังอยู่ เขาอกทลุนั้นที่ยอดเขามีเปนยอดสูงโพกขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง มีช่องเปนปากถ้ำกว้าง ปล่องไปทลุข้างเขาอีกด้านหนึ่งตรงกันเปนลำกล้องตะแคงแลเห็นฟ้าและต้นไม้ทางช่องนั้นได้ ว่าที่ในนั้นกว้างเท่าอันนาหนึ่ง แต่เห็นจะมากเกินไป เขาหัวแตกนั้นข้างเหนือเปนตัวเขาที่เรียกว่าหัวแตก คือมีก้อนศิลาก้อนใหญ่แยกออกจากเทือกเขา สัณฐานเหมือนดอกเข้าโภช แลเห็นไปตั้งแต่พอออกจากเกาะสี่เกาะห้า น่าเขาข้างตวันออกตอนข้างใต้เรียกว่าคูหาสวรรค์ เปนที่ถ้ำซึ่งจะไปเดี๋ยวนี้ แลเห็นพระเจดีย์ที่วัดแต่ไกล เยื้องเขาหัวแตกลูกนี้ลงไปข้างใต้หน่อยหนึ่งเห็นเขาเจียกอีกเขาหนึ่ง ว่าระยะทางหกสิบเส้น มีถ้ำเหมือนกัน ตามระยะทางที่ไป บันดาที่พื้นราบแล้วเปนนาทั่วไปหมดไม่มีที่ว่างเลย เว้นไว้ที่เปน “ควน” คือ เนิน จึงเปนหมู่บ้านตั้งอยู่ ผ่านหมู่บ้านไปหลายตำบล ๆ หนึ่งมี ๒๐ – ๓๐ เรือน แต่ในหมู่เหล่านี้บ้านควนพร้าวเปนบ้านใหญ่กว่าทั้งปวง มีเรือนประมาณร้อยหลัง มีวัดสี่วัด หยุดพักที่วัดควนพร้าวหน่อยหนึ่ง จึงไปต่อไปอีก ที่ในกลางบ้านมีคนขายของขนมผลไม้ต่างๆ สัก ๖๐ – ๗๐ คน พบคนเดิรทางที่ไปซื้อของมาแต่บวนเมาสองพวก ที่บวนเมานี้เปนตลาดนัดของชาวบ้านป่า เว้นวันหนึ่งออกวันหนึ่ง ระยะทางอยู่ใน ๗ – ๘ ชั่วโมง มีผลไม้และผักต่างๆ มาขายมาก พวกชาวตลาดขึ้นไปรับลงมาขายในเมืองเสมอไม่ขาด เดิรทางไปต้องข้ามน้ำลำปำบ่อยๆ เพราะแม่น้ำนั้นคดไปคดมา บางแห่งก็แคบเรียวลงไปจนสามวาสี่วา บางแห่งก็กว้างถึง ๖ – ๗ วา ราษฎรกั้นทำนบขังน้ำไว้ทำนาเปนตอนๆ ตลอดไป แม่น้ำนี้เองทำให้เมืองพัทลุงมีไร่นาบริบูรณ์มาก เลี้ยงเมืองสงขลาได้ทั้งเมือง คนในเมืองพัทลุงที่จะไม่ทำนาไม่มีเลย เกือบจะเปนหากินอย่างเดียวด้วยเรื่องทำนาทั้งนั้น ที่แผ่นดินก็อุดมดี ถ้าไม่มีน้ำลำปำนี้แล้วเมืองพัทลุงเห็นจะตั้งอยู่ไม่ได้ ดูสารพัดจะกันดารหมดทุกอย่าง ลงมาบริบูรณ์อยู่ข้างทเลสาบแถบปากพยูนทั้งนั้น แต่คนในพื้นเมืองอยู่ข้างมักน้อยสันโดษ เปนแบบเหมือนๆ กันไปเสียหมด ไม่สนัดการซื้อขาย ทำนาแต่พอไปแลกกับเข้าเมืองสงขลาขึ้นมากิน ผ้านุ่งก็ทอนุ่งเองเพียงปีหนึ่งคนละสองผืนไม่ซื้อขายกัน แล้วก็อยู่เปล่าๆ สบายแล้ว การซื้อขายจึงเกือบจะเรียกว่าไม่มีอันใดได้ นอกจากของป่าเล็กน้อย ในเดือนห้าปีนี้มีไข้ทรพิษมาก คนตายประมาณสักสามร้อยคน พระองค์หนึ่งมาปลูกฝีก็สับปลับไปคนไม่นับถือ ขยับจะหาเอาว่าฉ้อ ฉันจึงได้สั่งพระยาพัทลุงให้ส่งคนเข้าไปฝึกหัดที่โรงพยาบาล แล้วให้รับหนองโคออกมาปลูกทุกปี แต่คนซึ่งตายที่อย่างในกรุงเทพฯ ควรฝังนั้น ถ้าเปนคนจนก็นำไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ ถ้าเปนคนที่พอมีอันจะกินก็ปลูกแคร่เอาศพลงหีบไปตั้งไว้ที่วัด สุดแต่ไม่ให้ถูกดิน เมื่อขากลับฉันไปที่วัดพระยาขันใกล้กับวัดควนพร้าว พบหีบศพตั้งอยู่บนร้านมุงกระแชง หีบนั้นสูงกว่าหีบศพในบางกอกสองเท่า จนแรกเห็นนึกว่าหีบบรรจุของมาแต่นอก ตามหมู่ต้นรังเขาว่าแขวนกันเกลื่อนกลาดไปทั้งนั้น แต่ฉันไม่ได้ไปเห็น เขาคูหาสวรรค์ที่ไปนั้น เมื่อจะเข้าเขตวัดมีสระๆ หนึ่ง ทางที่เข้าไปมีลูกเขาบังต้องเดิรเฉียงไป พื้นแผ่นดินแดงเหมือนเขาจันทบุรีตลอด ที่ตรงน่าวัดมีบ่อๆ หนึ่งว่าน้ำจืดสนิท แต่เวลานี้น้ำแห้ง มีถ้ำอยู่ที่ลูกเขาข้างน่าเปนโพรงเล็กๆ มีพระพุทธรูปขึ้นไปบนชานชั้นบนอีกชั้นหนึ่งสูงสัก ๗ -๘ ศอก เปนพื้นราบกว้างสักสามสิบวา มีต้นไม้ใหญ่ปลูกรายรอบร่มรื่นดี ที่กลางลานนั้นยกพื้นอีกชั้นหนึ่งสูงสักศอกหนึ่ง มีโบสถ์สามห้องไม่มีผนังอย่างโบสถ์บ้านนอกข้างหัวเมืองตวันตกทั้งปวง มีพระประธนใหญ่ ที่ลานชั้นกลางมีการปเรียญและกุฏิพระสงฆ์ ปลูกพลับพลาประทับร้อนบนนั้น ว่าข้างภูมที่ท่วงทีเขาดีอย่างยิ่ง เหมือนอย่างเรานึกทำเล่น ถ้าจะทำเปนวัดหลวงจะงามกว่าวัดมหาสมณารามมาก ขึ้นเนินลาดๆ ไปอีกหน่อยหนึ่งจึงถึงปากถ้ำ ที่ปากถ้ำนั้นก็มีเทือกเขาบัง ต้องเดิรเฉียงเข้าไปเหมือนกัน ถ้ำยาวสักสิบห้าวา ข้างแคบๆ กว่าหน่อยหนึ่ง แสงสว่างเข้าได้เต็มน่าเพราะปากช่องใหญ่ ถ้ำนี้เรียกว่าถ้ำน้ำเงิน เพราะน้ำซึมตะไคร่จับเขียวไปทั้งถ้ำ มีพระพุทธรูปนอนใหญ่องค์หนึ่ง นั่งใหญ่องค์หนึ่ง ย่อมๆ ลงมาอีกยี่สิบหกองค์ พระพุทธรูปนั้นก็น้ำเงินไปด้วยกันโดยมาก ข้างหลังพระมีปล่องลงไปได้ลึกจนถึงพื้นล่างมีน้ำ ในนั้นทำนองถ้ำหมีแควป่าสัก แต่มืดต้องจุดเทียน ได้จารึกอักษร จ. ป. ร. ไว้ที่เพิงน่าถ้ำอีกแห่งหนึ่ง แล้วเดิรกลับลงมา เลี้ยวไปตามทางข้างเขาอีกหน่อยหนึ่งถึงถ้ำนางคลอด ปากถ้ำสูงประมาณสี่วา เปนเวิ้งเข้าไปตื้นๆ ไม่อัศจรรย์อันใด กลับมาถึงพลับพลาเวลาบ่ายห้าโมงครึ่ง เวลากลางวันลูกมีโนห์รา เวลาค่ำมีหนังตลุง ได้ให้คนไปดูที่ทเลน้อยแขวงเมืองนครศรีธรรมราชระยะทางสองชั่วโมง น้ำตื้นเรือไฟเข้าเข้าไม่ได้ ต้องลงเรือเล็กเข้าคลองนางเรียงไปอีกยี่สิบห้ามินิต ถึงในนั้นเปนที่มีดอกบัวหลวงสีขาว แต่น้ำตื้นจนราษฎรทำนาได้ในทเล ที่เมืองพัทลุงนี้จะหาของประหลาดฤๅที่ทำในบ้านเมือง ไม่มีอันใดเลยสักอย่างเดียว มีแต่หม้อดินขาว ซึ่งทำที่บ้านนาระแนะในคลองปากประพรมแดนเมืองนครศรีธรรมราช ดินขาวดีกว่าคนโทลาวมาก แต่ชาวบ้านนั้นทำมาขายเมืองพัทลุงได้เล็กน้อยไม่ใคร่มีผู้ซื้อ เพราะปรกติไม่ใคร่ซื้อขายกัน ไม่ออกจากเมืองได้ จึงมีภาชนะแต่สักสามสี่อย่าง รูปไม่เปนเรื่องทั้งนั้น ถ้ารู้จักทำรูปดีๆ จะดีกว่าดินสงขลามาก

วันที่ ๒๗ เวลาเช้าสองโมง ๔๕ ออกจากเมืองพัทลุง มาที่พลับพลาเกาะมวยเร็วกว่าเมื่อขาไป ๑๕ มินิต พอมาถึงก็มีพายุจัด ภายหลังเปนฝนตกพรำไปจนค่ำ ไม่ได้ไปไหนและไม่ได้ทำอะไร จึงจะพูดถึงทเลสาบหน่อยหนึ่ง ทเลสาปนี้มีที่กว้างเปนสองลอน ลอนต้นอยู่ในกลางเมืองสงขลา มีคลองหลายคลอง แต่คลองอู่สำเภาเปนคลองใหญ่ มีเกาะสองเกาะ ช่องที่จะออกไปลอนที่สอง เรียกว่าคลองปากรอ เปนแขวงสงขลาทั้งสองข้าง ข้างทิศใต้คลองบางไมเปนพรมแดนกับเมืองพัทลุง แต่ที่ของสงขลาเข้าไปแซกอยู่ในหว่างเมืองพัทลุงล้อมรอบตำบลหนึ่งเรียกว่าที่พะเกิด นอกนั้นเปนแขวงพัทลุงทั้งสิ้น ฝั่งข้างเหนือเปนแขวงสงขลา เกาะในทเลลอนที่สองนี้ บันดาเกาะใหญ่ๆ ตั้งแต่ปากช่องคลองปากรอออกไปเจ็ดเกาะ ๆ เล็กสามเกาะ ไม่มีประโยชน์อันใด ตกเปนของเมืองพัทลุง แต่เกาะเล็ก ๆ ที่มีรังนกเรียกว่าเกาะสี่เกาะห้า รายอยู่ตามน่าเกาะใหญ่ของพัทลุงสิบเอ็ดเกาะ มีรังนกอยู่หกเกาะ กับเกาะหว่างช่องที่จะออกไปทเลลอนที่สาม ซึ่งน่าจะเปนของเมืองพัทลุงด้วยนั้น กลับเปนของเมืองสงขลา ยังเกาะเล็ก ๆ ข้างเหนืออีกห้าเกาะ จะเปนของสงขลาก็ดูจะควรอยู่ แต่เหตุที่เปนเช่นนี้ ก็เห็นจะเปนด้วยเรื่องเมืองสงขลาผูกอากรรังนก จึงได้ยกมาให้ขึ้นเมืองสงขลาเท่านั้น ดูก็ไม่สู้กระไรนัก แต่ที่พะเกิดนั้นเกือบจะแปลไม่ออก เห็นจะเปนด้วยเรื่องไม้เคี่ยมในที่นั้นจะมีมากแต่เดิมอย่างไร เมืองสงขลาสบเสียอยู่ก็ขอตัดเอาแต่ฉเพาะต้องการ แต่ในเวลานี้ก็ว่าไม่มีอันใด ดูน่ากลัวที่จะเปนซ่องโจรผู้ร้ายหลบหลีกข้ามแขวงข้ามแดนได้ง่าย ในทเลตอนที่สาม ตั้งแต่ทิศใต้โอบไปจนทิศตวันตกครึ่งทเล เปนแขวงเมืองพัทลุง ตั้งแต่ทิศตวันตกครึ่งทเลโอบไปจนทิศเหนือเปนแขวงเมืองนครศรีธรรมราช ทิศตวันออกเปนแขวงเมืองสงขลา ในที่ทเลต่อแดนกันนี้ ว่าผู้ร้ายชุมอย่างยิ่ง ฟังเสียงทั้งพัทลุงทั้งสงขลา กล่าวโทษว่าแถบทเลน้อยในแขวงเมืองนครมีคนตั้งบ้านเรือนมาก แต่เกือบจะไม่มีคนดีเลย ในหมู่นั้นเปนผู้ร้ายทั้งสิ้น ด้วยเปนปลายแดนห่างจากเมืองนครศรีธรรมราชมาก การติดตามผู้ร้ายยากลำบากอย่างยิ่ง การอันนี้ก็เห็นจะเปนจริง ด้วยหัวเมืองที่มีเขตแขวงติดต่อกันถี่ ๆ หรือที่ขนาบคาบเกี่ยวกันและก็ติดตามผู้ร้ายยากอยู่ด้วยกันทุกเมือง

วันที่ ๒๘ เวลาย่ำรุ่ง ๔๕ นาที ออกจากเกาะห้า ฝนตกพรำมืดคลุ้มมาแต่กลางคืนจนออกหนาว เวลาเที่ยงแล้วค่อยสงบฝน เวลาบ่ายก็ตกอีกจนตลอดถึงเรือ ขากลับเร็วกว่าเมื่อไปมาก เมื่อไปนั้น ๑๒ ชั่วโมงเต็ม ขากลับ ๙ ชั่วโมงเศษเท่านั้น เมื่อถึงเรือแล้ว เวลาเย็นมีพยุพักหนึ่งพอพลบก็สงบ

เมื่อก่อนที่จะขึ้นไปเมืองพัทลุง เห็นว่าเรือจะหยุดอยู่เปล่า จึงได้ให้พระยาไชยาลงไปเยี่ยมเยียนฟังราชการดู ที่เมืองกลัยตันเมืองตรังกานู พระยาไชยากลับมาถึงสงขลา แล้วตามขึ้นไปที่เกาะห้าแจ้งว่า พระยากลันตันพระยาตรังกานูต้อนรับตามสมควร การทั้งสองเมืองนั้นก็เปนปรกติดีอยู่

กำหนดเดิมว่ากลับจากเมืองพัทลุง แล้วรุ่งขึ้นจะไปเมืองหนองจิก เห็นว่ากลับลงมาถึงเวลาเย็นผู้คนเหน็ดเหนื่อยบอบช้ำ แลจะตั้งผู้ช่วยเมืองพัทลุง ได้สั่งให้เขาตามลงมา จึงได้ทอดนอนอยู่ที่สงขลาอีกคืนหนึ่ง

วันที่ ๒๙ เวลาบ่าย ขึ้นไปดูที่ปั้นหม้อตำบลบ่อพลับเหนือเมืองสงขลา เปนที่ปั้นหม้ออย่างบาง แล้วกลับออกไปดูที่เมรุพระยาสงขลา ซึ่งปลูกไว้ที่สนามหลังเมือง แล้วเข้าไปดูบ้านพระอนันตสมบัติ บ้านพระยาสุนทรานุรักษ์ เวลาบ่ายเปนพยุฝน ต้องรออยู่จนบ่าย ๕ โมงเศษ จึงได้กลับมาลงเรือ กำหนดว่าเวลาวันนี้แปดทุ่มจะออกเรือไปเมืองหนองจิก เมืองสายเปนที่สุด แล้วจะกลับขึ้นมาแวะเมืองเทพา เมืองกาญจนดิฐ เมืองไชยา เมืองหลังสวน ตามที่กะไว้แต่เดิม แต่วันคงจะเคลื่อนออกไปมาก ด้วยการที่มาเที่ยวครั้งนี้อยู่ข้างจะหาความสบายมาก ไม่รีบร้อนเหมือนครั้งก่อน ตั้งแต่มาถึงเมืองสงขลาแล้ว อาการที่เจ็บของฉันก็นับว่าเปนหาย ในระยะที่ไปเมืองพัทลุงครั้งนี้ ได้มีความสบายอ้วนขึ้นเสมอกับปรกติแต่ก่อนได้ แต่ยังไม่นับว่ามีกำไร บรรดาคนที่มามีไม่สบายบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ถึงนับว่าเจ็บได้ พอจะบอกได้ว่าเปนสุขสบายอยู่ทั้งสิ้น

สยามินทร์

  1. ๑. ชาวนครเรียกน้ำตาลงบว่า (น้ำ) ผึ้งฮบ เพราะใช้สำเนียง ฮ แทน ง

  2. ๒. พระยาวรวุฒิไชย น้อย ท.จ. จางวางเมืองพัทลุง หม่อมราชวงศ์หรั่ง สุทัศน ณอยุธยา บุตรหม่อมเจ้าจินดาในกรมหมื่นไกรสรวิชิต เปนญาติกับพระยาพัทลุง ทับ

  3. ๓. หลวงอุดมภักดี พ่วง ณสงขลา เดี๋ยวนี้เปนพระยาหนองจิก

  4. ๔. พระยาอภัยบริรักษ (เนตร) บุตร์พระยาจางวาง

  5. ๕. พระยาวิเชียรคิรี (สังข์ ณสงขลา)

  6. ๖. พระอนันตสมบัติ (เอม ณสงขลา) น้องพระยาสุนทรานุรักษ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ